ข้ามไปเนื้อหา

แผนหลงจง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
แผนหลงจง
อักษรจีนตัวเต็ม隆中
อักษรจีนตัวย่อ隆中
ภาพวาดแสดงแผนที่ตามแผนหลงจง
จูกัดเหลียง (ขงเบ้ง) อธิบายแผนยุทธศาสตร์หลงจงให้เล่าปี่ฟัง (ภาพประกอบจากหนังสือสามก๊ก ฉบับราชบัณฑิตยสภา พ.ศ. 2487 ผลงานของเหม เวชกร)

แผนหลงจง (จีน: 隆中對; อังกฤษ: Longzhong Plan) เป็นชื่อแผนยุทธศาสตร์ของจูกัดเหลียง รัฐบุรุษของรัฐจ๊กก๊กในยุคสามก๊กของประเทศจีน จูกัดเหลียงเสนอแผนต่อเล่าปี่ ขุนศึกที่กลายเป็นจักรพรรดิผู้ก่อตั้งรัฐจ๊กก๊กราว ค.ศ. 207 ช่วงปลายราชวงศ์ฮั่นตะวันออก เมื่อเล่าปี่ได้ไปเยี่ยมเยียนจูกัดเหลียง ณ ที่พักของเขาในหลงจง (隆中) พื้นที่ทางตะวันตกของเซียงหยาง มณฑลหูเป่ย์ในปัจจุบัน[1]

แผนหลงจงเป็นพื้นฐานสำหรับการก่อตั้งรัฐจ๊กก๊ก ในสาระสำคัญ แผนกำหนดให้เล่าปี่เข้าควบคุมเกงจิ๋วและเอ๊กจิ๋ว ซึ่งครอบคลุมมณฑลหูเป่ย์ มณฑลหูหนาน มณฑลเสฉวน และฉงชิ่งในปัจจุบันตามลำดับ เพื่อใช้เป็นฐานที่มั่นสำหรับการโจมตีโจโฉและดินแดนของเขาในภาคกลางและภาคเหนือของจีน โดยแผนยังกำหนดให้เล่าปี่เป็นพันธมิตรทางกลยุทธ์กับซุนกวน ซึ่งมีฐานที่มั่นตั้งอยู่ในภาคตะวันออกของจีน

รายละเอียด

[แก้]

ประวัติของจูกัดเหลียงในเอกสารทางประวัติศาสตร์จดหมายเหตุสามก๊กที่เขียนโดยตันซิ่วในปลายศตวรรษที่ 3 บันทึกรายละเอียดการสนทนาส่วนตัวระหว่างเขากับเล่าปี่ในบ้านของเขาในหลงจง เล่าปี่พูดว่า

"ราชวงศ์ฮั่นกำลังตกต่ำ ขุนนางที่ชั่วร้ายแย่งชิงอำนาจ ในขณะที่จักรพรรดิถูกบังคับให้ลี้ภัย ข้าอาจไม่คู่ควรทั้งกำลังและคุณธรรม แต่ยังอยากรักษาความยุติธรรมและความชอบธรรมในจักรวรรดิ อย่างไรก็ตาม ข้าไม่ฉลาดและสุขุมพอ นั่นเป็นเหตุผลที่ข้าประสบกับความพ่ายแพ้ซ้ำแล้วซ้ำเล่าและจบลงด้วยสถานการณ์ปัจจุบันของข้า ถึงอย่างไรก็ตาม ข้าไม่ได้เบี่ยงเบนไปจากความตั้งใจเริ่มต้นของข้าหรือยอมแพ้ต่อความทะเยอทะยานของข้า ท่านคิดว่าข้าจะทำอะไรได้บ้าง?"[2]

จูกัดเหลียงได้ตอบกลับ

"ตั้งแต่ตั๋งโต๊ะแย่งชิงอำนาจ ขุนศึกมากมายทั่วทั้งจักรวรรดิก็ลุกขึ้น ยึดและควบคุมดินแดน[3]

