ลิฮก

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ลิฮก (หลี่ ฝู)
李福
รองราชเลขาธิการ (尚書僕射 ช่างชูผูเย่)
ดำรงตำแหน่ง
ค.ศ. ? (?) – ค.ศ. ? (?)
ขุนพลแผ่อำนาจ (揚威將軍 หยางเวย์เจียงจฺวิน)
ดำรงตำแหน่ง
ค.ศ. ? (?) – ค.ศ. ? (?)
แม่ทัพพื้นที่กังจิว (江州督 เจียงโจวตู)
ดำรงตำแหน่ง
ค.ศ. ? (?) – ค.ศ. ? (?)
เจ้าเมืองปาเส (巴西太守 ปาซีไท่โฉ่ว)
ดำรงตำแหน่ง
ค.ศ. 223 (223) – ค.ศ. ? (?)
กษัตริย์เล่าเสี้ยน
นายอำเภอเซงโต๋ (成都令 เฉิงตูลิ่ง)
ดำรงตำแหน่ง
ค.ศ. ? (?) – ค.ศ. 223 (223)
กษัตริย์เล่าปี่
นายอำเภอซีชงกั๋ว (西充國長)
ดำรงตำแหน่ง
ค.ศ. ? (?) – ค.ศ. ? (?)
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิดไม่ทราบ
นครเหมี่ยนหยาง มณฑลเสฉวน
เสียชีวิตไม่ทราบ
บุตรหลี่ เซียง
บุพการี
  • หลี่ เฉฺวียน (บิดา)
อาชีพขุนนาง
ชื่อรองซุนเต๋อ (孫德)
บรรดาศักดิร์ผิงหยางถิงโหว (平陽亭侯)

ลิฮก (มีบทบาทในช่วงทศวรรษ 210–230) มีชื่อในภาษาจีนกลางว่า หลี่ ฝู (จีน: 李福; พินอิน: Lǐ Fú) ชื่อรอง ซุนเต๋อ (จีน: 孫德; พินอิน: Sūndé) เป็นขุนนางของรัฐจ๊กก๊กในยุคสามก๊กของจีน[1]

ประวัติช่วงต้น[แก้]

ลิฮกเกิดในช่วงปลายราชวงศ์ฮั่นตะวันออกในอำเภอโปยเสีย (涪縣 ฝูเซี่ยน) เมืองจื่อถง (梓潼郡 จื่อถงจฺวิ้น) ซึ่งปัจจุบันคือนครเหมี่ยนหยาง มณฑลเสฉวน[2]

ในปี ค.ศ. 214 หลังจากขุนศึกเล่าปี่ยึดครองมณฑลเอ๊กจิ๋วจากเล่าเจี้ยงบุตรชายของเล่าเอี๋ยน[3] เล่าปี่ได้รับลิฮกเข้ารับใช้ตนในตำแหน่งผู้ช่วยอาลักษณ์ (書佐 ชูจั่ว) ภายหลังลิฮกขึ้นมามีตำแหน่งเป็นนายอำเภอของอำเภอซีชงกั๋ว (西充國縣 ซีชงกั๋วเซี่ยน; ทางใต้ของนครล่างจง มณฑลเสฉวนในปัจจุบัน) จากนั้นได้ไปเป็นนายอำเภอเซงโต๋ (成都令 เฉิงตูลิ่ง)[4][1]

การรับราชการกับเล่าปี่[แก้]

หลังการสิ้นสุดของยุคราชวงศ์ฮั่นตะวันออกและเริ่มต้นยุคสามก๊กในปี ค.ศ. 220 ลิฮกได้รับราชการในรัฐจ๊กก๊กซึ่งเล่าปี่ก่อตั้งในปี ค.ศ. 221 และขึ้นเป็นจักรพรรดิ[5]

ในปี ค.ศ. 223 ภายหลังจากเล่าเสี้ยนโอรสของเล่าปี่ขึ้นครองราชย์เป็นจักรพรรดิของจ๊กก๊กพระองค์ใหม่ พระองค์ตั้งให้ลิฮกมีตำแหน่งเป็นเจ้าเมืองของเมืองปาเส (巴西郡 ปาซีจฺวิ้น; อยู่บริเวณนครล่างจง มณฑลเสฉวนในปัจจุบัน) ภายหลังลิฮกได้ดำรงตำแหน่งเป็นแม่ทัพพื้นที่กังจิว (江州督 เจียงโจวตู) และขุนพลแผ่อำนาจ (揚威將軍 หยางเวย์เจียงจฺวิน) ก่อนถูกเรียกตัวกลับไปเซงโต๋นครหลวงของจ๊กก๊กเพื่อมารับตำแหน่งเป็นรองราชเลขาธิการ (尚書僕射 ช่างชูผูเย่) ในราชสำนัก ลิฮกยังได้รับบรรดาศักดิ์เป็นผิงหยางถิงโหว (平陽亭侯)[6][1]

