การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์[1][2] (อังกฤษ: genocide) คือ การกระทำอย่างเป็นระบบและไตร่ตรองไว้ก่อนเพื่อทำลายกลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มเชื้อชาติ กลุ่มชนในชาติ หรือกลุ่มชนทางศาสนาทั้งกลุ่มหรือส่วนใหญ่

ถึงแม้จะมีผู้ให้นิยามของ "ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์" ไว้มากมายและบางทีก็แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง แต่ทางนิติศาสตร์นั้น สหประชาชาติได้กำหนดนิยามของพฤติการณ์นี้ในข้อ 2 แห่งอนุสัญญาว่าด้วยการป้องกันและลงโทษความผิดอาญาฐานฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ (United Nations Convention on the Prevention and Punishment of the Crime of Genocide) ว่า ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ หมายถึง "การกระทำอย่างหนึ่งอย่างใดโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อทำลายกลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มเชื้อชาติ กลุ่มชนในชาติ หรือกลุ่มชนทางศาสนาทั้งกลุ่มหรือส่วนใหญ่ เป็นต้นว่า ฆ่าสมาชิกของกลุ่ม กระทำให้สมาชิกของกลุ่มถึงแก่พิกลพิการอย่างหนักทางกายภาพหรือจิตภาวะ กระทำโดยไตร่ตรองหรือโดยคาดการณ์ไว้แล้วเพื่อให้เกิดแก่หรือนำพามาสู่สมาชิกของกลุ่มซึ่งทุกขเวทนาในสภาพความเป็นอยู่ กระทำโดยมาตรการใด ๆ เพื่อกันมิให้มีการถือกำเนิดของทารกภายในกลุ่ม หรือใช้กำลังนำพาผู้เยาว์ในกลุ่มไปยังอีกกลุ่มหนึ่ง"[3]

แม้คำปรารภแห่งอนุสัญญาดังกล่าวจะระบุว่า ได้เกิดกรณีตัวอย่างในการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ขึ้นแล้วหลายครั้งหลายคราในประวัติศาสตร์โลก แต่คำว่า "genocide" นั้นเพิ่งได้รับการประดิษฐ์โดยราฟาเอล เลมคิน (Raphael Lemkin) นักนิติศาสตร์ลูกครึ่งโปแลนด์–ยิว และประชาคมโลกเพิ่งยอมรับนิยามของ "ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์" อย่างเป็นทางการภายหลังความหายนะที่นูเรมเบิร์ก

ปัจจุบัน ความผิดฐานฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เป็นอำนาจหน้าที่ของศาลอาญาระหว่างประเทศที่จะดำเนินกระบวนยุติธรรม แต่ก่อนหน้านี้ ระหว่างที่ประชาคมโลกกำลังช่วยกันก่อตั้งศาลดังกล่าว เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะตุลาการเฉพาะกิจระหว่างประเทศ จนกระทั่งธรรมนูญกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศมีผลใช้บังคับในวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2545

นอกจากนี้ นับแต่อนุสัญญาว่าด้วยการป้องกันและลงโทษความผิดอาญาฐานฆ่าล้างเผ่าพันธุ์มีผลใช้บังคับในเดือนมกราคม พ.ศ. 2491 เป็นต้นมา รัฐภาคีแห่งอนุสัญญาราว ๆ 80 ประเทศได้ประกาศใช้และปรับปรุงกฎหมายภายในเพื่ออนุวัติอนุสัญญาดังกล่าว และผู้กระทำความผิดฐานฆ่าล้างเผ่าพันธุ์บางรายก็ได้รับการลงโทษตามกฎหมายภายในก็มี เช่น ศาลเยอรมันได้พิพากษาว่า นิโกลา จอร์จิก (Nikola Jorgic) กระทำความผิดดังกล่าวจริงตามกฎหมายภายในประเทศฉบับหนึ่ง

มีการวิพากษ์วิจารณ์อนุสัญญาดังกล่าวว่า ให้นิยาม "ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์" แคบเกินไป โดยมิได้ให้ความคุ้มครองแก่กลุ่มทางการเมืองด้วย นอกจากนี้ การกระทำตามที่อนุสัญญาบัญญัติไว้ว่าเป็นฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ยังไม่เคยได้รับการไต่สวนจากศาลมาก่อนเลยจนกว่าพนักงานอัยการจะได้ยื่นฟ้องเป็นราย ๆ ไป และยังไม่มีมาตรการเพียงพอที่จะ "กันไว้ดีกว่าแก้" กับทั้งยังมีปัญหาในการตีความอนุสัญญาอีกด้วย เช่น ที่ว่า "[การกระทำใดเพื่อทำลายทั้งกลุ่มหรือ] ส่วนใหญ่" คำว่า "ส่วนใหญ่" นี้จะเอาจำนวนเท่าไร เป็นต้น

อ้างอิง[แก้]

  1. ศัพท์บัญญัติราชบัณฑิตยสถาน/สำนักงานราชบัณฑิตยสภาสำหรับสาขาประชากรศาสตร์และสาขามานุษยวิทยา ส่วนสาขาอื่นบัญญัติไว้ดังนี้ คือ นิติศาสตร์บัญญัติว่า "การล้างชาติ" หรือ "การล้างเผ่าพันธุ์" และรัฐศาสตร์บัญญัติว่า "การทำลายล้างเผ่าพันธุ์มนุษย์" อนึ่ง ในสาขาประชากรศาสตร์และสาขามานุษยวิทยา ยังบัญญัติว่า "พันธุฆาต" ด้วย
  2. สมบูรณ์ เสงี่ยมบุตร และพรชัย ด่านวิวัฒน์ (2555.04). กฎหมายอาญาระหว่างประเทศ. กรุงเทพฯ: วิญญูชน. p. 25. ISBN 9786162690419. {{cite book}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |date= (help)
  3. Office of the High Commissioner for Human Rights. Convention on the Prevention and Punishment of the Crime of Genocide