สิบเสียงสี

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก สิบขันที)
สิบเสียงสี (สือฉางชื่อ)
กลุ่มขันทีแห่งราชวงศ์ฮั่นตะวันออก
ชื่อภาษาจีน
อักษรจีนตัวเต็ม十常侍
อักษรจีนตัวย่อ十常侍
ยุคในประวัติศาสตร์ราชวงศ์ฮั่นตะวันออก

สิบเสียงสี[1] ในภาษาจีนกลางเรียกว่า ฉือฉางชื่อ (จีน: 十常侍; พินอิน: Shí Chángshì) หรือที่รู้จักในคำเรียกว่า สิบขันที เป็นกลุ่มของขุนนางขันทีที่มีอิทธิพลในราชสำนักของพระเจ้าเลนเต้ (ครองราชย์ ค.ศ. 168 - ค.ศ. 189) จักรพรรดิจีนในยุคราชวงศ์ฮั่นตะวันออก แม้ว่าจะถูกเรียกว่าเป็นกลุ่มของคน 10 คน แต่จริงๆแล้วกลุ่มสิบเสียงสีประกอบด้วยขันทีจำนวน 12 คน และทุกคนดำรงตำแหน่งจงฉางชื่อ (中常侍; "ขุนนางผู้ถวายงานส่วนกลาง") ในราชสำนักของพระเจ้าเลนเต้

ขันทีทั้ง 12 คนได้แก่ เตียวเหยียง (張讓 จาง ร่าง), เตียวต๋ง (趙忠 เจ้า จง), เห้หุย (夏惲 เซี่ย ยฺหวิน), กุยเสง (郭勝 กัว เซิ่ง), ซุน จาง (孫璋), ปี้ หลัน (畢嵐), ลี่ ซง (栗嵩), ต๋วนกุย (段珪 ตฺว้าน กุย), เกา ว่าง (高望), จาง กง (張恭), หาน คุย (韓悝) และซ่ง เตี่ยน (宋典)[2]

ช่วงเริ่มต้น[แก้]

ขันทีสองคนคือ เตียวเหยียง (張讓 จาง ร่าง) และ เตียวต๋ง (趙忠 เจ้า จง) เริ่มรับราชการเป็นขันทีในราชสำนักของราชวงศ์ฮั่นโดยดำรงตำแหน่งจี่ชื่อเฉิงจง (給事省中) เตียวเหยียงมาจากเมืองเองฉวน (潁川郡 อิ่งชฺวานจฺวิ้น; ปัจจุบันอยู่บริเวณเมืองสฺวี่ชาง มณฑลเหอหนาน) ส่วนเตียวต๋งมาจากเมืองอันเป๋ง (安平郡 อันผิงจฺวิ้น; ปัจจุบันอยู่บริเวณเมืองจี้โจว มณฑลเหอเป่ย์)[2] ทั้งสองได้รับการเลื่อนตำแหน่งเป็นเสี่ยวหฺวังเหมิน (小黃門) ในรัชสมัยของพระเจ้าหวนเต้ (ฮั่นหฺวันตี้ ครองราชย์ ค.ศ. 146 - ค.ศ. 168) ในปี ค.ศ. 159 เตียวต๋งได้เข้าร่วมรัฐประหารโค่นล้มอำนาจของเหลียง จี้ซึ่งเป็นขุนพลทรงอิทธิพลที่ผูกขาดอำนาจรัฐได้ผลเป็นสำเร็จ พระเจ้าหวนเต้จึงมอบบรรดาศักดิ์ให้เตียวต๋งเป็นโตฺวเซียงโหฺว (都鄉侯) ในปี ค.ศ. 165 เตียวต๋งได้รับการเลื่อนขั้นเป็นกวานเน่ย์โหฺว (關內侯) ได้รับค่าตอบแทนประจำปีเป็นข้าว 1,000 หู [3]

ในรัชสมัยพระเจ้าเลนเต้[แก้]

ในรัชสมัยพระเจ้าเลนเต้ (ครองราชย์ ค.ศ. 168–189) เตียวต๋งและเตียวเหยียงขึ้นมามีตำแหน่งเป็นจงฉางชื่อ (中常侍) และได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นโหฺว (พระยา) ขันทีทั้งสองยังเป็นมิตรกับอีกสองขันทีผู้ทรงอิทธิพลได้แก่ เทาเจียด (曹節 เฉา เจี๋ย; เสียชีวิต ค.ศ. 181) และหวัง ฝู่ (王甫; เสียชีวิต ค.ศ. 179) หลังจากเทาเจียดเสียชีวิต เตียวต๋งได้รับการแต่งตั้งเป็นขุนนางมหาดเล็กของฮองเฮา (大長秋 ต้าฉางชิว).[4] ในขณะนั้น เตียวเหยียงและเตียวต๋ง พร้อมด้วยขุนนางขันทีอีกสิบคนได้แก่ เห้หุย (夏惲 เซี่ย ยฺหวิน), กุยเสง (郭勝 กัว เซิ่ง), ซุน จาง (孫璋), ปี้ หลัน (畢嵐), ลี่ ซง (栗嵩), ต๋วนกุย (段珪 ตฺว้านกุย), เกา ว่าง (高望), จาง กง (張恭), หาน คุย (韓悝) และซ่ง เตี่ยน (宋典) ต่างก็ดำรงตำแหน่งจงฉางชื่อ (中常侍) และอีกทั้งยังมีบรรดาศักดิ์เป็นโหฺว[5] ญาติสนิทมิตรสหายของขันทีเหล่านี้ซึ่งกระจายอยู่ในหลายเมืองของอาณาจักรฮั่นก็มีชื่อเสียงที่ไม่ดีจากการฉ้อราษฎร์บังหลวง [6]

