โทรทัศน์ในประเทศไทย
บทความนี้อาจต้องการตรวจสอบต้นฉบับ ในด้านไวยากรณ์ รูปแบบการเขียน การเรียบเรียง คุณภาพ หรือการสะกด คุณสามารถช่วยพัฒนาบทความได้ |
บทความนี้มีข้อมูลไม่เป็นแก่นสารหรือปลีกย่อยเป็นอันมาก (สิงหาคม 2020) |
โทรทัศน์ในประเทศไทย ออกอากาศแบบภาคพื้นดินเป็นช่องทางหลัก โดยแพร่ภาพผ่านคลื่นวิทยุ ซึ่งระยะแรกที่ออกอากาศ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2498 เริ่มใช้ย่านความถี่สูงมาก (VHF) ซึ่งประกอบด้วยช่วงความถี่ต่ำ ช่องสัญญาณที่ 2-4 และช่วงความถี่สูง ช่องสัญญาณที่ 5-12 จนกระทั่งปี พ.ศ. 2538 จึงเริ่มใช้ย่านความถี่สูงยิ่ง (UHF) คือช่องสัญญาณที่ 26-60 (ช่วงความถี่ต่ำคือช่องสัญญาณที่ 26-34 และช่วงความถี่สูงคือช่องสัญญาณที่ 35-60 ต่อมาในปี พ.ศ. 2562 ได้มีการปรับเปลี่ยนให้ส่งสัญญาณระหว่างช่องสัญญาณที่ 21-48[1]) ทั้งนี้ ตั้งแต่เริ่มออกอากาศจนถึง พ.ศ. 2517 แพร่ภาพในระบบแอนะล็อก เป็นภาพขาวดำ 525 เส้น 30 อัตราภาพ แบบเอ็นทีเอสซี ต่อมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2510 จึงเริ่มนำระบบการส่งแพร่ภาพ 625 เส้น 25 อัตราภาพ แบบแพล เข้ามาใช้ในประเทศไทย และเริ่มออกอากาศด้วยภาพสีภายใต้ระบบดังกล่าวตั้งแต่ปี พ.ศ. 2513 นอกจากนี้ ยังมีบริการโทรทัศน์แห่งชาติ ภายใต้กำกับของกรมประชาสัมพันธ์ เริ่มจากส่วนภูมิภาคตั้งแต่ปี พ.ศ. 2502 และเริ่มดำเนินการในส่วนกลางตั้งแต่ปี พ.ศ. 2528 จนถึงปัจจุบัน จากนั้นก็เริ่มนำสัญญาณดิจิทัลเข้ามาใช้ในกระบวนการผลิตรายการและควบคุมการออกอากาศตั้งแต่ปี พ.ศ. 2540 และนำมาใช้กับกระบวนการแพร่ภาพผ่านอุปกรณ์รวมส่งสัญญาณตั้งแต่ปี พ.ศ. 2556 จนถึงปัจจุบัน ทำให้เริ่มมีการเปลี่ยนผ่านโดยการยุติการออกอากาศโทรทัศน์ระบบแอนะล็อกตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558 และเสร็จสิ้นเมื่อปี พ.ศ. 2563
ส่วนระบบการออกอากาศด้วยช่องทางอื่นที่ประเทศไทยนำมาใช้ ประกอบด้วย บริการกระจายสัญญาณแบบหลายจุดหลายช่อง (MMDS) ระหว่างปี พ.ศ. 2532 - 2556, ผ่านคลื่นไมโครเวฟ ระหว่างปี พ.ศ. 2532 - 2540, ผ่านสายเคเบิล ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2536 - ปัจจุบัน, ผ่านดาวเทียม ทั้งระบบเคยูแบนด์ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2532 - ปัจจุบัน และระบบซีแบนด์ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2541 - ปัจจุบัน อนึ่ง ภาคเอกชนสามารถประกอบการธุรกิจโทรทัศน์ภายใต้การอนุมัติจากภาครัฐตามกฎหมาย โดยผ่านสายอากาศในส่วนภูมิภาคตั้งแต่ปี พ.ศ. 2536 และผ่านดาวเทียมตั้งแต่ปี พ.ศ. 2545 จนถึงปัจจุบัน
ประวัติ
[แก้]มีการเสนอว่า บทความนี้หรือส่วนนี้ควรแยกเป็นบทความใหม่ชื่อ โทรทัศน์ระบบแอนะล็อกในประเทศไทย (อภิปราย) |
ก่อนกำเนิด (2474-2475, 2492-2498)
[แก้]ประเทศไทยรู้จักสิ่งที่เรียกว่า "Television" เป็นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2474 โดยพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน เสนาบดีกระทรวงพาณิชย์และคมนาคมในขณะนั้น มีพระประสงค์ที่จะทรงจัดตั้งกิจการนี้ในประเทศไทยขึ้น โดยติดต่อกับบริษัทเอกชนรายหนึ่งของสหรัฐ เพื่อจัดหาและติดตั้งเครื่องส่งและอุปกรณ์เพื่อทดลองออกอากาศ และหากโครงการนี้เป็นที่พอพระทัยก็จะโปรดให้สั่งซื้อเพื่อเก็บเอาไว้ใช้ในงานราชการ แต่เนื่องจากมีการปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475 โครงการดังกล่าวจึงถูกยกเลิก (ซึ่งหากสำเร็จ ไทยอาจเป็นประเทศแรกในเอเชียที่มีโทรทัศน์)[2][3] การรับส่งสัญญาณด้วย "ภาพ" ได้ถือกำเนิดขึ้นและเริ่มแพร่หลายในประเทศไทย ซึ่งถือเป็นพัฒนาการก้าวสำคัญของประเทศ ดังการขยายขอบเขตนิยามกฏหมายการสื่อสารภายใต้พระราชบัญญัติวิทยุสื่อสาร พ.ศ. 2478 ให้ครอบคลุมเรื่องโทรทัศน์ไว้ด้วยว่า "...“วิทยุสื่อสาร” หมายความว่า การส่ง การรับตัวหนังสือ เครื่องหมายสัญญาณ ภาพ เสียง และกำลังอื่นใดด้วยคลื่นแฮรฺตเซียน..."[4] ผ่านไป 17 ปี เมื่อปี พ.