บรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
บรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย
Secondary Mortgage Corporation
บรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย
ภาพรวมหน่วยงาน
ก่อตั้ง29 มิถุนายน พ.ศ. 2540
ยุบเลิก24 กันยายน พ.ศ. 2563 (23 ปี)
สำนักงานใหญ่ชั้น 21 อาคารเอไอเอ แคปปิตอล เซ็นเตอร์ เลขที่ 89 ถนนรัชดาภิเษก แขวงดินแดง เขตดินแดง กรุงเทพมหานคร 10400
ต้นสังกัดกระทรวงการคลัง
เว็บไซต์www.smc.or.th

บรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย (อังกฤษ: Secondary Mortgage Corporation; SMC) หรือ บตท. เป็นอดีตรัฐวิสาหกิจ ประเภทสถาบันการเงินในสังกัดกระทรวงการคลัง จัดตั้งขึ้นโดยพระราชกำหนดบรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย พ.ศ. 2540 ด้วยทุนประเดิม จากกระทรวงการคลัง 1,000 ล้านบาท แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดบรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย พ.ศ. 2540 พ.ศ. 2560

โดยมีวัตถุประสงค์หลักในการพัฒนาตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย ด้วยการนำหลักการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์มาใช้เพื่อให้สามารถระดมทุนสำหรับการขยายสินเชื่อที่อยู่อาศัยได้มากเพียงพอสมํ่าเสมอ และเป็นการขยายสินเชื่อที่อยู่อาศัยในวงกว้างขึ้น เพื่อสร้างเสถียรภาพด้านสินเชื่อที่อยู่อาศัย ในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และรักษาความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ[1]

ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 18 วันพุธที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2563 ได้มีการเสนอ ร่างพระราชบัญญัติยุบเลิกบรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย พ.ศ. ... คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอโดยมีสาระสำคัญคือ ให้ยุบเลิกบรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย ซึ่งที่ประชุมมีมติรับหลักการด้วยคะแนนเห็นด้วย 394+1 เสียง ไม่เห็นด้วย 1 เสียง งดออกเสียง 5 เสียง ไม่ลงคะแนน 5 เสียง

กระทั่งการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ปีที่ 2 ครั้งที่ 12 เป็นพิเศษ วันพุธที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2563 ที่ประชุมได้พิจารณา ร่างพระราชบัญญัติยุบเลิกบรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย พ.ศ. ... ในวาระที่ 2 และ 3 ซึ่งที่ประชุมมีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติยุบเลิกบรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัยด้วยคะแนนเห็นด้วย 376 เสียง ไม่เห็นด้วย ไม่มี งดออกเสียง 4 เสียง ไม่ลงคะแนน 1 เสียง หลังจากนี้ทางสภาผู้แทนราษฎรจะได้ส่งร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ไปให้ทางวุฒิสภาพิจารณาเห็นชอบอีกครั้งหนึ่ง

ต่อมาในการประชุมวุฒิสภา ครั้งที่ 15 วันจันทร์ที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2563 วุฒิสภาได้พิจารณา ร่างพระราชบัญญัติยุบเลิกบรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย พ.ศ. ... ในวาระรับหลักการ ซึ่งที่ประชุมมีมติรับหลักการในร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ด้วยคะแนน เห็นด้วย 193 เสียง ไม่เห็นด้วย 1 เสียง งดออกเสียง 4 เสียง และไม่ลงคะแนน 1 เสียง

จากนั้นในการประชุมวุฒิสภา ครั้งที่ 18 วันจันทร์ที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2563 ที่ประชุมมีมติให้ ร่างพระราชบัญญัติยุบเลิกบรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย พ.ศ. ... ประกาศใช้เป็นกฎหมายด้วยคะแนน เห็นด้วย 207 เสียง ไม่เห็นด้วย ไม่มี งดออกเสียง 2 เสียง ไม่ลงคะแนน ไม่มี จากนั้นวุฒิสภาจะได้ส่งร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้กลับไปยังคณะรัฐมนตรีเพื่อให้นายกรัฐมนตรีนำขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อให้ทรงลงพระปรมาภิไธยประกาศใช้เป็นกฎหมายในราชกิจจานุเบกษาต่อไป

เมื่อวันที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2563 ราชกิจจานุเบกษาได้ลงประกาศเผยแพร่ "พระราชบัญญัติยุบเลิกบรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย พ.ศ. 2563" ยุบเลิก บตท. โดยให้โอนกิจการ ทรัพย์สิน สิทธิ หนี้สิน ทุน และภาระผูกพัน รวมถึงการโอนสิทธิเรียกร้องของ บตท. ไปให้แก่ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) นับตั้งแต่วันที่กฎหมายมีผลบังคับใช้ คือ วันที่ 24 กันยายน 2563 เป็นต้นไป[2]

ธุรกรรมหลัก[แก้]

  1. รับซื้อสินเชื่อที่อยู่อาศัยเพื่อการลงทุน (Portfolio Investment) บตท. จะดำเนินการซื้อสินเชื่อที่อยู่อาศัยที่มีคุณภาพจากสถาบันการเงินในตลาดแรกและผู้ประกอบธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ การรับซื้อสินเชื่อดังกล่าวจะช่วยเสริมสร้างสภาพคล่อง และลดความเสี่ยงให้แก่สถาบันในตลาดแรก และเป็นการลงทุนโดยถือเป็นสินทรัพย์ของ บตท. เอง
  2. ธุรกรรมแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ (Securitization) บตท. จะซื้อสินเชื่อที่อยู่อาศัยจากสถาบันการเงินในตลาดแรก และนำสินทรัพย์คือสินเชื่อที่อยู่อาศัยมาแปลงเป็นหลักทรัพย์โดยการออกตราสารทางการเงินที่มีสินเชื่อที่อยู่อาศัยหนุนหลังหรือตราสารการเงินอื่นขายให้แก่นักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ
  3. การสนับสนุนให้มีสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยคงที่ระยะยาว เพื่อช่วยให้ประชาชนมีที่อยู่อาศัยได้ โดยลดความเสี่ยงจากการที่อัตราดอกเบี้ยผันผวน

อ้างอิง[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]