ข้ามไปเนื้อหา

ประเทศพม่า

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก ประเทศเมียนมา)
สาธารณรัฐแห่งสหภาพพม่า

ပြည်ထောင်စု သမ္မတ မြန်မာနိုင်ငံတော်‌ (พม่า)
เพลงชาติ
ที่ตั้งของ ประเทศพม่า  (สีเขียว)

ในอาเซียน  (สีเทาเข้ม)  —  [คำอธิบายสัญลักษณ์]

เมืองหลวงเนปยีดอ
19°45′N 96°6′E / 19.750°N 96.100°E / 19.750; 96.100
เมืองใหญ่สุดย่างกุ้ง
ภาษาราชการภาษาพม่า
อักษรราชการอักษรพม่า
กลุ่มชาติพันธุ์
(ค.ศ. 2019[1][2][3])
ศาสนา
เดมะนิมชาวพม่า/ชาวเมียนมา[5]
การปกครองรัฐเดี่ยว สาธารณรัฐระบบรัฐสภาที่เป็นอิสระจากสภานิติบัญญัติ ภายใต้คณะผู้ยึดอำนาจการปกครอง
มี่นอองไลง์ (รักษาการ)
มี่นอองไลง์
• รองประธานสภาบริหารแห่งรัฐและรองนายกรัฐมนตรี
ซอวี่น
สภานิติบัญญัติสภาบริหารแห่งรัฐ
การก่อตั้ง
ป. 180 ปีก่อน ค.ศ.
23 ธันวาคม ค.ศ. 849
16 ตุลาคม ค.ศ. 1510
29 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1752
1 มกราคม ค.ศ. 1886
4 มกราคม ค.ศ. 1948
2 มีนาคม ค.ศ. 1962
• เปลี่ยนชื่อในภาษาอังกฤษจาก Burma เป็น Myanmar
18 มิถุนายน ค.ศ. 1989
30 มีนาคม ค.ศ. 2011
1 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2021
พื้นที่
• รวม
676,578 ตารางกิโลเมตร (261,228 ตารางไมล์) (อันดับที่ 39)
3.06
ประชากร
• ค.ศ. 2022 ประมาณ
55,770,232[6] (อันดับที่ 26)
196.8 ต่อตารางไมล์ (76.0 ต่อตารางกิโลเมตร) (อันดับที่ 125)
จีดีพี (อำนาจซื้อ) ค.ศ. 2024 (ประมาณ)
• รวม
เพิ่มขึ้น 283.572 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ[7] (อันดับที่ 64)
เพิ่มขึ้น 5,200 ดอลลาร์สหรัฐ[8] (อันดับที่ 146)
จีดีพี (ราคาตลาด) ค.ศ. 2024 (ประมาณ)
• รวม
ลดลง 68.006 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ[9] (อันดับที่ 87)
ลดลง 1,250 ดอลลาร์สหรัฐ[10] (อันดับที่ 167)
จีนี (ค.ศ. 2017)positive decrease 30.7[11]
ปานกลาง · อันดับที่ 106
เอชดีไอ (ค.ศ. 2022)เพิ่มขึ้น 0.608[12]
ปานกลาง · อันดับที่ 144
สกุลเงินจัต (K) (MMK)
เขตเวลาUTC+06:30 (เวลามาตรฐานพม่า)
ขับรถด้านขวามือ
รหัสโทรศัพท์+95
รหัส ISO 3166MM
โดเมนบนสุด.mm

พม่า[13][14] หรือ เมียนมา[15] (พม่า: မြန်မာ, ออกเสียง: [mjəmà]) มีชื่อทางการว่า สาธารณรัฐแห่งสหภาพพม่า หรือ สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา (ပြည်ထောင်စု သမ္မတ မြန်မာနိုင်ငံတော်‌, [pjìdàʊ̯ɰ̃zṵ θəməda̰ mjəmà nàɪ̯ŋàɰ̃dɔ̀]) เป็นรัฐเอกราชในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีพรมแดนติดกับอินเดีย บังกลาเทศ จีน ลาว และไทย หนึ่งในสามของพรมแดนพม่าที่มีความยาว 1,930 กิโลเมตรเป็นแนวชายฝั่งตามอ่าวเบงกอลและทะเลอันดามัน ด้วยพื้นที่ 676,578 ตารางกิโลเมตร พม่าจึงเป็นประเทศที่ใหญ่เป็นอันดับที่ 40 ของโลก เป็นอันดับที่ 2 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และใหญ่ที่สุดในแผ่นดินคาบสมุทรอินโดจีน พม่ามีประชากรราว 54 ล้านคน[16] มีเมืองหลวงคือ กรุงเนปยีดอ และนครใหญ่สุดคือ ย่างกุ้ง[17]

อารยธรรมช่วงต้นของพม่ามีนครรัฐปยูที่พูดภาษาตระกูลทิเบต-พม่าในพม่าตอนบน และราชอาณาจักรมอญในพม่าตอนล่าง ในคริสต์ศตวรรษที่ 9 ชาวพม่าได้เข้าครอบครองบริเวณลุ่มแม่น้ำอิรวดีตอนบน และสถาปนาราชอาณาจักรพุกามในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1050 ภาษาและวัฒนธรรมพม่าพร้อมด้วยศาสนาพุทธนิกายเถรวาทค่อย ๆ ครอบงำในประเทศ อาณาจักรพุกามล่มสลายเพราะการบุกครองของมองโกลและรัฐหลายรัฐกำเนิดขึ้น ในคริสต์ศตวรรษที่ 16 ราชวงศ์ตองอูสร้างเอกภาพอีกครั้ง และเป็นจักรวรรรดิใหญ่สุดในประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในช่วงสั้น ๆ[18] ต่อมา ในต้นศตวรรษที่ 19 ราชวงศ์โก้นบองได้ปกครองพื้นที่พม่าและควบคุมมณีปุระและอัสสัมในช่วงสั้น ๆ ด้วย บริติชพิชิตพม่าหลังสงครามอังกฤษ-พม่าทั้งสามครั้งในคริสต์ศตวรรษที่ 19 และประเทศกลายเป็นอาณานิคมบริติช ก่อนจะได้รับเอกราชในปี 2491 โดยในช่วงช่วงแรกมีการปกครองแบบชาติประชาธิปไตย และหลังรัฐประหารใน พ.ศ. 2505 พม่าอยู่ภายใต้การปกครองแบบเผด็จการทหาร[19] พรรคโครงการสังคมนิยมพม่าโดยนายพลเนวี่นมีบทบาทนำในการปกครองประเทศ การก่อการกำเริบ 8888 ถือเป็นเหตุการณ์สำคัญครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ โดยส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระบบการเมืองของประเทศ แม้กองทัพจะยังมีบทบาทสำคัญจนถึงปัจจุบัน

พม่าต้องเผชิญกับการต่อสู้ชาติพันธุ์ที่รุนแรงมาตั้งแต่ทศวรรษ 1980 นำไปสู่สงครามกลางเมืองที่ยังดำเนินอยู่ยาวนานที่สุดสงครามหนึ่งของโลก สหประชาชาติและอีกหลายองค์การรายงานการละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศอย่างต่อเนื่อง[20][21][22] ในปี 2554 มีการยุบคณะทหารผู้ยึดอำนาจการปกครองอย่างเป็นทางการหลังการเลือกตั้งทั่วไป พ.ศ. 2553 และมีการตั้งรัฐบาลในนามพลเรือน แต่อดีตผู้นำทหารยังมีอำนาจภายในประเทศโดยผู้นำพรรคการเมืองส่วนใหญ่ยังเป็นอดีตนายทหารระดับสูง กองทัพพม่าดำเนินการสละการควบคุมรัฐบาล รวมถึงการปล่อยตัวอองซานซูจีและนักโทษทางการเมือง มีการปรับปรุงสิทธิมนุษยชนและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จนนำไปสู่การผ่อนปรนการลงโทษทางการค้าและเศรษฐกิจอื่น ๆ[23][24] ทว่ายังมีการวิจารณ์การปฏิบัติต่อชนกลุ่มน้อยโรฮีนจาของรัฐบาลและการสนองต่อการปะทะกันทางศาสนา ซึ่งความขัดแย้งยังเรื้อรังมาถึงปัจจุบัน[25][26][27] แม้ว่านางอองซานซูจีจะได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2563 ทว่ากองทัพพม่าได้ก่อรัฐประหารอีกครั้งในปี 2564[28] รัฐบาลทหารได้จับกุมและตั้งข้อหาทางอาญานางอองซานซูจีอีกครั้งในความผิดฐานทุจริตและฝ่าฝืนกฎระเบียบในช่วงโควิด-19[29] อย่างไรก็ตาม ได้มีการตั้งข้อสังเกตจากนานาชาติว่าการตั้งข้อหาดังกล่าวล้วนเกิดจากเหตุจูงใจทางการเมือง[30] การรัฐประหารครั้งล่าสุดยังนำไปสู่การประท้วงใน พ.ศ. 2564–2565 และลุกลามกลายเป็นสงครามกลางเมืองโดยกองทัพได้ใช้กำลังเข้าปราบปรามผู้ชุมนุม[31]

พม่าเป็นสมาชิกของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มาตั้งแต่ปี 2540 และยังเป็นสมาชิกการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก, ขบวนการไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด และบิมสเทค แต่ไม่ได้เป็นสมาชิกของเครือจักรภพแห่งประชาชาติ แม้จะเคยเป็นประเทศอาณานิคมของสหราชอาณาจักร และยังเป็นประเทศคู่เจรจาที่สำคัญในองค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ ประเทศพม่าอุดมด้วยหยก อัญมณี น้ำมัน แก๊สธรรมชาติ และทรัพยากรแร่อื่น ๆ ทั้งยังขึ้นชื่อในด้านพลังงานทดแทน และมีศักยภาพด้านพลังงานแสงอาทิตย์สูงสุดในบรรดากลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขง[32] ในปี 2556 จีดีพี (ราคาตลาด) อยู่ที่ 56,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และจีดีพี (อำนาจซื้อ) อยู่ที่ 221,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ[33] พม่าเป็นหนึ่งในประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมมากที่สุดในโลก[34][35] เนื่องจากภาคเศรษฐกิจส่วนใหญ่ถูกผู้สนับสนุนอดีตรัฐบาลทหารควบคุม[36][37] พม่ายังมีระดับการพัฒนามนุษย์ต่ำโดยอยู่อันดับที่ 147 จาก 189 ประเทศจากดัชนีการพัฒนามนุษย์ในปี 2563[38] นับตั้งแต่ปี 2564 เป็นต้นมา มีประชากรเมียนมาอย่างน้อยหลายแสนรายต้องกลายเป็นผู้พลัดถิ่น สืบเนื่องจากความรุนแรงในประเทศที่เพิ่มสูงขึ้นนับตั้งแต่มีการรัฐประหาร และมีประชากรราวสามล้านคนต้องการความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมอย่างเร่งด่วน[39]

นิรุกติศาสตร์

[แก้]

ชื่อประเทศของพม่าทั้ง Myanmar และ Burma เป็นที่ถกเถียงกันมาหลายทศวรรษ[40][41] โดยทั้งสองชื่อต่างก็ได้รับความนิยมทั้งในบริบททางการรวมถึงการใช้ทั่วไป[42] ทั้งสองคำมาจากการแผลงคำในภาษาพม่า Mranma และ Mramma ซึ่งเป็นชื่อที่เรียกกลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยในพม่ามายาวนาน[43] และหลักฐานบางชิ้นยังชี้ให้เห็นว่าชื่อทั้งสองมีที่มาจากภาษาสันสกฤต Brahma Desha (ब्रह्मादेश/ब्रह्मावर्त) ซึ่งสื่อถึงพระพรหม[44]

ในปี 2532 รัฐบาลทหารได้มีมติให้ใช้ชื่อประเทศในภาษาอังกฤษว่า Myanmar รวมถึงให้ใช้ชื่อนี้ในการอ้างถึงเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์โดยย้อนไปตั้งแต่ยุคการปกครองของสหราชอาณาจักร แต่ชื่อดังกล่าวไม่เป็นที่ยอมรับมากนัก โดยกลุ่มชาติพันธุ์ภายในประเทศรวมถึงชาติอื่น ๆ ที่ต่อต้านการปกครองแบบเผด็จการทหารของพม่ายังคงใช้ชื่อ Burma ต่อ[45] อย่างไรก็ตาม รัฐบาลและผู้นำประเทศได้ใช้ชื่อ Myanmar เพื่อแทนตัวเองในการติดต่อกับต่างชาติทุกโอกาสมานับตั้งแต่นั้น

ในเดือนเมษายน 2559 ไม่นานหลังการเข้ารับตำแหน่งที่ปรึกษาแห่งรัฐ อองซานซูจีได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวโดยเธอกล่าวว่า "ขึ้นอยู่กับแต่ละคน เนื่องจากไม่มีการบัญญัติอย่างตายตัวในรัฐธรรมนูญของประเทศเราที่ระบุว่าต้องใช้ชื่อใดระหว่างสองชื่อนี้" เธอยังกล่าวอีกว่า "ฉันมักจะใช้ชื่อ Burma เพราะความเคยชิน แต่ไม่ได้หมายความว่าทุกคนต้องทำเช่นนั้น และฉันยินดีที่จะใช้คำว่า Myanmar ให้บ่อยขึ้นเพื่อให้รัฐบาลสบายใจ"[46]

ชื่อเต็มของประเทศคือ "สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา" (ပြည်ထောင်စုသမ္မတ မြန်မာနိုင်ငံတော်, Pyihtaungsu Thamada Myanma Naingngantaw, อ่านว่า [pjìdàʊɴzṵ θàɴməda̰ mjəmà nàɪɴŋàɴdɔ̀]) หรือที่บางประเทศเรียกอย่างย่อว่า "สหภาพพม่า" (Union of Burma) เชื่อกันว่ามีที่มาตั้งแต่สมัยพม่าเป็นอาณานิคมของอังกฤษ และแม้ว่ารัฐบาลพม่าจะใช้ชื่อ Myanmar เป็นหลัก แต่รัฐบาลของชาติตะวันตกหลายประเทศ เช่น สหรัฐ ยังนิยมเรียกประเทศพม่าว่า Burma ในปัจจุบัน โดยในเว็บไซต์กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐใช้คำว่า Burma และมีการใส่ (Myanmar) ต่อท้ายในวงเล็บกำกับไว้ด้วย รวมถึงเดอะเวิลด์แฟกต์บุ๊กของซีไอเอก็มีการระบุชื่อประเทศเป็น Burma ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2564 เช่นกัน[47] รัฐบาลแคนาดาเคยใช้คำว่า Burma ในช่วงที่พม่าถูกคว่ำบาตรจากนานาชาติ ก่อนจะเปลี่ยนเป็น Myanmar ในเดือนสิงหาคม 2563[48]

โดยทั่วไปแล้ว ไม่มีการบัญญัติวิธีการออกเสียงชื่อประเทศพม่าในภาษาอังกฤษอย่างตายตัว และนักภาษาศาสตร์สมัยใหม่กล่าวว่า พบการออกเสียงที่แตกต่างกันอย่างน้อย 9 แบบ โดยการออกเสียง 2 พยางค์นั้นพบบ่อยครั้งในพจนานุกรมของสหราชอาณาจักรและสหรัฐ[49] ยกเว้นฉบับคอลลินส์ (Collins English Dictionary)[50] ซึ่งออกเสียงสามพยางค์ (mjænˈmɑːr/, /ˈmjænmɑːr/, /ˌmjɑːnˈmɑːr/) พจนานุกรมจากแหล่งอื่นมีการออกเสียงสามพยางค์บ้าง เช่น /ˈmiː.ənmɑːr/, /miˈænmɑːr/, /ˌmaɪ.ənˈmɑːr/, /maɪˈɑːnmɑːr/, /ˈmaɪ.ænmɑːr/.