ศ. 2492 สรรพสิริ วิรยศิริ ผู้สื่อข่าวต่างประเทศของกรมประชาสัมพันธ์ เขียนบทความเพื่อแนะนำ "วิทยุภาพ" เทคโนโลยีสื่อสารชนิดใหม่ของโลกให้ผู้อ่านรู้จัก ต่อมากรมประชาสัมพันธ์ส่งข้าราชการกลุ่มหนึ่งไปศึกษางานดังกล่าวที่สหราชอาณาจักรในราวปี พ.ศ. 2493 เมื่อเล็งเห็นประโยชน์มหาศาลต่อประเทศชาติ กรมประชาสัมพันธ์จึงนำเสนอ "โครงการจัดตั้งวิทยุโทรภาพ" ต่อจอมพลแปลก พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี เพื่อเป็นสื่อประชาสัมพันธ์รัฐบาลเมื่อปี พ.ศ. 2494 แต่เมื่อเรื่องเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎร ส.ส. ส่วนมากกลับไม่เห็นด้วยอย่างรุนแรง เนื่องจากเห็นว่าสิ้นเปลืองงบประมาณแผ่นดิน[5]
จากนั้น บริษัท วิเชียรวิทยุและโทรภาพ จำกัด นำเครื่องส่งวิทยุโทรภาพ 1 เครื่อง มาทดลองแพร่ภาพการแสดงดนตรีของวงดนตรีกรมประชาสัมพันธ์ จากห้องส่งวิทยุกระจายเสียงของสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยภายในกรมประชาสัมพันธ์ โดยถ่ายทอดสดไปยังเครื่องรับ 4 เครื่อง ภายในทำเนียบรัฐบาล, ใกล้กรมประชาสัมพันธ์ และโถงศาลาเฉลิมกรุงชั้นล่าง เพื่อให้คณะรัฐมนตรีและประชาชนรับชมเป็นครั้งแรกในประเทศไทยเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2495 ในระยะนี้สื่อมวลชนต้องการนำเสนอถึง "Television" ดังกล่าวนี้ แต่ไม่แน่ใจชื่อเรียกในภาษาไทย จึงกราบทูลถามไปยังพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ อดีตนายกราชบัณฑิตยสถาน และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในขณะนั้น ด้วยเป็นศาสตราจารย์ทางอักษรศาสตร์ ให้ทรงวิเคราะห์ศัพท์ ก่อนจะทรงบัญญัติขึ้นเป็นคำว่า "วิทยุโทรทัศน์" และต่อมาประชาชนนิยมเรียกอย่างสังเขปว่า "โทรทัศน์"[6]
โดยระหว่างเดือนกันยายนถึงพฤศจิกายน ปีเดียวกัน รัฐมนตรีและข้าราชการของกรมประชาสัมพันธ์รวม 7 คน ระดมทุนด้วยการขายหุ้นต่อกรมประชาสัมพันธ์จำนวน 11 ล้านบาท เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐอีก 8 แห่งที่สมทบให้อีก 9 ล้านบาท รวมเป็น 20 ล้านบาท จดทะเบียนจัดตั้ง บริษัท ไทยโทรทัศน์ จำกัด (อังกฤษ: Thai Television Co.,Ltd. ชื่อย่อ ท.ท.ท.) ขึ้นเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน ของปีดังกล่าว เพื่อรองรับกิจการโทรทัศน์ในประเทศไทย[7] อนึ่ง ในปีเดียวกัน กระทรวงกลาโหมออกข้อบังคับว่าด้วยการมอบหมายงานแก่เจ้าหน้าที่กองทัพบก โดยกำหนดให้กรมการทหารสื่อสาร เพิ่มชื่อกองการกระจายเสียง เป็นกองการกระจายเสียงและโทรทัศน์ เพื่อรองรับการจัดตั้งแผนกกิจการวิทยุโทรทัศน์เป็นหน่วยขึ้นตรงประจำกอง[8]
ทั้งนี้ในปี พ.ศ. 2496 กรมประชาสัมพันธ์ได้จัดซื้อเครื่องส่งโทรทัศน์เข้ามาสาธิตการแพร่ภาพเพื่อให้ประชาชนได้รับชมในโอกาสสำคัญ เช่น การแข่งขันมวยสากล งานวชิราวุธานุสรณ์ งานฉลองรัฐธรรมนูญ วันขึ้นปีใหม่ เป็นต้น และยังนำไปทดลองถ่ายทอดที่จังหวัดพิษณุโลก ภายในงานประจำปีของโรงพยาบาลพิษณุโลก และในปี พ.ศ. 2497 กองทัพบกได้กำหนดอัตรากำลังพลเฉพาะกิจในแผนกโทรทัศน์ 52 นาย เพื่อปฏิบัติงานโทรทัศน์ ผลิตและถ่ายทอดรายการโทรทัศน์ และเมื่อวันที่ 6 กันยายนปีเดียวกัน พลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ อธิบดีกรมตำรวจในขณะนั้น และประธานกรรมการ บจก.ไทยโทรทัศน์ คนแรก เป็นประธานพิธีวางศิลาฤกษ์อาคารที่ทำการสถานีโทรทัศน์ของ บจก.ไทยโทรทัศน์ ภายในวังบางขุนพรหม ที่ทำการของธนาคารแห่งประเทศไทยในปัจจุบัน[ต้องการอ้างอิง]
