กรมเจ้าท่า

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
กรมเจ้าท่า
Marine Department

อาคารของกรมเจ้าท่า มองจากแม่น้ำเจ้าพระยา
ภาพรวมหน่วยงาน
ก่อตั้ง5 สิงหาคม พ.ศ. 2402 (164 ปี)
สำนักงานใหญ่1278 ถนนโยธา แขวงตลาดน้อย เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร 10100
งบประมาณประจำปี4,707.4000 ล้านบาท (พ.ศ. 2566)
ฝ่ายบริหารหน่วยงาน
  • กริชเพชร ชัยช่วย[1], อธิบดี
  • ภูริพัฒน์ ธีระกุลพิศุทธิ์, รองอธิบดี
  • สมชาย สุมนัสขจรกุล, รองอธิบดี
  • วิเชียร เปมานุกรรักษ์, รองอธิบดี
เว็บไซต์http://www.md.go.th

กรมเจ้าท่า (อังกฤษ: Marine Department; เคยใช้ชื่อ: กรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี) มีหน้าที่ดูแลพื้นน้ำและการเดินทางทางน้ำ มีสำนักงานตั้งอยู่ที่ 1278 ถนนโยธา แขวงตลาดน้อย เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร

ประวัติ[แก้]

หน่วยงานที่ดูแลพื้นน้ำและการเดินทางทางน้ำของไทยมีมาตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี โดยมีชื่อเรียกหน่วยงานว่า เจ้าภาษี นายด่าน หรือ นายขนอมตลาด ซึ่งทั้งหมดทำหน้าที่บังคับการจอดสมอเรือค้าขาย เก็บค่าธรรมเนียมเรือค้าขายที่เข้าและออกราชอาณาจักร โดยอยู่ในความปกครอง บังคับบัญชาของกรมพระคลัง

ท่าเรือกรมเจ้าท่า ติดแม่น้ำเจ้าพระยา

ในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี หน่วยงานนี้มีชื่อเรียกว่า "กรมท่า" หรือ "กรมเจ้าท่า" อยู่ในความควบคุมดูแลของกรมพระคลังสินค้า ซึ่งสันนิษฐานว่าตั้งขึ้นในสมัยพระเจ้าปราสาททอง เป็นหน่วยงานหลวงเพื่อผูกขาดสินค้าบางอย่างเป็นสินค้าต้องห้าม ไม่ให้พ่อค้าประชาชนซื้อขายโดยตรง นอกจากผูกขาดซื้อขายสินค้าแล้ว พระคลังสินค้ายังมีหน้าที่เรียกเก็บค่าธรรมเนียมเรือสินค้าต่างชาติ ค่าภาษีสินค้าและค่าธรรมเนียมเข้าออก

ต่อมาจนกระทั่งสมัยกรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานี ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทางราชการได้ทำสัญญาจ้างกัปตัน จอห์น บูช (John bush) ชาวอังกฤษ มาเป็นผู้ริเริ่มงานฝ่ายเจ้าท่า มีการลงนามในสัญญาระหว่างไทยกับอังกฤษ เมื่อวัน 8ฯ9 ค่ำ จุลศักราช 1221 ปีมะแม เอกศก ตรงกับวันศุกร์ที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2402 กรมเจ้าท่าจึงถือเอาวันที่ 5 สิงหาคมของทุกปี เป็นวันคล้ายวันสถาปนากรมเจ้าท่า และต่อมา กรมเจ้าท่า ซึ่งแต่เดิมสังกัดในกรมพระคลัง ได้ย้ายสังกัดไปอยู่ในกระทรวงการต่างประเทศ และเมื่อ พ.ศ. 2432 ได้ย้ายไปอยู่กับกระทรวงโยธาธิการ

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งที่ทำการของกรมที่ตึกเจ้าสัวเส็งริมแม่น้ำเจ้าพระยา ข้างตลาดน้อย ตรงข้ามปากคลองสาน (คือที่ตั้งของกรมเจ้าท่าในปัจจุบัน) ต่อมาใน พ.ศ. 2444 ได้ย้ายสังกัดกรมเจ้าท่าไปขึ้นอยู่ในกระทรวงนครบาล และใน พ.ศ. 2448 กรมเจ้าท่าได้ยกฐานะเป็นกรมชั้นอธิบดี และพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงให้ตราพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย ร.ศ. 124 (พ.ศ. 2448) และในปีนี้เอง ทรงเริ่มปรับปรุงกิจกรรมกรมเจ้าท่าขึ้นใหม่ โดยยกเอางานบางส่วนจากกรมคลองเดิมมารวมกับกรมเจ้าท่า

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ทางราชการได้ยกกระทรวงนครบาลซึ่งกรมเจ้าท่าสังกัด อยู่ไปรวมกับกระทรวงมหาดไทย จนกระทั่งปี พ.ศ. 2484 กรมเจ้าท่าจึงได้ย้ายสังกัดเป็นครั้งสุดท้าย มาขึ้นกับกระทรวงคมนาคมอย่างเช่นปัจจุบัน

