อองเลี้ยน
อองเลี้ยน (หวาง เหลียน) | |
---|---|
王連 | |
หัวหน้าเลขานุการของอัครมหาเสนาบดี (丞相長史 เฉิงเซี่ยงจ๋างสื่อ) | |
ดำรงตำแหน่ง ค.ศ. ? – ค.ศ. ? | |
กษัตริย์ | เล่าเสี้ยน |
หัวหน้ารัฐบาล | จูกัดเหลียง |
นายกองทหารม้าประจำการ (屯騎校尉 ถุนฉีเซี่ยวเว่ย์) | |
ดำรงตำแหน่ง ค.ศ. 223 – ค.ศ. ? | |
กษัตริย์ | เล่าเสี้ยน |
หัวหน้ารัฐบาล | จูกัดเหลียง |
ขุนพลผู้ฟื้นฟู (興業將軍 ซิงเย่เจียงจฺวิน) | |
ดำรงตำแหน่ง ค.ศ. ? – ค.ศ. ? | |
เจ้าเมืองจ๊ก (蜀郡太守 สู่จฺวิ้นไท่โฉฺ่ว) | |
ดำรงตำแหน่ง ค.ศ. ? – ค.ศ. ? | |
นายกองสำนักเกลือ (司鹽校尉 ซือเหยียนเซี่ยวเว่ย์) | |
ดำรงตำแหน่ง ค.ศ. ? – ค.ศ. ? | |
นายอำเภอกว่างตู (廣都令 กว่างตูลิ่ง) | |
ดำรงตำแหน่ง ค.ศ. ? – ค.ศ. ? | |
นายอำเภอฉือฟาง (什邡令 ฉือฟางลิ่ง) | |
ดำรงตำแหน่ง ค.ศ. 214 หรือหลังจากนั้น – ค.ศ. ? | |
นายอำเภอจื่อถง (梓潼令 จื่อถงลิ่ง) | |
ดำรงตำแหน่ง ค.ศ. ? – ค.ศ. 214 | |
ข้อมูลส่วนบุคคล | |
เกิด | ไม่ทราบ นครหนานหยาง มณฑลเหอหนาน |
เสียชีวิต | ป. ค.ศ. 223[1] |
บุตร | หวาง ชาน |
อาชีพ | ขุนนาง |
ชื่อรอง | เหวินอี๋ (文儀) |
บรรดาศักดิ์ | ผิงหยางถิงโหฺว (平陽亭侯) |
อองเลี้ยน (เสียชีวิต ป. ค.ศ. 223)[1] มีชื่อในภาษาจีนกลางว่า หวาง เหลียน (จีน: 王連; พินอิน: Wáng Lián) ชื่อรอง เหวินอี๋ (จีน: 文儀; พินอิน: Wényí) เป็นขุนนนางของรัฐจ๊กก๊กในยุคสามก๊กของจีน
ประวัติ
[แก้]อองเลี้ยนเป็นชาวเมืองลำหยง (南陽郡 หนานหยางจฺวิ้น) ซึ่งปัจจุบันอยู่บริเวณนครหนานหยาง มณฑลเหอหนาน[2] อองเลี้ยนเดินทางเข้ามณฑลเอ๊กจิ๋ว (ครอบคลุมพื้นทีของมณฑลเสฉวนและนครฉงชิ่งในปัจจุบัน) ในช่วงเวลาระหว่าง ค.ศ. 194 ถึง ค.ศ. 214 ในช่วงปลายราชวงศ์ฮั่นตะวันออก เมื่อเล่าเจี้ยงเป็นเจ้ามณฑลเอ๊กจิ๋ว อองเลี้ยนรับราชการเป็นนายอำเภอ (令 ลิ่ง) ของอำเภอจื่อถง (梓潼縣 จื่อถงเซี่ยน) ภายใต้เล่าเจี้ยงในเวลานั้น[3]
ระหว่างปี ค.ศ. 212 ถึง ค.ศ. 214[4] ขุนศึกเล่าปี่รบกับเล่าเจี้ยงในสงครามแย่งชิงมณฑลเอ๊กจิ๋ว เมื่อทัพของเล่าปี่เข้าโจมตีอำเภอจื่อถง อองเลี้ยนสั่งให้ทหารซ่อนหลังกำแพงเมืองและปิดประตู ปฏิเสธที่จะยอมจำนนต่อเล่าปี่ เล่าปี่ประทับใจอองเลี้ยนที่จงรักภักดีต่อเล่าเจี้ยง จึงยกเลิกการโจมตีอำเภอจื่อถง[5]
ในปี ค.ศ. 214[4] หลังเล่าปี่ยึดครองมณฑลเอ๊กจิ๋วสำเร็จ ได้รับอดีตผู้ใต้บังคับบัญชาของเล่าเจี้ยงส่วนใหญ่มารับราชการกับตน เวลานั้นเล่าปี่ตั้งให้อองเลี้ยนเป็นนายอำเภอของอำเภอฉือฟาง (什邡縣 ฉือฟางเซี่ยน) และภายหลังให้เป็นนายอำเภอของอำเภอกวางตู (廣都縣 กวางตูเซี่ยน; ปัจจุบันอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของเขตชฺวางหลิว นครเฉิงตู มณฑลเสฉวน) อองเลี้ยนปฏิบัติหน้าที่ได้เป็นอย่างดีและภายหลังได้เลื่อนตำแหน่งเป็นนายกองสำนักเกลือ (司鹽校尉 ซือเหยียนเซี่ยวเว่ย์) ทำหน้าที่ดูแลและควบคุมการผลิตและการค้าเกลือและเหล็ก สำนักเกลือภายใต้การนำของอองเลี้ยนมีรายได้มหาศาลจากผลกำไรและภาษี ในช่วงเวลาเดียวกันนั้นอองเลี้ยนยังเสนอชื่อผู้ใต้บังคับบัญชาบางคนที่มีศักยภาพสูง เช่น ลิหงี (呂乂 ลฺหวี่ อี้) ตอกี๋ (杜祺 ตู้ ฉี) และหลิว ก้าน (劉幹) แนะนำให้เลื่อนหรือแต่งตั้งในตำแหน่งที่สูงขึ้น[6] ภายหลังอองเลี้ยนได้รับตำแหน่งเพิ่มเติมเป็นเจ้าเมือง (太守 ไท่โฉฺ่ว) ของเมืองจ๊ก (蜀郡 สู่จฺวิ้น; ปัจจุบันอยู่บริเวณใจกลางนครเฉิงตู มณฑลเสฉวน) และขุนพลผู้ฟื้นฟู (興業將軍 ซิงเย่เจียงจฺวิน)[7]