ประวัติศาสตร์

[แก้]

ประวัติศาสตร์ของพม่านั้นมีความยาวนานและซับซ้อน มีประชาชนหลายเผ่าพันธุ์เคยอาศัยอยู่ในดินแดนแห่งนี้ เผ่าพันธุ์เก่าแก่ที่สุดที่ปรากฏได้แก่ชาวมอญ ต่อมาราวพุทธศตวรรษที่ 13 ชาวพม่าได้อพยพลงมาจากบริเวณพรมแดนระหว่างจีนและทิเบต เข้าสู่ที่ราบลุ่มแม่น้ำอิรวดี และได้กลายเป็นชนเผ่าส่วนใหญ่ที่ปกครองประเทศในเวลาต่อมา ความซับซ้อนของประวัติศาสตร์พม่ามิได้เกิดขึ้นจากกลุ่มชนที่อาศัยอยู่ในดินแดนพม่าเท่านั้น แต่เกิดจากความสัมพันธ์กับเพื่อนบ้านอันได้แก่ จีน, อินเดีย, บังกลาเทศ, ลาว และไทย

มอญ

[แก้]

มนุษย์ได้เข้ามาอาศัยอยู่ในดินแดนของประเทศพม่าเมื่อราว 11,000 ปีมาแล้ว แต่กลุ่มชนแรกที่สามารถสร้างอารยธรรมเป็นเอกลักษณ์ของตนได้ในดินแดนพม่าก็คือชาวมอญ ชาวมอญได้สถาปนาอาณาจักรสุธรรมวดี อันเป็นอาณาจักรแห่งแรกขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ 2 ณ บริเวณเมืองสะเทิม ชาวมอญได้รับอิทธิพลของศาสนาพุทธผ่านทางอินเดียในราวพุทธศตวรรษที่ 2 ซึ่งเชื่อว่ามาจากการเผยแพร่พระพุทธศาสนาในรัชสมัยของพระเจ้าอโศกมหาราช บันทึกของชาวมอญส่วนใหญ่ถูกทำลายในระหว่างสงคราม วัฒนธรรมของชาวมอญเกิดขึ้นจากการผสมเอาวัฒนธรรมจากอินเดียเข้ากับวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์ของตนเองจนกลายเป็นวัฒนธรรมลักษณะลูกผสม ในราวพุทธศตวรรษที่ 14 ชาวมอญได้เข้าครอบครองและมีอิทธิพลในดินแดนตอนใต้ของพม่า

ปยู

[แก้]

ชาวปยูเข้ามาอาศัยอยู่ในดินแดนประเทศพม่าตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ 4 และได้สถาปนานครรัฐขึ้นหลายแห่ง เช่นที่ พินนาคา (Binnaka) มองกะโม้ (Mongamo) ศรีเกษตร (Sri Ksetra) เบะตะโน่ (Beikthano) และฮะลี่น (Halin) ในช่วงเวลาดังกล่าว ดินแดนพม่าเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางการค้าระหว่างจีนกับอินเดีย จากเอกสารของจีนพบว่า มีเมืองอยู่ภายใต้อำนาจปกครองของชาวปยู 18 เมือง และชาวปยูเป็นชนเผ่าที่รักสงบ ไม่ปรากฏว่ามีสงครามเกิดขึ้นระหว่างชนเผ่าปยู ข้อขัดแย้งมักยุติด้วยการคัดเลือกตัวแทนให้เข้าประลองความสามารถกัน ชาวปยูสวมใส่เครื่องแต่งกายที่ทำจากฝ้าย อาชญากรมักถูกลงโทษด้วยการโบยหรือจำขัง เว้นแต่ได้กระทำความผิดอันร้ายแรงจึงต้องโทษประหารชีวิต ชาวปยูนับถือพระพุทธศาสนานิกายเถรวาท เด็ก ๆ ได้รับการศึกษาที่วัดตั้งแต่อายุ 7 ขวบจนถึง 20 ปี

นครรัฐของชาวปยูไม่เคยรวมตัวเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน แต่นครรัฐขนาดใหญ่มักมีอิทธิพลเหนือนครรัฐขนาดเล็กซึ่งแสดงออกโดยการส่งเครื่องบรรณาการให้ นครรัฐที่มีอิทธิพลมากที่สุดได้แก่ศรีเกษตร ซึ่งมีหลักฐานเชื่อได้ว่า เป็นเมืองโบราณที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศพม่า ไม่ปรากฏหลักฐานว่าอาณาจักรศรีเกษตรถูกสถาปนาขึ้นเมื่อใด แต่มีการกล่าวถึงในพงศาวดารว่ามีการเปลี่ยนราชวงศ์เกิดขึ้นในปีพุทธศักราช 637 ซึ่งแสดงให้เห็นว่าอาณาจักรศรีเกษตรต้องได้รับการสถาปนาขึ้นก่อนหน้านั้น มีความชัดเจนว่า อาณาจักรศรีเกษตรถูกละทิ้งไปในปีพุทธศักราช 1199 เพื่ออพยพย้ายขึ้นไปสถาปนาเมืองหลวงใหม่ทางตอนเหนือ แต่ยังไม่ทราบอย่างแน่ชัดว่าเมืองดังกล่าวคือเมืองใด นักประวัติศาสตร์บางท่านเชื่อว่าเมืองดังกล่าวคือเมืองฮะลี่น อย่างไรก็ตามเมืองดังกล่าวถูกรุกรานจากอาณาจักรน่านเจ้าในราวพุทธศตวรรษที่ 15 จากนั้นก็ไม่ปรากฏหลักฐานกล่าวถึงชาวปยูอีก

อาณาจักรพุกาม

[แก้]
แผนที่ทวีปเอเชียใน พ.ศ. 1743 แสดงถึงขอบเขตอาณาจักรต่าง ๆ (พุกามอยู่ใกล้กับเลขที่ 34 ทางขวา)

ชาวพม่าเป็นชนเผ่าจากทางตอนเหนือที่ค่อย ๆ อพยพแทรกซึมเข้ามาสั่งสมอิทธิพลในดินแดนประเทศพม่าทีละน้อย กระทั่งปีพุทธศักราช 1392 จึงมีหลักฐานถึงอาณาจักรอันทรงอำนาจซึ่งมีศูนย์กลางอยู่ที่เมือง "พุกาม" (Pagan) โดยได้เข้ามาแทนที่ภาวะสุญญากาศทางอำนาจภายหลังจากการเสื่อมสลายไปของอาณาจักรชาวปยู อาณาจักรของชาวพุกามแต่แรกนั้นมิได้เติบโตขึ้นอย่างเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน กระทั่งในรัชสมัยของพระเจ้าอโนรธา (พ.ศ. 1587–1620) พระองค์จึงสามารถรวบรวมแผ่นดินพม่าให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันสำเร็จ และเมื่อพระองค์ทรงตีเมืองท่าตอนของชาวมอญได้ในปีพุทธศักราช 1600 อาณาจักรพุกามก็กลายเป็นอาณาจักรที่เข้มแข็งที่สุดในดินแดนพม่า อาณาจักรพุกามมีความเข้มแข็งเพิ่มมากขึ้นในรัชสมัยของพระเจ้าจานซิต้า (พ.ศ. 1624–1655) และพระเจ้าอลองสิธู (พ.ศ. 1655–1710) ทำให้ในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 17 ดินแดนในคาบสมุทรสุวรรณภูมิเกือบทั้งหมดถูกครอบครองโดยอาณาจักรเพียงสองแห่ง คืออาณาจักรเขมรและอาณาจักรพุกาม

อำนาจของอาณาจักรพุกามค่อย ๆ เสื่อมลง ด้วยเหตุผลหลักสองประการ ส่วนหนึ่งจากการถูกเข้าครอบงำโดยของคณะสงฆ์ผู้มีอำนาจ และอีกส่วนหนึ่งจากการรุกรานของจักรวรรดิมองโกลที่เข้ามาทางตอนเหนือ พระเจ้านรสีหบดี (ครองราชย์ พ.ศ. 1779–1830) ได้ทรงนำทัพสู่ยุนนานเพื่อยับยั้งการขยายอำนาจของมองโกล แต่เมื่อพระองค์แพ้สงครามที่งาซองจาน (Ngasaunggyan) ในปีพุทธศักราช 1820 ทัพของอาณาจักรพุกามก็ระส่ำระสายเกือบทั้งหมด พระเจ้านรสีหบดีถูกพระราชโอรสปลงพระชนม์ในปีพุทธศักราช 1830 กลายเป็นตัวเร่งที่ทำให้อาณาจักรมองโกลตัดสินใจรุกรานอาณาจักรพุกามในปีเดียวกันนั้น ภายหลังสงครามครั้งนี้ อาณาจักรมองโกลก็สามารถเข้าครอบครองดินแดนของอาณาจักรพุกามได้ทั้งหมด ราชวงศ์พุกามสิ้นสุดลงเมื่อมองโกลได้แต่งตั้งรัฐบาลหุ่นขึ้นบริหารดินแดนพม่าในปีพุทธศักราช 1832

อังวะและหงสาวดี

[แก้]

หลังจากการล่มสลายของอาณาจักรพุกาม พม่าได้แตกแยกออกจากกันอีกครั้ง ราชวงศ์อังวะซึ่งได้รับอิทธิพลทางวัฒนธรรมจากอาณาจักรพุกามได้ถูกสถาปนาขึ้นที่เมืองอังวะในปีพุทธศักราช 1907 ศิลปะและวรรณกรรมของพุกามได้ถูกฟื้นฟูจนยุคนี้กลายเป็นยุคทองแห่งวรรณกรรมของพม่า แต่เนื่องด้วยอาณาเขตที่ยากต่อป้องกันการรุกรานจากศัตรู เมืองอังวะจึงถูกชาวไทใหญ่เข้าครอบครองได้ในปีพุทธศักราช 2070

สำหรับดินแดนทางใต้ ชาวมอญได้สถาปนาอาณาจักรของพวกตนขึ้นใหม่อีกครั้งที่หงสาวดี โดยมะกะโทหรือพระเจ้าฟ้ารั่ว เป็นจุดเริ่มต้นยุคทองของมอญ ซึ่งเป็นศูนย์กลางของพุทธศาสนานิกายเถรวาทและศูนย์กลางทางการค้าขนาดใหญ่ในเวลาต่อมา

ราชวงศ์ตองอู

[แก้]
อาณาเขตของราชวงศ์ตองอู สมัยพระเจ้าบุเรงนอง (สีเขียว)
พระเจ้าบุเรงนอง "พระมหากษัตริย์พม่าจากราชวงศ์ตองอู"

พระเจ้าเมงจีโย ได้รวบรวมชาวพม่าที่หลงเหลืออยู่อย่างกระจัดกระจาย โดยสถาปนาเมืองตองอูขึ้นเป็นราชธานี เมืองตองอูเข้มแข็งขึ้นมาในรัชสมัยของ พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ พระโอรสของพระองค์ (ครองราชย์ พ.ศ. 2074–2093) และได้แผ่อาณาเขตของอาณาจักรขยายไปรอบด้าน เช่น แปร, พะสิม อังวะ, ยะไข่ และที่สำคัญที่สุดคือ หงสาวดี อันเป็นอาณาจักรเดิมของชาวมอญ

ในช่วงระยะเวลานี้ ได้มีการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่เกิดขึ้นในภูมิภาค ชาวไทใหญ่มีกำลังเข้มแข็งเป็นอย่างมากทางตอนเหนือ การเมืองภายในอาณาจักรอยุธยาเกิดความไม่มั่นคง ในขณะที่โปรตุเกสได้เริ่มมีอิทธิพลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และสามารถเข้าครอบครองมะละกาได้ การเข้ามาของบรรดาพ่อค้าชาวยุโรป ทำให้พม่ากลายเป็นศูนย์กลางทางการค้าที่สำคัญอีกครั้งหนึ่ง การที่พระเจ้าตะเบงชะเวตี้ได้ตีและย้ายเมืองหลวงจากตองอูมาอยู่ที่เมืองหงสาวดีซึ่งเป็นเมืองของชาวมอญ เหตุผลส่วนหนึ่งก็เนื่องด้วยทำเลทางการค้าและการกดให้ชาวมอญอยู่ภายใต้อำนาจ พระเจ้าบุเรงนอง (ครองราชย์ พ.ศ. 2094–2124) ซึ่งเป็นพระเทวัน (พี่เขย) ของพระเจ้าตะเบงชะเวตี้ ได้ขึ้นครองราชย์สืบต่อมาและสามารถเข้าครอบครองอาณาจักรต่าง ๆ รายรอบได้ อาทิ มณีปุระ (พ.ศ. 2103) อยุธยา (พ.ศ. 2112) ในรัชสมัยของพระองค์พม่ามีอาณาเขตกว้างใหญ่ไพศาลที่สุด อย่างไรก็ตาม ทั้งมณีปุระและอยุธยา ต่างก็ประกาศตนเป็นอิสระภายในเวลาต่อมาไม่นาน

เมื่อต้องเผชิญกับการก่อกบฏจากเมืองขึ้นหลายแห่ง ประกอบกับการรุกรานของโปรตุเกส กษัตริย์แห่งราชวงศ์ตองอูจำเป็นต้องถอนตัวจากการครอบครองดินแดนทางตอนใต้ โดยย้ายเมืองหลวงไปอยู่ที่เมืองอังวะ พระเจ้าอะเนาะเพะลูน พระนัดดาของพระเจ้าบุเรงนอง สามารถรวบรวมแผ่นดินพม่าให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันอีกครั้งในพุทธศักราช 2156 พระองค์ตัดสินใจที่จะใช้กำลังเข้าต่อต้านการรุกรานของโปรตุเกส พระเจ้าตาลูน ผู้สืบทอดราชบัลลังก์ ได้ฟื้นฟูหลักธรรมศาสตร์ของอาณาจักรพุกามเก่า แต่พระองค์ทรงใช้เวลากับเรื่องศาสนามากเกินไป จนละเลยที่จะใส่ใจต่ออาณาเขตทางตอนใต้ ท้ายที่สุด หงสาวดี ที่ได้รับการสนับสนุนจากฝรั่งเศสซึ่งตั้งมั่นอยู่ในอินเดีย ก็ได้ทำการประกาศเอกราชจากอังวะ จากนั้นอาณาจักรของชาวพม่าก็ค่อย ๆ อ่อนแอลงและล่มสลายไปในปีพุทธศักราช 2295 จากการรุกรานของชาวมอญ

ราชวงศ์โก้นบอง

[แก้]
อาณาเขตของราชวงศ์โก้นบองสมัยพระเจ้ามังระ (สีแดง)

ราชวงศ์โก้นบอง หรือ ราชวงศ์อลองพญา ได้รับการสถาปนาขึ้นและสร้างความเข้มแข็งจนถึงขีดสุดได้ภายในเวลาอันรวดเร็ว พระเจ้าอลองพญาซึ่งเป็นผู้นำที่ได้รับความนิยมจากชาวพม่า ได้ขับไล่ชาวมอญที่เข้ามาครอบครองดินแดนของชาวพม่าได้ในปี 2296 จากนั้นก็สามารถเข้ายึดครองอาณาจักรมอญทางใต้ได้ในปี 2302 ทั้งยังสามารถกลับเข้ายึดครองกรุงมณีปุระได้ในช่วงเวลาเดียวกัน หลังจากเข้ายึดครองตะนาวศรีพระองค์ได้ยาตราทัพเข้ารุกรานอยุธยา แต่ต้องประสบความล้มเหลวเมื่อพระองค์สวรรคตระหว่างการสู้รบ พระเจ้ามังระ (ครองราชย์ พ.ศ. 2306 – 2319) พระราชโอรส ได้โปรดให้ส่งทัพเข้ารุกรานอาณาจักรอยุธยาอีกครั้งในปี 2309 ซึ่งประสบความสำเร็จในปีถัดมา ในรัชสมัยนี้แม้จีนจะพยายามขยายอำนาจเข้าสู่ดินแดนพม่า แต่พระองค์ก็สามารถยับยั้งการรุกรานจากจีนได้ทั้งสี่ครั้ง (ช่วงปี 2309–2312) ทำให้ความพยายามในการขยายพรมแดนของจีนทางด้านนี้ต้องยุติลง ในรัชสมัยของพระเจ้าปดุง (ครองราชย์ พ.ศ. 2324–2362) พระโอรสอีกพระองค์หนึ่งของพระเจ้าอลองพญา พม่าต้องสูญเสียอำนาจที่มีเหนืออยุธยาไป แต่ก็สามารถผนวกดินแดนยะไข่ และตะนาวศรีเข้ามาไว้ได้ในปี 2327 และ 2336 ตามลำดับ ในช่วงเดือนมกราคมของปี 2366 ซึ่งอยู่ในรัชสมัยของพระเจ้าจักกายแมง (ครองราชย์ พ.ศ. 2362–2383) ขุนนางชื่อมหาพันธุละ นำทัพเข้ารุกรานแคว้นมณีปุระและอัสสัมได้สำเร็จ ทำให้พม่าต้องเผชิญหน้าโดยตรงกับอังกฤษที่ครอบครองอินเดียอยู่ในขณะนั้น

สงครามกับอังกฤษและการล่มสลายของราชอาณาจักร

[แก้]
พระเจ้าสีป่อ และพระนางศุภยาลัต
ภาพเจดีย์ชเวดากอง วาดโดยศิลปินชาวอังกฤษ เมื่อปี พ.ศ. 2368

สืบเนื่องจากการพยายามขยายอำนาจของอังกฤษ กองทัพอังกฤษได้เข้าทำสงครามกับพม่าในปี 2367 สงครามระหว่างพม่าและอังกฤษครั้งที่หนึ่ง (พ.ศ. 2367–2369) ยุติลงโดยอังกฤษเป็นฝ่ายได้รับชัยชนะ ฝ่ายพม่าจำต้องทำสนธิสัญญารานตะโบกับอังกฤษ ทำให้พม่าต้องสูญเสียดินแดนอัสสัม, มณีปุระ, ยะไข่ และตะนาวศรีไป ซึ่งอังกฤษก็เริ่มต้นตักตวงทรัพยากรต่าง ๆ ของพม่านับแต่นั้นเพื่อเป็นหลักประกันสำหรับวัตถุดิบที่จะป้อนสู่สิงคโปร์ สร้างความแค้นเคืองให้กับทางพม่าเป็นอย่างมาก กษัตริย์องค์ต่อมาจึงทรงยกเลิกสนธิสัญญารานตะโบ และทำการโจมตีผลประโยชน์ของฝ่ายอังกฤษทั้งต่อบุคคลและเรือ เป็นต้นเหตุให้เกิดสงครามระหว่างพม่าและอังกฤษครั้งที่สอง ซึ่งก็จบลงโดยชัยชนะเป็นของอังกฤษอีกครั้ง หลังสิ้นสุดสงครามครั้งนี้อังกฤษได้ผนวกดินแดนทางใต้เข้าไว้กับตน โดยเรียกดินแดนดังกล่าวใหม่ว่าพม่าตอนล่าง สงครามครั้งนี้ก่อให้เกิดการปฏิวัติครั้งใหญ่ในพม่า เริ่มต้นด้วยการเข้ายึดอำนาจโดยพระเจ้ามินดง (ครองราชย์ พ.ศ. 2396–2421) จากพระเจ้าพุกามแมง (ครองราชย์ พ.ศ. 2389–2396) ซึ่งเป็นพระเชษฐาต่างพระชนนี พระเจ้ามินดงพยายามพัฒนาประเทศพม่าเพื่อต่อต้านการรุกรานของอังกฤษ พระองค์ได้สถาปนามัณฑะเลย์ ซึ่งยากต่อการรุกรานจากภายนอกขึ้นเป็นเมืองหลวงแห่งใหม่ แต่ก็ยังไม่เพียงพอที่จะหยุดยั้งการรุกรานจากอังกฤษได้

