ข้ามไปเนื้อหา

พระเจ้าสีป่อ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พระเจ้าสีป่อ
พระมหากษัตริย์พม่า
ครองราชย์1 ตุลาคม พ.ศ. 2421 – 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2428 (7 ปี 58 วัน) [1]
ก่อนหน้าพระเจ้ามินดง
ถัดไปสิ้นสุดระบอบกษัตริย์
พระราชสมภพ1 มกราคม พ.ศ. 2402
เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศพม่า
หม่องปุ
สวรรคต19 ธันวาคม พ.ศ. 2459 (57 พรรษา)
เมืองรัตนคีรี บริติชราช
พระภรรยาพระนางศุภยาลัต
เจ้าหญิงสะลิน[2](มิได้ราชาภิเษกสมรส)
พระนางศุภยาจี[2]
พระนางศุภยาเล[3]
พระราชบุตรเจ้าชายไม่ปรากฏนาม
เจ้าชายไม่ปรากฏนาม
เจ้าหญิงไม่ปรากฏนาม
เจ้าหญิงเมียะพะยาจี
เจ้าหญิงเมียะพะยาละ
เจ้าหญิงเมียะพะยา
เจ้าหญิงเมียะพยากะเล
พระรัชกาลนาม
สิริปวรวิชยานันตยสติโลกาธิปติปัณฑิตมหาธัมมราชาธิราชา (သိရီပဝရ ဝိဇယာနန္တ ယသတိလောကာ ဓိပတိ ပဏ္ဍိတ မဟာဓမ္မရာဇာဓိရာဇာ)
ราชวงศ์ราชวงศ์โก้นบอง
พระราชบิดาพระเจ้ามินดง
พระราชมารดาเจ้าหญิงเมืองสี่ป้อ[4]
ลายพระอภิไธย

พระเจ้าสีป่อ[5] (พม่า: သီပေါ‌မင်း ตีบอมี่น) เป็นพระมหากษัตริย์พม่าพระองค์สุดท้ายแห่งราชวงศ์โก้นบอง ถูกบังคับให้สละราชสมบัติและเนรเทศไปอยู่ที่เมืองรัตนคีรีในบริติชราช หลังสิ้นสงครามอังกฤษ–พม่าครั้งที่สาม และสวรรคตเมื่อ พ.ศ. 2459[6]

พระเจ้าสีป่อเป็นพระราชโอรสของพระเจ้ามินดงกับเจ้าหญิงจากเมืองสี่ป้อในดินแดนไทใหญ่ มีพระนามเดิมว่าเจ้าชายหม่องปุ (မောင်ပု) เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2402 ที่กรุงมัณฑะเลย์ เมืองหลวงของราชอาณาจักรพม่าในเวลานั้น เมื่อเจริญพระชันษาขึ้นได้ผนวชเป็นพระภิกษุเพื่อศึกษาวิชาการต่าง ๆ เมื่อทรงลาผนวชแล้ว พระราชบิดาจึงทรงแต่งตั้งให้เป็นเจ้าผู้ครองนครสี่ป้อ ซึ่งเป็นที่มาของพระนามเมื่อเสวยราชสมบัติในเวลาต่อมา

พระองค์ได้ขึ้นครองราชสมบัติเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2421 ด้วยความช่วยเหลือจากพระนางอเลนันดอ พระมเหสีองค์หนึ่งของพระราชบิดาและเหล่าขุนนางชั้นสูงกลุ่มหนึ่ง มีพระนามจารึกในพระสุพรรณบัฎว่า สิริปวรวิชยานันตยสติโลกาธิปติปัณฑิตมหาธัมมราชาธิราชา พระองค์ได้เสกสมรสกับพระนางศุภยาลัต ซึ่งเป็นพระขนิษฐาต่างพระมารดา ต่อมาพระนางมีอิทธิพลต่อการตัดสินพระทัยในเหตุสำคัญต่าง ๆ ของพระเจ้าสีป่อเป็นอย่างมาก

ประสูติ

[แก้]