โดยในระยะเวลาใกล้เคียงกันได้เริ่มทดลองส่งแพร่ภาพโทรทัศน์จากห้องส่งของสถานีวิทยุกระจายเสียง ท.ท.ท. ไปพลางก่อน โดยคณะรัฐมนตรีจัดสรรงบให้ บจก.ไทยโทรทัศน์ ดำเนินการเพื่อระดมทุนทรัพย์สำหรับบริหารงาน และเพื่อฝึกฝนบุคลากร พร้อมทั้งเตรียมงานส่วนอื่นไปด้วย จนกว่าอาคารที่ทำการพร้อมเครื่องส่งจะแล้วเสร็จ ระหว่างนั้น คณะรัฐมนตรีอนุมัติให้เลือกใช้ระบบแพร่ภาพเป็นขาวดำ 525 เส้น 30 อัตราภาพ ซึ่งใช้ในสหรัฐ โดยให้ บจก.ไทยโทรทัศน์ จัดซื้อเครื่องส่งขนาด 10 กิโลวัตต์ ของบริษัท เรดิโอ คอร์ปอเรชั่น ออฟ อเมริกา (Radio Corporation of America) หรือ อาร์.ซี.เอ. (RCA) มาใช้ออกอากาศและวางแผนดำเนินการแพร่ภาพ ผ่านคลื่นวิทยุย่านความถี่สูงมาก (Very High Frequency; VHF) ทางช่องสัญญาณที่ 4 ซึ่งเมื่อรวมกับชื่อสถานที่ตั้งสถานีดังกล่าวข้างต้น ผู้ชมจึงนิยมเรียกชื่อว่า ช่อง 4 บางขุนพรหม โดยเริ่มแพร่ภาพในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2498 โดยมีจอมพล แปลก พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น เป็นประธานเปิด สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีช่อง 4 (อังกฤษ: Thai Television Channel 4 ชื่อย่อ: ไทย ที.วี. ชื่อรหัส: HS1-TV) ขึ้นเป็นแห่งแรกของประเทศไทย และเป็นช่องแรกบนภาคพื้นเอเชียแผ่นดินใหญ่ (Asia Continental)
ต่อมาในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2500 จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ผู้บัญชาการทหารบกในขณะนั้น ลงนามแต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินการวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก เพื่อจัดทำโครงการจัดตั้งสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก พร้อมอำนวยการและควบคุมการดำเนินกิจการ รวมถึงแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อปฏิบัติงานให้ได้ผลตามมุ่งหมาย และในวันที่ 24 มิถุนายน ปีเดียวกัน คณะกรรมการประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์อาคารที่ทำการภายในบริเวณกองพลทหารม้าที่ 2 รักษาพระองค์ ย่านสนามเป้า ถนนพหลโยธิน โดยทำสัญญายืมเงินจากกองทัพบกเพื่อก่อสร้างและจัดหาอุปกรณ์จำนวน 10,101,212 บาท
เมื่อวันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2501 สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก (ชื่อรหัส: HSATV ชื่อย่อ: ททบ.) เริ่มต้นออกอากาศเป็นปฐมฤกษ์เป็นแห่งที่ 2 ของประเทศไทย ด้วยรถตู้ถ่ายทอดหน้าสวนอัมพร แพร่ภาพแบบขาวดำในระบบ 525 เส้น 30 อัตราภาพ ผ่านคลื่นวิทยุความถี่สูงมากเช่นกัน แต่ออกอากาศทางช่องสัญญาณที่ 7 ด้วยเครื่องส่งของบริษัทปายแห่งอังกฤษ กำลังส่ง 5 กิโลวัตต์ ทวีกำลังเพิ่มขึ้นได้ 12 เท่า บนสายอากาศสูง 300 ฟุต รวมกำลังส่งทั้งสิ้น 60 กิโลวัตต์ สำหรับเนื้อหาที่แพร่ภาพนั้น นอกจากไทยทีวีช่อง 4 จะนำเสนอรายการสนทนา ตอบคำถามชิงรางวัล การแสดง และละครตามปกติแล้ว รัฐบาลยังสั่งให้นำเสนอรายการพิเศษ ในโอกาสสำคัญหลายครั้ง เช่น แถลงการณ์ของนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรี, การประชุมสภาผู้แทนราษฎร รวมทั้งถ่ายทอดงานฉลอง 25 พุทธศตวรรษด้วย ส่วน ททบ.7 นำเสนอสารคดี ภาพยนตร์ต่างประเทศ และเกมโชว์เปิดแผ่นป้ายชิงรางวัล ร่วมกับรายการพิเศษ เช่น ถ่ายทอดการฝึกทหารยามปกติในชื่อ "การฝึกธนะรัชต์" เป็นต้น
คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อปี พ.ศ. 2502 ให้จัดตั้งหน่วยงานระดับกองในสังกัดกรมประชาสัมพันธ์ขึ้นในส่วนภูมิภาค ภายใต้ชื่อว่า "ศูนย์ประชาสัมพันธ์เขต" (ปัจจุบันคือ สำนักประชาสัมพันธ์เขต) และเริ่มจัดตั้งสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย ส่วนภูมิภาค ภายในศูนย์ประชาสัมพันธ์เขตทั้ง 3 แห่ง ด้วยงบประมาณ 25 ล้านบาท ทยอยเริ่มออกอากาศตั้งแต่ราวเดือนเมษายน - พฤษภาคม พ.ศ. 2505 ด้วยเครื่องส่ง 500 วัตต์ แพร่ภาพขาวดำ 525 เส้น 30 อัตราภาพเช่นเดียวกับในส่วนกลาง ประกอบด้วย สทท.ลำปาง ภาคเหนือ ช่องสัญญาณที่ 8, สทท.ขอนแก่น ภาคอีสาน ช่องสัญญาณที่ 5 และ สทท.สงขลา ภาคใต้ ช่องสัญญาณที่ 9 ต่อมากรมประชาสัมพันธ์ปรับปรุงเครื่องส่งเป็นระบบสีทั้งหมดและจัดตั้งเพิ่ม ปัจจุบันจึงมีทั้งสิ้น 12 แห่ง