กบฏโพกผ้าเหลือง[แก้]

เมื่อกบฏโพกผ้าเหลืองก่อการจลาจลในปี ค.ศ. 184 ขุนนางชื่อเตียวกิ๋น (張鈞 จาง จฺวิน) เขียนฎีกาถวายพระเจ้าเลนเต้กล่าวโทษสิบเสียงสีและญาติสนิทมิตรสหายในความผิดฐานฉ้อราษฎร์บังหลวงอันเป็นเหตุทำให้ราษฎรไม่พอใจจนนำไปสู่การก่อกบฏ เตียวกิ๋นแนะนำพระเจ้าเลนเต้ให้ประหารสิบเสียงสีและประกาศความผิดของสิบเสียงสีให้ทั่วอาณาจักรฮั่นเพื่อระงับความไม่พอใจของราษฎร [7]

เมื่อพระเจ้าเลนเต้นำฎีกาของเตียวกิ๋นให้เหล่าขันทีอ่าน ขันทีเหล่านั้นถอดหมวกและรองเท้าออก แล้วคุกเข่าอ้อนวอนพระเจ้าเลนเต้ให้กักขังพวกตน อีกทั้งยังแสดงความเต็มใจที่จะบริจาคทรัพย์สมบัติของตนไว้เป็นทุนให้ทหารในการปราบปรามกบฏ พระเจ้าเลนเต้มีรับสั่งให้เหล่าขันทีสวมหมวกและรองเท้าและให้ยังคงตำแหน่งดังเดิม จากนั้นพระองค์ทรงตำหนิเตียวกิ๋นว่า "เหลวไหล สิบเสียงสีจะไม่มีคนดีสักคนเชียวหรือ" [8] เตียวกิ๋นถวายฎีกาอีกฉบับที่มีเนื้อความคล้ายคลึงกับฉบับก่อนหน้า แต่ฎีกาฉบับนี้ไม่ถูกส่งไปถึงพระเจ้าเลนเต้ [9] จากนั้นพระเจ้าเลนเต้มีรับสั่งให้เสนาบดีตุลาการ (廷尉 ถิงเว่ย์) และราชเลขาธิการ (御史 อฺวี่ฉื่อ) ทำการสืบเรื่องเตียวก๊กและลัทธิไท่ผิง (太平道 ไท่ผิงเต้า) ซึ่งเป็นผู้ริเริ่มกบฏโพกผ้าเหลือง เตียวเหยียงและเหล่าขันทีได้ลอบสั่งขุนนางเหล่านั้นให้ใส่ร้ายเตียวกิ๋นฐานเข้ารีตกับลัทธิไท่ผิง เตียวกิ๋นถูกจับขังคุกและถูกทรมานจนกระทั่งตายในคุก [10]

ที่จริงแล้วเป็นเหล่าขันทีเองที่ลอบติดต่อร่วมมือกับเตียวก๊ก หลังจากขันทีสองคนชื่อฮองสี (封諝 เฟิงซฺวี) และสฺวีเฟิ่ง (徐奉) ถูกจับได้และถูกประหาร พระเจ้าเลนเต้ผู้ทรงพิโรธได้ตรัสตำหนิเหล่าขันทีว่า "พวกเจ้าพูดอยู่บ่อยครั้งว่าเหล่าขุนนางทำแต่ความผิด บ้างก็ถูกกักขัง บ้างก็ถูกประหาร บัดนี้ก็มีขุนนางที่พิสูจน์ตนแล้วว่ามีคุณงามความดีต่อแผ่นดิน ในขณะที่พวกเจ้าสมคบคิดกับเตียวก๊ก ใครกันแน่ที่ข้าควรประหาร" เหล่าขันทีอ้อนวอนร้องขอชีวิตและโยนความผิดให้ขันทีหวังฝู่ (王甫) และเหาลำ (侯覽 โหฺวหล่าน) ว่าเป็นผู้กระทำการ พระเจ้าเลนเต้จึงปล่อยเหล่าขันทีให้พ้นผิด [11]

การฉ้อราษฎร์บังหลวง[แก้]

