เบ้งตัด

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เบ้งตัด (เมิ่ง ต๋า)
孟達
ภาพวาดสมัยราชวงศ์ชิงแสดงเหตุการณ์การเสียชีวิตของเบ้งตัด
เจ้าเมืองซินเสีย (新城太守 ซินเฉิงไท่โฉ่ว)
ดำรงตำแหน่ง
ค.ศ. ? (?) – ค.ศ. 228 (228)
กษัตริย์โจผี
ขุนพลสถาปนายุทธ
(建武將軍 เจี้ยนอู่เจียงจฺวิน)
ดำรงตำแหน่ง
ค.ศ. 220 (220) – ค.ศ. ? (?)
กษัตริย์โจผี
ขุนนางทหารม้าผู้ถวายการรับใช้
(散騎常侍 ซั่นฉีฉางชื่อ)
ดำรงตำแหน่ง
ค.ศ. 220 (220) – ค.ศ. ? (?)
กษัตริย์โจผี
เจ้าเมืองงิเต๋า (宜都太守 อี๋ตูไท่โฉ่ว)
(ภายใต้เล่าปี่)
ดำรงตำแหน่ง
ค.ศ. 214 (214) – ค.ศ. 219 (219)
กษัตริย์พระเจ้าเหี้ยนเต้
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิดไม่ทราบ
นครซิงผิง มณฑลฉ่านซี
เสียชีวิตค.ศ. 228
อำเภอฝาง มณฑลหูเป่ย์
อาชีพขุนพล
ชื่อรองจื่อจิ้ง (子敬) / จื่อตู้ (子度)
บรรดาศักดิ์ผิงหยางถิงโหฺว
(平陽亭侯)

เบ้งตัด (เสียชีวิต ค.ศ. 228) มีชื่อภาษาจีนกลางว่า เมิ่ง ต๋า (จีน: 孟達; เกี่ยวกับเสียงนี้ pronunciation ) ชื่อรอง จื่อตู้ (จีน: 子度) เป็นขุนพลของรัฐวุยก๊กในยุคสามก๊กของจีน เดิมรับใช้ขุนศึกเล่าเจี้ยงและเล่าปี่ในช่วงปลายยุคราชวงศ์ฮั่นตะวันออกก่อนจะแปรพักตร์ไปเข้าด้วยวุยก๊ํก ในวุยก๊กเบ้งตัดรับราชการในรัชสมัยของโจผีและโจยอย ราวปลายปี ค.ศ. 227 เบ้งจัดเริ่มก่อกบฏในวุยก๊ก มีเป้าหมายที่จะกลับไปเข้าร่วมกับจ๊กก๊ก แต่กบฏถูกสุมาอี้ขุนพลวุยก๊กปราบปรามลงอย่างรวดเร็ว เบ้งตัดถูกจับและถูกประหารชีวตในข้อหากบฏ

รูปเบ้งตัดจากเกม Romance Of The Three Kingdoms XI ของค่ายเกม KOEI

รับใช้เล่าเจี้ยงและเล่าปี่[แก้]

เดิมเบ้งตัดรับใช้เล่าเจี้ยง เจ้ามณฑลเอ๊กจิ๋ว (ครอบคลุมพิ้นที่มณฑลเสฉวนและนครฉงชิ่งในปัจจุบัน) ต่อมาแปรพัตรไปเข้าด้วยเล่าปี่ที่เป็นขุนศึกอีกคน เมื่อเล่าปี่บุกเอ๊กจิ๋วในช่วงต้นทศวรรษ 210 และยึดอำนาจปกครองมณฑลจากเล่าเจี้ยง เล่าปี่ส่งเบ้งตัดไปรักษาอำเภอกังเหลง (江陵 เจียงหลิง) และเลื่อนขึ้นเป็นเจ้าเมือง (太守 ไท่โฉฺ่ว) ของเมืองงิเต๋า (宜都 อี๋ตู) เดิมเบ้งตัดมีชื่อรองว่า "จื่อจิ้ง" แต่เปลี่ยนชือเป็น "จื่อตู้" เพื่อไม่ให้พ้องกับชื่อรองของอาของเล่าปี่ซึ่งก็มีชื่อรองว่า "จื่อจิ้ง"

ในปี ค.ศ. 219 เบ้งตัดได้รับคำสั่งให้นำกองกำลังจากอำเภอจีกุ๋ย (秭歸 จื่อกุย) เพื่อโจมตีอำเภอห้องเหลง (房陵 ฝางหลิง) หลังจากยึดห้องเหลงได้ เบ้งตัดบุกขึ้นเหนือและยึดได้อีกเมืองหนึ่งคือเซียงหยง[a] (上庸 ช่างยง) โดยสมทบกับเล่าฮองบุตรบุญธรรมของเล่าปี่ ต่อมาในปีเดียวกัน เมื่อกวนอูขุนพลของเล่าปี่ถูกล้อมโดยกองกำลังของข้าศึกในมณฑลเกงจิ๋ว กวนอูขอกำลัังเสริมจากเล่าฮองและเบ้งตัด แต่ทั้งคู่ปฏิเสธที่จะส่งกำลังเสริม ในที่สุดกวนอูจึงถูกจับโดยกองกำลังของซุนกวนขุนศึกภาคตะวันออกและถูกประหารชีวิต

