ยีเอ๋ง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ยีเอ๋ง
รูปวาดยี่เอ๋งสมัยราชวงศ์ชิง
ที่ปรึกษาแห่งวุยก๊ก
เกิดพ.ศ. 716
ถึงแก่กรรมพ.ศ. 743
ชื่อภาษาจีน
อักษรจีนตัวเต็ม彌衡
อักษรจีนตัวย่อ弥衡

ยีเอ๋ง (อังกฤษ: Mi Heng; จีนตัวย่อ: 弥衡; จีนตัวเต็ม: 彌衡; พินอิน: Mí Héng) หนึ่งในที่ปรึกษาของโจโฉที่ปากดีอวดเก่งไม่รู้เวลา จึงถูกประหารชีวิต ยี่เอ๋งเป็นชาวเมืองเพงงวนก๋วน ปัจจุบันอยู่ในแขวงชางฮี มณฑลซานตง มีชื่อรองว่า "เจิ้งผิง" (正平) ปรากฏตัวครั้งแรก เมื่อเตียวสิ้วเข้าร่วมกับโจโฉแล้ว โจโฉต้องการทูตไปเจรจาเกลี้ยกล่อมเล่าเปียวเป็นพวกด้วย จึงปรึกษาขงหยงว่าควรตั้งใครเป็นทูตไปเกงจิ๋วดี ขงหยงเสนอยีเอ๋ง บัณฑิตหนุ่มอายุ 20 ปี โจโฉก็เคยได้ยินชื่อยีเอ๋งมาบ้าง จึงเชิญให้ยีเอ๋งมาพบ

เมื่อยีเอ๋งมาถึงแล้วได้คำนับโจโฉ แต่โจโฉไม่ยอมคำนับตอบ ด้วยเห็นว่ายีเอ๋งไม่มีท่าทีว่าจะเป็นคนฉลาดเฉลียวสมดังคำเล่าลือ ยีเอ๋งจึงรำพันออกมาว่า ณ ที่นี่กว้างนักแต่หาคนดี ๆ สักคนไม่มี โจโฉจึงถามว่า อันข้าพเจ้านั้นมีผู้ดี ๆ เก่ง ๆ มาร่วมงานมากมาย ไฉนจึงว่าไม่มีคนดีมาร่วมงาน ยีเอ๋งจึงถามว่า บุคคลที่ท่านว่าดี ยกตัวอย่างมาสิ โจโฉจึงตอบไปหลายคนทั้งขุนนางบุ๋นและบู๊ ได้แก่ ซุนฮก, ซุนฮิว, กุยแก, เทียหยก, เตียวเลี้ยว, เคาทู, ลิเตียน, งักจิ้น แต่ยีเอ๋งกลับหัวเราะเยาะพร้อมกล่าวถึงบุคคลที่โจโฉว่ามาแต่ละคนล้วนแต่ไม่ได้เรื่องว่า ซุนฮกเหมาะสำหรับใช้ให้ไปเยี่ยมคนป่วยหรือไปร่วมงานศพเท่านั้น ซุนฮิวนั้นก็เหมาะที่จะเป็นสัปเหร่อมากกว่า กุยแกก็เหมาะสำหรับแต่งโคลงกลอนหรืออ่านหนังสือให้คนไม่รู้หนังสือฟัง ส่วนเทียหยกก็สมควรให้เป็นภารโรง เตียวเลี้ยวก็เหมาะกับหน้าที่ตีเกราะเคาะระฆัง เคาทูก็เหมาะกับการเลี้ยงวัวควาย ลิเตียนก็สมกับงานเดินหนังสือ งักจิ้นดูแล้วก็ไม่น่ามีตำแหน่งเกินกว่าเสมียน

และยังเอ่ยถึงบุคคลที่โจโฉไม่ได้กล่าวถึงเพิ่มอีกในแบบเดียวกัน คือ ลิยอย ก็ใช้ได้เพียงแค่คนเช็ดทำความสะอาดอาวุธ หมันทองก็เอาแต่เสพสุรา อิกิ๋มก็เหมาะสำหรับกรรมกรยกของหนัก ซิหลงก็เหมาะกับอาชีพฆ่าหมูขาย ส่วนแฮหัวตุ้นนั่นเล่าแค่รักษาศีรษะตนให้ติดอยู่กับบ่าก็ยากพอแล้ว

โจโฉฟังแล้วโมโหยีเอ๋งยิ่งนัก แต่ระงับอารมณ์ไว้ ได้ย้อนถามกลับไปว่า ท่านว่าคนของข้าพเจ้าไม่ดีอย่างนั้นอย่างนี้ แล้วตัวท่านเล่ามีดีอะไรบ้าง ยีเอ๋งตอบไปว่า ข้าพเจ้ามีความรู้ท่วมฟ้า สามารถเพ็ดทูลฮ่องเต้ให้ตั้งอยู่ในธรรมได้ และยังอบรมคนทั้งแผ่นดินได้อีกด้วย ถ้าจะว่าไปแล้ว ข้าพเจ้าชักเบื่อที่จะเจรจากับผู้ไร้สติปัญญาเช่นท่านแล้ว เหมือนพูดกับคนที่ไม่รู้ภาษามนุษย์ เตียวเลี้ยวทนไม่ไหวชักกระบี่จะสังหาร แต่โจโฉห้ามไว้ และให้ตำแหน่งยีเอ๋งเป็นคนตีกลองในวัง ซึ่งยีเอ๋งก็ไม่ขัดข้อง