พระเจ้าสีป่อประสูติวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2402 เป็นพระราชโอรสในพระเจ้ามินดงกับพระนางลองซีหรือพระมเหสีแลซา เจ้าหญิงไทใหญ่[7] มีพระโสทรภคินี 3 พระองค์ ได้แก่

พระราชมารดาของพระองค์ทรงถูกพระเจ้ามินดงเนรเทศออกจากราชสำนัก แล้วบวชเป็นตี่ละฉิ่นในช่วงบั้นปลายพระชนม์ พระนางทรงใช้ชีวิตและสิ้นพระชนม์อย่างไร้เกียรติ[8]

ขึ้นครองราชย์

[แก้]

เจ้านครสีป่อเป็นที่โปรดปรานของพระนางอเลนันดอ พระมเหสีของพระเจ้ามินดง รวมทั้งสมาชิกเสนาบดีสภาอย่างกินหวุ่นมินจี มัคเวมินจี และเยนันจองมินจีก็สนับสนุนเจ้านครสีป่อเพื่อให้ขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญตามที่วางแผนไว้[9] อย่างไรก็ตาม เมื่อพระองค์ขึ้นครองราชย์เมื่อ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2421 ทุกอย่างไม่เป็นไปตามแผนที่คาดไว้ พระองค์กับพระนางศุภยาลัต พระมเหสี ได้สั่งปลด มัคเวมินจี และเยนันจองมินจีในเดือนมกราคม พ.ศ. 2421 และยกเลิกแผนการเปลี่ยนแปลงไปสู่ราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ ได้ประหารเจ้านายฝ่ายหน้าฝ่ายในที่คุมขังไว้ตั้งแต่พระเจ้ามินดงประชวรระหว่างวันที่ 13–18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2421 จนหมดสิ้น

อังกฤษได้ประท้วงการสังหารหมู่ครั้งนี้ โดย R. B. Shaw ผู้แทนอังกฤษประจำราชสำนักมัณฑะเลย์ ได้ยื่นประท้วงและเสนอจะนำนักโทษการเมืองไปไว้ในพม่าที่อยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษ แต่ไม่เป็นผล อย่างไรก็ตาม อังกฤษได้ช่วยเจ้านครญองย่านให้ลี้ภัยไปอยู่ในพม่าตอนล่างตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2421[9]

สงครามกับอังกฤษและสิ้นสุดอำนาจ

[แก้]
วังสีป่อที่เมืองรัตนคีรี ประเทศอินเดีย ที่ประทับของพระเจ้าสีป่อหลังสิ้นสุดอำนาจ

ในรัชกาลของพระองค์ได้ส่งคณะทูตไปยังฝรั่งเศสเมื่อ 30 เมษายน พ.ศ. 2426 และได้มีการเจรจาเกี่ยวกับการทำสัญญาทางการค้า ยินยอมให้ฝรั่งเศสเข้ามาทำสัมปทานป่าไม้ซึ่งได้สร้างความหวาดระแวงให้อังกฤษ ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2428 พม่าเรียกค่าปรับจากบริษัทบอมเบย์เบอร์มาเทรดดิงเป็นเงินจำนวน 2.3 ล้านรูปี อังกฤษจึงตัดสินใจยื่นคำขาดต่อพม่าในวันที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2428 โดยให้พม่าลดค่าปรับ ให้ความสะดวกแกอังกฤษในการค้าขายกับจีนและให้อังกฤษควบคุมนโยบายต่างประเทศของพม่า พม่าปฏิเสธมาในวันที่ 9 พฤศจิกายน กองทัพอังกฤษจึงเคลื่อนทัพออกจากย่างกุ้งไปยังพม่าเหนือในวันที่ 14 พฤศจิกายนและยึดมัณฑะเลย์ได้ในวันที่ 28 พฤศจิกายน พระเจ้าสีป่อและพระนางศุภยาลัตยอมแพ้ในวันนี้ ทั้งสองพระองค์เสด็จลงเรือไปยังย่างกุ้งและถูกเนรเทศไปอินเดีย[10]

