ข้ามไปเนื้อหา

กรมท่าอากาศยาน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
กรมท่าอากาศยาน
Department of Airport

สัญลักษณ์ราชการ
ภาพรวมหน่วยงาน
ก่อตั้ง3 ตุลาคม พ.ศ. 2558; 8 ปีก่อน (2558-10-03)
หน่วยงานก่อนหน้า
สำนักงานใหญ่71 ซอยงามดูพลี ถนนพระรามที่ 4 แขวงทุ่งมหาเมฆ เขตสาทร กรุงเทพมหานคร 10120
งบประมาณต่อปี2,189.8493 ล้านบาท (พ.ศ. 2559)[1]
ฝ่ายบริหารหน่วยงาน
  • ดนัย เรืองสอน, อธิบดี
  • ว่าง, รองอธิบดี
  • วิทวัส ภักดีสันติสกุล, รองอธิบดี
  • เกียรติชัย ชัยเรืองยศ, รองอธิบดี
ต้นสังกัดหน่วยงานกระทรวงคมนาคม
เว็บไซต์www.airports.go.th

กรมท่าอากาศยาน (อังกฤษ: Department of Airport) หน่วยงานระดับกรมในสังกัดของ กระทรวงคมนาคม มีอำนาจหน้าที่พัฒนาโครงข่ายส่งเสริมกิจการท่าอากาศยานและบริหารท่าอากาศยานทั้ง 29 แห่งทั่วประเทศไทยซึ่งเคยอยู่ภายใต้การบริหารดูแลของ กรมการบินพลเรือน

ประวัติ

[แก้]

การบินในประเทศไทยเริ่มมีบทบาทขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยมีนักบินชาวเบลเยี่ยมคือ นายวัลเดน เบอร์น (Vanden Born) ได้นำเครื่องบินแบบออร์วิลล์ ไรท์ (Orwille Wright) มาสาธิตการบินถวายให้ทอดพระเนตร และให้ประชาชนในกรุงเทพฯ ชม เมื่อวันที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2454 ณ สนามราชกรีฑาสโมสร ปทุมวัน นับเป็นเครื่องบินลำแรกที่บินเข้ามาในราชอาณาจักร โดย นายพลตรีพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นกำแพงเพชรอัครโยธิน (พลเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน) ผู้บัญชาการกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ และจเรทหารช่างแห่งกองทัพบก ได้ทรงเป็นผู้โดยสารที่ขึ้นบินทดลองชุดแรก เมื่อเสร็จการแสดงแล้วได้ทรงซื้อเครืองบินนั้นไว้เพื่อประโยชน์แก่การศึกษา และในปี พ.ศ. 2454 นั้นเอง กระทรวงกลาโหม ได้ส่งนายทหารไทย 3 นาย ไปศึกษาวิชาการบิน ณ ประเทศฝรั่งเศส เมืองวันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2454

เมื่อนายทหารทั้ง 3 นาย จบการศึกษา พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) ทรงให้จัดซื้อเครื่องบินบรรทุกเรือกลับมาประเทศไทย จำนวน 8 ลำ หลังจากนั้นได้มีการก่อตั้งแผนกการบินทหารโดยใช้สนามราชกรีฑาสโมสรเป็นสนามบิน และสร้างโรงเก็บเครื่องบินขึ้นในบริเวณนั้น และในปี พ.ศ. 2457 กระทรวงกลาโหมได้ดำเนินการก่อสร้างสนามบินดอนเมืองแล้วเสร็จ เพื่อเป็นสนามบินที่ใช้ในกิจการทหาร และได้เลื่อนฐานะแผนกการบินทหารยกขึ้นเป็นกรม และได้เคลื่อนย้ายจากสนามราชกรีฑาสโมสรไปสู่ที่ตั้งใหม่ที่ดอนเมืองจนถึงปี พ.ศ. 2491 ท่าอากาศยานดอนเมืองได้เข้ามาอยู่ในการควบคุมดูแลของกรมการบินพลเรือน กองทัพอากาศ (และในปี พ.ศ. 2499 ได้เปลี่ยนชื่อท่าอากาศยานดอนเมืองเป็นท่าอากาศยานกรุงเทพ แต่ยังคงสังกัดกองทัพอากาศอยู่) ท่าอากาศยานดอนเมืองให้เป็นสนามบินหลักของประเทศ และได้รับการพัฒนาสร้างเสริมต่อเติมมาจนกระทั่งปัจจุบัน

