ข้ามไปเนื้อหา

จูกัดเหลียง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก ขงเบ้ง)
จูกัดเหลียง (จูเก่อ เลี่ยง)
諸葛亮
ภาพวาดจูกัดเหลียง
อัครมหาเสนาบดี (丞相 เฉิงเซี่ยง) แห่งจ๊กก๊ก
ดำรงตำแหน่ง
ค.ศ. 229 (229) – กันยายนหรือตุลาคม ค.ศ. 234 (234)
ดำรงตำแหน่ง
พฤษภาคม ค.ศ. 221 (221) – ค.ศ. 228 (228)
กษัตริย์เล่าปี่ / เล่าเสี้ยน
ขุนพลขวา (右將軍 โย่วเจียงจฺวิน)
ดำรงตำแหน่ง
ค.ศ. 228 (228) – ค.ศ. 229 (229)
กษัตริย์เล่าเสี้ยน
เจ้ามณฑลเอ๊กจิ๋ว (益州牧 อี้โจวมู่)
ดำรงตำแหน่ง
ค.ศ. 223 (223) – กันยายนหรือตุลาคม ค.ศ. 234 (234)
กษัตริย์เล่าเสี้ยน
ถัดไปเจียวอ้วน (ในฐานะข้าหลวงมณฑล)
นายพันเอกผู้บัญชาการมณฑลราชธานี
(司隸校尉 ซือลี่เซี่ยวเว่ย์)
ดำรงตำแหน่ง
ค.ศ. 221 (221) – ค.ศ. 234 (234)
กษัตริย์เล่าปี่ / เล่าเสี้ยน
ก่อนหน้าเตียวหุย
ผู้ว่าการสำนักราชเลขาธิการ
(錄尚書事 ลู่ช่างชูชื่อ)
ดำรงตำแหน่ง
ค.ศ. 221 (221) – กันยายนหรือตุลาคม ค.ศ. 234 (234)
กษัตริย์เล่าปี่ / เล่าเสี้ยน
ถัดไปเจียวอ้วน
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิดค.ศ. 181
อำเภออี๋หนาน มณฑลชานตง
เสียชีวิตกันยายนหรือตุลาคม ค.ศ. 234 (53 ปี)[a][1]
ทุ่งราบอู่จ้าง มณฑลฉ่านซี
ที่ไว้ศพเขาเตงกุนสัน (ติ้งจฺวิ้นชาน) มณฑลส่านซี
คู่สมรสอุ๋ยซี
บุตร
บุพการี
  • จูเก่อ กุย (บิดา)
ความสัมพันธ์
อาชีพรัฐบุรุษ ผู้นำการทหาร นักวิชาการ นักประดิษฐ์
ชื่อรองขงเบ้ง/ข่งหมิง (孔明)
สมัญญานามจงอู่โหว (忠武侯)
บรรดาศักดิ์อู่เซียงโหว (武鄉侯)
ฉายา"มังกรหลับ" / "ฮกหลง"
(臥龍 วั่วหลง / 伏龍 ฝูหลง)
จูกัดเหลียง
อักษรจีนตัวเต็ม諸葛亮
อักษรจีนตัวย่อ诸葛亮
ขงเบ้ง
(ชื่อรอง)
ภาษาจีน孔明

จูกัดเหลียง (ค.ศ. 181–234)[a] มีชื่อในภาษาจีนกลางว่า จูเก่อ เลี่ยง (จีนตัวย่อ: 诸葛亮; จีนตัวเต็ม: 諸葛亮; พินอิน: Zhūgě Liàng; การออกเสียงในภาษาจีนกลางของสาธารณรัฐประชาชนจีน: [ʈʂú.kɤ̀ ljâŋ] ( ฟังเสียง))[2] ชื่อรอง ขงเบ้ง หรือในภาษาจีนกลางว่า ข่งหมิง (จีน: 孔明; พินอิน: Kǒngmíng) เป็นรัฐบุรุษ นักยุทธศาสตร์การทหาร และวิศวรกรชาวจีนผู้มีชีวิตในช่วงปลายยุคราชวงศ์ฮั่นตะวันออก (ป. ค.ศ. 184–220) ถึงต้นยุคสามก๊ก (ค.ศ. 220–280) ของจีน ในยุคสามก๊กจูกัดเหลียงดำรงตำแหน่งอัครมหาเสนาบดีแห่งรัฐจ๊กก๊ก (ค.ศ. 221–263) ตั้งแต่รัฐเริ่มก่อตั้งในปี ค.ศ. 221 ภายหลังมีฐานะเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในปี ค.ศ. 223 จนกระทั่งเสียชีวิตในเดือนกันยายนหรือตุลาคม ค.ศ. 234[1]

จูกัดเหลียงได้รับการยอมรับว่าเป็นนักยุทธศาสตร์ที่ประสบความสำเร็จที่สุดในยุคสามก๊ก และได้รับการเทียบชั้นกับซุนจื่อ (孫子) ผู้รจนา พิชัยสงครามซุนจื่อ[3] จูกัดเหลียงมีชื่อเสียงว่าเป็นบัณฑิตปราดเปรื่องและคงแก่เรียนมาแต่ครั้งที่ยังใช้ชีวิตปลีกวิเวก โดยได้รับสมญาว่า "ฮกหลง" (臥龍 วั่วหลง) หรือ "ฝูหลง" (伏龍) ซึ่งมีความหมายว่า "มังกรหลับ" เขายังมักได้รับพรรณานาว่าสวมครุยแบบนักพรตเต๋า มือถือพัดทำจากขนนกกระเรียน[4]

จูกัดเหลียงเป็นนักปราชญ์ลัทธิขงจื๊อ[5]ที่ยึดถือหลักปรัชญา"นิตินิยม"[6] เขามักจะเอาตัวเองไปเปรียบเทียบกับนักปราชญ์ชื่อ ขวันต๋ง (กว่าน จ้ง) อัครมหาเสนาบดีแห่งรัฐฉี[7] ซึ่งได้พัฒนาด้านเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมของรัฐฉู่จนกลายเป็นมหาอำนาจระดับภูมิภาค[8] และให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับผลงานของเซิน ปู๋ไห่และหาน เฟย[9] ซึ่งได้ปฏิเสธที่จะผ่อนผันให้แก่ชนชั้นสูงในท้องถิ่นและให้ความเข้มงวดกวดขัน แต่ใช้กฎหมายที่มีความยุติธรรมและโปร่งใส เพื่อรำลึกถึงการปกครองของเขา ชาวบ้านจึงได้สร้างและปกปักษ์รักษาศาลเจ้าของเขาเอาไว้จนถึงทุกวันนี้[10] ชื่อนามของเขามีความหมายที่เหมือนกับคำว่า ภูมิปัญญา และกลยุทธ์ในวัฒนธรรมจีน ภาพวาดของจูกัดเหลียงในอู๋ชฺวังผู่ (無雙譜, ตารางรายชื่อของวีรบุรุษผู้ไร้เทียมทาน) ซึ่งถูกวาดโดยจิน กู่เหลียง

แหล่งข้อมูลทางประวัติศาสตร์

[แก้]

แหล่งข้อมูลทางประวัติศาสตร์ที่เชื่อถือได้ของชีวประวัติจูกัดเหลียงคือเล่มที่ 35 ของสามก๊กจี่ (ซานกั๋วจื้อ) ซึ่งเขียนโดยนักประวัติศาสตร์ตันซิ่ว (เฉิน โช่ว; ค.ศ. 233-297) ในศตวรรษที่ 3 ตันซิ่วเคยทำงานในสำนักประวัติศาสตร์ของราชสำนักจ๊กก๊กและเคยรวบรวมและเรียบเรียงงานเขียนของจูกัดเหลียงเป็นประชุมบทนิพนธ์[ซานกั๋วจื้อ 1] ขอบเขตของการรวบรวมนี้อาจจำกัดเฉพาะเอกสารราชการเท่านั้น[11]: 113 

ภูมิหลังครอบครัว

[แก้]
ภาพวาดจูกัดเหลียงเอนกายบนเตียงนอนกลางวัน ผลงานของจาง เฟิง (ค.ศ. 1654)

บ้านเกิดของจูกัดเหลียงคือที่อำเภอหยางตู (陽都縣 หยางตูเซี่ยน) เมืองลองเอี๋ยหรือลงเสีย (琅邪郡 หลางหยาจฺวิ้น) ใกล้กับบริเวณที่ปัจจุบันคืออำเภออี๋หนานหรืออำเภออี๋ฉุ่ย มณฑลชานตง[12] ยังมีอีกสองแหล่งข้อมูลที่บันทึกเกี่ยวกับต้นกำเนิดบรรพบุรุษของจูกัดเหลียงคือในอู๋ชู (吳書) และเฟิงสูถงอี้ (風俗同意)

อู๋ชูบันทึกว่าชื่อสกุลของบรรพบุรุษของจูกัดเหลียงแท้จริงแล้วคือเก่อ () และบรรพบุรุษของจูกัดเหลียงมีพื้นเพมาจากอำเภอจู (諸縣 จูเซี่ยน; ทางตะวันตกเฉียงใต้ของอำเภอจูเฉิง มณฑลชานตงในปัจจุบัน) ก่อนจะมาตั้งรกรากในอำเภอหยางตู เวลานั้นในอำเภอหยางตูมีตระกูลเก่ออีกตระกูลหนึ่งอยู่ก่อนแล้ว คนท้องถิ่นจึงเรียกตระกูลเก่อที่เข้ามาใหม่ด้วยชื่อเรียกว่า จูเก่อ เป็นการรวมคำว่าจู (ชื่ออำเภอ) เข้ากับเก่อ เพื่อแยกความแตกต่างจากตระกูลเก่ออีกตระกูล เมื่อเวลาผ่านไป บรรพบุรุษของจูกัดเหลียงจึงนำคำว่าจูเก่อ (จูกัด) มาเป็นชื่อสกุลของพวกตน[ซานกั๋วจื้อจู้ 1]

เฟิงสูถงอี้บันทึกว่าบรรพรบุรุษของจูกัดเหลียงคือเก่อ อิง (葛嬰) ผู้ใต้บังคับบัญชาของเฉิน เชิ่ง ผู้นำกบฏของการก่อการกำเริบต้าเจ๋อเซียงต่อต้านราชวงศ์ฉิน ภายหลังเฉิน เชิ่งสั่งประหารชีิวิตเก่อ อิง[13] ในช่วงต้นยุคราชวงศ์ฮั่นตะวันตก จักรพรรดิฮั่นเหวินตี้ทรงเห็นว่าเก่อ อิงถูกประหารชีวิตอย่างไม่เป็นธรรม พระองค์จึงทรงตั้งให้หลานชายของเก่อ อิงมีบรรดาศักดิ์เป็นโหวของอำเภอจูเพื่อเป็นเกียรติแก่เก่อ อิง เมื่อเวลาผ่านไป ผู้สืบเชื้อสายของเก่อ อิงได้นำคำว่าจูเก่อ (จูกัด) มาเป็นชื่อสกุลของพวกตนโดยการรวมคำว่าจู (ชื่ออำเภอ) เข้ากับคำว่าเก่อ[ซานกั๋วจื้อจู้ 2]

บรรพบุรุษที่เก่าแก่ที่สุดของจูกัดเหลียงที่มีชื่อสกุลว่าจูเก่อ (จูกัด) คือจูเก่อ เฟิง (諸葛豐) เป็นข้าราชการในยุคราชวงศ์ฮั่นตะวันตกผู้รับราชการเป็นนายพันเอกผู้บัญชาการมณฑลราชธานี (司隷校尉 ซือลี่เซี่ยวเว่ย์) ในรัชสมัยจักรพรรดิฮั่น-ยฺเหวียนตี้ (ค. 48–33 ปีก่อนคริสตกาล) บิดาของจูกัดเหลียงชื่อจูเก่อ กุย (諸葛珪) มีชื่อรองว่า จฺวินก้ง (君貢) รับราชการเป็นเจ้าหน้าที่ผู้ช่วยในเมืองไทสัน (泰山郡 ไท่ชานจฺวิ้น; อยู่บริเวณนครไท่อาน มณฑลชานตงในปัจจุบัน) ในช่วงปลายยุคราชวงศ์ฮั่นตะวันออกในรัชสมัยพระเจ้าเลนเต้ (ค. ค.ศ.168–189)[ซานกั๋วจื้อ 2]