อนึ่ง ไทยทีวีช่อง 4 และ ททบ.7 เคยร่วมกันถ่ายทอดการแข่งขันกีฬานานาชาติ 2 รายการที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ คือเอเชียนเกมส์ครั้งที่ 5 และกีฬาแหลมทองครั้งที่ 4 นำไปสู่การจับมือกันก่อตั้งโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย เพื่ออำนวยการปฏิบัติงานระหว่างสถานีโทรทัศน์ทั้งหมดเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2511 ซึ่งมีภารกิจสำคัญในระยะแรกคือถ่ายทอดการส่งมนุษย์ขึ้นยานอวกาศอะพอลโล 11 ของนาซาในสหรัฐ ไปลงดวงจันทร์ครั้งแรกเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2512, ถ่ายทอดสดเอเชียนเกมส์ครั้งที่ 6 ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ รวมถึงการถ่ายทอดสดพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี หลังเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลา เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 เป็นต้น
เปลี่ยนผ่านสู่โทรทัศน์สีระบบยุโรป (2510-2517)
[แก้]แต่เดิม ประเทศไทยใช้ระบบแพร่ภาพ 525 เส้น 30 อัตราภาพ ดังที่ใช้ในสหรัฐ ซึ่งใช้กำลังไฟฟ้าเพียง 110 โวลต์ แต่ไทยใช้กำลังไฟฟ้า 220 โวลต์เช่นเดียวกับในทวีปยุโรป จึงต้องใช้เครื่องแปลงความถี่ไฟฟ้าที่สิ้นเปลือง คณะรัฐมนตรีจึงมีมติให้ทยอยดำเนินการปรับปรุงระบบแพร่ภาพเป็น 625 เส้น 25 อัตราภาพ ดังที่ใช้ในทวีปยุโรป ซึ่งใช้กำลังไฟฟ้าเท่ากับในไทย เพื่อลดความซับซ้อนในการออกอากาศ โดยให้ดำเนินการเปลี่ยนผ่านคู่ขนานกันไป เพราะแม้จะใช้คลื่นความถี่สูงมากเหมือนกัน แต่ก็ไม่รบกวนการออกอากาศ และยังใช้เครื่องรับสัญญาณต่างกัน โดยสามารถติดตั้งตัวรับสัญญาณระบบใหม่ในโทรทัศน์เครื่องเดิมเพิ่มเติมได้
ต่อมา จอมพลประภาส จารุเสถียร ผู้บัญชาการทหารบกในขณะนั้น มีนโยบายให้คณะกรรมการควบคุมวิทยุและโทรทัศน์ของกรมการทหารสื่อสาร กองทัพบกลงมติให้ร่วมกับบริษัท กรุงเทพโทรทัศน์และวิทยุ จำกัด (อังกฤษ: Bangkok Broadcasting & Television Co., Ltd; ชื่อย่อ: บีบีทีวี, BBTV) ทดลองใช้เครื่องส่งโทรทัศน์สีของบริษัทฟิลิปส์แห่งฮอลแลนด์ ระบบแพร่ภาพ 625 เส้น 25 อัตราภาพ โดยบันทึกภาพการประกวดนางสาวไทย ภายในงานวชิราวุธานุสรณ์ ที่พระราชวังสราญรมย์ ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2510 มาออกอากาศใน 2 วันถัดมา คือวันที่ 27 พฤศจิกายน ผ่านคลื่นวีเอชเอฟในระบบสีทางช่องสัญญาณที่ 7 และออกอากาศคู่ขนานด้วยระบบขาวดำทางช่องสัญญาณที่ 9 นับเป็นการออกอากาศวันแรกของ สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7[9]
หลังจากนั้นก็ยุติการแพร่ภาพชั่วคราว เพื่อดำเนินการในทางเทคนิค และเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม มีการประกอบพิธีสถาปนาบีบีทีวีและเริ่มออกอากาศอย่างเป็นทางการเป็นวันแรกของช่อง 7 สี และในปีถัดมาคือปี พ.ศ. 2511 คณะกรรมการฯ ทำสัญญากับบีบีทีวี ซึ่งกำหนดให้จัดสร้างอาคารที่ตั้งช่อง 7 สี ภายใน ททบ.สนามเป้า พร้อมติดตั้งเครื่องส่งโทรทัศน์สี กำลังออกอากาศ 500 วัตต์ เพื่อมอบทั้งหมดให้แก่ ททบ. แผนกวิทยุโทรทัศน์ กองการกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ กรมการทหารสื่อสาร แล้วจึงทำสัญญาเช่าช่วงจาก ททบ. แผนกวิทยุโทรทัศน์ กองการกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ กรมการทหารสื่อสาร เป็นระยะเวลา 10 ปี เพื่อบริหารงานอีกทอดหนึ่ง โดยใน 2 ปีแรก (จนถึงปี พ.ศ. 2513) ใช้บุคลากรและห้องส่งร่วมกับ ททบ. พร้อมทั้งนำรถประจำทางเก่า 3 คัน เข้าไปจอดไว้ในที่ทำการ ททบ.สนามเป้า แล้วรื้อที่นั่งออกทั้งหมด เพื่อใช้ติดตั้งอุปกรณ์ต่าง ๆ และเมื่อวันที่ 4 มีนาคม ปีเดียวกัน บจก.ไทยโทรทัศน์ ทำสัญญาดำเนินกิจการส่งโทรทัศน์สีร่วมกับ บริษัท บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ จำกัด (อังกฤษ: Bangkok Entertainment Company Limited; ชื่อย่อ: บีอีซี; BEC) มีอายุสัญญา 10 ปี
