ข้ามไปเนื้อหา

โทรคมนาคมแห่งชาติ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน)
ชื่อท้องถิ่น
National Telecom Public Company Limited
ประเภท
อุตสาหกรรมโทรคมนาคม
ก่อนหน้า
ก่อตั้ง7 มกราคม พ.ศ. 2564; 3 ปีก่อน (2564-01-07)
สำนักงานใหญ่เลขที่ 99 ถนนแจ้งวัฒนะ แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร 10210
พื้นที่ให้บริการประเทศไทย
บุคลากรหลัก
ผลิตภัณฑ์
รายได้ลดลง 85,502,425,481 บาท
(พ.ศ. 2566)[2]
รายได้จากการดำเนินงาน
ลดลง 80,111,539,089 บาท
(พ.ศ. 2566)[2]
รายได้สุทธิ
ลดลง 3,437,741,892 บาท
(พ.ศ. 2566)[2]
ทรัพย์สินสุทธิลดลง 13,748,018,032 บาท
(พ.ศ. 2566)[2]
สินทรัพย์ลดลง 245,955,636,914 บาท
(พ.ศ. 2566)[2]
ส่วนของผู้ถือหุ้นลดลง 162,753,019,611 บาท
(พ.ศ. 2566)[2]
เจ้าของกระทรวงการคลัง (100.00 %)
พนักงาน
12,351 คน (พ.ศ. 2566)[2]
บริษัทแม่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
บริษัทในเครือ
  • เอซีที โมบาย
  • ทีโอที เอาท์ซอร์สซิ่ง เซอร์วิส
  • เดอะ สปอร์ต คลับ
  • โครงการบอร์ดแบนด์แห่งชาติ
  • แคท เทเลคอม โฮลดิ้ง
เว็บไซต์เว็บไซต์ของบริษัท
เชิงอรรถ / อ้างอิง
ภาพรวมบริษัท
คำขวัญสร้างอนาคต ด้วยเทคโนโลยี

บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือที่รู้จักทั่วไปในชื่อย่อว่า เอ็นที เป็นรัฐวิสาหกิจที่ดูแลการสื่อสารโทรคมนาคมในประเทศไทยในรูปแบบบริษัทมหาชนจำกัด ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เกิดจากการควบรวมกิจการระหว่าง กสท โทรคมนาคม และทีโอที เพื่อลดการดำเนินงานที่ซ้ำซ้อนกัน และเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน ตามมติของคณะรัฐมนตรี โดยมีกระทรวงการคลังถือหุ้นทั้งหมด[3]

ประวัติ

[แก้]

ก่อนการควบรวมกิจการ

[แก้]

แนวคิดในการควบรวมทีโอที และ กสท โทรคมนาคม เข้าด้วยกัน เกิดขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2545 ในสมัยที่ สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ปัจจุบันคือกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม) ในรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร โดยเห็นควรให้ทั้ง 2 หน่วยงานควบรวมกันเพื่อลดการทำงานที่ซ้ำซ้อนกัน, เพิ่มศักยภาพขององค์กรในการแข่งขันกับเอกชน และเพื่อความอยู่รอดขององค์กร แต่ก็ถูกคัดค้านอย่างหนักจากสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจของทั้ง 2 หน่วยงานที่เล็งเห็นผลประโยชน์ของตัวเองเป็นสำคัญ จึงพับโครงการไป[4][5] ต่อมาในวันที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2560 คณะรัฐมนตรีในรัฐบาลพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีมติให้ทั้ง 2 หน่วยงานจัดตั้งบริษัทลูก เพื่อแยกธุรกิจบางส่วนที่ทั้ง 2 หน่วยงานลงทุนและดำเนินงานซ้ำซ้อนกันออกมาต่างหาก ดังนี้

