จูหวน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
จูหวน (จู หฺวาน)
朱桓
ขุนพลทัพหน้า (前將軍 เฉียนเจียงจฺวิน)
ดำรงตำแหน่ง
ค.ศ. 229 (229) – ค.ศ. 238 (238)
กษัตริย์ซุนกวน
หัวหน้ารัฐบาลโกะหยง
เจ้ามณฑลเฉงจิ๋ว (青州牧)
(แต่ในนาม)
ดำรงตำแหน่ง
ค.ศ. 229 (229) – ค.ศ. 238 (238)
กษัตริย์ซุนกวน
หัวหน้ารัฐบาลโกะหยง
ขุนพลสำแดงยุทธ์
(奮武將軍 เฟิ่นอู่เจียงจฺวิน)
ดำรงตำแหน่ง
ค.ศ. 223 (223) – ค.ศ. 229 (229)
กษัตริย์ซุนกวน
หัวหน้ารัฐบาลซุน เช่า (ถึงปี ค.ศ. 225)
โกะหยง (ตั้งแต่ปี ค.ศ. 225)
ปลัดรัฐเพ้งเสีย (彭城相 เผิงเฉิงเซียง)
(ในนาม)
ดำรงตำแหน่ง
ค.ศ. 223 (223) – ค.ศ. 229 (229)
กษัตริย์ซุนกวน
หัวหน้ารัฐบาลซุน เช่า (ถึงปี ค.ศ. 225)
โกะหยง (ตั้งแต่ปี ค.ศ. 225)
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิดค.ศ. 177[a]
นครซูโจว มณฑลเจียงซู
เสียชีวิตค.ศ. 238 (61 ปี)[a]
บุตรจู อี้
อาชีพขุนพล
ชื่อรองซิวมู่ (休穆)
บรรดาศักดิ์เจียซิงโหว
(嘉興侯)

จูหวน (ค.ศ. 177–238)[a] มีชื่อในภาษาจีนกลางว่า จู หฺวาน (จีน: 朱桓; พินอิน: Zhū Huán) ชื่อรอง ซิวมู่ (จีน: 休穆; พินอิน: Xiūmù) เป็นขุนพลของรัฐง่อก๊กในยุคสามก๊กของจีน แม้ว่าจูหวนเริ่มรับราชการภายใต้ขุนศึกซุนกวน แต่ก็ยังไม่มีบทบาทสำคัญใด ๆ จนกระทั่งหลังยุทธการที่กังเหลงในปี ค.ศ. 209 ตั้งแต่นั้นจูหวนก็ได้รับผิดชอบการป้องกันในท้องถิ่นและปราบปรามกบฏจำนวนหนึ่งเป็นผลสำเร็จ ระหว่างปี ค.ศ. 222 ถึง ค.ศ. 225 เมื่อโจผีจักรพรรดิแห่งวุยก๊กอันเป็นรัฐอริของง่อก๊กเปิดฉากการบุกง่อก๊กสามทาง ซุนกวนแต่งตั้งให้จูหวนเป็นแม่ทัพในการต้านวุยก๊กที่รุกราน จูหวนเอาชนะโจหยินขุนพลของวุยก๊กได้ในยุทธการที่ยี่สู (ค.ศ. 222–223)

ประวัติช่วงต้น[แก้]

จูหวนเป็นชาวอำเภออู๋ (吳縣 อู๋เซี่ยน) เมืองง่อกุ๋น (吳郡 อู๋จฺวิ้น) ซึ่งปัจจุบันอยู่ในนครซูโจว มณฑลเจียงซู[2] จูหวนมาจากตระกูลจูที่เป็นหนึ่งในสี่ตระกูลที่มีอิทธิพลที่สุดในเมืองง่อกุ๋นในเวลานั้น[b] จูหวนเริ่มรับราชการภายใต้ขุนศึกซุนกวนผู้ปกครองอาณาเขตในภูมิภาคกังตั๋งในช่วงปลายยุคราชวงศ์ฮั่นตะวันออก จูหวนมีตำแหน่งเป็นนายอำเภอ ( จ่าง) ของอำเภออีเหี้ยว (餘姚縣 ยฺหวีเหยาเซี่ยน) ในเวลานั้น