ในปี พ.ศ. 2545 ได้มีการปฏิรูปราชการเพื่อให้การทำงานมีความเหมาะสมกับสภาพของงาน ได้มีการรวมสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมกิจการพาณิชยนาวี ให้เป็นหน่วยงานในสังกัดกรมเจ้าท่า แล้วเปลี่ยนชื่อจากกรมเจ้าท่า เป็นกรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี สังกัดกระทรวงคมนาคม มีภารกิจเกี่ยวกับการส่งเสริมการพัฒนาระบบการขนส่งทางน้ำและการพาณิชยนาวี ให้มีการเชื่อมต่อระบบการขนส่งอื่นๆ ทั้งการขนส่งผู้โดยสารและสินค้า ท่าเรือ อู่เรือ กองเรือไทย และกิจการเกี่ยวเนื่อง เพื่อให้ประชาชนได้รับความสะดวกรวดเร็ว ทั่วถึง และปลอดภัย ตลอดจนการสนับสนุนภาคการส่งออกให้มีความเข้มแข็ง

ปี พ.ศ. 2552 มีพระราชกฤษฎีกา เปลี่ยนชื่อกรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี เป็น "กรมเจ้าท่า" พ.ศ. 2552[2] เพื่อให้สอดคล้องกับการปฏิบัติภารกิจของส่วนราชการ และเป็นการระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามหน่วยงาน

นโยบาย[แก้]

นโยบายของกรมเจ้าท่าในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 10 (พ.ศ. 2550 - 2554)

  1. ให้ความสำคัญกับการพัฒนาโครงสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐานทั้งเพื่อการขนส่งสินค้าและผู้โดยสารให้มีการกระจายบริการพื้นฐานให้ทั่วถึงและเพียงพอ นำไปสู่การกระจายความเจริญไปสู่ส่วนภูมิภาคและสร้างโอกาสให้กับประชาชนทุกระดับในสังคม อันเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนตลอดจนเป็นการส่งเสริมสนับสนุนการท่องเที่ยวทางน้ำ
  2. ดำเนินการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งทางน้ำและกิจการพาณิชย์นาวีทั้งระบบ โดยระบบการขนส่งทางน้ำเป็นการขนส่งที่สามารถขนส่งได้คราวละมาก ๆ ซึ่งเป็นการขนส่งที่มีต้นทุนต่ำและประหยัดพลังงานโดยสอดคล้องตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 10 แผนพัฒนาโลจิสติกส์ ของกระทรวงคมนาคมและแผนพัฒนาระบบการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ (Multi-Modal Transport) ในการสนับสนุนการใช้รูปแบบและวิธีการบริหารจัดการขนส่งเพื่อประหยัด พลังงานรวมทั้งการปรับเปลี่ยนการใช้พลังงานในภาคขนส่งไปสู่รูปแบบที่มีต้นทุนต่ำ สามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้
  3. บูรณะและพัฒนาร่องน้ำ โดยการขุดลอกร่องน้ำ การสร้างเขื่อนกันทรายและคลื่น เขื่อนป้องกันการกัดเซาะ และเขื่อนป้องกันตลิ่งพัง รวมทั้งจัดหาสิ่งอำนวยความปลอดภัยในการใช้ร่องน้ำ เพื่อให้สามารถใช้เป็นเส้นทางสัญจรได้โดยสะดวกและปลอดภัย รวมทั้งเป็นการช่วยรักษาสภาพทางชลศาสตร์และช่วยให้การระบายน้ำเป็นไปด้วยดี อันเป็นการช่วยบรรเทาปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งได้อีกทางหนึ่ง
  4. ส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนากิจการพาณิชย์นาวี และกิจการเกี่ยวเนื่องเพื่อให้การพาณิชยนาวีของไทยเจริญก้าวหน้าสามารถสนองความต้องการของประเทศและสามารถแข่งขันทางเรือระหว่างประเทศได้ อันได้แก่ การขนส่งทางทะเลโดยเพิ่มศักยภาพของกองเรือไทย การเดินเรือ กิจการท่าเรือ กิจการอู่เรือ การผลิตบุคลากร ด้าน พาณิชย์นาวี กิจการของผู้รับ จัดการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศและการประกอบการโลจิสติกส์ กิจการสถานีบรรจุแยกสินค้าและลานคอนเทนเนอร์ ตลอดจนการประกันภัยทางทะเล และรวมไปถึงการกำหนดมาตรการและแนวทางในการแก้ไขปัญหากิจการพาณิชยนาวี
  5. พัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกการขนส่งสินค้าและผู้โดยสารที่ต้องใช้ระบบการขนส่ง เชื่อมต่อโดยการพัฒนาจุดเชื่อมต่อระบบโครงข่ายขนส่งสาธารณะทางน้ำและทางบก เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชนยิ่งขึ้น รวมทั้งเป็นการลดต้นทุนการขนส่งให้ต่ำลงและสามารถแข่งขันการค้าและบริการกับต่างประเทศ
  6. จัดหาเรือและระบบเครื่องมืออุปกรณ์ให้ทันสมัยเป็นไปตามมาตรฐานสากล เพื่อสนับสนุนให้มีการตรวจตรา กำกับดูแล การสัญจรทางน้ำให้เกิดความปลอดภัย รวมทั้งรักษาสภาพแวดล้อมทางน้ำด้วย
  7. เร่งรัดปรับปรุง ศึกษา และพัฒนาระบบคอมพิวเตอร์ รวมทั้งเทคโนโลยีสารสนเทศให้ทันสมัย เพื่อนำมาช่วยในการพัฒนาระบบงานการขนส่งทางน้ำให้ได้มาตรฐาน ลดขั้นตอนที่ยุ่งยากซ้ำซ้อนและเพิ่มความคล่องตัวในการปฏิบัติงาน รวมทั้งการก้าวไปสู่การให้บริการแบบ One-stop-service เพื่อให้สามารถบริการประชาชนได้อย่างสะดวกรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ
  8. ปรับปรุงกฎระเบียบ ข้อบังคับและจัดระบบการบริหารจัดการที่เกี่ยวข้องกับการขนส่ง ทางน้ำให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล ทั้งในด้านประสิทธิภาพในการแข่งขันทางเศรษฐกิจ ความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อม
  9. พิจารณากำหนดหลักเกณฑ์และแนวทางในการบริหารท่าเรือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยพิจารณาอัตราค่าธรรมเนียม อัตราค่าเช่า ในอัตราที่เหมาะสม ส่งผลให้อัตราค่าบริการการขนส่งทางน้ำลดต่ำลง ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาการขนส่งทางน้ำ อีกทั้งเป็นการชักจูงให้เอกชนที่จะมาลงทุนในการบริหารท่าเรือและผู้ประกอบการหันมาใช้การขนส่งทางน้ำ ซึ่งเป็นการขนส่งที่สามารถขนส่งได้คราวละมาก ๆ ทำให้ต้นทุนสินค้าลดต่ำลงสามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้ ตลอดจนเป็นการประหยัดพลังงานและประหยัดค่าใช้จ่ายในการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงของประเทศได้
  10. พัฒนาบุคลากรให้มีความรู้ ความสามารถในด้านต่าง ๆ ให้ทันสมัย สามารถนำมาใช้ในการปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยสนับสนุนให้มีการฝึกอบรม และการศึกษา โดยการนำเทคโนโลยีสารสนเทศที่ทันสมัยมาใช้ในการปฏิบัดิงานได้ รวมทั้งการอบรมด้านคุณธรรมและจริยธรรม
  11. รณรงค์ เผยแพร่ ประชาสัมพันธ์ โดยเสริมสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ในการพัฒนาการขนส่งทางน้ำ