  • ทีโอที จัดตั้ง บริษัท โครงข่ายบรอดแบนด์แห่งชาติ จำกัด (National Broadband Network; NBN) เพื่อให้บริการค้าส่งบรอดแบนด์และโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคมภายในประเทศเป็นหลัก โดยมีสินทรัพย์ ได้แก่ โครงข่ายหลัก ระบบสื่อสัญญาณ จนถึงโครงข่ายสายตอนนอก และเคเบิลใยแก้วนำแสง
  • กสท โทรคมนาคม จัดตั้ง บริษัท โครงข่ายระหว่างประเทศและศูนย์ข้อมูลอินเทอร์เน็ต จำกัด (Neutral Gateway & Data Center; NGDC) เพื่อให้บริการบรอดแบนด์ระหว่างประเทศเป็นหลัก รวมทั้งศูนย์บริการข้อมูล โดยมีสินทรัพย์ที่อยู่นอกประเทศ ได้แก่ สถานีเคเบิลใยแก้วใต้น้ำทั้งในและระหว่างประเทศ เคเบิลภาคพื้นดินระหว่างประเทศ รวมทั้งโครงข่ายขนส่งข้อมูลทั้งในและระหว่างประเทศ[6]

แต่มติดังกล่าวก็ยังคงถูกคัดค้านจากสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจของทั้ง 2 หน่วยงานเช่นเดิม เนื่องจากเห็นว่าจะมีผลกระทบหลายด้าน และไม่ได้แก้ปัญหาของรัฐวิสาหกิจทั้ง 2 หน่วยงานอย่างจริงจัง รวมถึงเป็นการเพิ่มบริษัทสำหรับดำเนินงานโทรคมนาคมของรัฐโดยไม่จำเป็น[7] แต่ต่อมา ทั้งทีโอทีและ กสท โทรคมนาคม ก็ได้ทยอยโอนย้ายพนักงานไปทำงานที่บริษัทลูก

การควบรวมกิจการ

[แก้]

ในปี พ.ศ. 2561 ได้มีการเสนอให้กลับมาใช้แนวทางเดิมของปี พ.ศ. 2545 โดยการควบรวมกิจการของทีโอที และ กสท โทรคมนาคม เข้าด้วยกัน[4] ซึ่งทั้ง 2 หน่วยงานก็เห็นตรงกันกับข้อเสนอดังกล่าว แต่ก็ยังมีความเห็นต่างกันเกี่ยวกับวิธีการควบรวมและระยะเวลา จนกระทั่งวันที่ 12 กันยายน คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจได้มีมติให้รัฐวิสาหกิจทั้ง 2 หน่วยงานควบรวมกิจการกันแล้วตั้งเป็นบริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติ โดยมอบหมายให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และทั้ง 2 หน่วยงาน จัดทำรายละเอียดในการควบรวมกิจการให้ครบถ้วนเพื่อเสนอให้คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจพิจารณาให้ความเห็นชอบ ก่อนเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป พร้อมทั้งให้ยุบบริษัทลูกทั้ง NBN และ NGDC และให้พนักงานของทั้ง 2 บริษัทกลับเข้าทำงานที่ต้นสังกัดเดิม[8]

ในวันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจเห็นชอบในหลักการควบรวมกิจการของทีโอที และ กสท โทรคมนาคม และให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเร่งนำเสนอคณะรัฐมนตรีโดยเร็วต่อไป[9] และในที่สุด วันที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2563 คณะรัฐมนตรีก็ได้มีมติให้ ทีโอที และ กสท โทรคมนาคม ควบรวมกิจการเป็นบริษัทเดียวในชื่อ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ (National Telecom; NT) และมีกระทรวงการคลังถือหุ้นทั้งหมด และให้ยกเลิกมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2560 ซึ่งถือเป็นการยุบบริษัทลูกทั้ง NBN และ NGDC อย่างเป็นทางการ พร้อมทั้งมอบหมายให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมกำกับดูแลดำเนินการควบรวมกิจการของทีโอทีและ กสท โทรคมนาคม ให้เป็นไปตามเป้าหมายและกรอบระยะเวลาที่กำหนด คือภายใน 6 เดือน นับจากวันที่ ครม. มีมติ คือวันที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2563[10] แต่ต่อมาก็มีแนวโน้มที่จะขอเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรีให้ขยายเวลาควบรวมออกไปอีก 6 เดือน คือเดือนมกราคม พ.ศ. 2564 เนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ทำให้กระบวนการเอกสารบางอย่างที่จำเป็นต้องจัดส่งไปยังต่างประเทศ เช่น การแจ้งหนังสือถึงเจ้าหนี้เป็นลายลักษณ์อักษร เกิดการติดขัด เป็นต้น[11]

