ข้ามไปเนื้อหา

จูกัดเก๊ก

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
จูกัดเก๊ก (จูเก่อ เค่อ)
諸葛恪
ภาพวาดของจูกัดเก๊กในยุคราชวงศ์ชิง
ข้าหลวงมณฑลเกงจิ๋วและยังจิ๋ว
(荊、揚州牧 จิง, หยางโจวมู่)
ดำรงตำแหน่ง
พฤษภาคมหรือมิถุนายน ค.ศ. 252 (252) – พฤศจิกายนหรือธันวาคม ค.ศ. 253 (253)
กษัตริย์ซุนเหลียง
ราชครู (太傅 ไท่ฟู่)
ดำรงตำแหน่ง
พฤษภาคมหรือมิถุนายน ค.ศ. 252 (252) – พฤศจิกายนหรือธันวาคม ค.ศ. 253 (253)
กษัตริย์ซุนเหลียง
ราชครูของรัชทายาท
(太子太傅 ไท่จื่อไท่ฟู่)
ดำรงตำแหน่ง
ธันวาคม ค.ศ. 251 (251) หรือมกราคม ค.ศ. 252 (252) – 21 พฤษภาคม ค.ศ. 252 (252)
กษัตริย์ซุนกวน
มหาขุนพล (大將軍 ต้าเจียงจฺวิน)
ดำรงตำแหน่ง
กันยายนหรือตุลาคม ค.ศ. 246 (246) – ธันวาคม ค.ศ. 251 (251) หรือมกราคม ค.ศ. 252 (252)
กษัตริย์ซุนกวน
หัวหน้ารัฐบาลเปาจิด (ค.ศ. 246–247)
จู จฺวี้ (ค.ศ. 249–250)
ขุนพลครองภาคเหนือ
(威北將軍 เวย์เป่ย์เจียงจฺวิน)
ดำรงตำแหน่ง
ค.ศ. ? (?) – กันยายนหรือตุลาคม ค.ศ. 246 (246)
กษัตริย์ซุนกวน
หัวหน้ารัฐบาลโกะหยง (จนถึง ค.ศ. 243)
ลกซุน (ค.ศ. 244–245)
เจ้าเมืองตันเอี๋ยง (丹陽太守 ตานหยางไท่โฉ่ว)
ดำรงตำแหน่ง
ค.ศ. 234 (234) – ค.ศ. ? (?)
กษัตริย์ซุนกวน
หัวหน้ารัฐบาลโกะหยง
ขุนพลสงบชนเผ่าอวด
(撫越將軍 ฝู่เยฺว่เจียงจฺวิน)
ดำรงตำแหน่ง
ค.ศ. 234 (234) – ค.ศ. ? (?)
กษัตริย์ซุนกวน
หัวหน้ารัฐบาลโกะหยง
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิดค.ศ. 203[a]
เสียชีวิตพฤศจิกายนหรือธันวาคม ค.ศ. 253 (50 ปี)[b]
บุตร
  • จูเก่อ ชั่ว
  • จูเก๋อ ส่ง
  • จูเก่อ เจี้ยน
บุพการี
ญาติ
อาชีพขุนพล, ขุนนาง
ชื่อรองยฺเหวียน-ซฺวิ่น (元遜)
บรรดาศักดิ์หยางตูโหว (陽都侯)

จูกัดเก๊ก หรือ จูกัดเจ๊ก[c] (ค.ศ. 203 – พฤศจิกายนหรือธันวาคม ค.ศ. 253)[b] มีชื่อในภาษาจีนกลางว่า จูเก่อ เค่อ (จีน: 諸葛恪; พินอิน: Zhūgě Kè) ชื่อรอง ยฺเหวียน-ซฺวิ่น (จีน: 元逊; พินอิน: Yuánxùn) เป็นขุนพลและขุนนางของรัฐง่อก๊กในยุคสามก๊กของจีน เป็นบุตรชายคนโตของจูกัดกิ๋นขุนพลผู้รับใช้ซุนกวนจักรพรรดิผู้ก่อตั้งรัฐง่อก๊ก หลังซุนกวนสวรรคตในปี ค.ศ. 252 จูกัดเก๊กดำรงตำแหน่งเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ของซุนเหลียงพระโอรสและผู้สืบราชบัลลังก์ของซุนกวน แต่สมัยที่จูกัดเก๊กเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ได้นำหายนะทางการทหารมาสู่ง่อก๊ก เนื่องจากนโยยายเชิงรุกรานของจูกัดเก๊กที่กระทำต่อวุยก๊กที่เป็นรัฐอริของง่อก๊ก ในปี ค.ศ. 253 จูกัดเก๊กถูกโค่นจากอำนาจในการก่อรัฐประหารและถูกสังหารพร้อมกับครอบครัว

ประวัติและการรับราชการช่วงต้น

[แก้]

