องค์การสวนยาง
ภาพรวมหน่วยงาน | |
---|---|
ก่อตั้ง | 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2504 |
ผู้ก่อตั้ง | ชุบ มุนิกานนท์ |
ยุบเลิก | 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2558 |
หน่วยงานสืบทอด | |
สำนักงานใหญ่ | 79 หมู่ที่ 16 ตำบลช้างกลาง อำเภอช้างกลาง จังหวัดนครศรีธรรมราช |
งบประมาณต่อปี | 28 ล้านบาท (พ.ศ. 2558)[1] |
ต้นสังกัดหน่วยงาน | กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ |
เว็บไซต์ | http://www.reothai.co.th |
องค์การสวนยาง (อ.ส.ย.) เป็นอดีตรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผู้ก่อตั้งคือ ชุบ มุนิกานนท์ และก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2504 มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่อำเภอช้างกลาง จังหวัดนครศรีธรรมราช ต่อมาถูกยุบรวมเข้าเป็นการยางแห่งประเทศไทยในปี พ.ศ. 2558
ประวัติ
[แก้]กิจการสวนยางในประเทศไทย เริ่มต้นในปี พ.ศ. 2482 โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้มอบเงินจำนวนหนึ่งให้พระยาอนุวัติวนรักษ์ หัวหน้ากองการยาง กรมป่าไม้ เพื่อซื้อที่ดินสวนยาง ต่อมาในปี พ.ศ. 2484 ได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตหวงห้ามที่ดินในท้องที่ตำบลช้างกลาง อำเภอฉวาง จังหวัดนครศรีธรรมราช[2] หวงห้ามที่ดินดังกล่าวไว้เพื่อการเกษตร รวมเนื้อที่ประมาณ 12,000 ไร่ แต่ในช่วงเวลาดังกล่าวเกิดสงครามมหาเอเชียบูรพา ทำให้ไม่สามารถดำเนินการได้อย่างเต็มที่ โดยในระหว่างปี พ.ศ. 2485 ถึงปี พ.ศ. 2490 กิจการสวนยางดังกล่าวอยู่ในความดูแลขององค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ และโอนไปรวมกับบริษัท แร่และยาง จำกัด ในปี พ.ศ. 2490 แต่ยังไม่ทันได้ดำเนินการบริษัท แร่และยาง จำกัด ก็ต้องเลิกกิจการไปเสียก่อน จึงต้องโอนกลับมาสังกัดองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้เช่นเดิม
ในปี พ.ศ. 2491 กรมสวัสดิการทหารบก ได้เข้ามาศึกษาดูกิจการสวนยาง แต่ก็ไม่ได้มีการเข้ามาดำเนินการแต่อย่างใด จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2492 คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้ยกฐานะกิจการสวนยางขึ้นเป็น "องค์การสวนยางนาบอน" สังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อผลิตยางแผ่นรมควัน น้ำยางสดจำหน่าย และดำเนินการค้นคว้าทดลอง ฝึกอบรมเกษตรกรไทยในการผลิตยาง ด้วยเงินทุนจากกระทรวงการคลัง จำนวน 3.4 ล้านบาท
กระทั่งในปี พ.ศ. 2504 ได้มีการตราพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การสวนยาง พ.ศ. 2504[3] กำหนดให้องค์การสวนยางเป็นนิติบุคคล
ต่อมาเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2558 ได้ยุบรวมกับหน่วยงานอื่นอีกสองหน่วยงานเป็น การยางแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจ ตามพระราชบัญญัติการยางแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2558[4]
พื้นที่ขององค์การสวนยาง
[แก้]องค์การสวนยาง มีพื้นที่ทำประโยชน์ จำนวน 41,800 ไร่ ดังนี้
- ที่ดินในหมู่ที่ 16 ตำบลช้างกลาง อำเภอช้างกลาง จังหวัดนครศรีธรรมราช จำนวน 10,200 ไร่ เป็นที่ดินตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตหวงห้ามที่ดินในท้องที่ตำบลช้างกลาง อำเภอฉวาง จังหวัดนครศรีธรรมราช พ.ศ. 2484
- ที่ดินในตำบลกรุงหยัน อำเภอทุ่งใหญ่ จังหวัดนครศรีธรรมราช จำนวน 31,600 ไร่ เป็นที่ดินที่กรมป่าไม้มอบให้ทำประโยชน์ ตามมติคณะรัฐมนตรี
อ้างอิง
[แก้]- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2558 เล่ม 131 ตอนที่ 69ก วันที่ 30 กันยายน 2557
- ↑ พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตหวงห้ามที่ดินในท้องที่ตำบลช้างกลาง อำเภอฉวาง จังหวัดนครศรีธรรมราช พุทธศักราช ๒๔๘๔
- ↑ พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การสวนยาง พ.ศ. ๒๕๐๔
- ↑ พระราชบัญญัติการยางแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2558ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 132 ตอนที่ 63ก วันที่ 14 กรกฎาคม 2558