ข้ามไปเนื้อหา

โตเกี๋ยม

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เถา เชียน (มาตรฐาน)
โตเกี๋ยม (ฮกเกี้ยน)
陶謙
สมุหเทศาภิบาลมณฑลชีจิ๋ว (徐州牧)
ดำรงตำแหน่ง
ค.ศ. 190 (190) – ค.ศ. 194 (194)
กษัตริย์พระเจ้าเหี้ยนเต้
ถัดไปเล่าปี่
แม่ทัพบูรพาปลอดภัย (安東將軍)
ดำรงตำแหน่ง
ค.ศ. 190 (190) – ค.ศ. 194 (194)
กษัตริย์พระเจ้าเหี้ยนเต้
ผู้ตรวจราชการมณฑลชีจิ๋ว (徐州刺史)
ดำรงตำแหน่ง
ค.ศ. 188 (188) – ค.ศ. 190 (190)
กษัตริย์พระเจ้าเลนเต้ /
พระเจ้าฮั่นเซ่าตี้ /
พระเจ้าเหี้ยนเต้
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิดค.ศ. 132[1]
เทศมณฑลตังถู มณฑลอานฮุย
เสียชีวิตค.ศ. 194 (อายุ 62 ปี)[1]
เทศมณฑลถังเฉิง มณฑลซานตง
คู่สมรสนาง Gan[2]
บุตร
  • Tao Shang
  • Tao Ying
อาชีพข้าราชการ, ขุนศึก
ชื่อรองกงจู่ (恭祖)
บรรดาศักดิ์หลี่หยางโหว (溧陽侯)
ชื่อภาษาจีน
อักษรจีนตัวเต็ม
อักษรจีนตัวย่อ
มณฑลที่ถูกปกครองโดยโตเกี๋ยมในปลายปี ค.ศ. 180

โตเกี๋ยม (ค.ศ. 132–194)[1] ชื่อรอง กงจู่ เป็นข้าราชการและขุนศึกที่มีชีวิตอยู่ในช่วงปลายราชวงศ์ฮั่นตะวันออกของจีน เขาเป็นที่รู้จักกันเป็นอย่างดีในฐานะสมุหเทศาภิบาลมณฑลชีจิ๋ว[3]

ช่วงชีวิตแรกและอาชีพ

[แก้]

โตเกี๋ยมมาจากเมืองตันเอี๋ยง (ตานหยาง, 丹楊郡) มณฑลเองจิ๋ว ซึ่งอยู่บริเวณรอบหม่าอันซาน มณฑลอานฮุยในปัจจุบัน ในช่วงวัยหนุ่ม เขาเป็นที่รู้จักกันในด้านความวิริยะอุตสาหการเรียนและซื่อสัตย์ ในขณะที่เข้ารับราชการในราชวงศ์ฮั่น เขาได้นำกองทัพในเมืองตันเอี๋ยงเพื่อปราบปรามการก่อกบฎ

เมื่อเหตุการณ์กบฎโพกผ้าเหลืองได้เกิดขึ้น เขาได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้ตรวจราชการมณฑลแห่งแคว้นชีจิ๋ว และเขาได้ประสบความสำเร็จในการกวาดล้างพื้นที่ของกองกำลังฝ่ายกบฏ เขาได้ถูกส่งไปยังชายแดนด้านตะวันตกเฉียงเหนือในช่วงการก่อกบฏเหลียงจิ๋ว ซึ่งเขาได้ทำงานรับใช้ภายใต้บัญชาการของเตียวอุ๋น ในช่วงระหว่างการทัพ โตเกี๋ยมพูดจาดูหมิ่นเตียวอุ๋นและทำให้เขาโกรธมาก แต่อย่างไรก็ตาม ซุนเกี๋ยนและตั๋งโต๊ะที่อยู่ในกองทัพก็ไม่พอใจในความเป็นผู้นำของเตียวอุ๋นเช่นกัน ในเหตุการณ์ความวุ่นวายที่เกิดขึ้นมาจากการก่อรัฐประหารของตั๋งโต๊ะ และการสู้รบที่ตามมา โตเกี๋ยมได้กลับไปยังแคว้นชีจิ๋วและเข้าควบคุมแคว้นเองจิ๋วที่อยู่ใกล้เคียง อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากนั้นมา เขาไม่สามารถแสดงให้เห็นถึงความทะเยอทะยานที่จะขยายอาณาเขตของเขาได้อีกต่อไป

