งูเห่า
งูเห่า ช่วงเวลาที่มีชีวิตอยู่: สมัยไมโอซีน–สมัยโฮโลซีน | |
---|---|
งูเห่าในขณะที่แผ่แม่เบี้ย | |
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ | |
อาณาจักร: | Animalia |
ไฟลัม: | Chordata |
ชั้น: | Reptilia |
อันดับ: | Squamata |
อันดับย่อย: | Serpentes |
วงศ์: | Elapidae |
วงศ์ย่อย: | Elapinae |
สกุล: | Naja Laurenti, 1768 |
ชนิด | |
ดูในเนื้อหา
|
งูเห่า เป็นงูพิษขนาดกลางที่อยู่ในสกุล Naja ในวงศ์งูพิษเขี้ยวหน้า (Elapidae) วงศ์ย่อย Elapinae ซึ่งเป็นสกุลของงูพิษที่อาจเรียกได้ว่าเป็นที่รู้จักกันดีที่สุดอย่างหนึ่ง
ลักษณะ
[แก้]งูเห่าจัดเป็นงูที่อันตราย มีนิสัยดุร้ายเช่นเดียวกับงูจงอาง เมื่อตกใจหรือต้องการขู่ศัตรู มักทำเสียงขู่ฟู่ ๆ โดยพ่นลมออกจากทางรูจมูก และแผ่แผ่นหนังที่อยู่หลังบริเวณคอออกเป็นแผ่นด้านข้างเรียกว่า "แม่เบี้ย" หรือ "พังพาน" ซึ่งบริเวณแม่เบี้ยนี้จะมีลวดลายเป็นดอกดวงสีขาวหรือสีเหลืองนวลเป็นรูปลักษณ์ต่าง ๆ เช่น คล้ายตัวอักษรวีหรืออักษรยูหรือวงกลม หรือไม่มีเลยก็ได้ เรียกว่า "ดอกจัน"[1]
มีพิษมีฤทธิ์ทำลายระบบประสาทที่รุนแรง และเป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้ที่ถูกกัดเสียชีวิต พิษของงูเห่านับว่ามีความร้ายแรงมาก งูเห่ามีสีหลากหลาย เช่น ดำ, น้ำตาล, เขียวอมเทา เหลืองหม่น รวมทั้งสีขาวปลอดทั้งลำตัว ที่เรียกว่า งูเห่านวล หรือ งูเห่าสุพรรณ ซึ่งเป็นความหลากหลายทางสีสันของงูเห่าหม้อ (N. kaouthia) ที่เป็นงูเห่าชนิดที่พบได้บ่อยที่สุดในประเทศไทย โดยที่มิใช่สัตว์เผือกด้วย [2]
เป็นงูที่มีพิษร้ายแรง มีร่องและรูทางออกของน้ำพิษทางด้านหลังของเขี้ยวพิษ เขี้ยวพิษขนาดไม่ใหญ่นักซึ่งผนึกติดแน่นกับขากรรไกรขยับไม่ได้ นอกจากเขี้ยวพิษแล้วอาจมีเขี้ยวสำรองอยู่ติด ๆ กันอีก 1-2 อัน ที่ขากรรไกรล่างไม่มีฟัน นอกจากนี้แล้วในบางชนิดยังสามารถพ่นพิษออกมาจากต่อมน้ำพิษได้อีกด้วย เรียกว่า "งูเห่าพ่นพิษ" ซึ่งหากพ่นใส่ตา จะทำให้ตาบอดได้
งูเห่าจัดว่าเป็นงูพิษขนาดกลาง ขนาดเมื่อโตเต็มที่ประมาณ 1 เมตร พบกระจายพันธุ์ไปทั่วในเขตร้อนและเขตอบอุ่นของทวีปเอเชียและแอฟริกา สามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี ทั้งทะเลทราย ป่าดิบ ทั้งบนพื้นที่ราบและภูเขาสูง ตลอดจนในชุมชนเมือง
งูเห่าขยายพันธุ์ด้วยการวางไข่ โดยงูตัวเมียจะเป็นผู้ปกป้องและฟักไข่จนกระทั่งฟักออกเป็นตัว ในช่วงนี้จะมีนิสัยดุร้ายกว่าปกติ งูเห่าวางไข่ได้ครั้งละ 10 จนมากที่สุดได้ถึง 30 ฟอง และลูกงูมีอัตราฟักเป็นตัวสูงถึงร้อยละ 80-90 [3]โดยชนิดที่พบได้ในประเทศไทย นอกจาก งูเห่าหม้อ ที่ได้กล่าวถึงข้างต้นแล้ว ยังมี งูเห่าพ่นพิษสยาม (N. siamensis) และงูเห่าพ่นพิษสีทอง (N. samarensis)
งูเห่าพ่นพิษที่มีขนาดใหญ่ที่สุด คือ งูเห่าอาเช (N. ashei) พบได้ในที่ราบแห้งแล้งทางภาคเหนือและตะวันออกของเคนยา ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของยูกันดา รวมทั้งภาคใต้ของเอธิโอเปียและโซมาเลีย ที่มีความยาวเต็มที่ได้ถึง 2.6 เมตร เป็นงูเห่าที่เพิ่งถูกจำแนกออกจากชนิดอื่นเมื่อเดือนมิถุนายน ค.ศ. 2007[4]