เมื่อวันที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2512 บีบีทีวีจัดหาเครื่องส่งโทรทัศน์สีกำลังส่ง 10 กิโลวัตต์ พร้อมเสาอากาศสูง 570 ฟุต และเครื่องส่งวิทยุกระจายเสียงเอฟเอ็ม กำลังส่ง 1 กิโลวัตต์ ส่งมอบให้แก่ ททบ. ต่อมาในวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2513 จอมพลถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น เป็นประธานในพิธีเปิด สถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 [10][11] (ชื่อสากล: HS-TV 3[12]) ซึ่งดำเนินการโดยบีอีซี และเริ่มออกอากาศอย่างเป็นทางการตั้งแต่เวลา 10:00 น.[10] ด้วยเครื่องส่งโทรทัศน์สีระบบแพร่ภาพ 625 เส้น 25 อัตราภาพ 25 กิโลวัตต์ 2 เครื่อง ขนานกัน รวมกำลังส่ง 50 กิโลวัตต์ เสาส่งสัญญาณสูง 250 เมตร ขยายกำลังออกอากาศได้สูงสุด 13 เท่า กำลังสัญญาณที่ปลายเสาอยู่ที่ 650 กิโลวัตต์ ออกอากาศผ่านคลื่นวิทยุย่านความถี่สูงมากทางช่องสัญญาณที่ 3 ซึ่งอยู่ในช่วงต่ำ (low band) และเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน ปีเดียวกัน บีบีทีวีย้ายเข้าใช้อาคารที่ทำการถาวรของช่อง 7 สี บริเวณหลังสถานีขนส่งสายเหนือ (หมอชิต) แห่งเดิม[13]
สรุปการออกอากาศของโทรทัศน์ในประเทศไทยระหว่างปี พ.ศ. 2513 - 2517 เป็นดังนี้
- ระบบ 525 เส้น 30 อัตราภาพ (ขาวดำทั้งหมด)
- ไทยทีวีสีช่อง 3 ทางช่องสัญญาณที่ 2
- ไทยทีวีช่อง 4 ทางช่องสัญญาณที่ 4/11/12
- ททบ.7 ทางช่องสัญญาณที่ 7
- ช่อง 7 สี ทางช่องสัญญาณที่ 9
- ระบบ 625 เส้น 25 อัตราภาพ
- ไทยทีวีสีช่อง 3 ทางช่องสัญญาณที่ 3 เป็นภาพสี
- ททบ.7 ทางช่องสัญญาณที่ 5 เป็นภาพขาวดำ
- ช่อง 7 สี ทางช่องสัญญาณที่ 7 เป็นภาพสี
- ไทยทีวีช่อง 4 ทางช่องสัญญาณที่ 9 เป็นภาพขาวดำ
นอกจากนี้ ทั้ง 4 ช่องยังมีคลื่นวิทยุซึ่งจัดสรรไว้สำหรับกระจายเสียงภาษาต่างประเทศ ในภาพยนตร์หรือรายการจากต่างประเทศ โดยไทยทีวีช่อง 4 ใช้สถานีวิทยุ ท.ท.ท. เอฟเอ็ม 100.5 เมกะเฮิร์ตซ์ และในสัญญากับบีอีซียังให้ยกคลื่นเอฟเอ็ม 105.5 เมกะเฮิร์ตซ์ ของสถานีวิทยุ ท.ท.ท. ให้แก่ไทยทีวีสีช่อง 3 เพื่อใช้ในการนี้ ส่วน ททบ.7 ใช้สถานีวิทยุกระจายเสียงกองทัพบก ททบ. (วส.ททบ.) เอฟเอ็ม 94.0 เมกะเฮิร์ตซ์ และในสัญญากับบีบีทีวียังให้ยกคลื่นความถี่เอฟเอ็ม 103.5 เมกะเฮิร์ตซ์ ของ วส.ททบ. ให้แก่ช่อง 7 สี เพื่อใช้ในการนี้
ปรับปรุงพัฒนา (2517-2527)
[แก้]ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2513 บจก.ไทยโทรทัศน์ เริ่มแพร่ภาพด้วยระบบ 625 เส้น 25 อัตราภาพ ในระบบวีเอชเอฟ ทางช่องสัญญาณที่ 9[14] ซึ่งจะเป็นภาพสีหรือขาวดำขึ้นอยู่กับเนื้อหาที่แพร่ภาพ ด้วยเครื่องส่งที่บีอีซีมอบให้ตามสัญญา คู่ขนานไปกับไทยทีวีช่อง 4 ด้วยภาพขาวดำทั้งช่อง โดยรายการแรกที่ออกอากาศภาพสีทางช่อง 9 คือการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกครั้งที่ 9 นัดชิงชนะเลิศ ระหว่างทีมชาติบราซิล กับทีมชาติอิตาลี ซึ่งตามเวลาประเทศไทย ตรงกับเช้าวันที่ 22 มิถุนายน ทว่าในระยะเดียวกัน มีการเคลื่อนย้ายห้องส่งโทรทัศน์ รวมถึงสำนักงานทั้งหมด ไปยังอาคารพาณิชย์ขนาด 5 คูหาย่านถนนพระสุเมรุ แขวงบางลำพู เนื่องจากธนาคารแห่งประเทศไทย เสนอซื้ออาคารและสิ่งปลูกสร้างทั้งหมดบนที่ดินบริเวณที่ทำการ บจก.ไทยโทรทัศน์
ต่อมาในปี พ.ศ. 2516 ททบ.อนุมัติให้แก้ไขระยะเวลาเช่าช่วงของช่อง 7 สี ตามที่ระบุในสัญญาซึ่งทำไว้กับบีบีทีวีออกไปเป็น 15 ปี จนถึง พ.ศ. 2527 และหลังวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2517 บจก.ไทยโทรทัศน์ ได้ยุติการแพร่ภาพขาวดำทางช่องสัญญาณที่ 4 และปรับปรุงการแพร่ภาพทางช่อง 9 เป็นโทรทัศน์สีอย่างสมบูรณ์ กลายเป็น สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 9[15] และในวันที่ 3 ตุลาคม ปีเดียวกัน ททบ. ได้เปลี่ยนระบบการแพร่ภาพจากขาวดำทางช่อง 7 ไปใช้ระบบสีทางช่อง 5 จากนั้นเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม ปีเดียวกัน ก็เริ่มทดลองออกอากาศด้วยภาพสีเป็นครั้งแรกโดยถ่ายทอดสดพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณตนและสวนสนามของทหารรักษาพระองค์ เนื่องในพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษาประจำปี จากลานพระราชวังดุสิต และเมื่อปี พ.ศ. 2518 ยังเพิ่มกำลังส่งออกอากาศจากสถานีหลักย่านสนามเป้าอีก 2 เท่า เป็น 400 กิโลวัตต์ รวมทั้งเริ่มออกอากาศเป็นภาพสีอย่างสมบูรณ์ทั้งช่องด้วย
เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2520 คณะรัฐมนตรีได้ยุบเลิก บจก.ไทยโทรทัศน์ จากการรายงานข่าวในเหตุการณ์ 6 ตุลา และเมื่อวันที่ 26 มีนาคม ได้มีพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย (อังกฤษ: The Mass Communication Organisation of Thailand; ชื่อย่อ: อ.ส.ม.ท. (M.C.O.T.)) เป็นรัฐวิสาหกิจสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี โดยให้รับโอนกิจการทั้งหมดต่อจาก บจก.ไทยโทรทัศน์ ตั้งแต่วันที่ 9 เมษายน ปีเดียวกัน ซึ่งถือเป็นวันสถาปนา อ.ส.ม.ท. ส่งผลให้สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 9 เปลี่ยนชื่อเป็น สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 9 อ.ส.ม.ท. โดยอัตโนมัติ
เมื่อวันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2521 อ.ส.ม.ท. ต่อสัมปทานกับบีอีซีของไทยทีวีสีช่อง 3 จากเดิมออกไปอีก 10 ปี จนถึง 25 มีนาคม พ.ศ. 2533 และในปี พ.ศ. 2521 นั้นเอง ททบ.ร่วมกับบีบีทีวีเช่าช่องสัญญาณดาวเทียมปาลาปาของอินโดนีเซีย เพื่อถ่ายทอดสัญญาณช่อง 7 สี จากสถานีหลักไปสู่สถานีเครือข่ายทุกภูมิภาคเป็นสถานีแรกของประเทศไทย นอกจากนี้ยังเช่าสัญญาณดาวเทียมนานาชาติ (อินเทลแซท) ถ่ายทอดภาพข่าวจากทั่วโลกมายังประเทศไทย พร้อมจัดตั้งสถานีถ่ายทอดสัญญาณผ่านดาวเทียมเพิ่มขึ้นทั่วประเทศ[13] ต่อมาเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2524 เวลา 09:25 น. สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดอาคารที่ทำการ อ.ส.ม.ท. ถนนพระราม 9 ซึ่งมีห้องส่งโทรทัศน์ขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทยในขณะนั้น[16] และในปี พ.ศ. 2525 คณะกรรมการควบคุมวิทยุและโทรทัศน์ของกองทัพบกอนุมัติให้บีบีทีวีแก้ไขอายุสัญญาเช่าช่อง 7 สี ออกไปอีก 12 ปี เป็นเวลารวม 27 ปี จนถึงปี พ.ศ. 2539
อนึ่ง หลังจากที่วงการบันเทิงมีรางวัลผลงานภาพยนตร์ดีเด่น ต่อมาวงการโทรทัศน์ก็มีการสถาปนา งานประกาศผลและมอบรางวัล ผลงานดีเด่นทางโทรทัศน์เช่นกัน คือ รางวัลเมขลา โดยสมาคมผู้สื่อข่าวบันเทิงแห่งประเทศไทย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2523 และโทรทัศน์ทองคำ โดยชมรมส่งเสริมโทรทัศน์ และมูลนิธิจำนง รังสิกุล ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2529 และทั้ง 2 รางวัลยังดำรงอยู่จนถึงปัจจุบัน ทั้งเป็นต้นแบบให้แก่อีกหลายรางวัลที่ก่อตั้งขึ้นในระยะหลัง
กำเนิดโทรทัศน์แห่งชาติ (2528-2535)
[แก้]15 มกราคม พ.ศ. 2528 คณะรัฐมนตรีมีมติให้กรมประชาสัมพันธ์จัดทำ โครงการสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งชาติ เพื่อเป็นสถานีโทรทัศน์เพื่อการศึกษา เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารสู่ประชาชน และเพื่อประโยชน์สาธารณะ เสริมสร้างความเข้าใจอันดีระหว่างรัฐบาลกับประชาชน เป็นแม่ข่ายให้แก่โทรทัศน์ส่วนภูมิภาคทั่วประเทศ โดยกรมประชาสัมพันธ์เริ่มดำเนินการด้วยการย้ายเครื่องส่งโทรทัศน์สีจากอำเภอเด่นชัย จังหวัดแพร่ มาติดตั้งในศูนย์ระบบโทรทัศน์ที่ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ กรุงเทพมหานคร และทดลองออกอากาศผ่านคลื่นวิทยุในย่านความถี่สูงมากทางช่องสัญญาณที่ 11 เมื่อต้นเดือนตุลาคม พ.ศ. 2528 ภายใต้ชื่อ สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย ช่อง 11 กรมประชาสัมพันธ์ (สทท.11)[17] ก่อนจะแพร่ภาพเป็นประจำทุกวัน ระหว่างเวลา 16:30 - 21:00 น. ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2529