โจโฉด้อยกว่าอ้วนเสี้ยวในแง่ของชื่อเสียงและอำนาจทางทหาร แต่เขาสามารถเอาชนะอ้วนเสี้ยวและเปลี่ยนจากผู้อ่อนแอเป็นขุนศึกที่ทรงพลัง ไม่ได้เกิดจากสถานการณ์ที่เอื้ออำนวยเท่านั้นแต่ยังรวมถึงสติปัญญาและภูมิปัญญาด้วย โจโฉนำทัพหลายแสนนายและใช้พระนามของจักรพรรดิในการบังคับขุนศึกคนอื่น ท่านสู้เขาไม่ได้แน่นอน[4]

ซุนกวนปกครองกังตั๋งและครอบครัวของเขาได้ควบคุมภูมิภาคนี้มาสามชั่วอายุคน เขามีข้อได้เปรียบทางภูมิศาสตร์ หัวใจของประชาชน และการสนับสนุนจากที่ปรึกษาที่ฉลาดและมีความสามารถมากมาย ท่านควรพยายามติดต่อและรวมกันเป็นพันธมิตรกับเขาแทนที่จะพยายามพิชิตดินแดนของเขา[5]

ส่วนเกงจิ๋วมีอุปสรรคทางภูมิศาสตร์ตามธรรมชาติเช่น แม่น้ำหันและแม่น้ำเหมี่ยน ในภาคเหนือ"

แผนการดังกล่าวคาดการณ์ว่าเล่าปี่จะเข้ายึดครองเกงจิ๋วและเอ๊กจิ๋ว ซึ่งทั้งสองดินแดนถูกปกครองโดยขุนศึกนามว่า เล่าเปียวและเล่าเจี้ยง แผนหลงจงได้ระบุว่า โจโฉได้ควบคุมพื้นที่ที่ราบแผ่นดินจีนทางตอนเหนือ ซึ่งเป็นกุญแจที่สำคัญในการปกครองแผ่นดินจีน และซุนกวนได้ครอบครองพื้นที่แม่น้ำแยงซีตอนล่างที่เรียกว่า "กังตั๋ง" ด้วยเหตุนี้ การมุ่งเป้าไปที่การครอบครองเกงจิ๋วและเอ๊กจิ๋วจึงความสำคัญต่อความสำเร็จ โครงร่างที่สำคัญของแผนดังกล่าวถือว่าเป็นการมองการณ์ไกลอย่างน่าทึ่งในความตั้งใจที่จะแบ่งแยกแผ่นดินจีนออกเป็นสามส่วน แง่มุมที่สำคัญอื่น ๆ ของแผนดังกล่าวคือข้อเสนอสำหรับการก่อตั้งเป็นพันธมิตรกับซุนกวนเพื่อยับยั้งและต่อต้านโจโฉ ส่วนแง่มุมเพียงเล็กน้อยอื่น ๆ ได้แก่ การปฏิรูปสถาบันของเศรษฐกิจ กฎหมาย และการบริหารปกครอง ตลอดจนถึงการพัฒนาความสัมพันธ์อันดีกับชาวจีนที่ไม่ใช่ชาวฮั่นซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันตกและใต้ นโยบายดังกล่าวจะเป็นการลดการต่อต้านและเพิ่มกำลังคนและทรัพยากรทางเศรษฐกิจที่จำเป็นอย่างมาก ข้อสุดท้ายคือการทัพทางเหนือแบบสองง่ามซึ่งจะสิ้นสุดลงในการเข้ายึดที่ราบแผ่นดินจีนทางตอนเหนือและสถานปนาราชวงศ์ฮั่นขึ้นมาใหม่อีกครั้ง