จูกัดเหลียงมีพี่ชายหนึ่งคน น้องชายหนึ่งคน และพี่สาวสองคน พี่ชายคือจูกัดกิ๋น (諸葛瑾 จูเก๋อ จิ่น)[ซานกั๋วจื้อ 3] และน้องชายคือจูกัดกิ๋น[b] (諸葛均 จูเก่อ จฺวิน)[ซานกั๋วจื้อ 4] พี่สาวคนโตของจูกัดเหลียงแต่งงานกับไขว่ ฉี (蒯祺) หลานชายของเก๊งอวด (蒯越 ไขว่ เยฺว่) และเก๊งเหลียง (蒯良 ไขว่ เหลียง)[14] ส่วนพี่สาวคนรองแต่งงานกับผาง ชานหมิน (龐山民) ลูกพี่ลูกน้องของบังทอง (龐統 ผาง ถ่ง)[ซานกั๋วจื้อจู้ 3]

ลักษณะภายนอก

[แก้]

ประวัติช่วงต้น (ค.ศ. 181-207)

[แก้]

จูกัดเหลียงเกิดในปี ค.ศ. 181 ในอำเภอหยางตู เมืองลงเสีย (หลางหยา) (ปัจจุบันคืออำเภออี๋ฉุ่ย มณฑลชานตง)[12] มีแซ่ว่าจูกัด (จูเก่อ) ซึ่งเป็นแซ่ที่ประกอบด้วยอักษรสองตัว บิดาของจูกัดเหลียงชื่อจูเก่อ กุย เสียชีวิตตั้งแต่จูกัดเหลียงยังเด็ก จูกัดเหลียงจึงได้รับการเลี้ยงดูโดยจูเก่อ เสฺวียน (ลูกพี่ลูกน้องของจูเก่อ กุย) ในเมืองอิเจี๋ยง (ยฺวี่จาง) เมื่อจูเก่อ เสฺวียนถูกขับออกจากเมืองอิเจี๋ยงในปี ค.ศ. 195 จูกัดเหลียงได้ติดตามจูเก่อ เสฺวียนไปอาศัยเล่าเปียว เจ้ามณฑลเกงจิ๋ว (จิงโจว) ซึ่งเป็นสหายกันกับจูเก่อ เสฺวียน[1]

จูกัดเหลียงเติบโตเป็นชายร่างสูง ชอบท่องบทเพลงเหลียงฟู่อิ๋น (梁父吟) บทเพลงพื้นบ้านที่มีชื่อเสียงในแถบชานตงอันเป็นบ้านเกิด จูกัดเหลียงชอบเปรียบตนเองกับปราชญ์เสนาบดีขวันต๋ง (กว่าน จ้ง) และผู้นำทัพงักเย (เยฺว่ อี้) จูกัดเหลียงได้เป็นเพื่อนสนิทกับเหล่าปัญญาชนท้องถิ่น เช่น ชีซี (สฺวี ซู่) ซุยเป๋ง (ชุย โจฺวผิง) เบงคงอุย (เมิ่ง เจี้ยน ชื่อรอง กงเวย์) และโจ๊ะก๋งหงวน (ฉือ เทา ชื่อรอง กว่างยฺเหวียน) จูกัดเหลียงยังมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับปราชญ์ผู้มีชื่อเสียงคนอื่น ๆ เช่น สุมาเต๊กโช (ซือหม่า ฮุย ชื่อรอง เต๋อเชา), บังเต๊กก๋ง (ผาง เต๋อกง) และอุยสิง่าน (หฺวาง เฉิงเยี่ยน) ครั้งหนึ่งสุมาเต๊กโชได้เคยเปรียบจูกัดเหลียงว่าเป็นดั่งมังกรหลับ[1]

ครั้งหนึ่งอุยสิง่านพูดกับจูกัดเหลียงว่า "ข้าได้ยินว่าท่านกำลังหาคู่ครอง ข้ามีบุตรสาวอัปลักษณ์ ผมเหลืองผิวคล้ำ แต่นางมีความสามารถคู่ควรกับท่าน"[15] จูกัดเหลียงตกลงแต่งงานกับบุตรสาวของอุยสิง่าน

พบกับเล่าปี่ (ค.ศ.207- 208)

[แก้]

การแนะนำจากสุมาเต๊กโชและชีซี

[แก้]

เมื่อเล่าปี่มาพึงพิงเล่าเปียว เจ้ามณฑลเกงจิ๋ว และไปอยู่ที่อำเภอซินเอี๋ย (ซินเย่) วันหนึ่งเล่าปี่ไปเยี่ยมสุมาเต๊กโช สุมาเต๊กโชกล่าวกับเล่าปี่ว่า "ปราชญ์หรู" (ลัทธิขงจื๊อ) และบัณฑิตทั่วไป รู้เรื่องสถานการณ์ในทุกวันนี้มากเพียงใด ผู้ที่วิเคราะห์สถานการณ์ในทุกวันนี้ได้ดีคือยอดคน ฮกหลงและฮองซูเป็นยอดคนเท่าที่มีในดินแดนนี้"[16] สุมาเต๊กโชกล่าวถึงจูกัดเหลียงที่มีฉายาว่า "ฮกหลง" ที่มีความหมายว่า "มังกรหลับ" และบังทองที่มีฉายาว่า "ฮองซู" (鳳雛 เฟิ่งฉู) ที่มีความหมายว่า "หงส์ดรุณ"

ภายหลังชีซีแนะนำจูกัดเหลียงให้เล่าปี่อีกครั้ง เล่าปี่ขอร้องให้ชีซีไปเชิญจูกัดเหลียงมาพบตน แต่ชีซีตอบว่า "ท่านควรไปพบคนผู้นี้ด้วยตนเอง ไม่อาจเชิญเขามาพบท่านได้"[17]

เล่าปี่เยี่ยมจูกัดเหลียงสามครั้ง

[แก้]
ภาพวาด ขงเบ้งลงจากเขา (ภาพสมัยราชวงศ์หมิง) แสดงภาพจูกัดเหลียง (ขี่ม้าทางด้านซ้าย) ออกจากที่เร้นกายในชนบทไปเข้าด้วยเล่าปี่ (ขี่ม้าทางด้านขวา)

เล่าปี่เชิญจูกัดเหลียงมาเข้าร่วมได้สำเร็จในปี ค.ศ. 207 หลังจากไปเยี่ยมจูกัดเหลียงด้วยตนเองสามครั้ง รายละเอียดนี้มีความขัดแย้งกับในอรรถาธิบายที่แทรกในสามก๊กจี่ในภายหลังโดยเผย์ ซงจือซึ่งอ้างว่าจูกัดเหลียงมาพบเล่าปี่ก่อน[18][c] อย่างไร "สามเยือนกระท่อม" (三顾茅庐 ซันกู้เหมาหลู) ได้กลายเป็นเหตุการณ์ที่มีชื่อเสียงอย่างมากของจีน

อี้ จงเทียนนักประวัติศาสตร์ชาวจีนให้ความเห็นว่าเหตุการณ์ที่บันทึกไว้ทั้งในสามก๊กจี่และเว่ย์เลฺว่ล้วนเป็นความจริง ลำดับเหตุการณ์ควรเป็นว่าจูกัดเหลียงเข้ามาหาเล่าปี่ก่อนเพื่อแสดงสติปัญญาความสามารถของตน เล่าปี่เห็นความสามารถของจูกัดเหลียงจึงไปเยี่ยมจูกัดเหลียงด้วยตนเองสามครั้งเพื่อสนทนาเพิ่มเติม[19]
นิยายสามก๊กบรรยายการเยือนกระท่อมสามครั้งของเล่าปี่พร้อมเหตุการณ์ลึกลับมากจำนวนที่เสริมแต่งเพิ่มเติม และบรรยายว่ามีเพียงการมาเยี่ยมครั้งที่สามที่เล่าปี่ได้พบจูกัดเหลียงได้ฟังแผนหลงจงของจูกัดเหลียง แต่ความจริงแล้วเล่าปี่พบกับขงเบ้งในการเยี่ยมทั้งสามครั้ง และอาจมีการมาเยี่ยมเพิ่มเติมอีกเพื่อสนทนาเพิ่มเติมเกี่ยวกับแผนหลงจง ก่อนที่ในที่สุดจูกัดเหลียงจะตัดสินใจเสนอตนรับใช้เล่าปี่[19]

แผนหลงจง

[แก้]
จูกัดเหลียง (ขงเบ้ง) อธิบายแผนยุทธศาสตร์หลงจงให้เล่าปี่ฟัง (ภาพประกอบจากหนังสือสามก๊ก ฉบับราชบัณฑิตยสภา พ.ศ. 2487 ผลงานของเหม เวชกร)

จูกัดเหลียงเสนอแผนหลงจงให้เล่าปี่และออกจากที่อาศัยของตนเพื่อติดตามเล่าปี่ หลังจากนั้นเล่าปี่ก็อยู่ใกล้ชิดกับจูกัดเหลียงและมักจะสนทนากับเขา กวนอูและเตียวหุยไม่พอใจความสัมพันธ์ระหว่างเล่าปี่และจูกัดเหลียงจึงบ่นเกี่ยวกับเรื่องนี้ เล่าปี่จึงชี้แจงว่า "บัดนี้ข้ามีขงเบ้ง ก็เหมือนปลาได้น้ำ หวังว่าพวกท่านจะไม่พูดเรื่องนี้อีก"[20] กวนอูและเตียวหุยจึงหยุดบ่น

การก่อตั้งของพันธมิตรซุนกวน-เล่าปี่ (ค.ศ. 208-209)

[แก้]

เล่าปี่อพยพไปยังแฮเค้า

[แก้]

ในปี ค.ศ. 208 เล่าเปียวเสียชีวิต เล่าจ๋องบุตรชายคนเล็กของเล่าเปียวขึ้นสืบตำแหน่ง แต่เล่าจ๋องก็ยอมสวามิภักดิ์มอบมณฑลเกงจิ๋วให้โจโฉ เล่าปี่ได้ยินข่าวการยอมจำนนของเล่าจ๋องจึงนำผู้ติดตาม (ซึ่งมีทั้งกำลังทหารและราษฎร) อพยพลงใต้ไปยังแฮเค้า (เซี่ยโขฺ่ว) ระหว่างถูกทัพโจโฉตีแตกพ่ายยับเยินในยุทธการที่สะพานเตียงปันเกี้ยว

พบกับซุนกวน

[แก้]

ระหว่างอยู่ที่แฮเค้า เล่าปี่ส่งจูกัดเหลียงติดตามโลซกไปยังกังตั๋ง (เจียงตง) เพื่อไปเจรจาการสร้างแนวร่วมพันธมิตรระหว่างเล่าปี่และซุนกวน จูกัดเหลียงได้เข้าพบกับซุนกวนที่ชีสอง (ไฉซัง)

จูกัดเหลียงสามารถประเมินนิสัยใจคอของซุนกวน จึงตัดสินใจยั่วยุซุนกวนโดยบอกซุนกวนให้ยอมจำนนหากเห็นว่าตนไม่สามารถต้านทานโจโฉได้[21] จูกัดเหลียงยังได้ชี้แจงว่าแม้ว่าเล่าปี่จะกำลังด้อยกว่าโจโฉ แต่ก็ยอมสู้จนตัวตายดีกว่ายอมจำนน นอกจากนี้เล่าปี่และพันธมิตรยังคงรักษากำลังสำคัญบางส่วนไว้ได้แม้จะพ่ายแพ้ไปที่เตียงปัน และทหารโจโฉไม่ได้แข็งแกร่งอย่างที่เห็นภายนอก[22] ซุนกวนพอใจกับคำกล่าวแย้งของจูกัดเหลียง จึงร่วมกับโลซกในการวิเคราะห์สถานการณ์การเมือง และร่วมกับจิวยี่วิเคราะห์จุดอ่อนของทหารโจโฉ แล้วจึงตกลงเป็นพันธมิตรกับเล่าปี่ในการต้านโจโฉ จูกัดเหลียงกลับไปยังค่ายของเล่าปี่พร้อมกับทูตของซุนกวนเพื่อเตรียมการรับศึกที่จะมาถึง

คำแนะนำของเตียวเจียว

[แก้]

ยุทธการที่เซ็กเพ็ก

[แก้]

ราชการในภาคใต้ของเกงจิ๋ว (ค.ศ. 209-211)

[แก้]

ปลายปี ค.ศ. 208 ทัพพันธมิตรของเล่าปี่และซุนกวนได้ชัยชนะอย่างเด็ดขาดต่อทัพของโจโฉในยุทธนาวีที่ผาแดง โจโฉถอยกลับไปยังเงียบกุ๋น (เย่เฉิง) ส่วนเล่าปี่ดำเนินการยึดครองดินแดนในกังหนำ (เจียงหนาน) ครอบคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่ของมณฑลเกงจิ๋วตอนใต้ จูกัดเหลียงได้รับการแต่งตั้งเป็นขุนพลองครักษ์เสนาธิการ (軍師中郎將 จฺวินชือจงหลางเจี้ยง) ได้รับมอบหมายให้ดูแลการปกครองของเมืองเลงเหลง (หลิงหลิง ปัจจุบันคือเมืองหย่งโจฺว มณฑลหูหนาน) ฮุยเอี๋ยง (กุ้ยหยาง) และเตียงสา (ฉางชา) และเก็บภาษีเพื่อบำรุงกองทัพ