ในปีค.ศ. 221 เมื่อซุนกวนผู้เป็นอ๋องแห่งง่อหรือเงาอ๋อง[d] (吳王 อู๋หวาง) แต่งตั้งให้ซุนเต๋งพระโอรสเป็นรัชทายาท ทรงจัดตั้งคณะเจ้าหน้าที่ประจำพระองค์รัชทายาทซึ่งประกอบด้วยบุตรชายของขุนนางคนสำคัญในราชสำนักหรือข้าราชการอายุน้อยที่มีชื่อเสียงคนอื่น ๆ สี่คนที่โดดเด่นที่สุดคือจูกัดเก๊ก (บุตรชายของจูกัดกิ๋น), เตียวหิว (張休 จาง ซิว; บุตรชายของเตียวเจียว), กู้ ถาน (顧譚; บุตรชายของโกะหยงหรือกู้ ยง) และเฉิน เปี่ยว (陳表; บุตรชายของตันบูหรือเฉิน อู่)[4] ซุนเต๋งทรงปฏิบัติต่อทั้งสี่คนเสมือนเป็นพระสหายสนิท และทั้งสี่คนทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาของพระองค์ เมื่อพระองค์มีรับสั่งให้หู จง (胡綜) เลขานุการของพระองค์ให้เขียนบทวิจารณ์เกี่ยวกับที่ปรึกษาทั้งสี่ของพระองค์ในปี ค.ศ. 229 หู จงเขียนว่าจูกัดเก๊กเป็นคนเก่งและฉลาดที่สุดในรุ่นของเขา[5] แม้ว่าเป็นเรื่องจริง แต่จูกัดเก๊กยังเป็นที่รู้จักว่าเป็นคนประมาทไม่รอบคอบ ซึ่งเป็นลักษณะเชิงลบที่จูกัดกิ๋นผู้บิดาตำหนิอยู่หลายครั้ง ครั้งหนึ่งจูกัดกิ๋นแสดงความเห็นว่า "ลูกคนนี้จะนำเกียรติมาสู่ครัวเรือนของข้าหรือไม่ก็ทำลายเกียรติไปเลย"[e]

หลังซุนกวนสถาปนาตนเป็นจักรพรรดิในปี ค.ศ. 229 และแต่งตั้งซุนเต๋งเป็นรัชทายาทอีกครั้ง ข้าราชบริพารทั้งสี่ก็ได้รับการเลื่อนตำแหน่งเป็นผู้บัญชาการทหารในตำแหน่งต่าง ๆ จูกัดเก๊กยังคงมีบทบาทในการสนับสนุนซุนเต๋งต่อไป[6] ในหมู่ข้าราชบริพารทั้งสี่นี้ ซุนเต๋งโปรดและไว้วางพระทัยจูกัดเก๊กและกู้ ถานมากที่สุด และยกย่องมากกว่าคนอื่น ๆ อย่างฟ่าน เชื่น (范慎), เซี่ย จิ่ง (謝景) และหยาง ฮุย (羊徽)[7]

หลังจากที่หู จงเผยแพร่บทวิจารณ์ หยาง เต้า (羊衜[f]) แสดงความเห็นต่อหู จงเป็นการส่วนตัวเกี่ยวข้อบกพร่องของทั้งสี่คน หยาง เต้าวิจารณ์จูกัดเก๊กว่า "ยฺเหวียน-ซฺวิ่น (ชื่อรองของจูกัดเก๊ก) มีความสามารถแต่สะเพร่า" ภายหลังคำวิจารณ์ของหยาง เต้ารู้ไปถึงทั้งสี่คน ทำให้ทั้งสี่คนเหินห่างจากหยาง เต้า อย่างไรก็ตาม ท้ายที่สุดทั้งสี่คนก็ประสบความล้มเหลวในด้านการเมือง ทำให้ผู้คนในง่อก๊กเห็นว่าคำวิจารณ์ของหยาง เต้านั้นถูกต้อง[8]

สยบชนเผ่าชานเยฺว่

[แก้]