รัชสมัยต่อมา พระเจ้าสีป่อ (ครองราชย์ พ.ศ. 2421–2428) ซึ่งเป็นพระโอรสของพระเจ้ามินดง ทรงมีบารมีไม่พอที่จะควบคุมอาณาจักรได้ จึงทำให้เกิดความวุ่นวายขึ้นไปทั่วในบริเวณชายแดน ในที่สุดพระองค์ได้ตัดสินพระทัยยกเลิกสนธิสัญญากับอังกฤษที่พระเจ้ามินดงได้ทรงกระทำไว้ และได้ประกาศสงครามกับอังกฤษเป็นครั้งที่สามในปี 2428 ผลของสงครามครั้งนี้ทำให้อังกฤษสามารถเข้าครอบครองดินแดนประเทศพม่าส่วนที่เหลือเอาไว้ได้ทั้งหมด

เอกราช

[แก้]

พม่าตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษในปี 2429 และระยะก่อนการเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 เล็กน้อย ญี่ปุ่นได้เข้ามามีบทบาทในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยได้ติดต่อกับพวกทะขิ่น ซึ่งเป็นองค์กรของนักชาตินิยมในพม่า มีออง ซาน ผู้นำของนักศึกษาในมหาวิทยาลัยย่างกุ้งเป็นหัวหน้า พวกทะขิ่นเข้าใจว่าญี่ปุ่นจะสนับสนุนการประกาศอิสรภาพของพม่าจากอังกฤษ แต่เมื่อญี่ปุ่นยึดครองพม่าได้แล้วกลับพยายามหน่วงเหนี่ยวมิให้พม่าประกาศเอกราช และได้ส่งอองซานและพวกทะขิ่นประมาณ 30 คน เดินทางไปญี่ปุ่นเพื่อรับคำแนะนำในการดำเนินการเพื่อเรียกร้องอิสรภาพจากอังกฤษ

เมื่อคณะของอองซานได้เดินทางกลับพม่าใน พ.ศ. 2485 อองซานได้ก่อตั้ง องค์การสันนิบาตเสรีภาพแห่งประชาชนต่อต้านฟาสซิสต์ (Anti-Fascist Peoples Freedom League: AFPFL) เพื่อต่อต้านญี่ปุ่นอย่างลับ ๆ องค์การนี้ภายหลังได้กลายเป็นพรรคการเมือง ชื่อ พรรค AFPFL เมื่อญี่ปุ่นแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 แล้ว อองซานและพรรค AFPFL ได้เจรจากับอังกฤษ โดยอังกฤษยืนยันที่จะให้พม่ามีอิสรภาพปกครองตนเองภายใต้เครือจักรภพ และมีข้าหลวงใหญ่อังกฤษประจำพม่าช่วยให้คำปรึกษา แต่อองซานมีอุดมการณ์ที่ต้องการเอกราชอย่างสมบูรณ์ อังกฤษได้พยายามสนันสนุนพรรคการเมืองอื่น ๆ ขึ้นแข่งอำนาจกับพรรค AFPFL ของอองซานแต่ไม่เป็นผลสำเร็จ จึงยินยอมให้พรรค AFPFL ขึ้นบริหารประเทศโดยมีอองซานเป็นหัวหน้า อองซานมีนโยบายสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ และต้องการเจรจากับรัฐบาลอังกฤษโดยสันติวิธี จึงทำให้เกิดความขัดแย้งกับฝ่ายนิยมคอมมิวนิสต์ในพรรค AFPFL อองซานและคณะรัฐมนตรีอีก 6 คน จึงถูกลอบสังหาร เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2490 ขณะที่เดินออกจากที่ประชุมสภา ต่อมาตะขิ้นนุหรืออู นุ ได้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีแทนและมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2490 โดยอังกฤษได้มอบเอกราชให้แก่พม่าแต่ยังรักษาสิทธิทางการทหารไว้ 4 มกราคม 2491 อังกฤษจึงได้มอบเอกราชให้แก่พม่าอย่างสมบูรณ์

เมื่อพม่าได้รับเอกราชแล้ว มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า สหภาพพม่า โดยมี เจ้าส่วยแต้ก เป็นประธานาธิบดีคนแรก และ มี อู นุ เป็นนายกรัฐมนตรีคนแรก โดยพม่าไม่ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกของ เครือจักรภพแห่งชาติ เหมือนกับประเทศอดีตอาณานิคมของสหราชอาณาจักรส่วนใหญ่ รัฐสภาซึ่งเป็นระบบสองสภาถูกจัดตั้งขึ้น และมีการเลือกตั้งระบบหลายพรรคเกิดขึ้นในปี 2494, 2495, 2499 และ 2503

ในปี 2504 นาย อู้ตั่น ซึ่งขณะนั้นดำรวตำแหน่งเป็นผู้แทนถาวรของสหภาพพม่าประจำองค์การสหประชาชาติ ได้รับการรับเลือกให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการองค์การสหประชาชาติ เป็นคนแรกของเอเชีย โดยดำรงตำแหน่งถึง 10 ปี

ระบอบทหาร

[แก้]
การประท้วงต่อต้านรัฐบาลในพม่า พ.ศ. 2550

ใน พ.ศ. 2501 ประเทศพม่าประสบความล้มเหลวในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ นอกจากนั้น สันนิบาตเสรีภาพประชาชนต่อต้านฟาสซิสต์ยังแตกแยกออกเป็นสองส่วน กลุ่มหนึ่งนำโดยอู นุและติน อีกกลุ่มนำโดยบะส่วยและจอเย่ง แม้อูนุจะประสบความสำเร็จในการนำประชาธิปไตยเข้าสู่ยะไข่โดยอูเซนดา แต่เกิดปัญหากับชาวปะโอ ชาวมอญ และชาวไทใหญ่ ปัญหาเหล่านี้ทำให้รัฐสภาไม่มีเสถียรภาพ แม้อูนุจะผ่านการลงมติไม่ไว้วางใจโดยได้รับการสนับสนุนจากแนวร่วมสหชาติ

กองทัพได้เจรจาปัญหาเกี่ยวกับพรรคคอมมิวนิสต์พม่ากับรัฐบาลของอูนุ ทำให้อูนุเชิญเน วิน ผู้บัญชาการทหารเข้ามาจัดตั้งรัฐบาล กลุ่มแนวร่วมสหชาติถูกจับกุม 400 คน และมี 153 คนถูกส่งไปยังหมู่เกาะโกโกในทะเลอันดามัน ในกลุ่มที่ถูกจับกุมมีอองทาน พี่ชายของอองซานด้วย หนังสือพิมพ์ Botahtaung Kyemon Rangoon Daily ถูกสั่งปิด

รัฐบาลของเน วินประสบความสำเร็จในการทำให้สถานการณ์มั่นคงและเกิดการเลือกตั้งใน พ.ศ. 2503 ซึ่งพรรคสหภาพของอูนุได้เสียงข้างมาก แต่เสถียรภาพไม่ได้เกิดขึ้นนาน เมื่อขบวนการสหพันธ์ฉานนำโดยเจ้าส่วยใต้ เจ้าฟ้าเมืองยองห้วยที่เป็นประธานาธิบดีคนแรกของพม่า ต้องการสิทธิตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2490 ที่ขอแยกตัวออกไปได้เมื่อรวมตัวเป็นสหภาพครบสิบปี เน วิน พยายามลดตำแหน่งเจ้าฟ้าของไทใหญ่โดยแลกกับสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ใน พ.ศ. 2502 ในที่สุด เน วินได้ก่อรัฐประหารในวัที่ 2 มีนาคม 2505 อูนุและอีกหลายคนถูกจับกุม เจ้าส่วยใต้ถูกยิงเสียชีวิต เจ้าจาแสง เจ้าฟ้าเมืองตี่บอหายตัวไปอย่างไร้ร่องรอยที่จุดตรวจใกล้ตองจี

ภายหลังจากการรัฐประหาร พม่าถูกปกครองภายใต้ระบอบเผด็จการทหาร นำโดยคณะปฏิวัติของเน วิน สังคมทั้งหมดถูกควบคุมและอยู่ภายใต้อำนาจรัฐ ผ่านรูปแบบสังคมนิยม ซึ่งดัดแปลงมาจากแนวคิดของสหภาพโซเวียต และ การวางแผนจากส่วนกลาง

รัฐธรรมนูญใหม่แห่ง สาธารณรัฐสังคมนิยมแห่งสหภาพพม่า ได้ถูกประกาศใช้ปี 2517 ในช่วงเวลานั้นพม่าถูกปกครองโดยระบบพรรคการเมืองเดียว คือ พรรคโครงการสังคมนิยมพม่า นำโดยเน วิน และ อดีตนายทหารหลายนาย จนกระทั่งถึงปี 2531 ซึ่งนับว่าในขณะนั้น พม่าได้กลายเป็นหนึ่งในประเทศที่ยากจนที่สุดในโลก[51]

มีการปฏิวัติระดับชาติเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยในประเทศพม่า เมื่อ พ.ศ. 2531 การปฏิวัติเริ่มในวันที่ 8 สิงหาคม 2531 (ค.ศ. 1988) และจากวันที่นี้ (8-8-88) ทำให้เหตุการณ์นี้มักเป็นที่รู้จักในชื่อ "การก่อการปฏิวัติ 8888" ประเทศพม่าปกครองด้วยพรรคโครงการสังคมนิยมพม่า ที่มีพรรคการเมืองเดียวมาตั้งแต่ พ.ศ. 2505 การปกครองเน้นชาตินิยมและรัฐเข้าควบคุมการวางแผนทุกประการ การลุกฮือเริ่มต้นจากนักศึกษาในเมืองย่างกุ้งเมื่อ 8 สิงหาคม ข่าวการประท้วงของนักศึกษาได้แพร่กระจายไปทั่วประเทศ[52] ต่อมามีประชาชนเรือนแสนที่เป็นพระภิกษุ เยาวชน นักศึกษา แม่บ้านและหมอ ออกมาประท้วงต่อต้านระบอบการปกครอง รัฐบาลได้มีคำสั่งให้สลายฝูงชนด้วยอาวุธ ทำให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมาก[53] ในวันที่ 18 กันยายน เกิดการรัฐประหารและทหารได้กลับมาปกครองประเทศอีกครั้ง มีการจัดตั้งสภาสันติภาพและการพัฒนาแห่งรัฐ ซึ่งเป็นองค์กรที่เปลี่ยนรูปมาจากพรรคโครงการสังคมนิยมพม่า หลังจากที่ได้ประกาศกฏอัยการศึก ได้เกิดการประท้วงที่รุนแรงขึ้น นักศึกษา พระสงฆ์และนักเรียนราวพันคนถูกสังหาร และมีประชาชนอีก 500 คนถูกฆ่าในการประท้วงนอกสถานทูตสหรัฐอเมริกา นักศึกษาบางส่วนได้หลบหนีเข้ามาในประเทศไทย[52][54][55] ในขณะที่ในพม่ารายงานว่ามีผู้เสียชีวิต 350 คน[56][57] ในวันที่ 21 กันยายน รัฐบาลได้เข้ามาปกครองประเทศและขบวนการต่อต้านได้สลายตัวไปในเดือนตุลาคม เมื่อสิ้นปี 2531 เชื่อว่าผู้เสียชีวิตร่วมหมื่นคนและสูญหายอีกจำนวนมากจากปฏิบัติการทางทหารระหว่างการก่อการปฏิวัติ

การประท้วงเพื่อต่อต้านรัฐบาลทหารพม่าที่นำโดยคณะพระภิกษุสงฆ์ แม่ชี นักศึกษาและประชาชน ซึ่งเริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 15 สิงหาคม 2550 จากการไม่พอใจของประชาชนต่อการประกาศขึ้นราคาน้ำมันเชื้อเพลิงเกือบเท่าตัว และขึ้นราคาก๊าซหุงต้มถึง 5 เท่าอย่างฉับพลันโดยมิได้ประกาศแจ้งบอกของรัฐบาลทหารพม่า[58] การประท้วงเริ่มรุนแรงขึ้นเรื่อยมา จนถึงวันที่ 5 กันยายน มีการชุมนุมประท้วงที่วัดแห่งหนึ่งในเมืองปะโคะกู ทางตอนกลางของประเทศ เจ้าหน้าที่เข้าสลายการชุมนุมและมีผู้บาดเจ็บจำนวนมาก รวมทั้งพระสงฆ์จำนวน 3 รูป สื่อมวลชนบางแห่งเรียกเหตุการณ์ครั้งนี้ว่า Saffron Revolution หรือ การปฏิวัติผ้ากาสาวพัสตร์[59][60]

คณะพระภิกษุ ซึ่งเป็นสถาบันที่ได้รับความเคารพอย่างสูงจากชาวพม่า ประกาศ "ปฐม นิคหกรรม" ไม่รับบิณฑบาตจากผู้ที่เกี่ยวข้องกับรัฐบาลทหารพม่า ทหาร และครอบครัว และเรียกร้องให้ทางการพม่า ขอโทษองค์กรสงฆ์อย่างเป็นทางการภายในวันที่ 17 กันยายน แต่ไม่ได้รับการตอบสนอง ภิกษุสงฆ์จึงเริ่มเข้าร่วมการประท้วงด้วยตั้งแต่วันที่ 18 กันยายน เมื่อรวมผู้ประท้วงแล้วมากกว่า 1 แสนคน การประท้วงต่อต้านรัฐบาลเผด็จการครั้งนี้จึงนับว่าเป็นการประท้วงต่อต้านครั้งใหญ่ที่สุดตั้งแต่การประท้วงเมื่อปี 2531 ซึ่งมีผู้เสียชีวิตกว่า 3,000 คน ในการใช้กำลังทหารเข้าสลายการประท้วง[61]

ปัจจุบัน

[แก้]
ประธานาธิบดี บารัก โอบามา และนางฮิลลารี คลินตัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ เข้าเยี่ยมนางอองซาน ซูจี ที่บ้านพักในนครย่างกุ้งปี 2555

รัฐบาลที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทัพได้ประกาศ "แนวทางปฏิบัติสู่ประชาธิปไตย" ตั้งแต่ปี 2536 แต่กระบวนการนี้ดูเหมือนจะหยุดชะงักหลายครั้ง กระทั่งในปี 2551 รัฐบาลได้ตีพิมพ์ร่างรัฐธรรมนูญแห่งชาติฉบับใหม่ และจัดให้มีการลงประชามติระดับชาติ (ที่มีข้อบกพร่อง) รัฐธรรมนูญฉบับใหม่กำหนดให้การเลือกตั้งสมัชชาแห่งชาติที่มีอำนาจแต่งตั้งประธานาธิบดีในขณะเดียวกันก็สร้างความมั่นใจในการควบคุมกองทัพในทุกระดับ[62]

การเลือกตั้งทั่วไปในปี 2553 ซึ่งเป็นการเลือกตั้งครั้งแรกในรอบ 20 ปี ถูกคว่ำบาตรโดยสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย พรรคสหสามัคคีและการพัฒนาที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทัพประกาศชัยชนะ โดยอ้างว่าได้รับการสนับสนุนจากคะแนนเสียงร้อยละ 80 อย่างไรก็ตาม มีการกล่าวหาอย่างกว้างขวางว่ามีการทุจริตการเลือกตั้ง[63] ต่อมาได้มีการจัดตั้งรัฐบาลโดยมีนายพลเต้นเซนเป็นประธานาธิบดี[64] นำไปสู่กิจกรรมทางประชาธิปไตยที่เพิ่มขึ้น รวมถึงการเปิดการค้าและการปฏิรูปในประเทศจนถึงปี 2554 รวมถึงการปล่อยตัวนางอองซานซูจี ผู้นำฝ่ายประชาธิปไตยจากการถูกกักบริเวณในบ้าน การจัดตั้งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ การอนุญาตให้มีการนิรโทษกรรมทั่วไปสำหรับนักโทษการเมืองมากกว่า 200 คน การตรากฎหมายแรงงานใหม่ที่อนุญาตให้มีสหภาพแรงงาน และการนัดหยุดงาน การผ่อนคลายการเซ็นเซอร์สื่อ และระเบียบปฏิบัติเกี่ยวกับสกุลเงิน จากเหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้สหรัฐฯมีแผนพัฒนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับพม่า โดยส่ง นางฮิลลารี คลินตัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ มาเยือนพม่าในเดือนธันวาคม 2554 ซึ่งถือเป็นการเยือนพม่าครั้งแรกของรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ในรอบกว่าห้าสิบปี ซึ่งได้เข้าพบประธานาธิบดีเต้นเซนและผู้นำฝ่ายค้านอองซานซูจี[65] ในการเลือกตั้งเมื่อเดือนเมษายน 2555 พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยชนะ 43 ที่นั่งจากทั้งหมด 45 ที่นั่ง และยังเป็นครั้งแรกที่ผู้แทนจากต่างประเทศได้รับอนุญาตให้ตรวจสอบกระบวนการลงคะแนนเสียงในพม่า[66]