ในปี ค.ศ. 223 หลังเล่าเสี้ยนขึ้นเป็นจักพรรดิแห่งรัฐจ๊กก๊ก อองเลี้ยนได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกองทหารม้าประจำการ (屯騎校尉 ถุนฉีเซี่ยวเว่ย์) และเป็นหัวหน้าเลขานุการ (長史 จ๋างสื่อ) ของจูกัดเหลียงผู้เป็นอัครมหาเสนาบดี (丞相 เฉิงเซี่ยง) อองเลี้ยนยังได้รับบรรดาศักดิ์เป็นผิงหยางถิงโหฺว (平陽亭侯)[8]
ในช่วงระหว่างปี ค.ศ. 223 และ ค.ศ. 224 เมื่อเกิดกบฏขึ้นในภูมิภาคหนานจงทางตอนใต้ของจ๊กก๊ก จูกัดเหลียงต้องการนำทัพจ๊กก๊กในการทัพปราบกบฏและสยบภูมิภาคหนานจงด้วยตนเอง อองเลี้ยนคัดค้านอย่างหนักแน่นกล่าวว่าจูกัดเหลียงมีสถานะที่สำคัญจึงไม่ควรเสี่ยงไปยังภูมิภาคหนานจงที่อันตราย แต่จูกัดเหลียงยืนกรานว่าจะนำการทัพด้วยตนเองเพราะกังวลว่าไม่มีขุนพลจ๊กก๊กคนใดที่มีความสามารถเพียงพอสำหรับภารกิจนี้ อย่างไรก็ตาม ความจริงใจของอองเลี้ยนก็ทำให้จูกัดเหลียงพิจารณาทบทวนอยู่หลายครั้ง[9] ก่อนที่ในที่สุดจะตัดสินใจไปในการทัพเมื่อต้นปี ค.ศ. 225[10]
อองเลี้ยนเสียชีวิตหลังจากนั้นอีกไม่นาน อาจจะเป็นราวปี ค.ศ. 223[1] หลังอองเลี้ยนเสียชีวิต หวาง ชาน (王山) บุตรชายของอองเลี้ยนสืบทอดบรรดาศักดิ์และศักดินาของบิดา หวาง ชานรับราชการเป็นขุนนางของจ๊กก๊กเช่นเดียวกับบิดา โดยมีตำแหน่งสูงสุดเป็นเจ้าเมืองเจียงหยาง (江陽郡 เจียงหยางจฺวิ้น; ปัจจุบันอยู่บริเวณนครเน่ย์เจียง มณฑลเสฉวน)[11]
ดูเพิ่ม
[แก้]อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 1.2 de Crespigny, Rafe (2007). A Biographical Dictionary of Later Han to the Three Kingdoms 23-220 AD. Leiden: Brill. p. 824. ISBN 9789004156050.
- ↑ (王連字文儀,南陽人也。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 41.
- ↑ (劉璋時入蜀,為梓潼令。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 41.
- ↑ 4.0 4.1 จือจื้อทงเจี้ยน เล่มที่ 66–67.
- ↑ (先主起事葭萌,進軍來南,連閉城不降,先主義之,不彊偪也。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 41.
- ↑ (及成都旣平,以連為什邡令,轉在廣都,所居有績。遷司鹽校尉,較鹽鐵之利,利入甚多,有裨國用,於是簡取良才以為官屬,若呂乂、杜祺、劉幹等,終皆至大官,自連所拔也。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 41.
- ↑ (遷蜀郡太守、興業將軍,領鹽府如故。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 41.
- ↑ (建興元年,拜屯騎校尉,領丞相長史,封平陽亭侯。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 41.
- ↑ (時南方諸郡不賔,諸葛亮將自征之,連諫以為「此不毛之地,疫癘之鄉,不宜以一國之望,冒險而行」。亮慮諸將才不及己,意欲必往,而連言輒懇至,故停留者乆之。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 41.
- ↑ จือจื้อทงเจี้ยน เล่มที่ 70.
- ↑ (會連卒。子山嗣,官至江陽太守。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 41.
บรรณานุกรม
[แก้]- ตันซิ่ว (ศตวรรษที่ 3). จดหมายเหตุสามก๊ก (ซานกั๋วจื้อ).
- เผย์ ซงจือ (ศตวรรษที่ 5). อรรถาธิบายจดหมายเหตุสามก๊ก (ซานกั๋วจื้อจู้).
- ซือหม่า กวาง (1084). จือจื้อทงเจี้ยน.