ราวปี ค.ศ. 234 จูกัดเก๊กทูลเสนอแผนต่อซุนกวนเพื่อปราบปราบชนเผ่าพื้นเมืองชานเยฺว่ (山越) และเกณฑ์คนในท้องถิ่นประมาณ 40,000 คนให้มาเป็นทหารในเมืองตันเอี๋ยง (丹陽郡 ตานหยางจฺวิ้น; อยู่บริเวณนครเซฺวียนเฉิง มณฑลอานฮุยในปัจจุบัน) ขุนนางผู้ใหญ่ของซุนกวนส่วนใหญ่ รวมไปถึงจูกัดกิ๋นบิดาของจูกัดเก๊กเอง เห็นว่าแผนนี้ไม่รอบคอบและใช้ค่าใช้จ่ายสูง มีบันทึกว่าจูกัดกิ๋นให้ความเห็นว่า "หากเก๊กไม่นำโชคลาภมาสู่ตระกูล กลับจะนำภัยใหญ่หลวงมาแทน"[9] อย่างไรก็ตาม จูกัดเก๊กยืนกรานว่าแผนของตนจะสำเร็จ ซุนกวนจึงทรงตั้งให้จูกัดเก๊กเป็นเจ้าเมือง (太守 ไท่โฉ่ว) ของเมืองตันเอี๋ยงและขุนพลสงบชนเผ่าอวด (撫越將軍 ฝู่เยฺว่เจียงจฺวิน) พระราชทานอำนาจอย่างเต็มที่แก่จูกัดเก๊กในการดำเนินตามแผน[10] เมื่อจูเก๊กมาถึงเมืองตันเอี๋ยง ได้ขอให้เจ้าเมืองของสี่เมืองใกล้เคียงให้ปิดพรมแดนและงดการใช้กำลังทหารรบกับชนเผ่าชานเยฺว่ เมื่อฤดูเก็บเกี่ยวมาถึง จูกัดเก๊กออกคำสั่งให้เร่งเกี่ยวข้าวและเก็บสะสมในคลังให้ห่างจากภัยคุกคามที่อาจเกิดขึ้นจากชนเผ่าชานเยฺว่ที่อาจมาช่วงชิง ชนเผ่าชานเยฺว่ที่ขาดแคลนอาหารอย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้นและหมดทางเลือก ท้ายที่สุดจึงยอมจำนนต่อจูกัดเก๊ก จูกัดเก๊กปฏิบัติต่อชนเผ่าชานเยฺว่ด้วยความกรุณาจึงได้รับการเคารพจากชนเผ่าชานเยฺว่ ในปี ค.ศ. 237 เมืองตันเอี๋ยงอยู่ภายใต้การปกครองของราชสำนักง่อก๊กโดยสมบูรณ์และกลายเป็นเมืองที่มีประสิทธิภาพสูงในด้านกำลังคนและเสบียงอาหาร จูกัดเก๊กยังสามารถเกณฑ์คนในท้องถิ่นได้ 40,000 ตนไปรับราชการทหารอย่างง่ายดาย ซุนกวนทรงรู้สึกประทับใจจูกัดเก๊กอย่างมากขึ้นเลื่อนขึ้นให้เป็นขุนพลครองภาคเหนือ (威北將軍 เวย์เป่ย์เจียงจฺวิน) และพระราชทานบรรดาศักดิ์ให้เป็นตูเซียงโหว (都鄉侯)[11]

วางแผนโจมตีฉิวฉุน

[แก้]

ในปี ค.ศ. 243 จูกัดเก๊กวางแผนจะเปิดการโจมตีครั้งใหญ่ต่อฉิวฉุน (壽春 โช่วชุน; อยู่บริเวณอำเภอโช่ว มณฑลอานฮุยในปัจจุบัน) ซึ่งเป็นจุดยุทธศาสตร์ในวุยก๊กรัฐอริของง่อก๊ก หลังจากที่จูกัดเก๊กวางกำลังเพื่อเตรียมโจมตี สุมาอี้ขุนพลวุยก๊กก็นำกองกำลังมารักษาฉิวฉุนและโจมตีโต้กลับจูกัดเก๊ก ซุนกวนมีรับสั่งให้จูกัดเก๊กล่าถอยกลับง่อก๊กแทนที่จะปล่อยให้จูกัดเก๊กรบกับสุมาอี้ แม้ว่าจูกัดเก๊กจำต้องล่าถอยแต่จูกัดเก๊กก็ขึ้นมามีชื่อเสียงในหมู่ชาวง่อก๊กในฐานะผู้ยืนหยัดต่อสู้กับสุมาอี้ที่มีชื่อเสียงอย่างมากในวุยก๊ก ลกซุนขุนพลง่อก๊กกังวลเรื่องความไม่รอบคอบของจูกัดเก๊กจึงเขียนจดหมายถึงจูกัดเก๊กเพื่อเตือนให้ระมัดระวังมากขึ้นในอนาคต จูกัดเก๊กตัดสินใจคล้อยตามคำลกซุนที่อาวุโสมากกว่า จึงเขียนจดหมายกลับและขออภัยสำหรับทัศนคติของตน หลังการเสียชีวิตของลกซุนในปี ค.ศ. 245 ซุนกวนแต่งตั้งจูกัดเก๊กเป็นมหาขุนพล (大將軍 ต้าเจียงจฺวิน) และมีรับสั่งให้รับช่วงหน้าที่ของลกซุนที่บู๊เฉียง (武昌 อู่ชาง; ปัจจุบันคือนครเอ้อโจว มณฑลหูเป่ย์) เพื่อดูแลราชการทหารในมณฑลเกงจิ๋ว

ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

[แก้]