ต่อมาในวันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2563 คณะรัฐมนตรีก็ได้มีมติรับทราบความคืบหน้าในการควบรวมกิจการ และการใช้ชื่อบริษัทใหม่ที่เกิดจากการควบรวมกิจการคือ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) (National Telecom Public Company Limited; NT Plc.) และเห็นชอบในการที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมขอขยายเวลาการควบรวมกิจการออกไป โดยให้เวลาเพิ่มจากวันครบกำหนดเดิมไม่เกิน 6 เดือน คือภายในวันที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2564 โดยหากมีความจำเป็นที่จะต้องขอขยายเวลาการดำเนินการควบรวมกิจการ ให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเร่งรัดการดำเนินการเสนอเรื่องการขอขยายเวลาดังกล่าวต่อคณะรัฐมนตรีล่วงหน้าก่อนครบกำหนด[12]

ต่อมาในวันที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2563 พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้พูดคุยกับพนักงานและสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจของทั้งทีโอที และ กสท โทรคมนาคม เพื่อสื่อสารการขับเคลื่อนองค์กรไปในทิศทางเดียวกัน และรวมถึงการสื่อสารข้อมูลที่ถูกต้องให้พนักงานรับทราบและ/หรือซักถามข้อสงสัยเกี่ยวกับการควบรวมกิจการ เพื่อนำไปสู่การสร้างองค์กรใหม่สำหรับการรับมือการหยุดชะงักของอุตสาหกรรมต่าง ๆ รวมถึงกิจการโทรคมนาคมในประเทศไทยด้วย และได้กำหนดวันจดทะเบียนจัดตั้ง บมจ.โทรคมนาคมแห่งชาติ อย่างสมบูรณ์เป็นวันที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2564[13] และในวันที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2564 ทีโอทีก็ได้ประกาศปิดปรับปรุงระบบการชำระเงินของศูนย์บริการลูกค้าทุกแห่งทั่วประเทศในเช้าวันที่ 7 มกราคม เพื่อรองรับการควบรวมกิจการกับ กสท โทรคมนาคม ในครั้งนี้[14] ส่วนในวันที่ 6 มกราคม กสท โทรคมนาคม ก็ได้ประกาศปิดปรับปรุงระบบการชำระเงินของสำนักงานบริการลูกค้าและจุดรับชำระเงินในช่วงเช้าของวันที่ 7 มกราคมเช่นกัน[15]

ต่อมาในวันที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2564 กระทรวงการคลัง ในฐานะผู้ถือหุ้นทั้งหมดของทั้งทีโอที กสท โทรคมนาคม และ บมจ.โทรคมนาคมแห่งชาติ ได้เห็นชอบการควบรวมกิจการระหว่างทีโอที และ กสท โทรคมนาคม เป็น บมจ.โทรคมนาคมแห่งชาติ[16] โดยมีทุนจดทะเบียนจาก กสท โทรคมนาคม 10,000 ล้านบาท[17] และจากทีโอที 6,000 ล้านบาท[18] รวมทุนจดทะเบียนทั้งสิ้น 16,000 ล้านบาท[19] ต่อจากนั้นในวันที่ 7 มกราคม คณะกรรมการของทั้งทีโอที และ กสท โทรคมนาคม ได้เดินทางไปจดทะเบียนจัดตั้ง บมจ.โทรคมนาคมแห่งชาติ ที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ถัดมาในเวลา 10:00 น. พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้เป็นประธานในการแถลงข่าวเปิดตัว บมจ.โทรคมนาคมแห่งชาติ แก่สื่อมวลชนภายในหอประชุม และในเวลา 15:00 น. ได้เป็นประธานประกอบพิธีเปิด บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) อย่างเป็นทางการที่หน้าห้องจัดเลี้ยง ภายในอาคารสโมสร ในสำนักงานใหญ่ของ กสท โทรคมนาคมเดิม เป็นการเสร็จสิ้นการควบรวมกิจการของทีโอที และ กสท โทรคมนาคม[20][21][22]

