กรมการขนส่งทางบก

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
กรมการขนส่งทางบก
Department of Land Transport
Seal of the Department of Land Transport of Thailand.svg
กรมการขนส่งทางบก
ภาพรวมหน่วยงาน
ก่อตั้ง11 สิงหาคม พ.ศ. 2484 (81 ปี)
ผู้ก่อตั้งกระทรวงคมนาคม
สำนักงานใหญ่1032 ถนนพหลโยธิน แขวงจอมพล เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900
ฝ่ายบริหารหน่วยงาน
  • นายจิรุตม์ วิศาลจิตร, อธิบดี
  • นายเสกสม อัครพันธุ์, รองอธิบดี
  • นางสิริรัตน์ วีรวิศาล, รองอธิบดี
เว็บไซต์http://www.dlt.go.th

กรมการขนส่งทางบก (อังกฤษ: Department of Land Transport) เป็นกรมที่ทำหน้าที่ควบคุมและจัดระเบียบการขนส่งทางถนนภายในประเทศและระหว่างประเทศ จดทะเบียนและเก็บภาษีรถ และออกใบอนุญาตขับรถ พัฒนาระบบการขนส่งทางถนนและการใช้รถ ดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบก กฎหมายว่าด้วยรถยนต์ กฎหมายว่าด้วยล้อเลื่อน และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง ร่วมมือและประสานงานกับองค์การและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ในด้านการขนส่งทางบกและในส่วนที่เกี่ยวกับอนุสัญญาและความตกลงระหว่างประเทศ เฉพาะรถของพลเรือน และรถราชการ ไม่รวมถึงรถที่ใช้ในกิจการพิเศษของทหารและตำรวจ

ประวัติ[แก้]

วันพุธ ที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2400 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าฯ ให้ เจ้าพระยายมราช (ครุฑ) เป็นแม่กอง [1] ทำถนนในพระนครทุกสาย ในสมัยนั้นก็คือ ถนนรอบพระบรมมหาราชวัง วัดพระแก้ว ด้วยก่อนนี้เป็นเพียงถนนดินคนเดินไปมา จึงถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นการบุกเบิกคมนาคมทางบก แบบยุโรปขึ้นครั้งแรกในกรุงรัตนโกสินทร์ เพราะก่อนหน้านี้จะใช้การคมนาคมทางน้ำเป็นหลัก และทำถนนต่อจากถนนท้ายวัง ก็คือถนนเจริญกรุง เป็นถนนสายแรกของประเทศไทย

ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ได้โปรดเกล้าฯให้ตั้งกระทรวงคมนาคมขึ้น ในปี พ.ศ. 2425 และให้รวมหน้าที่เกี่ยวกับการขนส่งทางรถไฟ การขนส่งทางบก การขนส่งทางน้ำ และการสื่อสารข่าว มารวมไว้ในกระทรวงคมนาคม อย่างไรก็ตาม กิจการด้านขนส่งทางบกก็ยังไม่มีหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงแม้แต่พระราชบัญญัติจัดตั้งกระทรวงและกรม พ.ศ. 2476 ก็มิได้กำหนดให้มีหน่วยงาน ที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการขนส่งทางบกโดยตรงอีกเช่นกัน

จนกระทั่งในปลายปี พ.ศ. 2476 จึงได้มีพระราชบัญญัติว่าด้วยระเบียบราชการ บริหารแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. 2476 (ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ลงวันที่ 9 ธันวาคม 2476) กำหนดให้มีกรมการขนส่งขึ้น ในกระทรวงเศรษฐการ ซึ่งมีหน้าที่เกี่ยวกับการเศรษฐกิจแห่งชาติ รวมทั้งหน้าที่ในราชการ ส่วนคมนาคมด้วย แต่ก็ยังไม่มีหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการขนส่งทางบก เพราะตามพระราชกฤษฎีกาจัดวางระเบียบราชการสำนักงานและกรมในกระทรวงเศรษฐการ พ.ศ. 2476 ได้กำหนดส่วนราชการของกรมการขนส่งไว้เพียง 2 กอง คือ สำนักงานเลขานุการกรม และกองการบินพลเรือน ทั้งนี้ เพื่อเป็นการขยายกิจการบินพาณิชย์ของประเทศ

จวบจน กระทั่งวันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2484 รัฐบาลในสมัยนั้นซึ่งมี ฯพณฯ จอมพลแปลก พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2484 สถาปนา "กรมการขนส่ง" ขึ้นเป็นส่วนราชการระดับกรมสังกัดกระทรวงคมนาคม โดยมีที่ทำการรวมอยู่ใน กระทรวงคมนาคม ณ ตำบลท่าช้างวังหน้า อำเภอพระนคร (ที่ตั้งของโรงละครแห่งชาติในปัจจุบัน)

อำนาจและหน้าที่[แก้]