ในปี ค.ศ. 251 เมื่อซุนกวนประชวรหนัก พระองค์ทรงพระดำริจะหาผู้เหมาะสมเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์สำหรับซุนเหลียงผู้เป็นพระโอรสองค์เล็กและเป็นรัชทายาท ซุนจุ๋นผู้ช่วยคนสนิทของซุนกวนคนหนึ่งเสนอชื่อจูกัดเก๊ก แม้ว่าซุนกวนจะทรงไตร่ตรองเกี่ยวกับตัวจูกัดเก๊กอีกโดยเฉพาะเรื่องความเย่อหยิ่งของจูกัดเก๊ก แต่ในที่สุดพระองค์ก็ทรงทำตามคำแนะนำของซุนจุ๋น พระองค์เรียกจูกัดเก๊กจากบู๊เฉียงมาเข้าเฝ้าที่เกี๋ยนเงียบ (建業 เจี้ยนเย่) นครหลวงของง่อก๊ก ก่อนที่จูกัดเก๊กจะเดินทางออกจากบู๊เฉียง ลิต้ายขุนพลอาวุโสของง่อก๊กบอกกับจูกัดเก๊กว่า "สิ่งที่ท่านจะทำนั้นเป็นภารกิจที่ยาก ก่อนที่ท่านจะทำอะไร ท่านควรคิดทบทวนสิบรอบ" จูกัดเก๊กตอบด้วยท่าทีไม่เคารพว่า "เมื่อจี้ เหวินจื่อ (季文子) คิดทบทวนสามรอบก่อนกระทำการ ขงจื๊อบอกเขาว่า 'คิดทบทวนสองรอบก็พอ' ท่านบอกข้าให้คิดทบทวนสิบรอบ ท่านคงไม่ได้กำลังบอกว่าข้าโง่หรอกกระมัง" ลิต้ายไม่ตอบ นักประวัติศาสตร์ตีความว่าเหตุการณ์นี้เป็นสัญญาณของความเย่อหยิ่งและความประมาทที่เพิ่มพูนมากขึ้นในตัวจูกัดเก๊ก อันที่จริงจูกัดเก๊กก็กลายเป็นคนเย่อหยิ่งมากขึ้นหลังได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้สำเร็จราชการ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากที่ซุนกวนที่ใกล้สวรรคตมีรับสั่งกับข้าราชบริพารว่าให้จูกัดเก๊กทบทวนการตัดสินใจเชิงนโยบายที่สำคัญทั้งหมดก่อน

ในฐานะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ของซุนเหลียง

[แก้]

ซุนกวนสวรรคตในปี ค.ศ. 252 ซุนเหลียงขึ้นสืบราชบัลลังก์เป็นจักรพรรดิลำดับที่ 2 ของง่อก๊ก หลังการขึ้นครองราชย์ ซุนเหลียงแต่งตั้งให้จูกัดเก๊กเป็นราชครู (太傅 ไท่ฟู่) ในช่วงที่จูกัดเก๊กดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ได้ให้ผ่อนปรนกฎหมายที่เข้มงวดบางฉบับที่ตราขึ้นในรัชสมัยของซุนกวนและลดอัตราภาษี ผู้คนในง่อก๊กต่างพึงพอใจต่อจูกัดเก๊กเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจูกัดเก๊กจะไปที่ไหน ก็จะมีฝูงชนเบียดเสียดกันเพื่อจะมองจูกัดเก๊กให้ชัด ๆ

ยุทธการที่ตังหิน

[แก้]

ปลายปี ค.ศ. 252 จูกัดเก๊กออกคำสั่งให้สร้างเขื่อนที่ตังหิน (東興 ตงซิง; ในนครเฉาหู มณฑลอานฮุยในปัจจุบัน) ขึ้นใหม่ เขื่อนแห่งเดิมถูกสร้างขึ้นก่อนหน้านี้ในปี ค.ศ. 230 แต่ถูกทำลายในปี ค.ศ. 241 แผนของจูกัดเก๊กคือจะสร้างอ่างเก็บน้ำใกล้กับทะเลสาบเจาอ๋อ (巢湖 เฉาหู) และใช้เป็นโครงสร้างป้องกันการโจมตีจากวุยก๊กที่อาจเกิดขึ้น อีกทั้งให้สร้างป้อมปราการ 2 แห่งในบริเวณใกล้เคียงเพื่อใช้เป็นกลไกโจมตีล่วงหน้าให้กองเรือของง่อก๊ก สุมาสูผู้สำเร็จราชการแห่งวุยก๊กจึงส่งทัพสามสายเข้าโจมตีง่อก๊กเป็นการตอบโต้ โดยทัพหลักมุ่งเป้าไปที่เขื่อนที่ตังหิน จูกัดเก๊กพร้อมด้วยเตงฮองขุนพลอาวุโสของง่อก๊กและคนอื่น ๆ แสร้งทำเป็นลดการป้องกันลงเพื่อทำให้ข้าศึกประมาท แล้วจึงตีข้าศึกแตกพ่ายยับเบิน ทำให้ทัพวุยก๊กจำต้องล่าถอยจากตังหิน