อำนาจและหน้าที่[แก้]

กรมเจ้าท่า เป็นองค์กรหลักในการกำกับดูแล ส่งเสริม พัฒนาระบบการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวีให้มีความปลอดภัย มีประสิทธิภาพตามมาตรฐานสากล ส่งเสริมการพัฒนาระบบการขนส่งทางน้ำและการพาณิชยนาวีให้มีการเชื่อมต่อกับระบบการขนส่งอื่นๆ ทั้งการขนส่งผู้โดยสารและสินค้า ท่าเรือ อู่เรือ กองเรือไทย และกิจการเกี่ยวเนื่อง เพื่อให้ประชาชนได้รับความสะดวก รวดเร็ว ทั่วถึงและปลอดภัยตลอดจน การสนับสนุนภาค การส่งออกให้มี ความเข้มแข็ง โดยมีอำนาจหน้าที่ดังนี้

  1. ดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยการเดินเรือในน่านน้ำไทย กฎหมายว่าด้วยเรือไทย กฎหมายว่าด้วยเรือโดนกัน กฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการพาณิชยนาวี และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง
  2. ศึกษาและวิเคราะห์เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการขนส่งทางน้ำ
  3. ดำเนินการจัดระเบียบการขนส่งทางน้ำและกิจการพาณิชยนาวี
  4. ร่วมมือและประสานงานกับองค์การ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในประเทศ และต่างประเทศในด้านการขนส่งทางน้ำ การพาณิชยนาวีและในส่วนที่เกี่ยวกับอนุสัญญา และความตกลงระหว่างประเทศ
  5. ปฏิบัติการอื่นใดตามที่กฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของกรม หรือตามที่กระทรวง หรือคณะรัฐมนตรีมอบหมาย

หน่วยงานในสังกัด[แก้]

อ้างอิง[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]