หลังการควบรวมกิจการ

[แก้]

หลังจากควบรวมกิจการและจัดตั้ง บมจ.โทรคมนาคมแห่งชาติ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว บมจ.โทรคมนาคมแห่งชาติได้ตั้งเป้าหมายเพื่อแข่งขันกับเอกชนสู่การเป็น 1 ใน 3 อันดับผู้ให้บริการโทรคมนาคมรายใหญ่ที่สุดในประเทศไทย[22] โดยได้มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาทำหน้าที่อย่างเป็นทางการเป็นชุดแรก มีหม่อมหลวงชโยทิต กฤดากร เป็นประธานกรรมการ และนาวาอากาศเอก สมศักดิ์ ขาวสุวรรณ์ ประธานกรรมการของทีโอทีเดิม รักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่[22] ส่วนการสรรหากรรมการผู้จัดการใหญ่คนแรกนั้นต้องใช้เวลาถึง 2 ครั้ง[23] ระหว่างนี้หม่อมหลวงชโยทิต กฤดากร ได้ลาออกจากประธานกรรมการเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2564[24] โดยต่อมาพลเอก สุชาติ ผ่องพุฒิ อดีตประธานกรรมการของ กสท โทรคมนาคมเดิม มาดำรงตำแหน่งประธานกรรมการของ บมจ.โทรคมนาคมแห่งชาติ จนกระทั่งได้ พันเอก สรรพชัยย์ หุวะนันทน์ อดีตกรรมการผู้จัดการของ กสท โทรคมนาคมเดิม เป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่อย่างเป็นทางการคนแรกของ บมจ.โทรคมนาคมแห่งชาติ และเข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2565[1]

ผู้บริหารองค์กร

[แก้]

ประธานกรรมการ

[แก้]

กรรมการผู้จัดการใหญ่

[แก้]
  • นาวาอากาศเอก สมศักดิ์ ขาวสุวรรณ์ (รักษาการ; 7 มกราคม พ.ศ. 2564 - 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2565)
  • พันเอก สรรพชัยย์ หุวะนันทน์ (20 กรกฎาคม พ.ศ. 2565 - ปัจจุบัน)