หลังสิ้นอำนาจ

[แก้]
พระเจ้าสีป่อ (กลาง) ขณะประทับในรัตนคีรี อินเดีย พร้อมข้าราชสำนัก ภาพถ่ายในพระราชพิธีเจาะพระกรรณของพระราชธิดา ราวก่อนปีพ.ศ. 2443

พระเจ้าสีป่อไปประทับที่รัตนคีรีในบริติชราช ซึ่งอยู่ใกล้ทะเลอาหรับ ในช่วงห้าปีแรก ทรงได้รับเงินจากอังกฤษเดือนละ 100,000 รูปี หลังจากนั้นเงินจำนวนนี้ลดลงครึ่งหนึ่ง และเมื่อพระองค์สิ้นพระชนม์ ได้เพียงเดือนละ 25,000 รูปีเท่านั้น[11] พระองค์สวรรคตเมื่อ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2459 พระศพของพระองค์ฝังไว้ใกล้ ๆ สุสานของชาวคริสต์[11] หลังจากพระองค์สวรรคต ลูกหลานของพระองค์ส่วนหนึ่งเดินทางกลับพม่า บางส่วนยังคงอยู่ในอินเดีย เมียะพยาจี (Myat Phayagyi) พระธิดาองค์โตของพระองค์ยังอยู่ในอินเดีย ส่วนเมียะพยา (Myat Phaya) พระธิดาองค์เล็กที่ประสูติที่รัตนคีรีเมื่อ พ.ศ. 2430 ได้เดินทางกลับมายังพม่าใน พ.ศ. 2462 พระนางสมรสกับอูเนียงใน พ.ศ. 2464 และสิ้นพระชนม์ในมะละแหม่งเมื่อ 3 มีนาคม พ.ศ. 2478 ลูกหลานของพระนางยังอยู่ในพม่า และได้รับการยอมรับว่าเป็นผู้มีสิทธิ์สืบทอดราชบัลลังก์ของพม่า[12][13]

ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2555 เต้นเซน ประธานาธิบดีพม่าได้เดินทางไปเยี่ยมหลุมฝังศพของพระเจ้าสีป่อ และพบกับลูกหลานของพระองค์ที่อาศัยอยู่ที่นั่น นับเป็นครั้งแรกที่ประมุขรัฐบาลพม่าเดินทางไปเยือนสุสานของพระองค์[14]

พระธิดา

[แก้]

พระเจ้าสีป่อและพระนางศุภยาลัตมีพระธิดาร่วมกัน 4 พระองค์ได้แก่

  พระนาม ประสูติ สิ้นพระชนม์ หมายเหตุ
เจ้าหญิงเมียะพะยาจี 1880พ.ศ. 2423 1947พ.ศ. 2490 เจ้าหญิงอภิเษกสมรสกับนายทหารอินเดียที่พระราชวังสีป่อในรัตนคีรี
เจ้าหญิงเมียะพะยาละ 18834 ตุลาคม
พ.ศ. 2426
19564 เมษายน
พ.ศ. 2499
เจ้าหญิงอภิเษกสมรสกับข้าราชสำนักชาวพม่าที่วังสีป่อในรัตนคีรี เจ้าหญิงมยะพะยาละ ได้รับเลือกให้เป็นรัชทายาทในราชบัลลังก์พม่า เมื่อพระเจ้าสีป่อถูกโค่นล้มราชบัลลังก์ และทรงได้เป็นผู้อ้างสิทธิในราชบัลลังก์และเป็นประมุขแห่งราชวงศ์พม่าเมื่อพระราชบิดาสวรรคต พระองค์สื้นพระชนม์ที่เมืองกาลิมปง ประเทศอินเดีย
เจ้าหญิงเมียะพะยา 18867 มีนาคม
พ.ศ. 2429
196221 กรกฎาคม
พ.ศ. 2505
เจ้าหญิงเสด็จกลับพม่าพร้อมพระราชมารดา และในปีพ.ศ. 2465 อภิเษกสมรสครั้งแรกกับโกเดา กยี เนียง พระนัดดาในเจ้าชายกะนอง ซึ่งมีศักดิ์เป็นพระปัยกาของเจ้าหญิง และเจ้าชายกะนองเป็นพระเชษฐาในพระเจ้ามินดง และทรงหย่ากันในปีพ.ศ. 2472 เจ้าหญิงอภิเษกสมรสครั้งที่สองกับอู มะยา อู นักกฎหมาย พระโอรสพระองค์ที่สองของเจ้าหญิงที่ประสูติแต่พระสวามีคนแรกคือต่อพะยาซึ่งเป็นผู้อ้างสิทธิในราชบัลลังก์องค์ปัจจุบัน สืบต่อจากเจ้าหญิงเมียะพยาลัต
เจ้าหญิงเมียะพะยากะเล 1887พ.ศ. 2430 1935พ.ศ. 2478 เจ้าหญิงมีความชำนาญในภาษาอังกฤษอย่างมากและทรงเป็นโฆษกประจำพระราชวงศ์พม่า เจ้าหญิงอภิเษกสมรสกับนักกฎหมาย และทรงถูกรัฐบาลอาณานิคมส่งออกไปประทับที่เมาะลำเลิง จนกระทั่งสิ้นพระชนม์ที่นั่น