ศัพทมูลวิทยา
[แก้]โดยที่คำว่า Naja ที่ใช้เป็นชื่อสกุลทางวิทยาศาสตร์นั้น มาจากคำว่า nāga (นาคะ) ซึ่งเป็นภาษาในกลุ่มอินโด-ยูโรเปียน ที่หมายถึง "งู"[5]
ในขณะที่ชื่อสามัญในภาษาไทย ได้มาจากพฤติกรรมที่เมื่อขู่มักทำเสียงขู่ฟู่ ๆ โดยพ่นลมออกจากทางรูจมูกจึงได้ชื่อว่า "งูเห่า" และในส่วนของชื่อสามัญภาษาอังกฤษคำว่า "Cobra" ยังมีความหมายว่า "ไม่แพ้" ได้อีกด้วย[6]
การจำแนก
[แก้]ปัจจุบัน ได้มีการจำแนกงูเห่าออกเป็นชนิดต่าง ๆ มากมาย โดยการศึกษาจากเดิม ในปี ค.ศ. 2009 ได้ถือว่างูเห่ามีทั้งสิ้นประมาณ 22-23 ชนิด และถ้าหากนับงูในสกุลอื่นที่มีความใกล้เคียงกัน ได้แก่ Boulengerina และ Afronaja ก็จะทำให้งูเห่ามีทั้งสิ้น 28 ชนิด ได้แก่[7]
Naja |
| |||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
ในวัฒนธรรม
[แก้]งูเห่านับเป็นงูพิษที่มนุษย์คุ้นเคยเป็นอย่างดี และอยู่ในวัฒนธรรมของแต่ละชนชาติมาอย่างยาวนาน อาทิ ในเทพปกรณัมของอินเดีย งูเห่าก็เป็นสร้อยสังวาลของพระศิวะ[8] หรือในพุทธประวัติ ที่พระพุทธเจ้านั่งสมาธิที่ใต้ต้นจิกน้ำ บังเกิดฝนตกมาห่าใหญ่ พญานาคได้แผ่พังพานออกมาปกป้องพระวรกายมิให้โดนละอองฝน เป็นที่มาของพระพุทธรูปปางนาคปรก[9] รวมถึงในนิทานอีสปเรื่อง ชาวนากับงูเห่า เป็นต้น
นอกจากนี้แล้วในทางประวัติศาสตร์และวิถีชีวิต พระนางคลีโอพัตราได้ฆ่าตัวตายด้วยการให้งูเห่าอียิปต์ (N. haje) กัด[10] หรือที่อินเดียมีการละเล่นที่เป่าปี่เพื่อหลอกล่องูเห่าออกมาจากที่เก็บกัก หรือการเอาพังพอน ซึ่งเป็นสัตว์กินเนื้อที่มีความว่องไว สู้กับงูเห่า เป็นต้น
ดูเพิ่ม
[แก้]อ้างอิง
[แก้]- ↑ ความหมายของ "เห่า" และ "พังพาน" ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542
- ↑ นาวาเอก (พิเศษ) วิโรจน์ นุตพันธุ์. ลายงูไทย. กรุงเทพฯ : บ้านและสวน, 2544. 319 หน้า. ISBN 9747751917
- ↑ "จับประเด็นข่าวร้อน". ช่อง 5. 24 April 2014. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-08-13. สืบค้นเมื่อ 25 April 2014.
- ↑ "งูเห่าพันธุ์ใหม่ใหญ่สุดในโลก พิษร้ายฉกเดียวตายได้ถึง 20 คน". popcornfor2.com. 12 December 2007. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-11-30. สืบค้นเมื่อ 25 April 2014.
- ↑ Proto-IE: * (s) nēg-o-, Meaning: snake, Old Indian: nāgá- m. 'snake', Germanic: *snēk-a- m., *snak-an- m., *snak-ō f.; *snak-a- vb.
- ↑ ฟุจิโกะ เอฟ. ฟุจิโอะ (แต่ง); ขวัญนุช คำเมือง (แปล). โดเรมอนโลกเร้นลับของสิ่งมีชีวิต. กรุงเทพฯ : นานมีบุ๊คส์, 2546. 125 หน้า. ISBN 974-472-262-2
- ↑ Wallach, VanWüster, W; Broadley, Donald G. (2009). "In praise of subgenera: taxonomic status of cobras of the genus Naja Laurenti (Serpentes: Elapidae)" (PDF). Zootaxa. 2236 (1): 26–36.
- ↑ "ตำนานพระศิวะ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-11-25. สืบค้นเมื่อ 2011-10-20.
- ↑ ประวัติและที่มาของพระพุทธรูปประจำวันเกิดปางต่าง ๆ
- ↑ Plutarch Parallel Lives, "Life of Antony"