รายการเรื่องแต่งในสามก๊ก
ต่อไปนี้เป็นรายการเนื้อเรื่องที่แต่งเสริมตามลำดับเหตุการณ์ในนวนิยายอิงประวัติศาสตร์ในศตวรรษที่ 14 เรื่องสามก๊ก (ซานกั๋วเหยี่ยนอี้) ซึ่งเป็นหนึ่งในสี่สุดยอดวรรณกรรมจีน แม้ว่านวนิยายสามก๊กเป็นเป็นการเล่าถึงการล่มสลายของราชวงศ์ฮั่นตะวันออกและสืบต่อด้วยยุคสามก๊กด้วยเขียนเรื่องราวแบบยวนใจและเสริมแต่งเรื่องในเชิงนวนิยายอย่างมาก แต่ด้วยความนิยมชมชอบที่แพร่หลาย จึงทำให้หลายคนเข้าใจผิดว่าสามก๊กเป็นบันทึกเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ในยุคนั้นอย่างเที่ยงตรง แหล่งข้อมูลปฐมภูมิของประวัติศาสตร์ยุคสามก๊กคือจดหมายเหตุสามก๊ก (ซานกั๋วจื้อหรือสามก๊กจี่) ที่เขียนโดยตันซิ่ว (เฉิน โช่ว) รวมถึงอรรถาธิบายจดหมายเหตุสามก๊ก (ซานกั๋วจื้อจู้) โดยเผย์ ซงจือที่นำมาจากบันทึกทางประวัติศาสตร์เช่นเว่ย์เลฺว่และเจียงเปี่ยวจฺว้าน (江表傳) ของยฺหวี หฺว่าน แหล่งข้อมูลอื่น ๆ ที่ครอบคลุมประวัติศาสตร์ในยุคนั้นได้แก่ โฮ่วฮั่นชู (พงศาวดารราชวงศ์ฮั่นยุคหลัง) ของฟ่าน เย่ และ จิ้นชู (พงศาวดารราชวงศ์จิ้น) ของฝาง เสฺวียนหลิง เนื่องจากสามก๊กเป็นนวนิยายอิงประวัติศาสตร์ เรื่องราวหลายเรื่องในนวนิยายจึงเป็นเนื้อเรื่องที่แต่งเสริมขึ้น หรืออิงจากนิทานพื้นบ้าน หรืออิงมาจากเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นในยุคสมัยอื่น ๆ ของประวัติศาสตร์จีน ต่อไปนี้เป็นรายการที่ยังไม่สมบูรณ์ของเรื่องราวที่เป็นที่รู้จักกันดีในนวนิยายสามก๊ก แต่ละเรื่องราวมีคำอธิบายความแตกต่างระหว่างเนื้อเรื่องนวนิยายและบันทึกในหลักฐานทางประวัติศาสตร์
คำสาบานในสวนท้อ
[แก้]เตียวหุยเฆี่ยนต๊กอิ้ว
[แก้]หลังเล่าปี่ได้รับการแต่งตั้งเป็นนายอำเภออันห้อกวนจากความชอบในการปราบปรามโจรโพกผ้าเหลือง ต๊กอิ้ว (ตำแหน่งผู้ตรวจการของราชสำนัก) ได้เดินทางมายังอำเภออันห้อกวนและเรียกร้องสินบนจากเล่าปี่ แต่เล่าปี่ไม่ยอมจ่ายสินบนให้ต๊กอิ้ว ต๊กอิ้วจึงนำปลัดอำเภอมาเฆี่ยนเพื่อบังคับให้ใส่ร้ายเล่าปี่ เตียวหุยทราบข่าวก็โกรธมาก จึงบุกเข้าจับตัวต๊กอิ้วออกมา เอาผมต๊กอิ้วผูกกับหลักม้า แล้วจึงเฆี่ยนต๊กอิ้วอย่างสาหัส เล่าปี่เข้ามาห้ามเตียวหุยให้หยุดเฆี่ยน ฝ่ายกวนอูได้แนะนำเล่าปี่ให้ฆ่าต๊กอิ้วเสียแล้วไปอยู่ที่อื่น เล่าปี่ปฏิเสธที่จะฆ่าต๊กอิ้ว ทำเพียงลาออกจากตำแหน่งนายอำเภอพร้อมคืนตราประจำตำแหน่งให้ต๊กอิ้ว แล้วเดินทางออกจากอำเภออันห้อกวนไป [1]
- ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์
ในจดหมายเหตุสามก๊ก บทชีวประวัติเล่าปี่ ได้บันทึกไว้ว่าตัวเล่าปี่เองเป็นผู้เฆี่ยนต๊กอิ้ว ในจดหมายเหตุระบุไว้ว่าต๊กอิ้วปฏิเสธที่จะให้เล่าปี่เข้าพบแล้วอ้างว่าตนเองป่วย แต่เล่าปี่กลับบุกเข้าไปในห้องของต๊กอิ้วแล้วลากออกมาผูกกับต้นไม้ แล้วโบยตีกว่าร้อยครั้ง [2]
โจโฉมอบมีด
[แก้]โจโฉอาสาอ้องอุ้นจะไปลอบสังหารตั๋งโต๊ะ โดยได้ขอยืมมีดสั้นของอ้องอุ้นไปใช้ในการสังหาร วันถัดมาโจโฉได้ซ่อนมีดไว้ในเสื้อแล้วเข้าพบตั๋งโต๊ะถึงห้อง โจโฉคิดจะใช้มีดแทงระหว่างที่ตั๋งโต๊ะนอนหันหลังให้ แต่ตั๋งโต๊ะมองเห็นโจโฉถือมีดจากภาพสะท้อนในกระจกจึงหันกลับมาถามโจโฉ โจโฉเห็นการไม่สมความคิดจึงรีบคุกเข่าและยื่นมีดมอบให้ตั๋งโต๊ะอ้างว่าจะมอบเป็นของขวัญให้ตั๋งโต๊ะ หลังจากนั้นโจโฉเห็นว่าอยู่ในเมืองลกเอี๋ยงต่อไปเห็นจะเป็นอันตราย จึงหลบหนีกลับไปบ้านเกิด[3]
- ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์
ในจดหมายเหตุสามก๊ก บทชีวประวัติโจโฉ ได้ระบุไว้ว่า ตั๋งโต๊ะต้องการแต่งตั้งให้โจโฉมีตำแหน่งนายพันทหารม้า (驍騎校尉 เซียวฉีเซี่ยวเหว่ย์) และชักชวนโจโฉมาเป็นพวก โจโฉปฏิเสธแล้วปลอมตัวหนีกลับบ้านเกิด [4] ไม่มีการการกล่าวถึงการพยายามลอบสังหารตั๋งโต๊ะของโจโฉก่อนที่จะหลบหนี
ตันก๋งจับและปล่อยตัวโจโฉ
[แก้]โจโฉหนีจากเมืองลกเอี๋ยงหลังการลอบสังหารตั๋งโต๊ะล้มเหลว ตั๋งโต๊ะสั่งให้ออกประกาศจับโจโฉไปทุกพื้นที่รอบลกเอี๋ยง ระหว่างที่หลบหนี โจโฉถูกจับได้ที่อำเภอจงพวนแล้วถูกคุมตัวไปให้ตันก๋งผู้เป็นนายอำเภอ ตันก๋งลอบมาสนทนากับโจโฉแล้วประทับใจในอุดมการณ์ของโจโฉ จึงตัดสินใจที่จะปล่อยโจโฉ อีกทั้งยังยอมสละตำแหน่งนายอำเภอจงพวนเพื่อติดตามโจโฉไปด้วย [5]
- ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์
ในจดหมายเหตุสามก๊ก บทชีวประวัติโจโฉ ระบุว่า เมื่อโจโฉผ่านอำเภอจงพวน ได้ถูกนายบ้านคนหนึ่งสงสัยจับกุมตัวส่งไปที่ทำการอำเภอ แต่โจโฉก็ถูกปล่อยตัวไปในภายหลัง [6] ไม่มีหลักฐานที่บ่งบอกว่าโจโฉพยายามที่จะลอบสังหารตั๋งโต๊ะก่อนที่จะถูกจับกุมที่อำเภอจงพวน และชื่อของนายบ้านที่จับกุมโจโฉก็ไม่ได้ถูกบันทึกไว้
โจโฉสังหารแปะเฉีย
[แก้]ด้วยความช่วยเหลือของตันก๋งทำให้โจโฉรอดชีวิตและเดินทางกลับบ้านเกิดโดยมีตันก๋งติดตามไปด้วย ในระหว่างทางโจโฉได้แวะพักที่บ้านของแปะเฉีย เพื่อนของพ่อโจโฉ แปะเฉียได้ให้ที่พักพร้อมจัดสุราเลี้ยงแต่ในบ้านไม่มีสุราจึงออกจากบ้านไปซื้อสุรา ปล่อยให้โจโฉและตันก๋งพักผ่อน ในขณะที่ทั้งสองกำลังงีบหลับก็ได้ยินเสียงมีดลับ โจโฉได้พิจารณาและนึกคิดว่า แปะเฉียคิดคดทรยศหวังอยากได้เงินรางวัล เลยคิดจะจับพวกตนไปยังเมืองหลวง จึงได้ชักชวนตันก๋งให้ร่วมมือกันสังหารบ่าวและคนในครอบครัวของแปะเฉียเสียก่อนที่จะฆ่าพวกตน หลังจากทั้งสองได้สังหารทั้งหมดกลับปรากฏว่าเป็นความเข้าใจผิด เพราะพวกเขากำลังเตรียมฆ่าหมูเพื่อจัดเลี้ยงต่างหาก โจโฉและตันก๋งเห็นท่าไม่ดีจึงรีบออกจากบ้านแต่ทว่ากลับพบกับแปะเฉียซะก่อน แปะเฉียได้ชักชวนกลับไปพักที่บ้าน แต่โจโฉกลับสังหารลงในที่สุด
- ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์
ในจดหมายเหตุสามก๊ก บทชีวประวัติโจโฉ ระบุว่า โจโฉได้หลบหนีตั๋งโต๊ะไปยังบ้านเกิด ระหว่างทางได้ไปพักที่บ้านแปะเฉีย ซึ่งแปะเฉียไม่อยู่บ้าน แต่บรรดาบุตรได้ต้อนรับและให้ที่พักเป็นอย่างดี แต่แท้จริงแล้วบรรดาบุตรแปะเฉียและบ่าวรับใช้รวมหัวกันหวังจะจับโจโฉไปมอบให้แก่เมืองหลวง โจโฉรู้ทันจึงได้ทำการสังหารหมู่บรรดาบุตรแปะเฉียและบ่าวรับใช้พร้อมครอบครัวของแปะเฉียจนหมดสิ้น หลังจากนั้นก็หลบหนีไป ส่วนแปะเฉียเดินทางกลับบ้านก็พบว่าครอบครัวถูกสังหารหมดสิ้นจึงเสียใจและตรอมใจตาย
กวนอูสังหารฮัวหยง
[แก้]ศึกด่านเฮาโลก๋วน
[แก้]ศึกเอ๊งหยง
[แก้]ลิโป้และเตียวเสียน
[แก้]เตียวเสียน เป็นตัวละครที่ถูกแต่งเสริมเข้ามาในวรรณกรรม อ้องอุ้นผู้เป็นบิดาบุญธรรมของเตียวเสียน ได้ออกอุบายให้เตียวเสียนไปยุให้ตั๋งโต๊ะและลิโป้ขัดแย้งกัน และสามารถทำให้ลิโป้สังหารตั๋งโต๊ะได้เป็นผลสำเร็จ [7]
- ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์
ในจดหมายเหตุสามก๊ก บทชีวประวัติลิโป้ และใน โฮ่วฮั่นซู ได้บันทึกว่าลิโป้ลอบมีความสัมพันธ์กับสาวใช้คนหนึ่งของตั๋งโต๊ะ แล้วกลัวว่าตั๋งโต๊ะจะจับได้ [8] นอกจากนี้ ลิโป้ยังไม่พอใจตั๋งโต๊ะที่เคยขว้างทวนใส่เพื่อระบายโทสะ แต่ลิโป้หลบได้ [9] ไม่มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่ระบุแน่ชัดถึงชื่อของสาวใช้ของตั๋งโต๊ะว่ามีชื่อว่า "เตียวเสียน" ชื่อของ "เตียวเสียน" นั้นเป็นไปได้ว่าอาจจะมีที่มาจาก "เตียว" ที่หมายถึงสัตว์สี่เท้าชนิดหนึ่งคล้ายกระรอก มีหางเป็นพวงสวย นิยมนำมาใช้ทำพู่ประดับหมวก และ "เสียน" ที่หมายถึงจักจั่น ซึ่งจีนโบราณนิยมทำจักจั่นทองคำเป็นเครื่องประดับ [10]
ศึกแห้ฝือ
[แก้]เงื่อนไขสามประการของกวนอู
[แก้]โจโฉและเล่าปี่ร่วมกันตีลิโป้ที่ชีจิ๋ว (徐州) และเอาชนะจับตัวลิโป้ประหารได้ในศึกแห้ฝือ โจโฉได้แต่งตั้งกีเหมาเป็นผู้ว่าราชการแคว้นชีจิ๋วแทนลิโป้ ภายหลังเล่าปี่ตัดขาดกับโจโฉแล้วเข้ายึดครองชีจิ๋วหลังกวนอูสังหารกีเหมา โจโฉจึงนำทัพไปตีเล่าปี่และเพื่อยึดชีจิ๋วคืน ในการรบครั้งหนึ่ง เล่าปี่และเตียวหุยนำทัพไปปล้นค่ายโจโฉ แต่ถูกซ้อนกลโดนซุ่มโจมตี ต่างคนต่างก็หนีไปคนละทางในระหว่างชุลมุน ฝ่ายกวนอูซึ่งอยู่รักษาเมืองแห้ฝือ แต่ถูกลวงให้ออกมาจากเมืองและถูกล้อมไว้บนเนินเขาแห่งหนึ่ง โจโฉยึดแห้ฝือที่สำเร็จแล้วให้ทหารรักษาครอบครัวของเล่าปี่ไว้ โจโฉส่งเตียวเลี้ยวไปเกลี้ยกล่อมกวนอูให้ยอมจำนน กวนอูยอมจำนนโดยเสนอเงื่อนไขสามข้อให้โจโฉดังนี้
- กวนอูสวามิภักดิ์ต่อพระเจ้าเหี้ยนเต้ ไม่ใช่สวามิภักดิ์ต่อโจโฉ
- ภรรยาของเล่าปี่สองคนคือกำฮูหยินและบิฮูหยิน ซึ่งเป็นพี่สะใภ้ของกวนอูจะต้องไม่ได้รับอันตรายและได้รับการปรนนิบัติอย่างดี
- หากได้ข่าวว่าเล่าปี่อยู่ที่ใด กวนอูจะไปหาเล่าปี่ทันที
โจโฉยอมรับเงื่อนไขสามข้อ กวนอูจึงอยู่รับราชการกับโจโฉชั่วคราว ก่อนจะกลับไปหาเล่าปี่ในภายหลัง[11]
- ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์
ในจดหมายเหตุสามก๊ก บทชีวประวัติกวนอู ได้ระบุว่า เล่าปี่เข้าตีแคว้นชีจิ๋วอย่างฉับพลันไม่ให้กีเหมาทันตั้งตัวแล้วสังหารกีเหมา จากนั้นจึงให้กวนอูไปรักษาเมืองแห้ฝือ ส่วนตัวเล่าปี่ไปรักษาเมืองเสียวพ่าย ในปี ค.ศ. 200 โจโฉนำทัพเข้าตีเล่าปี่แตกพ่าย เล่าปี่หนีไปพึ่งอ้วนเสี้ยว ส่วนกวนอูถูกทหารโจโฉจับตัวได้แล้วถูกนำตัวไปเมืองฮูโต๋ โจโฉตั้งให้กวนอูเป็นขุนพลเพียนเจียงจวิน (偏將軍) และปฏิบัติต่อกวนอูอย่างดี[12] ไม่มีการกล่าวถึงการยอมจำนนของกวนอู รวมถึงเรื่องที่กวนอูเสนอเงื่อนไขสามข้อในการยอมจำนน
กวนอูสังหารงันเหลียงและบุนทิว
[แก้]ก่อนศึกกัวต๋อระหว่างอ้วนเสี้ยวและโจโฉ ทั้งสองฝ่ายได้ปะทะกันสองครั้งในยุทธการที่แปะแบ๊และยุทธการที่ท่าน้ำเหยียนจิน อ้วนเสี้ยวส่งขุนพลงันเหลียงมาโจมตีทัพโจโฉที่แปะเบ๊ ระหว่างการศึก ขุนพลชาญศึกฝ่ายโจโฉอย่างซิหลงไปรบกับงันเหลียงแต่แพ้กลับมา โจโฉจึงให้ไปตามกวนอูมารบกับงันเหลียง กวนอูมีชัยสามารถสังหารงันเหลียงได้ บุนทิวอีกหนึ่งขุนพลของอ้วนเสี้ยวได้ยกทัพมาภายหลังเพื่อแก้แค้นให้งันเหลียงแต่ก็ถูกกวนอูสังหารตามไป [13]
- ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์
ในจดหมายเหตุสามก๊ก บทชีวประวัติกวนอู ได้ระบุไว้ว่าอ้วนเสี้ยวสั่งให้งันเหลียงยกทัพไปล้อมเล่าเอี๋ยนขุนพลฝ่ายโจโฉที่แปะแบ๊ โจโฉจึงส่งเตียวเลี้ยวและกวนอูให้นำทัพหน้าไปโจมตีงันเหลียง ระหว่างการรบกวนอูได้สังเกตเห็นงันเหลียงจึงบุกฝ่าทหารงันเหลียงเข้าไปถึงตัวงันเหลียงแล้วสังหาร จากนั้นจึงตัดศีรษะงันเหลียงกลับมา ขุนพลของอ้วนเสี้ยวคนอื่นไม่อาจต้านทานได้ กวนอูสลายการล้อมที่แปะเบ๊ได้สำเร็จ [14]
ส่วนในบทชีวประวัติอ้วนเสี้ยวของ จดหมายเหตุสามก๊ก ได้ระบุไว้ว่า หลังงันเหลียงตาย ทหารอ้วนเสี้ยวนำโดยเล่าปี่และบุนทิวได้ข้ามแม่น้ำฮองโหมาที่ด้านใต้ของตำบลเหยียนจิน แล้วถูกทหารโจโฉโจมตีแตกพ่าย บุนทิวถูกสังหารในการรบ แต่ไม่ได้ระบุว่าถูกสังหารโดยกวนอู [15]
กวนอูฝ่าห้าด่านสังหารหกขุนพล
[แก้]กวนอูได้ข่าวว่าเล่าปี่ยังมีชีวิตอยู่และขณะนั้นอยู่ด้วยอ้วนเสี้ยว จึงตัดสินใจลาโจโฉกลับไปหาเล่าปี่พร้อมด้วยภรรยาทั้งสองคนของเล่าปี่ กวนอูพยายามเข้าพบโจโฉเพื่อคำนับลาแต่โจโฉไม่ยอมให้กวนอูเข้าพบแสร้งทำเป็นป่วย กวนอูจึงเขียนหนังสือลาให้โจโฉแล้วเดินทางจากไป โดยไม่ได้นำทรัพย์สินสิ่งของใดๆที่โจโฉมอบให้ติดตัวไป เว้นแต่ม้าเซ็กเธาว์เท่านั้น กวนอูยังได้สละบรรดาศักดิ์ "ฮั่นสือแต่งเฮา" (ฮั่นโซ่วถิงโหว) แล้วทิ้งตราประจำตำแหน่งไว้ เหล่าผู้ใต้บังคับบัญชาของโจโฉต่างไม่พอใจกวนอูที่แสดงกิริยาโอหังที่จากไปโดยไม่มาคำนับลา จากอาสาโจโฉจะไปไล่ตามจับกวนอูกลับมา โจโฉไม่อนุญาตเพราะรู้ดีว่าไม่มีใครที่สามารถหยุดกวนอูไว้ได้
กวนอูขี่ม้าคุ้มครองรถของพี่สะใภ้ทั้งสองเดินทางไปจนถึงด่านแรกคือด่านตังเหลงก๋วนซึ่งมีนายด่านชื่อขงสิ้ว ซึ่งได้ห้ามกวนอูไม่ให้ผ่านด่านไปเพราะกวนอูไม่มีหนังสือเบิกด่าน กวนอูโมโหจึงสังหารขงสิ้วแล้วเดินทางผ่านด่านตังเหลงก๋วนไป
ต่อมากวนอูคุมรถพี่สะใภ้เดินทางมาถึงเมืองลกเอี๋ยง ฮันฮกผู้รักษาเมืองลกเอี๋ยงได้นำทหารหนึ่งพันนายออกมาสกัดกวนอู ฮันฮกให้เบงทันขุนพลผู้ช่วยไปท้ารบกับกวนอู แต่เบงทันก็ถูกกวนอูฟันตัวขาดเป็นสองท่อนถึงแก่ความตาย ระหว่างที่กวนอูรบกับเบงทัน ฮันฮกได้ลอบยิงเกาทัณฑ์ใส่กวนอู ลูกเกาทัณฑ์ไปถูกไหล่ซ้ายของกวนอู กวนอูจึงชักลูกเกาทัณฑ์ออก แล้วขับม้าตรงไปสังหารฮันฮก ทหารฮันฮกตกใจต่างหลีกทางให้กวนอูผ่านด่านไป
คณะของกวนอูเดินทางมาถึงด่านกิสุยก๋วน นายด่านชื่อเปี๋ยนฮีออกมาต้อนรับกวนอูเข้ามาในด่านแล้วเชิญกวนอูมากินโต๊ะที่วัดตีนก๊กซือ แต่แท้จริงแล้วเปี๋ยนฮีได้แอบสั่งทหารสองร้อยนายให้ซุ่มอยู่ในวัดแล้วให้รุมฆ่ากวนอูเมื่อเปี๋ยนฮีให้สัญญาณ หลวงจีนของวัดตีนก๊กซือชื่อเภาเจ๋งผู้ซึ่งเป็นคนบ้านเดียวกันกับกวนอูได้บอกใบ้กวนอูให้รู้ว่าเปี๋ยนฮีคิดทำร้าย กวนอูรู้ความดังนั้นจึงสังหารเปี๋ยนฮีแล้วผ่านด่านกิสุยก๋วนไป
คณะของกวนอูเดินทางต่อไปถึงเมืองเอ๊งหยง (เอี๋ยงหยง) อองเซ็ก นายด่านเอ๊งหยงได้ใช้อุบายคล้ายๆกับเปี๋ยนฮีในการจะสังหารกวนอู โดยการทำเป็นต้อนรับกวนอูเข้ามาในเมืองแล้วให้พักในที่พักรับรอง หลังจากนั้นอองเซ็กจึงสั่งให้ทหารในบัญชาชื่องอปั้นให้นำทหารหนึ่งพันนายมาล้อมที่พักรับรองของกวนอูแล้วจุดไฟเผาในตอนกลางคืน งอปั้นสงสัยว่ากวนอูมีลักษณะอย่างไรจึงเข้าไปแอบดูกวนอูที่กำลังอ่านหนังสืออยู่ในห้อง กวนอูสังเกตเห็นงอปั้นจึงเชิญให้เข้ามา ก่อนหน้านี้กวนอูเคยพบงอหัวบิดาของงอปั้นซึ่งได้ฝากหนังสือถึงงอปั้นไว้กับกวนอู กวนอูได้มอบหนังสือจากงอหัวให้แก่งอปั้น หลังงอปั้นอ่านหนังสือก็ตัดสินใจที่จะช่วยกวนอูให้พ้นอันตรายจึงเปิดเผยแผนการของอองเซ็กให้กวนอูฟังแล้วไปลอบเปิดประตูเมืองให้กวนอูและคณะหนีออกไป ภายหลังอองเซ็กรู้ว่ากวนอูหนีไปจึงนำทหารไล่ตามแต่ก็ถูกกวนอูสังหารในที่สุด
