โจโก๋

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
โจโก๋ (เฉาซง)
曹嵩
ภาพโจโก๋จากนวนิยายภาพสามก๊ก (ค.ศ. 1957)
ผู้บัญญาการทหารสูงสุด (太尉)
ดำรงตำแหน่ง
ค.ศ. 187 (187) – ค.ศ. 188 (188)
กษัตริย์พระเจ้าเลนเต้
ก่อนหน้าชุย เลี่ย
รัฐมนตรีกระทรวงปฏิคม (大鴻臚)
ดำรงตำแหน่ง
ค.ศ. ? (?) – ค.ศ. 187 (187)
กษัตริย์พระเจ้าเลนเต้
รัฐมนตรีกระทรวงการคลัง (大司農)
ดำรงตำแหน่ง
ค.ศ. ? (?) – ค.ศ. ? (?)
กษัตริย์พระเจ้าเลนเต้
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิดไม่ทราบ
โป๋โจว มณฑลอันฮุย
เสียชีวิต193[1]
หลินอี๋ มณฑลชานตง
บุตร
  • โจโฉ
  • โจปิน
  • โจเต๊ก
  • ไห่หยางไอโหว
อาชีพขุนนาง
ชื่อรองจวี้เกา (巨高)

โจโก๋ (อังกฤษ: Cao Song; จีน: 曹嵩) เป็นตัวละครในวรรณกรรมจีนอิงประวัติศาสตร์เรื่องสามก๊กที่มีตัวตนจริงในประวัติศาสตร์ในยุคสามก๊ก เป็นคหบดีในยุคราชวงศ์ฮั่นตอนปลาย เป็นบิดาของโจโฉ อัครมหาเสนาบดีและผู้ก่อตั้งวุยก๊กในเวลาต่อมา

ประวัติ[แก้]

โจโก๋เกิดในตระกูลแฮหัว แต่ต่อมาขันทีโจเท้งได้นำโจโก๋เลี้ยงเป็นบุตรบุญธรรม โจโก๋เปลี่ยนมาถือแซ่โจ ทำให้โจโฉต้องถือแซ่โจตามไปด้วย โจโก๋มีบทบาทในเรื่องสามก๊กอยู่ 2-3 ครั้ง ครั้งแรกสุดคือตอนที่กล่าวถึงประวัติของโจโฉในวัยเด็ก โจโฉในวัยเด็กนั้นเป็นเด็กเกเร ชอบหนีไปเที่ยวเล่น โจเต๊ก น้องชายโจโก๋จึงเอาความนี้ไปฟ้องพี่ชายบ่อยๆ โจโก๋จึงทำโทษโจโฉ โจโฉจึงโกรธเคืองอาคิดจะแก้แค้นอยู่เนืองๆ วันหนึ่ง โจโฉเห็นโจเต๊กจึงแกล้งทำเป็นล้มลงทำทีว่าจะมีอันเป็นไป โจเต๊กตกใจรีบไปบอกโจโก๋ให้ทราบ โจโก๋ตกใจรีบวิ่งมาดูเห็นโจโฉวิ่งเล่นเป็นปกติ โจโก๋ถามโจโฉว่า "อาเอ็งไปบอกว่าเอ็งมีอันเป็นไป บัดนี้หายแล้วหรือ" โจโฉจึงตอบว่า "แต่น้อยมาข้าหาเจ็บป่วยสิ่งใดไม่ เพราะอาชังข้าจึงเอาความมิดีมาใส่" [2]โจโก๋ก็เชื่อโจโฉ ตั้งแต่นั้นมา ไม่ว่าโจเต๊กจะพูดเกี่ยวกับโจโฉในทางไม่ดี โจโก๋ก็ไม่เชื่ออีกเลย