ยุทธการที่หับป๋า

[แก้]

ในปี ค.ศ. 253 จูกัดเก๊กเตรียมการบุกวุยก๊กอีกครั้งและกล่าวว่าตนต้องการใช้ประโยชน์จาก "ความเยาว์วัยและไร้ประสบการณ์" ของสุมาสู (แม้ว่าเวลานั้นสุมาสูมีอายุ 45 ปีแล้วก็ตาม) ขุนนางง่อก๊กบางคนคัดค้านอย่างหนักแน่น แต่จูกัดเก๊กก็ระดมพลจากบรรดาชายฉกรรจ์ในง่อก๊กเพื่อบุกโจมตี จูกัดเก๊กยังได้ประสานการบุกร่วมกับเกียงอุยขุนพลจากจ๊กก๊กที่เป็นรัฐพันธมิตรของง่อก๊ก (ในช่วงเวลานั้น เกียงอุยก็กำลังยกทัพทำศึกกับวุยก๊กที่ชายแดนด้านตะวันตกของวุยก๊กอย่างแข็งขัน)

อย่างไรก็ตาม กลยุทธ์ของจูกัดเก๊กกลับมีข้อบกพร้องเมื่อจูกัดเก๊กเปลี่ยนเป้าหมายจากฉิวฉุน (壽春 โช่วชุน; อยู่บริเวณอำเภอโช่ว มณฑลอานฮุยในปัจจุบัน) มาเป็นหับป๋า (合肥 เหอเฝย์) แม้ว่าการป้องกันของหับป๋าจะเข้มแข็งกว่าและสร้างขึ้นโดยต้านทานการโจมตีของข้าศึกโดยเฉพาะก็ตาม หลังการปิดล้อมอย่างยาวนาน ทัพง่อก๊กก็ล้มเหลวในการบุกทะลวงกำแพงของหับป๋า เมื่อเกิดโรคระบาดขึ้นในหมู่ทหารของง่อก๊ก จูกัดเก๊กเพิกเฉยต่อเรื่องนี้และยังคงสั่งให้ปิดล้อมต่อไป จูกัดเก๊กเพิ่งจะถอนทัพหลังได้ยินว่ากำลังเสริมของวุยก๊กกำลังมาถึง แทนที่จูกัดเก๊กจะกลับไปเกี๋ยนเงียบนครหลวงของง่อก๊กเพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อความผิดพลาด จูกัดเก๊กกลับพักอยู่ห่างไกลจากเกี๋ยนเงียบเป็นช่วงเวลาหนึ่งและปฏิเสธที่จะรับผิดชอบต่อความพ่ายแพ้ของง่อก๊ก

การตกต่ำ การเสียชีวิต และการฟื้นฟูเกียรติหลังมรณกรรม

[แก้]

ภายหลังเมื่อจูกัดเก๊กกลับมายังเกี๋ยนเงียบในปี ค.ศ. 253 จูกัดเก๊กพยายามที่จะกำจัดความไม่เห็นพ้องทั้งหมดที่มีต่อตนโดยลงโทษทุกคนที่ไม่เห็นด้วยกับตน จูกัดเก๊กยังวางแผนจะโจมตีวุยก๊กอีกครั้ง แม้ว่าราษฎรง่อก๊กจะไม่พอใจอย่างมากจากความสูญเสียอันหนักหน่วงที่เกิดขึ้นจากการรบครั้งก่อน

ซุนจุ๋นขุนพลง่อก๊กที่เป็นพระญาติห่าง ๆ ของซุนเหลียงจักรพรรดิง่อก๊กตัดสินใจจะก่อรัฐประหารล้มล้างจูกัดเก๊กจากอำนาจ ซุนจุ๋นทูลปดต่อซุนเหลียงว่าจูกัดเก๊กลอบวางแผนจะชิงราชบัลลังก์ จากนั้นจึงซุ่มกำลังเพื่อจัดการกับจูกัดเก๊ก (ขอบเขตการมีส่วนร่วมของซุนเหลียงในการก่อรัฐประหารนั้นไม่ชัดเจน แต่นักประวัติศาสตร์ถือกันมาแต่เดิมว่าซุนเหลียงทรงเข้าพระทัยและเห็นชอบกับการกระทำของซุนจุ๋น แม้ว่าพระองค์มีพระชนมายุเพียงราว 10 พรรษาในขณะนั้น) จูกัดเก๊กจึงพบกับจุดจบด้วยฝีมือของมือสังหารของซุนจุ๋นเมื่อจูกัดเก๊กมาร่วมงานเลี้ยงที่ซุนเหลียงจัดให้ในพระราชวังโดยไม่ระแวงสงสัยใด ๆ หลังการเสียชีวิตของจูกัดเก๊ก ซุนจุ๋นถือโอกาสนี้ส่งกำลังทหารไปจับคนในครอบครัวของจูกัดเก๊กมาประหารชีวิต