เตียวเหยียงมีบ่าวรับใช้หลายคนช่วยดูแลจัดการภายในบ้าน บ่าวเหล่านี้สร้างเครือข่ายกับผู้มีอิทธิพลคนอื่นและรับสินบน มีคนผู้หนึ่งชื่อเมิ่ง ถัว (孟佗) จากเมืองฝูเฟิง (扶風郡 ฝูเฟิงจฺวิ้น) ได้นำทรัพย์สมบัติทั้งหมดของตระกูลมาเป็นของกำนัลแก่บ่าวคนหนึ่งของเตียวเหยียง บ่าวของเตียวเหยียงเห็นเมิ่ง ถัวนำทรัพย์สมบัติมามอบให้ก็มีความยินดีแล้วถามเมิ่ง ถัวว่าต้องการสิ่งใดตอบแทน เมิ่ง ถัวตอบว่าต้องการพบกับเตียวเหยียง ในเวลานั้นมีผู้คนจำนวนมากที่กำลังแสวงหาหนทางเพื่อเข้าพบเตียวเหยียงซึ่งล้วนนำเกวียนที่เต็มไปด้วยของมาเป็นของกำนัลเข้าแถวเป็นแนวยาวนอกบ้านของเตียวเหยียง เมิ่ง ถัวมาถึงช้าจึงไม่อาจเข้าไปได้ แต่ก็ต้องประหลาดใจเมื่อบ่าวของเตียวเหยียงที่เมิ่ง ถัวตีสนิทด้วยได้ออกมาต้อนรับเมิ่ง ถัวเยี่ยงแขกผู้ทรงเกียรติแล้วสั่งคนใช้ให้พาเมิ่ง ถัวเข้าไปในบ้านของเตียวเหยียง แขกผู้มาเยี่ยมคนอื่นเห็นดังนั้นก็เข้าใจว่าเมิ่ง ถัวเป็นสหายคนสนิทของเตียวเหยียง จึงนำของกำนัลจำนวนมากมามอบให้เมิ่ง ถัวเพื่อประจบสอพลอ เมื่อเมิ่ง ถัวพบกับเตียวเหยียงในภายหลังจึงได้นำของกำนัลส่วนหนึ่งที่ได้รับมามอบให้แก่เตียวเหยียง เตียวเหยียงมีความยินดีภายหลังจึงได้ช่วยให้เมิ่ง ถัวได้ขึ้นมาเป็นผู้ว่าราชการ (刺史 ชื่อฉื่อ) มณฑลเลียงจิ๋ว (涼州 เหลียงโจว) [12]

ปี ค.ศ. 185 เกิดเหตุเพลิงไหม้ทางส่วนทิศใต้ของพระราชวัง สิบเสียงสีทูลแนะนำพระเจ้าเลนเต้ให้เก็บภาษีสิบเฉียน (錢; หน่วยน้ำหนัก) ต่อหนึ่งหมู่ (畝; หน่วยพื้นที่) ของทุกที่นาเพื่อรวบรวมเป็นทุนสำหรับก่อสร้างพระราชวังใหม่ พระเจ้าเลนเต้จึงมีพระราชโองการให้ขุนนางในเมืองไท่เหยฺวียน (太原) โฮตั๋ง (河東 เหอตง) และเต๊กโตเสีย (狄道 ตี๋เต้า) ให้ขนไม้และหินมีลวดลายเข้ามายังเมืองลกเอี๋ยง (ราชธานี) เพื่อเป็นวัสดุก่อสร้าง เมื่อวัสดุถูกจัดส่งมาถึงพระราชวัง เหล่าขันทีได้ต่อว่าคนงานที่ส่งวัสดุด้อยคุณภาพมาให้และยืนยันที่จะจ่ายด้วยราคาที่ต่ำเพียงหนึ่งในสิบของราคาตลาด จากนั้นจึงนำวัสดุเหล่านั้นมาขายให้กับขันทีคนอื่นซึ่งต่างก็ปฏิเสธที่จะซื้อ เวลาผ่านไปนานเข้า กองไม้ที่สะสมไว้ก็เริ่มผุพัง งานก่อสร้างจึงล่าช้าไปเป็นเวลาหลายปี ขุนนางท้องถิ่นบางคนจึงเรียกเก็บภาษีหนักขึ้นและบังคับราษฎรให้ผลิตวัสดุก่อสร้างที่มีคุณภาพสูงขึ้นเพื่อให้พระเจ้าเลนเต้ทรงโปรด ทำให้ราษฎรต่างไม่พอใจเป็นอันมาก[13]

พระเจ้าเลนเต้มักตรัสว่า "ขันทีจาง (เตียวเหยียง) เป็นบิดาของเรา ขันทีเจ้า (เตียวต๋ง) เป็นมารดาของเรา"[14][5] ด้วยความที่เหล่าขันทีเป็นที่ไว้วางพระทัยและได้รับการยกย่องจากพระเจ้าเลนเต้เป็นอย่างสูง เหล่าขันทีจึงประพฤติผิดจากกฎหมายบ้านเมืองและใช้อำนาจในทางมิชอบ ถึงขนาดสร้างคฤหาสน์ส่วนตนอย่างฟุ่มเพือยโดยมีลักษณะเฉกเช่นพระราชวังหลวง ครั้งหนึ่งพระเจ้าเลนเต้เสด็จเยี่ยมหอสูงหย่งอันโหฺว (永安侯臺 หย่งอันโหฺวไถ) เหล่าขันทีต่างกังวลว่าพระองค์จะทอดพระเนตรเห็นคฤหาสน์ของพวกตนและรู้สึกผิดสังเกต จึงทูลพระเจ้าเลนเต้ว่า "พระองค์มิควรเสด็จขึ้นที่สูง หาไม่แล้วราษฎรจะแตกตื่น" พระเจ้าเลนเต้ทรงเชื่อและยกเลิกการเสด็จเยี่ยมหอสูงทั้งปวง [15]