การพิชิตเอ๊กจิ๋ว (ค.ศ. 211-214)

[แก้]

ในปี ค.ศ. 211 เล่าเจี้ยง เจ้ามณฑลเอ๊กจิ๋ว (อี้โจฺว) (ปัจจุบันครอบคลุมพื้นที่มณฑลเสฉวนและนครฉงชิ่ง) ร้องขอความช่วยจากเล่าปี่ในการโจมตีเตียวฬ่อในเมืองฮันต๋ง (ฮั่นจง) เล่าปี่มอบหมายให้จูกัดเหลียง กวนอู เตียวหุย และคนอื่น ๆ อยู่รักษามณฑลเกงจิ๋ว ส่วนตัวเล่าปี่นำทหารยกเข้ามณฑลเอ๊กจิ๋ว เล่าปี่ตอบรับคำร้องขอของเล่าเจี้ยงทันที แต่ก็แอบวางแผนจะเข้ายึดครองดินแดนของเล่าเจี้ยง ในปีต่อมาเล่าเจี้ยงล่วงรู้เจตนาที่แท้จริงของเล่าปี่ ทั้งสองได้กลายเป็นศัตรูทำศึกต่อกัน จูกัดเหลียง เตียวหุย และเตียวจูล่งนำกองกำลังแยกกันไปเสริมเล่าปี่ในการโจมตีเซงโต๋ (เฉิงตู) เมืองเอกของมณฑลเอ๊กจิ๋ว ส่วนกวนอูยังอยู่ด้านหลังรักษาเกงจิ๋ว ในปี ค.ศ. 214 เล่าเจี้ยงยอมจำนนและเล่าปี่เข้ายึดครองมณฑลเอ๊กจิ๋ว

การขึ้นครองราชย์ของเล่าปี่ (ค.ศ. 214-223)

[แก้]

เล่าปี่แต่งตั้งจูกัดเหลียงเป็นขุนพลเสนาธิการ (軍師將軍 จฺวินซือเจียงจฺวิน) และมอบหมายให้บริหารราชการในสำนักขุนพลฝ่ายซ้าย (左將軍) จั่วเจียงจฺวิน) อันเป็นตำแหน่งของเล่าปี่ เมื่อใดที่เล่าปี่ยกทัพไปรบ จูกัดเหลียงจะอยู่ป้องกันเซงโต๋และช่วยสนับสนุนจัดหาเครื่องอุปโภคและเสบียงอาหารให้กองทัพ ในปี ค.ศ. 221 ผู้ใต้บังคับบัญชาของเล่าปี่แนะนำเล่าปี่ให้สถาปนาตนเป็นจักรพรรดิ เพื่อตอบโต้โจผีที่ชิงบัลลังก์จากพระเจ้าเหี้ยนเต้แล้วขึ้นเป็นจักรพรรดิ ในตอนแรกเล่าปี่ปฏิเสธ แต่ในที่สุดจูกัดเหลียงก็โน้มน้าวเล่าปี่ให้ขึ้นเป็นจักรพรรดิได้สำเร็จ เล่าปี่กลายเป็นผู้ปกครองของรัฐจ๊กก๊ก แล้วตั้งให้จูกัดเหลียงเป็นอัครมหาเสนาบดี มอบหมายให้จูกัดเหลียงดูแลหน่วยงานของราชสำนัก โดยทำหน้าที่ว่าราชการสำนักราชเลขาธิการ จูกัดเหลียงได้รับการแต่งตั้งเป็นนายพันเอกผู้บัญชาการมณฑลราชธานี (司隸校尉 ซือลี่เซี่ยวเว่ย์) หลังการเสียชีวิตของเตียวหุย

ในฤดูใบไม้ร่วง ค.ศ. 223 เล่าปี่ถอยทัพมาที่หย่งอัน (ปัจจุบันคืออำเภอเฟิ่งเจี๋ย นครฉงชิ่ง) หลังจากพ่ายแพ้ในยุทธการที่อิเหลงแล้วล้มป่วยหนัก เล่าปี่เรียกตัวจูกัดเหลียงจากเซงโต๋แล้วกล่าวว่า "ท่านมีความสามารถมากกว่าโจผีสิบเท่า มีความสามารถจะรักษาแผ่นดินและสำเร็จการใหญ่ได้ หากบุตรข้าพอจะช่วยได้ก็จงช่วย แต่หากบุตรข้าไร้ความสามรถ ท่านจงชิงบัลลังก์เถิด"[23] จูกัดเหลียงตอบทั้งน้ำตาว่า "กระหม่อมจะรับใช้อย่างสุดความสามารถด้วยความภักดีไม่คลอนแคลนจนกว่าสิ้นชีวิต"[24] เล่าปี่จึงสั่งให้เล่าเสี้ยนผู้บุตรบริหารราชการแผ่นดินร่วมกับจูกัดเหลียง และให้นับถือจูกัดเหลียงเหมือนเป็นบิดาของตน

มีการถกเถียงกันเกี่ยวกับคำกล่าวสุดท้ายของเล่าปี่ที่บอกให้จูกัดเหลียง "ชิงบัลลังก์" (君可自取 จฺวินเข่อจื้อฉฺวี่) ในหนังสือ "พิเคราะห์สามก๊ก" ของอี้ จงเทียนนำเสนอการตีความคำกล่าวของเล่าปี่ไว้หลายมุมมอง ตันซิ่ว (เฉิน โซฺ่ว) ให้ความเห็นว่าเล่าปี่ไว้วางใจจูกัดเหลียงอย่างสุดใจและอนุญาตให้จูกัดเหลียง "ชิงบัลลังก์" จริง ๆ บางคนแย้งว่าเล่าปี่พูดเช่นนี้เพียงเพื่อจะทดสอบความจงรักภักดีของจูกัดเหลียง เพราะจูกัดกิ๋นพี่ชายของจูกัดเหลียงเป็นขุนนางของง่อก๊ก คนอื่น ๆ ก็ให้ความเห็นว่าที่ให้ "ชิงบัลลังก์" ไม่ได้หมายความว่าอนุญาตให้จูกัดเหลียงชิงบัลลังก์เป็นของตน แต่อนุญาตให้ขงเบ้งตั้งบุตรชายคนอื่นของเล่าปี่ เช่น เล่าเอ๋งและเล่าลี แทนที่เล่าเสี้ยนหากเกิดสถานการณ์จำเป็น

ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ (ค.ศ. 223)

[แก้]
จูกัดเหลียง ภาพวาดจากหนังสือ "Wan hsiao tang-Chu chuang -Hua chuan"(晩笑堂竹荘畫傳)

หลังเล่าปี่สวรรคต เล่าเสี้ยนขึ้นสืบราชบัลลังก์ของจ๊กก๊ก แต่งตั้งให้จูกัดเหลียงมีบรรดาศักดิ์เป็น "โหฺวแห่งอู่เซียง" (武鄉侯 อู่เซียงโหฺว) และก่อตั้งสำนักอัครมหาเสนาบดีให้จูกัดเหลียง ไม่นานหลังจากนั้น จูกัดเหลียงได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้ามณฑลเอ๊กจิ๋ว อันเป็นภูมิภาคที่รวมอาณาเขตส่วนใหญ่ของจ๊กก๊ก

การที่จูกัดเหลียงเป็นทั้งอัครมหาเสนาบดี (บริหารจัดการขุนนางโดยตรง) และเจ้ามณฑล (บริหารจัดการราษฎรโดยตรง) หมายความว่าทั้งข้าราชการและคนทั่วไปกล่าวคือกิจการของรัฐทั้งหมดล้วนอยู่ในอำนาจของจูกัดเหลียง การมีสำนักอัครมหาเสนาบดีที่เป็นอิสระ (พร้อมผู้ใต้บังคับบัญชาอิสระ) หมายถึงว่าอำนาจของจูกัดเหลียงค่อนข้างเป็นอิสระจากพระราชอำนาจของจักรพรรดิ ดังที่ในสามก๊กจี่ระบุว่าราชการทั้งใหญ่น้อยจูกัดเหลียงล้วนจัดการโดยตรง ส่วนพระเจ้าเล่าเสี้ยนเป็นเพียงผู้นำแต่ในนาม นอกจากนี้ตัวพระเจ้าเล่าเสี้ยนก็ได้รับการศึกษาและการดูแลอย่างเข้มงวดจากจูกัดเหลียง สถานการณ์เป็นเช่นนี้โดยตลอดจนกระทั่งจูกัดเหลียงถึงแก่กรรม

มีการพยายามอธิบายหลายครั้งว่าทำไมจูกัดเหลียงจึงไม่ยอมคืนพระราชอำนาจให้เล่าเสี้ยน อี้ จงเทียนเสนอเหตุผลไว้สามข้อ:[25]

  1. จูกัดเหลียงสนับสนุนให้จักรพรรดิมีบทบาทเป็นผู้นำทางอ้อม และให้อัครมหาเสนาบดีจัดการราชการแผ่นดินโดยพระปรมาภิไธยของพระองค์ คล้ายคลึงกับสถานการณ์ในช่วงต้นราชวงศ์ฮั่นตะวันตก ตามความเห็นของจูกัดเหลียง หากจักรพรรดิจัดการราชการโดยตรง ก็จะไม่มีใครถูกตำหนิหากเกิดปัญหาขึ้น แต่ถ้าอัครมหาเสนาบดีอันเป็นผู้แทนพระองค์รับหน้าที่จัดการราชการ จักรพรรดิก็จะสามารถตั้งกระทู้ถามอัครมหาเสนาบดีในกรณีที่ราชการผิดพลาดได้
  2. จูกัดเหลียงเห็นว่าเล่าเสี้ยนยังไม่มีประสบการณ์เพียงพอที่จะจัดการราชการของรัฐโดยตรง จูกัดเหลียงจึงตัดสินใจทำด้วยตนเองเพื่อให้แน่ใจว่าจะไม่มีข้อผิดพลาดเกิดขึ้น
  3. สถานการณ์ของจ๊กก๊กในเวลานั้นมีความซับซ้อนมาก ซึ่งต้องการวิธีการแก้ปัญหาที่ผ่านการวางแผนมาเป็นอย่างดีมาก เล่าเสี้ยนที่ขาดประสบการณ์ไม่สามารถรับมือปัญหาได้ แต่จูกัดเหลียงทำได้

ปฏิรูปเศรษฐกิจ

[แก้]

ตระกูลที่มั่งคั่งในมณฑลเอ๊กจิ๋วไมได้ถูกควบคุมโดยเจ้ามณฑลคนก่อน ตระกูลเหล่านี้จึงกระทำการเอารัดเอาเปรียบราษฎรอย่างอิสระและมีชีวิตที่หรูหราฟุ่มเฟือย เป็นผลทำให้ความยากจนของราษฎรแผ่ขยายไปทั่ว การปฏิรูปเศรษฐกิจ-การเมืองจึงเป็นปัญหาที่สำคัญที่สุดของจูกัดเหลียง รากฐานทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งยังจำเป็นต้องการความจงรักภักดีของราษฎรต่อการปกครองของจ๊กก๊ก ซึ่งจะมีส่วนช่วยสนับสนุนการทำศึกบุกวุยก๊กในอนาคต จูกัดเหลียงจึงให้ความกระจ่างว่าความสำคัญหลักของนโยบายของตนคือการรักษาเสถียรภาพและปรับปรุงคุณภาพชีวิตของผู้คน[26]

นโยบายใหม่ของจูกัดเหลียงมีผลบังคับใช้ตั้งแต่รัชสมัยของเล่าปี่และยังดำเนินต่อไปในรัชสมัยของเล่าเสี้ยน จูกัดเหลียงดำนินการกวาดล้างข้าราชการทุจริต ยกเว้นภาษี และจำกัดการใช้อำนาจในทางที่ผิดของขุนนางต่อราษฎร ลดการบังคับใช้แรงงานและการระดมกำลังทหารและจัดระเบียบใหม่เพื่อป้องกันการหยุดชะงักของกิจกรรมการเกษตร ระบบถุนเถียนของโจโฉได้ถูกนำมาปรับใช้อย่างกว้างขวางเพื่อเพิ่มผลผลิตอาหาร เขื่อนเพื่อการเกษตรได้รับการบูรณะและซ่อมแซม รวมถึงเขื่อนจูกัดที่มีชื่อเสียงทางตอนเหนือของเซงโต๋ ด้วยการปฏิรูปนี้ผลผลิตทางการเกษตรของจ๊กก๊กจึงเติบโตอย่างมากและสามารถคงกิจกรรมทางทหารไว้ได้