การเข้ารุกทางหนึ่งจะมาจากเอ๊กจิ๋วทางตะวันตก ทางเหนือผ่านเทือกเขาฉินซึ่งเป็นปากทางน้ำเข้าสู่หุบเขาแม่น้ำเว่ย และบรรลุตำแหน่งทางยุทธศาสตร์ทางตะวันตกเพื่อครอบงำส่วนโค้งที่ยิ่งใหญ่ของแม่น้ำเหลืองและภูมิภาคกวนจง การรุกทางที่สองจะมาจากเกงจิ๋วทางตอนเหนือสู่ลั่วหยาง เมืองหลวงเก่าของราชวงศ์ฮั่น และพื้นที่ที่ราบโดยรอบ การทัพดังกล่าวน่าจะเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่เหมาะสมของการทำให้ระบอบการปกครองของโจโฉแทบจะไร้เสถียรภาพ แต่ไม่ได้ระบุช่วงเวลาดังกล่าว และไม่ได้ระบุถึงบทบาทของซุนกวนในการรุก แม้ว่าจะมีการสันนิษฐานได้ว่าเขาจะทำการตรึงกองทัพของโจโฉบางส่วนเพียงเล็กน้อย

ตั้งแต่ ค.ศ. 214 เป็นต้นมา เล่าปี่ได้เข้าควบคุมทั้งเกงจิ๋วและเอ๊กจิ๋ว ภายหลังจากเข้ายึดครองเอ๊กจิ๋วของเล่าเจี้ยงแล้วใน ค.ศ. 219 เขาได้มีชัยเหนือโจโฉและเข้ายึดครองจังหวัดฮันต๋ง ในฤดูใบไม้ร่วงนั้น กวนอู ผู้บัญชาการทหารของเขาในเกงจิ๋วได้เข้าโจมตีทางเหนือของตำแหน่งของโจโฉบนแม่น้ำฮัน การรุกนี้อาจเป็นส่วนหนึ่งของแผนการโจมตีแบบสองง่าม ในช่วงเวลาสองสามเดือนแรก การโจมตีของกวนอูประสบความสำเร็จอย่างน่าทึ่ง และโจโฉยังต้องคิดที่จะทำการอพยพย้ายเมืองหลวงจักรวรรดิ สวีชาง(นครฮูโต๋) อย่างไรก็ตาม ณ จุดนี้ ซุนกวนได้ฉวยโอกาสนี้ในการจู่โจมแบบไม่ทันตั้งตัวและเข้ายึดครองเกงจิ๋วอย่างรวดเร็ว เล่าปี่ได้พยายามที่จะเข้ายึดครองเกงจิ๋วกลับคืนมาซึ่งจบลงด้วยความล้มเหลวในยุทธการที่อิเหลง ค.ศ. 222-223 และเสียชีวิตในภายหลังจากนั้นไม่นาน แม้ว่าจะสูญเสียเกงจิ๋วไป จูกัดเหลียงได้พยายามที่จะดำเนินแก้ไขแผนหลงจงในรูปแบบของการบุกขึ้นเหนือ แม้ว่าจะเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ว่าการทัพเหล่านั้นต่างมีเป้าหมายทางยุทธศาสตร์และยุทธวิธีที่แตกต่างกัน

อ้างอิง

[แก้]
  1. (漢晉春秋曰:亮家于南陽之鄧縣,在襄陽城西二十里,號曰隆中。) Han Jin Chunqiu annotation in Sanguozhi vol. 35.
  2. (因屏人曰:「漢室傾頹,姧臣竊命,主上蒙塵。孤不度德量力,欲信大義於天下,而智術淺短,遂用猖獗,至于今日。然志猶未已,君謂計將安出?」) Sanguozhi vol. 35.
  3. (自董卓已來,豪傑並起,跨州連郡者不可勝數。) Sanguozhi vol. 35.
  4. (曹操比於袁紹,則名微而衆寡,然操遂能克紹,以弱為彊者,非惟天時,抑亦人謀也。今操已擁百萬之衆,挾天子而令諸侯,此誠不可與爭鋒。) Sanguozhi vol. 35.
  5. (孫權據有江東,已歷三世,國險而民附,賢能為之用,此可與為援而不可圖也。) Sanguozhi vol. 35.