เมื่อ พ.ศ. 2462 ได้มีการทดลองทำการบินรับส่งไปรษณีย์ระหว่างกรุงเทพฯ กับจันทบุรีด้วยเครื่องบินเบรเกต์ (Breguet XIV) ซึ่งเป็นเครื่องบินทหารที่ได้ดัดแปลงมาใช้งานขนส่งทางอากาศ การทดลองทำการบินได้ผลเป็นที่น่าพอใจ ต่อมาจึงได้มีการขนส่งผู้โดยสารในเส้นทางนี้ด้วย จนกระทั่งเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2463 กรมอากาศยานทหารบกได้เปิดการบินรับส่งไปรษณีย์ระหว่างจังหวัดนครราชสีมากับจังหวัดอุบลราชธานีขึ้น เส้นทางบินได้ขยายออกไปยังจังหวัดอุดรธานี และหนองคาย มีเส้นทางบินอีกสายหนึ่งไปยังจังหวัดพิษณุโลก และเพชรบูรณ์ แม้จะมีการขนส่งผู้โดยสารบ้าง แต่บริการหลักก็ยังคงเป็นไปรษณีย์และเป็นการขนส่งไปยังจังหวัดที่ยังไม่มีรถไฟเชื่อมถึง

ในปี พ.ศ. 2468 ประเทศไทยได้จัดตั้งกองบินพลเรือน กรมบัญชาการกระทรวงพาณิชย์และคมนาคม และจากนั้นการบินพลเรือนของประเทศได้มีหน่วยงานที่ดูแลรับผิดชอบมาโดยตลอด

เมื่อกิจการขนส่งทางอากาศ ได้เจริญรุดหน้าขยายตัวขยายเส้นทางออกไป และมีประสิทธิภาพและความปลอดภัยยิ่งขึ้น ฉะนั้น ในปีพ.ศ. 2476 ได้มีการเปลี่ยนจากกองบินพลเรือนเป็นกองการบินพาณิชย์ สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงเศรษฐการ ถัดมาในปีพ.ศ. 2477 ย้ายไปสังกัดกรมการขนส่ง ทบวงพาณิชย์และคมนาคม กระทรวงเศรษฐการ[2] จนกระทั่งปี พ.ศ. 2484 กรมการขนส่ง โอนกลับมาขึ้นกับกระทรวงคมนาคม ต่อมา พ.ศ. 2485 ได้มีการแบ่งแยกกองให้ชัดเจนเป็น กองขนส่งทางอากาศ กรมการขนส่ง กระทรวงคมนาคม

ต่อมาปี พ.ศ. 2491 ได้มีการแยกการบินพลเรือน ออกจากการบินทหาร และโอนกิจการให้กระทรวงคมนาคม และปี พ.ศ. 2497 ได้ยกฐานะเป็น สำนักงานการบินพลเรือน แต่ยังสังกัดกรมการขนส่ง กระทรวงคมนาคมอยู่ จนกระทั่ง พ.ศ. 2506 ได้ยกฐานะเป็น กรมการบินพาณิชย์ เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2506 และได้เปลี่ยนชื่อเป็น “กรมการขนส่งทางอากาศ” เมื่อมีการปฏิรูประบบราชการในปี พ.ศ. 2545

และต่อมาได้มีการเปลี่ยนชื่ออีกครั้งเป็น "กรมการบินพลเรือน" มีผลตั้งแต่วันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552[3] ต่อมาได้จัดตั้งเป็นกรมท่าอากาศยาน[4] เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2558 ตามกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมท่าอากาศยาน กระทรวงคมนาคม พ.ศ. 2558 ซึ่งได้ประกาศลง ราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2558 มี นายจุฬา สุขมานพ อธิบดีกรมการบินพลเรือนคนสุดท้ายเป็นอธิบดีกรมท่าอากาศยานคนแรก

โดยอำนาจหน้าที่ของกรมท่าอากาศยาน คือ การพัฒนาโครงข่ายการบิน ส่งเสริมกิจการท่าอากาศยาน รวมถึงการบริหารการดำเนินงานของท่าอากาศยานทั้ง 28 แห่งซึ่งเคยอยู่ภายใต้การบริหารดูแลของ กรมการบินพลเรือน