ปี ค.ศ. 186 พระเจ้าเลนเต้ทรงมอบหมายขันทีซ่งเตี่ยน (宋典) และปี้หลัน (畢嵐) ร่วมกับขุนนางคนอื่น ๆ ให้กำกับดูแลการก่อสร้างครั้งใหม่ อันได้แก่โถงพระโรงใหม่หนึ่งแห่ง รูปหล่อสำริดใหญ่สี่รูปหล่อ ระฆังสำริดใหญ่สี่ใบและรูปปั้นสัตว์พ่นน้ำได้ พระองค์ยังมีพระราชโองการให้สร้างเหรียญเงินและให้หมุนเวียนโดยกว้างขวาง หลายคนต่างเห็นว่านี่เป็นการแสดงถึงความสุรุ่ยสุร่ายของพระเจ้าเลนเต้และส่อเค้าว่าท้ายที่สุดแล้วเหรียญเงินเหล่านี้จะกระจัดกระจายไปทุกแห่งหน ซึ่งเกิดเป็นความจริงขึ้นมาเมื่อเกิดเหตุความวุ่นวายในเมืองลกเอี๋ยงหลังการสวรรคตของพระเจ้าเลนเต้ [16] พระเจ้าเลนเต้ทรงแต่งตั้งให้เตียวต๋งเป็น "ขุนพลรถรบ" (車騎將軍 เชอฉีเจียงจฺวิน) แต่หลังจากนั้นหนึ่งร้อยวันก็ทรงปลดเตียวต๋งจากตำแหน่ง [17]

การล่มสลายของกลุ่มขันที[แก้]

การสังหารหมู่ขันที
ส่วนหนึ่งของ ปลายราชวงศ์ฮั่น

ภาพพิมพ์ประกอบในหนังสือซานกั๋วจื้อทงสูเหยี่ยนอี้วาดโดยโจฺว เยฺวเซี่ยว แสดงเหตุการณ์ที่โฮจิ๋นวางแผนสังหารขันทีกลุ่มสิบเสียงสี
วันที่22 กันายายน ค.ศ. 189[18]
สถานที่
ลกเอี๋ยง (ลั่วหยาง)
ผล ฝ่ายขันทีถูกกำจัด
คู่สงคราม
ฝ่ายขันที กองกำลังร่วมของขุนศึก
ผู้บังคับบัญชาและผู้นำ
สิบเสียงสี   โฮจิ๋น  
อ้วนเสี้ยว
อ้วนสุด
ตั๋งโต๊ะ
ความสูญเสีย
2,000+ รวมถึงขันทีในกลุ่มสิบเสียงสี[19] ไม่ทราบ

เมื่อพระเจ้าเลนเต้ทรงประชวรหนักในปี ค.ศ. 189 ได้ทรงฝากฝังหองจูเหียบ (劉協 หลิว เสีย) พระราชโอรสองค์รองซึ่งขณะนั้นมีพระชนมายุแปดพรรษาไว้กับขันทีคนสนิทชื่อเกียนสิด (蹇碩 เจี่ยน ชั่ว) เมื่อพระเจ้าเลนเต้สวรรคต เกียนสิดคิดการจะยกหองจูเหียบขึ้นสืบราชบัลลังก์แต่ไม่เป็นผลสำเร็จ หองจูเปียน (劉辯 หลิว เปี้ยน) พระราชโอรสองค์โตในพระเจ้าเลนเต้พระชนมายุสิบสามพรรษาขึ้นครองราชย์แทนในพระนามว่าพระเจ้าเช่าตี้ (漢少帝 ฮั่นเช่าตี้) สมเด็จพระพันปีหลวงโฮเฮา (พระราชมารดาของพระเจ้าเช่าตี้) และผู้บัญชาการทหารสูงสุดโฮจิ๋น (พี่ชายของโฮเฮา) ได้ขึ้นเป็นผู้สำเร็จราชการแทนยุวกษัตริย์ [20][21]

