พระเจ้าอลองพญา
พระเจ้าอลองพญา | |
---|---|
พระมหากษัตริย์พม่า | |
ครองราชย์ | 29 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1752 – 11 พฤษภาคม ค.ศ. 1760 |
ราชาภิเษก | 17 เมษายน ค.ศ. 1752 |
ก่อนหน้า | พระเจ้ามหาธรรมราชาธิบดี |
ถัดไป | พระเจ้ามังลอก |
พระราชสมภพ | 24 สิงหาคม [ตามปฎิทินเก่า: 13 สิงหาคม] ค.ศ. 1714 มุกโชโบ อองเซยะ |
สวรรคต | 11 พฤษภาคม ค.ศ. 1760 เมาะตะมะ |
ฝังพระศพ | พฤษภาคม ค.ศ. 1760 ชเวโบ |
มเหสี | พระนางยุนซาน |
พระราชบุตร | พระเจ้ามังลอก พระเจ้ามังระ พระเจ้าปดุง |
ราชวงศ์ | ราชวงศ์โกนบอง |
ศาสนา | พุทธเถรวาท |
พระเจ้าอลองพญา หรือ พระเจ้าอลองพญารี (พม่า: အလောင်းမင်းတရား อะล่องมี่นตะย่า หรือ အလောင်းဘုရား อะล่องพะย่า; มีความหมายว่า "หน่อพระพุทธเจ้า"; สิงหาคม ค.ศ. 1714 – 11 พฤษภาคม ค.ศ. 1760) เป็นพระมหากษัตริย์พม่าระหว่างวันที่ 21 มีนาคม ค.ศ. 1752 ถึง 11 พฤษภาคม ค.ศ. 1760 รวมได้ 8 ปี 51 วัน เป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์โก้นบองซึ่งเป็นราชวงศ์สุดท้ายของพม่า พระองค์กำเนิดเป็นสามัญชน โดยเป็นผู้นำหมู่บ้านแถบพม่าตอนบน สามารถรวบรวมบ้านเมืองให้เป็นปึกแผ่นปราบปรามมณีปุระ กอบกู้ล้านนาคืนจากอยุธยา และขับชาวอังกฤษและฝรั่งเศสซึ่งให้การสนับสนุนราชอาณาจักรหงสาวดีฟื้นฟูของชาวมอญ พระองค์ก่อตั้งเมืองย่างกุ้งในปี ค.ศ. 1755 สวรรคตจากพระอาการประชวรระหว่างการบุกอาณาจักรอยุธยา
ทางพม่าถือว่าพระองค์เป็นกษัตริย์พม่าที่ยิ่งใหญ่ที่สุด 1 ใน 3 พระองค์ (อีกสองพระองค์ ได้แก่ พระเจ้าอโนรธามังช่อ ปฐมกษัตริย์ราชวงศ์พุกาม และพระเจ้าบุเรงนอง ราชวงศ์ตองอู) เนื่องจากทรงรวบรวมประเทศได้อีกเป็นครั้งที่สาม
พระราชประวัติ
[แก้]พระเจ้าอลองพญากำเนิดเป็นสามัญชนธรรมดา นามว่า อองเซยะ (အောင်ဇေယျ) ที่หมู่บ้านเล็ก ๆ ชื่อ "มุกโชโบ" หรือ "ชเวโบ" หมู่บ้านไม่กี่ร้อยหลังคาเรือนในเขตแม่น้ำมู่ ซึ่งอยู่ห่างออกไปราว 60 ไมล์ทางตะวันตกเฉียงเหนือของอังวะ ในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1714 โดยถือกำเนิดในครอบครัวผู้ดีซึ่งเคยปกครองหุบเขามู่มาหลายชั่วอายุคน บิดาเป็นผู้นำหมู่บ้านมุกโชโบสืบต่อจากบรรพบุรุษ และลุงซีตามี่นจี้ (စည်သာမင်းကြီး) เป็นขุนนางในเขตหุบเขามู่ ด้วยพระองค์อ้างว่าสืบเชื้อสายมาจากผู้บังคับบัญชาทหารม้าสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 15 พระอนุชาของพระเจ้าโม่ญี่นตะโด้ ซึ่งหมายถึงว่าพระองค์สืบเชื้อสายมาจากราชวงศ์พุกามด้วยพระองค์มาจากครอบครัวใหญ่ และมีความเกี่ยวข้องทางสายเลือดและการแต่งงานกับครอบครัวผู้ดีอื่น ๆ อีกมากในพื้นที่หุบเขานั้น ในปี ค.ศ. 1730 อองเซยะแต่งงานกับยู่นซาน (ယွန်းစံ) ลูกสาวหัวหน้าหมู่บ้านที่อยู่ใกล้เคียง ทั้งสองมีลูกชาย 6 คน และลูกสาว 3 คน โดยลูกสาวคนที่ 4 เสียชีวิตไปตั้งแต่ยังเล็ก
อองเซยะปฏิบัติกิจที่สำคัญ คือ ปราบปรามมอญที่ขึ้นมามีอิทธิพลแทนที่ชนชาวพม่าหลังการล่มสลายของราชวงศ์ตองอู จนได้รับชัยชนะเด็ดขาดในปี ค.ศ. 1757 โดยใช้เวลา 8 ปี และตั้งพระนาม "อลองพญา" เสมือนพระองค์เป็นพระโพธิสัตว์เสด็จมาปราบยุคเข็ญ และยังได้สถาปนาศูนย์กลางของอาณาจักรพม่าขึ้นใหม่ที่เมืองชเวโบ ก่อนที่จะย้ายมาที่อังวะในยุคหลัง โดยมีเมืองอื่น ๆ รายล้อม เช่น อมรปุระ มณีปุระ ซะไกง์ เป็นต้น อีกทั้งพระองค์ยังเป็นผู้พัฒนาเมืองย่างกุ้งและพระราชทานชื่อเมืองนี้ใหม่เป็นภาษาพม่า จากเดิมที่เป็นเพียงหมู่บ้านชาวประมงเล็ก ๆ รัชสมัยของพระองค์มักมีการเปลี่ยนชื่อเมืองและสถานที่สำคัญโดยมีเลตเว นอระธาเป็นมหากวีที่ปรึกษาแก่พระองค์ ตามความเชื่อด้านโหราศาสตร์ เพื่อเป็นสิริมงคลเสริมพระบารมีและสร้างความชอบธรรมในการปกครองด้วย เนื่องจากภูมิหลังของพระองค์ไม่ได้มีเชื้อสายกษัตริย์ แต่สามารถต่อสู้ศัตรูแล้วจึงปราบดาภิเษก[1]