ส่วนราชการ

[แก้]
  • สำนักงานเลขานุการกรม
  • กองก่อสร้างและบำรุงรักษา
  • กองกฎหมาย
  • กองคลัง
  • กองส่งเสริมกิจการท่าอากาศยาน
  • ท่าอากาศยานในความรับผิดชอบ จำนวน 29 แห่ง

รายนามอธิบดีกรมท่าอากาศยาน

[แก้]
ลำดับที่ ภาพ ชื่อ ดำรงตำแหน่ง หมายเหตุ
1 จุฬา สุขมานพ 3 ตุลาคม พ.ศ. 255830 กันยายน พ.ศ. 2559
(0 ปี 362 วัน)
พ้นจากตำแหน่งในวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2559 เนื่องจากต้องไปดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย ตามคำสั่งหัวหน้า คณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๔๘/๒๕๕๙ ลงวันที่ ๑๘ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ [5]
2 ดรุณ แสงฉาย 4 ตุลาคม พ.ศ. 2559 – 30 กันยายน พ.ศ. 2561 รองปลัดกระทรวงคมนาคม รักษาราชการแทนอธิบดีกรมท่าอากาศยาน จนถึงวันที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2559
3 อัมพวัน วรรณโก 1 ตุลาคม พ.ศ. 2561 – 30 กันยายน พ.ศ. 2562[6]
4 ทวี เกศิสำอาง 3 ธันวาคม พ.ศ. 2562 – 30 กันยายน พ.ศ. 2563[7] รองอธิบดีกรมทางหลวง รักษาราชการแทนอธิบดีกรมท่าอากาศยาน จนถึงวันที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2563
5 อภิรัฐ ไชยวงศ์น้อย 18 ธันวาคม พ.ศ. 2563 - 14 ตุลาคม พ.ศ. 2564 รองอธิบดีกรมทางหลวง รักษาราชการแทนอธิบดีกรมท่าอากาศยาน จนถึงวันที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564
6 ปริญญา แสงสุวรรณ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2564 - 30 กันยายน พ.ศ. 2566 ผู้ตรวจราชการกระทรวง รักษาราชการแทนอธิบดีกรมท่าอากาศยาน จนถึงวันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2564
7 พิศักดิ์ จิตวิริยะวศิน 1 ตุลาคม พ.ศ. 2566 - 27 ธันวาคม พ.ศ. 2566
8 มนตรี เดชาสกุลสม 5 มกราคม พ.ศ. 2567 - 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2567 รองปลัดกระทรวงคมนาคม รักษาราชการแทน อธิบดีกรมท่าอากาศยาน ตั้งแต่วันที่ 5 มกราคม 2567 ถึงวันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2567
9 ดนัย เรืองสอน 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2567 - ปัจจุบัน วิศวกรใหญ่ที่ปรึกษาวิชาชีพเฉพาะด้านวิศวกรรมโยธา (ด้านอำนวยความปลอดภัย) (วิศวกรโยธาทรงคุณวุฒิ) กรมทางหลวง รักษาราชการแทน อธิบดีกรมท่าอากาศยาน จนกว่าจะได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง

ดูเพิ่ม

[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 เล่ม 132 ตอนที่ 91ก วันที่ 25 กันยายน 2558
  2. พระราชกฤษฎีกาจัดวางระเบียบราชการสำนักงานและกรมในกระทรวงเศรษฐการ (ฉบับที่ ๓) พุทธศักราช ๒๔๗๙ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๕๓ วันที่ ๓๑ มกราคม ๒๔๗๙
  3. พระราชกฤษฎีกาเปลี่ยนชื่อกรมการขนส่งทางอากาศ เป็นกรมการบินพลเรือน พ.ศ. ๒๕๕๒
  4. กฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมท่าอากาศยาน กระทรวงคมนาคม พ.ศ. ๒๕๕๘[ลิงก์เสีย]
  5. คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๔๘/๒๕๕๙ เรื่อง การปรับปรุงการบริหารงานบุคคลในบางหน่วยงานของรัฐ ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๓ ตอน ๑๘๑ ง พิเศษ หน้า ๔๖ ๑๘ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๙
  6. ราชกิจจานุเบกษา ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ
  7. ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