ในฤดูร้อนของปี ค.ศ. 189 หลังจากเกียนสิดได้ทราบว่าโฮจิ๋นและผู้ใต้บังคับบัญชาวางแผนจะกำจัดตน จึงพยายามชักชวนขันทีด้วยกันให้ร่วมแผนในการกำจัดโฮจิ๋น แต่ขันทีกุยเสง (郭勝 กัวเซิ่ง) ซึ่งเป็นคนสนิทของนางโฮเฮาได้หว่านล้อมให้ขันทีเหล่านั้นให้ปฏิเสธไม่ร่วมแผนกับเกียนสิด หลังจากนั้นโฮจิ๋นจับตัวเกียนสิดได้แล้วนำตัวไปประหารชีวิต แล้วโฮจิ๋นก็ได้เข้าควบคุมหน่วยทหารที่เคยอยู่ใต้บัญชาของเกียนสิด [22] ในฤดูใบไม้ร่วงของปี ค.ศ. 189 อ้วนเสี้ยวเสนอกับโฮจิ๋นให้กำจัดกลุ่มขันทีแล้วรวบอำนาจ นางโฮเฮาไม่เห็นด้วยกับแผนนี้ ฝ่ายเหล่าขันทีได้ติดสินบนนางบูยงกุ๋น (舞陽君 อู่หยางจฺวิน) มารดาของนางโฮเฮา และโฮเบี้ยว (何苗 เหอเหมียว) น้องชายของนางโฮเฮาเพื่อให้ทั้งสองช่วยปกป้องพวกตน ทั้งนางบูยงกุ๋นและโฮเบี้ยวจึงต่อต้านแผนการของโฮจิ๋นเช่นกันโดยอ้างว่าพวกตนเป็นหนี้บุญคุณพวกขันทีเป็นอย่างมาก (เพราะที่นางโฮเฮาได้เป็นพระสนมในพระเจ้าเลนเต้ก็ด้วยการช่วยเหลือของเหล่าขันที)[23]

หลังจากนั้น โฮจิ๋นรับฟังอีกคำแนะนำของอ้วนเสี้ยวที่ให้โฮจิ๋นลอบเรียกขุนศึกหรือขุนนางฝ่ายทหารจากหัวเมืองต่างๆ (ได้แก่ ตั๋งโต๊ะ อองของ เตียวโป้ และเต๊งหงวน) ให้นำกำลังเข้าประชิดราชธานีลกเอี๋ยงแล้วเรียกร้องให้นำตัวเหล่าขันทีไปประหารชีวิต หมายจะกดดันนางโฮเฮาให้ดำเนินการจัดการกับเหล่าขันที ตอนแรกนางโฮเฮาปฏิเสธที่ทำร้ายเหล่าขันที แต่เมื่อกำลังของตั๋งโต๊ะเข้ามาใกล้เมืองลกเอี๋ยง นางโฮเฮาจึงมีพระราชเสาวนีย์ให้เหล่าขันทีออกจากพระราชวังกลับไปยังเขตศักดินาของตน [24] น้องสาวของนางโฮเฮาแต่งงานกับบุตรบุญธรรมของเตียวเหยียง เตียวเหยียงจึงทูลขอร้องนางโฮเฮาให้ทรงช่วยเหลือ นางโฮเฮาจึงทรงแจ้งนางบูยงกุ๋นผู้เป็นมารดาผู้ซึ่งก็ขอร้องนางโฮเฮาเช่นเดียวกัน นางโฮเฮาจึงยอมผ่อนปรนและเรียกเหล่าขันทีกลับเข้ามาในพระราชวัง [25]

ในเดือนแปดของปี ค.ศ. 189 เหล่าขันทีวางแผนจะลอบสังหารโฮจิ๋น จึงออกพระราชเสาวนีย์ในพระนามของนางโฮเฮาเรียกให้โฮจิ๋นเข้าวังเพื่อเข้าเฝ้านางโฮเฮา โฮจิ๋นหลงกลจึงสิ้นชีพด้วยน้ำมือของเหล่าขันทีผู้ซึ่งประกาศว่าโฮจิ๋นมีความผิดฐานคิดการกบฏ[26] หลังจากโฮจิ๋นเสียชีวิต เง่าของ (吳匡 อู๋คฺวัง) และจาง จาง (張璋) ผู้ใต้บังคับบัญชาของโฮจิ๋น พร้อมด้วยอ้วนเสี้ยว โจโฉ และคนอื่น ๆ ได้นำกำลังบุกเข้าไปในพระราชวังและสังหารเหล่าขันทีเพื่อแก้แค้นให้โฮจิ๋น โดยทำการสังหารใครก็ตามที่ดูคล้ายขันทีโดยไม่พิจารณาให้ถี่ถ้วน ชายวัยหนุ่มบางคนที่ไม่มีหนวดเคราจึงจำใจต้องถอดกางเกงตัวเองต่อหน้าทหารเพื่อพิสูจน์ว่าตนไม่ใช่ขันที ในระหว่างการโจมตีนั้น เหล่าขันทีเข้าควบคุมตัวนางโฮเฮา พระเจ้าเช่าตี้ (หองจูเปียน) และตันลิวอ๋อง (หองจูเหียบ) เป็นตัวประกันและพยายามหนีออกจากพระรางวัง โลติดได้เข้าขวางขันทีต๋วนกุย (段珪 ตฺว้าน กุย) ช่วยเหลือนางโฮเฮาจากขันทีต๋วนกุยไว้ได้ [27] โฮเบี้ยวผู้เป็นใจด้วยเหล่าขันทีถูกสังหารโดยเง่าของและตั๋งบุ่น (董旻 ต่งหมิน) น้องชายของตั๋งโต๊ะ ในการโจมตีครั้งนี้มีผู้เสียชีวิตกว่าสองพันคน[19]