ทั้งนี้ระหว่างปี พ.ศ. 2528 - 2531 บริษัท แปซิฟิก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท แปซิฟิกอินเตอร์คอมมิวนิเคชั่น จำกัด) ตอบรับคำเชิญของประมุท สูตะบุตร ผู้อำนวยการ อ.ส.ม.ท. คนแรก ที่ขอให้เข้ามาช่วยปรับปรุงการนำเสนอข่าว 9 อ.ส.ม.ท. ของสำนักข่าวไทย โดยกำหนดให้อรุณโรจน์ เลี่ยมทอง เป็นผู้ประกาศในรายการ "ข่าวรับอรุณ" รายการภาคเช้าที่ริเริ่มขึ้นครั้งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2523 และมอบหมายให้สมเกียรติ อ่อนวิมล อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และพิธีกรรายการความรู้คือประทีปในขณะนั้น เป็นหัวหน้าผู้ประกาศข่าวภาคค่ำ ร่วมด้วยกรรณิกา ธรรมเกษร ผู้ประกาศข่าวเดิมของช่อง 9 จนกลายเป็นผู้ประกาศข่าวคู่ที่มีชื่อเสียงที่สุดของยุคนั้น รวมทั้งสร้างชื่อเสียงให้แก่ผู้ประกาศข่าวและผู้สื่อข่าวหลายคน
ต่อมาประเทศญี่ปุ่นจัดโครงการช่วยเหลือกรมประชาสัมพันธ์แบบให้เปล่าที่วงเงิน 2,062 ล้านเยน (ขณะนั้นคิดเป็นเงินไทยประมาณ 300 ล้านบาท) ผ่านองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศ เพื่อก่อสร้างอาคารที่ทำการ จัดซื้อและติดตั้งอุปกรณ์และเครื่องส่ง ภายใน 9 เดือน เนื่องจากกรมประชาสัมพันธ์มีงบจำกัด รวมทั้งเครื่องส่งมีกำลังต่ำ ระหว่างนั้น สทท.11 ต้องหยุดออกอากาศชั่วคราวตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน และในวันที่ 16 กรกฎาคม ปีเดียวกัน อ.ส.ม.ท. ทำสัญญาขยายเครือข่ายโทรทัศน์ทั่วประเทศร่วมกับบีอีซี เพื่อจัดตั้งสถานีส่งพร้อมอุปกรณ์ออกอากาศร่วมกันระหว่างไทยทีวีสีช่อง 3 และไทยทีวีสีช่อง 9 อ.ส.ม.ท. จำนวน 31 แห่ง ในเวลา 5 ปี ตั้งแต่ต้นเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2531 - กรกฎาคม พ.ศ. 2534 แลกกับการต่อสัมปทานออกไปอีก 30 ปี จนถึง 25 มีนาคม พ.ศ. 2563 ทำให้ทั้ง 2 ช่องออกอากาศครอบคลุมได้ถึง 89.7% ของประเทศ ให้บริการได้ถึง 96.3% ของจำนวนประชากร[10][11] โดยรับสัญญาณจากสถานีส่งหลักในกรุงเทพมหานครผ่านดาวเทียมอินเทลแซต และเครื่องรับสัญญาณไมโครเวฟจากดาวเทียมสื่อสาร
ต่อมาในวันที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2531 เวลา 10:00 น. สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิดอาคารที่ทำการ สทท.11 ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ อย่างเป็นทางการ[18] สทท.11 จึงกำหนดให้วันดังกล่าวเป็นวันคล้ายวันสถาปนาสถานีฯ ต่อมาจึงเริ่มกลับมาออกอากาศรายการภาคเช้า ข่าวภาคค่ำ รายการเพื่อการศึกษา และรายการอื่น ๆ ไปยังสถานีส่วนภูมิภาค ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2531 จนถึงปัจจุบัน
กำเนิดโทรทัศน์เสรี ยุครุ่งเรืองของรายการข่าว (2535-2540)
[แก้]ส่วนนี้รอเพิ่มเติมข้อมูล คุณสามารถช่วยเพิ่มข้อมูลส่วนนี้ได้ |
เนื่องจากสถานีโทรทัศน์ในประเทศไทยในขณะนั้นมีเพียง 5 ช่อง และมีถึง 3 ช่องที่หน่วยงานของรัฐบาลและรัฐวิสาหกิจดำเนินการเอง (ททบ.5, ไทยทีวีสีช่อง 9 อ.ส.ม.ท. และ สทท.11) รวมถึงอีก 2 ช่องที่เอกชนดำเนินงานผ่านสัมปทานกับหน่วยงานของรัฐ (ไทยทีวีสีช่อง 3 และช่อง 7 สี) ประชาชนจึงเชื่อว่าในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2535 มีการใช้อำนาจรัฐบิดเบือนข้อมูลข่าวสารทางการเมือง ทำให้ผู้ชมไม่สามารถรับรู้ความจริงเกี่ยวกับวิกฤตการเมืองขณะนั้นได้ตามปกติ รัฐบาลถัดมาจึงมีดำริจัดตั้งสถานีโทรทัศน์เสรี เพื่อนำเสนอข่าวสารและสาระความรู้ไปสู่ประชาชนทั่วประเทศ ด้วยการเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนเช่าสัมปทานเพื่อเป็นอิสระอย่างแท้จริง
โดยสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) จัดสรรช่องสัญญาณที่ 26 ในย่านความถี่สูงยิ่ง (UHF) เพื่อเปิดประมูลสัมปทาน ให้เข้าดำเนินกิจการสถานีโทรทัศน์เสรีเมื่อปี พ.ศ. 2538 ซึ่งผู้ชนะคือ กลุ่มบริษัท สยามทีวีแอนด์คอมมิวนิเคชั่นส์ จำกัด นำโดยธนาคารไทยพาณิชย์ ได้เข้ามาดำเนินโครงการดังกล่าว โดยก่อตั้งบริษัท สยามอินโฟเทนเมนต์ จำกัด ขึ้นมาใหม่ เพื่อดำเนินกิจการนี้ และลงนามในสัมปทานกับ สปน. เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม ปีเดียวกัน โดยตั้งชื่อว่า สถานีโทรทัศน์ไอทีวี และเริ่มออกอากาศอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2539 โดยวางนโยบายให้ความสำคัญกับรายการข่าวและสถานการณ์ปัจจุบัน ทั้งนี้ กลุ่มสยามอินโฟเทนเมนต์มอบหมายให้เครือเนชั่นซึ่งเข้าร่วมถือหุ้น 10% เช่นเดียวกับนิติบุคคลผู้ถือหุ้นรายอื่น เป็นองค์กรหลักในการบริหารจัดรายการข่าว และส่งเทพชัย หย่อง มาเป็นบรรณาธิการข่าวคนแรกของไอทีวี เพื่อฝึกอบรมผู้สื่อข่าวและผู้ประกาศข่าว ส่งผลให้ข่าวไอทีวีมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จัก รวมถึงได้รับรางวัลมากมาย ตลอดระยะเวลา 11 ปีเศษของสถานีฯ