โตเกี๋ยมได้เป็นผู้รับผิดชอบในการเริ่มต้นอาชีพของอ่องหลอง จูตี และตันเต๋ง ซึ่งทุกคนจะมีบทบาทที่สำคัญในเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่นำไปสู่ปลายราชวงศ์ฮั่น อย่างไรก็ตาม ในขณะเดียวกัน เขาก็ได้ส่งเสริมขุนนางที่ไม่มีจริยธรรมเช่น ฉกหยง เฉาหง ชิวซวน และพลาดที่จะแต่งตั้งคนดี เช่น เจ้ายู่ ที่มีความสามารถและจงรักภักดีไว้ใช้ใกล้ตัว โตเกี๋ยมยังจับคนที่ไม่ยอมสวามิภักดิ์เช่น เตียวเจียว และลิห้อมไปคุมขัง และเขายังพยายามที่จะทำร้ายครอบครัวของซุนเซ็กซึ่งได้รับใช้ให้กับอ้วนสุดในช่วงเวลานั้น

โจโฉบุกโจมตีแคว้นชีจิ๋ว

[แก้]

ใน ค.ศ. 193 โจโก๋ บิดาของโจโฉได้เดินทางผ่านมายังแคว้นชีจิ๋ว โตเกี๋ยมได้ให้การต้อนรับเป็นอย่างดี และมอบหมายให้เตียวคี (張闓) เป็นผู้คุ้มกันขบวนรถอีกด้วย แต่หลังจากเตียวคีนำทหารห้าร้อยนายติดตามขบวนรถของโจโก๋ เตียวคีเกิดความโลภด้วยเห็นว่าโจโก๋มีทรัพย์สมบัติเป็นจำนวนมาก จึงวางแผนฆ่าโจโก๋และปล้นชิงทรัพย์สินและหลบหนีไป การตายของโจโก๋ได้ทำให้โจโฉซึ่งดำรงตำแหน่งเป็นสมุหเทศาภิบาลมณฑลแห่งแคว้นกุนจิ๋ว นำกองทัพบุกเข้าโจมตีแคว้นชีจิ๋วและสังหารหมู่ประชาชนพลเรือนนับไม่ถ้วนเพื่อเป็นการล้างแค้นให้กับบิดาของเขา โตเกี๋ยมได้ขอความช่วยเหลือจากพันธมิตรของเขาที่แคว้นเฉงจิ๋ว และมีเต๊งไก๋และเล่าปี่ ลูกน้องของเขามาเข้าร่วมและพร้อมด้วยกองกำลังเสริม โตเกี๋ยมสามารถต้านทานโจโฉไว้ได้ ในที่สุด กองทัพโจโฉต้องประสบขาดแคลนเสบียงและต้องถอนกำลังกลับไปยังแคว้นกุนจิ๋ว

เต๊งไก๋ได้เดินทางกลับไปทางเหนือ แต่โตเกี๋ยมได้จัดตั้งกองกำลังจำนวนหลายพันนายจากเมืองตันเอี๋ยงให้แก่เล่าปี่ ดังนั้นเล่าปี่จึงเปลี่ยนผู้เป็นนายจากเต๊งไก๋มาเป็นโตเกี๋ยม

โจโฉได้เปิดฉากการบุกเข้าโจมตีเป็นครั้งที่สองใน ค.ศ. 194 แต่กลับถูกบีบบังคับให้หันหลังกลับ เมื่อเตียวเมาและตันก๋งได้ก่อกบฎต่อต้านเขาและช่วยเหลือแก่ลิโป้ ขุนศึกคู่อริในการเข้ายึดควบคุมฐานที่มั่นของเขาในแคว้นกุนจิ๋ว

เสียชีวิตและการสืบทอด

[แก้]

โตเกี๋ยมได้ล้มป่วยจนถึงแก่กรรมใน ค.ศ. 194 ลูกน้องของเขาอย่างบิต๊กและบิฮองได้เชิญเล่าปี่เข้ารับตำแหน่งเป็นสมุหเทศาภิบาลมณฑลแห่งแคว้นชีจิ๋วคนใหม่ เล่าปี่ได้ปฏิเสธในตอนแรกและได้เสนอที่จะยกตำแหน่งนี้ให้กับอ้วนสุด แต่ขงหยงได้โน้มน้าวให้เขายอมรับตำแหน่งนี้ในที่สุด