เตียวเหยียงและขันทีคนอื่น ๆ อีกสิบคนคุมตัวพระเจ้าเช่าตี้และตันลิวอ๋องไปยังริมแม่น้ำ กำลังทหารหลวงนำโดยโลติดและบินของ (閔貢 หมิ่นก้ง) เร่งตามมาจวนจะถึงตัว เตียวเหยียงจึงหันไปทูลพระเช่าตี้ทั้งน้ำตาว่า "พวกข้าพระองค์จะถูกกำจัดและความวุ่นวายจักเกิดขึ้นในแผ่นดิน ขอพระองค์โปรดถนอมพระวรกายด้วย" จากนั้นเตียวเหยียงจึงโดดลงแม่น้ำจมน้ำตาย [28][29]

ในนิยายสามก๊ก[แก้]

สิบเสียงสีปรากฏเป็นกลุ่มตัวละครในช่วงต้นของนวนิยายจีนอิงประวัติศาสตร์เรื่องสามก๊ก ซึ่งมีเค้าโครงจากเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์จีนปลายยุคราชวงศ์ฮั่นตะวันออกไปสู่การสิ้นสุดของราชวงศ์และนำไปสู่ยุคสามก๊ก ขันที่ในกลุ่มสิบเสียงสีที่ปรากฏชื่อในวรรรกรรมสามก๊ก ได้แก่:[1]

ขันทีห้าคนในจำนวนสิบคนนี้ ตามข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ไม่ได้อยู่ในกลุ่มสิบเสียงสี เทียควงเป็นตัวละครสมมติ (ในบันทึกประวัติศาสตร์มีขันทีชื่อเฉิง หฺวาง (程璜) [มีบทบาทในช่วง ค.ศ. 126–189] ในรัชสมัยพระเจ้าเลนเต้ ชื่อตัวเขียนด้วยอักษร 璜 คล้ายกับ 曠 ที่เป็นชื่อตัวของเทียควง) ฮองสีและเกียนสิดมีตัวตนจริงในประวัติศาสตร์ แต่ไม่ปรากฏชื่อในกลุ่มสิบเสียงสีตามที่ระบุไว้ในโฮ่วฮั่นชู (จดหมายเหตุราชวงศ์ฮั่นยุคหลัง) เหาลำและเทาเจียดเสียชีวิตในปี ค.ศ. 172 และ ค.ศ. 181 ตามลำดับ จึงไม่ปรากฏในเหตุการณ์ตามที่ระบุในวรรณกรรมสามก๊ก

ในวัฒนธรรมสมัยนิยม[แก้]

สิบเสียงสีปรากฏในวิดีโอเกมส์ซีรีส์ ไดนาสตีวอริเออร์ ของค่ายเกมโคอี โดยเฉพาะใน ไดนาสตีวอริเออร์ 4: Xtreme Legends (โหมดเนื้อเรื่องของตั๋งโต๊ะ), ไดนาสตีวอริเออร์ 5: Xtreme Legends และ ไดนาสตีวอริเออร์ 8: Xtreme Legends (โหมดเนื้อเรื่องของลิโป้)