การผลิตเกลือ การผลิตไหม และการผลิตโลหะ สามกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่โดดเด่นของภูมิภาคจ๊กก็เป็นที่สนใจของจูกัดเหลียง เล่าปี่ทำตามข้อเสนอของจูกัดเหลียงในการก่อตั้งสำนักจัดการการผลิตเกลือและโลหะโดยเฉพาะ ซึ่งกำกับโดยอองเลี้ยนและจาง อี้ตามลำดับ นอกจากนี้ยังมีการก่อตั้งสำนักจัดการไหมโดยเฉพาะ เซงโต๋จึงได้ชื่อว่าเป็น "เมืองแห่งไหม" สามก๊กจี่ระบุว่าการผลิตเกลือในจ๊กก๊กมีความเจริญรุ่งเรืองอย่างสูงและสร้างรายได้ให้กับราชสำนักเป็นอย่างมาก ฟู่ หยวน ช่างโลหะท้องถิ่นที่มีชื่อเสียงได้รับความไว้วางใจจากจูกัดเหลียงให้วิจัยโลหกรรมและจัดการปรับปรุงกลวิธีในการประดิษฐ์อาวุธโลหะสำหรับทัพจ๊กก๊ก การผลิตผ้าไหมก็มีการเติบโตอย่างมากเช่นกัน เมื่อสิ้นสุดการปกครองของจ๊กก๊กมีการสะสมผ้าไหมได้ถึง 200,000 ชิ้นในพระคลังหลวง ไร่ของครอบครัวจูกัดเหลียงมีต้นหม่อน 800 ต้นสำหรับเลี้ยงหนอนไหม

ระบบเงินตราในช่วงปลายราชวงศ์ฮั่นเกิดความปั่นป่วนรุนแรงเนื่องจากความวุ่นวายทางการเมือง เมื่อเล่าปี่และจูกัดเหลียงก่อตั้งฐานที่มั่นของตนในมณฑลเอ๊กจิ๋ว ได้ทำตามคำแนะนำของเล่าป๋าในการออกกฎหมายปฏิรูปเงินตราอย่างได้ผล เงินตราใหม่จ๊กก๊กไม่เพียงแต่หมุนเวียนอย่างลื่นไหลในเอ๊กจิ๋วเท่านั้น ยังเป็นที่นิยมในมณฑลเกงจิ๋วอันเป็นมณฑลใกล้เคียงด้วย ในขณะที่นโยบายที่คล้ายคลึงกันของโจโฉ โจผี โจยอย และซุนกวน ประสบกับความยุ่งยากและให้ผลตอบแทนน้อย

ปฏิรูปกฎหมายและจริยธรรม

[แก้]

จูกัดเหลียงสนับสนุนการใช้หลักนิติธรรมในจ๊กก๊กอย่างเข้มงวด อี้ จงเทียนให้ความเห็นว่า "หลักนิติธรรม" ร่วมกับ "การปกครองในนามโดยประมุขและการปกครองโดยตรงโดยอัครมหาเสนาบดี" เป็นสิ่งตกทอดที่สำคัญสองประการของจูกัดเหลียงซึ่งหลายคนลืมเลือนไปอย่างน่าเสียดาย[27]

หลังจากเล่าปี่เข้ามณฑลเอ๊กจิ๋ว จูกัดเหลียงร่วมกับหวดเจ้ง เล่าป๋า ลิเงียม และอีเจี้ยร่วมกันร่างประมวลกฎหมายของจ๊กก๊ก[28]

เพื่อยับยั้งการฉ้อราษฎร์บังหลวงและความเสื่อมโทรมที่ก่อขึ้นโดยขุนนางท้องถิ่นในเอ๊กจิ๋ว จูกัดเหลียงได้ประกาศใช้นโยบายตามหลักปรัชญานิตินิยม บังคับใช้กฎหมายที่เข้มงวดแต่ยุติธรรมและโปร่งใส และจำกัดอำนาจของตระกูลที่มั่งคั่ง ต่อมาจูกัดเหลียงจะดำเนินการลงโทษขุนนางระดับสูงเช่นลิเงียม ผู้ติดตามใกล้ชิดอย่างม้าเจ๊ก และถึงกับลดตำแหน่งของตนเองเพื่อรักษาความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมาย แต่จูกัดเหลียงก็ละเว้นการลงโทษเกินกว่าเหตุและบังคับใช้กฎหมายด้วยความระมัดระวังอย่างสูง สี จั้วฉื่อยกย่องนโยบายการปกครองของจูกัดเหลียงว่า "ตั้งแต่ยุคราชวงศ์จิ๋นและฮั่นมาไม่มีใครเทียบได้" แม้จูกัดเหลียงจะลงโทษขุนนางระดับสูงอย่างลิเงียมและเลี่ยว ลี่ แต่ทั้งคู่ยังให้ความเคารพจูกัดเหลียงและเชื่อมั่นว่าจูกัดเหลียงจะรับพวกตนเข้ารับราชการอีกครั้งหลังจากได้รับการลงโทษอย่างเพียงพอแล้ว.[29][26]

จูกัดเหลียงยังส่งเสริมการประพฤติตามหลักจริยธรรม ตัวจูกัดเหลียงเองใช้ชีวิตอย่างเข้มงวดและอดทนเพื่อเป็นแบบอย่าง จูกัดเหลียงไม่ครอบครองทรัพย์สินมากเกินควร ละเว้นจากการใช้จ่ายฟุ่มเฟือย อาศัยเบี้ยหวัดจากราชสำนักเป็นหลัก ขุนนางของจ๊กก๊กอย่างเตงจี๋ บิฮุย เกียงอุย และเตียวเอ๊กต่างก็ประพฤติปฏิบัติตามหลักกฎหมายและจริยธรรมอย่างเหมาะสมและเคร่งครัด ทำให้ราชสำนักจ๊กก๊กสามารถรักษาระดับความโปร่งใสและความซื่อสัตย์ได้ในระดับสูง[26] อี้ จงเทียนยกย่องจ๊กก๊กว่าเป็นแบบอย่างของ "การปกครองบนพื้นฐานของเหตุผล" ที่ดีที่สุดในสามก๊ก ความไม่ทุจริตและความโปร่งใสของจูกัดเหลียงกับผู้เกี่ยวข้องช่วยป้องกันจ๊กก๊กจากการล่มสลายเพราะภาระค่าใช้จ่ายมหาศาล[30]

ไม่ใช่ทุกคนที่พอใจกับนโยบายตามหลักนิตินิยมดังกล่าว กัว ชงวิจารณ์นโยบายของจูเหลียงว่า "โหดร้าย" และ "เห็นแก่ตัว" ซึ่ง "ทุกคนตั้งแต่ผู้สูงศักดิ์ไปจนถึงสามัญชน" ต่างไม่พอใจ เผย์ ซงจือไม่เห็นด้วยกับคำวิจารณ์ดังกล่าวเพราะการบังคับใช้กฎหมายของจูกัดเหลียงนั้นมีความเหมาะสมและไม่มีทาง "เห็นแก่ตัว"[31] ซึ่งขัดแย้งกับความเห็นของตันซิ่วว่า "ไม่มีใครไม่พอใจแม้ว่ากฎหมายเข้มงวด" อี้ จงเทียนให้ความเห็นว่าการประเมินที่ขัดแย้งกันเป็นสองขั้วนี้ต่างก็ถูกต้อง เนื่องจากราษฎรจ๊กก๊กพึงพอใจกับความเป็นธรรรมและความโปร่งใสของจูกัดเหลียง แต่ก็มีบางคนที่ไม่พอใจความเข้มงวดจนเกินไปของจูกัดเหลียง นอกจากนี้ความเป็นธรรมและการปกครองด้วยหลักกฎหมายของจูกัดเหลียงมีผลไปบีบคั้นขุนนางท้องถิ่นอย่างหลักเลี่ยงไม่ได้ ป้องปรามเหล่าขุนนางจากการใช้อำนาจในที่ผิดและการจัดการการเมืองกับมติมหาชน จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมปัญญาชนท้องถิ่นในจ๊กก๊กจำนวนมากจึงรับรองการบุกจ๊กก๊กของวุยก๊กโดยปริยาย แม้ว่าจะเคารพจูกัดเหลียงด้วยก็ตาม[32] ข้อเท็จจริงนี้ได้รับการยืนยันจากบุคคลร่วมสมัยอย่างเตียวอุ๋น[33]และซุนกวน ยฺเหวียน จุ่นในยุคราชวงศ์จิ้นก็ยกย่องจูกัดเหลียงเป็นอย่างสูงในเรื่องทักษะการบริหารและเกียรติคุณ[34] จากการที่ผู้คนยังคงร้องเพลงยกย่องจูกัดเหลียงในช่วงเวลาหลายสิบปีหลังการเสียชีวิตของจูกัดเหลียง[35]

นโยบายการศึกษาและการรับสมัครผู้มีความสามารถ

[แก้]

จูกัดเหลียงเห็นคุณค่าของผู้มีความสามารถเป็นอย่างมาก จึงให้ความใส่ใจกับการศึกษาเป็นพิเศษเพื่อปลูกฝังและสรรหาขุนนางผู้มีสามารถเพิ่มเติมให้มารับราชการกับราชสำนักจ๊กก๊ก จูกัดเหลียงริเริ่มตำแหน่งขุนนางผู้ช่วยส่งเสริมการเรียนรู้ (勸斈從事 เชฺวี่ยนเสฺวียฉงชื่อ) ซึ่งมีผู้ดำรงตำแหน่งเป็นปัญญาชนท้องถิ่นที่มีชื่อเสียงหลายคนเช่นเจียวจิ๋ว เจียวจิ๋วดำรงตำแหน่งนี้เป็นเวลานานมากและมีอิทธิพลเป็นอย่างสูง ลูกศิษย์คนหนึ่งของเจียวจิ๋วชื่อตันซิ่ว (เฉิน โช่ว) เป็นผู้เขียนสามก๊กจี่ (ซานกั๋วจื้อ) ต่อมาจูกัดเหลียงได้ก่อตั้งสำนักศึกษาใหญ่ (太斈府 ไท่เสฺวียฝู่) ซึ่งเป็นสถานที่ฝึกอบรมโดยใช้วรรณกรรมขงจื๊อเป็นตำราเรียน จูกัดเหลียงยังได้สร้าง "สำนักอ่านตำรา" หลายแห่งทั้งในเซงโต๋และในแนวหน้าระหว่างการบุกขึ้นเหนือ สำนักต่าง ๆ ดังกล่าวทำหน้าที่เป็นสถานที่สำหรับการอภิปรายในหัวข้อต่าง ๆ และด้วยการอภิปรายเช่นนี้จะทำให้สามารถค้นพบและสรรหาผู้มีความสามารถได้ Yao Tian ผู้ว่าการเขตก๋งฮาน (กวั่งฮั่น) ของจ๊กก๊กได้แนะนำผู้มีความสามารถจำนวนมากให้ราชสำนัก จึงได้รับการชื่นชมอย่างมากจากจูกัดเหลียง[36]

จูกัดเหลียงยังได้จัดตั้งกลไก "สำนักอภิปราย" เพื่อรวบรวมการอภิปรายทั้งหมดของนโยบายบางอย่าง และส่งเสริมให้ขุนนางยอมรับคำวิพากษ์วิจารณ์ของผู้ใต้บังคับบัญชาเพื่อวินิจฉัยอย่างเหมาะสมและใช้ความสามารถทั้งหมดผู้ใต้บังคับบัญชาให้เป็นประโยชน์ จูกัดเหลียงดำเนินนโยบายคุณธรรมนิยม ส่งเสริมและประเมินบุคคลตามผลงานและความสามารถมากกว่าชื่อเสียงหรือภูมิหลัง[36]

ภารกิจการทูตกับง่อก๊ก

[แก้]

ในช่วงเวลาเดียวกันนั้น เมืองหลายเมืองในภูมิภาคหนานจงก่อกบฏต่อต้านจ๊กก๊ก แต่จูกัดเหลียงไม่ได้ส่งกำลังทหารไปปราบปรามการจลาจล เนื่องจากเล่าปี่เพิ่งสวรรคตไปไม่นาน เล่าปี่ถูกโน้มน้าวโดยลกซุนหลังเล่าปี่พ่ายแพ้ในยุทธการที่อิเหลงว่าจำเป็นต้องที่จ๊กก๊กต้องเป็นพันธมิตรกับง่อก๊ก จูกัดเหลียงส่งเตงจี๋และตันจิ๋นไปเจรจาสันติภาพกับง่อก๊กและกลับมาเป็นพันธมิตรกัน จูกัดเหลียงมักส่งทูตไปง่อก๊กเป็นประจำเพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างทั้งสองรัฐ

