จองอี้

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
จองอี้ (จง ยฺวี่)
宗預
มหาขุนพลพิทักษ์ทัพ
(鎮軍大將軍 เจิ้นจฺวินต้าเจียงจฺวิน)
ดำรงตำแหน่ง
ค.ศ. 258 (258) – ค.ศ. 263 (263)
กษัตริย์เล่าเสี้ยน
ข้าหลวงมณฑลกุนจิ๋ว
(兗州刺史 เหยี่ยนโจวชื่อฉื่อ)
(ในนาม)
ดำรงตำแหน่ง
ค.ศ. 258 (258) – ค.ศ. 263 (263)
กษัตริย์เล่าเสี้ยน
มหาขุนพลโจมตีตะวันตก
(征西大將軍 เจิงซีต้าเจียงจฺวิน)
ดำรงตำแหน่ง
ค.ศ. ? (?) – ค.ศ. 258 (258)
กษัตริย์เล่าเสี้ยน
ขุนพลทัพหลัง (後將軍 โฮ่วเจียงจฺวิน)
ดำรงตำแหน่ง
ค.ศ. ? (?) – ค.ศ. 258 (258)
กษัตริย์เล่าเสี้ยน
นายพันทหารม้าประจำการ
(屯騎校尉 ถุนฉีเซี่ยวเว่ย์)
ดำรงตำแหน่ง
ค.ศ. 247 (247) – ค.ศ. ? (?)
กษัตริย์เล่าเสี้ยน
ราชเลขาธิการ (尚書 ช่างชู)
ดำรงตำแหน่ง
ค.ศ. ? (?) – ค.ศ. 247 (247)
กษัตริย์เล่าเสี้ยน
ขุนนางมหาดเล็ก (侍中 ชื่อจง)
ดำรงตำแหน่ง
ค.ศ. ? (?) – ค.ศ. ? (?)
กษัตริย์เล่าเสี้ยน
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิดไม่ทราบ
นครเติ้งโจว มณฑลเหอหนาน
เสียชีวิตค.ศ. 264
อาชีพขุนพล, นักการทูต
ชื่อรองเต๋อเยี่ยน (德豔)
บรรดาศักดิ์กวนไล่เฮา (關內侯 กวานเน่ย์โหว)

จองอี้ (ป. ค.ศ. 187 - 264[a]) มีชื่อในภาษาจีนกลางว่า จง ยฺวี่ (จีน: 宗預; พินอิน: Zōng Yù) ชื่อรอง เต๋อเยี่ยน (จีน: 德豔; พินอิน: Déyàn) เป็นขุนพลและนักการทูตของรัฐจ๊กก๊กในยุคสามก๊กของจีน จองอี้ร่วมกับเลียวฮัวและเตียวเอ๊กเป็นขุนนางเพียงไม่กี่คนที่รับราชการกับรัฐจ๊กก๊กตั้งแต่เริ่มก่อตั้งจนล่มสลาย[1]

การรับราชการช่วงต้น[แก้]

จองอี้เกิดในช่วงปลายยุคราชวงศ์ฮั่นตะวันออก เป็นชาวอำเภออันจงก๋วน (安眾縣 อานจ้งเซี่ยน) เมืองลำหยง (南陽郡 หนานหยางจฺวิ้น) ซึ่งอยู่บริเวณนครเติ้งโจว มณฑลเหอหนานในปัจจุบัน[2]

ในปี ค.ศ. 214 จองอี้ติดตามขุนพลเตียวหุยไปยังมณฑลเอ๊กจิ๋ว (ครอบคลุมพื้นที่ของมณฑลเสฉวนและนครฉงชิ่งในปัจจุบัน)[3] เพื่อนำกำลังเสริมไปช่วยขุนศึกเล่าปี่ผู้กำลังทำศึกเพื่อยึดครองมณฑลเอ๊กจิ๋วที่มีเล่าเจี้ยงเป็นเจ้ามณฑล[4]

ภายหลังจากราชวงศ์ฮั่นตะวันออกล่มสลาย จองอี้ได้รับราชการในรัฐจ๊กก๊กซึ่งเล่าปี่ก่อตั้งในปี ค.ศ. 221 เพื่อต่อต้านรัฐวุยก๊กที่ขึ้นแทนที่ราชวงศ์ฮั่นตะวันออกในปี ค.ศ. 220[5] ช่วงต้นศักราชเจี้ยนซิง (ค.ศ. 223–237) ในรัชสมัยของเล่าเสี้ยน จูกัดเหลียงผู้เป็นอัครมหาเสนาบดีแห่งจ๊กก๊กแต่งตั้งให้จองอี้เป็นนายทะเบียน (主簿 จู่ปู้) ของตน และภายหลังตั้งให้จองอี้เป็นเสนาธิการทัพ (參軍 ชานจฺวิน) และขุนพลองครักษ์ฝ่ายขวา (右中郎將 โย่วจงหลางเจี้ยง)[6]