ดูเพิ่ม[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 ("แลพวกเทาเจียดขันทีซึ่งเปนผู้ใหญ่นั้นเก้าคน ชื่อเตียวต๋งหนึ่ง เตียวเหยียงหนึ่ง ฮองสีหนึ่ง ต๋วนกุยหนึ่ง เหาลำหนึ่ง เกียนสิดหนึ่ง เห้หุยหนึ่ง ก๊กเสงหนึ่ง เชียกงหนึ่ง เปนสิบคนทั้งเทาเจียด ถ้าขุนนางผู้ใดมิได้อยู่ในโอวาทก็ให้ถอดเสีย ผู้ใดอยู่ในบังคับบัญชานั้นก็ให้ยกตั้งแต่งขึ้น แลเทาเจียดกับพวกเก้าคนนั้นตั้งชื่อตัวเปนสิบเสียงสี") "สามก๊ก ตอนที่ ๑". วัชรญาณ. สืบค้นเมื่อ July 3, 2023.
  2. 2.0 2.1 (張讓者,潁川人;趙忠者,安平人也。 ... 是時讓、忠及夏惲、郭勝、孫璋、畢嵐、栗嵩、段珪、高望、張恭、韓悝、宋典十二人,皆為中常侍, ...) โฮฺ่วฮันชู เล่มที่ 78
  3. (少皆給事省中,桓帝時為小黃門。忠以與誅梁兾功封都鄉侯。延熹八年,黜為關內侯,食本縣租千斛。) โฮฺ่วฮันชู เล่มที่ 78
  4. (靈帝時,讓、忠並遷中常侍,封列侯,與曹節、王甫等相為表裏。節死後,忠領大長秋。) โฮฺ่วฮันชู เล่มที่ 78.
  5. 5.0 5.1 Beck, B.J. Mansvelt (2008). "The fall of Han". ใน Twitchett, D.; Fairbank, J.K. (บ.ก.). The Cambridge History of China. Vol. Volume 1: The Ch'in and Han Empires, 221 B.C.–A.D. 220. Cambridge University Press. pp. 317–376. {{cite book}}: |volume= has extra text (help)
  6. (是時讓、忠及夏惲、郭勝、孫璋、畢嵐、栗嵩、段珪、高望、張恭、韓悝、宋典十二人,皆為中常侍,封侯貴寵,父兄子弟布列州郡,所在貪殘,為人蠹害。) โฮฺ่วฮันชู เล่มที่ 78.
  7. (黃巾旣作,盜賊糜沸,郎中中山張鈞上書曰:「竊惟張角所以能興兵作亂,萬人所以樂附之者,其源皆由十常侍多放父兄、子弟、婚親、賔客典據州郡,辜榷財利,侵掠百姓,百姓之冤無所告訴,故謀議不軌,聚為盜賊。宜斬十常侍,縣頭南郊,以謝百姓,又遣使者布告天下,可不須師旅,而大寇自消。」) โฮ่วฮั่นชู เล่มที่ 78.
  8. (天子以鈞章示讓等,皆免冠徒跣頓首,乞自致洛陽詔獄,並出家財以助軍費。有詔皆冠履視事如故。帝怒鈞曰:「此真狂子也。十常侍固當有一人善者不?」) โฮฺ่วฮันชู เล่มที่ 78.
  9. (鈞復重上,猶如前章,輒寢不報。) โฮฺ่วฮันชู เล่มที่ 78.
  10. (詔使廷尉、侍御史考為張角道者,御史承讓等旨,遂誣奏鈞學黃巾道,收掠死獄中。) โฮฺ่วฮันชู เล่มที่ 78.
  11. (而讓等實多與張角交通。後中常侍封諝、徐奉事獨發覺坐誅,帝因怒詰讓等曰:「汝曹常言黨人欲為不軌,皆令禁錮,或有伏誅。今黨人更為國用,汝曹反與張角通,為可斬未?」皆叩頭云:「故中常侍王甫、侯覽所為。」帝乃止。) โฮฺ่วฮันชู เล่มที่ 78.
  12. (讓有監奴典任家事,交通貨賂,威形諠赫。扶風人孟佗,資產饒贍,與奴朋結,傾竭饋問,無所遺愛。奴咸德之,問佗曰:「君何所欲?力能辦也。」曰:「吾望汝曹為我一拜耳。」時賔客求謁讓者,車恒數百千兩,佗時詣讓,後至,不得進,監奴乃率諸倉頭迎拜於路,遂共轝車入門。賔客咸驚,謂佗善於讓,皆爭以珍玩賂之。佗分以遺讓,讓大喜,遂以佗為涼州刺史。) โฮ่วฮั่นชู เล่มที่ 78.
  13. (明年,南宮災。讓、忠等說帝令斂天下田畒稅十錢,以修宮室。發太原、河東、狄道諸郡材木及文石,每州郡部送至京師,黃門常侍輒令譴呵不中者,因強折賤買,十分雇一,因復貨之於宦官,復不為即受,材木遂至腐積,宮室連年不成。刺史、太守復增私調,百姓呼嗟。) โฮ่วฮั่นชู เล่มที่ 78.
  14. (是時中常侍趙忠、張讓、夏惲、郭勝、段珪、宋典等皆封侯貴寵,上常言:「張常侍是我公,趙常侍是我母。」) จือจื้อทงเจี้ยน เล่มที่ 58.
  15. (常云:「張常侍是我公,趙常侍是我母。」宦官得志,無所憚畏,並起第宅,擬則宮室。帝常登永安侯臺,宦官恐其望見居處,乃使中大人尚但諫曰:「天子不當登高,登高則百姓虛散。」自是不敢復升臺榭。) โฮฺ่วฮันชู เล่มที่ 78.