เมื่อเกิดโรคระบาดขึ้นในอำเภออีเหี้ยวทำให้ราคาอาหารพุ่งสูงขึ้น จูหวนจึงให้เปิดยุ้งฉางของที่ว่าการอำเภอและแจกจ่ายอาหารให้กับราษฎร ขณะเดียวกันก็สั่งให้ผู้ใต้บังคับบัญชาแจกจ่ายยาให้กับราษฎรที่ได้รับผลกระทบจากโรคระบาดด้วย[3] เป็นผลให้จูหวนได้รับความเคารพและการยอมรับจากราษฎรในท้องถิ่น ต่อมาซุนกวนแต่งตั้งจูหวนเป็นนายกอง (校尉 เซี่ยวเว่ย์) นำทหาร 2,000 นายไปตามหาผู้คนที่กระจัดพลัดพรายไปก่อนหน้านี้เพื่อหลีกหนีโรคระบาด จูหวนทำภารกิจสำเร็จและสามารถจัดหาใหม่ที่อยู่ให้ราษฎร 10,000 คนในเมืองง่อกุ๋นและห้อยเข (會稽 ไคว่จี) หลังดำเนินการอยู่หลายปี[4]

การรับราชการช่วงกลาง[แก้]

ตั้งแต่ปลายทศวรรษ 200 ถึงราว ค.ศ. 222 จูหวนยังไม่มีบทบาทรับผิดชอบสำคัญใด ๆ ในขณะที่นายทหารคนอื่น ๆ ของซุนกวนมีส่วนร่วมอย่างมากในยุทธการที่รบกับขุนศึกอริ โดยเฉพาะกับโจโฉขุนศึกผู้กุมอำนาจราชสำนักของราชวงศ์ฮั่นและควบคุมดินแดนทางเหนือของแม่น้ำแยงซี ในช่วงเวลานั้น จูหวนได้ปราบปรามกบฏหลายครั้งในเมืองตันเอี๋ยง (丹楊 ตานหยาง) และกวนหยง (鄱陽 ผัวหยาง) ในขณะที่นายทหารร่วมราชการคนอื่น ๆ กำลังรบอยู่ที่แนวหน้า จากความชอบในการปราบกบฏของจูหวน ซุนกวนจึงมอบบรรดาศักดิ์ให้จูหวนเป็นซินเฉิงถิงโหว (新城亭候) และเลื่อนยศเป็นขุนพลรอง (裨將軍 ผีเจียงจวิน)[5]

ยุทธการที่ยี่สู[แก้]

ในปี ค.ศ. 222 จูหวนสืบทอดตำแหน่งจิวท่ายในฐานะแม่ทัพพื้นที่ประจำป้อมปราการที่ยี่สู (濡須 หรูซฺวี) ซึ่งเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญที่ชายแดนตามแนวแม่น้ำแยงซีระหว่างง่อก๊กและวุยก๊กที่เป็นรัฐอริ เวลานั้นโจผีจักรพรรดิแห่งวุยก๊กเปิดฉากการบุกง่อก๊กสามทางและมีรับสั่งให้ขุนพลโจหยินนำการโจมตีที่ยี่สู[6]

