พรรคโครงการสังคมนิยมพม่า

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ธงของพรรค

พรรคโครงการสังคมนิยมพม่า (ภาษาอังกฤษ:Burma Socialist Programme Party; ภาษาพม่า: မြန်မာ့ဆိုရှယ်လစ်လမ်းစဉ်ပါတီ; ออกเสียง:mjəma̰ sʰòʃɛ̀lɪʔ láɴzɪ̀ɴ pàtì) ก่อตั้งขึ้นหลังจากสภาปฏิวัติของพม่านำโดยนายพลเนวิน ได้ยึดอำนาจในพม่า ในวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2505 พร้อมทั้งแจกเอกสารชื่อว่าวิถีพม่าสู่สังคมนิยม ต่อมา ในวันที่ 4 กรกฎาคม สภาปฏิวัติได้ประกาศตั้งพรรคโครงการสังคมนิยมพม่าเพื่อนำประเทศเข้าสู่ลัทธิสังคมนิยม ส่วนพรรคอื่นถือว่าผิดกฎหมาย สมาชิกพรรคในช่วงแรกคือสมาชิกสภาปฏิวัติ โครงสร้างคล้ายพรรคคอมมิวนิสต์ แต่ไม่ได้มีอุดมการณ์แบบคอมมิวนิสต์ โดยแนวคิดหลักของพรรคเป็นการผสมผสานระหว่างแนวคิดคอมมิวนิสต์และพุทธศาสนา ในวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2507 สภาปฏิวัติได้ประกาศให้พรรคการเมืองทุกพรรคยกเว้นพรรคโครงการสังคมนิยมพม่าสลายตัวไป

ใน พ.ศ. 2514 พรรคนี้พรรคนี้ได้เปิดกว้าง เปลี่ยนเป็นพรรคของมวลชน การเป็นสมาชิกพรรคจะรับประกันความก้าวหน้าในสังคมได้ สมาชิกพรรคส่วนใหญ่เป็นทหารและตำรวจ มีการจัดตั้งองค์กรยุวชนโดยเชิญชวนนักเรียนเข้ามาเป็นสมาชิก ลักษณะคล้ายเรดการ์ดในประเทศจีน หลังจากการประกาศรัฐธรรมนูญใหม่ใน พ.ศ. 2517 ให้จัดตั้งสาธารณรัฐสังคมนิยมแห่งสหภาพพม่า แต่ไม่ส่งผลใดๆต่อโครงสร้างอำนาจของรัฐภายใต้การปกครองของเนวิน เนวินลาออกจากตำแหน่งประมุขรัฐเมื่อ พ.ศ. 2524 แต่ยังเป็นหัวหน้าพรรคต่อไป อย่างไรก็ตามความล้มเหลวทางเศรษฐกิจทำให้เกิดการต่อต้านรัฐบาลตั้งแต่ พ.ศ. 2530 หลังจากรัฐบาลประกาศยกเลิกธนบัตรโดยไม่มีการวางแผนล่วงหน้า การปะทะกับนักศึกษาที่ประท้วงในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2531 ทำให้เกิดการประท้วงต่อเนื่องจนเกิดการปะทะครั้งใหญ่ในเดือนสิงหาคมปีเดียวกัน ทำให้เนวินลาออกจากหัวหน้าพรรค ในวันที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2531 นายพลซอหม่องได้ประกาศจัดตั้งสภาฟื้นฟูระเบียบและกฎหมายแห่งรัฐ

พรรคได้เปลี่ยนชื่อเป็นพรรคเอกภาพแห่งชาติเมื่อ 26 กันยายน พ.ศ. 2531 หัวหน้าพรรคคือ อู ทาจอร์ และเข้าร่วมในการเลือกตั้ง พ.ศ. 2533 แต่พ่ายแพ้ให้กับสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยของอองซานซูจี ผู้นำทหารปฏิเสธผลการเลือกตั้งและปกครองประเทศด้วยสภาฟื้นฟูระเบียบและกฎหมายแห่งรัฐโดยไม่ได้ใช้ประโยชน์จากพรรคโครงการสังคมนิยมพม่าอีก

อ้างอิง[แก้]

  • ไมเคิล ลีเฟอร์. พจนานุกรมการเมืองสมัยใหม่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กทม. สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. 2548.หน้า 386 - 388

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]