โฮจิ๋น

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เหอ จิ้น (มาตรฐาน)
โฮจิ๋น (ฮกเกี้ยน)
何進
แม่ทัพใหญ่ (大將軍)
ดำรงตำแหน่ง
ค.ศ. 184 – 189
กษัตริย์พระเจ้าเลนเต้
หองจูเปียน
ข้าหลวงเมืองเหอหนาน (河南尹)
ดำรงตำแหน่ง
ค.ศ. 180 – 184
กษัตริย์พระเจ้าเลนเต้
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิดไม่ปรากฏ
เมืองหนานหยาง มณฑลเหอหนาน
เสียชีวิต22 กันยายน ค.ศ. 189 [1]
เมืองลั่วหยาง มณฑลเหอหนาน
บุตรโฮเสียน

เหอ จิ้น หรือสำเนียงแต้จิ๋วว่า โฮจิ๋น (จีนตัวย่อ: 何进; จีนตัวเต็ม: 何進; พินอิน: Hé Jìn; เวด-ไจลส์: Ho Chin) (เสียชีวิต 22 กันยายน ค.ศ. 189) [1] มีชื่อรองว่าซุ่ยเกา (จีน: 遂高; พินอิน: Suìgāo) เป็นตัวละครในวรรณกรรมจีนอิงประวัติศาสตร์เรื่องสามก๊กที่มีตัวตนจริงในประวัติศาสตร์ยุคสามก๊ก เป็นแม่ทัพใหญ่ซึ่งบัญชาการกองทัพทหารและผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในช่วงยุคปลายราชวงศ์ฮั่นตะวันออกของจีน เขาเป็นพระเชษฐาของสมเด็จพระจักรพรรดินีเหอ พระมเหสีของจักรพรรดิฮั่นหลิงตี้ และพระมาตุลาขององค์ชายหฺวังจื่อเปี้ยน ในปี ค.ศ. 189 เขาและน้องสาวได้แบ่งปันอำนาจกันในฐานะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เมื่อองค์ชายหฺวังจื่อเปี้ยนที่ยังทรงพระเยาว์ได้ขึ้นครองราชบังลังก์เป็นจักรพรรดิฮั่นเซ่าตี้ ภายหลังจากจักรพรรดิฮั่นหลิงตี้ทรงสวรรคต ในช่วงเวลานั้น ความขัดแย้งระหว่างเหอจิ้นกับกลุ่มขันทีผู้มีอิทธิพลได้ทวีความรุนแรงมากขึ้น กลุ่มขันทีได้ล่อลวงให้เหอจิ้นเข้าไปยังกับดักในพระราชวังและลอบสังหารเขา ในขณะที่เหล่าบรรดาลูกน้องของเหอจิ้นได้เข้าสังหารพวกขันทีเพื่อเป็นการล้างแค้น ขุนศึกนามว่า ต่งจั่ว ได้ใช้ประโยชน์จากภาวะสุญญากาศทางอำนาจเพื่อเดินทางเข้าสู่ลั่วหยาง เมืองหลวงของจักรวรรดิ และเข้ายึดการควบคุมราชสำนักฮั่นเอาไว้ทั้งหมด การล่มสลายของกองบัญชาการกองทัพทหารส่วนกลางที่ตามมาทำให้เกิดสงครามกลางเมืองครั้งใหญ่ซึ่งนำไปสู่ยุคสิ้นราชวงศ์ฮั่นและจุดเริ่มต้นของยุคสามก๊ก

ประวัติ[แก้]

เหอจิ้นเกิดในครอบครัวคนขายเนื้อในเมืองหนานหยาง บ้านเกิดของจักรพรรดิฮั่นกวังอู่ ผู้ก่อตั้งราชวงศ์ ในรัชสมัยจักรพรรดิฮั่นหลิงตี้ น้องสาวต่างมารดาที่อยู่ในวัยดรุณีก็ได้เข้าไปในพระราชวัง และในไม่ช้าก็กลายเป็นหนึ่งในสนมคนโปรดของจักรพรรดิ ในปี ค.ศ. 180 นางได้รับการแต่งตั้งให้เป็นสมเด็จพระจักรพรรดินี และนับแต่นั้นมา เหอจิ้นก็ได้ถูกยกฐานะขึ้นอย่างรวดเร็วในระบบราชการ

เมื่อกบฏโพกผ้าเหลืองปะทุขึ้นในปี ค.ศ. 184 เหอจิ้นได้รับการแต่งตั้งให้เป็นแม่ทัพใหญ่(大將軍) เขาได้เข้าควบคุมคลังอาวุธของจักรวรรดิ ยึดป้อมปราการทางยุทธศาสตร์ไว้รอบเมืองหลวง และเคลื่อนที่อย่างรวดเร็วเพื่อเข้าปราบปรามการก่อจลาจลที่ลั่วหยาง นำโดยม้าอ้วนยี่(馬元義) สาวกผู้ติดตามของจางเจวี่ย ผู้นำกบฏ การทัพครั้งนี้ถือว่าประสบความสำเร็จและเหอจิ้นได้รับยศถาบรรดาศักดิ์เป็นโหวแห่งเซิน(慎侯) ภายหลังจลาจลได้สงบลง เหอ จิ้นยังคงดำรงตำแหน่งแม่ทัพใหญ่ ได้ควบคุมกองทัพจักรวรรดิเอาไว้ทั้งหมด ในช่วงเวลานั้น สมาชิกคนอื่น ๆ ในครอบครัวเขา เช่น เหอเหมียว น้องชายต่างมารดาของเขา ก็ได้รับเลื่อนตำแหน่งที่สำคัญเช่นกัน