พบจูกัดเหลียงก่อนจูกัดเหลียงเสียชีวิต[แก้]

ในปี ค.ศ. 234 จูกัดเหลียงอัครมหาเสนาบดีแห่งจ๊กก๊กนำทัพจ๊กก๊กไปทำศึกกับวุยก๊กอันเป็นรัฐอริของจ๊กก๊กเป็นครั้งที่ 5 นำไปสู่ยุทธการที่ทุ่งราบอู่จ้างระหว่างจ๊กก๊กและวุยก๊ก ราวเดือนกันยายนหรือตุลาคมของปีนั้น จูกัดเหลียงป่วยหนักระหว่างที่ทั้งสองฝ่ายตั้งคุมเชิงกันที่ทุ่งราบอู่จ้าง (ใกล้กับอำเภอฉีชาน มณฑลฉ่านซีในปัจจุบัน)[7]

ในช่วงเวลานั้น เล่าเสี้ยนจักรพรรดิจ๊กก๊กส่งลิฮกไปเยี่ยมจูกัดเหลียงเพื่อปรึกษาเกี่ยวกับแผนการเกี่ยวกับอนาคตของจ๊กก๊ก ลิฮกทำตามรับสั่งและจดสิ่งที่จูกัดเหลียงบอกตนก่อนลาออกไป อีกไม่กี่วันต่อมาระหว่างที่ลิฮกกำลังเดินทางกลับเซงโต๋ ลิฮกนึกขึ้นได้ว่าลืมถามจูกัดเหลียงในบางประเด็นจึงรีบมุ่งหน้ากลับไปยังที่ราบอู่จ้าง[8]

จูกัดเหลียงบอกกับลิฮกว่า "ข้ารู้ว่าเหตุใดท่านถึงกลับมา แม้ว่าเราจะสนทนากันยาวนานแล้วเมื่อไม่กี่วันก่อน ท่านก็ยังมีคำถามจะถามข้า 'กงเหยี่ยน[a]คือผู้ที่เหมาะสมที่สุด' คือคำตอบของคำถามที่ท่านตั้งใจจะถามข้า"[9] ลิฮกขอบคุณจูกัดเหลียงและถามว่า "จริงทีเดียว ก่อนหน้านี้ข้าพเจ้าลืมถามท่านไปว่าใครจะผู้สามารถรับช่วงดูแลกิจการของรัฐสืบต่อจากท่านได้ ข้าพเจ้าจึงกลับมา ข้าพเจ้าขออนุญาตเรียนถามต่อไปว่าใครจะสามารถรับช่วงต่อจากเจียวอ้วนได้"[10] จูกัดเหลียงตอบว่า "เหวินเหว่ย์[b] สามารถรับช่วงต่อได้" ลิฮกถามต่อไปอีกแต่จูกัดเหลียงไม่ตอบ ลิฮกจึงลาจากไปและกลับไปยังเซงโต๋[11]

เสียชีวิต[แก้]

ช่วงต้นของศักราชเหยียนซี (ค.ศ. 238–257) ในรัชสมัยของเล่าเสี้ยน เมื่อเกียงอุยขุนพลจ๊กก๊กนำทัพจ๊กก๊กเข้าโจมตีวุยก๊ก เกียงอุยแต่งตั้งให้ลิฮกเป็นผู้ควบคุมทัพ (監軍 เจียนจวิน) พร้อมด้วยยศนายกองพัน (司馬 ซือหม่า) ลิฮกเสียชีวิตในช่วงเวลานี้[12]

คำวิจารณ์[แก้]

ขุนนางจ๊กก๊กชื่อหยาง ซี่ (楊戲) ยกย่องลิฮกว่าเป็นผู้ "เด็ดขาดและชาญฉลาด" โดยเขียนยกย่องไว้ในจี้ฮั่นฝู่เฉินจ้าน (季漢輔臣贊) หนังสือรวมคำยกย่องบุคคลสำคัญในจ๊กก๊ก[13] อี้ปู้ฉีจิ้วจ๋าจี้ก็บันทึกว่าลิฮกเป็นผู้ "มีความสามารถ เฉลียวฉลาด เด็ดขาด มีไหวพริบ และสุขุมในเรื่องการเมือง"[14]

ครอบครัว[แก้]