ในปี ค.ศ. 229 ซุนกวนสถาปนาตนเป็นจักรพรรดิ ทำให้ขุนนางของจ๊กก๊กหลายคนไม่พอใจเพราะถือว่าราชวงศ์ฮั่น (รวมถึงจ๊กก๊ก) เป็นราชวงศ์ดั้งเดิมเพียงราชวงศ์เดียว ขุนนางของจ๊กก๊กบางคนถึงกับเสนอให้ตัดความสัมพันธ์ระหว่างจ๊กก๊กและง่อก๊ก แต่จูกัดเหลียงให้ความเห็นว่าพันธมิตรจ๊กก๊ก-ง่อ๊กยังคงมีความจำเป็น จึงปล่อยวางเรื่องที่ซุนกวนตั้งตนเป็นจักรพรรดิไว้ชั่วคราว แล้วยังมีการส่งทูตของจ๊กก๊กไปแสดงความยินดีกับซุนกวนเพื่อกระชับความสัมพันธ์ของทั้งสองฝ่าย

ปฏิเสธที่จะยอมสวามิภักดิ์ต่อวุยก๊ก (ค.ศ. 223-225)

[แก้]

การบุกลงใต้ (ค.ศ. 225-227)

[แก้]
การบุกลงใต้ของจูกัดเหลียง

ในช่วงที่จูกัดเหลียงมีบทบาทเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน ได้ตั้งเป้าหมายของจ๊กก๊กเป็นการฟื้นฟูราชวงศ์ฮั่น ซึ่งจากมุมมองของจ๊กก๊กแล้วราชวงศ์ฮั่นโดนรัฐวุยก๊กแย่งชิงอำนาจไป จูกัดเหลียงเห็นว่าก่อนจะโจมตีวุยก๊ก ต้องสร้างเอกภพมั่นคงสมบูรณ์ในจ๊กก๊กเป็นอันดับแรก[37] จูกัดเหลียงกังวลว่ากลุ่มตระกูลท้องถิ่นจะร่วมมือกับชนเผ่าลำมัน (หนานหมาน) ในภูมิภาคหนานจงก่อกบฏขึ้น เกรงว่ากบฏจะบุกเข้ายึดพื้นที่โดยรอบเมืองหลวงเซงโต๋ระหว่างที่ตนยกทัพบุกวุยก๊กทางเหนือ จูกัดเหลียงจึงตัดสินใจจะสยบชนเผ่าทางใต้เป็นอันดับแรก

ในฤดูใบไม้ผลิปี ค.ศ. 225 กลุ่มตระกูลต่าง ๆ ในภูมิภาคหนานจง รวมถึงตระกูลยง เกา จู และเมิ่งได้เข้ายึดเมืองทางใต้บางเมือง จูกัดเหลียงจึงนำทัพบุกไปยังหนานจง ม้าเจ๊กเสนอว่าควรพยายายามเอาชนะใจชาวลำมันและร่วมสนับสนุนกันแทนที่จะใช้กำลังทหารปราบปราม จูกัดเหลียงปฏิบัติตามคำแนะนำของม้าเจ๊กและเอาชนะเบ้งเฮ็ก (เมิ่ง ฮั่ว) ผู้นำกบฏเจ็ดครั้งตามที่มีระบุอ้างในบันทึกประวัติศาสตร์ในหนหลัง เช่น พงศาวดารหฺวาหยาง จูกัดเหลียงปล่อยเบ้งเฮ็กทุกครั้งที่จับตัวได้เพื่อให้เบ้งเฮ้กยอมสวามิภักดิ์จากใจจริง[38] เรื่องราวเกี่ยวกับการจับกุมเบ้งเฮ็กเจ็ดครั้งถูกตั้งคำถามเรื่องความน่าเชื่อถือโดยนักวิชาการสมัยใหม่หลายคน รวมถึงนักประวัติศาสตร์เช่น เมี่ยว เยฺว่, ถัน เหลียงเซี่ยว และจาง หฺวาหลัน

เบ้งเฮ็กตระหนักว่าตนไม่มีโอกาสชนะ จึงยอมสวามิภักดิ์ต่อจ๊กก๊ก และได้รับการแต่งตั้งจากจูกัดเหลียงให้เป็นผู้ว่าการภูมิภาคเพื่อเอาใจชาวท้องถิ่นและป้องกันชายแดนทางใต้ของจ๊กก๊ก ทั้งนี้เพื่อให้มั่นใจว่าการยกทัพบุกเหนือในอนาคตจะดำเนินต่อไปโดยไม่มีการหยุดชะงักด้วยสาเหตุจากภายใน[37] ทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์ที่ได้รับจากหนานจงถูกนำมาใช้เป็นทุนให้กับกองทัพจ๊กก๊ก รัฐจ๊กก๊กจึงเจริญรุ่งเรืองขึ้น

การบุกขึ้นเหนือ (ค.ศ. 227-234)

[แก้]
ภาพวาดสมัยราชวงศ์ชิงแสดงเหตุการณ์สุมาอี้หนีจูกัดเหลียง

หลังจากสยบเผ่าลำมัน จูกัดเหลียงสั่งให้ทหารจ๊กก๊กเตรียมการสำหรับการบุกวุยก๊กครั้งใหญ่ในปี ค.ศ. 227 ขณะจูกัดเหลียงอยู่ที่ฮันต๋ง (ฮั่นจง) ได้เขียนฎีกาเรียกว่าฎีกาออกศึก (ชูชื่อเปี่ยว) ถวายเล่าเสี้ยน โดยทูลแจ้งเหตุผลในการออกรบและถวายคำแนะนำแก่จักรพรรดิให้ปกครองอย่างมีธรรมาภิบาล ตั้งแต่ปี ค.ศ. 228 เป็นต้นไปจนกระทั่งจูกัดเหลียงเสียชีวิตในปี ค.ศ. 234 จูกัดเหลียงยกทัพบุกเหนือเพื่อรบกับวุยก๊กทั้งหมดห้าครั้ง เกือบทุกครั้งเป็นการรบที่ไม่ประสบความสำเร็จ ยกเว้นเพียงครั้งเดียวที่เป็นการรบที่ได้ชัยชนะ ในการยกทัพบุกเหนือครั้งแรก จูกัดเหลียงเกลี้ยกล่อมเกียงอุยนายทหารหนุ่มของวุยก๊กให้ยอมสวามิภักดิ์และแปรพักตร์มาเข้าด้วย[39] เกียงอุยกลายเป็นขุนพลคนสำคัญของจ๊กก๊กในเวลาต่อมาและยังได้สืบทอดนโยบายของขงเบ้งในการบุกวุยก๊ก ผลประโยชน์อื่น ๆ ที่จ๊กก๊กได้รับคือได้เมืองปูเต๋า (อู่ตู) และอิมเป๋ง (อินผิง) และได้กวาดต้อนราษฎรของวุยก๊กมายังอาณาเขตของจ๊กก๊กในบางครั้ง[39] ระหว่างการบุกเหนือครั้งแรก แม่ทัพทหารผ่านศึกอุยเอี๋ยนเสนอให้นำกองกำลังแยกหนึ่งหมื่นนายเข้าโจมตีฉับพลันโดยผ่านหุบเขาจูงอก๊ก (จื๋ออู๋กู่) แผนดังกล่าวมีความเสี่ยงสูง แต่หากประสบความสำเร็จจะได้รับชัยชนะอย่างเด็ดขาด จูกัดเหลียงไม่ต้องการเสี่ยงจึงปฏิเสธแผนของอุยเอี๋ยน ทำให้อุยเอี๋ยนรู้สึกไม่พอใจ

การยกทัพบุกเหนือครั้งแรกทำให้ฝ่ายวุยก๊กประหลาดใจ การศึกในช่วงต้นดำเนินไปอย่างราบรื่น อย่างไรก็ตามกองกำลังจ๊กก๊กภายใต้การบัญชาของม้าเจ๊กดำเนินยุทธวิธีผิดพลาดจนพ่ายแพ้ในยุทธการที่เกเต๋ง เป็นผลทำให้การยกทัพบุกเหนือล้มเหลวโดยสิ้นเชิง จูกัดเหลียงให้ลงโทษม้าเจ๊กด้วยการประหารชีวิต และให้ลดตำแหน่งตัวเองลงสามขั้น ในการยกทัพบุกเหนือครั้งที่สอง กองทัพจ๊กก๊กยกเข้าโจมตีด่านตันฉอง (เฉินชัง) แต่ไม่สำเร็จ และจำต้องถอนทัพกลับไปเมื่อกำลังเสริมของวุยก๊กมาถึง อองสง (หวัง ซฺวัง) ขุนพลวุยก๊กนำกำลังไล่ตามตีทัพจ๊กก๊กแต่ถูกซุ่มโจมตีและถูกสังหาร ในการยกทัพบุกเหนือครั้งที่สาม ฝ่ายจ๊กก๊กสามารถยึดได้เมืองปูเต๋าและอิมเป๋งสองเมืองที่ประชาชนเบาบางซึ่งใช้เป็นที่มั่นทางการทหารในการรุดหน้าต่อไป วุยก๊กพยายามโจมตีโต้กลับในปี ค.ศ. 230 แต่ก็จบลงด้วยความล้มเหลว

การยกทัพบุกเหนือครั้งที่สี่ (ค.ศ. 231) ถือเป็นครั้งแรกที่มีการการใช้โคยนต์ในการขนส่งเสบียง และเป็นครั้งแรกที่จูกัดเหลียงได้พบกับสุมาอี้ในสนามรบ จูกัดเหลียงส่งทหารจำนวนมากไปยังเขากิสาน (ฉีชาน) และให้แยกกำลังไปยังอำเภอเซียงเท้ง (ช่างกุย) เพื่อเก็บเกี่ยวธัญพืช กุยห้วยและปีเอียวขุนพลฝ่ายวุยก๊กพยายามขัดขวางแต่ไม่สำเร็จ ทัพจ๊กก๊กจึงสามารถเก็บเกี่ยวข้าวสาลีได้เกือบทั้งหมด สุมาอี้ตัดสินใจใช้กลยุทธ์ตั้งรับรักษาแนวรบไว้ ฝ่ายจูกัดเหลียงถอยกลับไปที่โลเสีย (หลู่เฉิง) ทางด้านตะวันออกของเขากิสานเพื่อลวงสุมาอี้ให้ไล่ตาม ทีแรกสุมาอี้ระแวงยังไม่หลงกลตามไป แต่เมื่อถูกผู้ใต้บังคับบัญชากดดันสุมาอี้จึงยอมยกทัพไล่ตามตีทัพจ๊กก๊ก ทัพวุยก๊กต้องกลจนถูกตีแตกพ่าย สุมาอี้จึงกลับมาตั้งรับดังเดิมเป็นการถาวร จูกัดเหลียงไม่สามารถอาศัยประโยชน์จากชัยชนะด้วยการเข้าโจมตีครั้งใหญ่เนื่องจากเสบียงอาหารขาดแคลน ประกอบกับสภาพอากาศไม่เอื้ออำนวยทำให้ไม่สามารถขนส่งเสบียงได้ทันตามกำหนด ทัพจ๊กก๊กจึงจำต้องถอยทัพกลับ แต่ก็สามารถทำการซุ่มโจมตีสังหารเตียวคับที่ยกทหารไล่ตามตีได้

จูกัดเหลียงเรียนรู้จากประสบการณ์การศึกที่ผ่านมาและพยายามอย่างมากในการแก้ไขปัญหาการขนส่งเสบียงของทัพจ๊กก๊ก จูกัดเหลียงปรับปรุงโคยนต์ให้เป็นม้าเลื่อน สร้างโรงเก็บเสบียงขนาดใหญ่พิเศษ และดำเนินการเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรขนานใหญ่ในพื้นที่ทางเหนือ จูกัดเหลียงยังได้ร้องขอการประสานโจมตีจากง่อก๊กเป็นผลสำเร็จ หลังจากเตรียมการมาสองปี ในปี ค.ศ. 234 จูกัดเหลียงยกทัพบุกเหนือเป็นครั้งสุดท้าย ทัพจ๊กก๊กยกมาตั้งที่ทุ่งราบอู่จ้าง และดำเนินการทำนาทหาร (ถุนเถียน) ที่นั่นเพื่อเป็นเสบียงในระยะยาว ทางด้านฝ่ายวุยก๊ก สุมาอี้ใช้กลยุทธ์ตั้งรับไม่ออกรบและจัดการหยุดการคัดค้านของผู้ใต้บังคับบัญชาที่ต้องการออกรบ จูกัดเหลียงพยายามยั่วยุสุมาอี้หลายครั้งแต่ไม่สำเร็จทุกครั้ง

