วิทยุการบินแห่งประเทศไทย
ชื่อท้องถิ่น | Aeronautical Radio of Thailand LTD. |
---|---|
ประเภท | รัฐวิสาหกิจ |
อุตสาหกรรม | วิทยุการบิน |
รูปแบบ | บริษัทจำกัด |
ก่อตั้ง | 15 เมษายน พ.ศ. 2491 |
ผู้ก่อตั้ง | |
สำนักงานใหญ่ | เลขที่ 102 ถนนพระราม 4 ซอยงามดูพลี แขวงทุ่งมหาเมฆ เขตสาทร, กรุงเทพมหานคร 10120 |
จำนวนที่ตั้ง | ศูนย์ควบคุมการบิน 9 แห่ง |
พื้นที่ให้บริการ | ประเทศไทย |
บุคลากรหลัก |
|
ผลิตภัณฑ์ | |
บริการ | |
รายได้ | 9,276,121,122 บาท (พ.ศ. 2566)[1] |
รายได้จากการดำเนินงาน | 9,067,071,887 บาท (พ.ศ. 2566)[1] |
รายได้สุทธิ | 988,280,631 บาท (พ.ศ. 2566)[1] |
ทรัพย์สินสุทธิ | 2,527,723,694 บาท (พ.ศ. 2566)[1] |
สินทรัพย์ | 10,592,655,446 บาท (พ.ศ. 2566)[1] |
ส่วนของผู้ถือหุ้น | 2,061,046,543 บาท (พ.ศ. 2566)[1] |
เจ้าของ | กระทรวงการคลัง (91.000 %) |
บริษัทแม่ | กระทรวงคมนาคม |
เว็บไซต์ | เว็บไซต์ของบริษัท |
บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด (อังกฤษ: Aeronautical Radio of Thailand LTD.) เป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ในสังกัดกระทรวงคมนาคม มีหน้าที่รับผิดชอบด้านงานควบคุมจราจรทางอากาศในอาณาเขตราชอาณาจักรไทย
ประวัติ
[แก้]หลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง กรมไปรษณีย์โทรเลข ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลให้ทำหน้าที่ให้บริการ ควบคุมจราจรทางอากาศ และการสื่อสารการบิน จนกระทั่งสงครามโลกครั้งที่สอง ได้เกิดขึ้นทางทวีปเอเชีย ส่งผลให้อากาศยานพลเรือนไม่อาจทำการบิน จึงต้องเลิกกิจการลง
เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง การประกอบธุรกิจการบินระหว่างประเทศเริ่มฟื้นตัวขึ้น บริษัท Aeronautical Radio Inc. (ARINC) จากสหรัฐอเมริกา บริษัท International Aeradio Ltd. (IAL) จากอังกฤษ และสายการบินต่างๆ ที่ทำการบินมายังประเทศไทย ได้ร่วมกันขออนุมัติรัฐบาลไทยจัดตั้ง บริษัท การบินแห่งสยาม จำกัด (AERONAUTICAL RADIO OF SIAM LTD.) ในปี พ.ศ. 2491 เพื่อดำเนินกิจการบริการควบคุมจราจรทางอากาศ และสื่อสารการบินตามมาตรฐาน และข้อเสนอแนะขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ International Civil Aviation Organization) ภายใต้สัญญาที่ได้รับจากรัฐบาลไทย
ต่อมารัฐบาลไทยซึ่งได้เล็งเห็นถึง ความสำคัญของภารกิจวิทยุการบินฯ ตลอดมาว่าเกี่ยวข้องกับ ความมั่นคงแห่งชาติ และการพัฒนากิจการบิน ประกอบกับมีความพร้อมในทุกๆด้านแล้ว จึงได้ขอซื้อหุ้นทั้งหมดคืน เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2506 และเปลี่ยนชื่อภาษาอังกฤษเป็น AERONAUTICAL RADIO OF THAILAND LTD. หรือ AEROTHAI ในเวลาต่อมายังได้อนุญาตให้สายการบินที่ทำการบินมายังประเทศไทย เป็นประจำ ร่วมเป็นผู้ถือหุ้นกับรัฐบาลด้วย วิทยุการบินฯ จึงได้มีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจ สังกัดกระทรวงคมนาคม ถึงแม้จะดำเนินการ ในรูปบริษัทจำกัด แต่เนื่องจากมีข้อผูกพันในฐานะที่ปฏิบัติงานในนามรัฐบาล ซึ่งเป็นภาคีสมาชิกของ ICAO และตามข้อตกลงที่มีไว้กับรัฐบาล วิทยุการบินฯ จึงดำเนินการแบบไม่ค้ากำไร ในการให้บริการภาคความปลอดภัย ได้แก่ บริการควบคุมจราจรทางอากาศ และสื่อสารการบิน ในอาณาเขตประเทศไทย โดยมีเครือข่ายเชื่อมโยงกับประเทศต่างๆ นอกจากนั้นยังมีบริการภาคธุรกิจ คือ บริการเกี่ยวเนื่องกับกิจการบินทั้งใน และต่างประเทศ
รางวัลระดับโลก
[แก้]วิทยุการบินแห่งประเทศไทย ได้รับรางวัล Jane’s ATC Awards ด้าน Enabling Technology เป็นรางวัลที่มอบให้หน่วยงานที่มีผลงานที่โดดเด่นทางด้านการพัฒนาความสามารถรองรับอากาศยานและความปลอดภัยทางอากาศ (capacity and safety) โดยผลงานที่ได้รับรางวัลคือระบบบริหารสภาพคล่องจราจรทางอากาศผ่านอ่าวเบงกอล (Bay of Bengal Cooperative Air Traffic Flow Management System) หรือ BOBCAT ถือเป็นรางวัลระดับโลกที่จัดโดยนิตยสาร Jane’s Airport Review โดยคัดเลือกจากหน่วยงานที่มีผลงานที่โดดเด่นในแวดวงอุตสาหกรรมการจัดการทางด้านการควบคุมจราจรทางอากาศ (ATM industry) กว่า 100 ประเทศทั่วโลก[2]