ท้ายที่สุดคณะของกวนอูก็เดินทางมาถึงท่าเรือข้ามฟากฝั่งใต้ของแม่น้ำฮองโห ขุนพลจินกี๋ได้ยกมาสกัดกวนอูไม่ให้ข้ามแม่น้ำ กวนอูโมโหจึงฆ่าจินกี๋ กวนอูข้ามแม่น้ำมาได้แล้วล่วงเข้าเขตแดนของอ้วนเสี้ยว ต่อมากวนอูได้รู้ข่าวว่าเล่าปี่ไม่ได้อยู่ด้วยกับอ้วนเสี้ยวแล้วและได้ออกไปอยู่ที่ยีหลำ กวนอูจึงนำคณะเดินทางไปทางยีหลำ แล้วได้พบกับเล่าปี่และเตียวหุยอีกครั้งที่เมืองเก๋าเซีย
ระหว่างการเดินทาง กวนอูได้พบคนมากมายที่ต่อมาได้มาเป็นลูกน้องในบังคับบัญชา ได้แก่ เลียวฮัว จิวฉอง และ กวนเป๋ง (ซึ่งมาเป็นบุตรบุญธรรมของกวนอู) [16]
- ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์
ในจดหมายเหตุสามก๊ก บทชีวประวัติกวนอู มีการบันทึกถึงเรื่องที่กวนอูลาจากโจโฉไป รวมถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนที่กวนอูจะจากไป [17] แต่ไม่มีการกล่าวถึงเหตุการณ์ที่กวนอูฝ่าห้าด่าน รวมถึงเรื่องราวเกี่ยวนายด่านทั้งหกคน (ขงสิ้ว ฮันฮก เบงทัน เปี๋ยนฮี อองเซ็ก และจินกี๋) ก็ไม่มีการกล่าวถึง
อุบายของกุยแกในการสยบเลียวตั๋ง
[แก้]กวนอูสังหารซัวหยงที่เก๋าเซีย
[แก้]หลังกวนอูฝ่าห้าด่านสังหารหกขุนพล ก็ได้พบเตียวหุยที่เก๋าเซีย (古城) เมื่อแรกพบนั้นเตียวหุยสงสัยกวนอูว่าทรยศต่อคำสาบานเป็นพี่น้องแล้วไปเข้าด้วยโจโฉแล้ว แม้ภรรยาของเล่าปี่ทั้งสองคนจะพยายามอธิบาย แต่เตียวหุยก็ไม่ฟังแล้วจะเข้าสู้กับกวนอู ขณะเดียวกันขุนพลของโจโฉชื่อซัวหยงก็นำทัพตรงมาจะรบกับกวนอูเพื่อแก้แค้นให้จินกี๋ผู้หลานที่ถูกกวนอูฆ่าตาย กวนอูจึงหันกลับไปสังหารซัวหยงเพื่อพิสูจน์ความสัตย์ให้เตียวหุยเห็น เตียวหุยจึงเชื่อใจและกล่าวขอขมาต่อกวนอู [18]
- ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์
ในจดหมายเหตุสามก๊ก บทชีวประวัติเล่าปี่ ได้ระบุว่าอ้วนเสี้ยวส่งเล่าปี่ไปเมืองยีหลำเพื่อเกลี้ยกล่อมหัวหน้ากลุ่มโจรชื่อก๋งเต๋าให้มาเป็นพวก โจโฉได้ส่งซัวหยงไปโจมตี ซัวหยงได้ถูกเล่าปี่ฆ่าในศึกครั้งนั้น [19]
เล่าปี่โจนม้าเต๊กเลาข้ามแม่น้ำตันเข
[แก้]ขณะเมื่อเล่าปี่อยู่ที่ซินเอี๋ย เล่าเปียวผู้ว่าราชการแคว้นเกงจิ๋ว (荊州) ได้เชิญเล่าปี่ไปเป็นประธานในพิธีฉลองเนื่องในโอกาสที่พืชผลเก็บเกี่ยวได้ผลดีที่เมืองซงหยง เนื่องจากเล่าเปียวกำลังป่วยและบุตรชายทั้งสองของเล่าเปียวคือเล่ากี๋และเล่าจ๋องยังเด็กเกินไป เล่าปี่จึงเดินทางมาถึงเมืองซงหยงพร้อมกับจูล่งและเข้าร่วมในพิธี ชัวมอฉวยโอกาสที่เล่าปี่เข้ามาที่ซงหยงวางแผนจะสังหารเล่าปี่ แต่อีเจี้ยได้ลอบมาบอกเล่าปี่ว่าชัวมอคิดร้าย เล่าปี่จึงขึ้นม้าเต๊กเลา (的盧) ซึ่งเป็นม้าที่เชื่อกันว่าจะนำโชคร้ายมาสู่ผู้ที่ขี่มัน หนีออกจากเมืองซงหยงทางประตูทิศตะวันตก เมื่อชัวมอรู้ว่าเล่าปี่หนีไปได้ไม่นานจึงนำทหารไล่ตาม เล่าปี่ขี่ม้าเต๊กเลามาถึงริมแม่น้ำตันเข (檀溪) ทางตะวันตกของซงหยง แล้วพยายามจะขี่ม้าข้ามแม่น้ำไป หลังม้าเต๊กเลาก้าวลงไปในแม่น้ำได้ไม่กี่ก้าวก็ถลำลงเลน เสื้อผ้าของเล่าปี่เปียกน้ำ เล่าปี่ใช้แส้ม้าเฆี่ยนม้าเต๊กเลาแล้วร้องว่า "วันนี้เต๊กเลามึงจะผลาญเจ้าของเสียแล้วหรือ" พลันม้าเต๊กเลาก็โจนขึ้นจากน้ำได้ระยะถึงสามจ้างข้ามไปถึงฝั่งตรงข้ามได้ ช่วยเล่าปี่ให้พ้นภัย [20]
- ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์
ในบันทึก ชื่อยฺหวี่ (世語) ได้มีการบันทึกถึงเหตุการณ์เดียวกันนี้ [21] อย่างไรก็ตาม นักประวัติศาสตร์สมัยราชวงศ์จิ้นชื่อซุนเชิ่ง ได้แสดงความคิดเห็นต่อเหตุการณ์ในบันทึกนี้ว่าไม่น่าจะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริง [22]
ชีซี
[แก้]เล่าปี่เยือนกระท่อมหญ้าสามครั้ง
[แก้]ก่อนที่ชีซีจะเดินทางจากไปยังเมืองฮูโต๋ ชีซีได้แนะนำจูกัดเหลียงหรือชื่อรองขงเบ้งให้เล่าปี่ ทั้งยังแนะนำให้เล่าปี่เดินทางไปเชิญขงเบ้งมาเป็นที่ปรึกษาด้วยตนเอง เล่าปี่จึงเดินทางพร้อมด้วยกวนอูและเตียวหุยไปยังหลงจงเพื่อพบขงเบ้ง เล่าปี่มาถึงบ้านของขงเบ้ง เด็กรับใช้ในบ้านได้มาบอกว่าอาจารย์ไม่อยู่ที่บ้าน เล่าปี่จึงเขียนหนังสือถึงขงเบ้งฝากไว้กับเด็กรับใช้ หลายวันต่อมาในฤดูหนาว เล่าปี่พาพี่น้องร่วมสาบานทั้งสองคนไปเยี่ยมขงเบ้งอีกครั้ง เล่าปี่ถามหา "อาจารย์" กับเด็กรับใช้ เด็กรับใช้จึงพาไปพบคนที่ตนเรียกว่า "อาจารย์" ซึ่งแท้จริงแล้วเป็นน้องชายของขงเบ้งชื่อจูกัดกิ๋น (จูเก๋อจฺวิน) [23] แล้วเมื่อเล่าปี่เดินออกมาจากบ้านขงเบ้ง เล่าปี่เห็นชายคนหนึ่งขี่ลามาก็คิดว่าเป็นขงเบ้ง แต่แท้จริงแล้วเป็นพ่อตาของขงเบ้งชื่ออุยสิง่าน (ฮองเสงหงัน) ต่อมาในฤดูใบไม้ผลิ เล่าปี่ตัดสินใจไปเยี่ยมขงเบ้งอีกครั้งโดยที่น้องร่วมสาบานทั้งสองไม่พอใจนัก เมื่อเล่าปี่ไปถึงบ้านขงเบ้งก็รู้ว่าขงเบ้งอยู่ที่บ้านแต่กำลังนอนหลับอยู่ เล่าปี่จึงรอจนขงเบ้งตื่นขึ้น ขงเบ้งได้เสนอยุทธศาสตร์หลงจงให้เล่าปี่ฟัง จากนั้นก็ตกลงใจที่จะออกจากบ้านที่หลงจงติดตามเล่าปี่ไปในฐานะที่ปรึกษานับแต่นั้น [24]
- ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์
ในจดหมายเหตุสามก๊ก ไม่มีรายละเอียดเรื่องที่เล่าปี่ได้ขงเบ้งเป็นที่ปรึกษา ในบทชีวประวัติจูกัดเหลียง (ขงเบ้ง) มีการบรรยายไว้สั้นๆว่าหลังชีซีแนะนำขงเบ้งให้เล่าปี่ เล่าปี่ได้ไปเยี่ยมเพื่อพบและสนทนากับขงเบ้งสามครั้ง ระหว่างการสนทนาขงเบ้งได้เสนอยุทธศาสตร์หลงจงให้เล่าปี่ [25] อย่างไรก็ดี ในจดหมายเหตุ เว่ยเลฺว่ (魏略) และ จิ่วโจวชุนชิว (九州春秋) ได้บันทึกถึงเรื่องที่เล่าปี่พบขงเบ้งเป็นครั้งแรก จดหมายเหตุทั้งสองฉบับได้ระบุว่าขงเบ้งเป็นฝ่ายมาพบเล่าปี่ก่อน แทนที่เล่าปี่จะเป็นฝ่ายมาพบขงเบ้ง เมื่อแรกพบนั้นทั้งขงเบ้งและเล่าปี่ไม่รู้จักกันมาก่อนและเล่าปี่ไม่สนใจขงเบ้งมากนักเพราะขงเบ้งอายุยังน้อย หลังจากแขกของเล่าปี่คนอื่นๆออกไปแล้ว ขงเบ้งยังคงอยู่ แต่เล่าปี่ก็ไม่ได้ถามอะไรขงเบ้ง ขงเบ้งเป็นฝ่ายไปขอสนทนากับเล่าปี่ หลังจากได้พูดคุยแล้วเล่าปี่เห็นความสามารถของขงเบ้งจึงมองขงเบ้งเปลี่ยนไป ตั้งแต่นั้นมาก็ปฏิบัติต่อขงเบ้งด้วยความนับถือ [26] เผย์ ซงจือวิจารณ์ว่าจดหมายเหตุทั้งสองฉบับมีเนื้อความที่ขัดแย้งกับคำกล่าวของตัวขงเบ้งเองในฎีกาออกศึกครั้งแรกซึ่งกล่าวไว้ว่า "พระองค์(พระเจ้าเล่าปี่)ทรงลดพระเกียรติเสด็จเยือนกระท่อมหญ้าของกระหม่อมถึงสามครั้ง อีกยังได้ทรงขอคำปรึกษาปัญหาบ้านเมืองในปัจจุบันด้วยกระหม่อมอีกต่างหาก" [27][28] เผย์ ซงจือมีความเห็นว่าจากฎีกาออกศึกครั้งแรกนั้นเป็นที่ชัดเจนว่าขงเบ้งไม่ใช่ฝ่ายที่ไปพบเล่าปี่ก่อน [29]