การเลือกตั้งทั่วไป 2558 และการเลือกตั้งรัฐสภา 2563

[แก้]
อองซานซูจี ประธานพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) และอดีตที่ปรึกษาแห่งรัฐ

มีการจัดการเลือกตั้งทั่วไปอีกครั้งเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2558 นับเป็นการเลือกตั้งครั้งแรกที่มีการแข่งขันอย่างเปิดเผยในพม่านับตั้งแต่การเลือกตั้งทั่วไปในปี 2533 (ซึ่งถูกยกเลิก) และพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยได้ที่นั่งข้างมากในทั้งสองสภา ซึ่งเพียงพอที่จะรับรองได้ว่าผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีจะได้เป็นประธานาธิบดี ในขณะที่ผู้นำพรรคอย่างอองซานซูจี ถูกห้ามดำรงแหน่งประธานาธิบดีซึ่งมีการบัญญัติในรัฐธรรมนูญ[67] รัฐสภาชุดใหม่ได้รับการแต่งตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2559 และในวันที่ 15 มีนาคม ทีนจอ ได้รับเลือกให้เป็นประธานาธิบดี โดยเขาเป็นบุคคลพลเรือนคนแรกที่ได้ดำรงตำแหน่งนับตั้งแต่รัฐประหารในปี 2505[68] ต่อมา เมื่อวันที่ 6 เมษายน อองซานซูจีเข้ารับตำแหน่งที่ปรึกษาของรัฐซึ่งเป็นตำแหน่งที่เพิ่งมีการแต่งตั้งเป็นครั้งแรก โดยมีหน้าที่คล้ายนายกรัฐมนตรี

ในการเลือกตั้งรัฐสภาในปี 2563 พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยของนางอองซานซูจี ได้เข้าแข่งขันกับพรรคการเมืองเล็ก ๆ หลายพรรค โดยเฉพาะอย่างยิ่งพรรคสหสามัคคีและการพัฒนา (USDP) ซึ่งสนับสนุนโดยกองทัพ พรรคการเมืองและบุคคลอื่น ๆ ที่เป็นพันธมิตรกับชนกลุ่มน้อยเฉพาะก็ลงสมัครรับตำแหน่งเช่นกัน พรรคของนางซูจีชนะการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2563 อย่างถล่มทลาย[69] และชนะการเลือกตั้งในทั้งสองสภาอีกครั้งโดยชนะ 396 ที่นั่งจาก 476 ที่นั่งในรัฐสภา[70] พรรคสหสามัคคีซึ่งถือเป็นตัวแทนของกองทัพ ประสบความพ่ายแพ้อย่าง "อัปยศ" ยิ่งกว่าในปี 2555 โดยได้ที่นั่งเพียง 33 ที่นั่งจาก 476 ที่นั่ง แต่นายทหารระดับสูงปฏิเสธผลการเลือกตั้ง[71] และเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งใหม่โดยมีทหารเป็นผู้สังเกตการณ์แทน พรรคการเมืองเล็ก ๆ อีกกว่า 90 พรรคร่วมคัดค้านการลงคะแนนเสียง รวมถึงอีกกว่า 15 พรรคที่ร้องเรียนการกระทำดังกล่าว[72] อย่างไรก็ตาม ผู้สังเกตการณ์การเลือกตั้งประกาศว่าไม่มีสิ่งผิดปกติที่สำคัญในการลงคะแนนเสียง กองทัพได้เรียกร้องให้คณะกรรมการการเลือกตั้งแห่งสหภาพเมียนมา (UEC) และรัฐบาลตรวจสอบผลการเลือกตั้ง แต่คณะกรรมาธิการปฏิเสธข้อเรียกร้องเนื่องจากไม่มีหลักฐานใด ๆ แต่กองทัพยังคงไม่ยอมรับ[73] และขู่ว่าจะทำการตอบโต้ในเร็ววัน[74][75]

รัฐประหาร 2564

[แก้]
การประท้วงของประชาชนหลังเกิดการรัฐประหารครั้งสำคัญในเดือนกุมภาพันธ์ 2564

ในช่วงเช้าของวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 ซึ่งเป็นวันที่รัฐสภามีการประชุม กองทัพพม่ามอบอำนาจให้ผู้บัญชาการทหารสูงสุด มี่นอองไลง์ เข้าควบคุมประเทศ[76] และประกาศภาวะฉุกเฉินเป็นเวลาหนึ่งปีและมีการปิดพรมแดน[77] จำกัดการเดินทางและการสื่อสารทางอิเล็กทรอนิกส์ทั่วประเทศ กองทัพประกาศว่าจะแทนที่คณะกรรมการการเลือกตั้งที่มีอยู่ด้วยคณะกรรมการการชุดใหม่ และสื่อทางการทหารระบุว่าจะมีการเลือกตั้งใหม่ภายในหนึ่งปี แม้ว่ากองทัพจะหลีกเลี่ยงการให้คำมั่นอย่างเป็นทางการ[78] ที่ปรึกษาของรัฐ อองซานซูจี และประธานาธิบดี วี่น-มหยิ่น ถูกกักบริเวณในบ้าน และทหารได้เริ่มยื่นฟ้องหลายข้อหากับพวกเขา ทหารขับไล่สมาชิกรัฐสภาพรรคสันนิบาตแห่งชาติออกจากกรุงเนปิดอว์ภายในวันที่ 15 มีนาคม ผู้นำทางทหารโดยกลุ่มของมี่นอองไลง์ยังคงขยายกฎอัยการศึกไปยังพื้นที่อื่น ๆ ของย่างกุ้ง ในขณะที่กองกำลังรักษาความปลอดภัยได้สังหารผู้คนไป 38 คนในวันเดียว

ในวันที่สองของการทำรัฐประหาร ผู้ประท้วงหลายพันคนเดินขบวนตามถนนในเมืองใหญ่ รวมถึงนครย่างกุ้ง และการประท้วงบริเวณอื่น ๆ ก็ปะทุทั่วประเทศ[79] ส่งผลให้การค้าและการขนส่งหยุดชะงัก แม้ว่ากองทัพจะจับกุมและสังหารผู้ประท้วง แต่สัปดาห์แรกของการทำรัฐประหารพบว่าประชาชนมีส่วนร่วมมากขึ้น ซึ่งรวมถึงกลุ่มข้าราชการ ครู นักศึกษา คนงาน พระ และผู้นำทางศาสนา แม้แต่ชนกลุ่มน้อย การรัฐประหารถูกประณามทันทีโดยเลขาธิการสหประชาชาติและผู้นำของประเทศประชาธิปไตย ซึ่งรวมถึงประธานาธิบดี โจ ไบเดิน แห่งสหรัฐอเมริกา ผู้นำทางการเมืองของยุโรปตะวันตก และชาติประชาธิปไตยในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และอื่น ๆ ทั่วโลกที่เรียกร้องหรือกระตุ้นให้ปล่อยตัวผู้นำเชลย และหวนคืนสู่ระบอบประชาธิปไตยในทันที สหรัฐฯ ขู่คว่ำบาตรกองทัพและผู้นำรวมถึงการ "ระงับ" ทรัพย์สินมูลค่า 1 พันล้านดอลลาร์[80] อินเดีย ปากีสถาน บังคลาเทศ รัสเซีย เวียดนาม ไทย ฟิลิปปินส์ และจีน ละเว้นจากการวิจารณ์การรัฐประหาร ผู้แทนของรัสเซียและจีนได้หารือกับผู้นำกองทัพพม่าเพียงไม่กี่วันก่อนรัฐประหาร การสมรู้ร่วมคิดที่เป็นไปได้ของพวกเขาทำให้ผู้ประท้วงในพม่าไม่พอใจ[81]

ภูมิศาสตร์

[แก้]

ประเทศพม่า ซึ่งมีพื้นที่ทั้งหมด 676,578 ตารางกิโลเมตร เป็นประเทศใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แผ่นดินใหญ่ (หรือคาบสมุทรอินโดจีน) และใหญ่เป็นอันดับที่ 40 ของโลก ตั้งอยู่ระหว่างละติจูด 9° และ 29° เหนือ และลองติจูด 92° และ 102° ตะวันออก

ประเทศพม่ามีพรมแดนติดต่อกับบังกลาเทศยาว 271 กิโลเมตร (168 ไมล์) ติดกับอินเดียทางตะวันตกเฉียงเหนือยาว 1,468 กิโลเมตร (912 ไมล์) พรมแดนทางเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือติดต่อกับทิเบตและมณฑลยูนนานของจีนยาว 2,129 กิโลเมตร (1,323 ไมล์) ติดกับลาวยาว 238 กิโลเมตร (148 ไมล์) และติดกับไทยยาว 2,416 กิโลเมตร (1,501 ไมล์) พม่ามีแนวชายฝั่งต่อเนื่องตามอ่าวเบงกอลและทะเลอันดามันทางตะวันตกเฉียงใต้และใต้ ซึ่งเป็นหนึ่งในสี่ของพรมแดนทั้งหมด[82]

การแบ่งเขตการปกครอง

[แก้]

ประเทศพม่าแบ่งเขตการปกครองในระดับภูมิภาคออกเป็น 7 ภาค (တိုင်းဒေသကြီး) สำหรับพื้นที่ซึ่งประชากรส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์พม่า และ 7 รัฐ (ပြည်နယ်) สำหรับพื้นที่ซึ่งประชากรส่วนใหญ่เป็นชนกลุ่มน้อย และ 1 ดินแดนสหภาพ (ပြည်တောင်စုနယ်မြေ) ได้แก่

เขตการปกครองของประเทศพม่า
ภาค
ชื่อ เมืองหลวง พื้นที่ (ตารางกิโลเมตร) ประชากร (พ.ศ. 2557)
1. ภาคซะไกง์ โมนยวา 93,704.8 5,325,347[83]
2. ภาคตะนาวศรี ทวาย 44,344.9 1,408,401[83]
3. ภาคพะโค (หงสาวดี) พะโค (หงสาวดี) 39,402.3 4,867,373[83]
4. ภาคมะกเว มะกเว 44,820.6 3,917,055[83]
5. ภาคมัณฑะเลย์ มัณฑะเลย์ 37,945.6 6,165,723[83]
6. ภาคย่างกุ้ง ย่างกุ้ง 10,276.7 7,360,703[83]
7. ภาคอิรวดี พะสิม 35,031.8 6,184,829[83]
รัฐ
ชื่อ เมืองหลวง พื้นที่ (ตารางกิโลเมตร) ประชากร (พ.ศ. 2557)
1. รัฐกะชีน มยิจีนา 89,041.8 1,689,441[83]
2. รัฐกะยา ลอยกอ 11,731.5 286,627[83]
3. รัฐกะเหรี่ยง พะอัน 30,383 1,574,079[83]
4. รัฐฉาน ตองจี 155,801.3 5,824,432[83]
5. รัฐชีน ฮาคา 36,018.8 478,801[83]
6. รัฐมอญ เมาะลำเลิง 12,296.6 2,054,393[83]
7. รัฐยะไข่ ซิตตเว 36,778.0 3,188,807[83]
ดินแดนสหภาพ
ชื่อ เมืองหลวง พื้นที่ (ตารางกิโลเมตร) ประชากร (พ.ศ. 2557)
1. ดินแดนสหภาพเนปยีดอ เนปยีดอ 7,054 1,160,242[83]

อากาศ

[แก้]

พื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ระหว่างเขตร้อนทรอปิกออฟแคนเซอร์และเส้นศูนย์สูตร ตั้งอยู่ในเขตมรสุมของเอเชีย โดยบริเวณชายฝั่งจะมีปริมาณน้ำน้ำฝนมากกว่า 5,000 มม. (196.9 นิ้ว) ต่อปี ปริมาณน้ำฝนรายปีในภูมิภาคอยู่ที่ประมาณ 2,500 มม. (98.4 นิ้ว) ในขณะที่ปริมาณน้ำฝนรายปีเฉลี่ยในเขตแห้งแล้งในภาคกลางน้อยกว่า 1,000 มม. (39.4 นิ้ว) ภาคเหนือของประเทศจะอากาศเย็นที่สุด โดยมีอุณหภูมิเฉลี่ย 21 °C (70 °F) บริเวณชายฝั่งและบริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำมีอุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ย 32 °C (89.6 °F)[84]

สิ่งแวดล้อม

[แก้]
ภูมิทัศน์ในรัฐกะเหรี่ยง

พม่าเป็นประเทศที่มีความหลากหลายทางชีวภาพด้วยพืชมากกว่า 16,000 ชนิด, สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 314 ชนิด, นก 1,131 ชนิด, สัตว์เลื้อยคลาน 293 ชนิด และสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ 139 ชนิด รวมถึงพืชพรรณเขตร้อนและกึ่งเขตร้อน พื้นที่ชุ่มน้ำที่ถูกน้ำท่วมตามฤดูกาล พม่ามีระบบนิเวศทางธรรมชาติที่ยังไม่ถูกทำลายที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งแห่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ระบบนิเวศที่เหลืออยู่ในปัจจุบันกำลังเผชิญปัญหาการคุกคามจากมนุษย์ ที่ดินของพม่ามากกว่าหนึ่งในสามได้ถูกแปลงเป็นระบบนิเวศของมนุษย์ในช่วง 2-3 ศตวรรษที่ผ่านมา และเกือบครึ่งหนึ่งของระบบนิเวศกำลังถูกคุกคาม

พม่าเป็นหนึ่งในประเทศที่เสี่ยงต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากที่สุด สิ่งนี้ก่อให้เกิดความท้าทายทางสังคม การเมือง เศรษฐกิจ และนโยบายต่างประเทศของรัฐบาล พม่ามีคะแนนเฉลี่ยดัชนีความสมบูรณ์ของภูมิทัศน์ป่าไม้ปี 2562 ที่ 7.18/10 ซึ่งอยู่ในอันดับที่ 49 ของโลกจาก 172 ประเทศ[85] การเติบโตทางเศรษฐกิจที่ช้าของพม่ามีส่วนในการรักษาสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศส่วนใหญ่ ป่าไม้ รวมถึงการเติบโตอย่างหนาแน่นในเขตร้อนและไม้สักอันมีค่าในภูมิภาคตอนล่างซึ่งรอบคลุมพื้นที่กว่า 49% ของประเทศกำลังประสบภาวะวิกฤติ การทำลายป่านำไปสู่กฎหมายป่าไม้ฉบับใหม่ปี 2538 มีผลบังคับใช้และเพิ่มพื้นที่ป่าไม้และแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าในปัจจุบัน

สัตว์ป่าทั่วไป โดยเฉพาะเสือโคร่ง พบได้น้อยในพม่า สัตว์ที่พบได้ในตอนบนของประเทศเช่น แรด ควายป่า เสือดาวลายเมฆ หมูป่า กวาง ละมั่ง และช้าง ซึ่งบางที่มีการเลี้ยงเพื่อใช้แรงงานโดยเฉพาะในอุตสาหกรรมไม้แปรรูป สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็กยังมีอยู่มากมายตั้งแต่ชะนีและลิงไปจนถึงค้างคาวแม่ไก่ นกมีมากกว่า 800 สายพันธุ์ รวมทั้งนกแก้ว นกขุนทอง นกยูง นกป่าแดง นกทอผ้า อีกา นกกระสา และนกเค้าแมว สัตว์เลื้อยคลาน ได้แก่ จระเข้ ตุ๊กแก งูเห่า งูเหลือมพม่า และเต่า ปลาน้ำจืดหลายร้อยสายพันธุ์มีความหลากหลาย อุดมสมบูรณ์ และเป็นแหล่งอาหารที่สำคัญ[86]

รัฐบาลและการเมือง

[แก้]
หัวหน้ารัฐบาล รองหัวหน้ารัฐบาล และประมุขของพม่า

ประเทศพม่าเผชิญกับหนึ่งในสงครามกลางเมืองที่ยืดเยื้อที่สุดท่ามกลางกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีอยู่มากมายซึ่งยังแก้ไม่ตก ตั้งแต่ พ.ศ. 2505 ถึง 2554 ประเทศพม่าอยู่ภายใต้ระบอบเผด็จการทหาร คณะผู้ยึดอำนาจการปกครองถูกยุบอย่างเป็นทางการใน พ.ศ. 2554 หลังการเลือกตั้งทั่วไปใน พ.ศ. 2553 และมีการตั้งรัฐบาลพลเรือนในนามแทน แต่ทหารยังมีอิทธิพลอยู่มาก สหประชาชาติและอีกหลายองค์การได้รายงานการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างต่อเนื่องและเป็นระบบในพม่า รวมทั้งการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ การข่มขืน แรงงานเด็ก ทาส การค้ามนุษย์ และการขาดเสรีภาพในการพูด ในช่วงปีหลัง พม่าและผู้นำทหารได้ผ่อนปรนต่อนักเคลื่อนไหวประชาธิปไตยและกำลังพัฒนาความสัมพันธ์อย่างช้า ๆ กับมหาอำนาจและสหประชาชาติ