โจโก๋มีบทบาทครั้งต่อมา เมื่อโจโฉคิดตั้งกองทัพเพื่อปราบตั๋งโต๊ะ จึงได้หลบหนีจากเมืองหลวงกลับมาเมืองตันลิวซึ่งโจโก๋อยู่ที่นั่น โจโฉได้ขอทรัพย์สินของโจโก๋ส่วนหนึ่งเพื่อใช้ตั้งกองทัพ โจโก่แนะนำบอกว่า "เงินทองเรามีอยู่บ้างเห็นจะไม่พอการ เราเห็นคนหนึ่งชื่ออุยหองมีทรัพย์สินเป็นอันมาก น้ำใจก็กว้างขวางซื่อสัตย์ต่อแผ่นดิน ถ้าได้ไปบอกเนื้อความทั้งปวงก็เห็นจะลงใจด้วย จะให้เงินทองมาจ่ายอาวุธแลม้า จะได้เป็นกำลังสืบไป"[3] โจโฉเชื่อคำโจโก๋แล้วเชิญอุยหองมากินโต๊ะ และกล่าวขอทรัพย์สินเพื่อตั้งกองทัพ อุยหองเห็นดีด้วยจึงให้ทรัพย์สินแก่โจโฉในการตั้งกองทัพ

โจโก๋ได้มีบทบาทเป็นครั้งสุดท้าย เมื่อโจโฉได้เป็นแม่ทัพแห่งภาคตะวันออก มีอำนาจในแคว้นกุนจิ๋ว ทั้งยังเกลี้ยกล่อมผู้คน เสาะแสวงหาคนมีปัญญามาเป็นพวกเป็นจำนวนมาก แล้วให้คนไปรับโจโก๋ซึ่งอยู่ที่ตันลิวให้มาอยู่ด้วยกันที่กุนจิ๋ว โจโก๋จึงได้พาครอบครัวและบริวารออกเดินทางไปกุนจิ๋ว ระหว่างทาง ได้แวะพักที่เมืองชีจิ๋ว โตเกี๋ยมเจ้าเมืองต้อนรับโจโก๋เป็นอย่างดี แล้วยังให้เตียวคีและทหารในสังกัดเป็นองครักษ์คุ้มกันโจโก๋ไปถึงเมืองกุนจิ๋ว

ระหว่างเดินทางเกิดฝนตก ขบวนของโจโก๋จึงหยุดพักที่วัดร้างแห่งหนึ่ง เตียวคีซึ่งเป็นเคยเป็นโจรโพกผ้าเหลือง เกิดละโมบอยากได้ทรัพย์สมบัติของโจโก๋ จึงพาทหารในสังกัดเข้าไปฆ่าโจโก๋ พร้อมครอบครัวและบริวารเสียสิ้น และขโมยทรัพย์สมบัติหนีไป จากเหตุการณ์นี้ ทำให้โจโฉเข้าใจว่าโตเกี๋ยมใช้ให้ทหารของตัวไปฆ่าโจโก๋ จึงได้ยกทัพไปตีเมืองชีจิ๋ว แต่ต่อมาก็ต้องยกทัพกลับ เพราะลิโป้ยกทัพไปยึดแคว้นกุนจิ๋ว

ในปีค.ศ.220 โจผีได้สถาปนาปู่ของตนเป็นจักรพรรดิไท่เว่ยซึ่งหมายถึงจักรพรรดิบรรพชนแห่งเว่ย และพร้อมกันนั้นก็สถาปนาโจเท้งทวดบุญธรรมเป็นจักรพรรดิเกาแห่งเว่ยซึงหมายถึงจักรพรรดิต้นวงศ์แห่งเว่ย

ครอบครัว[แก้]

จากหลักบันทึกทางประวัติศาสตร์จีนระบุว่า โจโก๋มีโจเท้งเป็นบิดาบุญธรรม และมีโจเต๊กเป็นน้องชาย มีบุตรชายหนึ่งคนคือโจโฉ และมีหลานชายห้าคนได้แก่ โจงั่ง โจผี โจเจียง โจสิด โจหิม โดยมีโจผีเป็นผู้สถาปนาราชวงศ์วุย

อ้างอิง[แก้]

  1. de Crespigny (2007), p. 48.
  2. ประวัติโจโฉในวัยเด็ก ,สามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) เล่ม 1, เจ้าพระยาพระคลัง (หน) , สำนักพิมพ์ศิลปาบรรณาคาร, พ.ศ. 2544
  3. โจโฉตั้งกองทัพเพื่อปราบตั๋งโต๊ะ,สามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) เล่ม 1, เจ้าพระยาพระคลัง (หน) , สำนักพิมพ์ศิลปาบรรณาคาร, พ.ศ. 2544

ดูเพิ่ม[แก้]