ซุนจุ๋นขึ้นเป็นผู้สำเร็จราชการของง่อก๊กคนใหม่หลังการเสียชีวิตของจูกัดเก๊ก ซุนจุ๋นผูกขาดอำนาจรัฐจนกระทั่งเสียชีวิตในปี ค.ศ. 256 หลังจากนั้นซุนหลิมลูกพี่ลูกน้องได้สืบทอดตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ในปี ค.ศ. 258 ซุนหลิมปลดซุนเหลียงและแต่งตั้งซุนฮิวพระเชษฐาของซุนเหลียงขึ้นครองราชย์เป็นจักรพรรดิแห่งง่อก๊กองค์ใหม่ ซุนฮิวทรงก่อรัฐประหารโค่นล่มซุนหลิมหลังพระองค์ขึ้นเสวยราชย์ได้ไม่นานและกำจัดซุนหลิมได้สำเร็จ ซุนฮิวทรงฟื้นฟูเกียรติหลังมรณกรรมให้จูกัดเก๊ก และมีรับสั่งให้ฝังศพของจูกัดเก๊กใหม่อย่างสมเกียรติ แต่พระองค์ทรงปฏิเสธที่จะสร้างอนุสรณ์สถานเพื่อรำลึกถึงจูกัดเก๊กเมื่อมีบางคนทูลเสนอ เพราะพระองค์ทรงเห็นว่าความประมาทของจูกัดเก๊กและความสูญเสียที่จูกัดเก๊กก่อให้กับง่อก๊กทำให้จูกัดเก๊กไม่ควรค่าแก่การรำลึกถึง

เกร็ดประวัติและตำนาน

[แก้]

มีเกร็ดประวัติเล่าว่าครั้งหนึ่งในช่วงวัยเด็กหรือวัยรุ่นของจูกัดเก๊ก จูกัดเก๊กได้ร่วมในงานเลี้ยงที่จัดโดยซุนกวนจักรพรรดิง่อก๊ก ในหมู่ขุนนางของง่อก๊กนั้นมีเรื่องตลกว่าจูกัดกิ๋น (諸葛瑾 จูเก๋อ จิ่น; บิดาของจูกัดเก๊ก) มีใบหน้ายาวมากเหมือนลา ซุนกวนก็ทรงเล่นเรื่องตลกนี้ด้วยโดยทรงมีรับสั่งให้นำลาเข้ามาในงานเลี้ยง ติดป้ายที่เขียนว่า "จูเก๋อ จื่อ-ยฺหวี"[g] (諸葛子瑜) จากนั้นจึงทรงหันไปทางจูกัดเก๊กและตรัสให้จูกัดเก๊กเพิ่มอักษรใด ๆ ลงไปในป้ายอีก 2 ตัว จูกัดกิ๋นจึงเพิ่ม จือ ลฺหวี (之驢; "ลาของ") เข้าไป ทำให้ผู้ที่ร่วมงานเลี้ยงต่างส่งเสียงหัวเราะ ซุนกวนทรงรู้สึกประทับใจในไหวพริบของจูกัดเก๊กในวัยเยาว์ จีงพระราชทานลาเป็นของขวัญให้จูกัดเก๊ก[12]