บริษัทคู่ค้า

[แก้]
  1. บริษัท เรียลมูฟ จำกัด รับสิทธิ์การเป็นตัวแทนขายส่งต่อบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในระบบดับบลิวซีดีเอ็มเอ บนคลื่นความถี่ 850 เมกะเฮิร์ตซ์ ในชื่อ ทรูมูฟ เอช ตั้งแต่ พ.ศ. 2554 จนถึงปัจจุบัน ภายใต้ความจุโครงข่ายส่วนหนึ่ง โทรคมนาคมแห่งชาตินำมาให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ภายใต้ชื่อ มาย บาย เอ็นที
  2. บริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด โทรคมนาคมแห่งชาติเป็นผู้เช่าความจุโครงข่ายส่วนหนึ่งของบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในระบบดับบลิวซีดีเอ็มเอบนคลื่นความถี่ 2100 เมกะเฮิร์ตซ์ และระบบแอลทีอีบนคลื่นความถี่ 2100 เมกะเฮิร์ตซ์ และ 1800 เมกะเฮิร์ตซ์ เพื่อนำมาให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ภายใต้ชื่อ มาย บาย เอ็นที และรับสิทธิ์การเป็นตัวแทนขายส่งต่อบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในระบบแอลทีอี และระบบ 5 จี บนคลื่นความถี่ 2300 เมกะเฮิร์ตซ์ ในชื่อ ดีแทค เทอร์โบ และ ทรูมูฟ เอช ตั้งแต่ พ.ศ. 2566 จากการแก้สัญญาเพื่อสิ้นสภาพความเป็นนิติบุคคลของ ดีแทค ไตรเน็ต จนถึงปัจจุบัน ภายใต้ความจุโครงข่ายส่วนหนึ่ง โทรคมนาคมแห่งชาตินำมาให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ภายใต้ชื่อ เอ็นที โมบายล์
  3. บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด รับสิทธิ์การเป็นตัวแทนขายส่งต่อบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในระบบดับบลิวซีดีเอ็มเอและระบบแอลทีอี บนคลื่นความถี่ 2100 เมกะเฮิร์ตซ์ ในชื่อ เอไอเอส ที ตั้งแต่ พ.ศ. 2560 จนถึงปัจจุบัน ภายใต้ความจุโครงข่ายส่วนหนึ่ง โทรคมนาคมแห่งชาตินำมาให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ภายใต้ชื่อ เอ็นที โมบายล์ รวมถึงรับสิทธิ์การเป็นตัวแทนขายส่งต่อบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในระบบ 5 จี บนคลื่นความถี่ 700 เมกะเฮิร์ตซ์ และเป็นผู้เช่าความจุโครงข่ายส่วนหนึ่งของบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในระบบ 5 จี บนคลื่นความถี่ 700 เมกะเฮิร์ตซ์ 2600 เมกะเฮิร์ตซ์ และ 26 กิกะเฮิร์ตซ์ เพื่อนำมาให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ภายใต้ชื่อ มาย บาย เอ็นที และ เอ็นที โมบายล์