ศึกพกบ๋อง
[แก้]ศึกเตียงปัน
[แก้]ขงเบ้งเป็นทูตไปกังตั๋ง
[แก้]ก่อนศึกเซ็กเพ็ก ขงเบ้งติดตามโลซกเดินทางไปยังกังตั๋งเพื่อเป็นทูตไปเจรจาประสานพันธมิตรระหว่างเล่าปี่และซุนกวนเพื่อต้านโจโฉ โลซกได้แนะนำขงเบ้งให้กับเหล่าบัณฑิตอันเป็นขุนนางฝ่ายพลเรือนของซุนกวนซึ่งส่วนใหญ่มีความเห็นว่ากังตั๋งควรยอมจำนนต่อโจโฉ จึงเริ่มทำการโต้คารมกับขงเบ้งที่เดินทางมาโน้มน้าวให้ซุนกวนร่วมเป็นพันธมิตรกับเล่าปี่ ขงเบ้งได้ตอบโต้ด้วยเหตุและผลอย่างมีวาทศิลป์ จนเหล่าบัณฑิตกังตั๋งต่างพากันเงียบไม่อาจต่อคำได้อีก บัณฑิตที่โต้คารมกับขงเบ้งได้แก่ เตียวเจียว งีห้วน (ยีหวน) เปาจิด (โปเจ๋า) ซีหอง ลกเจ๊ก เหยียมจุ้น และเทียเป๋ง (เทียตก) ฝ่ายเตียวอุ๋นและลั่วถ่งก็ต้องการจะโต้คารมกับขงเบ้ง แต่อุยกายได้ปรากฏตัวมาหยุดการโต้วาทีไว้ [30]
ต่อมาโลซกได้แนะนำขงเบ้งให้จิวยี่ ขงเบ้งได้สนทนากับจิวยี่แล้วได้เสนอกับจิวยี่ว่าตนมีอุบายที่จะทำให้โจโฉถอยทัพกลับโดยไม่ต้องรบนั่นคือการส่งนางไต้เกี้ยวและเสียวเกี้ยวให้กับโจโฉ โดยขงเบ้งแกล้งทำเป็นไม่รู้ว่าไต้เกี้ยวเป็นภรรยาของซุนเซ็กและเสียวเกี้ยวเป็นภรรยาของจิวยี่ จิวยี่ถามหาหลักฐานที่โจโฉต้องการสองนางนี้ ขงเบ้งจึงบอกว่าตนเคยได้ยินว่าโจโฉให้โจสิดลูกชายเขียนบทกวี ชมปราสาทตั้งเซ็กไต๋ (銅雀臺賦) ขงเบ้งท่องบทกวีให้ฟังแล้วชี้ให้เห็นเนื้อความที่โจโฉปรารถนานางทั้งสองในบทกวี จิวยี่ได้ฟังก็โกรธจึงตัดสินใจเสนอให้ซุนกวนเป็นพันธมิตรกับเล่าปี่รบกับโจโฉ [31]
- ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์
การโต้วาทีระหว่างขงเบ้งและบัณฑิตกังตั๋งไม่ถูกกล่าวถึงในบทชีวประวัติของบุคคลใดๆที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์นี้ใน จดหมายเหตุสามก๊ก ในบทชีวประวัติของจูกัดเหลียง (ขงเบ้ง) ซุนกวน จิวยี่ และโลซกต่างระบุตรงกันว่าขงเบ้งได้พบกับซุนกวนเพื่อเจรจาประสานพันธมิตร แต่ไม่มีการระบุว่าขงเบ้งได้พบกับบุคคลอื่นใดในการเดินทางครั้งเดียวกันนี้[32][33][34] ในส่วนบทชีวประวัติจูกัดเหลียงนั้นมีบันทึกรายละเอียดของบทสนทนาระหว่างขงเบ้งและซุนกวน [35]
ปราสาทตั้งเซ็กไต๋หรือปราสาทนกยูงทองแดง (銅雀臺) ถูกสร้างขึ้นในฤดูหนาวของปี ค.ศ. 210 [36] สามปีหลังศึกเซ็กเพ็ก และบทกวีของโจสิด ชมปราสาทตั้งเซ็กไต๋ ถูกเขียนขึ้นในปี ค.ศ. 212 สองปีหลังจากปราสาทได้ถูกสร้างขึ้น นอกจากนี้ในวรรณกรรม สามก๊กยังได้เพิ่มเติมบทกวีไปอีก 7 วรรคที่ไม่มีในบทกวีที่ปรากฏในบทชีวประวัติโจสิดใน จดหมายเหตุสามก๊ก[37] ดังนั้นเรื่องราวในวรรณกรรมสามก๊กที่ขงเบ้งใช้บทกวียั่วยุจิวยี่ให้โกรธโจโฉจึงเป็นเรื่องที่แต่งเสริมขึ้นมา
จิวยี่หลอกเจียวก้าน
[แก้]ขงเบ้งใช้เรือฟางยืมเกาทัณฑ์
[แก้]จิวยี่อิจฉาความสามารถของขงเบ้งและเกรงว่าขงเบ้งจะเป็นภัยต่อซุนกวนในอนาคตจึงคิดหาอุบายที่จะสังหารขงเบ้ง ครั้งหนึ่งได้ขอให้ขงเบ้งทำลูกเกาทัณฑ์หนึ่งแสนดอกภายในสิบวัน แต่ขงเบ้งกลับบอกว่าตนสามารถทำให้เสร็จได้ภายในสามวัน จิวยี่จึงให้ขงเบ้งทำทัณฑ์บนไว้ว่าหากทำเกาทัณฑ์ไม่สำเร็จภายในสามวันจะต้องโทษประหารชีวิต จิวยี่รู้สึกยินดีเพราะคิดว่าขงเบ้งคงไม่อาจทำได้สำเร็จทันเวลา ฝ่ายขงเบ้งได้ขอให้โลซกช่วยเตรียมเรือยี่สิบลำ แต่ละลำมีทหารสามสิบคนและมีฟางมามัดเป็นรูปคนวางอยู่สองข้างลำเรือ ในวันที่สามก่อนรุ่งสางมีหมอกลงจัด ขงเบ้งนำเรือทั้งยี่สิบลำแล่นไปยังค่ายของโจโฉที่อีกฝั่งของแม่น้ำ แล้วสั่งให้ทหารตีกลองและโห่ร้องอื้ออึงทำทีจะเข้าโจมตี ทหารโจโฉไม่แน่ใจว่าทหารฝ่ายศัตรูมีจำนวนเท่าใดเนื่องจากหมอกลงจัดจึงได้แต่ยิงเกาทัณฑ์ต้านไว้ ลูกเกาทัณฑ์จำนวนมากติดกับหุ่นฟางบนเรือ ในขณะเดียวกับที่ขงเบ้งกำลังดื่มสุรากับโลซกภายในเรือ เมื่อหมอกเริ่มจางขงเบ้งจึงแล่นเรือกลับไป เกาทัณฑ์ที่ขงเบ้งลวงมาได้จากทัพโจโฉมีมากกว่าหนึ่งแสนดอก จิวยี่จึงไม่อาจเอาผิดขงเบ้งได้ [38]
- ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์
เหตุการณ์นี้ไม่มีการบันทึกไว้ในจดหมายเหตุสามก๊ก เป็นเรื่องที่เสริมแต่งขึ้นมา อย่างไรก็ดี ในจดหมายเหตุเว่ยเลฺว่ได้มีการกล่าวถึงเหตุการณ์ที่คล้ายๆกันนี้ในศึกยี่สูในปี ค.ศ. 213 เมื่อซุนกวนได้แล่นเรือไปสำรวจฐานทัพของโจโฉ โจโฉเห็นดังนั้นจึงสั่งให้ทหารยิงเกาทัณฑ์ใส่เรือซุนกวน เกาทัณฑ์หลายดอกติดที่ลำเรือข้างหนึ่งจนเรือเอียงด้วยน้ำหนักของลูกเกาทัณฑ์ ซุนกวนจึงสั่งให้หันเรือให้ลำเรืออีกด้านมารับลูกเกาทัณฑ์ เรือจึงกลับมาตั้งลำตรงดังเก่าแล้วซุนกวนจึงให้แล่นเรือกลับไปค่าย [39]
อุบายเจ็บกายของอุยกาย
[แก้]บังทองเสนออุบายห่วงโซ่
[แก้]ขงเบ้งเรียกลมสลาตัน
[แก้]จิวยี่เตรียมการพร้อมที่จะตีทัพเรือโจโฉด้วยไฟ แต่จิวยี่ได้ตระหนักในภายหลังว่าการจะสำเร็จได้ลมจะต้องพัดจากทิศตะวันออกเฉียงใต้ มิเช่นนั้นทัพเรือฝ่ายตนจะถูกเพลิงเผาเสียเอง เมื่อจิวยี่เห็นว่าลมพัดจากทิศตะวันตกเฉียงเหนือก็ตกใจจนอาเจียนเป็นเลือดแล้วหมดสติ ตั้งแต่นั้นก็ล้มป่วย ขงเบ้งไปเยี่ยมจิวยี่แล้วบอกว่าสาเหตุของอาการป่วยของจิวยี่นั้นเพราะความกังวลเกี่ยวกับลมแล้วอ้างว่าตนรู้วิชาเรียกลมจะขออาสาทำพิธีเพื่อเปลี่ยนทิศทางลม จิวยี่จึงให้ทหารไปตั้งโรงพิธี ณ เขาลำปินสาน แล้วขงเบ้งก็ได้ประกอบพิธีเรียกลมจนกระทั่งเมื่อลมตะวันออกเฉียงใต้พัดมา ทันทีทีลมเปลี่ยนทิศขงเบ้งก็หนีออกมาเพราะรู้ดีว่าจิวยี่จะส่งคนมาฆ่า ซึ่งจิวยี่ก็ได้ส่งชีเซ่งและเตงฮองมาเพื่อหวังจะสังหารตามที่ขงเบ้งคาดไว้ แต่ขงเบ้งก็ขึ้นเรือที่จูล่งแล่นเตรียมไว้หนีไปได้ [40]
- ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์
เหตุการณ์นี้ไม่มีการบันทึกไว้ใน จดหมายเหตุสามก๊ก เป็นเรื่องที่เสริมแต่งขึ้นมา
กวนอูปล่อยโจโฉที่เส้นทางฮัวหยง
[แก้]กวนอูถูกส่งไปรักษาเส้นทางฮัวหยงเพื่อไปสกัดโจโฉที่จะผ่านมาทางนี้หลังพ่ายแพ้ในศึกเซ็กเพ็ก เดิมนั้นขงเบ้งไม่ยอมให้กวนอูไปทำการเพราะเกรงว่ากวนอูจะระลึกถึงบุญคุณของโจโฉที่เคยทำนุบำรุงมาแต่ก่อนแล้วอาจจะปล่อยโจโฉให้ผ่านไปได้ กวนอูยืนยันที่จะขอไปทำการพร้อมบอกว่าตนทดแทนบุญคุณโจโฉโดยการสังหารงันเหลียงและบุนทิวแล้ว จากนั้นจึงยอมทำทัณฑ์บนว่าจะไม่ปล่อยให้โจโฉผ่านไปได้ มิฉะนั้นก็ยอมถูกประหาร ฝ่ายขงเบ้งก็ทำทัณฑ์บนเช่นกันว่าหากโจโฉไม่ผ่านมาทางเส้นทางฮัวหยงก็จะยอมถูกประหาร ซึ่งโจโฉก็ผ่านมาทางเส้นทางฮัวหยงตามที่ขงเบ้งคาดไว้แล้วเจอเข้ากับกวนอู แต่กวนอูกลับตัดสินใจไว้ชีวิตโจโฉ ปล่อยให้โจโฉและทหารที่เหลืออยู่ผ่านเส้นทางฮัวหยงไปโดยไม่ทำอันตราย เมื่อกวนอูกลับมาหาเล่าปี่และขงเบ้ง กวนอูก็สารภาพความที่ตนปล่อยโจโฉไป ขงเบ้งสั่งให้ทหารนำตัวกวนอูไปประหารแต่เล่าปี่ได้ขอชีวิตกวนอูไว้ กวนอูจึงได้รับการละเว้นโทษโทษ[41]
- ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์
เหตุการณ์ไม่ถูกกล่าวถึงใน จดหมายเหตุสามก๊ก เป็นเรื่องที่แต่งเสริมขึ้น ในจดหมายเหตุ ชานหยางกงไจ้จี้ (山陽公載記) ได้บันทึกไว้ว่าหลังโจโฉพ่ายแพ้ในศึกเซ็กเพ็ก ได้ถอยทัพพร้อมทหารที่เหลือรอดผ่านเส้นทางฮัวหยง ตลอดเส้นทางมีหล่มโคลนเดินทางลำบาก โจโฉจึงสั่งให้ทหารที่อ่อนแอนำฟางและหญ้ามาถมหล่มโคลนให้ทหารม้าผ่านไปได้ ทหารเหล่านี้ถูกม้าเหยียบจมโคลนตายไปหลายนาย เมื่อโจโฉผ่านสถานการณ์วิกฤตนี้มาได้ก็มีความยินดี ขุนพลทั้งหลายจึงถามโจโฉว่าเหตุใดจึงยินดี โจโฉตอบว่า "แม้เล่าปี่จะเทียบได้กับข้าแต่มิอาจคิดการได้ไวเท่า หากเล่าปี่จุดไฟสกัดทางไว้เร็วกว่านี้ข้าก็จะหมดทางหนี" ฝ่ายเล่าปี่นั้นก็คิดการจะจุดเพลิงตามที่โจโฉคาดไว้แต่กระทำการช้าไปเพราะโจโฉหนีไปได้แล้ว [42]
การเสียชีวิตของไทสูจู้
[แก้]ศึกเตียงสา
[แก้]การแต่งงานของเล่าปี่และซุนฮูหยิน
[แก้]จิวยี่เสนอ "อุบายนางงาม" (美人計) ให้ซุนกวนในการยึดครองแคว้นเกงจิ๋ว (荊州) จากเล่าปี่ แผนคือจะลวงเล่าปี่มายังกังตั๋งโดยอ้างว่าจะให้มาแต่งงานกับซุนหยินน้องสาวของซุนกวน (ต่อมาคือซุนฮูหยิน) เพื่อให้ทำให้พันธมิตรซุน-เล่าแน่นแฟ้นขึ้น จากนั้นซุนกวนจะจับเล่าปี่เป็นตัวประกันเพื่อแลกเปลี่ยนกับแคว้นเกงจิ๋ว ขงเบ้งรู้ทันอุบายจึงซ้อนกลทำให้การแต่งงานเกิดขึ้นจริง ทั้งทำให้เล่าปี่กลับมาเกงจิ๋วอย่างปลอดภัยพร้อมนางซุนฮูหยิน จิวยี่นำทหารไล่ตามแต่ถูกทหารเล่าปี่ซุ่มโจมตี จากนั้นทหารเล่าปี่ก็ตะโกนเยาะเย้ยว่า "อุบายจิวยี่แสนแยบยล เสียทั้งฮูหยินและรี้พล" (周郎妙計安天下,陪了夫人又折兵!) จิวยี่โกรธจนกระอักเลือดหมดสติไป [43]
- ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์
การแต่งงานของเล่าปี่และซุนฮูหยินมีบันทึกจดหมายเหตุสามก๊ก บทชีวประวัติเล่าปี่ว่า หลังเล่ากี๋ป่วยเสียชีวิต เหล่าผู้ใต้บังคับบัญชาของเล่าปี่ได้ขอให้เล่าปี่รับตำแหนงผู้ว่าราชการแคว้นเกงจิ๋วแทน โดยมีเมืองเอกคือกองอั๋น (公安) ซุนกวนกังวลเกี่ยวกับอิทธิพลของเล่าปี่จึงให้เล่าปี่แต่งงานของน้องสาวของคนเพื่อกระชับความสัมพันธ์ของพันธมิตรซุน-เล่า [44] แสดงให้เห็นว่าการแต่งงานนั้นเกิดขึ้นในเมืองกองอั๋นโดยซุนกวนส่งน้องสาวมาแต่งงานกับเล่าปี่ แทนที่เล่าปี่จะเดินทางมาแต่งงานที่กังตั๋งของซุนกวน
อย่างไรก็ได้ ในบทชีวประวัติจิวยี่ได้บันทึกว่าจิวยี่เคยแนะนำซุนกวนให้กักตัวเล่าปี่ไว้ในกังตั๋ง หลังจากเล่าปี่ได้เป็นผู้ว่าราชการแคว้นเกงจิ๋ว เล่าปี่ได้เดินทางมาพบซุนกวนที่เมืองจิง (京) จิวยี่ได้บอกกับซุนกวนว่า "เล่าปี่มีลักษณะของจอมคนผู้โหดเหี้ยมและทะเยอทะยาน หนำซ้ำยังมีขุนพลที่แข็งแกร่งดั่งหมีและพยัคฆ์อย่างกวนอูและเตียวหุย เล่าปี่จึงไม่ใช่คนที่จะยอมอยู่ใต้ผู้อื่นเป็นแน่ ข้าพเจ้าเห็นว่าควรพาเล่าปี่กลับไปแดนง่อสร้างปราสาทให้อยู่ พร้อมปรนเปรอด้วยสตรีและทรัพย์สินของมีค่า จากนั้นเราจะแยกขุนพลสองคน(กวนอูและเตียวหุย)ออกจากกัน หากใช้เล่าปี่เป็นตัวประกัน และโจมตีทหารเล่าปี่ไปพร้อมๆกัน เป้าหมายของเรา(ยึดแคว้นเกงจิ๋ว)ก็จะสำเร็จ แม้นยังคงปล่อยให้พวกเล่าปี่มีดินแดนและปล่อยให้สามคนอยู่ด้วยกันแล้ว เกรงว่าเมื่อใดที่มังกรทะยานสู่เมฆและฝน จะไม่กลับคืนสู่บ่อน้ำอีก" ฝ่ายซุนกวนเห็นว่าโจโฉยังเป็นภัยคุกคามทางเหนือ จึงเห็นว่าควรมีพันธมิตรไว้จะเป็นการดีกว่าทำลายความเป็นพันธมิตร จึงปฏิเสธคำแนะนำของจิวยี่ [45] แสดงให้เห็นว่าจิวยี่ต้องการกักตัวเล่าปี่ไว้ในกังตั๋งเพื่อใช้เป็นตัวประกันในการควบคุมผู้ใต้บังคับบัญชาของเล่าปี่ (กวนอู เตียวหุย และคนอื่นๆ) แต่ไม่มีการกล่าวถึงการใช้นางซุนฮูหยินเป็นเหยื่อล่อเล่าปี่มาติดกับ สตรีที่ถูกกล่าวถึงในอุบายจะถูกใช้เพื่อปรนเปรอเล่าปี่ระหว่างถูกกักตัวให้หลงระเริงจนลิมผู้ใต้บังคับบัญชา ที่สำคัญคืออุบายไม่ได้ถูกใช้งานจริงเพราะซุนกวนไม่เห็นด้วย เรื่องราวนี้ในวรรณกรรม สามก๊กจึงเป็นเรื่องที่แต่งเสริมขึ้นมา
จดหมายเหตุสามก๊กบทชีวประวัติหวดเจ้งได้กล่าวถึงความสัมพันธ์ของเล่าปี่และนางซุนฮูหยินว่าไม่ได้รักใคร่ลึกซึ้งเหมือนในวรรณกรรมสามก๊ก ตรงกันข้าม เล่าปี่มีความระแวงและเกรงกลัวนางซุนฮูหยิน ครั้งหนึ่งขงเบ้งได้กล่าวไว้ว่า "เมื่อครั้งนายท่าน(เล่าปี่)อยู่ที่กองอั๋น ท่านต้องคอยระแวดระวังอิทธิพลของโจโฉทางเหนือและต้องกริ่งเกรงซุนกวนทางตะวันออก แม้แต่ในอาณาบริเวณของบ้านตนเองก็ต้องหวาดกลัวซุนฮูหยินที่อาจก่อปัญหาขึ้นมาได้" [46] บุคลิกลักษณะของซุนฮูหยินที่ถูกกล่าวถึงในบทชีวประวัติหวดเจ้งกล่าวว่า ซุนกวนแต่งน้องสาวให้เล่าปี่ นางเป็นคนดุดันและหัวรั้นเหมือนพี่ชาย นางมีหญิงรับใช้ร้อยนาง ล้วนแล้วแต่ถือกระบี่ยืนให้ความคุ้มครอง ทุกครั้งที่เล่าปี่เข้ามาในห้องของนางเป็นต้องรู้สึกใจสั่นด้วยความกลัว[47]
การเสียชีวิตของจิวยี่
[แก้]จิวยี่คิดอุบายช่วยซุนกวนยึดแคว้นเกงจิ๋วจากเล่าปี่ โดยแสร้งทำเป็นจะช่วยเล่าปี่ตีแคว้นเอ๊กจิ๋ว(เสฉวน)โดยจะขอยกทัพผ่านเกงจิ๋ว เมื่อเล่าปี่ตอบตกลง จิวยี่รู้สึกยินดีเพราะความตั้งใจแท้จริงแล้วคือการเข้าครองเกงจิ๋วระหว่างเดินทัพผ่าน แต่ขงเบ้งมองอุบายของจิวยี่ออกแล้วซ้อนกล จิวยี่จึงต้องกลอยู่ในวงล้อมของทหารเล่าปี่ จิวยี่โกรธมากจนตกจากหลังม้า ภายหลังขงเบ้งส่งหนังสือถึงจิวยี่บอกให้จิวยี่ยกเลิกการยกไปตีเอ๊กจิ๋วแล้วกลับง่อก๊ก เพราะโจโฉจะฉวยโอกาสที่จิวยี่ไม่อยู่เข้ารุกรานง่อก๊ก ต่อมาจิวยี่ได้เขียนหนังสือถึงซุนกวนและฝากฝังกับขุนพลคนอื่นๆให้ช่วยเหลือราชการให้ซุนกวนอย่างเต็มความสามารถ จากนั้นจิวยี่ก็หมดสติไป เมื่อได้สติอีกครั้งก็ตัดพ้อว่า "เทพดาองค์ใดหนอซึ่งให้เราเกิดมาแล้ว เหตุใดจึงให้ขงเบ้งเกิดมาด้วยเล่า" จิวยี่ได้แต่พูดประโยคนี้หลายครั้งจนกระทั่งถึงแก่ความตาย
ครั้งนี้เป็นครั้งที่สามที่จิวยี่ถูกขงเบ้งยั่วให้โกรธ ครั้งแรกหลังจากจิวยี่ถูกเกาทัณฑ์พิษของโจหยินในศึกลำกุ๋น เมื่อเล่าปี่ได้เข้ายึดหลายเมืองในแคว้นเกงจิ๋วตามคำแนะนำของขงเบ้งระหว่างที่จิวยี่ยังคงวุ่นกับการทำศึกกับโจหยิน ครั้งที่สองเมื่อขงเบ้งซ้อนกล "อุบายนางงาม" ของจิวยี่ (ดูที่ #การแต่งงานของเล่าปี่และซุนฮูหยิน) อาการป่วยของจิวยี่จากแผลเกาทัณฑ์พิษแย่ลงเรื่อยๆหลังจากเหตุการณ์เหล่านี้ จนในที่สุดก็เสียชีวิตจากการถูกยั่วให้โกรธเป็นครั้งที่สามนี้[48]
- ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์
ในจดหมายเหตุสามก๊ก บทชีวประวัติจิวยี่ ได้ระบุว่าจิวยี่กำลังเตรียมตัวจะยกทัพเข้าบุกเอ๊กจิ๋วและฮันต๋งทางภาคตะวันตกของจีน แต่ระหว่างทางได้ป่วยกะทันหันจนกระทั่งเสียชีวิตที่ตำบลปาขิว (巴丘)[49] ไม่มีการกล่าวถึงเรื่องที่ขงเบ้งยั่วโมโหจิวยี่จนเสียชีวิต
ตำราพิชัยสงครามของโจโฉ
[แก้]เล่าเจี้ยงส่งเตียวสงเป็นทูตไปพบโจโฉที่เมืองฮูโต๋ เตียวสงกล่าววิจารณ์โจโฉต่อหน้าเอียวสิ้วสมุห์บัญชีของโจโฉ เอียวสิ้วจึงนำตำราบังเต๊ก หรือเมิ่งเต๋อซินชู (孟德新書 แปลว่า ตำราเล่มใหม่ของเมิ่งเต๋อ (เมิ่งเต๋อเป็นชื่อรองของโจโฉ) ) ตำราพิชัยสงครามที่โจโฉเขียนขึ้นโดยเป็นการให้อรรถาธิบายขยายความในตำราพิชัยสงครามซุนจื่อ เตียวสงดูตำราแล้วก็หัวเราะแล้วพูดว่า "หนังสือเช่นนี้เด็ก ๆ ในเมืองเสฉวนอ่านเล่นอึงอยู่ทั้งเมือง เป็นคำโบราณผู้มีปัญญาแต่งไว้ก่อน เหตุใดท่านจึงว่ามหาอุปราชแต่งเองเล่า ลักเอาคำเก่ามาว่า ปดได้ก็แต่ท่านให้หลงนับถือว่าดี"[50] [51] จากนั้นเตียวสงจึงท่องเนื้อความในตำราให้เอียงสิ้วฟังได้ตรงกับในตำราไม่ผิดเพี้ยน เมื่อเอียวสิ้วนำเรื่องนี้ไปแจ้งโจโฉ โจโฉจึงให้เอาตำราบังเต๊กนั้นไปฉีกและเผาไฟทิ้งเสีย
- ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์
ในจดหมายเหตุเว่ยชู (魏書) ได้บันทึกว่าโจโฉเขียนตำราพิชัยสงครามและมอบให้กับเหล่าขุนพล[52] เนื้อความในตำราบังเต๊กถูกกล่าวอ้างถึงในตำราพิชัยสงครามปุจฉาวิสัชนาจักรพรรดิถังไท่จงกับหลี่เว่ยกง (唐太宗李衛公問對) ซึ่งเป็นบทสนทนาระหว่างจักรพรรดิถังไท่จงแห่งราชวงศ์ถังกับขุนพลหลี่จิ้ง [53] แสดงให้เห็นว่าเนื้อความตำราพิชัยสงครามบังเต๊กที่โจโฉเขียนขึ้นยังคงมีตกทอดถึงสมัยราชวงศ์ถัง
ศึกด่านตงก๋วน
[แก้]การเสียชีวิตของบังทอง
[แก้]ศึกด่านแฮบังก๋วน
[แก้]กวนอูข้ามฟากไปกินโต๊ะพร้อมง้าวเล่มเดียว
[แก้]กวนอูเดินทางข้ามแม่น้ำไปกินโต๊ะตามคำเชิญของโลซกโดยมีเพียงง้าวมังกรเขียว งานกินโต๊ะครั้งนี้โลซกและทหารฝ่ายซุนกวนจัดขึ้นเพื่อข่มขู่ให้กวนอูคืนแคว้นเกงจิ๋ว โดยมีลิบอง กำเหลง และทหารคนอื่นซุ่มกำลังอยู่บริเวณพื้นที่จัดเลี้ยงเพื่อรอสัญญาณจากโลซกให้ออกมารุมสังหารกวนอู กวนอูรู้ว่าเป็นอุบายแต่ก็ยังคงมาร่วมงานกินโต๊ะและโต้เถียงกับโลซกเรื่องแคว้นเกงจิ๋ว กวนอูแกล้งทำเป็นเมาสุราแล้วจับโลซกเป็นตัวประกันแล้วพามาที่ริมฝั่งน้ำ เมื่อมาถึงจึงปล่อยโลซกไป ส่วนกวนอูก็ขึ้นเรือของตนกลับเกงจิ๋ว [54]
- ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์
จดหมายเหตุสามก๊กระบุว่ากวนอูและโลซกได้เจรจากันเรื่องการแบ่งดินแดนของแคว้นเกงจิ๋ว ระหว่างการเจรจา ทั้งสองฝ่ายมีทหารตั้งมั่นอยู่ห่างจากสถานที่เจรจากว่าร้อยก้าว ขุนพลของแต่ละฝ่ายที่ร่วมในสถานที่เจรจาล้วนถืออาวุธ [55]
ฮัวโต๋รักษาแขนของกวนอู
[แก้]ในศึกอ้วนเซีย กวนอูถูกเกาทัณฑ์อาบยาพิษยิงถูกแขนได้รับบาดเจ็บ หมอฮัวโต๋ได้มาที่ค่ายของกวนอูและเสนอตัวรักษาแขนให้กวนอู หลังจากได้ตรวจดูแผล ฮัวโต๋กล่าวว่าพิษได้ซึมลึกเข้าไปในกระดูกแล้ว แล้วบอกว่าต้องทำการผ่าตัดโดยการเอาผ้ามาปิดตากวนอูไม่ให้เห็นแล้วเอาปลอกแขนมารัดแขนกวนอูกับเสาไม่ให้ขยับได้ก่อนจะทำการผ่าตัด กวนอูบอกให้ฮัวโต๋ผ่าตัดโดยไม่ต้องปิดและไม่ต้องเอาปลอกรัด ฮัวโต๋ทำการผ่าเนื้อเปิดแผลที่แขนกวนอูจนเห็นกระดูก ขูดพิษที่กระดูกออก แล้วเย็บแผลให้ผสาน ตลอดการผ่าตัดกวนอูเล่นหมากล้อมกับม้าเลี้ยงโดยไม่แสดงสีหน้าเจ็บปวดให้เห็น กวนอูขอบคุณฮัวโต๋ที่รักษาแผลที่แขนให้พร้อมจะให้ทองเป็นรางวัล แต่ฮัวโต๋ปฏิเสธไม่ขอรับรางวัลแล้วจากไป [56]
- ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์
ในจดหมายเหตุสามก๊ก บทชีวประวัติฮัวโต๋ไม่ได้ระบุปีที่ฮัวโต๋เสียชีวิต แต่สามารถอนุมานได้ว่าฮัวโต๋เสียชีวิตก่อนปี ค.ศ. 208 ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ #การเสียชีวิตของโจโฉ) ศึกอ้วนเซียเกิดขึ้นในปี ค.ศ. 219 คือ 11 ปีหลังจากปี ค.ศ. 208 ดังนั้นจึงเป็นไปไม่ได้ที่ฮัวโต๋จะมารักษาแขนของกวนอู อย่างไรก็ดี ในจดหมายเหตุสามก๊ก บทชีวประวัติกวนอูมีการบันทึกถึงเรื่องที่หมอคนหนึ่งผ่าตัดแขนของกวนอู แต่หมอคนนั้นไม่ใช่ฮัวโต๋
การเสียชีวิตของลิบอง
[แก้]ภายหลังจากยึดครองเกงจิ๋วและสามารถสังหารกวนอูจึงถือว่าเป็นชัยชนะที่ยิ่งใหญ่ ซุนกวนได้จัดงานเลี้ยงฉลองชัยชนะแก่ลิบองและขุนพลอื่นๆ แต่จู่ๆลิบองได้ลุกขึ้นมาด่าว่าซุนกวน แท้ที่จริงแล้วถูกอสุรกายกวนอูที่ตายแล้วเข้าสิง หลังจากนั้นลิบองก็กระอักเลือดจนเสียชีวิตกลางงานเลี้ยง
- ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์
ในจดหมายเหตุสามก๊ก ได้ระบุว่า ลิบองล้มป่วยตายอย่างสงบ มิได้ถูกผีสิงแต่ประการใด
เหตุการณ์หลังการเสียชีวิตของกวนอู
[แก้]หลังกวนอูเสียชีวิต วิญญาณของกวนอูได้ลอยไปพร้อมร้องว่า "เอาศีรษะมาคืนให้เรา" วิญญาณของกวนอูมาถึงเขาจวนหยกสัน นอกเมืองตงหยง (ตองเอี๋ยง) แล้วได้พบกับเภาเจ๋ง หลวงจีนที่เคยช่วยชีวิตกวนอูเมื่อหลายปีก่อนที่ด่านกิสุยก๋วน เภาเจ๋งได้บอกกับวิญญาณของกวนอูว่า "กงเกวียนกำเกวียนตัวฆ่าเขา เขาฆ่าตัว เมื่อท่านฆ่างันเหลียง บุนทิวแลนายด่านห้าตำบลเสีย ใครมาทวงศีรษะแก่ท่านบ้าง ครั้งนี้ท่านเสียทีแก่ข้าศึกถึงแก่ความตายแล้ว ท่านมาร้องทวงศีรษะแก่ใครเล่า" วิญญาณของกวนอูได้ยินก็คิดได้แล้วหายตัวไป นับแต่นั้นมาก็สิงสถิตอยู่ที่เขาจวนหยกสันและปกป้องชาวบ้านจากสิ่งชั่วร้ายทั้งปวง ชาวบ้านได้สร้างศาลบนเขาขึ้นเพื่อเคารพวิญญาณของกวนอู ส่วนเภาเจ๋งก็ปลูกกระท่อมหญ้าขึ้นที่บริเวณตีนเขาจวนหยกสันด้านตะวันออกเฉียงใต้ในช่วงปีสุดท้ายของราชวงศ์ฮั่นตะวันออก วัดจวนหยก (玉泉寺) วัดเก่าแก่ของแดนเมืองตงหยงที่เป็นจุดกำเนิดของการสักการะกวนอูได้ถูกสร้างตรงตำแหน่งที่เป็นกระท่อมหญ้าหลังนั้น การสร้างวัดได้แล้วเสร็จในสมัยราชวงศ์สุย
ซุนกวนได้ส่งศีรษะของกวนอูไปให้โจโฉเพื่อผลักความรับผิดชอบต่อการเสียชีวิตของกวนอูให้โจโฉ เมื่อโจโฉเปิดกล่องที่ใส่ศีรษะกวนอู เห็นกวนอูมีสีหน้าปกติเหมือนเมื่อยังมีชีวิตจึงหัวเราะแล้วพูดกับศีรษะกวนอูว่า "กวนอูยังเป็นอยู่ไม่มาหาเรา บัดนี้ยังแต่ศีรษะเปล่าอุตส่าห์มาหาเรา" ทันใดนั้นศีรษะกวนอูก็เกิดลืมตาปากอ้าหนวดเคราขยับ โจโฉตกใจล้มลงหมดสติ เมื่อได้สติโจโฉก็พูดว่า "กวนอูคนนี้ศักดิ์สิทธิ์นัก เหมือนหนึ่งเทพดาลงมาจากชั้นฟ้า " จึงสั่งให้นำศีรษะกวนอูไปฝังอย่างสมเกียรติตามแบบขุนนางผู้ใหญ่ [57]