มีอีกเกร็ดประวัติหนึ่งที่มีฉากเป็นงานเลี้ยงเช่นกันเล่าว่า ครั้งหนึ่งซุนกวนตรัสถามจูกัดเก๊กว่าตัวจูกัดเก๊กคิดว่าจูกัดกิ๋นผู้บิดาเมื่อเทียบแล้วดีกว่าจูกัดเหลียงผู้อาที่เป็นอัครมหาเสนาบดีของจ๊กก๊กรัฐพันธมิตรของง่อก๊กหรือไม่ จูกัดเก๊กทูลตอบว่าจูกัดกิ๋นบิดาตนดีกว่า ซุนกวนตรัสถามว่าเพราะเหตุใด จูกัดเก๊กตอบว่า "บิดาของข้าพระพุทธเจ้าเลือกจักรพรรดิผู้เหมาะสมแก่การถวายการรับใช้ ส่วนอาของข้าพระพุทธเจ้าไม่ทำเช่นนั้น บิดาของข้าพระพุทธเจ้าจึงดีกว่าอาของข้าพระพุทธเจ้า" ซุนกวนทรงพึงพอพระทัยกับการสรรเสริญของจูกัดเก๊ก จึงมีรับสั่งให้จูกัดเก๊กรินสุราให้กับแขกคนอื่น ๆ ที่มาร่วมงานเลี้ยง (ในยุคนั้น ถือเป็นเกียรติสำหรับข้าราชการผู้น้อยที่จะรินสุราให้กับข้าราชการชั้นผู้ใหญ่) เมื่อจูกัดเก๊กมาถึงเตียวเจียว เตียวเจียวปฏิเสธที่จะดื่มและกล่าวว่า "นี่ไม่ใช่รูปแบบที่เหมาะสมในการแสดงความเคารพต่อผู้อาวุโส" ซุนกวนทรงทราบเรื่องที่เตียวเจียวปฏิเสธ จึงตรัสกับจูกัดเก๊กว่า "ทำให้ท่านเตียวเจียวดื่มให้ได้เพื่อข้า" จูกัดเก๊กจึงหันมาพูดกับเตียวเจียวว่า "นานมาแล้ว เกียงจูแหย (姜子牙 เจียง จื่อหยา) ในวัย 90 ปี ออกศึกโดยถือธงสัญญาและแบกขวานศึก ไม่เคยถือว่าตนเองชราเลย ในวันที่มีการซ้อมรบ ท่านอยู่ด้านหลังเสมอ ในวันที่มีงานเลี้ยง ท่านอยู่ด้านหน้าเสมอ ที่ท่านบอกว่าไม่ใช่รูปแบบที่เหมาะสมในการแสดงความเคารพต่อผู้อาวุโสนั้นหมายความว่าอย่างไรหรือ" เตียวเจียวพูดไม่ออกจึงยินยอมรับการรินสุราของจูกัดเก๊ก [13] หลังเหตุการณ์นี้ ซุนกวนก็ทรงยกย่องจูกัดเก๊กมากยิ่งขึ้น ด้วยเหตุนี้จึงทรงตั้งให้จูกัดเก๊กเป็นผู้ช่วยใกล้ชิดของซุนเต๋งซึ่งเป็นรัชทายาทในเวลานั้น

ในอีกวาระหนึ่ง ทูตจากจ๊กก๊กที่เป็นรัฐพันธมิตรของง่อก๊กเดินทางมาเข้าเฝ้าซุนกวนพร้อมนำม้าจำนวนหนึ่งมาเป็นของกำนัล ซุนกวนทรงทราบว่าจูก้ดเก๊กขี่ม้าเก่ง จึงทรงเรียกตัวจูกัดเก๊กมาเข้าเฝ้าเพื่อจะพระราชทานม้าตัวหนึ่งให้จูกัดเก๊ก ทันทีจูกัดเก๊กมาถึงก็คุกเข่าและทูลแสดงความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณต่อซุนกวนสำหรับของพระราขทาน ซุนกวนประหลาดพระทัยที่จูกัดเก๊กรู้อยู่แล้วว่าตนถูกเรียกตัวมาเข้าเฝ้าด้วยเหตุผลใด จึงตรัสถามจูกัดเก๊ก จูกัดเก๊กทูลตอบว่า "จ๊กทำหน้าที่เป็นได้เพียงคอกม้าของฝ่าบาทเท่านั้น นั่นคือเหตุผลที่ข้าพระพุทธเจ้ามั่นใจได้ว่าทูตมาที่นี่เพื่อน้อมเกล้าฯ ถวายม้าชั้นดีเป็นบรรณาการ"[14] ซุนกวนรู้สึกประทับใจอย่างมาก

ลักษณะภายนอก

[แก้]

ในบันทึกอู๋ลู่ (《吴录》) จาง ปั๋ว (張勃) นักเขียนชาวจีนบันทึกว่าจูกัดเก๊กเป็นคนพูดเสียงดัง มีส่วนสูงประมาณ 182-184 เซนติเมตร มีจมูกงุ้ม หน้าผากกว้าง ปากใหญ่ และมีขนใบหน้ากับขนคิ้วเล็กน้อย[15]

ดูเพิ่ม

[แก้]

หมายเหตุ

[แก้]
  1. อู๋ลู่ (吳錄) บันทึกว่าจูกัดเก๊กมีอายุ 51 ปี (ตามการนับอายุแบบเอเชียตะวันออก) ขณะเสียชีวิต[1] ดังนั้นเมื่อคำนวณแล้วปีเกิดของจูกัดเก๊กจึงควรเป็น ค.ศ. 203
  2. 2.0 2.1 ชีวประวัติซุนเหลียงในจดหมายเหตุสากก๊กบันทึกว่าจูกัดเก๊กเสียชีวิตในเดือน 10 ของศักราชเจี้ยนซิงปีที่ 2 ในรัชสมัยของซุนเหลียง[2] เดือนนี้เทียบเท่ากับช่วงเวลาระหว่างวันที่ 8 พฤศจิกายนและ 7 ธันวาคม ค.ศ. 253 ในปฏิทินกริโกเรียน
  3. ชื่อที่ปรากฏในสามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ตอนที่ 75[3]
  4. เวลานั้นซุนกวนยังเป็นเงาอ๋อง ซุนกวนจะขึ้นเถลิงราชย์เป็นจักรพรรดิในปี ค.ศ. 229
  5. จูกัดกิ๋นแสดงความเห็นเกี่ยวกับแผนของจูกัดเก๊กในการปราบชนเผ่าพื้นเมืองชานเยฺว่; ดูหัวข้อ "สยบชนเผ่าชานเยฺว่" ด้านล่าง
  6. เป็นคนละคนกับบิดาของเอียวเก๋า (羊祜 หยาง ฮู่) และหยาง ฮุย-ยฺหวี (羊徽瑜)
  7. "จื่อ-ยฺหวี" (子瑜) เป็นชื่อรองของจูกัดกิ๋น