บิดาของลิฮกชื่อหลี่ เฉฺวียน (李權) ชืี่อรอง ปั๋วยฺวี่ (伯豫) รับราชการเป็นนายอำเภอของอำเภอหลินฉฺยง (臨邛縣; ปัจจุบันคือนครฉฺยงหลาย มณฑลเสฉวน)[15] ราวปี ค.ศ. 190 เล่าเอี๋ยนเจ้ามณฑลเอ๊กจิ๋ว (ครอบคลุมพื้นที่ของมณฑลเสฉวนและนครฉงชิ่งในปัจจุบัน) เห็นว่าหลี่ เฉฺวียนและชนชั้นสูงในท้องถิ่นคนอื่น ๆ เป็นภัยคุกคามในการควบคุมมณฑลเอ๊กจิ๋วของตนจึงใส่ไคล้หลี่ เฉฺวียนและคนอื่น ๆ ให้ถูกจับกุมและประหารชีวิต[16][17]

บุตรชายของลิฮกชื่อหลี่ เซียง ชื่อรอง ชูหลง (叔龍) ก็เป็นผู้มีชื่อเสียง หลี่ เซียงรับราชการในจ๊กก๊กเช่นเดียวกับบิดาและดำรงตำแหน่งราชเลขานุการและภายหลังเป็นเจ้าเมืองก๋งฮาน (廣漢郡 กว่างฮั่นจฺวิ้น; อยู่บริเวณนครกว่างฮั่น มณฑลเสฉวนในปัจจุบัน)[18]

ดูเพิ่ม[แก้]

หมายเหตุ[แก้]

  1. กงเหยี่ยน (公琰) เป็นชื่อรองของเจียวอ้วน
  2. เหวินเหว่ย์ (文偉) เป็นชื่อรองของบิฮุย

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 1.2 de Crespigny (2007), p. 411.
  2. ([李]孫德名福,梓潼涪人也。) อรรถาธิบายในจดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 45.
  3. Sima (1084), vol. 67.
  4. (先主定益州後,為書佐、西充國長、成都令。) อรรถาธิบายในจดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 45.
  5. Sima (1084), vol. 69.
  6. (建興元年,徙巴西太守,為江州督、楊威將軍,入為尚書僕射,封平陽亭侯。) อรรถาธิบายในจดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 45.
  7. Sima (1084), vol. 72.
  8. (益部耆舊雜記曰:諸葛亮於武功病篤,後主遣福省侍,遂因諮以國家大計。福往具宣聖旨,聽亮所言,至別去數日,忽馳思未盡其意,遂却騎馳還見亮。) อรรถาธิบายจากอี้ปู้ฉีจิ้วจ๋าจี้ในจดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 45.
  9. (亮語福曰:「孤知君還意。近日言語,雖彌日有所不盡,更來亦決耳。君所問者,公琰其宜也。」) อรรถาธิบายจากอี้ปู้ฉีจิ้วจ๋าจี้ในจดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 45.
  10. (福謝:「前實失不諮請公,如公百年後,誰可任大事者?故輒還耳。乞復請,蔣琬之後,誰可任者?」) อรรถาธิบายจากอี้ปู้ฉีจิ้วจ๋าจี้ในจดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 45.
  11. (亮曰:「文偉可以繼之。」又復問其次,亮不荅。福還,奉使稱旨。) อรรถาธิบายจากอี้ปู้ฉีจิ้วจ๋าจี้ในจดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 45.
  12. (延熈初,大將軍蔣琬出征漢中,福以前監軍領司馬,卒。) อรรถาธิบายในจดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 45.
  13. (... [李]孫德果銳, ...) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 45.
  14. ([李]福為人精識果銳,敏於從政。) อรรถาธิบายจากอี้ปู้ฉีจิ้วจ๋าจี้ในจดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 45.
  15. (益部耆舊雜記曰:李權字伯豫,為臨邛長。子福。見犍為楊戲輔臣贊。) อรรถาธิบายจากอี้ปู้ฉีจิ้วจ๋าจี้ในจดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 31.
  16. ([劉]焉上書言米賊斷道,不得復通,又託他事殺州中豪強王咸、李權等十餘人,以立威刑。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 31.
  17. de Crespigny (2007), p. 421.
  18. (子驤,字叔龍,亦有名,官至尚書郎、廣漢太守。) อรรถาธิบายจากอี้ปู้ฉีจิ้วจ๋าจี้ในจดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 45.

บรรณานุกรม[แก้]

  • ตันซิ่ว (ศตวรรษที่ 3). จดหมายเหตุสามก๊ก (ซานกั๋วจื้อ).
  • เผย์ ซงจือ (ศตวรรษที่ 5). อรรถาธิบายจดหมายเหตุสามก๊ก (ซานกั๋วจื้อจู้).
  • ซือหม่า กวาง (1084). จือจื้อทงเจี้ยน.
  • de Crespigny, Rafe (2007). A Biographical Dictionary of Later Han to the Three Kingdoms 23-220 AD. Leiden: Brill. ISBN 9789004156050.