นอกจากนี้แล้วในทางพุทธศาสนา นอกจากพระองค์จะใช้พระนามที่ให้เชื่อว่าพระองค์เป็นเสมือนพระโพธิสัตว์เสด็จมาปราบยุคเข็ญแล้ว พระองค์ยังเป็นองค์ศาสนูปถัมภกที่สำคัญ โดยสนับสนุนศาสนามีพระจริยวัตรที่ธรรมะธัมโม สนับสนุนให้ราษฎรไม่ทำผิดศีล เป็นต้น
พระเจ้าอลองพญาเสด็จสวรรคตระหว่างทางกลับจากการทำสงครามกับอยุธยารัชสมัยสมเด็จพระเจ้าเอกทัศ ก่อนจะมาสงคราม พระองค์ส่งพระราชสาสน์ถึงสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 2 แห่งบริเตนใหญ่เพื่อแจ้งเหตุสงครามครั้งนี้ โดยอ้างสิทธิ์ของพม่าเหนืออยุธยาแต่ครั้งพระเจ้าบุเรงนอง และอ้างว่าพระองค์เป็นพระเจ้าช้างเผือกหรือพระเจ้าจักรพรรดิ ตามพงศาวดารไทยระบุว่า พระองค์สวรรคตเพราะปืนใหญ่แตกที่วัดหน้าพระเมรุ แต่ทางพงศาวดารพม่าระบุว่าสวรรคตเพราะประชวร
พระเจ้าอลองพญาทรงครองราชย์ระหว่าง ค.ศ. 1752–1760[2]
ในวัฒนธรรมสมัยนิยม
[แก้]มีนักแสดงผู้รับบท พระเจ้าอลองพญา ได้แก่
- ทักษิณ บุญพงษา จากละครเรื่อง ฟ้าใหม่ (2547)
- มนัส สะการะพันธ์ทิพย์ จากภาพยนตร์เรื่อง ขุนรองปลัดชู (2554)
- ทิน โชคกมลกิจ จากละครเรื่อง ศรีอโยธยา (2560)
ดูเพิ่ม
[แก้]อ้างอิง
[แก้]- เทปสนทนาเรื่อง วาระสุดท้าย...ของ อาณาจักรอยุธยาและราชวงศ์อลองพญา โดย ดร.สุเนตร ชุตินธรานนท์ วีระ ธีรภัทร (เมษายน พ.ศ. 2544)
- ↑ ชัยวัฒน์ ปะสุนะ, "สงครามเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 ในจดหมายเหตุพม่า," เก็บถาวร 2021-11-06 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน วารสารวิชาการมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ 7(2) (กรกฎาคม-ธันวาคม 2562), หน้า 164.
- ↑ U Tin, Konbaungzet Yazawindawgyi, Vol.1 (Mandalay: Reprint Rangoon, 1922: 'Rajadhiraja Vilasini of The Manifestation of the King of Kings; Maung Tin (tr) JBRS, Vol.IV part 1, April 1914; Taw Sein Ko, 'A Preliminary Study of the Po: U :Daung Inscription of Sinbyuyin, 1774 AD; 'The Indian Antiquary 12 (1983) ; Khin Khin Sein (ed.) Alaung Mintayagyi Ameindawmya (Edits of Alaungpaya), (Rangoon: Burma Historical Commission, 1964), Edit No.33: Letwenawrahta, Alaung Mintayagyi Ayedawpon (Biography of Alaungpaya), (Rangoon: Ministry of Culture, 1957)
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- The Royal Ark: Burma Christopher Buyers
- Capt. George Baker, Observations at Persaim and in the Journey to Ava and Back in 1755 เก็บถาวร 2009-03-25 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน SOAS
- Treaty between Alaung-hpaya and the British East India Company in 1757 เก็บถาวร 2009-03-25 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน SOAS
- Robert Lester, Proceedings of an Embassy to the King of Ava, Pegu, &C. in 1757 SOAS
- Capt. Walter Alves, Diary of the Proceedings of an Embassy to Burma in 1760 เก็บถาวร 2007-01-03 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน SOAS
- Michael Symes, An Account of an Embassy to the Kingdom of Ava, sent by the Governor-General of India, in the year 1795 เก็บถาวร 2007-04-28 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, detailed descriptions of Alaungpaya's military campaigns in the south during the 1750s.
ก่อนหน้า | พระเจ้าอลองพญา | ถัดไป | ||
---|---|---|---|---|
สิ้นสุดราชวงศ์ตองอู | ![]() |
พระมหากษัตริย์พม่า (อาณาจักรพม่ายุคที่ 3) (ค.ศ. 1752–1760) |
![]() |
พระเจ้ามังลอก |