พม่าดำเนินการทางนิตินัยในฐานะสาธารณรัฐที่มีการรวมตัวและเป็นอิสระภายใต้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2551 แต่ในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 รัฐบาลพลเรือนที่นำโดยอองซานซูจี ถูกกองทัพพม่าขับไล่และก่อรัฐประหาร[87] กองทัพประกาศภาวะฉุกเฉินเป็นเวลาหนึ่งปี และมอบอำนาจให้ผู้บัญชาการทหารสูงสุด มี่นอองไลง์ เป็นนายกรัฐมนตรี ประธานาธิบดีของพม่าจะทำหน้าที่เป็นประมุข และประธานสภาบริหารแห่งรัฐทำหน้าที่เป็นหัวหน้ารัฐบาลโดยพฤตินัย สมัชชาสหภาพแรงงานรัฐธรรมนูญของพม่าซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่ 3 นับตั้งแต่ได้รับเอกราช ถูกร่างโดยผู้ปกครองทหารและตีพิมพ์ในเดือนกันยายน 2551 พม่าปกครองด้วยระบบรัฐสภาที่มีสภานิติบัญญัติแบบสองสภา (โดยมีประธานาธิบดีบริหารรับผิดชอบสภานิติบัญญัติ) สมาชิกสภานิติบัญญัติที่ได้รับการแต่งตั้งจากกองทัพ และสมาชิกที่เหลือได้รับเลือกตั้งเป็นการเลือกตั้งทั่วไป สภานิติบัญญัติเรียกว่าสภาแห่งสหภาพ (Assembly of the Union) ประกอบด้วยสภาผู้แทนราษฎรแห่งสัญชาติ 224 ที่นั่งและสภาผู้แทนราษฎรล่าง 440 ที่นั่ง สภาสูงประกอบด้วยสมาชิก 168 คนที่ได้รับการเลือกตั้งโดยตรงและ 56 คนที่ได้รับการแต่งตั้งจากกองทัพพม่า สภาล่างประกอบด้วยสมาชิก 330 คนที่ได้รับการเลือกตั้งโดยตรงและ 110 คนที่ได้รับการแต่งตั้งจากกองทัพ

นโยบายต่างประเทศ

[แก้]
เต้นเซน ประธานาธิบดีพม่า ขณะหารือกับ บารัก โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐในปี 2555

ในอดีต พม่ามีความสัมพันธ์ตึงเครียดกับชาติตะวันตก แต่สถานการณ์ก็ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัดนับตั้งแต่การปฏิรูปหลังการเลือกตั้งในปี 2553 หลังจากหลายปีของการแยกตัวทางการทูตและการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจและการทหาร สหรัฐฯ ได้ผ่อนปรนมาตรการช่วยเหลือต่างประเทศแก่พม่าในเดือนพฤศจิกายน 2554 และประกาศการเริ่มต้นความสัมพันธ์ทางการทูตอีกครั้งในวันที่ 13 มกราคม 2555 สหภาพยุโรปได้คว่ำบาตรพม่า รวมถึงการคว่ำบาตรอาวุธ การยุติสิทธิพิเศษทางการค้าและการระงับความช่วยเหลือทั้งหมด ยกเว้นความช่วยเหลือด้านสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 13 เมษายน 2555 เดวิด แคเมรอน นายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักรในขณะนั้น เรียกร้องให้มีการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อพม่า[88][89]

แม้จะแยกตัวจากชาติตะวันตก แต่โดยทั่วไปแล้วบริษัทในเอเชียยังคงเต็มใจที่จะลงทุนในประเทศต่อไปและมีการวางแผนเริ่มลงทุนใหม่ในอนาคต โดยเฉพาะการลงทุนทางทรัพยากรธรรมชาติ พม่ามีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับอินเดียและจีน โดยมีบริษัทอินเดียและจีนหลายแห่งที่ดำเนินงานในประเทศ ภายใต้นโยบาย Look East ของอินเดีย ความร่วมมือระหว่างอินเดียและพม่ารวมถึงการสำรวจระยะไกล การสำรวจน้ำมันและก๊าซ เทคโนโลยีสารสนเทศ พลังงานน้ำ และการก่อสร้างท่าเรือและอาคาร[90][91]

ในปี 2551 อินเดียระงับความช่วยเหลือทางทหารแก่พม่าสืบเนื่องจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยรัฐบาลเผด็จการ ถึงแม้ว่าอินเดียจะยังรักษาความสัมพันธ์ทางการค้ากับพม่าอยู่ การฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างพม่าและเบลารุสเริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2554 เมื่อนายกรัฐมนตรี มิคาอิล มยาสนิโควิช แห่งเบลารุสและภรรยาของเขา ลุดมิลา มาเยือนกรุงเนปยีดอ ในวันเดียวกับที่พม่าได้รับการเยือนจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ ฮิลลารี คลินตัน ซึ่งเข้าพบผู้นำฝ่ายค้านประชาธิปไตยของอองซานซูจี ทั้งสองชาติยังความสัมพันธ์ระหว่างประเทศต่อไปในเดือนกันยายน 2555 เมื่ออองซานซูจีเยือนสหรัฐอเมริกา

ในเดือนพฤษภาคม 2556 เต้นเซนกลายเป็นประธานาธิบดีพม่าคนแรกที่ไปเยือนทำเนียบขาวในรอบ 47 ปี ผู้นำพม่าคนสุดท้ายที่ไปเยือนทำเนียบขาวคือพลเอกเนวี่นในเดือนกันยายน 2509 ประธานาธิบดี บารัก โอบามา ยกย่องอดีตนายพลเรื่องการปฏิรูปการเมืองและเศรษฐกิจ และการยุติความตึงเครียดระหว่างพม่าและสหรัฐอเมริกา นักเคลื่อนไหวทางการเมืองคัดค้านการเยือนดังกล่าวเนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนในพม่า แต่โอบามารับรองเต้นเซนว่าพม่าจะได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐฯ[92] ผู้นำทั้งสองหารือถึงการปล่อยตัวนักโทษการเมืองเพิ่ม การปรับโครงสร้างการปฏิรูปการเมืองและหลักนิติธรรม และการยุติความขัดแย้งทางชาติพันธุ์ในพม่า รัฐบาลทั้งสองตกลงที่จะลงนามในข้อตกลงกรอบการค้าและการลงทุนทวิภาคีในวันที่ 21 พฤษภาคม 2556

กองทัพ

[แก้]
ทหารของกองทัพอากาศพม่า

พม่าได้รับความช่วยเหลือทางทหารมากมายจากจีนในอดีต[93] พม่าเป็นสมาชิกของอาเซียนมาตั้งแต่ปี 2540 แม้ว่าจะเลิกดำรงตำแหน่งประธานอาเซียนและเป็นเจ้าภาพการประชุมสุดยอดอาเซียนในปี 2549 แต่ก็เป็นประธานการประชุมและเป็นเจ้าภาพการประชุมสุดยอดในปี 2557[94] ในเดือนพฤศจิกายน 2551 สถานการณ์ทางการเมืองของพม่ากับบังคลาเทศเพื่อนบ้านเริ่มตึงเครียดเมื่อพวกเขาเริ่มค้นหาก๊าซธรรมชาติในอ่าวเบงกอลที่มีข้อพิพาท ความขัดแย้งรอบด้านด้านประชากรโรฮีนจายังคงเป็นปัญหาระหว่างบังกลาเทศและพม่า[95] กองกำลังติดอาวุธของพม่าเรียกว่ากองทัพพม่าซึ่งมีจำนวน 488,000 คน กองทัพบก กองทัพเรือ และกองทัพอากาศ พม่าอยู่ในอันดับสิบสองของโลกสำหรับจำนวนทหารประจำการที่ประจำการอยู่ กองทัพมีอิทธิพลอย่างมากในพม่า โดยตำแหน่งรัฐมนตรีและกระทรวงระดับสูงทั้งหมดมักเป็นเจ้าหน้าที่ทหาร ไม่มีตัวเลขอย่างเป็นทางการสำหรับการใช้จ่ายทางทหาร การประมาณการแตกต่างกันอย่างมากเนื่องจากอัตราแลกเปลี่ยนที่ไม่แน่นอน แต่ค่าใช้จ่ายของกองกำลังทหารของพม่านั้นสูง พม่านำเข้าอาวุธส่วนใหญ่จากรัสเซีย ยูเครน จีน และอินเดีย

พม่าอยู่ระหว่างการสร้างเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์เพื่อการวิจัยใกล้กับพินอูลวินด้วยความช่วยเหลือจากรัสเซีย[96] พม่าเป็นหนึ่งในผู้ลงนามในสนธิสัญญาไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ตั้งแต่ปี 2535 และเป็นสมาชิกของทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) ตั้งแต่ปี 2500 รัฐบาลทหารได้แจ้ง IAEA ในเดือนกันยายน 2540 ถึงความตั้งใจที่จะสร้างเครื่องปฏิกรณ์ในปี 2553 พม่าถูกตั้งข้อสงสัยว่าใช้ทีมก่อสร้างของเกาหลีเหนือเพื่อสร้างฐานป้องกันขีปนาวุธจากพื้นสู่อากาศ[97] ณ ปี 2562 สำนักงานควบคุมอาวุธแห่งสหรัฐอเมริกาประเมินว่าพม่าไม่ได้ละเมิดพันธกรณีภายใต้สนธิสัญญาไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ แต่รัฐบาลพม่ามีประวัติความไม่โปร่งใสเกี่ยวกับโครงการและเป้าหมายด้านนิวเคลียร์

ปัญหาด้านสิทธิมนุษยชน

[แก้]

เป็นที่วิจารณ์กันโดยทั่วไประบอบทหารในพม่า (พ.ศ. 2505-53) เป็นระบอบที่กดขี่ประชาชนมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก[98] ในเดือนพฤศจิกายน 2555 ซาแมนธา พาวเวอร์ ผู้ช่วยพิเศษของประธานาธิบดี บารัก โอบามา หัวหน้าฝ่ายสิทธิมนุษยชน เขียนบนบล็อกของทำเนียบขาวก่อนการเยือนของประธานาธิบดีว่า “การละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงต่อพลเรือนในหลายภูมิภาคยังดำเนินต่อไป รวมถึงต่อผู้หญิงและเด็ก” สมาชิกของสหประชาชาติและองค์กรสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศรายใหญ่ได้ออกรายงานซ้ำ ๆ และสม่ำเสมอเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างแพร่หลาย[99]

สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติได้เรียกร้องให้รัฐบาลทหารพม่าเคารพสิทธิมนุษยชนหลายครั้ง และในเดือนพฤศจิกายน 2552 สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติได้ลงมติ "ประณามอย่างรุนแรงต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐานอย่างเป็นระบบ" และเรียกร้องให้กองทัพพม่าดำเนินการ "ใช้มาตรการเร่งด่วนเพื่อยุติการละเมิดสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศและกฎหมายมนุษยธรรม"[100]

องค์กรสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ซึ่งรวมถึง ฮิวแมนไรตส์วอตช์, แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล และ สมาคมเพื่อความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์อเมริกัน ได้จัดทำเอกสารและประณามการละเมิดสิทธิมนุษยชนในวงกว้างในพม่าหลายครั้ง รายงาน The Freedom in the World 2011 โดย Freedom House ระบุว่า "รัฐบาลเผด็จการทหารได้ ... ปราบปรามสิทธิขั้นพื้นฐานเกือบทั้งหมด และกระทำการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยไม่ต้องรับโทษ" ในเดือนกรกฎาคม 2556 สมาคมช่วยเหลือผู้ต้องขังทางการเมืองระบุว่ามีนักโทษการเมืองประมาณ 100 คนถูกคุมขังในเรือนจำพม่า[101] หลักฐานที่รวบรวมโดยนักวิจัยชาวอังกฤษตีพิมพ์ในปี 2548 เกี่ยวกับการกดขี่ชนกลุ่มน้อยบางกลุ่ม เช่น กะเหรี่ยง และฉาน

การบังคับเยาวชนไปเป็นทหาร

[แก้]

ทหารเด็กมีบทบาทสำคัญในกองทัพพม่าจนถึงประมาณปี 2555 สำนักข่าวอิสระรายงานเมื่อเดือนมิถุนายน 2555 ว่า "เด็ก ๆ ถูกขายเป็นทหารเกณฑ์ในกองทัพพม่าด้วยเงินเพียง 40 ดอลลาร์และข้าวหนึ่งถุงหรือน้ำมันหนึ่งกระป๋อง"[102] ราธิกา คูมารัสวามี ผู้แทนพิเศษแห่งสหประชาชาติของเลขาธิการเพื่อเด็กและความขัดแย้งทางอาวุธซึ่งลาออกจากตำแหน่งในอีกหนึ่งสัปดาห์ต่อมา ได้พบกับตัวแทนของรัฐบาลพม่าในเดือนกรกฎาคม 2555 และกล่าวว่าเธอหวังว่ารัฐบาลจะลงนามแผนปฏิบัติการจะ "ส่งสัญญาณการเปลี่ยนแปลง"

ในเดือนกันยายน 2555 กองทัพพม่าปล่อยทหารเด็ก 42 นาย และองค์การแรงงานระหว่างประเทศได้พบกับตัวแทนของรัฐบาลและกองทัพกะชีนอิสระเพื่อประกันการปล่อยตัวทหารเพิ่มเติม ตามรายงานของ ซาแมนธา พาวเวอร์ คณะผู้แทนของสหรัฐฯ ได้หยิบยกประเด็นเรื่องทหารเด็กกับรัฐบาลในเดือนตุลาคม 2555 อย่างไรก็ตาม เธอไม่ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับความคืบหน้าของรัฐบาลในการปฏิรูปในด้านนี้

ชาวโรฮีนจา

[แก้]

ชาวโรฮีนจาต้องเผชิญกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างต่อเนื่องจากระบอบการปกครองของพม่าที่ปฏิเสธที่จะยอมรับว่าพวกเขาเป็นพลเมืองพม่า (แม้ว่าบางคนจะอาศัยอยู่ในพม่ามานานกว่าสามชั่วอายุคน) ชาวโรฮีนจาถูกปฏิเสธไม่ให้สัญชาติพม่าตั้งแต่มีการตรากฎหมายในปี 2525[103] ระบอบการปกครองของพม่าพยายามบังคับขับไล่ชาวโรฮีนจาและมีการขับไล่ชาวประมาณครึ่งหนึ่งจากจำนวน 800,000 คนออกจากพม่า ในขณะที่ชาวโรฮีนจาได้รับการอธิบายว่าเป็น "ชนกลุ่มน้อยที่เป็นที่ต้อนรับน้อยที่สุดของโลก" และ "ชนกลุ่มน้อยที่ถูกกดขี่ข่มเหงมากที่สุดของโลก"

ชาวโรฮีนจาไม่ได้รับอนุญาตให้เดินทางโดยไม่ได้รับอนุญาตจากทางการ ถูกห้ามไม่ให้ถือครองที่ดิน และต้องลงนามในคำมั่นสัญญาว่าจะมีบุตรไม่เกินสองคน ณ เดือนกรกฎาคม 2555 รัฐบาลพม่าไม่รวมชนกลุ่มน้อยโรฮีนญาซึ่งจัดเป็นชาวเบงกาลีมุสลิมที่ไร้สัญชาติจากบังกลาเทศตั้งแต่ปี 2525 ในรายการของรัฐบาลที่มีเชื้อชาติมากกว่า 130 ชาติพันธุ์ ดังนั้น รัฐบาลจึงระบุว่าพวกเขาไม่มีสิทธิ์ขอสัญชาติพม่า[104] ในปี 2550 ศาสตราจารย์ บาสซัม ตีบี ชาวเยอรมัน เสนอว่าความขัดแย้งโรฮีนจาอาจขับเคลื่อนโดยวาระทางการเมืองของอิสลามิสต์เพื่อกำหนดกฎหมายทางศาสนา[105] ในขณะที่สาเหตุที่ไม่เกี่ยวข้องกับศาสนาก็ถูกหยิบยกขึ้นมาเช่นกัน เช่น ความขุ่นเคืองที่คงอยู่ต่อความรุนแรงที่เกิดขึ้นระหว่างการยึดครองของญี่ปุ่น และการยึดครองพม่าในสงครามโลกครั้งที่สอง ในช่วงเวลานี้ อังกฤษได้เป็นพันธมิตรกับชาวโรฮีนจาและต่อสู้กับรัฐบาลหุ่นเชิดของพม่า (ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวบามาร์ญี่ปุ่น) ที่ช่วยก่อตั้งกองทัพพม่า ที่มีอำนาจมายาวนานยกเว้นในช่วง 5 ปี (2559 - 2564)

เศรษฐกิจ

[แก้]
นครย่างกุ้ง

ประเทศพม่าอุดมไปด้วยทรัพยากร แต่เศรษฐกิจพม่าเป็นหนึ่งในเศรษฐกิจด้อยพัฒนาที่สุดในโลก จีดีพีของพม่าอยู่ที่ 42,953 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และเติบโตด้วยอัตราเฉลี่ยร้อยละ 2.9 ต่อปี ซึ่งเป็นอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจต่ำสุดในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง สหภาพยุโรป สหรัฐ แคนาดา และอีกหลายประเทศได้กำหนดการลงโทษทางเศรษฐกิจต่อพม่า