ถึงแก่กรรมและเหตุการณ์ในภายหลัง (ค.ศ. 234)

[แก้]
ภาพวาดในยุคราชวงศ์ชิงแสดงเหตุการณ์ "จูกัดคนตายหลอกจ้งต๋าคนเป็นถอยหนี"

การตั้งคุมเชิงที่ทุ่งราบอู่จ้างกินเวลามากกว่า 100 วัน[ซานกั๋วจื้อ 5] ในช่วงเวลาระหว่างวันที่ 11 กันยายนและ 10 ตุลาคม ค.ศ. 234[a] จูกัดเหลียงล้มป่วยหนักและเสียชีวิตในค่าย ขณะที่จูกัดเหลียงเสียชีวิตนั้นมีอายุ 54 ปี (ตามการนับอายุแบบเอเชียตะวันออก)[ซานกั๋วจื้อ 6] ก่อนเสียชีวิตจูกัดเหลียงฝากฝังให้เจียวอ้วนและบิฮุยเป็นผู้สำเร็จราชการของจ๊กก๊กสืบต่อจากตน

สุมาอี้ได้ข่าวการเสียชีวิตของจูกัดเหลียงและต่อมาทัพจ๊กก๊กได้ถอยทัพ สุมาอี้จึงรีบยกทัพไล่ตามตี แต่กองหลังของทัพจ๊กก๊กแสร้งทำจะรบโต้กลับ ลวงให้สุมาอี้ระแวงหลงเชื่อว่าจูกัดเหลียงยังมีชีวิตและวางแผนซุ่มโจมตี ทัพวุยก๊กจึงหยุดยั้งไว้ ทัพจ๊กก๊กจึงถอยทัพได้อย่างปลอดภัย เหตุการณ์นี้ทำให้เกิดคำพูดที่มีชื่อเสียงว่า "จูกัด (เหลียง) คนตายหลอกจ้งต๋า[d]คนเป็น" เมื่อสุมาอี้รู้เรื่องที่ตนต้องกลในภายหลัง สุมาอี้กล่าวว่า "ข้าคาดเดาความคิดของคนเป็นได้ แต่คาดเดาความคิดของคนตายไม่ได้”

การฝังศพและการปูนยศย้อนหลัง

[แก้]

ศพของจูกัดเหลียงได้รับการฝังที่เขาเตงกุนสัน (ติ้งจฺวิ้นชาน) ตามคำสั่งเสียก่อนเสียชีวิต โดยพิธีศพและสุสานจัดอย่างเรียบง่าย ไม่ใช้วัสดุที่หรูหราและมีราคาแพง จูกัดเหลียงได้รับการแต่งตั้งย้อนหลังให้มีตำแหน่ง "จงอู่โหฺว" (忠武侯; แปลว่า "เจ้าพระยา (โหฺว) ยุทธ์ผู้ภักดี") โดยเล่าเสี้ยน ครั้งหนึ่งจูกัดเหลียงเขียนฎีกาถวายเล่าเสี้ยนทูลว่าตนจะใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย ไม่ใช้จ่ายฟุ่มเฟือยและไม่ครอบครองทรัพย์สินหรูหราเพื่อเป็นแบบอย่างของแผ่นดิน หลังจากการเสียชีวิตของจูกัดเหลียง ได้มีการตรวจสอบทรัพย์สินของจูกัดเหลียง ซึ่งได้รับการยืนยันว่าเป็นจริงตามที่จูกัดเหลียงเคยอ้างไว้[40]

ราษฎรจ๊กก๊กต่างโศกเศร้าเสียใจต่อการเสียชีวิตของจูกัดเหลียง ในตอนแรกราษฎรจัดพิธีไว้ทุกข์และเซ่นสรวงบูชาจูกัดเหลียงโดยพลการ เนื่องจากยังไม่มีการจัดสร้างศาลและจัดพิธีบูชาอย่างเป็นทางการโดยราชสำนัก ทำให้ประชาชนไม่พอใจ ด้วยเหตุนี้ในปี ค.ศ. 263 จึงมีการสร้างศาลจูกัดเหลียงในเหมียนหยาง ใกล้กับหลุมศพของจูกัดเหลียง[40]

เกร็ดประวัติห้าเรื่องของกัว ชง

[แก้]

ครอบครัวและทายาท

[แก้]
พงศาวลีตระกูลจูกัด
จูเก่อ เฟิง
諸葛豐
เฉ่าจี้
少季
ไช่ เฝิ่ง
蔡諷
บังเต๊กก๋ง
(ผาง เต๋อกง)
龐德公
จูเก่อ กุย
諸葛珪
จฺวินก้ง
君貢
อุยสิง่าน
(หฺวาง เฉิงเยี่ยน)
黃承彥
ไช่ชื่อ
(ไม่ทราบชื่อตัว)
เตียวเจียว
(จาง เจา)
張昭
จื่อปู้
子布
ผาง ชานหมิน
龐山民
จูเก่อชื่อ
(ไม่ทราบชื่อตัว)
จูกัดกิ๋น
(จูเก๋อ จิ่น)
諸葛瑾
จื่อ-ยฺหวี
子瑜
จูกัดกิ๋น[b]
(จูเก่อ จฺวิน)
諸葛均
จูกัดเหลียง
(จูเก่อ เลี่ยง)
諸葛亮
ขงเบ้ง
(ข่งหมิง)
孔明
อุ๋ยซี
(หฺวางชื่อ)
(ไม่ทราบชื่อตัว)
จูเก่อชื่อ
(ไม่ทราบชื่อตัว)
ไขว่ ฉี
蒯祺
จาง เฉิง
張承
จ้งชื่อ
仲嗣
จูเก่อชื่อ
(ไม่ทราบชื่อตัว)
จูเก่อ เฉียว
諸葛喬
ปั๋วซง
伯松
จูกัดเก๊ก
(จูเก่อ เค่อ)
諸葛恪
ยฺเหวียนซฺวิ่น
元遜
จูเก่อ หรง
諸葛融
ชูฉาง
叔長
จูเก๋อ กั่ว*
諸葛果
จูเก่อ หฺวาย*
諸葛懷
จูกัดเจี๋ยม
(จูเก่อ จาน)
諸葛瞻
ซือ-ยฺเหวี่ยน
思遠
จูเก่อ พาน
諸葛攀
จูเก่อ ชั่ว
諸葛綽
จูเก๋อ ส่ง
諸葛竦
จูเก่อ เจี้ยน
諸葛建
จูกัดสง
(จูเก่อ ช่าง)
諸葛尚
จูเก่อ จิง
諸葛京
สิงจง
行宗
จูเก๋อ จื้อ*
諸葛質
จูเก๋อ เสี่ยน
諸葛顯
ภรรยา

จูกัดเหลียงแต่งงานกับบุตรสาวของอุยสิง่าน (หฺวาง เฉิงเยี่ยน) ซึ่งเป็นหลานสาวของเล่าเปียวและชัวฮูหยิน เพราะมารดาของนาง (ภรรยาของอุยสิง่าน) เป็นน้องสาวของชัวฮูหยิน ชื่อของนางไม่มีบันทึกในประวัติศาสตร์ แต่มักจะกล่าวถึงในชื่อ "หฺวาง เยฺว่อิง" ในวัฒนธรรมสมัยนิยม ในสามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) เรียกบุตรสาวของอุยสิง่านด้วยชื่อ "อุ๋ยซี" (หฺวางชื่อ)

บุตร

จูกัดเหลียงมีบุตรชายอย่างน้อยสองคน บุตรชายคนโตชื่อจูกัดเจี๋ยม (จูเก่อ จาน) รับราชการเป็นเป็นขุนพลแห่งจ๊กก๊กและถูกสังหารในที่รบระหว่างการพิชิตจ๊กก๊กของวุยก๊ก บุตรชายคนรองชื่อจูเก่อ หฺวาย (諸葛懷) ใช้ชีวิตเยี่ยงสามัญชนในยุคราชวงศ์จิ้น เดิมจูกัดเหลียงไม่มีบุตรชายจึงรับหลานชาย (บุตรชายของจูกัดกิ๋น (จูเก๋อ จิ่น)) ชื่อจูเก่อ เฉียว (諸葛喬) เป็นบุตรบุญธรรม จูเก่อ เฉียวรับราชการกับจ๊กก๊กและเสียชีวิตขณะอายุค่อนข้างหนุ่ม ตามตำนานแล้วจูกัดเหลียงมีบุตรสาวคนหนึ่งชื่อจูเก๋อ กั่ว (諸葛果) แต่การมีตัวตนของนางถูกโต้แย้งโดยนักประวัติศาสตร์

หลาน

บุตรชายของจูเก่อ เฉียวชื่อจูเก่อ พาน (諸葛攀) กลับไปยังง่อก๊กหลังการเสียชีวิตของจูกัดเก๊ก (จูเก่อ เค่อ) เพื่อเป็นทายาทสืบเชื้อสายของจูกัดกิ๋น (จูเก๋อ จิ่น) ที่นั่น จูกัดเจี๋ยมมีบุตรชายสามคน บุตรคนโตชื่อจูกัดสง (จูเก่อ ช่าง) รับราชการกับจ๊กก๊กและถูกสังหารในที่รบพร้อมกับบิดา บุตรชายคนรองชื่อจูเก่อ จิง (諸葛京) ย้ายไปอยู่อยู่เมืองฮอตั๋ง (เหอตง) ในปี ค.ศ. 264 พร้อมกับบุตรชายของจูเก่อ พานชื่อจูเก๋อ เสี่ยน (諸葛顯) และมารับราชการกับราชวงศ์จิ้นในภายหลัง บุตรชายคนเล็กชื่อจูเก่อ จื้อ (諸葛質)

ญาติคนอื่น ๆ

จูกัดเอี๋ยน (จูเก่อ ต้าน) เป็นลูกพี่ลูกน้องคนหนึ่งของจูกัดเหลียง รับราชการกับรัฐวุยก๊ก และเป็นผู้ก่อกบฏครั้งที่สามของกบฏสามครั้งในฉิวฉุน ถูกสังหารหลังพ่ายแพ้ในการรบ

สิ่งตกทอด

[แก้]

สิ่งประดิษฐ์

[แก้]
ศาลเจ้าจูกัดเหลียงที่มณฑลเสฉวน

แม้ว่าการประดิษฐ์หน้าไม้กลมักจะถือว่าเป็นผลงานการประดิษฐ์คิดค้นของจูกัดเหลียง แต่ความจริงแล้วจูกัดเหลียงไม่ใช่ผู้ริเริ่มประดิษฐ์เป็นคนแรก ความเข้าใจผิดนี้มีที่มาจากที่มีบันทึกถึงการพัฒนาปรับปรุงหน้าไม้ให้ยิงลูกดอกได้หลายดอกว่าเป็นผลงานของจูกัดเหลียง[41]

จูกัดเหลียงยังได้รับการกย่องว่าเป็นผู้สร้างค่ายกลทหารศิลาแปดประตู กระบวนกองศิลาที่ว่ากันว่าสามารถก่อให้เกิดปรากฏการณ์เหนือธรรมชาติ ตั้งอยู่ใกล้เมืองเป๊กเต้ (ไป๋ตี้เฉิง)[42]

โคมลอยซึ่งเป็นบัลลูนอากาศร้อนชนิดแรก ๆ ที่ใช้สำหรับส่งสัญญาณทางการทหาร รู้จักในชื่อ "โคมขงเบ้ง" (孔明燈 ข่งหมิงเติง) เป็นการตั้งชื่อตามชื่อรองของจูกัดเหลียง[43] ว่ากันว่าจูกัดเหลียงคิดค้นโคมลอยขึ้นเมื่อต้องกลของสุมาอี้ที่ผิงหยาง กองกำลังของจ๊กก๊กใกล้เคียงเห็นข้อความบนกระดาษคลุมโคมลอยจึงยกมาช่วยเหลือจูกัดเหลียง บ้างก็เชื่อว่าโคมลอยมีลักษณะเหมือนผ้าโพกศีรษะของจูกัดเหลียงจึงตั้งชื่อตามลักษณะดังกล่าว

งานวรรณกรรม

[แก้]

