ยุทธการที่เซ็กเพ็ก
ยุทธการที่เซ็กเพ็ก | |||||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|
ส่วนหนึ่งของ สงครามช่วงปลายราชวงศ์ฮั่น | |||||||||
![]() อักษรจารึกบนผาเซ็กเพ็ก ใกล้กับเมืองชื่อปี้ มณฑลเหอเป่ย์ในปัจจุบัน อักษรจารึกมีอายุ 1,000 ปีเป็นอย่างน้อย | |||||||||
| |||||||||
คู่สงคราม | |||||||||
ซุนกวน เล่าปี่ เล่ากี๋[1] | โจโฉ | ||||||||
ผู้บังคับบัญชาและผู้นำ | |||||||||
จิวยี่ เทียเภา เล่าปี่ เล่ากี๋ | โจโฉ | ||||||||
กำลัง | |||||||||
50,000 |
800,000 (จากคำกล่าวอ้างของโจโฉ) 220,000–240,000 (จากการประมาณการของจิวยี่) | ||||||||
ความสูญเสีย | |||||||||
ไม่ทราบ | สูญเสียอย่างหนัก |
ยุทธการที่เซ็กเพ็ก | |||||||||||||||||
อักษรจีนตัวเต็ม | 赤壁之戰 | ||||||||||||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|
อักษรจีนตัวย่อ | 赤壁之战 | ||||||||||||||||
|

ยุทธการที่เซ็กเพ็ก หรือ ยุทธการที่ผาแดง (อังกฤษ: Battle of Red Cliffs; จีนตัวย่อ: 赤壁之战; จีนตัวเต็ม: 赤壁之戰; พินอิน: Chìbì zhī zhàn) เป็นสงครามที่มีความสำคัญที่สุดสงครามหนึ่งในยุคปลายราชวงศ์ฮั่นในรัชสมัยของพระเจ้าฮั่นเหี้ยนเต้ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของยุคสามก๊กในประเทศจีนในเวลาต่อมา ยุทธการที่เซ็กเพ็กนี้เกิดขึ้นใน ค.ศ. 208 โดยฝั่งหนึ่งเป็นกองทัพพันธมิตรของเล่าปี่และซุนกวนทางตอนใต้ และอีกฝั่งคือทัพของโจโฉทางตอนเหนือ ซุนกวนและเล่าปี่นั้นได้ชัยชนะเหนือโจโฉ ทำให้ความพยายามในการยึดดินแดนทางใต้ของโจโฉต้องล้มเหลวลง โดยจุดแตกหักเกิดขึ้น ณ ตำบลที่เรียกว่า "เซ็กเพ็ก" (ชื่อปี้ ผาแดง) ริมแม่น้ำแยงซีเกียง ศึกผาแดงนี้นับว่าเป็นศึกที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในสามก๊กและประวัติศาสตร์จีนก็ว่าได้ โดยมีการบันทึกไว้ในวรรณกรรมสามก๊กถึง 8 บท จากทั้งหมด 120 บท และมีกวีชาวจีนมากมายในชั้นหลังที่ได้จารึกไว้ถึงเหตุการณ์นี้ เช่น หลี่ไป๋[2] ในสามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) เรียกตอนนี้ว่า "โจโฉแตกทัพเรือ"[3]
ข้อมูลทางประวัติศาสตร์ของศึกผาแดงยังคงเป็นที่ถกเถียงมาจนถึงปัจจุบัน แม้แต่สถานที่รบยังกำหนดชี้ชัดลงไปไม่ได้ แต่เชื่อกันว่าจุดที่โจโฉถูกเผาทัพเรือนั้น เป็นหน้าผาติดแม่น้ำแยงซีเกียง อยู่ห่างจากเมืองชื่อปี้ ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือประมาณ 36 กิโลเมตร ในปัจุบัน โดยสถานที่เกิดเหตุนั้น มีจารึกตัวอักษรสีแดงที่ไม่ทราบว่าผู้ใดเป็นผู้จารึก แต่เป็นจารึกสมัยราชวงศ์ถัง และเหตุที่ได้ชื่อว่า "ชื่อปี้" (赤壁; ออกเสียง "เซ็กเพ็ก" ตามสำเนียงแต้จิ๋ว) ที่แปลได้ว่า "หน้าผาแดง" ก็คือเปลวไฟที่เผาผลาญกองทัพเรือของโจโฉ[2]
เบื้องหลัง[แก้]
