เจียง จื่อหยา

![]() |
คอมมอนส์ มีภาพและสื่อเกี่ยวกับ: เจียง จื่อหยา |
เจียงจื่อหยา (ตามสำเนียงกลาง) หรือ เกียงจูแหย (ตามสำเนียงฮกเกี้ยน จีน: 姜子牙; พินอิน: Jiāng Zǐyá) หรือเป็นที่รู้จักในชื่อ เจียงไท่กง (จีน: 姜太公; พินอิน: Jiāng Tàigōng) เป็นนักยุทธศาสตร์คนสำคัญของโจวเหวินหวังและโจวอู่หวัง ผู้นำในการก่อรัฐประหารเพื่อล้มล้างราชวงศ์ซาง และสถาปนาราชวงศ์โจวขึ้น มีชีวิตอยู่เมื่อประมาณ 3,000 กว่าปีที่แล้ว ในปัจจุบัน นักประวัติศาสตร์ และนักวิชาการ หลายสำนักต่างลงความเห็นว่า เจียง จื่อหยา คือ 1 ใน 2 นักยุทธศาสตร์การสงครามที่เก่งกาจที่สุดในประวัติศาสตร์จีน โดยอีกผู้หนึ่งได้แก่ เตียวเหลียง (มีชีวิตอยู่ในสมัยราชวงศ์ฮั่นตะวันตก เป็นคนละคนกับเตียวเหลียงในเรื่องสามก๊ก) เสนาบดีแห่งราชวงศ์ฮั่นของหลิวปัง หรือปฐมจักรพรรดิฮั่นเกา ซึ่งบางตำราอ้างว่าเตียวเหลียงศึกษาการสงครามมาจากตำราพิชัยสงครามที่ เจียงจื่อหยา เขียนขึ้น
ประวัติ[แก้]
เจียงจื่อหยา เดิมเป็นขุนนางในราชวงศ์ซาง แต่ทนความโหดร้ายในการปกครองของอ๋องโจ้ว ผู้ปกครองแห่งราชวงศ์ซางไม่ไหว จึงเร้นกายมาพำนักที่ชนบทห่างไกลแห่งหนึ่งริมแม่น้ำเว่ยสุ่ย (ปัจจุบันอยู่ในมณฑลส่านซี)
ในประวัติศาสตร์บันทึกว่า ในขณะเดินทางไปล่าสัตว์ โจวเหวินหวังได้พบกับเจียง จื่อหยาในวัย 80 ปี กำลังนั่งตกปลาโดยที่ไม่มีเหยื่อ เขาจึงเข้าไปทักทายอย่างสุภาพแล้วถามว่า "ท่านมีความสุขในการตกปลาหรือไม่" เจียงจื่อหยาได้ตอบว่า 'บุคคลที่น่ายกย่องที่แท้จริงนั้น คือผู้ที่มีความสุขในการที่ทำให้ความมุ่งมั่นนั้นสำเร็จ การตกปลาของข้าพเจ้าก็เช่นกัน' เมื่อสนทนาด้วย ทำให้โจวเหวินหวังพบว่านี่คือคนที่ปู่ของตนตามหา ซึ่งบุคคลสำคัญที่จะสามารถช่วยโค่นล้มทรราชได้ ดังนั้นโจวเหวินหวังจึงได้เชิญเจียง จื่อหยาไปรับตำแหน่งที่สำคัญและขนานนาม ให้ว่า เจียงไท่กงหวั่ง ต่อมาได้ย่อให้เป็น ไท่กงวั่ง (จีน: 太公望; พินอิน: Tàigōng Wàng) มีความหมายว่า ความหวังแห่งราชวงศ์โจว แต่โดยทั่วไป มักจะรู้จักกันในนาม เจียงไท่กง
เมื่อโค่นราชวงศ์ซางลงแล้ว เจียงจื่อหยา ได้รับการแต่งตั้งเป็นอัครมหาเสนาบดีแห่งราชวงศ์โจว และได้รับแคว้นฉีไปปกครอง ซึ่งเจียง จื่อหยาได้ช่วยสร้างความเจริญให้แก่บ้านเมืองมาก ทั้งด้านการเมือง การปกครอง และศิลปวัฒนธรรม จนเป็นราชวงศ์ที่ยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์จีน
จนมีคำกล่าวว่า แท้จริงแล้ว บุคคลที่เป็นทั้งเป็นบิดาและเจ้าแห่งตำราพิชัยสงครามในประวัติศาสตร์จีนคนแรกคือ เจียง จื่อหยา ซึ่งเขาได้เขียนตำราพิชัยสงครามไว้เล่มหนึ่งชื่อว่า หกความลับแห่งยุทธศาสตร์ (นอกจากนี้ ยังมีข้อสันนิษฐานว่า ตำราสามยุทธศาสตร์ของหวางสือกง แท้จริงแล้ว อาจเป็นงานของ เจียง จื่อหยา)
วรรณกรรม[แก้]
ในด้านงานเขียนนั้น เจียงจื่อหยา ได้ปรากฏอยู่ในวรรณกรรมจีนโบราณเรื่องห้องสิน ในฐานะผู้สั่งประหารนางต๋าจีซึ่งเป็นนางจิ้งจอกพันปีแปลงกายมาล่อลวงจักรพรรดิองค์สุดท้ายแห่งราชวงศ์ซางให้ลุ่มหลงในอำนาจและกามรมณ์ จนนำไปสู่การก่อรัฐประหารโค่นล้มราชวงศ์ในที่สุด นอกจากนี้ ตามตำนานยังได้กล่าวว่า เจียงจื่อหยาเป็นผู้ที่มีความอดทนสูง จากการที่นั่งตกปลารอผู้ต้องการตัวไปช่วยเหลือเป็นเวลานานถึงกว่า 50-60 ปีเลยทีเดียว ซึ่งเรื่องราวการนั่งตกปลาของเจียงจื่อหยานี้ได้เป็นที่มาเป็นภาษิตจีนที่ว่า "ไท่กงตกปลา" (太公钓鱼, ไท่กงเตี้ยวอี๋ว์) ที่มีความหมายถึง "ทั้ง ๆ ที่รู้แต่ก็ยินยอมติดกับดักที่ผู้อื่นวางไว้"[1]
ในปัจจุบันเจียงจื่อหยาได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งในนักยุทธศาสตร์ที่เก่งที่สุดทั้งในประวัติศาสตร์จีนและโลกด้วย[2][3]
อ้างอิง[แก้]
- ↑ "ไท่กงเตี้ยวอี๋ว์ (太公钓鱼) : ไท่กงตกปลา". ผู้จัดการออนไลน์. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-04. สืบค้นเมื่อ 2011-10-11.
- ↑ Sawyer, Ralph D. The Seven Military Classics of Ancient China. New York: Basic Books. 2007. p. 27.
- ↑ "T'ai Kung's Six Secret Teachings". Trans. Ralph D. Sawyer. In Sawyer, Ralph D., The Seven Military Classics of Ancient China. New York: Basic Books. 2007. p. 40.