ผลงานหนังสือบางเล่มที่มักถือกันว่าเป็นผลงานของจูกัดเหลียง ยกตัวอย่างเช่น สามสิบหกกลยุทธ์ และ ตำราพิชัยสงครามขงเบ้ง เป็นผลงานเด่นสองชิ้นที่มักถือกันว่าเป็นผลงานของจูกัดเหลียง ฎีกาของจูกัดเหลียงที่มีชื่อเรียกว่า ฎีกาออกศึก (ชูชื่อเปี่ยว) ซึ่งเขียนขึ้นก่อนการยกทัพบุกเหนือ สะท้อนสะท้อนให้เห็นความจงรักภักดีที่แน่วแน่ของจูกัดเหลียงต่อรัฐจ๊กก๊ก[44] ผู้อ่านบางคนอ่านฎีกาของจูกัดเหลียงถึงกับหลั่งน้ำตา นอกจากนี้จูกัดเหลียงยังได้เขียน โอวาทสอนบุตร (諸葛亮誡子書) ซึ่งสะท้อนถึงความอ่อนน้อมถ่อมตนและความประหยัดมัธยัสถ์ในการใช้ชีวิตอย่างมีความหมาย[45]

ชื่อของจูกัดเหลียงยังปรากฏในผลงานวรรณกรรมของจีนหลายชิ้น บทกวีผลงานของตู้ ฝู่ กวีสมัยราชวงศ์ถัง เขียนเพื่อรำลึกถึงจูกัดเหลียงมีความว่า:

蜀相 (武侯祠)

丞相祠堂何處尋?
錦官城外柏森森。
映階碧草自春色,
隔葉黃鸝空好音。
三顧頻煩天下計,
兩朝開濟老臣心。
出師未捷身先死,
長使英雄淚滿襟。

อัครมหาเสนาบดีแห่งจ๊กก๊ก (ศาลอู่โหฺว)

จะหาศาลท่านอัครมหาเสนาบดีได้ที่แห่งใด
ในป่าลึกนอกนครแห่งไหม
สะท้อนทิวทัศน์อันงดงามแห่งฤดูใบไม้ผลิ
ท่ามกลางใบไม้นกขมิ้นขับขาน
การมาเยือนสามครานำเข้าพัวพันการใหญ่ของแผ่นดิน
รับใช้สองจักรรพรรดิด้วยหนึ่งหัวใจ
แต่กลับไม่อาจสำเร็จภารกิจก่อนตาย
ทำให้เหล่าผู้กล้าหลั่งน้ำตาอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน

อีกหนึ่งบทกวีของตู้ ฝู่ที่เขียนเพื่อยกย่องจูกัดเหลียงที่ศาลไป๋ตี้เฉิง

蜀相 (武侯祠)

武侯廟
諸葛大名垂宇宙,
宗臣遺像肅清高。
三分割據紆籌策,
萬古雲霄一羽毛。
伯仲之間見伊呂,
指揮若定失蕭曹。
運移漢祚終難復,
志決身殲軍務勞。

ศาลอู่โหฺว

ชื่อเสียงของจูกัดสูงล้ำจักรวาล
รูปปั้นอันทรงเกียรติยังคงอยู่
แบ่งแผ่นดินเป็นสามด้วยปัญญา
สูงล้ำในบรรพกาลด้วยขนนก
พลังอำนาจเทียบชั้นอี (อี อิ่น) และลฺหวี่ (เจียง จื่อหยา)
สติปัญญาเทียบชั้นเซียว (เซียว เหอ) และเฉา (เฉา เชิน)
ชะตาเปลี่ยนและราชวงศ์ฮั่นฟื้นคืนอย่างยากเย็น
ยังคงทุ่มเทใจรบมินำพาการท้าทาย

บทกวีสี่วรรคของตู้ ฝู่ชื่อ "ปาเจิ้นถู" (八陈图) เกี่ยวกับค่ายกลทหารศิลาแปดประตูของจูกัดเหลียงได้รวบรวมอยู่ใน รวมสามร้อยบทกวียุคถัง.

คำกล่าวที่มีชื่อเสียง

[แก้]

วลีว่า "ฮั่นกับโจรกบฏไม่อาจยืนด้วยกัน" (จีนตัวย่อ: 汉贼不两立; จีนตัวเต็ม: 漢賊不兩立; พินอิน: Hàn zéi bù liǎng lì) มาจากฎีกาออกศึก (ชูชื่อเปี่ยว) ของจูกัดเหลียงฉบับหลัง มักใช้กล่าวถึงสถานการณ์ที่ไม่สามารถยืนหยัดคู่กับความชั่วร้ายได้ วลีนี้เป็นคำพูดโปรดของจอมพลเจียง ไคเชกเพื่อแสดงให้เห็นถึงอุดมการณ์ต่อต้านคอมมิวนิสต์ของตน

ในนิยายสามก๊ก

[แก้]
ภาพวาดจูกัดเหลียงสมัยราชวงศ์ชิง

สติปัญญาของจูกัดเหลียงได้รับการเชิดชูให้โดดเด่นในนิยายอิงประวัติศาสตร์เรื่องสามก๊กที่ประพันธ์โดยล่อกวนตงในยุคราชวงศ์หมิง นิยายสามก๊กระบุว่าจูกัดเหลียงมีความสามารถสร้างผลงานน่าอัศจรรย์เช่นการเรียกลมเพื่อใช้ประโยชน์ในการศึกหรือการประดิษฐ์กระบวนศิลาวิเศษ

มีความสับสนเป็นอย่างมากว่าเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับจูกัดเหลียงในนิยายสามก๊กเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริงในประวัติศาสตร์หรือเรื่องที่เสริมแต่งในนิยาย อย่างเช่นกลยุทธ์เมืองว่างที่อิงมาจากบันทึกประวัติศาสตร์ แม้ว่าตามข้อเท็จจริงประวัติศาสตร์แล้วจะไม่ใช่ผลงานของจูกัดเหลียง[3]

ดูเนื้อเรื่องในนิยายสามก๊กที่เกี่ยวข้องกับจูกัดเหลียงตามรายการต่อไปนี้:

ความเคารพนับถือ

[แก้]

มีศาลเจ้าหลายแห่งที่สร้างขึ้นเพื่อรำลึกถึงจูกัดเหลียง หนึ่งในสถานที่ที่มีชื่อเสียงที่สุดได้แก่ศาลอู่โหฺวที่เฉิงตูและศาลอู่โหฺวที่ไป๋ตี้เฉิง

ในปี ค.ศ. 760 เมื่อจักรพรรดิถังซู่จงแห่งราชวงศ์ถังโปรดให้สร้างศาลเจ้าเพื่อเป็นเกียรติแก่เจียง จื่อหยา พระองค์โปรดให้สร้างประติมากรรมของจูกัดเหลียงพร้อมขุนพล/นักยุทธศาสตร์การทหารในประวัติศาสตร์ที่มีชื่อเสียงอีกเก้าคน ได้แก่ ไป๋ ฉี่, หัน ซิ่น, หลี่ จิ้ง, หลี่ ฉือจี้, จาง เหลียง, เถียน หรังจฺวี, ซุนจื่อ, อู๋ ฉี่ และ เยฺว่ อี้ วางในศาลขนาบรูปเคารพของเจียงจื่อ หยา [46]

ในวัฒนธรรมประชานิยม

[แก้]

ภาพยนตร์และละครโทรทัศน์

[แก้]

นักแสดงที่มีชื่อเสียงที่รับบทเป็นจูกัดเหลียงภาพยนตร์และละครโทรทัศน์ ได้แก่

การ์ตูน

[แก้]
  • ในการ์ตูนญี่ปุ่นเรื่อง 'อินาสึมะ อีเลฟเวน Go chrono stone' ขงเบ้งได้ปรากฏตัวในช่วงที่พวกเทนมะ(พระเอกของเรื่อง)ได้ทำการย้อนเวลาออกตามหา 11 ผู้สุดยอดในประวัติศาสตร์ เพื่อนำพลังของท่านเหล่านั้นมาใช้ในการกอบกู้ฟุตบอลคืนจากองค์กรร้ายที่ต้องการพรากฟุตบอลไปจากทุกคน โดยเมื่อพวกเท็นมะเดินทางมาถึงในยุคสามก๊กก็ได้พบกับขงเบ้ง(ซึ่งในการ์ตูนเรื่องนี้ ขงเบ้งได้รับการอธิบายว่าเป็นผู้หญิงที่มีปัญญาเฉลียวฉลาด ไม่ได้เป็นผู้ชายอย่างในสามก๊กต้นฉบับ)และผู้ที่ได้รับพลังของขงเบ้งนั้นคือ 'อาเมมิยะ ไทโย'เพื่อนร่วมทีมของเทนมะ
  • ในปี ค.ศ. 2022 การ์ตูนญี่ปุ่นเรื่อง 'ขงเบ้ง เจาะเวลามาปั้นดาว' เป็นซีรีส์มังงะญี่ปุ่น เขียนเรื่องโดยยูโตะ โยตสึบะ วาดภาพโดยเรียว โองาวะ ซีรีส์เผยแพร่ทางเว็บไซต์คอมิกเดส์ของสำนักพิมพ์โคดันชะตั้งแต่เดือนธันวาคม พ.ศ. 2562 ถึงพฤศจิกายน พ.ศ. 2564 และต่อมาย้ายไปตีพิมพ์ต่อในนิตยสารยังแมกกาซีนรายสัปดาห์ ได้รับการรวบรวมตีพิมพ์เป็นหนังสือมังงะรวมเล่ม (ทังโกบง) ถึงเล่มที่ 9 มังงะมีลิขสิทธิ์ในประเทศไทยโดยสำนักพิมพ์เซนชู ได้รับการดัดแปลงเป็นซีรีส์อนิเมะโทรทัศน์โดยสตูดิโอพีเอเวิกส์ เริ่มออกอากาศในเดือนเมษายน พ.ศ. 2565 ในเนื้อเรื่องจะกล่าวถึงจูกัดเหลียง ชื่อรองขงเบ้ง นักยุทธศาสตร์การทหารที่มีชื่อเสียงในยุคสามก๊ก ล้มป่วยเสียชีวิตระหว่างยุทธการที่ทุ่งราบอู่จ้างในปี ค.ศ. 234 ก่อนตายขงเบ้งปรารถนาชีวิตในชาติหน้าที่สงบสุขปราศจากการนองเลือด ต่อมาขงเบ้งได้กลับชาติมาเกิดใหม่ในประเทศญี่ปุ่นยุคปัจจุบันด้วยร่างในวัยหนุ่ม ปรากฏตัวกลางงานปาร์ตี้แฟนซีในวันฮาโลวีนในเขตชิบูยะ ประเทศญี่ปุ่น เหล่านักท่องราตรี (ภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า "พาริปิ" ย่อมาจากคำภาษาอังกฤษ 'party people') ในชิบูยะได้พาขงเบ้งมายังไนต์คลับแห่งหนึ่ง ที่ซึ่งขงเบ้งได้พบกับซึกิมิ เอย์โกะ นักร้องผู้มีความทะเยอทะยานอยากเป็นนักร้องที่มีชื่อเสียงโด่งดัง แต่ความฝันกลับช่างเลือนราง ขงเบ้งจึงอาสาที่จะเป็นผู้จัดการส่วนตัวของเธอเพื่อนำพาเธอไปสู่เป้าหมายอังสูงสุดเองด้วยมันสมองอันชาญฉลาดของตนและกลยุทธ์พิชัยสงครามในสามก๊กที่สามารถนำมาใช้ในสถาการณ์ปัจจุบันได้เป็นอย่างดี

ดูเพิ่ม

[แก้]

หมายเหตุ

[แก้]
  1. 1.0 1.1 1.2 สามก๊กจี่บันทึกว่าจูกัดเหลียงล้มป่วยและเสียชีวิตในเดือน 8 (ตามปฏิทินจันทรคติ) ของศักราชเจี้ยนซิงปีที่ 12 ในรัชสมัยของเล่าเสี้ยน[ซานกั๋วจื้อ 6] เดือน 8 นี้เทียบได้กับช่วงเวลาระหว่างวันที่ 11 กันยายนถึง 10 ตุลาคม ค.ศ. 234 ในปฏิทินกริกอเรียน
  2. 2.0 2.1 2.2 ในสามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) เรียกชื่อพี่ชายของจูกัดเหลียง (จูเก๋อ จิ่น) และน้องชายของจูกัดเหลียง (จูเก่อ จฺวิน) ด้วยชื่อ "จูกัดกิ๋น" เหมือนกัน
  3. บางแหล่งข้อมูลทางประวัติศาสตร์อื่น ๆ มีเนื้อความแย้งเกี่ยวกับเรื่องนี้ อ้างว่าเป็นจูกัดเหลียงที่มาพบเล่าปี่ก่อนและเสนอตนรับใช้ ข้อมูลนี้มาจากเว่ย์เลฺว่ อ้างอิงโดยเผย์ ซงจือในอรรถาธิบายที่แทรกในสามก๊กจี่ (ซานกั๋วจื้อ) ของตันซิ่ว (เฉิน โชฺ่ว) เล่มที่ 35 ดูเพิ่มใน Henry, Eric (December 1992). "Chu-ko Liang in the Eyes of his Contemporaries". Harvard Journal of Asiatic Studies. 52 (2): 593–96. doi:10.2307/2719173. JSTOR 2719173.
  4. "จ้งต๋า" เป็นชื่อรองของสุมาอี้

