เตียวติด

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เตียวติด (เจ้า จื๋อ)
趙直
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิดไม่ทราบ
เสียชีวิตไม่ทราบ
อาชีพโหราจารย์

เตียวติด มีชื่อในภาษาจีนกลางว่า เจ้า จื๋อ (จีน: 趙直; พินอิน: Zhào Zhí) เป็นโหราจารย์ของรัฐจ๊กก๊กในยุคสามก๊กของจีน เชี่ยวชาญด้านการตีความความฝัน

ความฝันเกี่ยวกับต้นหม่อนที่เติบโต[แก้]

วันหนึ่งขุนนางของจ๊กก๊กชื่อเหอ จือ (何祗) ฝันถึงต้นหม่อนที่เติบโตในบ่อน้ำบ้านของตน จึงขอให้เตียวติดช่วยตีความความฝัน เตียวติดกล่าวว่า "ต้นหม่อนไม่ใช่สิ่งที่เติบโตในบ่อน้ำ และอักษรของ 'หม่อน' (桑 ซาง; ในยุคโบราณเขียนว่า 桒) ประกอบด้วยอักษรย่อยคืออักษรเลข 'สิบ' (十 ฉือ) สี่ตัวกับอักษรเลข 'แปด' (八 ปา) หนึ่งตัว เกรงว่าอายุขัยของท่านจะไม่เกิน 48 ปี (ตามการนับอายุแบบบเอเชียตะวันออก)" เหอ จือยิ้มและพูดว่า "มีชีวิตอยู่ได้ 48 ปีก็เพียงพอแล้ว"[1] เหอ จือเสียชีวิตในเวลาต่อมาเมื่ออายุได้ 48 ปีตามคำทำนายของเตียวติด[2]

เจียวอ้วนขอให้ตีความความฝัน[แก้]

ก่อนที่เจียวอ้วนจะติดตามเล่าปี่ไปยังมณฑลเอ๊กจิ๋ว เคยรับราชการเป็นผู้ช่วยอาลักษณ์ (書佐 ชูจั่ว) หลังเล่าปี่ยึดได้มณฑลเอ๊กจิ๋วจากเล่าเจี้ยงในปี ค.ศ. 214 ได้แต่งตั้งให้เจียวอ้วนเป็นนายอำเภอของอำเภอกว่างตู (廣都縣 กว่างตูเซี่ยน; อยู่ทางตะวันออกเฉียงของเขตซฺวางหลิว นครเฉิงตู มณฑลเสฉวนในปัจจุบัน) แต่ระหว่างดำรงตำแหน่ง เจียวอ้วนเอาแต่เสพสุราและละเลยหน้าที่ในฐานะนายอำเภอ เล่าปี่คิดจะลงโทษสถานหนักกับเจียวอ้วน แต่จูกัดเหลียงทัดทานและพูดว่า "เจียวอ้วนเป็นเสาหลักสำคัญของบ้านเมือง ความสามารถของเขานั้นยิ่งใหญ่เกินกว่าจะใช้ปกครองพื้นที่เพียง 100 ลี้ รูปแบบการปกครองของเขาเน้นที่การนำสันติและความมั่นคงมาสู่ราษฎร เขาไม่ถือเอาเรื่องผิวเผินมาเป็นสาระสำคัญ ข้าพเจ้าเห็นว่านายท่านควรจะตรวจสอบเรื่องนี้อย่างถี่ถ้วนมากขึ้น" เล่าปี่นับถือจูกัดเหลียงอย่างสูงมาโดยตลอด จึงตัดสินใจไม่ไต่สวนความผิดของเจียวอ้วนอีก แต่ให้ปลดเจียวอ้วนออกจากตำแหน่ง

หลังถูกปลดจากตำแหน่ง วันหนึ่งเจียวอ้วนฝันเห็นหัววัวแขวนที่อยู่ที่ประตูและมีเลือดไหลหยดลงมา เจียวอ้วนไม่สบายใจกับความฝันนี้จึงไปหาเตียวติดให้ช่วยตีความความฝัน[3] เตียวติดบอกว่า "การเห็นเลือดหมายถึงมีชะตาที่กระจ่างแจ้ง เขาและจมูกของวัวมีลักษณะคล้ายตัวอักษร กง (公) ท่านจึงจะขึ้นมามีตำแหน่งชั้นก๋ง (公 กง) ในกาลภายหน้า นี่เป็นนิมิตมงคลยิ่ง"[4] ภายหลังเจียงอ้วนขึ้นมามีตำแหน่งสูงสุดที่เสนาบดีกลาโหม (大司馬 ต้าซือหม่า) และมีบรรดาศักดิ์อานหยางถิงโหว (安陽亭侯)

อุยเอี๋ยนฝันว่ามีเขางอก[แก้]

ในปี ค.ศ. 234 ระหว่างการบุกขึ้นเหนือของจูกัดเหลียงครั้งที่ 5 อุยเอี๋ยนได้เป็นนายทัพหน้า คืนหนึ่งอุยเอี๋ยนฝันว่ามีเขางอกบนศีรษะ จึงขอให้เตียวติดช่วยตีความความฝัน[5] เตียวติดกล่าวว่า "กิเลนก็มีเขาแต่ไม่ได้ใช้ เป็นนิมิตมงคลว่าข้าศึกจะแตกพ่ายไปเองโดยไม่ต้องรบ"[6] หลังจากที่อุยเอี๋ยนออกไปแล้วเตียวติดก็พูดกับคนอื่น ๆ ว่า "อักษร 'เขา' (角 เจี่ยว) แยกย่อยได้เป็นอักษร 'ดาบ' (刀 เตา) และอักษร 'ใช้' (用 ย่ง) การใช้ดาบบนศีรษะถือเป็นลางร้ายอย่างมาก"[7] ผลปรากฏว่าระหว่างที่อุยเอี๋ยนต่อสู้แย่งชิงอำนาจกับเอียวหงี เอียวหงีได้ส่งม้าต้ายไล่ตามตีอุยเอี๋ยนและตัดศีรษะอุยเอี๋ยนกลับมา

ดูเพิ่ม[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. (嘗夢井中生桑,以問占夢趙直,直曰:「桑非井中之物,會當移植;然桑字四十下八,君壽恐不過此。」祗笑言「得此足矣」。) อรรถาธิบายจากอี้ปู้ฉีจิ้วฉฺวานในจดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 41.
  2. (轉祗為犍為。年四十八卒。) อรรถาธิบายจากอี้ปู้ฉีจิ้วฉฺวานในจดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 41.
  3. (琬見推之後,夜夢有一牛頭在門前,流血滂沲,意甚惡之,呼問占夢趙直。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 44.
  4. ([趙]直曰:「夫見血者,事分明也。牛角及鼻,『公』字之象,君位必當至公,大吉之徵也。」) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 44.
  5. (十二年,亮出北谷口,延為前鋒。出亮營十里,延夢頭上生角,以問占夢趙直退而告人曰) ''จดหมายเหตุสามก๊ก'' เล่มที่ 40.
  6. (,直詐延曰:「夫麒麟有角而不用,此不戰而賊欲自破之象也。」) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 40.
  7. (退而告人曰:「角之為字,刀下用也;頭上用刀,其凶甚矣。」) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 40.

บรรณานุกรม[แก้]