องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์
The Zoological Park Organization of Thailand | |
ตราสัญลักษณ์ในยุคองค์การสวนสัตว์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ | |
ภาพรวมองค์การ | |
---|---|
ก่อตั้ง | 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2497 |
องค์การก่อนหน้า |
|
ประเภท | รัฐวิสาหกิจ |
เขตอำนาจ | ทั่วราชอาณาจักร |
สำนักงานใหญ่ | เลขที่ 327 อาคารดีพร้อม ถนนสุโขทัย แขวงดุสิต เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร 10300 |
บุคลากร | 1,481 คน (พ.ศ. 2566)[1] |
งบประมาณต่อปี | 2,316,331,000 บาท (พ.ศ. 2568)[2] |
ฝ่ายบริหารองค์การ |
|
ต้นสังกัดองค์การ | กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม |
ลูกสังกัด | |
เว็บไซต์ | เว็บไซต์ขององค์การ |
องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (อสส.) (อังกฤษ: The Zoological Park Organization of Thailand) เป็นรัฐวิสาหกิจ ประเภทสังคมและเทคโนโลยี สังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม[3] มีหน้าที่รับผิดชอบในเรื่องการจัดหารวบรวมสัตว์ป่านานาชนิด การให้การศึกษา การอนุรักษ์และขยายพันธุ์ การวิจัย และการจัดสวนสัตว์ให้เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของประชาชนทั่วไป นอกจากนี้ยังเป็นหน่วยงานซึ่งมีหน้าที่ประสานงานและดำเนินการด้านต่าง ๆ ให้สวนสัตว์ ปัจจุบันมีสวนสัตว์อยู่ภายใต้ความรับผิดชอบ 6 แห่ง และ 1 โครงการจัดตั้ง คือ สวนสัตว์เปิดเขาเขียว, สวนสัตว์นครราชสีมา, สวนสัตว์เชียงใหม่, สวนสัตว์สงขลา,[3] สวนสัตว์อุบลราชธานี, สวนสัตว์ขอนแก่น และ โครงการคชอาณาจักร จังหวัดสุรินทร์
ประวัติ
[แก้]วันที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2481 พระราชทานก่อตั้ง สวนสัตว์ดุสิต ในความดูแลของเทศบาลนครกรุงเทพฯ
วันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2497 จึงได้มีพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งเป็น องค์การสวนสัตว์ โดยขึ้นตรงกับสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อดูแลจัดการกิจการสวนสัตว์
วันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2506 พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงรับองค์การสวนสัตว์ ไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ จึงเปลี่ยนชื่อเป็น "องค์การสวนสัตว์ ในพระบรมราชูปถัมภ์" (อสส.)
ต่อมาในการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันอังคารที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2563 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ ร่างพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย พ.ศ. ... โดยมีสาระสำคัญคือให้ยุบเลิกองค์การสวนสัตว์ตาม พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การสวนสัตว์ พ.ศ. ๒๔๙๗ พร้อมกับให้โอนกิจการรวมถึง ทรัพย์สิน หนี้สิน พนักงาน ลูกจ้าง ขององค์การสวนสัตว์ไปเป็นขององค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย พร้อมกับให้นายกรัฐมนตรีนำร่างพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อให้ทรงลงพระปรมาภิไธยประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป
กระทั่งวันอังคารที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2563 ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย พ.ศ. ๒๕๖๓ ซึ่งมีผลบังคับใช้ในวันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาคือวันพุธที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2563 ส่งผลให้องค์การสวนสัตว์ต้องสิ้นสุดลงพร้อมกับการจัดตั้ง องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย ขึ้นมาแทน[4]
สวนสัตว์ในความดูแลขององค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย
[แก้]สวนสัตว์เปิดเขาเขียว
[แก้]- ดูบทความหลักที่ สวนสัตว์เปิดเขาเขียว
สวนสัตว์เปิดเขาเขียว เป็นสวนสัตว์เปิดขนาดใหญ่ในจังหวัดชลบุรี สวนสัตว์เป็นบริการสาธารณะ เกินขึ้นจากคณะกรรมการองค์การสวนสัตว์ได้พิจารณาเห็นว่า สวนสัตว์ดุสิต มีพื้นที่น้อยแต่ปริมาณสัตว์มากเกินไป อยู่กันอย่างหนาแน่น แออัด เป็นผลให้การขยายพันธุ์ของสัตว์ป่าเป็นไปอย่างเชื่องช้า จึงมีมติรับหลักการใช้พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติเขา-เขียว และเขาชมภู่ จังหวัดชลบุรี
อีกทั้งสวนสัตว์เปิดเขาเขียว เป็นสวนสัตว์แห่งแรกของประเทศไทยที่ได้เป็นสมาชิกของสมาคมสวนสัตว์โลกและอควอเรียม (WAZA) แห่งเดียวในอาเซียน [5]
สวนสัตว์เชียงใหม่
[แก้]- ดูบทความหลักที่ สวนสัตว์เชียงใหม่
สวนสัตว์เชียงใหม่ ตั้งอยู่บริเวณทางขึ้นดอยสุเทพ, จังหวัดเชียงใหม่ ก่อตั้งขึ้นโดยนายฮาโรลด์ เมสัน ยัง มิชชั่นนารีชาวอเมริกัน จนกระทั่งปี พ.ศ. 2520 สวนสัตว์จึงโอนเข้าสังกัดองค์การสวนสัตว์ ตั้งแต่วันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2520
มีสัตว์อยู่ในสวนสัตว์จำนวนมาก และภายในสวนสัตว์เชียงใหม่มีโบราณสถานที่ชื่อว่าวัดกู่ดินขาว
สวนสัตว์นครราชสีมา
[แก้]- ดูบทความหลักที่ สวนสัตว์นครราชสีมา
สวนสัตว์นครราชสีมา หรือ สวนสัตว์โคราช เป็นซาฟารีขนาดใหญ่ที่สุดของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีสัตว์ป่าที่หาชมยากมากมาจัดแสดง โดยมีการปรับพื้นที่เป็นลูกคลื่นทำให้มองดูคล้ายทุ่งหญ้าสะวันนา จึงได้มีการนำสัตว์จากแอฟริกามาจัดแสดง [6]
สวนสัตว์สงขลา
[แก้]- ดูบทความหลักที่ สวนสัตว์สงขลา
สวนสัตว์สงขลา อยู่ท่ามกลางขุนเขาและโอบล้อมด้วยทะเลสาบสงขลา มีจุดชมวิวที่สามารถมองเห็นสะพานติณสูลานนท์ ตัวเมืองสงขลา และทะเลอ่าวไทย เป็นแหล่งอนุรักษ์เพาะขยายพันธุ์สัตว์ป่าหายากทางใต้ของไทย [7]
สิ่งที่น่าสนใจในสวนสัตว์สงขลา ได้แก่ ส่วนจัดแสดงสัตว์เท้ากีบ ประกอบด้วย กวาง, เก้ง, กระทิง และ ศูนย์เสือ จัดแสดงเสือชนิดต่างๆ เช่น เสือโคร่งพันธุ์เบงกอล เสือโคร่งพันธุ์อินโดจีน เสือจากัวร์ดำ เสือดาว เสือลายเมฆ และสัตว์ตระกูลเสืออีกหลายๆ ชนิด ที่หาดูได้ยาก [7]
สวนสัตว์อุบลราชธานี
[แก้]องค์การสวนสัตว์ ได้รับมอบพื้นที่ส่วนหนึ่งของป่าสงวนแห่งชาติดงฟ้าห่วน บริเวณสวนพฤกษศาสตร์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประมาณ 1,217 ไร่ ในเขตอำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี (ห่างจากตัวเมืองอุบลราชธานี 12 กิโลเมตร) จากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เพื่อใช้ในการก่อสร้างสวนสัตว์อุบลราชธานี เริ่มในปี พ.ศ. 2550 มีกำหนดก่อสร้าง 5 ปี เมื่อแล้วเสร็จ จะทำให้เป็นสวนสัตว์ที่สมบูรณ์ที่สุดในเขตภูมิภาคนี้
มีสัตว์ป่าประจำถิ่นในภูมิภาคมาแสดงเช่น กระทิง ค่างห้าสี รวมทั้งสัตว์ป่าต่างประเทศจากประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ลาว กัมพูชา แลกเปลี่ยนมาจัดแสดงในสวนสัตว์แห่งนี้ [8]