โจหยินปล่อยข่าวว่าตนจะโจมตีที่เอียนเข (羨溪 เซี่ยนซี) โดยมีจุดประสงค์เพื่อหันเหความสนใจของง่อก๊กออกจากป้อมปราการที่ยี่สู จูหวนหลงกลโจหยินจึงส่งกองกำลังจำนวนมากไปทางตะวันออกเพื่อไปเสริมกำลังที่เอียนเข ขณะเดียวกันโจหยินนำกองกำลังหลายหมื่นนายเข้าโจมตียี่สูซึ่งจูหวนอยู่รักษาป้อมปราการโดยมีกำลังทหารเหลือเพียง 5,000 นาย[7] ทหารง่อก๊กที่ยี่สูต่างหวาดกลัวเพราะกองกำลังของโจจิ๋นมีจำนวนมากกว่า จูหวนจึงบอกกับเหล่าทหารว่า "เมื่อใดที่ทหารสองฝ่ายรบกัน ผลการรบจะถูกกำหนดโดยเจตจำนงแม่ทัพไม่ใช้จำนวนทหาร พวกเจ้าได้ยินชื่อเสียงด้านการรบของโจหยิน เห็นคิดว่าความสามารถของโจหยินจะเทียบกับข้าได้หรือ หลักการทางการทหารว่าทัพฝ่ายบุกควรมีจำนวนสองเท่าของทัพฝ่ายรับเมื่อรบบนที่ราบ เงื่อนไขคือฝ่ายตั้งรับไม่ได้อยู่ในป้อมปราการและขวัญกำลังใจของทั้งสองฝ่ายเท่ากัน บัดนี้โจหยินไม่มีทั้งปัญญาและความกล้า ทหารก็ขี้ขลาดทั้งยังเหนื่อยล้าจากการเดินทางนับพันลี้ ในทางกลับกัน เรายึดป้อมปราการที่มีกำแพงสูงใหญ่ อยู่ทางเหนือของแม่น้ำและทางใต้ของภูเขา สถานการณ์อำนวยให้ฝ่ายเรา เราจะมีชัยต่อข้าศึกที่อ่อนเล้า เราจะชนะร้อยศึกถ้าสถานการณ์เป็นเช่นนี้ร้อยครั้ง เราต้องไม่กลัวต่อให้โจผีมาที่นี่ด้วยตนเอง แล้วจะมากังวลอะไรกับคนเช่นโจหยินเล่า"[8]

จูหวนจึงสั่งผู้ใต้บังคับบัญชาซ่อนธงทิวและกลองศึกเพื่อให้โจหยินเข้าใจว่าพวกตนอ่อนแอเพื่อล่อให้โจหยินเข้าโจมตี โจหยินให้เฉา ไท่ (曹泰) บุตรชายนำทัพหลักเข้าไปใกล้ป้อมปราการ และสั่งให้เสียงเตียว (常雕 ฉาง เตียว) และฮองสัง (王雙 หวาง ซฺวาง) เปิดฉากโจมตีจงโจว (中洲; เกาะกลางแม่น้ำ) ที่มีครอบครัวของทหารฝ่ายง่อก๊กอาศัยอยู่ จูหวนจึงส่งเหยียน กุย (嚴圭) ไปยังจงโจวเพื่อซุ่มกำลังที่นั่น ในขณะที่จูหวนนำกำลังที่เหลือไปรบกับเฉา ไท่ เสียงเตียวและฮองสังถูกซุ่มโจมตีและพยายามล่าถอย แต่เรือของทั้งสองถูกทัพง่อก๊กยึดไว้จึงไม่สามารถถอยกลับได้ เสียงเตียวถูกสังหารในที่รบ ส่วนฮองสังถูกจับเป็น ทหารวุยก๊ก 1,000 นายจมน้ำตายขณะพยายามหนี ส่วนที่เหลือก็ถูกจับ ส่วนทางด้านนอกป้อมปราการยี่สู จูหวนรบไล่การโจมตีของเฉา ไท่ และสามารถแทรกซึมเข้าไปในค่ายของข้าศึกในจุดไฟเผาค่าย[9] จากผลงานของจูหวนในการรบ ซุนกวนจึงเลื่อนขั้นให้จูหวนเป็นขุนพลสำแดงยุทธ (奮武將軍 เฟิ่นอู่เจียงจฺวิน) ให้มีบรรดาศักดิ์เป็น "เจียซิงโหว" (嘉興侯) และแต่งตั้งให้เป็นปลัด (相 เซียง) ของเมืองเพ้งเสีย (彭城 เผิงเฉิง) ในนาม[10]