การเสียชีวิตของโจโฉ
[แก้]ช่วงบั้นปลายชีวิตของโจโฉ โจโฉมีอาการปวดศีรษะอย่างรุนแรง จึงเรียกให้หมอฮัวโต๋มารักษา ฮัวโต๋วินิจฉัยว่าโรคของโจโฉเป็นลมเสียดแทงในกะโหลก และบอกว่าจะทำการรักษาโดยให้โจโฉกินยาชาให้ไม่รู้สึกตัว จากนั้นจึงใช้ขวานอันคมผ่าศีรษะของโจโฉแล้วชำระโรคในศีรษะ โจโฉนั้นเคยถูกหมอเกียดเป๋งพยายามลอบสังหารด้วยยาพิษ จึงระแวงว่าฮัวโต๋นั้นคิดจะฆ่าตนเพื่อแก้แค้นให้กวนอู จึงสั่งให้ทหารนำตัวฮัวโต๋ไปขังคุก ฮัวโต๋เสียชีวิตในคุกในอีกไม่กี่วันต่อมา ไม่นานหลังจากนั้นโจโฉก็ป่วยหนักจนเสียชีวิต [58]
- ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์
ในจดหมายเหตุสามก๊ก บทชีวประวัติโจโฉได้บันทึกว่าโจโฉเสียชีวิตที่เมืองลกเอี๋ยงในปี ค.ศ. 220 ขณะอายุได้ 66 ปี (นับอายุแบบจีน).[59] ส่วนบทชีวประวัติฮัวโต๋ได้บันทึกว่าโจโฉสั่งประหารฮัวโต๋เมื่อฮัวโต๋ปฏิเสธที่จะรักษาอาการปวดศีรษะเรื้อรังของโจโฉ ต่อมาโจโฉเสียใจที่สั่งประหารฮัวโต๋ไป เพราะบุตรของโจโฉชื่อโจฉอง (เฉาชง) ป่วยเสียชีวิตขณะอายุยังน้อย และโจโฉเชื่อว่าถ้าฮัวโต๋ยังอยู่คงสามารถรักษาโจฉองได้ บทชีวประวัติฮัวโต๋ไม่ได้ระบุปีที่ฮัวโต๋เสียชีวิต แต่อนุมานได้ว่าฮัวโต๋เสียชีวิตก่อนปี ค.ศ. 208 ซึ่งเป็นปีที่โจฉองเสียชีวิต[60] ดังนั้นเรื่องราวที่เกิดขึ้นในวรรณกรรมสามก๊กจึงเป็นเรื่องที่แต่งเสริมขึ้นมา
ในบันทึกชื่อยฺหวี่ (世語) และเฉาหมานฉวน (曹瞞傳) ได้บันทึกเกี่ยวกับเหตุการณ์ก่อนโจโฉเสียชีวิต ในชื่อยฺหวี่บันทึกว่าโจโฉต้องการสร้างวังในเมืองลกเอี๋ยง จึงสั่งให้ทำลายศาลเจ้าจั๋วหลง (濯龍祠) แต่บังเกิดเลือดออกจากต้นไม้ข้างศาล [61] ในเฉาหมานฉวนบันทึกว่าโจโฉต้องการย้ายต้นสาลี่ เมื่อคนงานถอนรากต้นสาลี่ขึ้นมาก็เลือดมีเลือดไหลออกจากราก คนงานทั้งหลายต่างตกตะลึง โจโฉได้ยินเรื่องนี้จึงเดินทางไปดูด้วยตนเอง โจโฉได้เห็นก็รู้สึกว่าเป็นลางร้ายเมื่อกลับมาถึงบ้านก็ล้มป่วย [62]
ยุทธการที่อิเหลง
[แก้]การเสียชีวิตของเตียวเลี้ยว
[แก้]จับและปล่อยเบ้งเฮ็กเจ็ดครั้ง
[แก้]เบ้งเฮ็กราชาของชนเผ่าอนารยชนลำมันก่อกบฏต่อจ๊กก๊ก จูกัดเหลียงจึงนำทัพไปสยบชนเผ่าลำมันแล้วจับเบ้งเฮ็กได้เจ็ดครั้ง แล้วปล่อยตัวเบ้งเฮ็กไปทั้งเจ็ดครั้ง ในหกครั้งแรก เบ้งเฮ็กไม่ยอมรับความพ่ายแพ้เพราะตนถูกจับด้วยกลอุบาย ไม่ได้มาจากการรบจริง ๆ จูกัดเหลียงจึงปล่อยเบ้งเฮ็กเพื่อให้โอกาสรบแก้ตัว ในการถูกจับครั้งที่เจ็ด เบ้งเฮ็กรู้สึกละอายใจตัวเองจึงสาบานกับจูกัดเหลียงขอภักดีต่อจ๊กก๊กตลอดไป [63]
- ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์
เผย์ ซงจือได้แทรกอรรถาธิบายในจดหมายเหตุสามก๊ก บทชีวประวัติจูกัดเหลียง ซึ่งมีการกล่าวถึง "จับเจ็ดครั้งปล่อยเจ็ดครั้ง"[64] แต่ไม่มีรายละเอียดของการจับและปล่อยแต่ละครั้ง ตัวละครที่เกี่ยวข้องกับเบ้งเฮ็กอย่างงากฟัน จกหยง เบ้งฮิว และ บกลกไต้อ๋อง ล้วนเป็นตัวละครสมมติ
กบฏซินเสีย
[แก้]การบุกขึ้นเหนือของขงเบ้ง
[แก้]อ้างอิง
[แก้]- ↑ สามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ตอนที่ 2 (เนื้อเรื่องตรงกับวรรณกรรมสามก๊ก ฉบับภาษาจีนตอนที่ 2)
- ↑ (督郵以公事到縣,先主求謁,不通,直入縛督郵,杖二百,解綬係其頸著馬枊,五葬反。棄官亡命。 典略曰:其後州郡被詔書,其有軍功為長吏者,當沙汰之,備疑在遣中。督郵至縣,當遣備,備素知之。聞督郵在傳舍,備欲求見督郵,督郵稱疾不肯見備,備恨之,因還治,將吏卒更詣傳舍,突入門,言「我被府君密教收督郵」 。遂就床縛之,將出到界,自解其綬以系督郵頸,縛之著樹,鞭杖百餘下,欲殺之。督郵求哀,乃釋去之。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 32.
- ↑ สามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ตอนที่ 4 (เนื้อเรื่องตรงกับวรรณกรรมสามก๊ก ฉบับภาษาจีนตอนที่ 4).
- ↑ (卓表太祖為驍騎校尉,欲與計事。太祖乃變易姓名,間行東歸。魏曰:太祖以卓終必覆敗,遂不就拜,逃歸鄉里。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 1.
- ↑ สามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ตอนที่ 4. (เนื้อเรื่องตรงกับวรรณกรรมสามก๊ก ฉบับภาษาจีนตอนที่ 5)
- ↑ (出關,過中牟,為亭長所疑,執詣縣,邑中或竊識之,為請得解。世語曰:中牟疑是亡人,見拘於縣。時掾亦已被卓書;唯功曹心知是太祖,以世方亂,不宜拘天下雄俊,因白令釋之。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 1.
- ↑ สามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ตอนที่ 7. (เนื้อเรื่องตรงกับวรรณกรรมสามก๊ก ฉบับภาษาจีนตอนที่ 8-9)
- ↑ (卓常使布守中閤,布與卓侍婢私通,恐事發覺,心不自安。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 7.
- ↑ (然卓性剛而褊,忿不思難,嘗小失意,拔手戟擲布。布拳捷避之,為卓顧謝,卓意亦解。由是陰怨卓。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 7.
- ↑ 101 คำถามสามก๊ก, หลี่จวนฉวินและคณะ, ถาวร สิกขโกศล แปล, สำนักพิมพ์มติชน, พ.ศ. 2556, หน้า 41
- ↑ สามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ตอนที่ 22. (เนื้อเรื่องตรงกับวรรณกรรมสามก๊ก ฉบับภาษาจีนตอนที่ 24-25)
- ↑ (先主之襲殺徐州刺史車胄,使羽守下邳城,行太守事,魏書云:以羽領徐州。而身還小沛。建安五年,曹公東徵,先主奔袁紹。曹公禽羽以歸,拜為偏將軍,禮之甚厚。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 36.
- ↑ สามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ตอนที่ 23. (เนื้อเรื่องตรงกับวรรณกรรมสามก๊ก ฉบับภาษาจีนตอนที่ 25-26)
- ↑ (紹遣大將軍顏良攻東郡太守劉延於白馬,曹公使張遼及羽為先鋒擊之。羽望見良麾蓋,策馬刺良於萬眾之中,斬其首還,紹諸將莫能當者,遂解白馬圍。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 36.
- ↑ (紹渡河,壁延津南,使劉備、文丑挑戰。太祖擊破之,斬丑,再戰,禽紹大將。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 6.
- ↑ สามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ตอนที่ 24-25. (เนื้อเรื่องตรงกับวรรณกรรมสามก๊ก ฉบับภาษาจีนตอนที่ 26-28)
- ↑ (初,曹公壯羽為人, ... 左右欲追之,曹公曰:「彼各為其主,勿追也。」) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 36.
- ↑ สามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ตอนที่ 25. (เนื้อเรื่องตรงกับวรรณกรรมสามก๊ก ฉบับภาษาจีนตอนที่ 28)
- ↑ (紹遣先主將本兵復至汝南,與賊龔都等合,眾數千人。曹公遣蔡陽擊之,為先主所殺。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 32.
- ↑ สามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ตอนที่ 31. (เนื้อเรื่องตรงกับวรรณกรรมสามก๊ก ฉบับภาษาจีนตอนที่ 34-35)
- ↑ (世語曰:備屯樊城,劉表禮焉,憚其為人,不甚信用。曾請備宴會,蒯越、蔡瑁欲因會取備,備覺之,偽如廁,潛遁出。所乘馬名的盧,騎的盧走,墮襄陽城西檀溪水中,溺不得出。備急曰:「的盧:今日厄矣,可努力!」的盧乃一踴三丈,遂得過,乘浮渡河,中流而追者至,以表意謝之,曰:「何去之速乎!」) อรรถาธิบายบันทึก ชื่อยฺหวี่ ใน จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 32.
- ↑ (孫盛曰:此不然之言。備時羈旅,客主勢殊,若有此變,豈敢晏然終表之世而無釁故乎?此皆世俗妄說,非事實也。) อรรถาธิบายของซุนเซิ่งใน จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 32.