แปรพักตร์ไปเข้าด้วยวุยก๊ก[แก้]

เบ้งตัดเกรงว่าตนจะถูกลงโทษเหตุเพราะไม่ส่งกำลังเสริมไปช่วยกวนอู เวลานั้นความสัมพันธ์ระหว่างเบ้งตัดและเล่าฮองก็ตึงเครียดเช่นกัน เบ้งตัดจึงนำทหาร 4,000 นายแปรพักตร์ไปเข้าด้วยโจผีที่เป็นอริกับเล่าปี่ โจผีต้อนรับเบ้งตัดเป็นอย่างดี จากนั้นเบ้งตัดจึงเขียนหนังสือส่งไปถึงเล่าฮอง แจ้งว่าตนกำลังตกอยู่ในอันตรายร้ายแรงเพราะมีบางคนที่ใกล้ชิดกับเล่าปี่พูดใส่ร้ายตน[2] และเกลี้ยกล่อมให้เล่าฮองไปสวามิภักดิ์ต่อวุยก๊กด้วยเช่นกัน แต่เล่าฮองเพิกเฉยต่อข้อเสนอของเบ้งตัดและกลับไปที่เซงโต๋ จึงถูกเล่าปี่ที่เป็นบิดาบุญธรรมสั่งประหารชีวิตในข้อหาที่ไม่ส่งกำลังเสริมไปช่วยกวนอูและหยุดการแปรพักตร์ของเบ้งตัดไม่สำเร็จ

ภายหลังโจผีล้มล้างราชวงศ์ฮั่นตะวันออกโดยบังคับพระเจ้าเหี้ยนเต้ให้สละราชบัลลังก์ให้ตน จากนั้นโจผีจึงขึ้นเป็นจักรพรรดิและสถาปนารัฐวุยก๊กขึ้น เป็นจุดเริ่มต้นของยุคสามก๊ก ในวุยก๊ก เบ้งตัดได้รับตำแหน่งราชการที่สำคัญจำนวนมากและได้บรรดาศักดิ์ระดับโหว โจผีรวมเมือง 3 เมือง ได้แก่ ห้องเหลง เซียงหยง และเสเสีย (西城 ซีเฉิง) เข้าด้วยกันและก่อตั้งเป็นเมืองที่ใหญ่ขึ้นชื่อซินเสีย (新城 ซินเฉิง) และแต่งตั้งเบ้งตัดให้เป็นเจ้าเมือง (太守 ไท่โฉ่ว) ของเมืองซินเสีย รวมถึงมอบหมายให้เบ้งตัดป้องกันชายแดนด้านตะวันตกเฉียงใต้ของวุยก๊ก เล่าหัวทูลแนะนำโจผีว่า "เบ้งตัดมีใจแสวงสิ่งที่ตนไม่ควรได้รับโดยอาศัยวิธีอันแยบยล คงไม่สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของฝ่าบาท ชายแดนของซินเสียติดกับอาณาเขตของซุนกวนและเล่าปี่ หากสถานการณ์ในแถบนั้นเปลี่ยนแปลงย่อมสร้างปัญหาให้รัฐ" โจผีเพิกเฉยต่อคำของเล่าหัว[3] เบ้งตัดกลายเป็นสหายสนิทกับขุนนางวุยก๊กอย่างฮวนกายและแฮหัวซง

ในปี ค.ศ. 225 หลี่ หง (李鴻) อดีตข้าราชการของวุยก๊กผู้สวามิภักดิ์ต่อจ๊กก๊ก (รัฐที่ก่อตั้งโดยเล่าปี่) เข้าพบจูกัดเหลียงอัครมหาเสนาบดีแห่งจ๊กก๊ก กับขุนนางจ๊กก๊กเจียวอ้วนและบิสี หลี่ หงเล่าให้พวกเขาเกี่ยวกับการพบปะระหว่างเบ้งตัดกับคนที่ชื่อหวาง ชง (王沖) หวาง ชงบอกกับเบ้งตัดว่าจูกัดเหลียงยุยงเล่าปี่ให้ประหารชีวิตครอบครัวของเบ้งตัดหลังจากเบ้งตัดแปรพักตร์ แต่เล่าปี่ปฏิเสธ เบ้งตัดนั้นก็ไม่เชื่อคำของหวาง ชง[4]

ก่อกบฏและเสียชีวิต[แก้]