การเดินทางไปง่อก๊กเพื่อการทูต[แก้]

ภายหลังการเสียชีวิตของจูกัดเหลียงในปี ค.ศ. 234[7] ง่อก๊กซึ่งเป็นรัฐพันธมิตรของจ๊กก๊กกังวลว่าวุยก๊กจะฉวยโอกาสของสถานการณ์นี้เข้าโจมตีจ๊กก๊ก จึงส่งกองกำลังเพิ่มเติม 10,000 นายไปประจำการอยู่ที่ปากิ๋ว (巴丘 ปาชิว; ปัจจุบันคือนครเยฺว่หยาง มณฑลหูหนาน) โดยมีจุดมุ่งหมายอยู่ 2 ประการคือ 1. เพื่อเสริมกำลังให้จ๊กก๊กหากวุยก๊กบุกมา และ 2. เพื่อเข้ายึดครองอาณาเขตของจ๊กก๊กหากจ๊กก๊กไม่สามารถป้องกันตนเองจากวุยก๊กได้ เมื่อราชสำนักจ๊กก๊กได้รับข่าวกรองว่าง่อก๊กเสริมกำลังเพิ่มเติมที่ปากิ๋ว จ๊กก๊กจึงเร่งเสริมการป้องกันที่เตงอั๋น (永安 หย่งอาน; ปัจจุบันคืออำเภอเฟิ่งเจี๋ย นครฉงชิ่ง) ใกล้กับชายแดนง่อก๊ก-จ๊กก๊กทันทีเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับเหตุไม่คาดฝัน[8]

ต่อมาจ๊กก๊กส่งจองอี้เป็นทูตไปเข้าเฝ้าซุนกวนจักรพรรดิง่อก๊ก ซุนกวนตรัสถามจองอี้ว่า "ตะวันออก (ง่อก๊ก) และตะวันตก (จ๊ก) ก็เหมือนครอบครัวเดียวกัน ข้าได้ยินมาว่าทางตะวันตกเสริมการป้องกันที่เป๊กเต้เสีย เหตุใดจึงทำเช่นนั้น"[9] จองอี้ทูลตอบว่า "กระหม่อมเห็นว่าเป็นเรื่องธรรมดาที่ตะวันตกต้องเสริมการป้องกันที่เป๊กเต้เสีย เช่นเดียวกับที่เป็นเรื่องธรรมดาที่ตะวันออกส่งกำลังเพิ่มเติมมาที่ปากิ๋ว กระหม่อมจึงเห็นว่านี่ไม่ใช่เหตุให้ต้องเป็นกังวล"[10] ซุนกวนทรงพระสรวลและทรงยกย่องจองอี้ที่ทูลตอบอย่างกล้าหาญและตรงไปตรงมา ในหมู่ทูตของจ๊กก๊กที่เดินทางมายังง่อก๊ก จองอี้ได้รับความชื่นชมและนับถือจากซุนกวนมากที่สุดคนหนึ่ง เป็นรองเพียงเตงจี๋และบิฮุย[11]

ต่อมาจองอี้ได้รับการแต่งตั้งเป็นขุนนางมหาดเล็ก (侍中 ชื่อจง) และเลื่อนขั้นเป็นราชเลขาธิการ (尚書 ช่างชู) ในสำนักเลขาธิการหลวง ในปี ค.ศ. 247 จองอี้ได้รับการแต่งตั้งเป็นนายพันทหารม้าประจำการ (屯騎校尉 ถุนฉีเซี่ยวเว่ย์)[12]

ต่อมาจองอี้ได้เดินทางไปง่อก๊กและเข้าเฝ้าจักรพรรดิซุนกวนเพื่อเจรจาการทูตอีกครั้ง ก่อนที่จองอี้จะกลับไป ซุนกวนจับมือจองอี้ไว้และพูดทั้งน้ำตาว่า "ท่านได้รับมอบหมายให้กระชับความสัมพันธ์ะหว่างสองรัฐเราเป็นเวลาหลายปีแล้ว บัดนี้เราทั้งคู่ต่างก็ชราและอ่อนแอลงแล้ว ข้าเกรงว่าเราอาจจะไม่ได้พบกันอีกเลย!"[13] จองอี้จึงทูลซุนกวนว่า "จ๊กเล็กและโดดเดี่ยว แม้ว่าเราจะเป็นบ้านใกล้เรือนเคืองกันแต่ในนาม แต่ตะวันออกและตะวันตกก็ต้องพึ่งพากันและกันอย่างแท้จริง ง่อก็ไม่อาจทำอะไรได้หากปราศจากจ๊ก จ๊กก็ไม่อาจทำอะไรได้หากปราศจากง่อ กระหม่อมหวังว่าฝ่าบาทจะตระหนักอยู่ในภายพระทัยว่าผู้ปกครองและราษฎรต้องการกันและกัน" จากนั้นก็ระบุตนเองว่า "ชราและขี้โรค" และแสดงออกซึ่งความกังวลของตนว่าอาจไม่ได้กลับมาเข้าเฝ้าซุนกวนอีก[14] ซุนกวนพระราชทานไข่มุกขนาดใหญ่ปริมาณ 1 หู (斛) เป็นของขวัญอำลา[15]