ยุทธการที่เซ็กเต๋ง[แก้]

หกปีต่อมา จูหวนเข้าร่วมในยุทธการที่เซ็กเต๋งในฐานะผู้ใต้บังคับบัญชาของลกซุน ครั้งหนึ่งจูหวนเสนอกับลกซุนว่าสามารถจะจับตัวโจฮิวขุนพลของข้าศึกได้โดยง่ายด้วยการปิดกั้นเส้นทางถอยของโจฮิวโดยใช้กำลังทหารเพียง 10,000 นายภายใต้การบัญชาของตัวจูหวน แต่ลกซุนปฏิเสธแผนของจูหวนและมอบหมายให้จูหวนนำทหาร 30,000 นายเข้าโจมตีด้านข้างของข้าศึก เมื่อโจฮิวนำทัพ 100,000 นายมาถึงเซ็กเต๋ง จูหวนและจวนจ๋องจึงนำทหารของตนเข้าโจมตีปีกซ้ายและปีกขวาของทัพโจฮิว ในขณะที่ลกซุนเข้าโจมตีเมื่อทัพข้าศึกตกอยู่ในภาวะระส่ำระสาย ทัพโจฮิวแตกพ่ายกระจัดกระจายและมีทหารเสียชีวิตนับหมื่นนาย[11]

คำวิจารณ์และเสียชีวิต[แก้]

จูหวนต้องการเป็นผู้นำมาโดยตลอดและรู้สึกละอายใจที่ต้องอยู่ภายใต้การบัญชาการของผู้อื่น ในขณะที่จูหวนเข้าร่วมยุทธการก็ไม่สามารถทำตามใจชอบได้จึงรู้สึกโกรธและขุ่นเคือง แต่จูหวนก็ให้ความสำคัญกับคุณธรรม เมื่อจูหวนเสียชีวิตในปี ค.ศ. 238 ขณะอายุ 62 ปี (ตามการนับอายุแบบเอเชียตะวันออก) ครอบครัวของจูหวนยากจนมาก ซุนกวนจึงให้ความช่วยเหลือด้านการเงินแก่ครอบครัวของจูหวนเพื่อให้จัดงานศพของจูหวนอย่างสมเกียรติ สาเหตุเหตุที่ครอบครัวจูหวนยากจนเป็นเพราะขณะเมื่อจูหวนยังมีชีวิตอยู่มักจะใช้ทรัพย์สินของตนช่วยเหลือผู้ใต้บังคับบัญชาและครอบครัว จึงทำให้ครอบครัวของจูหวนไม่ได้ครอบครองทรัพย์สินมากนักเมื่อถึงเวลาที่จูหวนเสียชีวิต เมื่อเหล่าทหารใต้บังคับบัญชาของจูหวนรู้ว่าจูหวนป่วยหนัก ต่างรู้สึกกังวลและว้าวุ่นใจ เมื่อจูหวนเสียชีวิต เหล่าทหารและครอบครัวก็โศกเศร้าต่อการเสียชีวิตของจูหวนอย่างสูง บุตรชายของจูหวนชื่อจู อี้ (朱異) สืบทอดบรรดาศักดิ์ของบิดาและรับราชการเป็นนายทหารในทัพง่อก๊ก[12]

ดูเพิ่ม[แก้]

หมายเหตุ[แก้]