อ้างอิง

[แก้]

อ้างอิงจากสามก๊กจี่ (ซานกั๋วจื้อ)

[แก้]
  1. Chen and Pei 429, p. i
  2. Chen and Pei 429, 35.911: "諸葛亮字孔明,琅邪陽都人也。漢司隷校尉諸葛豐後也。父珪,字君貢,漢末為太山郡丞。"
  3. Chen and Pei 429, 52.1231–1242.
  4. Chen and Pei 429, 35.911: "亮早孤,從父玄為袁術所署豫章太守,玄將亮及亮弟均之官。"
  5. Chen and Pei 429, 35.925: "相持百餘日。"
  6. 6.0 6.1 Chen and Pei 429, 35.925: "其年八月,亮疾病,卒于軍,時年五十四。"

อ้างอิงจากอรรถาธิบายสามก๊กจี่ (ซานกั๋วจื้อจู้)

[แก้]
  • Chen Shou (1977) [429]. Pei Songzhi (บ.ก.). Annotated Records of the Three Kingdoms 三國志注. Taipei: Dingwen Printing.
    • Sun Sheng (300s). Jin Yangqiu 晉陽秋 [Chronicle of Jin].
    • Sun Sheng (300s). Wei Shi Chunqiu 魏氏春秋 [Chronicle of the House of Wei] (private history).
    • Wang Chen; Xun Yi; Ruan Ji (c. 250s). 魏書 [Book of Wei] (official history).
    • Wang Yin (王隱) (340). Shu Ji 蜀記 [Records of Shu].
    • Wei Zhao; Hua He; Zhou Zhao (周昭); Xue Ying; Liang Guang (梁廣) (c. 270). Wei Zhao (บ.ก.). 吳書 [Book of Wu] (official history).
    • Xi Zuochi. Han–Jin Chunqiu 漢晉春秋 [Chronicle of Han and Jin] (private history).
    • Xi Zuochi (300s). Xiangyang Qijiu Ji 襄陽耆舊記 [Records of the elders of Xiangyang]. Cited as Xiangyang Ji
    • Ying Shao (c. 195). Fengsu Tongyi 風俗通義 [Comprehensive Meaning of Customs and Mores] (encyclopaedia).
    • Yu Huan (265). Weilüe 魏略 [A Brief History of the Wei Dynasty] (private history).
    • Yuan Zhun (袁準) (200s). Yuanzi 袁子.
  1. Wei, Book of Wu: "其先葛氏,本琅邪諸縣人,後徙陽都。陽都先有姓葛者,時人謂之諸葛,因以為氏。" Cited in Chen and Pei 429, 52.1232 n. 1, biography of Zhuge Jin.
  2. Ying, Fengsu Tongyi: "葛嬰為陳涉將軍,有功而誅,孝文帝追錄,封其孫諸縣侯,因幷氏焉。此與吳書所說不同。" Cited in Chen and Pei 429, 52.1232 n. 1, biography of Zhuge Jin.
  3. Xi, Xiangyang Ji: "[龐]德公子山民,亦有令名,娶諸葛孔明小姊。" Cited in Chen and Pei 429, 37.954 n. 1, continued from previous page, biography of Pang Tong.

อ้างอิงจากจดหมายเหตุราชวงศ์จิ้น (จิ้นชู)

[แก้]

อ้างอิงอื่น ๆ

[แก้]
  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 de Crespigny (2007), p. 1172.
  2. de Crespigny, Rafe (2007). A biographical dictionary of Later Han to the Three Kingdoms (23–220 AD). Brill. p. 1172. ISBN 978-90-04-15605-0.
  3. 3.0 3.1 Nojonen, Matti (2009). Jymäyttämisen taito. Strategiaoppeja muinaisesta Kiinasta [The Art of Deception. Strategy lessons from Ancient China. Helsinki, Finland: Gaudeamus. ISBN 978-952-495-089-3.
  4. "Ancient Cultivation Stories: Zhuge Liang's Cultivation Practise". ClearHarmony.net. 28 July 2005. สืบค้นเมื่อ 2007-11-11.
  5. Baogang Guo 2008 p. 38. China in Search of a Harmonious Society. https://books.google.com/books?id=UkoStC-S-AMC&pg=PA38
  6. Dillon, Michael (1998). China: A Cultural and Historical Dictionary. p. 389.
  7. Dillon, Michael (1998). China: A Cultural and Historical Dictionary. p. 389.
  8. Deng, Yinke (2007). History of China. p. 65.
  9. Guo, Baogang (2008). China in Search of a Harmonious Society. p. 38.
  10. Auyang, Sunny (2015). The Dragon and the Eagle. p. 290.
  11. Knechtges, David R. (2010). "Chen Shou". ใน David R. Knechtges; Taiping Chang (บ.ก.). Ancient and Early Medieval Chinese Literature: A Reference Guide. Vol. 1. Brill. pp. 112–116. ISBN 9789047444664.
  12. 12.0 12.1 Knechtges (2014), p. 2329.
  13. Shiji, vol. 48: "葛嬰至東城,立襄彊為楚王。嬰後聞陳王已立,因殺襄彊,還報。至陳,陳王誅殺葛嬰。"
  14. ฉี จั้วฉื่อ, เซียงหยางฉีจิ้วจี้ เล่มที่ 2: "[蒯]欽從祖祺婦,卽諸葛孔明之大姊也。"
  15. (聞君擇婦;身有醜女,黃頭黑色,而才堪相配。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 35.
  16. (儒生俗士,豈識時務?識時務者為俊傑。此間自有卧龍、鳳雛。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 35.
  17. (此人可就見,不可屈致也。將軍宜枉駕顧之。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 35.
  18. "Zhuge Liang – Kong Ming, The Original Hidden Dragon". JadeDragon.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-11-29. สืบค้นเมื่อ 2007-11-11.
  19. 19.0 19.1 Yi Zhongtian. Analysis of the Three Kingdoms, Vol. 1, Vietnamese translation. Publisher of People's Public Security, 2010. Chapter 16: Three visits to the cottage.
  20. (孤之有孔明,猶魚之有水也。願諸君勿復言。) สามก๊กจี่ เล่ม 35.
  21. "หากท่านสามารถใช้ทัพง่ออวด (อู๋เยฺว่) ต้านทานทัพหลวงได้ เหตุใดท่านไม่ตัดความสัมพันธ์ (กับโจโฉ) ไปเสีย หากท่านไม่สามารถต้านทานได้ เหตุใดท่านไม่ถอนทัพ ถอดเกราะ และไปยอมจำนนที่ทางเหนือเล่า" (若能以吳、越之眾與中國抗衡,不如早與之絕﹔若不能當,何不案兵束甲,北面而事之!) ตันซิ่ว. สามก๊กจี่, เล่มที่ 35, ชีวประวัติจูกัดเหลียง
  22. Chen Wende. Great story of Kongming Zhuge Liang. Vietnamese translation: Nguyễn Quốc Thái. Labor Publisher. 2018. Chapter 6: Sun - Liu alliance.
  23. (君才十倍曹丕,必能安國,終定大事。若嗣子可輔,輔之;如其不才,君可自取。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 35.
  24. (臣敢竭股肱之力,效忠貞之節,繼之以死!) สามก๊กจี่ เล่มที่ 35.
  25. Yi Zhongtian. Analysis of the Three Kingdoms, Vol. 2, Vietnamese translation. Publisher of People's Public Security, 2010. Chapter 37: A special duo of lord and subordinate
  26. 26.0 26.1 26.2 Chen Wende. Great story of Kongming Zhuge Liang. Vietnamese translation: Nguyễn Quốc Thái. Labor Publisher. 2018. Chapter 27: Agriculture and Legalism.
  27. Yi Zhongtian. Analysis of the Three Kingdoms, Vol. 2, Vietnamese translation. Publisher of People's Public Security, 2010. Epilouge: The Billowing Yangtze River Flows East.
  28. สามก๊กจี่. ตันซิ่ว, อรรถาธิบายโดยเผย์ ซงจือ. จดหมายเหตุรัฐจ๊ก. ชีวประวัติอีเจี้ย."[อีเจี้ย]ร่วมกับจูกัดเหลียง หวดเจ้ง เล่าป๋า ลิเงียมร่างประมวลกฎหมายสำหรับจ๊ก ข้อบัญญัติในจ๊กถูกสร้างขึ้นโดยห้าคนนี้"
  29. สามก๊กจี่. ตันซิ่ว, อรรถาธิบายโดยเผย์ ซงจือ. จดหมายเหตุรัฐจ๊ก. ชีวประวัติลิเงียม.
  30. Yi Zhongtian. Analysis of the Three Kingdoms, Vol. 2, Vietnamese translation. Publisher of People's Public Security, 2010. Chapter 42: Passed away in Helplessness. Chapter 48: Convergence of Separated Lines.
  31. สามก๊กจี่. ตันซิ่ว, อรรถาธิบายโดยเผย์ ซงจือ. จดหมายเหตุรัฐจ๊ก. ชีวประวัติจูกัดเหลียง.
  32. Yi Zhongtian. Analysis of the Three Kingdoms, Vol. 2, Vietnamese translation. Publisher of People's Public Security, 2010. Chapter 42: Passed away in Helplessness. Chapter 48: Convergence of Separated Lines. Epilouge: The Billowing Yangtze River Flows East.
  33. (权既阴衔温称美蜀政,又嫌其声名大盛,众庶炫惑,恐终不为己用,思有以中伤之) สามก๊กจี่ เล่มที่ 57.
  34. (亮之治蜀,田畴辟,仓廪实,器械利,蓄积饶,朝会不华,路无醉人。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 35.
  35. (亮死至今数十年,国人歌思,如周人之思召公也,孔子曰“雍也可使南面”,诸葛亮有焉。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 35.
  36. 36.0 36.1 Chen Wende. Great story of Kongming Zhuge Liang. Vietnamese translation: Nguyễn Quốc Thái. Labor Publisher. 2018. Chapter 28: Talents promotion.
  37. 37.0 37.1 Zhuge, Liang; Zhang, Zhu; Duan, Xizhong; Wen, Xuchu (1960). 諸葛亮集 [Collected works of Zhuge Liang] (ภาษาจีน). Beijing: Zhonghua Publishing. OCLC 21994628.
  38. Huang, Walter Ta (1967). 7 times freed. New York: Vantage Press. OCLC 2237071.
  39. 39.0 39.1 Luo, Zhizhong (2003). 諸葛亮 (ภาษาจีน). Taichung, Taiwan: Hao du chu ban you xian gong si. ISBN 978-957-455-576-5. OCLC 55511668.
  40. 40.0 40.1 สามก๊กจี่. ตันซิ่ว, อรรถาธิบายโดยเผย์ ซงจือ. เล่มที่ 2: จดหมายเหตุรัฐจ๊ก. ชีวประวัติจูกัดเหลียง.
  41. Needham (1994), p. 8.
  42. Zhuge Liang; Liu Ji; Thomas Cleary (1989). Mastering the art of war. Boston: Shambhala Publications. ISBN 978-0-87773-513-7. OCLC 19814956.
  43. Yinke Deng (2005). Ancient Chinese inventions. China Intercontinental Press. p. 113. ISBN 978-7-5085-0837-5. Kongming balloon.
  44. "Zhuge Liang and the Qin". www.silkqin.com. สืบค้นเมื่อ 2016-11-21.
  45. "Tranquility_Aspiration". Vincent's Calligraphy (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). สืบค้นเมื่อ 2016-11-21.
  46. (上元元年,尊太公為武成王,祭典與文宣王比,以歷代良將為十哲象坐侍。秦武安君白起、漢淮陰侯韓信、蜀丞相諸葛亮、唐尚書右僕射衛國公李靖、司空英國公李勣列於左,漢太子少傅張良、齊大司馬田穰苴、吳將軍孫武、魏西河守吳起、燕晶國君樂毅列於右,以良為配。) Xin Tang Shu vol. 15.

บรรณานุกรม

[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]