  16. (明年,遂使鉤盾令宋典繕修南宮玉堂。又使掖庭令畢嵐鑄銅人四列於倉龍、玄武闕。又鑄四鐘,皆受二千斛,縣於玉堂及雲臺殿前。又鑄天祿蝦蟇,吐水於平門外橋東,轉水入宮。又作翻車渴烏,施於橋西,用灑南北郊路,以省百姓灑道之費。又鑄四出文錢,錢皆四道。識者竊言侈虐已甚,形象兆見,此錢成,必四道而去。及京師大亂,錢果流布四海。) โฮฺ่วฮันชู เล่มที่ 78.
  17. (復以忠為車騎將軍,百餘日罷。) โฮฺ่วฮันชู เล่มที่ 78.
  18. de Crespigny, Rafe (2007), p. 312.
  19. 19.0 19.1 (匡遂引兵與董卓弟奉車都尉旻攻殺苗,弃其屍於苑中。紹遂閉北宮門,勒兵捕宦者,無少長皆殺之。或有無須而誤死者,至自發露然後得免。死者二千餘人。) โฮฺ่วฮันชู เล่มที่ 69.
  20. (六年,帝疾篤,屬協於蹇碩。碩旣受遺詔,且素輕忌於進兄弟,及帝崩,碩時在內,欲先誅進而立協。及進從外入,碩司馬潘隱與進早舊,迎而目之。進驚,馳從儳道歸營,引兵入屯百郡邸,因稱疾不入。碩謀不行,皇子辯乃即位,何太后臨朝,進與太傅袁隗輔政,錄尚書事。) โฮ่วฮั่นชู เล่มที่ 69.
  21. (中平六年,帝崩,皇子辯即位,尊后為皇太后。太后臨朝。) โฮฺ่วฮันชู เล่มที่ 10 (บรรพ 2).
  22. (進素知中官天下所疾,兼忿蹇碩圖己,及秉朝政,陰規誅之。 ... 進乃使黃門令收碩,誅之,因領其屯兵。) โฮฺ่วฮันชู เล่มที่ 69.
  23. (袁紹復說進曰:「前竇武欲誅內寵而反為所害者, ... 我柰何楚楚與士人對共事乎?」進難違太后意,且欲誅其放縱者。紹以為中官親近至尊,出入號令,今不悉廢,後必為患。而太后母舞陽君及苗數受諸宦官賂遺,知進欲誅之。數白太后,為其障蔽。又言:「大將軍專殺左右,擅權以弱社稷。」太后疑以為然。中官在省闥者或數十年,封侯貴寵,膠固內外。進新當重任,素敬憚之,雖外收大名而內不能斷,故事乆不決。) โฮฺ่วฮันชู เล่มที่ 69.
  24. (紹等又為畫策,多召四方猛將及諸豪傑,使並引兵向京城,以脅太后。進然之。 ... 遂西召前將軍董卓屯關中上林苑,又使府掾太山王匡東發其郡強弩,并召東郡太守橋瑁屯城皐,使武猛都尉丁原燒孟津,火照城中,皆以誅宦官為言。太后猶不從。 ... 進於是以紹為司隷校尉,假節,專命擊斷;從事中郎王允為河南尹。紹使洛陽方略武吏司察宦者,而促董卓等使馳驛上,欲進兵平樂觀。太后乃恐,悉罷中常侍小黃門,使還里舍,唯留進素所私人,以守省中。諸常侍小黃門皆詣進謝罪,唯所措置。進謂曰:「天下匈匈,正患諸君耳。今董卓垂至,諸君何不早各就國?」袁紹勸進便於此決之,至于再三。進不許。紹又為書告諸州郡,詐宣進意,使捕案中官親屬。) โฮฺ่วฮันชู เล่มที่ 69.
  25. (進謀積日,頗泄,中官懼而思變。張讓子婦,太后之妹也。讓向子婦叩頭曰:「老臣得罪,當與新婦俱歸私門。惟受恩累世,今當遠離宮殿,情懷戀戀,願復一入直,得暫奉望太后、陛下顏色,然後退就溝壑,死不恨矣。」子婦言於舞陽君,入白太后,乃詔諸常侍皆復入直。) โฮฺ่วฮันชู เล่มที่ 69.
  26. (八月,進入長樂白太后,請盡誅諸常侍以下,選三署郎入守宦官廬。諸宦官相謂曰:「大將軍稱疾不臨喪,不送葬,今欻入省,此意何為?竇氏事竟復起邪?」又張讓等使人潛聽,具聞其語,乃率常侍段珪、畢嵐等數十人,持兵竊自側闥入,伏省中。及進出,因詐以太后詔召進。入坐省闥,讓等詰進曰:「天下憒憒,亦非獨我曹罪也。先帝甞與太后不快,幾至成敗,我曹涕泣救解,各出家財千萬為禮,和恱上意,但欲託卿門戶耳。今乃欲滅我曹種族,不亦太甚乎?卿言省內穢濁,公卿以下忠清者為誰?」於是尚方監渠穆拔劔斬進於嘉德殿前。讓、珪等為詔,以故太尉樊陵為司隷校尉,少府許相為河南尹。尚書得詔板,疑之,曰:「請大將軍出共議。」中黃門以進頭擲與尚書,曰:「何進謀反,已伏誅矣。」) โฮฺ่วฮันชู เล่มที่ 69.
  27. (進部曲將吳匡、張璋,素所親幸,在外聞進被害,欲將兵入宮,宮閤閉。袁術與匡共斫攻之,中黃門持兵守閤。會日暮,術因燒南宮九龍門及東西宮,欲以脅出讓等。讓等入白太后,言大將軍兵反,燒宮,攻尚書闥,因將太后、天子及陳留王,又劫省內官屬,從複道走北宮。尚書盧植執戈於閣道䆫下,仰數段珪。段珪等懼,乃釋太后。太后投閣得免。) โฮฺ่วฮันชู เล่มที่ 69.
  28. (張讓、段珪等困迫,遂將帝與陳留王數十人步出穀門,奔小平津。公卿並出平樂觀,無得從者,唯尚書盧植夜馳河上,王允遣河南中部掾閔貢隨植後。貢至,手劔斬數人,餘皆投河而死。明日,公卿百官乃奉迎天子還宮,以貢為郎中,封都亭侯。) โฮฺ่วฮันชู เล่มที่ 69.
  29. (讓等數十人劫質天子走河上。追急,讓等悲哭辭曰:「臣等殄滅,天下亂矣。惟陛下自愛!」皆投河而死。) โฮฺ่วฮันชู เล่มที่ 78.