อุยกาย
อุยกาย | |
---|---|
| |
ขุนพลแห่งง่อก๊ก | |
เกิด | พ.ศ. 688 |
ชื่อ | |
อักษรจีนตัวเต็ม | 黃蓋 |
อักษรจีนตัวย่อ | 黄盖 |
พินอิน | Huáng Gài |
สำเนียงจีนกลาง | หวงก้าย |
สำเนียงจีนฮกเกี้ยน | อุยกาย |
สัทอักษรแบบเวด-ไจลส์ | Huang Kai |
ชื่อรอง | กงฟู่ |
ยุคในประวัติศาสตร์ | ยุคสามก๊ก |
อุยกาย (ตามสำเนียงฮกเกี้ยน) หรือ หวงก้าย (ตามสำเนียงจีนกลาง) (อังกฤษ: Huang Gai; จีน: 黄盖; พินอิน: Huáng Gài; เวด-ไจลส์: Huang Kai) เป็นตัวละครในวรรณกรรมจีนอิงประวัติศาสตร์เรื่องสามก๊กที่มีตัวตนจริงในประวัติศาสตร์ยุคสามก๊ก ขุนพลแห่งง่อก๊ก ชื่อรอง กงฟู่ (จีน: 公覆) รับใช้ตระกูลซุนถึง 3 สมัย ตั้งแต่สมัยของซุนเกี๋ยนแต่ครั้งศึกโจรโพกผ้าเหลือง ซุนเซ็กในสมัยศึกปราบตั๋งโต๊ะและศึกปราบลิโป้ และซุนกวนในศึกเซ็กเพ็ก จนได้ชื่อว่า "แม่ทัพสามแผ่นดิน"[1]
ประวัติ[แก้]
อุยกาย เป็นชาวเมืองอิเหลง มณฑลเกงจิ๋ว (ปัจจุบัน คือ เขตเสี่ยวติง เมืองยี่ชาง มณฑลหูเป่ย์) พื้นเพเป็นคนยากจน กำพร้าพ่อแม่มาแต่ยังเด็ก แต่เป็นคนที่มีความมุ่งมั่นเด็ดเดี่ยวกล้าหาญ ตั้งปณิธานไว้ว่าจะเอาดีให้ได้ เมื่อเสร็จจากงานผ่าฟืนก็ขยันหมั่นเพียรศึกษาหาความรู้ จนกระทั่งได้บรรจุเป็นขุนนาง
เมื่อซุนเกี๋ยนเริ่มยกทัพจับศึก อุยกายสละตำแหน่งขุนนาง ติดตามซุนเกี๋ยนปราบโจรป่าและปราบตั๋งโต๊ะ เมื่อซุนเกี๋ยนตาย ก็ตามซุนเซ็กและซุนกวน รบไปทั่วสารทิศ ด้วยรูปลักษณ์น่าเกรงขาม กล้าตัดสินใจ ในดินแดนง่อก๊ก มีชาวซานเย่ว์เป็นหนามยอกอกก่อกวน อุยกายถูกวางตัวให้เป็นผู้จัดการปราบ ด้วยความเด็ดขาด จึงสามารถสยบชาวซานเย่ว์ได้เป็นที่เรียบร้อย
ตามวรรณกรรม ในศึกเซ็กเพ็ก โจโฉยกทัพกว่าร้อยหมื่นมาบุกกังตั๋ง เมื่อขงเบ้งเดินทางมาถึงกังตั๋ง ขณะถูกที่ปรึกษาที่นำโดยเตียวเจียวรุมถามด้วยคำถามที่ต้องการเยาะเย้ยมากมาย อุยกายปรากฏตัวขึ้นมาขวางพร้อมกล่าวว่า ขงเบ้งเป็นยอดอัจฉริยะแห่งยุค ไม่ต้องตอบคำถามคนโง่งมเหล่านี้ จะพาขงเบ้งไปหาซุนกวนโดยตรง อุยกายเห็นจิวยี่มีความหนักใจในการศึกครั้งนี้ จึงอาสาตนให้จิวยี่โบยตีกลางที่ประชุมทัพจนสาหัสหนัก ขงเบ้งเป็นผู้เดียวที่ล่วงรู้ทันแผนการนี้ ถึงกับเอ่ยปากว่า "กังตั๋งมียอดขุนพลเช่นนี้ มีหรือทัพโจโฉจะไม่แตก" ซึ่งก็เป็นดังคำของขงเบ้งในศึกเซ็กเพ็กโจโฉพ่ายแพ้อย่างย่อยยับ
ส่วนในประวัติศาสตร์จริง อุยกายเป็นผู้วางแผนให้จิวยี่ใช้อุบายยอมสวามิภักดิ์ และเมื่อแล่นเรือของตนเข้าหากองเรือของโจโฉแล้ว กว่าฝ่ายโจโฉจะรู้ว่าแท้จริงแล้วเป็นเรือที่บรรทุกไปด้วยน้ำมันและวัตถุระเบิดก็สายไปแล้ว นำมาสู่ความพ่ายแพ้อย่างยับเยินของโจโฉในครั้งนี้ การบันทึกในประวัติศาสตร์ได้ยกความกล้าหาญและวีรกรรมครั้งนี้ของอุยกายไว้มาก[1]
ดูเพิ่ม[แก้]
อ้างอิง[แก้]
![]() |
บทความเกี่ยวกับสามก๊กนี้ยังเป็นโครง คุณสามารถช่วยวิกิพีเดียได้โดยการเพิ่มเติมข้อมูล ดูเพิ่มที่ วิกิพีเดีย:โครงการวิกิสามก๊ก |