จูกัดเหลียงพยายามติดต่อเบ้งตัดและเกลี้ยกล่อมให้เบ้งตัดแปรพักตร์กลับมาเข้าด้วยจ๊กก๊ก แม้ว่าบิสีจะทัดทานเพราะเห็นว่าเบ้งตัดเป็นคนทรยศที่ไว้ใจไม่ได้ เวลานั้นโจผีจักรพรรดิวุยก๊กสวรรคตไปแล้วและโจยอยขึ้นสืบราชบัลลังก์ โจยอยปฏิบัติต่อเบ้งตัดในทางไม่ดีนัก เพื่อนสนิทของเบ้งตัดอย่างฮวนกายและแฮหัวซงก็เสียชีวิตไปแล้ว เบ้งตัดจึงรู้สึกโดดเดี่ยวและไม่พอใจราชสำนักวุยก๊กมากขึ้น หลังจากติดต่อทางจดหมายกับจูกัดเหลียง เบ้งตัดจึงยิ่งเกลียดชังวุยก๊กมากขึ้นและเก็บงำเจตจาที่จะก่อกบฏ

ในปี ค.ศ. 228 จูกัดเหลียงเปิดฉากการบุกขึ้นเหนือครั้งแรกต่อวุยก๊ก และประสบความสำเร็จในการเกลี้ยกล่อมเบ้งตัดในช่วยเหลือทัพจ๊กก๊กในการก่อกบฏต่อวุยก๊ก แต่แผนการก่อกบฏของเบ้งตัดรั่วไหลโดยซินหงี (申儀 เชินอี๋) เจ้าเมืองเว่ย์ซิง (魏興) ซึ่งกำลังขัดแย้งกับเบ้งตัด สุมาอี้ขุนพลวุยก๊กเขียนจดหมายถึงเบ้งตัดเพื่อทำให้เบ้งตัดรู้สึกลังเลว่าจะก่อกบฏหรือไม่ แล้วสุมาอี้ก็ลอบนำกองกำลังจากอ้วนเซีย (宛 หว่าน; ปัจจุบันคือเขตหว่านเฉิง นครหนานหยาง มณฑลเหอหนาน) เข้าโจมตีฐานที่มั่นของเบ้งตัดที่ซินเสีย กองกำลังของสุมาอี้ไปถึงซินเสียภายใน 8 วันโดยเบ้งตัดไม่ทันตั้งตัว เบ้งตัดถูกทรยศโดยเตงเหียน (鄧賢 เติ้ง เสียน) และลิจู (李輔 หลี ฝู่) ผู้ใต้บังคับบัญชา กบฏของเบ้งตัดถูกปราบลงอย่างรวดเร็ว เบ้งตัดถูกจับตัวและถูกประหารชีวิตโดยสุมาอี้

ในนิยายสามก๊ก[แก้]

เบ้งตัดปรากฏเป็นตัวละครในนวนิยายอิงประวัติศาสตร์เรื่องสามก๊กในศตวรรษที่ 14 ซึ่งเล่าเรื่องเหตุการณ์ก่อนและระหว่างยุคสามก๊ก ในนวนิยาย เบ้งตัดมีชื่อชื่อรองว่า "จื่อชิ่ง" (子庆; 子慶; Zǐqìng) มีบทบาทสำคัญในเหตุการณ์กบฏซินเสีย

ดูเพิ่ม[แก้]

หมายเหตุ[แก้]

  1. ในสามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) มักเรียกซ่างยง (上庸) ว่า "ซงหยง" เหมือนกับชื่อ "ซงหยง" ที่ใช้เรียกเมือง "เซียงหยาง" (襄陽) ในที่นี้จึงเรียก "ซ่างยง" ว่า "เซียงหยง" ตามชื่อที่ปรากฏการเรียกใน สามก๊กฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ตอนที่ 62[1]

อ้างอิง[แก้]

  1. (ครั้งนั้นแฮเฮาเซียงกับซิหลงทหารโจผี ๆ ใช้ให้มาอยู่เมืองยังหยง ให้มาเกลี้ยกล่อมทหารเมืองเซียงหยง) "สามก๊ก ตอนที่ ๖๒". วัชรญาณ. สืบค้นเมื่อ September 27, 2023.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  2. (私怨人情,不能不見,恐左右必有以間於漢中王矣。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 40.
  3. (王甚器爱之,引与同辇,以达为散骑常侍、建武将军,封平阳亭侯。合房陵、上庸、西城三郡为新城,以达领新城太守,委以西南之任。行军长史刘晔曰:“达有苟得之心,而恃才好术,必不能感恩怀义。新城与孙、刘接连,若有变态,为国生患。”王不听。) จือจื้อทงเจี้ยน เล่มที่ 69
  4. (建興三年,隨諸葛亮南行,歸至漢陽縣,降人李鴻來詣亮,亮見鴻,時蔣琬與詩在坐。鴻曰:「閒過孟達許,適見王沖從南來,言往者達之去就,明公切齒,欲誅達妻子,賴先主不聽耳。達曰:『諸葛亮見顧有本末,終不爾也。』盡不信沖言,委仰明公,無復已已。」) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 41.

บรรณานุกรม[แก้]