กรมการขนส่งทางบก มีภารกิจเกี่ยวกับการจัดระบบ การจัดระเบียบการขนส่งทางบก โดยการกำกับ ดูแล ตรวจสอบ ตรวจตรา ให้มีการปฏิบัติตามกฎหมาย กฎ ระเบียบ ประสาน และวางแผนให้มีการเชื่อมต่อกับระบบการขนส่งอื่น ๆ เพื่อให้ระบบการขนส่งทางบกเกิดความคล่องตัว สะดวก รวดเร็ว ทั่วถึง และปลอดภัย โดยให้มีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้

  1. ดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบก กฎหมายว่าด้วยรถยนต์ กฎหมายว่าด้วยล้อเลื่อน และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง
  2. ดำเนินการแก้ไข ป้องกัน และส่งเสริมสวัสดิภาพการขนส่งทางบก
  3. ส่งเสริมและพัฒนาเครือข่ายระบบการขนส่งทางบก
  4. ดำเนินการจัดระเบียบการขนส่งทางบก
  5. ร่วมมือและประสานงานกับองค์การและหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องทั้งในประเทศและต่างประเทศ ในด้านการขนส่งทางบก และในส่วนที่เกี่ยวกับอนุสัญญาและความตกลงระหว่างประเทศ
  6. ปฏิบัติการอื่นใดตามที่กฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของกรม หรือตามที่กระทรวงหรือคณะรัฐมนตรีมอบหมาย

หน่วยงานในสังกัด[แก้]

  • งานตรวจราชการกรม
  • กลุ่มพัฒนาระบบบริหาร
  • กลุ่มตรวจสอบภายใน
  • สำนักงานเลขานุการกรม
  • กองการเจ้าหน้าที่
  • กองตรวจการขนส่งทางบก
  • กองแผนงาน
  • สำนักกฎหมาย (กองนิติการ)
  • สำนักการขนส่งผู้โดยสาร (สำนักงานจัดระเบียบการขนส่งทางบก)
  • สำนักการขนส่งสินค้า (สำนักจัดระบบการขนส่งทางบก)
  • สำนักงานขนส่งกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1 (บางขุนเทียน)
  • สำนักงานขนส่งกรุงเทพมหานครพื้นที่ 2 (สวนผัก)
  • สำนักงานขนส่งกรุงเทพมหานครพื้นที่ 3 (บางจาก)
  • สำนักงานขนส่งกรุงเทพมหานครพื้นที่ 4 (หนองจอก)
  • สำนักงานขนส่งกรุงเทพมหานครพื้นที่ 5 (พหลโยธิน)
  • สำนักบริหารการคลังและรายได้ (กองคลัง)
  • สำนักมาตรฐานงานทะเบียนและภาษีรถ
  • สำนักวิศวกรรมยานยนต์ (สำนักวิศวกรรมและความปลอดภัย)
  • สำนักสวัสดิภาพการขนส่งทางบก
  • ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ
  • ศูนย์บริหารจัดการเดินรถระบบ GPS [2][3]
  • สำนักงานขนส่งจังหวัด

ป้ายทะเบียนรถในประเทศไทย[แก้]

ป้ายทะเบียนรถในกรุงเทพมหานคร

กรมการขนส่งทางบก เป็นหน่วยงานที่ดูแลรับผิดชอบเกี่ยวกับทะเบียนรถ และป้ายทะเบียนรถยนต์ส่วนบุคคล โดยกำหนดให้ป้ายทะเบียนรถยนต์ทำจากอะลูมิเนียม ขนาด 13.5 x 6 นิ้ว พื้นป้ายมีลักษณะสะท้อนแสง ตัวอักษรและตัวเลขจะถูกปั๊มนูนออกจากผิวหน้าของป้ายทะเบียน ทำให้ด้านหลังของป้ายนั้นบุ๋มเว้าลงไปตามหมายเลขทะเบียนด้วยเช่นกัน ประเภทของป้ายทะเบียนนั้นสามารถใช้จำแนกประเภทการใช้งานรถได้

สำหรับป้ายทะเบียนรถอีกประเภทหนึ่งคือป้ายทะเบียนกราฟิก มีพื้นหลังเป็นรูปภาพ สำหรับเลขทะเบียนรถที่มีลักษณะพิเศษ เช่น ฌร 9999 ซึ่งเลขทะเบียนเหล่านี้จะถูกเปิดประมูลโดยกรมการขนส่งทางบก [4]

อ้างอิง[แก้]

  1. ภาพเก่าในสยาม : 66
  2. ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม : เว็บไซต์ศูนย์บริหารจัดการเดินรถระบบ GPS
  3. ติดตามข้อมูลข่าวสาร : แฟนเพจศูนย์บริหารจัดการเดินรถระบบ GPS
  4. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-09-26. สืบค้นเมื่อ 2012-09-25.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

  • กรมการขนส่งทางบก
  • อุปกรณ์ GPS ที่กรมฯให้การรับรอง