- ↑ สามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) เรียกน้องชายของขงเบ้งว่า จูกัดกิ๋น ซ้ำกับจูกัดกิ๋น (จูเก๋อจิ่น) ที่เป็นพี่ชายของขงเบ้ง
- ↑ สามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ตอนที่ 33. (เนื้อเรื่องตรงกับวรรณกรรมสามก๊ก ฉบับภาษาจีนตอนที่ 37-38)
- ↑ (由是先主遂詣亮,凡三往,乃見。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 35.
- ↑ (亮乃北行見備,備與亮非舊,又以其年少,以諸生意待之。坐集既畢,眾賓皆去,而亮獨留,備亦不問其所欲言。備性好結毦,時適有人以髦牛尾與備者,備因手自結之。亮乃進曰:「明將軍當復有遠志,但結毦而已邪!」備知亮非常人也,乃投毦而答曰:「是何言與!我聊以忘憂耳。」亮遂言曰:「將軍度劉鎮南孰與曹公邪?」備曰:「不及。」亮又曰:「將軍自度何如也?」備曰:「亦不如。」曰:「今皆不及,而將軍之眾不過數千人,以此待敵,得無非計乎!」備曰:「我亦愁之,當若之何?」亮曰:「今荊州非少人也,而著籍者寡,平居發調,則人心不悅;可語鎮南,令國中凡有游戶,皆使自實,因錄以益眾可也。」備從其計,故眾遂強。備由此知亮有英略,乃以上客禮之。) อรรถาธิบายของเผย์ ซงจือในจดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 35.
- ↑ (...三顧臣於草廬之中,諮臣以當世之事。) จูกัดเหลียง (ขงเบ้ง). ฎีกาออกศึกครั้งแรก.
- ↑ อมร ทองสุก (แปลและเรียบเรียง). ตำราพิชัยสงครามขงเบ้ง. บริษัท ชุณหวัตร จำกัด. พ.ศ. 2551.
- ↑ (臣松之以為亮表云「先帝不以臣卑鄙,猥自枉屈,三顧臣於草廬之中,諮臣以當世之事」,則非亮先詣備,明矣。) อรรถาธิบายของเผย์ ซงจือในจดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 35.
- ↑ สามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ตอนที่ 38. (เนื้อเรื่องตรงกับวรรณกรรมสามก๊ก ฉบับภาษาจีนตอนที่ 44)
- ↑ สามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ตอนที่ 39.
- ↑ (備進住夏口,使諸葛亮詣權,權遣同瑜、程普等行。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 47.
- ↑ (時劉備為曹公所破,欲引南渡江。與魯肅遇於當陽,遂共圖計,因進住夏口,遣諸葛亮詣權。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 54.
- ↑ (備遂到夏口,遣亮使權,肅亦反命。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 54.
- ↑ (先主至於夏口,亮曰:「事急矣,請奉命求救於孫將軍。」時權擁軍在柴桑,觀望成敗,亮說權曰:「海內大亂,將軍起兵據有江東,劉豫州亦收眾漢南,與曹操並爭天下。今操芟夷大難,略已平矣,遂破荊州,威震四海。英雄無所用武,故豫州遁逃至此。將軍量力而處之:若能以吳、越之眾與中國抗衡,不如早與之絕﹔若不能當,何不案兵束甲,北面而事之!今將軍外託服從之名,而內懷猶豫之計,事急而不斷,禍至無日矣!」權曰:「苟如君言,劉豫州何不遂事之乎?」亮曰:「田橫,齊之壯士耳,猶守義不辱,況劉豫州王室之冑,英才蓋世,眾士仰慕,若水之歸海,若事之不濟,此乃天也,安能復為之下乎!」權勃然曰:「吾不能舉全吳之地,十萬之眾,受制於人。吾計決矣!非劉豫州莫可以當曹操者,然豫州新敗之後,安能抗此難乎?」亮曰:「豫州軍雖敗於長阪,今戰士還者及關羽水軍精甲萬人,劉琦合江夏戰士亦不下萬人。曹操之眾,遠來疲弊,聞追豫州,輕騎一日一夜行三百餘里,此所謂『彊弩之末,勢不能穿魯縞』者也。故兵法忌之,曰『必蹶上將軍』。且北方之人,不習水戰﹔又荊州之民附操者,逼兵勢耳,非心服也。今將軍誠能命猛將統兵數萬,與豫州協規同力,破操軍必矣。操軍破,必北還,如此則荊、吳之勢彊,鼎足之形成矣。成敗之機,在於今日。」權大悅,即遣周瑜、程普、魯肅等水軍三萬,隨亮詣先主,並力拒曹公。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 35.
- ↑ (十五年春, ... 冬,作銅雀台。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 1.
- ↑ ชมปราสาทตั้งเซ็กไต๋ ในวิกิซอร์ซภาษาจีน เจ็ดวรรคที่เพิ่มเติมขึ้นมาแสดงด้วยตัวอักษรสีแดง (จีน)
- ↑ สามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ตอนที่ 40. (เนื้อเรื่องตรงกับวรรณกรรมสามก๊ก ฉบับภาษาจีนตอนที่ 46)
- ↑ (魏略曰:權乘大船來觀軍,公使弓弩亂發,箭著其船,船偏重將覆,權因回船,復以一面受箭,箭均船平,乃還。) อรรถาธิบายจากจดหมายเหตุ เว่ยเลฺว่ ใน จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 47.
- ↑ สามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ตอนที่ 41. (เนื้อเรื่องตรงกับวรรณกรรมสามก๊ก ฉบับภาษาจีนตอนที่ 49)
- ↑ สามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ตอนที่ 41-42. (เนื้อเรื่องตรงกับวรรณกรรมสามก๊ก ฉบับภาษาจีนตอนที่ 50-51)
- ↑ (山陽公載記曰:公船艦為備所燒,引軍從華容道步歸,遇泥濘,道不通,天又大風,悉使羸兵負草填之,騎乃得過。羸兵為人馬所蹈藉,陷泥中,死者甚眾。軍既得出,公大喜,諸將問之,公曰:「劉備,吾儔也。但得計少晚;向使早放火,吾徒無類矣。」備尋亦放火而無所及。) อรรถาธิบายจากจดหมายเหตุ ชานหยางกงไจ้จี้ ใน จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 1.
- ↑ สามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ตอนที่ 45. (เนื้อเรื่องตรงกับวรรณกรรมสามก๊ก ฉบับภาษาจีนตอนที่ 54-55)
- ↑ (琦病死,群下推先主為荊州牧,治公安。權稍畏之,進妹固好。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 32.
- ↑ (劉備以左將軍領荊州牧,治公安,備詣京見權,瑜上疏曰:"劉備以梟雄之姿,而有關羽、張飛熊虎之將,必非久屈為人用者。愚謂大計宜徙備置吳,盛為築宮室,多其美女玩好,以娛其耳目,分此二人,各置一方,使如瑜者得挾與攻戰,大事可定也。今猥割土地以資業之,聚此三人,俱在疆場,恐蛟龍得雲雨,終非池中物也。"權以曹公在北方,當廣攬英雄,又恐備難卒制,故不納。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 54.
- ↑ (亮答曰:「主公之在公安也,北畏曹公之強,東憚孫權之逼,近則懼孫夫人生變於肘腋之下;...」) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 37.
- ↑ (初,孫權以妹妻先主,妹才捷剛猛,有諸兄之風,侍婢百餘人,皆親執刀侍立,先主每入,衷心常凜凜;...) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 37.
- ↑ สามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ตอนที่ 46. (เนื้อเรื่องตรงกับวรรณกรรมสามก๊ก ฉบับภาษาจีนตอนที่ 56-57)
- ↑ (是時劉璋為益州牧,外有張魯寇侵,瑜乃詣京見權曰:「今曹操新折衂,方憂在腹心,未能與將軍道兵相事也。乞與奮威俱進取蜀,得蜀而并張魯,因留奮威固守其地,好與馬超結援。瑜還與將軍據襄陽以蹙操,北方可圖也。」權許之。瑜還江陵,為行裝,而道於巴丘病卒,時年三十六。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 54.
- ↑ สามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ตอนที่ 49. (เนื้อเรื่องตรงกับวรรณกรรมสามก๊ก ฉบับภาษาจีนตอนที่ 60)
- ↑ (此書吾蜀中三尺小童,亦能暗誦,何為『新書』?此是戰國時無名氏所作,曹丞相盜竊以為己能,止好瞞足下耳!) สามก๊ก ตอนที่ 60 (ภาษาจีน).
- ↑ (魏書曰:太祖自統禦海內,芟夷群醜,其行軍用師,大較依孫、吳之法,而因事設奇,譎敵制勝,變化如神。自作兵書十萬餘言,諸將征伐,皆以新書從事。) อรรถาธิบายจากจดหมายเหตุเว่ยชู ในจดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 1.
- ↑ ปุจฉาวิสัชนาจักรพรรดิถังไท่จงกับหลี่เว่ยกง ในวิกิซอร์ซภาษาจีน.
- ↑ สามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ตอนที่ 54.(เนื้อเรื่องตรงกับวรรณกรรมสามก๊ก ฉบับภาษาจีนตอนที่ 66)
- ↑ (肅邀羽相見,各駐兵馬百步上,但諸將軍單刀俱會。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 54.
- ↑ สามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ตอนที่ 59. (เนื้อเรื่องตรงกับวรรณกรรมสามก๊ก ฉบับภาษาจีนตอนที่ 74-75)
- ↑ สามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ตอนที่ 61. (เนื้อเรื่องตรงกับวรรณกรรมสามก๊ก ฉบับภาษาจีนตอนที่ 77)
- ↑ สามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ตอนที่ 62. (เนื้อเรื่องตรงกับวรรณกรรมสามก๊ก ฉบับภาษาจีนตอนที่ 77-78)
- ↑ (庚子,王崩於洛陽,年六十六。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 1.
- ↑ (佗之絕技,凡此類也。 ... 及後愛子倉舒病困,太祖嘆曰:「吾悔殺華佗,令此兒強死也。」) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 29.
- ↑ (世語曰:太祖自漢中至洛陽,起建始殿,伐濯龍祠而樹血出。) อรรถาธิบายจากบันทึกชื่อยฺหวี่ ในจดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 1.
- ↑ (曹瞞傳曰:王使工蘇越徙美梨,掘之,根傷盡出血。越白狀,王躬自視而惡之,以為不祥,還遂寢疾。) อรรถาธิบายจากบันทึกเฉาหมานฉวน ในจดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 1.
- ↑ สามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ตอนที่ 67-69. (เนื้อเรื่องตรงกับวรรณกรรมสามก๊ก ฉบับภาษาจีนตอนที่ 87-91)
- ↑ (亮笑,縱使更戰,七縱七禽,而亮猶遣獲。) อรรถาธิบายของเผย์ ซงจือในจดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 35.
- ตันซิ่ว. จดหมายเหตุสามก๊ก (ซานกั๋วจื้อ).
- ฟ่าน เย่. จดหมายเหตุราชวงศ์ฮั่นยุคหลัง (โฮฺ่วฮั่นซู).
- ฝาง เสฺวียนหลิ่ง. จดหมายเหตุราชวงศ์จิ้น (จิ้นซู).
- ล่อกวนตง. สามก๊ก (ซานกั๋วเหยี่ยนอี้).
- เผย์ ซงจือ. อรรถาธิบายจดหมายเหตุสามก๊ก (ซานกั๋วจื้อจู็).
- ซือหม่า กวาง. จือจื้อทงเจียน