ระบบสาธารณสุขของพม่าเป็นหนึ่งในระบบสาธารณสุขที่เลวร้ายที่สุดในโลก องค์การอนามัยโลกจัดอันดับพม่าไว้อันดับที่ 190 ซึ่งเป็นอันดับสุดท้าย ประเทศพม่ามี เกษตรกรรม เป็นอาชีพหลัก เขตเกษตรกรรมคือบริเวณดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำอิรวดี แม่น้ำสะโตง แม่น้ำทวาย-มะริด ปลูกข้าวเจ้า ปอกระเจา อ้อย และพืชเมืองร้อนอื่น ๆ ส่วนเขตฉาน อยู่ติดแม่น้ำโขงปลูกพืชผักจำนวนมาก ทำเหมืองแร่ ภาคกลางตอนบนมีน้ำมันปิโตรเลียม ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ขุดแร่ หิน สังกะสี และภาคตะวันออกเฉียงใต้ ทำเหมืองดีบุกทางตอนใต้เมืองมะริดมีเพชรและหยกจำนวนมาก การทำป่าไม้ มีการทำป่าไม้สักทางภาคเหนือ ส่งออกขายและล่องมาตามแม่น้ำอิรวดีเข้าสู่ย่างกุ้ง อุตสาหกรรม กำลังพัฒนา อยู่บริเวณตอนล่าง เช่น ย่างกุ้ง และ มะริด และทวาย เป็นอุตสาหกรรมต่อเรือเดินสมุทรที่ใหญ่ของพม่า

การคมนาคม

[แก้]
สถานีรถไฟย่างกุ้ง

การขนส่งทางบก ได้แก่ ทางถนนและทางรถไฟ ทางถนน ถนนในพม่าส่วนใหญ่ขนานไปกับภูเขาและแม่น้ำ ทอดไปตามความยาวของประเทศ เช่นเดียวกับทางรถไฟ ถนนสายต่าง ๆ ที่สำคัญมีดังนี้ ถนนพม่า เป็นถนนสายสำคัญที่เชื่อมต่อระหว่างย่างกุ้งกับเมืองคุนหมิง ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของจีน มีความยาวในเขตพม่าถึงเมืองหมู่แจ้ ประมาณ 1,160 กิโลเมตร และมีความยาวในเขตจีนจากหมู่แจ้ถึงคุนหมิง ประมาณ 90 กิโลเมตร ถนนสายนี้ผ่านเมืองต่าง ๆ คือ หงสาวดี-ตองอู-ปยี่นมะน่า-เมะทีลา-มัณฑะเลย์-สี่ป้อ-ล่าเสี้ยว-แสนหวี-หมู่แจ้ รวมความยาวทั้งสิ้นประมาณ 2,140 กิโลเมตร ใช้การทุกฤดูกาล ส่วนทางรถไฟของพม่าได้เปิดดำเนินการตั้งแต่ปี 2481

การขนส่งทางน้ำ การคมนาคมขนส่งทางน้ำภายในประเทศ นับว่ามีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศพม่าเป็นอย่างมาก และยังเป็นเส้นทางคมนาคมหลักมาตั้งแต่อดีต เนื่องจากพื้นที่บริเวณปากแม่น้ำอิรวดีมีทางน้ำอยู่มากมาย และเป็นเขตที่มีประชาชนพลเมืองอาศัยอยู่หนาแน่นที่สุด ประกอบกับเส้นทางถนนและทางรถไฟยังมีจำกัด

สกุลเงิน

[แก้]

สกุลเงินของประเทศพม่า คือ จัต (Kyat) อัตราแลกเปลี่ยนประมาณ 43.19 จัตต่อ 1 บาท[106] หรือประมาณ 1,390.91 จัตต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ[107] (ข้อมูลเดือนพฤษภาคม 2563)

เกษตรกรรม

[แก้]
การปลูกข้าวในพม่า

สินค้าเกษตรที่สำคัญคือข้าว ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 60% ของพื้นที่เพาะปลูกทั้งหมดของประเทศ ข้าวคิดเป็น 97% ของการผลิตเมล็ดพืชอาหารทั้งหมดโดยน้ำหนัก โดยความร่วมมือกับสถาบันวิจัยข้าวนานาชาติ 52 พันธุ์ข้าวพันธุ์ใหม่ออกจำหน่ายในประเทศระหว่างปี 2509-2540 ช่วยเพิ่มผลผลิตข้าวของประเทศเป็น 14 ล้านตันในปี 2530 และ 19 ล้านตันในปี 2539 โดยในปี 2531 มีการปลูกข้าวพันธุ์ใหม่ครึ่งหนึ่งของนาข้าวของประเทศ รวมทั้งร้อยละ 98 ของพื้นที่ชลประทาน ในปี 2551 ผลผลิตข้าวคิดเป็นประมาณ 50 ล้านตัน[108]

อุตสาหกรรมสำคัญ

[แก้]

พม่าผลิตอัญมณีล้ำค่า เช่น ทับทิม ไพลิน ไข่มุก และหยก ทับทิมที่มีมูลค่าสูงสุดกว่า 90% ของทับทิมที่ขายทั่วโลกมาจากพม่าซึ่งหินสีแดงได้รับการยกย่องในด้านความบริสุทธิ์และสีสันสวยงาม ประเทศไทยซื้ออัญมณีส่วนใหญ่มาจาก "หุบเขาแห่งทับทิม" พื้นที่ภูเขา โม่โกะ ซึ่งอยู่ห่างจากเมืองมัณฑะเลย์ไปทางเหนือ 200 กม. (120 ไมล์) ขึ้นชื่อเรื่องทับทิมสีเลือดของนกพิราบและไพลินสีน้ำเงินที่หายาก[109]

บริษัทเครื่องประดับในสหรัฐอเมริกาและยุโรปหลายแห่ง รวมถึง Bulgari, Tiffany และ Cartier ปฏิเสธที่จะนำเข้าอัญมณีเหล่านี้โดยอิงจากรายงานสภาพการทำงานที่น่าสงสารในเหมือง ฮิวแมนไรตส์วอตช์ สนับสนุนการห้ามซื้ออัญมณีพม่าโดยสมบูรณ์ตามรายงานเหล่านี้[110] และเนื่องจากผลกำไรเกือบทั้งหมดตกเป็นของรัฐบาลเผด็จการ เนื่องจากกิจกรรมการขุดส่วนใหญ่ในประเทศเป็นกิจการของรัฐบาล รัฐบาลพม่าควบคุมการค้าอัญมณีด้วยการเป็นเจ้าของโดยตรงหรือโดยการร่วมทุนกับเจ้าของเหมืองส่วนตัว ธาตุแรร์เอิร์ธเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญเช่นกัน เนื่องจากพม่าจัดหาแร่หายากประมาณ 10% ของโลก ความขัดแย้งในรัฐคะฉิ่นได้คุกคามการปฏิบัติงานของทุ่นระเบิด ณ เดือนกุมภาพันธ์ 2564

อุตสาหกรรมอื่น ๆ ได้แก่ สินค้าเกษตร สิ่งทอ ผลิตภัณฑ์จากไม้ วัสดุก่อสร้าง อัญมณี โลหะ น้ำมัน และแก๊สธรรมชาติ สมาคมวิศวกรรมแห่งพม่าได้ระบุสถานที่อย่างน้อย 39 แห่งที่สามารถผลิตพลังงานความร้อนใต้พิภพได้ และแหล่งกักเก็บความร้อนใต้พิภพเหล่านี้บางแห่งตั้งอยู่ใกล้กับย่างกุ้งซึ่งเป็นแหล่งทรัพยากรที่สำคัญสำหรับการผลิตไฟฟ้า

การท่องเที่ยว

[แก้]
สะพานอู้เบน ที่อมรปุระ

รัฐบาลได้รายได้จากบริการการท่องเที่ยวของภาคเอกชน[111] สถานที่ท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมได้แก่เมืองใหญ่ เช่น ย่างกุ้งและมัณฑะเลย์ สถานที่ทางศาสนาในรัฐมอญ พินดายา พะโค และพะอาน เส้นทางศึกษาธรรมชาติในทะเลสาบอี้นเล่ เชียงตุง, ปูดาโอ, ปยีนอู้ลวีน เมืองโบราณเช่นพุกามและมเยาะอู้ เช่นเดียวกับชายหาดในนาบูเล อย่างไรก็ตาม ในปี 2544 คณะกรรมการส่งเสริมการท่องเที่ยวพม่าได้ออกคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นคุ้มครองนักท่องเที่ยวและจำกัด "การติดต่อที่ไม่จำเป็น" ระหว่างชาวต่างชาติกับชาวพม่า

วิธีที่นิยมมากที่สุดสำหรับผู้เดินทางเข้าประเทศคือทางอากาศ ตามเว็บไซต์ Lonely Planet การเดินทางเข้าสู่พม่ามีปัญหาสำคัญได้แก่: "ไม่มีบริการรถประจำทางหรือรถไฟเชื่อมต่อพม่ากับประเทศอื่น และไม่สามารถเดินทางโดยรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ข้ามพรมแดน - แต่ต้องเดินข้ามมาเท่านั้น" พวกเขากล่าวเพิ่มเติมว่า "เป็นไปไม่ได้สำหรับชาวต่างชาติที่จะไป/กลับจากพม่าโดยทางทะเลหรือแม่น้ำ" มีการผ่านแดนไม่กี่แห่งที่อนุญาตให้ยานพาหนะส่วนตัวผ่านได้ เช่น พรมแดนระหว่างรุ่ยลี่ (จีน) ไปยัง หมู่แจ้ พรมแดนระหว่าง Htee Kee (พม่า) และด่านพุน้ำร้อน (ประเทศไทย) ซึ่งเป็นพรมแดนที่ตรงที่สุดระหว่างทวายและกาญจนบุรี และชายแดนระหว่างเมียวดี และแม่สอด ประเทศไทย บริษัทท่องเที่ยวอย่างน้อยหนึ่งแห่งประสบความสำเร็จในการดำเนินการเส้นทางการค้าทางบกผ่านพรมแดนเหล่านี้ตั้งแต่ปี 2556

ประชากรศาสตร์

[แก้]

ผลการสำรวจสำมะโนประชากรพม่า พ.ศ. 2557 พบว่ามีประชากรทั้งหมด 51,419,420 คน[112] ตัวเลขนี้รวมบุคคลประมาณ 1,206,353 คนในบางส่วนของรัฐยะไข่ตอนเหนือ รัฐกะชีน และรัฐกะเหรี่ยงบุคคลที่อยู่นอกประเทศในช่วงเวลาของการสำรวจสำมะโนประชากรจะไม่รวมอยู่ในตัวเลขเหล่านี้ มีแรงงานต่างด้าวที่ขึ้นทะเบียนจากพม่าในประเทศไทยกว่า 600,000 คน และอีกหลายล้านคนทำงานอย่างผิดกฎหมาย พลเมืองพม่าคิดเป็น 80% ของแรงงานข้ามชาติทั้งหมดในประเทศไทย[113] ความหนาแน่นของประชากรของประเทศอยู่ที่ 76 ต่อตารางกิโลเมตร (200/ตร.ไมล์) ซึ่งต่ำที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

อัตราการเจริญพันธุ์ของพม่า ณ ปี 2554 อยู่ที่ 2.23 ซึ่งสูงกว่าระดับเฉลี่ยเล็กน้อย และต่ำเมื่อเทียบกับประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีฐานะทางเศรษฐกิจใกล้เคียงกัน เช่น กัมพูชา (3.18) และลาว (4.41) ภาวะเจริญพันธุ์ลดลงอย่างมีนัยสำคัญในทศวรรษ 2000 จากอัตรา 4.7 เด็กต่อผู้หญิงหนึ่งคนในปี 1983 ลดลงเหลือ 2.4 ในปี 2001 แม้จะไม่มีนโยบายด้านประชากรของประเทศก็ตาม และอัตราการเจริญพันธุ์ต่ำในเขตเมือง[114]

เมืองใหญ่สุด

[แก้]

เชื้อชาติ

[แก้]
เชื้อชาติในประเทศพม่า
(ประมาณการคร่าว ๆ)
เชื้อชาติ เปอร์เซ็นต์
พม่า
  
68%
ไทใหญ่
  
10%
กะเหรี่ยง
  
7%
ยะไข่
  
3.5%
จีน
  
3%
มอญ
  
2%
กะชีน
  
1.5%
อินเดีย
  
2%
ชีน
  
1%
กะยา
  
0.8%
เชื้อชาติอื่น ๆ
  
5%

จำนวนประชากรประมาณ 53,582,855 คน มีชาติพันธุ์พม่า 68% ไทใหญ่ 10% กะเหรี่ยง 7% ยะไข่ 3.5% จีน 3% มอญ 2% กะชีน 1.5% อินเดีย 2% ชีน 1% คะยา 0.8% เชื้อชาติอื่น ๆ 5%

ศาสนา

[แก้]
ศาสนาในประเทศพม่า[115]
พุทธ
  
87.9%
คริสต์
  
6.2%
อิสลาม
  
4.3%
พื้นบ้าน
  
0.8%
ฮินดู
  
0.5%
อื่น ๆ
  
0.2%
ไม่นับถือศาสนา
  
0.1%

ในปี ค.ศ. 2014[116] ประเทศพม่ามีประชากรที่นับถือศาสนา แบ่งได้ดังนี้ ศาสนาพุทธ 87.9% ศาสนาคริสต์ 6.2% ศาสนาอิสลาม 4.3% พื้นบ้าน 0.8% ศาสนาฮินดู 0.5% อื่น ๆ 0.2% และไม่นับถือศาสนา 0.1%

หลายศาสนามีการปฏิบัติในพม่า ศาสนสถานและคำสั่งสอนมีมาหลายปีแล้ว อย่างไรก็ตาม ประชากรชาวคริสต์และมุสลิมต้องเผชิญกับการกดขี่ทางศาสนา และเป็นเรื่องยากสำหรับผู้ที่ไม่ใช่ชาวพุทธที่จะเข้าร่วมกองทัพหรือหางานทำในรัฐบาลซึ่งเป็นเส้นทางหลักสู่ความสำเร็จในประเทศ การกดขี่ข่มเหงและการกำหนดเป้าหมายของพลเรือนดังกล่าวมีความโดดเด่นเป็นพิเศษในภาคตะวันออกของพม่า ซึ่งมีหมู่บ้านมากกว่า 3,000 แห่งถูกทำลายในช่วงสิบปีที่ผ่านมา ชาวมุสลิมมากกว่า 200,000 คนหนีไปบังกลาเทศภายในปี 2550 เพื่อหนีการกดขี่ข่มเหง[117]

ภาษา

[แก้]

นอกจากภาษาพม่า ซึ่งเป็นภาษาทางการแล้ว พม่ามีภาษาหลักที่ใช้งานในประเทศถึงอีก 18 ภาษา[118] โดยแบ่งตามตระกูลภาษาได้ดังนี้

สาธารณสุข

[แก้]

ภาวะสุขภาพโดยทั่วไปในพม่านั้นย่ำแย่ รัฐบาลจัดสรรงบประมาณเพียง 0.5% ถึง 3% ของ GDP ของประเทศในด้านการดูแลสุขภาพซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มที่ต่ำที่สุดในโลกทุกปี แม้ว่าการรักษาพยาบาลจะไม่เสียค่าใช้จ่ายในทางนิตินัย แต่ในความเป็นจริง ผู้ป่วยต้องจ่ายค่ายาและการรักษาแม้แต่ในคลินิกของรัฐและโรงพยาบาล โรงพยาบาลของรัฐขาดสิ่งอำนวยความสะดวกและอุปกรณ์พื้นฐานมากมาย อัตราการตายของมารดาในปี 2553 ต่อการเกิด 100,000 คนในพม่าคือ 240 เมื่อเปรียบเทียบกับ 219.3 ในปี 2551 และ 662 ในปี 2533 อัตราการเสียชีวิตต่ำกว่า 5 ต่อการเกิด 1,000 คนคือ 73 และอัตราการเสียชีวิตของทารกแรกเกิดเมื่ออายุต่ำกว่า 5 ปีคือ 47 ตามรายงานชื่อ "ชะตากรรมที่ป้องกันได้" ซึ่งจัดพิมพ์โดยแพทย์ไร้พรมแดน ผู้ป่วยโรคเอดส์ในพม่า 25,000 รายเสียชีวิตในปี 2550 ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่สามารถป้องกันได้ด้วยยาต้านไวรัสและการรักษาที่เหมาะสม[119]

เอชไอวี/เอดส์ ได้รับการยอมรับว่าเป็นโรคที่น่าเป็นห่วงโดยกระทรวงสาธารณสุขของพม่า เป็นโรคที่แพร่ระบาดมากที่สุดในหมู่ผู้ให้บริการทางเพศและผู้เสพยาทางหลอดเลือดดำ ในปี 2548 อัตราความชุกของเชื้อเอชไอวีในผู้ใหญ่โดยประมาณในพม่าอยู่ที่ 1.3% (200,000–570,000 คน) จากข้อมูลของ UNAIDS และตัวบ่งชี้เบื้องต้นของความก้าวหน้าใดๆ ในการต่อต้านการแพร่ระบาดของเชื้อเอชไอวีนั้นไม่สอดคล้องกัน อย่างไรก็ตาม โครงการเอดส์แห่งชาติพม่าพบว่า 32% ของผู้ให้บริการทางเพศและ 43% ของผู้ใช้ยาทางเส้นเลือดในพม่าติดเชื้อเอชไอวี