ในวรรณกรรมสามก๊ก

[แก้]

ในวรรณกรรมอิงประวัติศาสตร์ในศตวรรษที่ 14 เรื่องสามก๊ก โตเกี๋ยมได้ถูกกล่าวถึงว่าเป็น"ชายที่อบอุ่นและซื่อสัตย์" และการโจมตีโจโก๋ของเตียวคีนั้นถือว่าเป็นการกระทำที่ขัดต่อความต้องการของเขาเอง ต่อมาภายหลังจากนั้นที่เล่าปี่ได้ช่วยเหลือเขาในการขับไล่การรุกรานของโจโฉ โตเกี๋ยมได้เสนอยกตำแหน่งสมุหเทศาภิบาลมณฑลแห่งแคว้นชีจิ๋วให้แก่เล่าปี่ถึงสามครั้งแต่เล่าปี่กลับปฏิเสธทุกครั้ง โดยกล่าวว่าเป็นการกระทำดังกล่าวจะถูกมองว่าไร้เกียรติ ใน ค.ศ. 194 ในขณะที่กำลังจะสิ้นลมหายใจ โตเกี๋ยมได้พยายามเป็นครั้งสุดท้ายเพื่อร้องขอให้เล่าปี่เข้ารับตำแหน่งทันที แต่เล่าปี่ยังคงปฏิเสธคำขอของเขา โตเกี๋ยมได้ถึงแก่กรรมอย่างสงบภายหลังจากนั้นได้ไม่นาน และในที่สุด เล่าปี่ได้ยอมเข้ารับตำแหน่งตามคำสั่งเสียครั้งสุดท้ายของเขา ภายหลังจากประชาชนชาวชีจิ๋วและเหล่าพี่น้องของเขาต่างเชิญให้เขาเข้ารับตำแหน่ง[4]

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 1.2 ชีวประวัติของโตเกี๋ยมในจดหมายเหตุสามก๊กระบุว่า โตเกี๋ยมเสียชีวิตในปีแรกของศักราช Xingping (ค.ศ. 194-195) ในรัชสมัยพระเจ้าเหี้ยนเต้ (興平元年, ... 是歲,謙病死。) อรรถาธิบายจาก Wu Shu ระบุเพิ่มเติมว่าตอนเสียชีวิตเขามีอายุ 63 ปี (ตามการนับอายุแบบเอเชียตะวันออก) (吳書曰:謙死時,年六十三, ...) เมื่อคำนวณแล้ว ปีเกิดของเขาควรอยู่ใน ค.ศ. 132
  2. พ่อของนาง Gan เป็น Administrator of Cangwu. (《吴书》曰:...故苍梧太守同县甘公出遇之涂,见其容貌,异而呼之,住车与语,甚恱,因许妻以女。甘公夫人闻之,怒曰:“妾闻陶家儿敖戏无度,如何以女许之?”公曰:“彼有奇表,长必大成。”遂妻之。) Wu Shu annotation in Sanguozhi, vol.08
  3. de Crespigny (2007), p. 788.
  4. Luo Guanzhong, translated by Moss Roberts (1995) Three Kingdoms, seventh printing (2015), Beijing: Foreign Languages Press, volume 1, chapters 10–12.

บรรณานุกรม

[แก้]
  • ตันซิ่ว (คริสต์ศตวรรษที่ 3). จดหมายเหตุสามก๊ก (ซันกั๋วจื้อ).
  • de Crespigny, Rafe (2007). A biographical dictionary of Later Han to the Three Kingdoms (23–220 AD). Leiden: Brill. ISBN 978-90-04-15605-0.
  • ฟ่าน เย่ (คริสต์ศตวรรษที่ 5). ตำราประวัติศาสตร์ราชวงศ์ฮั่นยุคหลัง (โฮ่วฮั่นชู).
  • ล่อกวนตง (คริสต์ศตวรรษที่ 14). สามก๊ก (ซันกั๋วเหยี่ยนอี้).
  • เผย์ ซงจือ (คริสต์ศตวรรษที่ 5). อรรถาธิบายจดหมายเหตุสามก๊ก (ซันกั๋วจื้อจู้).
ก่อนหน้า โตเกี๋ยม ถัดไป
ไม่ทราบ สมุหเทศาภิบาลมณฑลชีจิ๋ว
(190 - 194)
เล่าปี่