คัดง้างกับเตงจี๋[แก้]

ในปี ค.ศ. 247 เมื่อเตงจี๋ขุนพลจ๊กก๊กกลับมาที่นครหลวงเซงโต๋เพื่อรับตำแหน่งใหม่เป็นขุนพลทหารม้าและรถรบ (車騎將軍 เชอฉีเจียงจฺวิน)[16] เตงจี๋ได้เจอกับจองอี้ระหว่างทางไปราชสำนัก เตงจี๋จึงถามจองอี้ว่า "ตามจารีตแล้ว บุรุษพึงไม่รับราชการทหารต่อไปเมื่ออายุถึง 60 ปี เหตุใดท่านยังต้องการรับหน้าที่บัญชาการกองกำลังในวัยปูนนี้อีกเล่า" จองอี้ตอบว่า "ท่านก็อายุ 70 ปีแล้ว แต่ท่านยังไม่สละอำนาจบัญชาการกองกำลังอยู่อีก แล้วเหตุใดข้าที่อายุเพียง 60 ปีจึงไม่สามารถรับมอบหมายให้บัญชาการกองกำลังได้เล่า"[17]

เพื่อนขุนนางของเตงจี๋ รวมไปถึงมหาขุนพลบิฮุยที่เป็นผู้บังคับบัญชาของเตงจี๋ มักจะยอมโอนอ่อนให้กับท่าทางเย่อหยิ่งและมองคนอื่นว่าด้อยกว่าของเตงจี๋ มีเพียงจองอี้เพียงคนเดียวที่กล้าคัดง้างกับเตงจี๋[18]

การรับราชการช่วงปลายและเสียชีวิต[แก้]

ภายหลังจากจองอี้กลับมาจากการเดินทางไปง่อก๊กเพื่อเจรจาการทูตครั้งสุดท้าย จองอี้ก็ได้เลื่อนยศเป็นขุนพลทัพหลัง (後將軍 โฮ่วเจียงจฺวิน) และได้รับมอบหมายให้รักษาเตงอั๋น (永安 หย่งอาน; ปัจจุบันคืออำเภอเฟิ่งเจี๋ย นครฉงชิ่ง) ใกล้กับชายแดนง่อก๊ก-จ๊กก๊ก ภายหลังยังได้เลื่อนยศเป็นมหาขุนพลโจมตีตะวันตก (征西大將軍 เจิงซีต้าเจียงจฺวิน) และได้รับบรรดาศักดิ์กวนไล่เหา (關內侯 กวานเน่ย์โหว)[19]

ในปี ค.ศ. 258 จองอี้ถูกเรียกตัวกลับเซงโต๋เนื่องจากปัญหาสุขภาพ[20] ภายหลังได้รับการแต่งตั้งให้เป็นมหาขุนพลพิทักษ์ทัพ (鎮軍大將軍 เจิ้นจฺวินต้าเจียงจฺวิน) และได้รับแต่งตั้งให้เป็นข้าหลวงมณฑลกุนจิ๋ว (兖州刺史 เหยี่ยนโจวชื่อฉื่อ) แต่ในนาม[21]

ราวปี ค.ศ. 261[b] เมื่อจูกัดเจี๋ยมบุตรชายของจูกัดเหลียงรับหน้าที่ดูแลราชสำนักจ๊กก๊ก เลียวฮัวชวนจองอี้ให้ร่วมกันไปเยี่ยมจูกัดเจี๋ยม[23] จองอี้ปฏิเสธและบอกเลียวฮัวว่า "เราทั้งคู่ต่างก็อายุเกิน 70 ปีกันแล้ว สิ่งที่เราปรารถนาได้ผ่านพ้นไปแล้ว ไม่มีอะไรนอกจากความตายที่ยังอยู่กับเรา เหตุใดต้องไปขอความช่วยเหลือจากคนรุ่นหนุ่มด้วยเรื่องเล็กน้อยด้วยเล่า"[24]