การศึกษา

[แก้]
นักเรียนประถมในภาคซะไกง์

จากข้อมูลของสถาบันสถิติของยูเนสโก อัตราการรู้หนังสืออย่างเป็นทางการของพม่า ณ ปี 2543 อยู่ที่ 90%[120] ในอดีต พม่ามีอัตราการรู้หนังสือสูง ระบบการศึกษาของประเทศดำเนินการโดยหน่วยงานราชการ กระทรวงศึกษาธิการ ระบบการศึกษานี้มีพื้นฐานมาจากระบบของสหราชอาณาจักร หลังจากอิทธิพลเกือบหนึ่งศตวรรษของชาวอังกฤษและคริสเตียนในพม่า เกือบทุกโรงเรียนดำเนินการโดยรัฐบาล แต่มีโรงเรียนสอนภาษาอังกฤษที่ได้รับทุนสนับสนุนของเอกชนเพิ่มขึ้นในช่วงต้นศตวรรษที่ 21 การศึกษาเป็นภาคบังคับจนถึงปลายชั้นประถมศึกษาประมาณ 9 ปี ในขณะที่ระดับการศึกษาภาคบังคับคือ 15 หรือ 16 ในระดับนานาชาติ มีมหาวิทยาลัย 101 แห่ง สถาบัน 12 แห่ง วิทยาลัย 9 ปริญญา และวิทยาลัย 24 แห่งในพม่า รวม 146 สถาบันอุดมศึกษา มีโรงเรียนฝึกเทคนิค 10 แห่ง โรงเรียนฝึกพยาบาล 23 แห่ง โรงเรียนกีฬา 1 แห่ง และโรงเรียนผดุงครรภ์ 20 แห่ง มีโรงเรียนนานาชาติสี่แห่งที่ได้รับการยอมรับจาก WASC และคณะกรรมการวิทยาลัย ได้แก่ โรงเรียนนานาชาติย่างกุ้ง โรงเรียนนานาชาติพม่า โรงเรียนนานาชาติย่างกุ้ง และโรงเรียนนานาชาติแห่งพม่าในย่างกุ้ง พม่าอยู่ในอันดับที่ 129 ในดัชนีนวัตกรรมโลกในปี 2563

อินเทอร์เน็ต

[แก้]

การใช้อินเทอร์เน็ตในพม่าข้างต่ำเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ อินเทอร์เน็ตของพม่าเคยถูกเซ็นเซอร์ และเจ้าหน้าที่ทหารมีสิทธิ์ตรวจดูอีเมลรวมถึงโพสต์บนอินเทอร์เน็ตของประชาชนจนถึงปี 2555 เมื่อรัฐบาลยกเลิกการเซ็นเซอร์สื่อ ในช่วงที่มีการเซ็นเซอร์ที่เข้มงวดกิจกรรมที่อินเทอร์เน็ตคาเฟ่ถูกควบคุม และบล็อกเกอร์ชื่อ ซากะนา ถูกตัดสินให้ติดคุกในข้อหาเผยแพร่วิดีโอเกี่ยวกับการทำลายล้างที่เกิดจากพายุไซโคลนนาร์กิส ในด้านโครงสร้างพื้นฐานด้านการสื่อสาร พม่าเป็นประเทศอันดับสุดท้ายในเอเชียในดัชนีความพร้อมเครือข่ายของสภาเศรษฐกิจโลก[121] ซึ่งเป็นตัวบ่งชี้สำหรับกำหนดระดับการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของประเทศ จากรายงาน 139 ประเทศ พม่าอยู่ในอันดับที่ 133 โดยรวมในการจัดอันดับประจำปี 2559

อาชญากรรม

[แก้]

พม่ามีอัตราการฆาตกรรม 15.2 ต่อประชากร 100,000 คน รวม 8,044 คดีฆาตกรรมในปี 2555 ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการก่อคดีในระดับสูงของพม่า ได้แก่ ความรุนแรงในชุมชนและความขัดแย้งทางอาวุธ พม่าเป็นหนึ่งในประเทศที่มีการทุจริตมากที่สุดในโลก ดัชนีการรับรู้การทุจริตระหว่างประเทศเพื่อความโปร่งใสประจำปี 2555 จัดอันดับประเทศที่ 171 จากทั้งหมด 176 ประเทศ[122] พม่าเป็นผู้ผลิตฝิ่นรายใหญ่เป็นอันดับสองของโลกรองจากอัฟกานิสถาน โดยผลิตฝิ่นประมาณ 25% ของโลก และเป็นส่วนหนึ่งของสามเหลี่ยมทองคำ อุตสาหกรรมฝิ่นเป็นการผูกขาดในสมัยอาณานิคมและตั้งแต่นั้นมาก็ถูกดำเนินการอย่างผิดกฎหมายโดยเจ้าหน้าที่ทุจริตในกองทัพพม่าและนักสู้กบฏ โดยพื้นฐานแล้วจะเป็นการผลิตเฮโรอีน พม่ายังเป็นผู้ผลิตยาบ้ารายใหญ่ที่สุดของโลก โดยยาบ้าส่วนใหญ่ที่พบในไทยผลิตในพม่า โดยเฉพาะในสามเหลี่ยมทองคำและรัฐฉานตะวันออกเฉียงเหนือซึ่งมีพรมแดนติดกับไทย ลาว และจีน โดยทั่วไปแล้วยาบ้าที่ผลิตจากพม่าจะถูกค้ามาที่ประเทศไทยผ่านทางลาวก่อนที่จะถูกส่งไปยังไทยในภาคอีสาน[123]

วัฒนธรรม

[แก้]
ขบวนแห่พิธีชีนบยูที่มัณฑะเลย์

วัฒนธรรมของพม่าได้รับอิทธิพลทั้งจากมอญ จีน อินเดีย มาช้านาน ดังสะท้อนให้เห็นในด้านภาษา ดนตรี และอาหาร สำหรับศิลปะของพม่านั้นได้รับอิทธิพลจากวรรณคดีและพระพุทธศาสนานิกายเถรวาทมาตั้งแต่ครั้งโบราณ ในปัจจุบันนี้วัฒนธรรมพม่ายังได้รับอิทธิพลจากตะวันตกมากขึ้น ซึ่งเห็นได้ชัดจากเขตชนบทของประเทศ ด้านการแต่งกายของพม่าทั้งชายและหญิงนิยมนุ่งโสร่ง เรียกว่า โลนจี (longyi) ส่วนการแต่งกายแบบโบราณเรียกว่า ลูนตะยาอะเชะ (lun taya acheik)

อาหาร

[แก้]
อาหารพม่าแบบดั้งเดิมประกอบด้วยชามซุป ข้าว แกงเนื้อหลายชนิด และง่าปิยะ (น้ำจิ้มหรือน้ำจิ้ม) กับโทซายะ (ผักสำหรับจิ้ม)

อาหารพม่าโดดเด่นด้วยการใช้ผลิตภัณฑ์จากปลาอย่างแพร่หลาย เช่น น้ำปลา ง่าปิ (อาหารทะเลหมัก) และกุ้งแห้ง โหมะน์ฮี่นก้าเป็นอาหารเช้าแบบดั้งเดิมและเป็นอาหารประจำชาติของพม่า อาหารทะเลเป็นส่วนประกอบทั่วไปในเมืองชายฝั่ง ในขณะที่เนื้อสัตว์และสัตว์ปีกเป็นที่นิยมในเมืองที่ไม่มีทางออกสู่ทะเล เช่น มัณฑะเลย์ ปลาน้ำจืดและกุ้งเป็นแหล่งโปรตีนหลักในการปรุงอาหารภายในประเทศ และใช้ในหลากหลายวิธีทั้งแบบสดหรือทำเค็ม ตากแห้ง หมักให้เปรี้ยว หรือบด อาหารพม่ามีหลายรูปแบบเช่น ยำหรือสลัด (โทก) โดยส่วนผสมหลักคือ อาหารจำพวกแป้งจากข้าว ข้าวสาลีและเส้นจากข้าว วุ้นเส้นและเส้นหมี่ ไปจนถึงมันฝรั่ง ขิง มะเขือเทศ มะกรูด ถั่วฝักยาว และละแพะ (ใบชาหมัก)

กีฬา

[แก้]

ศิลปะการต่อสู้แบบและเหว่, Bando, Banshay และ Pongyi และชี่นโล่น เป็นกีฬาดั้งเดิมในพม่า[124] ฟุตบอลนิยมเล่นกันทั่วประเทศ แม้แต่ในหมู่บ้าน และฟุตบอลทีมชาติอยู่ภายใต้การควบคุมของสหพันธ์ฟุตบอลพม่า ซีเกมส์ 2013 จัดขึ้นที่เนปยีดอ ย่างกุ้ง มัณฑะเลย์ และหาดงเวซองในเดือนธันวาคม ซึ่งเป็นครั้งที่สามที่งานดังกล่าวจัดขึ้นที่พม่า ก่อนหน้านี้พม่าเป็นเจ้าภาพการแข่งขันในปี 2504 และ 2512[125]

สื่อ

[แก้]

สืบเนื่องจากสถานการณ์การเมืองที่ไม่แน่นอนในประเทศ ส่งผลให้มีบริษัทด้านสื่อเพียงเล็กน้อยในพม่าซึ่งเกือบทั้งหมดดำเนินการโดยเอกชน แต่ต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาลทหารอย่างเคร่งครัด รายการทั้งหมดต้องเป็นไปตามการอนุมัติของคณะกรรมการเซ็นเซอร์ รัฐบาลพม่าประกาศเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2555 ว่าจะหยุดเซ็นเซอร์สื่อก่อนเผยแพร่ ภายหลังการประกาศ หนังสือพิมพ์และร้านค้าอื่น ๆ ไม่จำเป็นต้องได้รับการอนุมัติจากเซ็นเซอร์ของรัฐอีกต่อไป อย่างไรก็ตาม นักข่าวในประเทศยังคงต้องเผชิญกับผลที่ตามมาสำหรับสิ่งที่พวกเขาเขียนและพูด ในเดือนเมษายน 2556 มีการเผยแพร่รายงานของสื่อต่างประเทศเพื่อถ่ายทอดการตรากฎหมายปฏิรูปการเปิดเสรีสื่อที่เราประกาศในเดือนสิงหาคม 2555 เป็นครั้งแรกในรอบหลายทศวรรษที่การตีพิมพ์หนังสือพิมพ์ของเอกชนในประเทศ[126]

ภาพยนตร์

[แก้]

ภาพยนตร์เรื่องแรกของพม่าเป็นสารคดีเกี่ยวกับงานศพของตุน เชอิน นักการเมืองชั้นนำในทศวรรษ 1910 ผู้รณรงค์เพื่อเอกราชของพม่าในลอนดอน ภาพยนตร์เงียบเรื่องแรกคือเรื่อง Myitta Ne Thuya (Love and Liquor) ในปี 2463 เป็นจุดเริ่มต้นสู่ความสำเร็จครั้งสำคัญ แม้ว่าจะมีคุณภาพต่ำเนื่องจากตำแหน่งกล้องและอุปกรณ์ฟิล์มที่ไม่เพียงพอในสมัยนั้น ในช่วงปี 2463 ถึง 2473 บริษัทภาพยนตร์พม่าจำนวนมากผลิตภาพยนตร์หลายเรื่อง ภาพยนตร์ที่มีบทพูดเรื่องแรกของประเทศผลิตขึ้นในปี 2475 ในเมืองบอมเบย์ ประเทศอินเดีย โดยใช้ชื่อว่า Ngwe Pay Lo Ma Ya (Money Can't Buy It) หลังสงครามโลกครั้งที่สอง ภาพยนตร์พม่าเน้นเนื้อหาประเด็นทางการเมือง ภาพยนตร์หลายเรื่องที่ผลิตในช่วงต้นยุคสงครามเย็นมีการโฆษณาชวนเชื่อ ในยุคที่ตามหลังเหตุการณ์ทางการเมืองในปี 2531 อุตสาหกรรมภาพยนตร์ถูกควบคุมโดยรัฐบาลมากขึ้น ดาราภาพยนตร์ที่มีส่วนร่วมในกิจกรรมทางการเมืองถูกห้ามไม่ให้ปรากฏในภาพยนตร์ รัฐบาลออกกฎเกณฑ์ที่เข้มงวดเกี่ยวกับการเซ็นเซอร์และกำหนดว่าใครมีสิทธิ์สร้างภาพยนตร์และได้รับรางวัล[127]

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมภาพยนตร์ได้เปลี่ยนไปสู่การผลิตภาพยนตร์โดยตรงไปยังวิดีโอที่มีงบประมาณต่ำจำนวนมาก ภาพยนตร์ที่ผลิตในปัจจุบันส่วนใหญ่เป็นแนวคอเมดี้ ในปี 2551 มีการสร้างภาพยนตร์เพียง 12 เรื่องที่ได้รับการยอมรับว่าควรค่าแก่การเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ แม้ว่าจะมีการผลิตวีซีดีอย่างน้อย 800 แผ่นก็ตาม ในปี 2552 ภาพยนตร์สารคดีเกี่ยวกับนักข่าววิดีโอชาวพม่าชื่อ Burma VJ ได้รับการเผยแพร่ ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์สาขาภาพยนตร์สารคดียอดเยี่ยมประจำปี 2553[128] ภาพยนตร์ชื่อดัง อองซานซูจี ผู้หญิงท้าอำนาจ (The Lady) ออกฉายรอบปฐมทัศน์เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2554 ในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติโทรอนโต ครั้งที่ 36[129]