อ้างอิง

[แก้]
  1. (《吴录》曰:恪时年五十一.) อรรถาธิบายจากอู๋ลู่ในจดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 64.
  2. ([建興二年]冬十月,大饗。武衞將軍孫峻伏兵殺恪於殿堂。 ... 十一月, ...) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 48.
  3. ("ในวันศุภมงคลฤกษ์ จึงตั้งซุนเต๋งพระราชบุตรเปนฝ่ายหน้า ให้จูกัดเจ๊กบุตรจูกัดกิ๋นเปนเสนาบดีฝ่ายขวา ให้เตียวหิวบุตรเตียวเจียวเปนเสนาบดีฝ่ายซ้าย ช่วยทำนุบำรุงพระราชบุตรตามประเพณี") "สามก๊ก ตอนที่ ๗๕". วัชรญาณ. สืบค้นเมื่อ April 29, 2024.
  4. (于是诸葛恪、张休、顾谭、陈表等以选入,侍讲诗书,出从骑射。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 59.
  5. (《江表传》曰:登使侍中胡综作賔友目曰:“英才卓越,超逾伦匹,则诸葛恪。) อรรถาธิบายจากเจียงเปี่ยวจฺว้านในจดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 59. อีกสามคนที่หู จงเขียนบทวิจารณ์ถึงได้แก่ กู้ ถาน, เซี่ย จิ่ง และฟ่าน เชิ่น
  6. (黃龍元年,權稱尊號,登為皇太子,以[諸葛]恪為左輔,[張]休右弼,[顧]譚為輔正,[陳]表為翼正都尉,是為四友, ...) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 59.
  7. (陸機為譚傳曰:宣太子正位東宮,天子方隆訓導之義,妙簡俊彥,講學左右。時四方之傑畢集,太傅諸葛恪以雄奇蓋衆,而譚以清識絕倫,獨見推重。自太尉范慎、謝景、羊徽之徒,皆以秀稱其名,而悉在譚下。) อรรถาธิบายจากกู้ ถานจฺว้านในจดหมายเหตุสากมก๊ก เล่มที่ 52.
  8. (衜乃私驳综曰:“元逊才而疏,子嘿精而狠,叔发辩而浮,孝敬深而狭。”所言皆有指趣。而衜卒以此言见咎,不为恪等所亲。后四人皆败,吴人谓衜之言有征。) อรรถาธิบายจากเจียงเปี่ยวจว้านในจดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 59.
  9. (恪父瑾闻之,亦以事终不逮,叹曰:“恪不大兴吾家,将大赤吾族也。”) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 64.
  10. จือจื้อทงเจี้ยน เล่มที่ 72.
  11. จือจื้อทงเจี้ยน เล่มที่ 73.
  12. (恪父瑾面长似驴。孙权大会群臣,使人牵一驴入,长检其面,题曰诸葛子瑜。恪跪曰:“乞请竺益两字。”因听与笔。恪绩其下曰:“之驴”。举座欢笑,乃以驴赐恪。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 64.
  13. (他日复见,权问恪曰:“卿父与叔父孰贤?”对曰:“臣父为优。”权问其故。对曰:“臣父知所事,叔父不知,以是为优。”权又大噱。命恪行酒,至张昭前,昭先有酒色,不肯饮。曰:“此非养老之礼也。”权曰:“卿其能令张公辞屈,乃当饮之耳。”恪难昭曰:“昔师尚父九十,秉旄仗钺,犹未告老也。今军旅之事,将军在后,酒食之事,将军在先,何谓不养老也?”昭卒无辞,遂为尽爵。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 64
  14. (后蜀好,群臣并会,权谓使曰:“此诸葛恪雅使至骑乘,还告丞相,为致好马。”恪因下谢,权曰:“马未至面谢何也?”恪对曰:“夫蜀者陛下之外厩,今有恩诏,马必至也,安敢不谢?”) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่ม 64
  15. (《吴录》曰:恪长七尺六寸,少须眉,折頞广额,大口高声。) อรรถาธิบายจากอู๋ลู่ในจดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 64

บรรณานุกรม

[แก้]