ในวรรณคดี เล่าปี่ต้องทิ้งเมืองซินเอี๋ยและอ้วนเสียอพยพราษฎรจำนวนมาก เพื่อหนีการตามล่าจากโจโฉไปอยู่ที่เมืองแฮเค้าของเล่ากี๋ จากนั้นจึงส่งขงเบ้งไปเป็นทูตเจรจาขอให้ซุนกวนร่วมกันต้านโจโฉ ขณะที่โจโฉสามารถยึดเกงจิ๋วที่เดิมเป็นของเล่าเปียวได้สำเร็จ เพราะชัวมอคิดทรยศยอมยกเมืองให้โจโฉ ซึ่งภายหลังโจโฉก็สั่งสังหารเล่าจ๋องและชัวฮูหยินเสีย และประหารชัวมอและเตียวอุ๋น ตามแผนของจิวยี่ แม่ทัพใหญ่ฝ่ายง่อก๊ก
ฝ่ายขงเบ้งเมื่อไปถึงกังตั๋ง ต้องเผชิญกับที่ปรึกษาของซุนกวนหลายคนรุมถล่มด้วยวาจา แต่สามารถโต้กลับไปได้ทุกคน ในที่สุดซุนกวนและจิวยี่ก็ตัดสินใจรบกับโจโฉเพราะถูกขงเบ้งยั่วจนเกิดโทสะ ทั้ง 2 ทัพตั้งทัพคอยประจัญบานกัน ตลอดเวลาที่ขงเบ้งอยู่ที่นี่ จิวยี่พยายามหาทุกวิถีทางที่จะหาเรื่องสังหารขงเบ้งให้ได้ แต่ขงเบ้งก็สามารถเอาตัวรอดไปได้ทุกครั้ง เช่น สั่งเกณฑ์ขงเบ้งให้ทำลูกธนูแสนดอกให้เสร็จภายใน 10 วัน แต่ขงเบ้งขอเวลาแค่ 3 วัน โดยการใช้เรือเบาบรรทุกหุ่นฟางแล่นไปหาฝ่ายโจโฉในยามดึกหลังเที่ยงคืนขณะที่หมอกลงจัด ทหารฝ่ายโจโฉจึงระดมยิงธนูเข้าใส่ แต่ก็ติดกับหุ่นฟาง ลูกธนูแสนดอกจึงได้โดยไม่ต้องออกแรงอะไร และอีกครั้งเมื่อจิวยี่ต้องการลมอาคเนย์เพื่อเผาทัพเรือโจโฉ ที่ถูกผูกเป็นแพเดียวกันด้วยอุบายของบังทอง แต่เนื่องจากเป็นฤดูหนาวไม่มีลมอาคเนย์ จิวยี่เครียดกับเรื่องนี้จนกระอักเลือดล้มป่วยลง ขงเบ้งจึงทำพิธีเรียกลมขึ้น (ขงเบ้งแสร้งทำเพื่อหนีลงเรือของจูล่งที่มารับ) ในที่สุดเมื่อถึงวันที่ต้องแตกหัก ตรงกับวันแรม 5 ค่ำ เดือนอ้าย (ตรงกับวันที่ 10 เดือน 10 ตามปฏิทินจีน) ลมอาคเนย์ก็มา ในที่สุดก็สามารถเผากองทัพของโจโฉให้ราบคาบได้ โจโฉต้องหลบหนีไปอย่างทุลักทุเลเกือบเอาชีวิตไม่รอด และขงเบ้งก็ได้ให้กวนอูดักพบโจโฉเป็นด่านสุดท้าย เพื่อที่จะให้กวนอูไว้ชีวิตโจโฉ เพื่อล้างบุญคุณที่เคยมีต่อกันในอดีตด้วย
หลังจากเสร็จสิ้นศึกนี้ ทัพซุนเล่านั้นได้ยึดดินแดนเกงจิ๋วเกือบทั้งหมด โดยทัพจิวยี่สามารถเอาชนะโจหยินยึดเมืองกังเหลงได้ ส่วนเล่าปี่นั้นได้ยึดครองดินแดนเกงจิ๋วใต้ทั้งหมด
การบันทึกในพงศาวดาร[แก้]
อุยกายเป็นผู้เสนอจิวยี่ให้ใช้แผนสวามิภักดิ์ รวมถึงการใช้เรือไฟ กลอุบายใช้ไฟของอุยกายทำให้ทัพโจโฉพ่ายแพ้ย่อยยับ หลังจากนั้นจิวยี่และเล่าปี่ก็ไล่ตามโจมตีทัพโจโฉที่แตกพ่ายไป และฝ่ายเล่าปี่ก็แยกทัพไปยึดหัวเมืองเกงจิ๋วใต้ ส่วนจิวยี่นั้นทำสงครามกับโจหยินอยู่อีกเกือบปีก็สามารถยึดเกงจิ๋วเหนือได้เกือบทั้งหมด ในศึกครั้งนี้ อุยกายได้รับการสรรเสริญชื่นชมอย่างมาก[3]