ในปี ค.ศ. 188 เมื่อทรงตระหนักว่าจะต้องถ่วงดุลอำนาจของตระกูลเหอ จักรพรรดิฮั่นหลิงตี้ทรงสร้างกองทัพแห่งราชอุทยานตะวันตก จักรพรรดิเสด็จเดินตรวจแถวอย่างโอ้อวดต่อหน้ากองทัพและแต่งตั้งพระองค์เองว่า "จอมทัพสูงสุด"(無上將軍) จักรพรรดิยังให้กองทัพอยู่ภายใต้คำสั่งของเจี่ยนชั่ว ขันทีที่ทรงไว้พระทัย ด้วยการที่ทรงบัญชาการกองทัพแห่งราชอุทยานตะวันตก จักรพรรดิฮั่นหลิงตี้สามารถรับสั่งให้เหอจิ้นอยู่ภายใต้บัญชาการของพระองค์

เมื่อจักรพรรดิฮั่นหลิงตี้ทรงสวรรคตในช่วงต้นปี ค.ศ. 189 และมีการเปิดฉากของการเผชิญหน้ากันระหว่างเหอจิ้นกับกลุ่มขันที เจี่ยนชั่วได้วางแผนที่จะล่อลวงให้เหอจิ้นเข้าไปติดกับดักในพระราชวังและลอบสังหารเขาซะ เมื่อเหอจิ้นได้เข้ามาถึงหน้าประตูพระราชวัง เจ้าหน้าที่นายทหารชั้นผู้น้อยนามว่า พานอิ่น(潘隱) ได้เข้ามาเตือนเหอจิ้นถึงแผนการร้ายของเจี่ยนชั่วให้รับทราบ ด้วยความตกใจ เหอจิ้นจึงหันหลังกลับไปที่ค่ายทหารของเขาและรอดพ้นจากการถูกลอบสังหาร หลังจากนั้น เหอจิ้นได้เข้าจับกุมเจี่ยนชั่วและประหารชีวิต นอกจากนี้เขายังได้เข้ายึดคำสั่งกองทัพทหารก่อนหน้านี้ภายใต้คำสั่งของเจี่ยนชั่ว ด้วยการสนับสนุนของตระกูลหยวน(อ้วน)ระดับชั้นนำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือ หยวนเซ่าและหยวนซู่ ข้อพิพาทเรื่องการสืบราชบังลงก์ได้ถูกตัดสินแล้วว่าจะให้การสนับสนุนองค์ชายหฺวังจื่อเปี้ยน โอรสของสมเด็จพระจักรพรรดินีเหอ ได้ขึ้นครองราชบังลังก์เป็นจักรพรรดิฮั่นเซ่าตี้ในเดือนที่ห้าของปีนั้น เหอจิ้นและน้องสาวของเขาซึ่งปัจจุบันเป็นหฺวังไท่โฮ่ว ร่วมกันทำหน้าที่บทบาทเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

ในช่วงฤดูร้อนของเดือน เหอจิ้นและลูกน้องของเขาได้ต่อสู้กับกลุ่มขันทีในศาลการเมือง ฝ่ายขันทีซึ่งตอนนี้ไม่มีอำนาจทางทหารของพวกเขาแล้ว จึงต้องไปอาศัยการสนับสนุนของหฺวังไท่โฮ่วและเหอเหมี่ยว ตามคำเรียกร้องของหยวนเซ่า เหอจิ้นได้เรียกแม่ทัพต่งจั่วให้มาที่ชานเมืองของลั่วหยาง เพื่อบีบบังคับหฺวังไท่โฮ่วให้ถอยออกไป ในเดือนที่เก้าของปีนั้น เหอจิ้นได้เข้าไปในพระราชวังเพื่อทูลขอให้หฺวังไท่โฮ่วยินยอมให้ทำการประหารเหล่าขันทีเสีย จางร่าง ผู้นำของกลุ่มขันทีได้ล่วงรู้ถึงแผนการของเหอจิ้นที่จะฆ่าพวกตนผ่านทางสายสืบที่ได้แอบฟังการสนทนาระหว่างเหอจิ้นและหฺวังไท่โฮ่ว พวกขันทีได้ล่อลวงเหอจิ้นเข้าไปในพระราชวังโดยอ้างว่าเป็นพระราชเสาวนีย์ของหฺวังไท่โฮ่วให้รับสั่งเข้าเฝ้า เหอจิ้นเข้าไปในพระราชวังโดยไม่สงสัยอะไรเลย และไม่มีลูกน้องและทหารที่ติดตามคอยอารักขา ทำให้เขาต้องพบจุดจบด้วยน้ำมือของพวกขันที