สวนสัตว์ขอนแก่น
[แก้]สวนสัตว์ขอนแก่น หรือสวนสัตว์เขาสวนกวาง จัดตั้งอยู่ที่ อำเภอเขาสวนกวาง จังหวัดขอนแก่น (ถนนมิตรภาพ ทางไปจังหวัดอุดรธานี) เป็นศูนย์กลางการศึกษาและการอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน
โครงการสวนสัตว์
[แก้]องค์การสวนสัตว์ อยู่ระหว่างการดำเนินการจัดตั้งสวนสัตว์ จำนวน 5 แห่ง ได้แก่ คชอาณาจักร จ.สุรินทร์ สวนสัตว์นครสวรรค์ สวนสัตว์ราชบุรี สวนสัตว์สุโขทัย สวนสัตว์ชุมพร และศูนย์อนุรักษ์พื้นที่ชุ่มน้ำและนกกระเรียนพันธุ์ไทย จ.บุรีรัมย์ [9]
สวนสัตว์ในอดีต
[แก้]สวนสัตว์ดุสิต
[แก้]- ดูบทความหลักที่ สวนสัตว์ดุสิต
สวนสัตว์ดุสิต หรือ เขาดินวนา (Dusit Zoo) เป็นสวนสัตว์แห่งแรกของประเทศไทย อยู่ใกล้กับสนามเสือป่าและพระที่นั่งอนันตสมาคม เดิมเป็นพระราชอุทยานส่วนพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ดินที่ขุดขึ้นมาได้นำมาใช้ในการถมเนินและปลูกต้นไม้ พระองค์จึงโปรดเรียกที่นี้ว่า "เขาดินวนา" สวนสัตว์ดุสิตมีสัตว์ป่าทั้งในและต่างประเทศ รวมกว่า 1,600 ตัว มีผู้เข้ามาใช้บริการเฉลี่ยปีละ 2.5 ล้านคน
วันที่ 24 ส.ค. งานประชาสัมพันธ์ สวนสัตว์ดุสิต ทำเอกสารชี้แจงเกี่ยวกับกรณีดังกล่าว โดยระบุว่าตามที่องค์การสวนสัตว์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ และสวนสัตว์ดุสิต ประกาศเปิดให้บริการเข้าชมสัตว์ในสวนสัตว์ดุสิต เป็นวันสุดท้ายจนถึงวันศุกร์ที่ 31 สิงหาคม 2561 ทั้งนี้ เพื่อเตรียมความพร้อมในการดำเนินแผนงานเคลื่อนย้ายสัตว์ออกไปกระจายอาศัยอยู่ชั่วคราว ณ สวนสัตว์ 6 แห่งนั้น ขอเรียนให้ทราบว่า เนื่องจากมีประชาชนจำนวนมากต่างหลั่งไหลเดินทางมาเที่ยวชมสวนสัตว์ดุสิตอย่างต่อเนื่อง เพื่อเก็บภาพและบรรยากาศเป็นที่ระลึก ผู้บริหารองค์การสวนสัตว์ ได้นำสถิติการเข้าชมของนักท่องเที่ยว มาพิจารณาอย่างรอบคอบแล้วเห็นว่า สมควรขยายระยะเวลาการเปิดให้เข้าชมสวนสัตว์ดุสิตต่อไปอีกเป็นระยะเวลา 1 เดือน หรือ ตั้งแต่บัดนี้จนถึงวันที่ 30 ก.ย.2561 เพื่อตอบแทนไมตรีและความรักที่ประชาชนได้มอบให้กับสวนสัตว์ดุสิต อย่างไรก็ตาม ขอความร่วมมือจากประชาชนให้เข้าชมพื้นที่ด้วยความเป็นระเบียบเรียบร้อย เพื่อป้องกันการเกิดผลกระทบกับสวัสดิภาพของสัตว์ และความปลอดภัยของพี่น้องประชาชน
อ้างอิง
[แก้]- ↑ รายงานประจำปี 2566 องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๘, เล่ม ๑๔๑ ตอนที่ ๕๙ ก หน้า ๙๙, ๓๐ กันยายน ๒๕๖๙
- ↑ 3.0 3.1 "ประวัติองค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-03-15. สืบค้นเมื่อ 2008-03-08.
- ↑ พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย พ.ศ. ๒๕๖๓
- ↑ สวนสัตว์เปิดเขาเขียว ความภูมิใจของคนไทย แห่งแรกของประเทศที่เป็นสมาชิกสวนสัตว์โลก[ลิงก์เสีย]
- ↑ องค์การสวนสัตว์ - ประวัติสวนสัตว์นครราชสีมา เก็บถาวร 2009-04-25 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- ↑ 7.0 7.1 องค์การสวนสัตว์ - ประวัติสวนสัตว์สงขลา เก็บถาวร 2009-04-13 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- ↑ จากศูนย์ข่าวภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กรมประชาสัมพันธ์ - องค์การสวนสัตว์ในพระบรมราชูปถัมภ์ เร่งสร้างสวนสัตว์อุบลราชธานี ใน 4 ปี[ลิงก์เสีย]
- ↑ องค์การสวนสัตว์ ร่วมกับภาครัฐ-เอกชน เปิดศูนย์อนุรักษ์ พื้นที่ชุ่มน้ำและนกกระเรียนพันธุ์ไทย ที่จังหวัดบุรีรัมย์เป็นแห่งแรกของประเทศไทย - [1]