แต่โจโฉเองไม่ยอมรับผลแพ้ในการศึกครั้งนี้ เขียนจดหมายถึงซุนกวนอ้างว่าตนเองไม่ได้แพ้จิวยี่ แต่เพราะโรคระบาดจึงทำให้ต้องยกทัพกลับ และผู้ที่ออกอุบายเอาธนูจากโจโฉไม่ใช่ขงเบ้ง แต่เป็นซุนกวน เหตุการณ์นี้เกิดภายหลังศึกนี้ถึง 5 ปี (ยุทธการหับป๋า) เมื่อซุนกวนลงเรือไปสอดแนมค่ายโจโฉที่แห้ฝือ แต่ถูกทหารยามจับได้จึงเกิดการปะทะ ในครั้งนั้นทหารโจโฉยิงธนูใส่เรือซุนกวนจนเอียงไปข้างนึง ซุนกวนจึงสั่งให้หันข้างเรือไปรับธนูเพื่อถ่วงให้กลับมาตรงเหมือนเดิม จากนั้นจึงแล่นกลับ[4]
ข้อมูลสมมติ[แก้]

เนื้อเรื่องในวรรณกรรมสามก๊กมีความแตกต่างจากบันทึกทางประวัติศาสตร์หลายแห่ง เช่น มีการพูดเกินจริงว่ากองทัพโจโฉมีทหารมากกว่า 830,000 นาย ซึ่งอาจมีที่มาจากลักษณะพื้นฐานทางด้านสังคมในสมัยหลัง ๆ โดยเฉพาะในจีนสมัยราชวงศ์ซ่งทางใต้[5] บันทึกประวัติศาสตร์ระบุว่าโลซกเป็นที่ปรึกษาที่มีไหวพริบและจิวยี่เป็นผู้นำทางทหารที่มีชื่อเสียงและชายที่ "ใจกว้าง มีเหตุผล และกล้าหาญ" แต่วรรณกรรมสามก๊กระบุโลซกเป็นผู้ที่ไม่เป็นที่จดจำและจิวยี่เป็นคนที่โหดร้ายและเหยียดหยาม[6] ทั้งสองเล่มระบุเหมือนกันว่าจูกัดเหลียงมีความด้อยในทุก ๆ ด้าน[7]
วรรณกรรมได้เพิ่มเนื้อเรื่องสมมติในบันทึกทางประวัติศาสตร์ และมีการเล่นฉากนั้นซ้ำ ๆ ในโรงละครและงิ้ว เช่นจูกัดเหลียงทำอุบายใช้เวทมนตร์เรียกลมเพื่อโจมตีเรือด้วยไฟ ยุทธวิถี"ใช้เรือฟางยืมเกาทัณฑ์" และกวนอูจับและปล่อยโจโฉที่เส้นทางฮัวหยง เนื้อเรื่องสมมติระบุให้จูกัดเหลียงเป็นขุนพลกองกำลังผสม ซึ่งในทางประวัติศาสตร์นั้นไม่ถูกต้อง[8]
ในวัฒนธรรมร่วมสมัย[แก้]
- สามก๊ก โจโฉแตกทัพเรือ (Red Cliff) ภาพยนตร์ที่สร้างจากโครงเรื่องสามก๊กตอนนี้ นำแสดงโดย เหลียง เฉาเหว่ย, ทาเคชิ คาเนชิโร, จาง เฟิงอี้, หลิน จื้อหลิง กำกับโดย จอห์น วู
- ชิบิ ศึกผาแดง เกมออนไลน์ที่มีโครงเรื่องจากสามก๊กตอนนี้
อ้างอิง[แก้]
- ↑ de Crespigny 2007, p. 538.
- ↑ 2.0 2.1 "Spirit of Asia : เดินบนแผ่นดินสามก๊ก (10 ม.ค. 59)". ไทยพีบีเอส. 2016-01-10. สืบค้นเมื่อ 2017-06-15.
- ↑ 3.0 3.1 หน้า 3, "อุยกาย ผู้ชนะศึกผาแดง". "ชักธงรบ" โดย กิเลน ประลองเชิง. ไทยรัฐปีที่ 68 ฉบับที่ 21727: วันจันทร์ที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2560 แรม 9 ค่ำ เดือน 8 ปีระกา
- ↑ หน้า 12 ต่างประเทศ, ขงเบ้ง' เก่งการรบและกลศึก ? โดย ดร.ประศาสน์ ตั้งมติธรรม. "เข้าใจโลก". กรุงเทพธุรกิจปีที่ 27 ฉบับที่ 9489: วันจันทร์ที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2557
- ↑ de Crespigny 2007, p. 483.
- ↑ de Crespigny 1990, pp. 300, 305–06 29n.
- ↑ de Crespigny 1990, p. 264.
- ↑ de Crespigny 1990, pp. 260–64.
แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

- "ตามรอยสามก๊ก "ยุทธภูมิแดงที่เมืองอู่ฮั่น"". ผู้จัดการออนไลน์. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-05-16. สืบค้นเมื่อ 2009-05-23.