ต่อมา โจโฉจัดงานเลี้ยงในวัง มีผู้เข้ามาร่วมงานมากมาย ซึ่งมีการแสดงดนตรีด้วย นักดนตรีแต่ละคนล้วนแต่งกายด้วยอาภรณ์สวยงามทั้งสิ้น แต่ยีเอ๋งกลับสวมเสื้อผ้าขาดวิ่นมาตีกลองเพียงคนเดียว แต่ยีเอ๋งตีกลองได้อย่างไพเราะจับใจมาก ทำเอาแขกในงานซึ้งไปกับเสียงกลองของยีเอ๋ง เพลงนี้มีชื่อว่า "ยูยัง" (余洋) ซึ่งมีลำนำอันไพเราะ ทำให้ได้บรรยากาศริมน้ำ ขณะนั่งตกปลา ที่ต้องนิ่งสงบอยู่กลางเสียงปลาฮุบเบ็ด เสียงใบไผ่และใบวนสีกันเป็นจังหวะ ซึ่งความหมายของชื่อเพลง แปลว่า ตกปลา (ยาขอบตั้งชื่อเพลงนี้ว่า "เพลงมัสยาหลงเหยื่อ") บางคนถึงกับน้ำตาไหลซาบซึ้ง เมื่อตีจบแล้ว บรรดาแขกไปรุมถามยีเอ๋งว่า เหตุไฉนท่านจึงแต่งกายสกปรกเช่นนี้ โจโฉโมโหจึงตวาดถามไปด้วยเสียงอันดังว่า ทำไมถึงแต่งตัวเช่นนี้ในเขตพระราชฐาน ยีเอ๋งแทนที่จะไปเปลี่ยนเสื้อผ้า กลับประชดถอดเสื้อผ้าออกหมด โจโฉยิ่งโมโหยิ่งขึ้น แต่ยีเอ๋งตอบไปว่า เพราะตัวข้าพเจ้าสะอาดบริสุทธิ์ ที่แก้ผ้าออกเพื่อที่จะให้ทุกคนเห็นเรือนร่างอันบริสุทธิ์ของข้าพเจ้า โจโฉจึงถามย้อนกลับไปว่า เช่นนั้นเรือนร่างใครสกปรก ยีเอ๋งจึงตอบไปว่า ก็ตัวท่านไงเล่า เพราะหูท่านชอบฟังแต่เรื่องปอปั้นเยินยอ จึงถือว่าเป็นหูสกปรก ตาท่านก็ชอบจะเห็นแต่สิ่งสวยงามมดเท็จ จึงถือได้ว่าเป็นตาสกปรก จิตใจท่านก็ยิ่งสกปรกใหญ่ คิดจะเป็นโจรปล้นชิงราชสมบัติ สถาปนาตนเป็นฮ่องเต้ ตัวข้าพเจ้าเป็นนักปราชญ์ที่ยิ่งใหญ่ กลับให้มาเป็นคนตีกลอง เช่นนี้หรือจะเป็นใหญ่ในแผ่นดิน

โจโฉจึงคิดจะประหารยีเอ๋งทันที แต่เกรงคนจะครหา จึงส่งยีเอ๋งไปเป็นทูตเจรจากับเล่าเปียว หมายจะให้เล่าเปียวประหารแทน เมื่อไปถึง ยีเอ๋งเปิดฉากเจรจาด้วยการยกตนเองข่ม เล่าเปียวจึงคิดส่งยีเอ๋งไปให้หองจอ เจ้าเมืองกังแหประหารแทน ด้วยการบอกปัดไปว่า ให้ถามเอาจากหองจอ ถ้าหองจอเห็นดีด้วย ข้าพเจ้าก็ยินดี เมื่อไปถึงกังแห หองจอจัดงานเลี้ยงต้อนรับ เมื่อร่ำสุราได้ที่แล้ว ยีเอ๋งก็พูดจาข่มตนและอวดโอ้ตัวเองเสียเกินจริงอีกครั้ง หองจอได้ยินดังนั้นก็คิดว่า สมจริงดังที่โจโฉและหลายคนว่า หองจอแสร้งถามขอความเห็นจากยีเอ๋งว่า อันตัวข้าพเจ้านี้เป็นเจ้าเมือง ท่านเห็นควรหรือไม่ ยีเอ๋งตอบไปว่า ตัวท่านนั้นเหมือนเจว็ดในศาลเจ้า เหมาะให้คนมากราบไหว้รับของเซ่นสรวง ไม่ต้องทำอะไร สติปัญญาก็ไม่มี หองจอเลยสั่งให้นำตัวยีเอ๋งไปประหารทันที เมื่อโจโฉได้ทราบว่ายีเอ๋งโดนประหารไปแล้ว ก็หัวเราะสาแก่ใจ และบอกว่า ไอ้คนปากดีมันโดนประหารเพราะลิ้นมันแล้ว

อ้างอิง[แก้]

  • หนังสือ คุยเฟื่องเรื่องสามก๊ก โดย โกวิท ตั้งตรงจิตร, พ.ศ. 2550 สำนักพิมพ์ชมรมเด็ก
  • สามก๊กฉบับวณิพก โดย ยาขอบ
  • Knechtges, David R. (2010). "Mi Heng 禰衡". In Knechtges, David R.; Chang, Taiping. Ancient and Early Medieval Chinese Literature: A Reference Guide, Part One. Leiden: Brill. pp. 671–3. ISBN 978-90-04-19127-3.

ดูเพิ่ม[แก้]