พงศาวลี

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. Christopher Buyers. "The Konbaung Dynasty Genealogy: King Thibaw". royalark.net. สืบค้นเมื่อ 2009-10-04.
  2. 2.0 2.1 เสียงกระซิบที่ฝ่ายใน...กับ...เสียงร่ำไห้ที่ท้ายวัง[ลิงก์เสีย]
  3. The Royal Family of Burma
  4. พม่าเสียเมืองก็เพราะกษัตริย์อ่อนแอและมเหสีหฤโหด[ลิงก์เสีย]
  5. ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยา. เที่ยวเมืองพะม่า. พระนคร : โรงพิมพ์พระจันทร์, 2489. 468 หน้า. หน้า 253.
  6. http://board.dserver.org/b/bestforlife/00000311.html[ลิงก์เสีย]
  7. Sudha Shah (สุภัตรา ภูมิประภาส แปล), "ราชันผู้ผลัดแผ่นดิน เมื่อพม่าเสียเมือง", กรุงเทพฯ:มติชน pp. 30; published 2014; ISBN 978-974-02-1329-1
  8. H. Fielding (สุภัตรา ภูมิประภาส แปล), "ราชินีศุภยาลัต จากนางกษัตริย์สู่สามัญชน", กรุงเทพฯ:มติชน pp. 48; published 2015; ISBN 978-974-02-1439-7
  9. 9.0 9.1 นินิเมยนต์. พม่ากับการต่อต้านจักรวรรดินิยมอังกฤษ ค.ศ. 1885–1895. แปลโดย ฉลอง สุนทรวาณิชย์. กทม. มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์ฯ. 2543
  10. วิไลเลขา ถาวรธนสาร. "สงครามอังกฤษ–พม่าครั้งที่สาม." ใน สารานุกรมประวัติศาสตร์สากลสมัยใหม่ : เอเชีย เล่ม 1 อักษร A–B ฉบับราชบัณฑิตยสถาน. กรุงเทพฯ : ราชบัณฑิตยสถาน, 2539, หน้า 166–170.
  11. 11.0 11.1 Christian, John LeRoy (1944). "Thebaw: Last King of Burma". The Journal of Asian Studies. Association for Asian Studies: 309–312. doi:10.2307/2049030.
  12. Kennedy, Phoebe, Burmese dictator lives like a king, laments the nation's last royal เก็บถาวร 2010-06-12 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, published in The Independent, 12.03.2010
  13. Royal Ark: The Konbaung Dynasty (19)
  14. Thein Sein visits grave of Burma’s last king เก็บถาวร 2012-12-28 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. Retrieved 2012-12-26.


ก่อนหน้า พระเจ้าสีป่อ ถัดไป
พระเจ้ามินดง พระมหากษัตริย์พม่า
(อาณาจักรพม่ายุคที่ 3)

(1 ตุลาคม พ.ศ. 2421 – 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2428)
สิ้นสุดระบอบกษัตริย์พม่า