ข้ามไปเนื้อหา

อาหารพม่า

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ละแพะ อาหารยอดนิยมในพม่า

อาหารพม่า (พม่า: မြန်မာ့ အစားအစာ) เป็นอาหารของทั้งชาวพม่าและชนกลุ่มน้อยในประเทศพม่า มีส่วนประกอบเป็นปลาหลายชนิด เช่น น้ำปลาและงะปิหรือกะปิ อาหารพม่าบางส่วนได้รับอิทธิพลจากอาหารจีน อาหารอินเดีย และอาหารไทย โหมะน์ฮี่นก้าเป็นอาหารประจำชาติของพม่า อาหารทะเลเป็นที่นิยมตามแนวชายฝั่งเช่น ซิตเว เจาะพยู เมาะลำเลิง มะริด และทวาย ส่วนเนื้อสัตว์และสัตว์ปีกเป็นอาหารสำคัญทางตอนบนของประเทศ เช่น มัณฑะเลย์ ปลาและกุ้งน้ำจืดเป็นที่นิยมทั้งในรูปกินสดหรือทำเค็ม ตากแห้ง หมักให้เปรี้ยว หรือบดเป็นกะปิ

อาหารพม่ามีหลายรูปแบบเช่น ยำหรือสลัด อาหารจำพวกแป้งจากข้าว และเส้นหมี่จากข้าว ขนมจีน เครื่องปรุงนอกจากนั้นมีมันฝรั่ง ขิง มะเขือเทศ ใบมะกรูด ถั่วฝักยาว ใบเมี่ยงหรือละแพะ และงะปิ ยำมักกินเป็นอาหารจานด่วนในพม่า

วัฒนธรรมการกิน

[แก้]
"ตู" (တူ) ตะเกียบแบบพม่าเพื่อกินอาหาร
อาหารพม่าแบบพื้นเมือง
ร้านอาหารกลางแจ้งในย่างกุ้ง

ชาวพม่านิยมกินอาหารแบบล้อมวง โดยใช้โต๊ะขนาดเล็กหรือบนเสื่อไม้ไผ่ อาหารหนึ่งมื้อประกอบด้วยข้าว แกงปลาน้ำจืด ปลาเค็มหรือปลาแห้ง แกงเนื้อหรือสัตว์ปีก ซุปใสหรือซุปเปรี้ยว จะตักอาหารให้ผู้สูงอายุในวงก่อน ปกติกินด้วยตะเกียบโดยได้รับอิทธิพลจากประเทศจีน ซึ่งชาวพม่านิยมใช้ตะเกียบมาก ตะเกียบที่ชาวพม่าใช้จะเรียกว่า ตู (တူ) ใช้สำหรับกินอาหารปกติและอาหารประเภทเส้น หรือไม่ก็จะใช้ช้อน ส้อมเพื่อความสะดวกรวดเร็ว และกินด้วยมือสำหรับผลไม้และผัก ส่วนเครื่องดื่มที่นิยมเป็นชาทั้งแบบร้อนและเย็น

อาหารชีนส่วนใหญ่เป็นข้าว ข้าวโพด ข้าวฟ่าง นิยมปรุงด้วยการต้มมากกว่าการทอด

ทฤษฎีอาหาร

[แก้]

ในตำรายาแบบดั้งเดิมของพม่า แบ่งอาหารออกเป็น 2 แบบคือแบบร้อนและแบบเย็น คล้ายกับการจัดจำแนกอาหารแบบจีน ตัวอย่างอาหารร้อนเช่น ไก่ มะระ ทุเรียน มะม่วง ช็อกโกแลต ไอศกรีม ตัวอย่างอาหารเย็น เช่น หมู มะเขือ นม แตงกวา ผักกาดหัว[1]

อิทธิพล

[แก้]
อาหารแบบพื้นเมืองของพม่ามีซุป ข้าว แกงเนื้อสัตว์หลายชนิดและงะปิยี (น้ำพริก) กับผักสำหรับจิ้ม

ความหลากหลายทางศาสนามีผลต่ออาหารเช่นชาวพุทธไม่กินเนื้อวัว ชาวมุสลิมไม่กินเนื้อหมู อาหารเจเป็นที่นิยมในหมู่ชาวพุทธ ประเทศที่มีชายแดนติดต่อกับพม่า เช่น ไทย จีน อินเดีย มีอิทธิพลต่ออาหารพม่า[2] อิทธิพลของอาหารอินเดียต่ออาหารพม่าเห็นได้จากซาโมซา บิรยานี และแกงแบบอินเดียที่ใส่เครื่องเทศและขนมปังเช่นนานและปาราทา อิทธิพลของอาหารจีนเห็นได้จากการใช้เต้าหู้และซอสถั่วเหลือง เส้นหมี่หลายชนิด เทคนิคการผัด ส่วนอิทธิพลจากไทยและลาวได้แก่แมลงทอดที่กินเป็นอาหารว่าง

การเตรียม

[แก้]

การใช้และสัดส่วนของเครื่องปรุงมีความหลากหลาย[3] ตำราอาหารที่เก่าที่สุดในสมัยก่อนอาณานิคมเรียก ซาดอแซะจาน (စားတော်ဆက်ကျမ်း, ตรงตัว "ตำราอาหารในวัง") เขียนบนใบลานเมื่อ พ.ศ. 2409 ในสมัยราชวงศ์อลองพญา[3] วิธีการปรุงอาหารมีทั้งอบ ต้ม ทอด ผัด ย่างหรือนำหลายวิธีมารวมกัน แกงแบบพม่าใส่เครื่องเทศได้หลายอย่าง และใช้กระเทียมและขิงมาก ระดับการใช้เครื่องเทศและสมุนไพรขึ้นกับพื้นที่ด้วย เช่น อาหารกะชีนและอาหารไทใหญ่ใช้สมุนไพรและเครื่องเทศมากกว่าพื้นที่อื่น[4]

ส่วนผสม

[แก้]

ส่วนผสมที่ใช้ในอาหารพม่าเป็นเครื่องปรุงสด ใช้ผลไม้และผักในอาหารหลายชนิด ผักที่นิยมมากที่สุดคือลูกเนียงที่ปรุงโดยการต้มหรือเผา

อ้างอิง

[แก้]
  1. Saw Myat Yin (2011). Culture Shock! Myanmar: A Survival Guide to Customs and Etiquette. Marshall Cavendish Corporation. ISBN 9780761458722.
  2. Meyer, Arthur L.; Jon M. Vann (2003). The Appetizer Atlas: A World of Small Bites. John Wiley and Sons. p. 276. ISBN 978-0-471-41102-4.
  3. 3.0 3.1 Khin Maung Saw. "Burmese Cuisine: Its Unique Style and Changes after British Annexation". สืบค้นเมื่อ 4 October 2012.
  4. Naomi Duguid (2012). Burma: Rivers of Flavor. Artisan. p. 12. ISBN 978-1-5796-5413-9. {{cite book}}: |access-date= ต้องการ |url= (help)