จ๊กก๊กล่มสลายในปี ค.ศ. 263 เมื่อเล่าเสี้ยนจักรพรรดิจ๊กก๊กยอมจำนนต่อรัฐวุยก๊กที่เป็นรัฐอริของจ๊กก๊ก ภายหลังจากวุยก๊กยกทัพบุกจ๊กก๊ก[25] ในปีถัดมา จองอี้และเลียวฮัวได้รับคำสั่งให้ย้ายไปอยู่ที่ลกเอี๋ยงนครหลวงของวุยก๊ก แต่ทั้งคู่เสียชีวิตด้วยอาการป่วยระหว่างเดินทาง[26]

ดูเพิ่ม[แก้]

หมายเหตุ[แก้]

  1. ชีวประวัติเลียวฮัวในจดหมายเหตุสามก๊กระบุว่าเลียวฮัวและจองอี้เสียชีวิตในฤดูใบไม้ผลิ (เดือน 1 ถึงเดือน 3) ของศักราชเสียนซีปีที่ 1 เทียบได้กับช่วงเวลาตั้งแต่วันที่ 15 กุมภาพันธ์ถึง 1 พฤษภาคม ค.ศ. 264 ในปฏิทินจูเลียน
  2. ในช่วงเวลานั้น จูกัดเจี๋ยมได้รับการตั้งให้เป็นรักษาการขุนพลพิทักษ์[22]

อ้างอิง[แก้]

  1. de Crespigny (2007), p. 1178.
  2. (宗預字德豔,南陽安衆人也。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 45.
  3. (建安中,隨張飛入蜀。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 45.
  4. Sima (1084), vol. 67.
  5. Sima (1084), vol. 69.
  6. (建興初,丞相亮以為主簿,遷參軍右中郎將。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 45.
  7. Sima (1084), vol. 72.
  8. (及亮卒,吳慮魏或承衰取蜀,增巴丘守兵萬人,一欲以為救援,二欲以事分割也。蜀聞之,亦益永安之守,以防非常。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 45.
  9. (預將命使吳,孫權問預曰:「東之與西,譬猶一家,而聞西更增白帝之守,何也?」) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 45.
  10. (預對曰:「臣以為東益巴丘之戍,西增白帝之守,皆事勢宜然,俱不足以相問也。」) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 45.
  11. (權大笑,嘉其抗直,甚愛待之,見敬亞於鄧芝、費禕。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 45.
  12. (遷為侍中,徙尚書。延熈十年,為屯騎校尉。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 45.
  13. (預復東聘吳,孫權捉預手,涕泣而別曰:「君每銜命結二國之好。今君年長,孤亦衰老,恐不復相見!」) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 45.
  14. (吳歷曰:預臨別,謂孫權曰:「蜀土僻小,雖云鄰國,東西相賴,吳不可無蜀,蜀不可無吳,君臣憑恃,唯陛下重垂神慮。」又自說「年老多病,恐不復得奉聖顏」。) อรรถาธิบายจากอู๋ลี่ในจดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 45.
  15. (遺預大珠一斛,乃還。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 45.
  16. (延熈六年,就遷為車騎將軍,後假節。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 45.
  17. (時車騎將軍鄧芝自江州還,來朝,謂預曰:「禮,六十不服戎,而卿甫受兵,何也?」預荅曰:「卿七十不還兵,我六十何為不受邪?」) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 45. ใน ฉือไห่ ระบุว่าเตงจี๋อายุประมาณ 65 ปีขณะเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้น
  18. (芝性驕慠,自大將軍費禕等皆避下之,而預獨不為屈。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 45.
  19. (遷後將軍,督永安,就拜征西大將軍,賜爵關內侯。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 45.
  20. (景耀元年,以疾徵還成都。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 45.
  21. (後為鎮軍大將軍,領兖州刺史。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 45.
  22. (景耀四年,为行都护卫将军,...) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 35
  23. (時都護諸葛瞻初統朝事,廖化過預,欲與預共詣瞻許。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 45.
  24. (預曰:「吾等年踰七十,所竊已過,但少一死耳,何求於年少輩而屑屑造門邪?」遂不往。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 45.
  25. Sima (1084), vol. 78.
  26. (咸熈元年春,化、預俱內徙洛陽,道病卒。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 45.

บรรณานุกรม[แก้]

  • ตันซิ่ว (ศตวรรษที่ 3). จดหมายเหตุสามก๊ก (ซานกั๋วจื้อ).
  • เผย์ ซงจือ (ศตวรรษที่ 5). อรรถาธิบายจดหมายเหตุสามก๊ก (ซานกั๋วจื้อจู้).
  • ซือหม่า กวาง (1084). จือจื้อทงเจี้ยน.
  • de Crespigny, Rafe (2007). A Biographical Dictionary of Later Han to the Three Kingdoms 23-220 AD. Leiden: Brill. ISBN 9789004156050.