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 "NT เปิดตัว "สรรพชัยย์" CEO คนแรก". สยามรัฐ. 2022-07-20. สืบค้นเมื่อ 2022-11-10.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 2.4 2.5 2.6 รายงานประจำปี 2566 บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน)
  3. ฐานเศรษฐกิจ (14 มกราคม 2020). "ครม.ไฟเขียวควบรวม"ทีโอที-แคท"". www.thansettakij.com. สืบค้นเมื่อ 28 พฤษภาคม 2020.
  4. 4.0 4.1 ไทยรัฐ (1 กรกฎาคม 2561). "ปัดฝุ่นแผนควบรวมทีโอที-แคท". www.thairath.co.th. สืบค้นเมื่อ 28 พฤษภาคม 2563. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  5. "วันที่ไร้คลื่นในมือ ควบรวม'แคท-ทีโอที' เดินหน้าลุย 5จี". มติชน. 2019-11-16. สืบค้นเมื่อ 2021-01-07.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  6. กรุงเทพธุรกิจ (13 มิถุนายน 2560). "ครม.เห็นชอบ 'TOT-CAT' ตั้งบริษัทลูก". www.bangkokbiznews.com. สืบค้นเมื่อ 28 พฤษภาคม 2563. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  7. ประชาชาติธุรกิจ (1 สิงหาคม 2560). "สหภาพทีโอที-แคท ค้านมติครม. ตั้งบริษัทร่วมทุน NBN – NGDC". www.prachachat.net. สืบค้นเมื่อ 28 พฤษภาคม 2563. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  8. ประชาชาติธุรกิจ (15 กันยายน 2561). "นับหนึ่งควบรวม"ทีโอที-แคท"". www.prachachat.net. สืบค้นเมื่อ 28 พฤษภาคม 2563. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  9. ประชาชาติธุรกิจ (15 พฤษภาคม 2562). "คนร.ไฟเขียวตั้งบริษัทลูกของ รฟท. 2 บริษัท เพื่อบริหารสินทรัพย์และเดินรถไฟฟ้าสายสีแดง". www.prachachat.net. สืบค้นเมื่อ 28 พฤษภาคม 2563. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  10. สนุก.คอม (14 มกราคม 2563). "ครม.ไฟเขียว ควบรวม "CAT-TOT" เป็นบริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติภายใน 6 เดือน". www.sanook.com. สืบค้นเมื่อ 28 พฤษภาคม 2563. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  11. กรุงเทพธุรกิจ (7 พฤษภาคม 2563). "โควิดพ่นพิษทำควบรวม'ทีโอที-กสท'สะดุด". www.bangkokbiznews.com. สืบค้นเมื่อ 28 พฤษภาคม 2563. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  12. "มติคณะรัฐมนตรี เรื่อง ขอขยายเวลาการควบรวมกิจการของบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน)". cabinet.soc.go.th. คณะรัฐมนตรี. 1 กันยายน 2563. สืบค้นเมื่อ 7 พฤศจิกายน 2563. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |access-date= (help)CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  13. "7ม.ค.64 จดทะเบียนจัดตั้ง บมจ.โทรคมนาคมแห่งชาติ". ฐานเศรษฐกิจ. 2020-12-18. สืบค้นเมื่อ 2021-01-05.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  14. "ทีโอที ปิดระบบชำระเงินชั่วคราว 7 ม.ค นี้ เตรียมพร้อมก้าวเป็น บมจ.โทรคมนาคมแห่งชาติ". ประชาชาติธุรกิจ. 2021-01-03. สืบค้นเมื่อ 2021-01-06.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  15. "CAT ประกาศปิดปรับปรุงการชำระเงิน". เฟซบุ๊ก. 2021-01-06. สืบค้นเมื่อ 2021-01-07.
  16. "กระทรวงการคลัง ไฟเขียวรวม "แคท-ทีโอที" เป็น เอ็นที". ไทยรัฐ. 2021-01-07. สืบค้นเมื่อ 2021-01-07.
  17. "COMPANY : INDEX". www.nc.ntplc.co.th.
  18. "ข้อมูลบริษัท". www.tot.co.th.
  19. "5 ง พิเศษ". ประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง มติการประชุมผู้ถือหุ้นร่วมของบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ครั้งที่ ๒. Vol. 138. ราชกิจจานุเบกษา. 2021-01-06. pp. 5–7. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-06-13. สืบค้นเมื่อ 2022-06-13.
  20. "พิธีเปิดตัว บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน)". ยูทูบ. 2021-01-11. สืบค้นเมื่อ 2022-11-10.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  21. "รมว.ดีอีเอสจุดพลุควบรวมตั้ง'NT'รัฐวิสาหกิจยักษ์ใหญ่ของไทยสำเร็จ". ไทยโพสต์. 2021-01-07. สืบค้นเมื่อ 2021-01-07.
  22. 22.0 22.1 22.2 "CAT ควบรวม TOT เสร็จเปลี่ยนเป็น NT ตั้งเป้า 64 ติด 1 ใน 3 บริษัทโทรคมนาคมไทย". ไทยรัฐ. 2021-01-07. สืบค้นเมื่อ 2021-01-07.
  23. ""สรรพชัยย์"จรดปากกานั่งซีอีโอ'เอ็นที' รับค่าเหนื่อยไม่ต่ำกว่า4แสน". กรุงเทพธุรกิจ. 2022-07-20. สืบค้นเมื่อ 2022-11-10.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  24. "รายงานประจำปี 2564 บมจ.โทรคมนาคมแห่งชาติ" (PDF). โทรคมนาคมแห่งชาติ. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2022-11-10. สืบค้นเมื่อ 2022-10-11.

ดูเพิ่ม

[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]