อ้างอิง

[แก้]
  1. "Overview of Myanmar's diversity" (PDF). เก็บ (PDF)จากแหล่งเดิมเมื่อ 21 May 2024. สืบค้นเมื่อ 25 May 2024.
  2. "ISP Myanmar talk shows". 15 December 2020. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 10 May 2024. สืบค้นเมื่อ 25 May 2024.
  3. "PonYate ethnic population dashboard". เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 21 May 2024. สืบค้นเมื่อ 25 May 2024.
  4. "The 2014 Myanmar Population and Housing Census- The Union Report: Religion" (PDF). myanmar.unfpa.org. Department of Population Ministry of Labour, Immigration and Population MYANMAR. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 29 March 2018. สืบค้นเมื่อ 3 February 2019.
  5. "ACT Health Community Profile, pg. 1" (PDF). Multicultural Health Policy Unit. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 11 April 2015. สืบค้นเมื่อ 5 August 2018.
  6. "The 2014 Myanmar Populations and Housing Census" (PDF). เก็บ (PDF)จากแหล่งเดิมเมื่อ 24 September 2020. สืบค้นเมื่อ 29 May 2024.
  7. "Report for Selected Countries and Subjects".
  8. https://www.imf.org/external/datamapper/profile/MMR. {{cite web}}: |title= ไม่มีหรือว่างเปล่า (help)
  9. https://www.imf.org/external/datamapper/profile/MMR. {{cite web}}: |title= ไม่มีหรือว่างเปล่า (help)
  10. https://www.imf.org/external/datamapper/profile/MMR. {{cite web}}: |title= ไม่มีหรือว่างเปล่า (help)
  11. "GINI index (World Bank estimate)". data.worldbank.org. World Bank. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 6 March 2019. สืบค้นเมื่อ 13 July 2021.
  12. "Human Development Report 2023/24" (PDF) (ภาษาอังกฤษ). United Nations Development Programme. 13 March 2024. p. 289. เก็บ (PDF)จากแหล่งเดิมเมื่อ 13 March 2024. สืบค้นเมื่อ 13 March 2024.
  13. "ประกาศราชบัณฑิตยสถาน เรื่อง กำหนดชื่อประเทศ ดินแดน เขตการปกครอง และเมืองหลวง" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 118 (พิเศษ 117 ง): 2. 26 พฤศจิกายน 2544. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2009-11-28. สืบค้นเมื่อ 2021-02-01.
  14. ราชบัณฑิตยสถาน. พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๕๔ เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๗ รอบ ๕ ธันวาคม ๒๕๕๔. กรุงเทพฯ : ราชบัณฑิตยสถาน, 2556, หน้า 804. "พม่า ๑ [พะม่า] น. ชื่อประเทศและชนชาติหนึ่งอยู่ทางทิศตะวันตกและตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศไทย."
  15. "ข่าวประชาสัมพันธ์ สำนักงานราชบัณฑิตยสภาชี้แจงคำ "โรฮีนจา" และ "เมียนมา"" (PDF). สำนักงานราชบัณฑิตยสภา. สืบค้นเมื่อ 1 กุมภาพันธ์ 2564. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  16. https://www.worldometers.info/world-population/myanmar-population/
  17. "The World Factbook – Burma". cia.gov. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-01-17. สืบค้นเมื่อ 4 May 2016.
  18. Lieberman, p. 152
  19. "Myanmar: Timeline of a fragile democracy". www.aljazeera.com (ภาษาอังกฤษ).
  20. "Burma". Human Rights Watch. สืบค้นเมื่อ 6 July 2013.
  21. "Myanmar Human Rights". Amnesty International USA. สืบค้นเมื่อ 6 July 2013.
  22. "World Report 2012: Burma". Human Rights Watch. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-06-30. สืบค้นเมื่อ 6 July 2013.
  23. Madhani, Aamer (16 November 2012). "Obama administration eases Burma sanctions before visit". USA Today.
  24. Fuller, Thomas; Geitner, Paul (23 April 2012). "European Union Suspends Most Myanmar Sanctions". The New York Times.
  25. Greenwood, Faine (27 May 2013). "The 8 Stages of Genocide Against Burma's Rohingya | UN DispatchUN Dispatch". Undispatch.com. สืบค้นเมื่อ 13 April 2014.
  26. "EU welcomes "measured" Myanmar response to rioting". Retuer. 11 June 2012. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-08-06. สืบค้นเมื่อ 2016-03-29.
  27. "Q&A: Communal violence in Burma". BBC. สืบค้นเมื่อ 14 October 2013.
  28. "Myanmar coup: What is happening and why?". BBC News (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). 2021-04-01. สืบค้นเมื่อ 2021-11-24.
  29. "Myanmar coup: Aung San Suu Kyi detained as military seizes control". BBC News (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). 2021-01-31. สืบค้นเมื่อ 2023-09-17.
  30. Ratcliffe, Rebecca; correspondent, Rebecca Ratcliffe South-east Asia (2021-12-06). "Myanmar's junta condemned over guilty verdicts in Aung San Suu Kyi trial". The Guardian (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). ISSN 0261-3077. สืบค้นเมื่อ 2023-09-17.
  31. Wee, Sui-Lee (2021-12-05). "Fatalities Reported After Military Truck Rams Protesters in Myanmar". The New York Times (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). ISSN 0362-4331. สืบค้นเมื่อ 2023-09-17.
  32. Vakulchuk, Roman; Kyaw Kyaw Hlaing; Edward Ziwa Naing; Indra Overland; Beni Suryadi and Sanjayan Velautham (2017). Myanmar's Attractiveness for Investment in the Energy Sector. A Comparative International Perspective. Norwegian Institute of International Affairs (NUPI) and Myanmar Institute of Strategic and International Studies (MISIS) Report. p. 8.
  33. อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ <ref> ไม่ถูกต้อง ไม่มีการกำหนดข้อความสำหรับอ้างอิงชื่อ imf2
  34. https://www.unescap.org/sites/default/d8files/2018.11.21%20Myanmar%20Country%20Brief.pdf
  35. https://wid.world/country/myanmar/
  36. Eleven Media (4 September 2013). "Income Gap 'world's widest'". The Nation. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-09-15. สืบค้นเมื่อ 15 September 2014.
  37. McCornac, Dennis (22 October 2013). "Income inequality in Burma". Democratic Voice of Burma. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-09-15. สืบค้นเมื่อ 15 September 2014.
  38. Human Development Report 2020 The Next Frontier: Human Development and the Anthropocene (PDF). United Nations Development Programme. 15 December 2020. pp. 343–346. ISBN 978-92-1-126442-5. Retrieved 16 December 2020
  39. "Issue Brief: Dire Consequences: Addressing the Humanitarian Fallout from Myanmar's Coup - Myanmar | ReliefWeb". reliefweb.int (ภาษาอังกฤษ). 2021-10-21.
  40. https://www.bbc.com/news/magazine-16000467
  41. https://www.usip.org/blog/2018/06/whats-name-burma-or-myanmar
  42. http://news.bbc.co.uk/2/hi/7013943.stm
  43. Hall, DGE (1960). "Pre-Pagan Burma". Burma (3 ed.). p. 13.
  44. Houtman, Gustaaf (1999). Mental Culture in Burmese Crisis Politics: Aung San Suu Kyi and the National League for Democracy. ILCAA. p. 352. ISBN 9784872977486.
  45. Steinberg, David I. (2002). Burma: The State of Myanmar. Georgetown University Press. p. xi. ISBN 978-1-58901-285-1.
  46. South China Morning Post, "What's in a name? Not much, according to Aung San Suu Kyi, who tells diplomats they can use Myanmar or Burma", Saturday, 23 April 2016
  47. https://www.cia.gov/the-world-factbook/countries/burma/
  48. https://web.archive.org/web/20181120040924/http://international.gc.ca/world-monde/myanmar/relations.aspx?lang=eng
  49. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-04-29. สืบค้นเมื่อ 2021-11-22.
  50. https://www.collinsdictionary.com/dictionary/english/myanmar
  51. https://www.theguardian.com/world/2007/sep/28/burma.uk
  52. 52.0 52.1 Ferrara (2003), pp. 313
  53. Aung-Thwin, Maureen. (1989). Burmese Days เก็บถาวร 2006-02-23 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. Foreign Affairs.
  54. Fogarty, Phillipa (7 August 2008). Was Burma's 1988 uprising worth it?. BBC News.
  55. Wintle (2007)
  56. Ottawa Citizen. 24 September 1988. pg. A.16
  57. Associated Press. Chicago Tribune. 26 September 1988.
  58. http://www.manager.co.th/IndoChina/ViewNews.aspx?NewsID=9500000100787[ลิงก์เสีย] พม่าอ้างขึ้นราคาน้ำมันเพื่อแบ่งเบาภาระประเทศ
  59. "Military junta threatens monks in Burma". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-10-10. สืบค้นเมื่อ 2015-11-13.
  60. "100,000 Protestors Flood Streets of Rangoon in "Saffron Revolution"".
  61. http://www.voanews.com/thai/2007-09-20-voa2.cfm พระสงฆ์หลายร้อยรูปในพม่า เดินขบวนประท้วงรัฐบาลทหารเป็นครั้งที่ 2
  62. Steinberg, David I. (2010). Burma/Myanmar : what everyone needs to know. Oxford: Oxford University Press. pp. 142–147. ISBN 978-0-19-539067-4. OCLC 318409825.
  63. MacFarquhar, Neil (2010-10-22). "U.N. Doubts Fairness of Election in Myanmar". The New York Times (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). ISSN 0362-4331. สืบค้นเมื่อ 2021-11-24.
  64. "Myanmar profile - Timeline". BBC News (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). 2018-09-03. สืบค้นเมื่อ 2021-11-24.
  65. "Hillary Clinton to visit Myanmar/Burma: First trip by Secretary of State in more than 50 years". web.archive.org. 2013-06-17. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-06-17. สืบค้นเมื่อ 2021-11-24.{{cite web}}: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์)
  66. https://www.theguardian.com/world/2012/apr/02/aung-san-suu-kyi-new-era-burma?newsfeed=true
  67. "Myanmar election: Suu Kyi's NLD wins landslide victory". BBC News (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). 2015-11-13. สืบค้นเมื่อ 2021-11-24.
  68. Moe, Wai; Ramzy, Austin (2016-03-15). "Myanmar Lawmakers Name Htin Kyaw President, Affirming Civilian Rule". The New York Times (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). ISSN 0362-4331. สืบค้นเมื่อ 2021-11-24.
  69. "Myanmar: Aung San Suu Kyi's party wins majority in election". BBC News (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). 2020-11-13. สืบค้นเมื่อ 2021-11-24.
  70. https://www.nytimes.com/2020/11/11/world/asia/myanmar-election-aung-san-suu-kyi-results.html
  71. https://apnews.com/article/aung-san-suu-kyi-elections-myanmar-cc1b225b806c27dda748d3ab51d0e47f
  72. https://www.reuters.com/article/us-myanmar-politics-explainer/explainer-crisis-in-myanmar-after-army-alleges-election-fraud-idUSKBN2A113H
  73. "Explainer: Crisis in Myanmar after army alleges election fraud". Reuters (ภาษาอังกฤษ). 2021-02-01. สืบค้นเมื่อ 2021-11-24.
  74. "Myanmar Military Refuses to Rule Out Coup as It Presses Claim of Fraud in Nov Election," 26 January 2021, The Irrawaddy, retrieved 7 February 2021
  75. Limited, Bangkok Post Public Company. "UN, embassies fret over Myanmar coup talk". Bangkok Post. สืบค้นเมื่อ 2021-11-24.
  76. "Myanmar coup, from Feb.1 to Feb. 21: EU action in focus as foreign ministers set to meet". Nikkei Asia (ภาษาอังกฤษแบบบริติช).
  77. "Myanmar coup, from Feb.1 to Feb. 21: EU action in focus as foreign ministers set to meet". Nikkei Asia (ภาษาอังกฤษแบบบริติช).
  78. https://edition.cnn.com/2021/03/15/asia/myanmar-deaths-chinese-factories-intl-hnk/index.html
  79. https://www.irrawaddy.com/news/burma/tens-thousands-take-streets-myanmar-protest-military-regime.html
  80. "Myanmar coup: Teachers join growing protests against military". BBC News (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). 2021-02-05. สืบค้นเมื่อ 2021-11-24.
  81. https://www.irrawaddy.com/opinion/analysis/myanmar-military-rolls-red-carpet-russian-defense-minister.html
  82. [1], Geography of Myanmar.
  83. 83.00 83.01 83.02 83.03 83.04 83.05 83.06 83.07 83.08 83.09 83.10 83.11 83.12 83.13 83.14 The Union Report: Census Report Volume 2. The 2014 Myanmar Population and Housing Census. Nay Pyi Taw: Ministry of Immigration and Population. 2015. p. 12.
  84. Thein, Myat (2005). Economic Development of Myanmar. Singapore: Inst. of Southeast Asian Studies. ISBN 978-9812302113.
  85. Grantham, H. S.; Duncan, A.; Evans, T. D.; Jones, K. R.; Beyer, H. L.; Schuster, R.; Walston, J.; Ray, J. C.; Robinson, J. G.; Callow, M.; Clements, T. (2020-12-08). "Anthropogenic modification of forests means only 40% of remaining forests have high ecosystem integrity". Nature Communications. 11: 5978. doi:10.1038/s41467-020-19493-3. ISSN 2041-1723. PMC 7723057. PMID 33293507.
  86. "Myanmar Culture". archive.ph. 2006-09-23. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2006-09-23. สืบค้นเมื่อ 2022-04-15.{{cite web}}: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์)
  87. Phillips, Kimberley (20 February 2021). "The last thing the Myanmar people need is false hope". The Canberra Times. Retrieved 23 February 2021.
  88. "Burma Freedom and Democracy Act of 2003". United States Library of Congress. 4 June 2003. Archived from the original on 25 January 2004. Retrieved 4 February 2007.
  89. https://web.archive.org/web/20110812181932/http://news.bbc.co.uk/1/hi/world/asia-pacific/8195956.stm
  90. Myers, Steven Lee; Mydans, Seth (13 January 2012). "U.S. to Renew Myanmar Ties in Light of Reforms". The New York Times. Retrieved 15 May 2013.
  91. https://web.archive.org/web/20110501183947/http://nl.newsbank.com/nl-search/we/Archives?p_product=NewsLibrary&p_multi=BBAB&d_place=BBAB&p_theme=newslibrary2&p_action=search&p_maxdocs=200&p_topdoc=1&p_text_direct-0=11045BA04AFDFED0&p_field_direct-0=document_id&p_perpage=10&p_sort=YMD_date:D&s_trackval=GooglePM
  92. ^ "Obama Vows US Support As Myanmar Leader Visits". NPR. Associated Press. 20 May 2013. Archived from the original on 21 May 2013.
  93. https://www.washingtonpost.com/wp-dyn/content/article/2007/09/27/AR2007092702382_pf.html
  94. "24th ASEAN Summit, Nay Pyi Taw, Myanmar, 10-11 May 2014 - ASEAN | ONE VISION ONE IDENTITY ONE COMMUNITY". web.archive.org. 2016-04-16. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-04-16. สืบค้นเมื่อ 2021-11-21.{{cite web}}: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์)
  95. "For Rohingya in Bangladesh, No Place is Home - TIME". web.archive.org. 2010-02-20. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-11-13. สืบค้นเมื่อ 2021-11-21.
  96. "BBC NEWS | World | Asia-Pacific | Russia and Burma in nuclear deal". web.archive.org. 2007-08-19. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-08-19. สืบค้นเมื่อ 2021-11-21.{{cite web}}: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์)
  97. https://web.archive.org/web/20101213234857/http://wikileaks.ch/cable/2004/08/04RANGOON1100.html
  98. "Wayback Machine" (PDF). web.archive.org. 2010-06-07. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-06-07. สืบค้นเมื่อ 2021-11-21.{{cite web}}: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์)
  99. https://web.archive.org/web/20100607153959/http://students.law.umich.edu/mjil/article-pdfs/v29n2-howse-genser.pdf
  100. "UN General Assembly Resolution : time for concrete action". International Federation for Human Rights (ภาษาอังกฤษ).
  101. Refugees, United Nations High Commissioner for. "Refworld | Myanmar: Final push on political prisoners needed". Refworld (ภาษาอังกฤษ).
  102. Taylor, Jerome (19 June 2012). "Two Burmese children a week conscripted into military". The Independent. London. Archived from the original on 26 October 2014. Retrieved 15 May 2013.
  103. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-02-17. สืบค้นเมื่อ 2021-11-23.
  104. https://www.thehindu.com/news/international/rohingyas-are-not-citizens-myanmar-minister/article3703383.ece
  105. Bassam, T (2007). Political Islam, World Politics and Europe: Democratic Peace and EuroIslam versus Global Jihad. New York: Routledge.
  106. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-04-07. สืบค้นเมื่อ 2018-08-08.
  107. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-04-07. สืบค้นเมื่อ 2018-08-08.
  108. "FAOSTAT". web.archive.org. 2011-07-13. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-07-13. สืบค้นเมื่อ 2021-11-21.{{cite web}}: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์)
  109. "Gems and the Environment: Mining in Burma, Myanmar, Madagascar, Cambodia, Thailand". web.archive.org. 2010-05-26. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-02-14. สืบค้นเมื่อ 2021-11-21.{{cite web}}: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์)
  110. https://www.hrw.org/news/2007/11/12/burma-gem-trade-bolsters-military-regime-fuels-atrocities
  111. Myanmar, Burma. "Destinations in Myanmar". Myanmar Travel (ภาษาอังกฤษแบบบริติช).
  112. Spoorenberg, Thomas (2015). "Provisional results of the 2014 census of Myanmar: The surprise that wasn't". Asian Population Studies. 11 (1): 4–6. doi:10.1080/17441730.2014.972084. S2CID 154114929.
  113. https://web.archive.org/web/20060626102346/http://web.amnesty.org/library/index/ENGASA390012005
  114. Spoorenberg, Thomas (2013). "Demographic changes in Myanmar since 1983: An examination of official data". Population and Development Review. 39 (2): 309–324. doi:10.1111/j.1728-4457.2013.00593.x.
  115. Pew Research Center's Religion & Public Life Project: Burma. Pew Research Center. 2010.
  116. [2] Religion in Myanmar
  117. https://web.archive.org/web/20070515121040/http://www.tbbc.org/resources.html
  118. ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์กรมหาชน). นิทรรศการถาวร กลุ่มชาติพันธุ์ และโบราณคดี (ชั้น 5)
  119. "Wayback Machine" (PDF). web.archive.org. 2009-02-25. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-02-25. สืบค้นเมื่อ 2021-11-24.{{cite web}}: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์)
  120. "Wayback Machine". web.archive.org. 2007-06-25. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-06-25. สืบค้นเมื่อ 2021-11-21.{{cite web}}: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์)
  121. https://reports.weforum.org/global-information-technology-report-2016/networked-readiness-index/?doing_wp_cron=1577930341.6168849468231201171875
  122. Foundation, Thomson Reuters. "cb1f21c7-7d98-4ea3-903f-c5de10e41700". ww.news.trust.org.[ลิงก์เสีย]
  123. "Asia Times Online :: Southeast Asia news and business from Indonesia, Philippines, Thailand, Malaysia and Vietnam". web.archive.org. 2010-07-15. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-07-15. สืบค้นเมื่อ 2021-11-21.
  124. Hays, Jeffrey. "SPORTS IN MYANMAR: SOCCER, OLYMPICS AND TRADITIONAL SPORTS". Facts and Details. สืบค้นเมื่อ 5 June 2017.
  125. https://factsanddetails.com/southeast-asia/Myanmar/sub5_5e/entry-3098.html
  126. "Myanmar shows new signs of press freedom". www.aljazeera.com (ภาษาอังกฤษ).
  127. "Vol 12. No. 3, March 2004 - Cover Story". web.archive.org. 2005-02-13. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2005-02-13. สืบค้นเมื่อ 2021-11-22.{{cite web}}: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์)
  128. "Burma VJ Nominated for the 2010 Academy Award for Best Documentary Feature « Rev. Danny Fisher". web.archive.org. 2011-04-29. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-04-29. สืบค้นเมื่อ 2021-11-24.{{cite web}}: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์)
  129. Knegt, Peter; Knegt, Peter (2011-09-12). "TIFF List 2011: A Complete Guide To The Toronto International Film Festival". IndieWire (ภาษาอังกฤษ).

บรรณานุกรม

[แก้]
  • Lieberman, Victor B. (2003). Strange Parallels: Southeast Asia in Global Context, c. 800–1830, volume 1, Integration on the Mainland. Cambridge University Press. ISBN 978-0-521-80496-7.
  • Myint-U, Thant (2006). The River of Lost Footsteps—Histories of Burma. Farrar, Straus and Giroux. ISBN 978-0-374-16342-6.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]

รัฐบาล

ข้อมูลทั่วไป

เศรษฐกิจ

การเกษตร

การค้า

สิ่งแวดล้อม