  1. 1.0 1.1 1.2 จดหมายเหตุสามก๊กระบุว่าจูหวนเสียชีวิตขณะอายุ 62 ปี (ตามการนับอายุแบบเอเชียตะวันออก) ในศักราชชื่ออู (ค.ศ. 238–251) ปีที่ 1 ในรัชสมัยของซุนกวน[1]
  2. สี่ตระกูลใหญ่แห่งเมืองง่อกุ๋นได้แก่ ตระกูลโกะ (顧 กู้), ลก (陸 ลู่), จู (朱 จู) และเตียว (張 จาง) บุคคลที่มีชื่อเสียงในแต่ละตระกูลได้แก่ โกะหยง (กู้ ยง), กู้ เช่า และกู้ ถานจากตระกูลโกะ; ลกซุน (ลู่ ซฺวิ่น), ลกเจ๊ก (ลู่ จี้) และลู่ ข่าย จากตระกูลลก; จูหวน และจู จฺวี้ จากตระกูลจู และเตียวอุ๋น (จาง เวิน) จากตระกูลเตียว

อ้างอิง[แก้]

  1. (年六十二,赤烏元年卒。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 56
  2. (朱桓字休穆,吳郡吳人也。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 56.
  3. (往遇疫癘,谷食荒貴,桓分部良吏,隱親醫藥,餐粥相繼,士民感戴之。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 56.
  4. (遷盪寇校尉,授兵二千人,使部伍吳、會二郡,鳩合遺散,期年之閒,得萬餘人。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 56.
  5. (桓督領諸將,周旋赴討,應皆平定。稍遷裨將軍,封新城亭候。) จดหมายเหคุสามก๊ก เล่มที่ 56.
  6. (後代周泰為濡須督。黃武元年,) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 56.
  7. (魏使大司馬曹仁步騎數萬向濡須,仁欲以兵襲取州上,偽先揚聲欲東攻羨溪;桓分兵將赴羨溪,既發,卒得仁進軍拒濡須七十里問。桓遣使追還羨溪兵,兵未到而仁奄至。時桓手下及所部兵,在者五千人) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 56.
  8. (諸將業業,各有懼心,桓喻之曰:"凡兩軍交對,勝負在將,不在眾寡。諸君聞曹仁用兵行師,孰與桓邪?兵法所以稱客倍而主人半者,謂俱在平原。無城池之守,又謂士眾勇怯齊等故耳。今仁既非智勇,加其士卒甚怯,又千里步涉,人馬罷困,桓與諸軍。共據高城,南臨大江,北背山陵,以逸待勞,為主制客,此百戰百勝之勢也。雖曹丕自來,尚不足憂,況仁等邪!") จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 56.
  9. (桓因偃旗鼓,外示虛弱,以誘致仁。仁果遣其子泰攻濡須城,分遣將軍常雕督諸葛虔、王雙等,乘油船別襲中洲。中洲者,部曲妻子所在也。仁自將萬人留橐皋,復為泰等後拒。桓部兵將攻取油船,或別擊雕等,桓等身自拒泰,燒營而退,遂梟雕,生虜雙,送武昌,臨陳斬溺,死者千餘) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 56.
  10. (權嘉桓功,封嘉興侯,遷奮武將軍,領彭城相。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 56.
  11. (黃武七年,鄱陽太守周魴譎誘魏大司馬曹休,休將步騎十萬至皖城以迎魴。時陸遜為元帥,全琮與桓為左右督,各督三萬人擊休。休知見欺,當引軍還,自負眾盛,邀於一戰。桓進計曰:「休本以親戚見任,非智勇名將也。今戰必敗,敗必走,走當由夾石、挂車,此兩道皆險阨,若以萬兵柴路,則彼眾可盡,而休可生虜,臣請將所部以斷之。若蒙天威,得以休自效,便可乘勝長驅,進取壽春,割有淮南,以規許、洛,此萬世一時,不可失也。」權先與陸遜議,遜以為不可,故計不施行。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 56.
  12. (桓性護前,恥為人下,每臨敵交戰,節度不得自由,輒嗔恚憤激。然輕財貴義,兼以彊識,與人一面,數十年不忘,部曲萬口,妻子盡識之。愛養吏士,贍護六親,俸祿產業,皆與共分。及桓疾困,舉營憂戚。年六十二,赤烏元年卒。吏士男女,無不號慕。又家無餘財,權賜鹽五千斛以周喪事。子異嗣。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 56.

บรรณานุกรม[แก้]