ทีนจอ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ทีนจอ
ประธานาธิบดีพม่าคนที่ 9
ดำรงตำแหน่ง
30 มีนาคม พ.ศ. 2559 – 21 มีนาคม พ.ศ. 2561
ที่ปรึกษาแห่งรัฐ อองซานซูจี
ก่อนหน้า เต้นเซน
ถัดไป มหยิ่นซเว (รักษาการประธานาธิบดี)
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด (1946-07-20) 20 กรกฎาคม ค.ศ. 1946 (76 ปี)
ย่างกุ้ง, บริติชเบอร์มา
พรรค สันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย
คู่สมรส ซุซุลวีน
ศาสนา พุทธเถรวาท

ทีนจอ (พม่า: ထင်ကျော်, เกิดวันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2489) เป็นนักเขียนและนักวิชาการชาวพม่า อดีตประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐแห่งสหภาพพม่าคนที่ 9 หลังจากได้ดำรงตำแหน่งอย่างเป็นทางการในวันที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2559 และได้ลาออกเมื่อวันที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2561 เขาเป็นประธานาธิบดีที่มีอายุมากที่สุดและเป็นผู้นำพลเรือนคนแรกนับตั้งแต่การรัฐประหารในปี พ.ศ. 2505

เขาเป็นคนเชื้อสายมอญ-พม่าและได้รับการกล่าวถึงในฐานะหนึ่งในผู้ที่มีคุณสมบัติเหมาะสมจะดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี หลังจากที่มีการเลือกตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2558 และนางอองซานซูจี หัวหน้าสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย ถูกตัดสิทธิ์จากข้อกำหนดในรัฐธรรมนูญ

ประวัติ[แก้]

ทีนจอเกิดเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2489 เป็นบุตรของมี่นตุวูน นักเขียนและนักกวีผู้ได้รับความเคารพอย่างสูง ซึ่งได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเมื่อ พ.ศ. 2533[1]

ทีนจอจบการศึกษาระดับปริญญาตรีและปริญญาโท สาขาเศรษฐศาสตร์ จากสถาบันเศรษฐศาสตร์ย่างกุ้ง พ.ศ. 2511 (ขณะนั้นเป็นส่วนหนึ่งของมหาวิทยาลัยอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์ย่างกุ้ง) หลังจากนั้นจึงเดินทางไปศึกษาต่อที่สถาบันวิทยาการคอมพิวเตอร์ของมหาวิทยาลัยลอนดอนในปี พ.ศ. 2514-2515 และศึกษาที่โรงเรียนการจัดการอาร์เธอร์ ดี. ลิตเติล ในเมืองเคมบริดจ์ รัฐแมสซาชูเซตส์ สหรัฐในปี พ.ศ. 2530[2]

หลังจบการศึกษา ทีนจอประกอบอาชีพหลายอย่าง รวมทั้งเคยเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยและเคยดำรงตำแหน่งรองหัวหน้ากองในกระทรวงอุตสาหกรรม และรองผู้อำนวยการในกรมเศรษฐสัมพันธ์ต่างประเทศ กระทรวงการวางแผนและการคลัง ระหว่างปี พ.ศ. 2513-2523 ก่อนจะเกษียณตัวเอง หลังจากกองทัพเริ่มกระชับอำนาจ เขายังเป็นนักเขียนภายใต้นามปากกาว่า "ดาละ บัน" ชื่อของนักรบชาวมอญชื่อดัง และเป็นประธานกองทุนดอคีนจี องค์กรช่วยเหลือคนในพื้นที่ยากไร้ที่สุดในพม่า ก่อตั้งโดยอองซานซูจี และตั้งชื่อตามชื่อของแม่ผู้ล่วงลับของเธอ[3]

ทีนจอสมรสกับซุซุลวีน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเมืองโต้น-กวะ ทางใต้ของประเทศพม่า และเป็นประธานของคณะกรรมการความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของสภาผู้แทนราษฎร ขณะที่บิดาของซุซุลวีนหรือพ่อตาของทีนจอก็คือ อู้ลวีน ผู้ร่วมก่อตั้งสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย

ตำแหน่งประธานาธิบดี[แก้]

เมื่อวันที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2559 รัฐสภาพม่าได้จัดการประชุมสมาชิกสภาสูงและสภาล่างเพื่อเลือกประธานาธิบดี ทีนจอได้รับเลือกจากสมาชิกสภาของพม่าเกินครึ่งให้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีคนใหม่ของพม่า นับเป็นประธานาธิบดีที่มาจากพลเรือนเป็นคนแรกในรอบกว่า 50 ปีของประเทศ

ผลการเลือกตั้งปรากฏว่า ทีนจอได้คะแนน 360 เสียง จากจำนวนสมาชิกสภาทั้งหมด 652 ที่นั่ง ตามด้วยอันดับสองคือ พลเอก มหยิ่นซเว ได้คะแนน 213 เสียง และอันดับ 3 นายเฮนรีบานที่ยู ได้ 79 คะแนน จึงทำให้พลเอก มหยิ่นซเว ได้เป็นรองประธานาธิบดีคนที่ 1 และนายเฮนรีบานที่ยู ได้เป็นรองประธานาธิบดีคนที่ 2[4][5][6]

ทั้งนี้ ผู้ได้รับการเสนอชื่อชิงประธานาธิบดีของพม่ามีด้วยกัน 3 คน ได้แก่ ทีนจอ อายุ 70 ปี ซึ่งได้รับการเสนอชื่อจากสมาชิกสภาล่างหรือสภาผู้แทนราษฎร เฮนรีบานที่ยู ซึ่งได้รับการเสนอชื่อโดยสภาสูง และพลเอก มหยิ่นซเว อดีตนายทหารเกษียณอายุราชการ อายุ 64 ปี และได้รับการเสนอชื่อจากกองทัพที่รับการแต่งตั้งให้เข้าไปในสภาร้อยละ 25 หรือ 1 ใน 4[7][8]

อ้างอิง[แก้]

  1. "ျမန္မာႏိုင္ငံရဲ႕ ၉ ဦးေျမာက္ ႏိုင္ငံေတာ္သမၼတ". ဗီြအိုေအ. สืบค้นเมื่อ 2016-03-15.
  2. "Myanmar's NLD nominates presidential candidate | Kyodo News". english.kyodonews.jp. สืบค้นเมื่อ 2016-03-10.
  3. "Ex-driver gears up for Myanmar rule but Suu Kyi still at wheel". Yahoo News. สืบค้นเมื่อ 2016-03-10.
  4. Ei Ei Toe Lwin. "Daw Suu eyes foreign minister role". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-13. สืบค้นเมื่อ 2016-03-16.
  5. "NLD Dropped a Name List to Lead Its New Government". The Burma Times. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-24. สืบค้นเมื่อ 2016-03-16.
  6. "Myanmar Starts New Parliamentarye Era". The Bangkok Post. สืบค้นเมื่อ 6 March 2016.
  7. "Htin Becomes First Civilian Myanmar President". TRT.
  8. "Myanmar parliament elects first civilian president in decades". BBC.


ก่อนหน้า ทีนจอ ถัดไป
เต้นเซน 2leftarrow.png State seal of Myanmar.svg
ประธานาธิบดีพม่า
(30 มีนาคม พ.ศ. 2559 – 21 มีนาคม พ.ศ. 2561)
2rightarrow.png วี่น-มหยิ่น