เมื่อสถานการณ์กำลังปั่นป่วนจนหลุดจากการควบคุมในไม่ช้า หยวนเซ่าและหยวนซู่ ซึ่งทั้งสองคนต่างควบคุมกองกำลังทหารที่สำคัญภายในเมืองหลวง ได้บุกเข้าโจมตีพระราชวัง และทำการสังหารหมู่เหล่าขันที ภาวะสุญญากาศทางอำนาจเป็นผลทำให้ต่งจั่วเข้ายึดอำนาจการปกครองของราชสำนักได้ ทันทีที่เขาได้ครองอำนาจสูงสุดเหนือเมืองหลวง ต่งจั่วก็ได้ทำการปลดจักรพรรดิฮั่นเซ่าตี้ลงจากราชบังลังก์ เพื่อสนับสนุนให้องค์ชายหลิวเสียขึ้นครองราชบังลังก์เป็นจักรพรรดิเซี่ยนตี้ การปลดจักรพรรดิองค์ก่อนและความโหดร้ายที่ตามมาของต่งจั่วได้สร้างความโกรธทั่วทั้งแผ่นดิน ในปี ค.ศ. 190 ขุนศึกจากมณฑลตะวันออกได้จัดตั้งกองกำลังผสมเพื่อโค่นล้มต่งจั่ว ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของสงครามกลางเมืองหลายครั้งซึ่งจะยังคงอยู่ไปอีกนานเกือบศตวรรษ

ครอบครัว[แก้]

เหอจิ้นมีพี่น้องร่วมสายเลือดอย่างน้อยสามคน:

  • สมเด็จพระจักรพรรดินีเหอ พระมเหสีของจักรพรรดิฮั่นหลิงตี้ และพระมารดาของจักรพรรดิฮั่นเซ่าตี้
  • ฮูหยินเหอ พี่สาวแท้ ๆ ของสมเด็จพระจักรพรรดินีเหอ แต่งงานกับบุตรบุญธรรมของขันทีจางร่าง
  • เหอเหมียว ในภาษาจีนกลางชื่อรอง ฉู่ต๋า (叔達), มีชื่อเดิมแต่กำเนิดว่า จูเหมียว(朱苗) เป็นพี่ชายคนโตต่างบิดาของสมเด็จพระจักรพรรดินีเหอที่เกิดจากแม่คนเดียวกันจึงไม่เกี่ยวข้องทางสายเลือดกับเหอจิ้นเลย เขาได้ทำหน้าที่เป็นแม่ทัพคุมรถม้าและทหารม้า(車騎將軍), ซึ่งถูกสังหารโดย อู๋ควง(吳匡) ลูกน้องผู้ติดตามของเหอจิ้นในปี ค.ศ. 189 เหตุเพราะมีความเห็นอกเห็นใจแก่พวกขันทีที่ได้ลอบสังหารเหอจิ้น

ตามแหล่งประวัติศาสตร์ที่เชื่อถือกันอย่างกว้างขวางว่า เหอจิ้นนั้นมีลูกชายอย่างน้อยหนึ่งคนคือ เหอเซี่ยน(何咸) ซึ่งรอดชีวิตจากการล่มสลายของตระกูลเหอในปี ค.ศ. 189 และเหอเซี่ยน มีบุตรชายชื่อเหอหยาน (ค.ศ. 196-249) เมื่อเหอเซี่ยนตายไป ฮูหยินหยิน(尹夫人) ภรรยาของเขาได้แต่งงานใหม่และกลายเป็นอนุภรรยาของขุนศึกนามว่า เฉา เชา ซึ่งรับเหอหยานเป็นบุตรบุญธรรม อย่างไรก็ตาม เหอหยานถูกฝังศพที่ลู่เจียง เมื่อสถานที่ฝังศพของคนหนึ่งมักจะเป็นบ้านบรรพบุรุษของเขา ซึ่งขัดแย้งกับข้อเท็จจริงที่ว่าเหอจิ้นมาจากหนานหยาง ดังนั้น เหอหยานน่าจะเป็นหลานชายของเหอเหมียว ตามที่บันทึกเหว่ยหลู่ได้เขียนเอาไว้ ในขณะที่มีบันทึกว่ามีหลายครอบครัวในตระกูลจู้ ซึ่งอาจจะเป็นตระกูลที่เหอเหมียวมาจากเมืองลู่เจียงในช่วงยุคฮั่นตะวันออก

รูปโฮจิ๋นจากเกม Romance Of The Three Kingdoms XI ของค่ายเกม KOEI

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 de Crespigny, Rafe (2007). A biographical dictionary of Later Han to the Three Kingdoms (23–220 AD). Brill. p. 312. ISBN 978-90-04-15605-0.

ดูเพิ่ม[แก้]