น่าสังเกตว่า นับแต่ช่วงเวลาก่อนหน้านี้ ผู้ชมให้ความสนใจรายการสนทนาเชิงข่าว (News Talk) กระทั่งมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักในยุคดังกล่าว อาทิ สนทนาปัญหาบ้านเมือง ซึ่งเริ่มขึ้นในราวปี พ.ศ. 2524 ที่กรมการทหารสื่อสารเป็นเจ้าของ ออกอากาศทาง ททบ.5 และช่อง 7 สี, มองต่างมุม ซึ่งเริ่มจัดขึ้นในราวปี พ.ศ. 2532 โดยมูลนิธิสื่อสร้างสรรค์เป็นเจ้าของ ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง ดำเนินรายการ และออกอากาศทาง, เนชั่นนิวส์ทอล์ก (เดิมจะให้ชื่อว่า "เฟซเดอะเนชั่น; Face the Nation" แต่เมื่อเริ่มออกอากาศจริงก็เปลี่ยนชื่อ) ซึ่งเริ่มจัดขึ้นเมื่อวันที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2536 โดยบริษัท แน็ทค่อน มีเดีย จำกัด ในเครือเนชั่น (บมจ.NBC ในปัจจุบัน) เป็นเจ้าของ สุทธิชัย หยุ่น ดำเนินรายการ ออกอากาศทางไทยทีวีสีช่อง 9 อ.ส.ม.ท., ตรงประเด็น ซึ่งเริ่มจัดขึ้นในราวปี พ.ศ. 2536 โดยสำนักข่าวไทยของ อ.ส.ม.ท. เป็นเจ้าของ ถวัลย์ศักดิ์ สุขะวรรณ ผู้อำนวยการสำนักข่าวไทยในขณะนั้นดำเนินรายการ ออกอากาศทางไทยทีวีสีช่อง 9 อ.ส.ม.ท., กรองสถานการณ์ ซึ่งเริ่มจัดขึ้นในราวปี พ.ศ. 2536 โดยสำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์เป็นเจ้าของ สมฤทธิ์ ลือชัย กับอดิศักดิ์ ศรีสม ดำเนินรายการ ออกอากาศทาง สทท.11 เป็นต้น
ยุคปรับตัวเพื่ออยู่รอด (2540-2550)
[แก้]ส่วนนี้รอเพิ่มเติมข้อมูล คุณสามารถช่วยเพิ่มข้อมูลส่วนนี้ได้ |
ในปี พ.ศ. 2541 ททบ.5 จัดตั้งสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมไทยทีวีโกลบอลเน็ตเวิร์ก ออกอากาศ 177 ประเทศทั่วโลก ต่อมาวันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2546 คณะรัฐมนตรีมีมติให้แปลงสภาพ อ.ส.ม.ท. เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทมหาชนจำกัดในชื่อ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) (บมจ.อสมท) โดยมีผลเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2547
ล้มโทรทัศน์เสรี - ตั้งโทรทัศน์สาธารณะ (2550-2556)
[แก้]ส่วนนี้รอเพิ่มเติมข้อมูล คุณสามารถช่วยเพิ่มข้อมูลส่วนนี้ได้ |
เมื่อปี พ.ศ. 2547 คณะอนุญาโตตุลาการลดอัตราสัมปทานแก่ไอทีวีให้ชำระ 230 ล้านบาทต่อปี พร้อมกับอนุญาตให้ไอทีวีแก้ไขสัดส่วนการออกอากาศสาระต่อบันเทิงจาก 70:30 เป็น 50:50 รวมถึงการปรับโครงสร้างภายในบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ซึ่งเปลี่ยนชื่อจากสยามอินโฟเทนเมนต์ เมื่อปี พ.ศ. 2541 เพื่อให้ไอทีวีอยู่รอดทางธุรกิจ
ทว่าศาลปกครองสูงสุดกลับวินิจฉัยให้เพิกถอนคำสั่ง ส่งผลให้ บมจ.ไอทีวี ต้องจ่ายค่าสัมปทานสำหรับเช่าสถานีโทรทัศน์ไอทีวีเป็นเงิน 1,000 ล้านบาทต่อปีตามเดิม และต้องปรับเพิ่มสัดส่วน ให้รายการข่าวและสาระ เป็นร้อยละ 70 ต่อรายการบันเทิง ร้อยละ 30 ตามเดิมด้วย นอกจากนี้ บมจ.ไอทีวี ยังต้องชำระค่าปรับจากการเปลี่ยนแปลงผังรายการ ที่ไม่เป็นไปตามสัญญาสัมปทาน คิดเป็นร้อยละ 10 ของค่าสัมปทานแต่ละปี คิดเป็นรายวัน วันละ 100 ล้านบาท นับแต่เริ่มปรับผังรายการ เป็นระยะเวลา 2 ปี
อย่างไรก็ตาม บมจ.ไอทีวี ก็ไม่สามารถจ่ายค่าสัมปทานและค่าเสียหายดังกล่าวได้ ในที่สุดเมื่อวันที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2550 คณะรัฐมนตรีจึงมีมติยกเลิกสัญญาสัมปทานจัดตั้งสถานีโทรทัศน์เสรี พร้อมทั้งสั่งให้ยุติการออกอากาศสถานีโทรทัศน์ไอทีวี เมื่อเวลา 24.00 น. วันเดียวกัน โดยมอบหมายให้กรมประชาสัมพันธ์เข้ากำกับดูแลการออกอากาศและรับโอนกิจการสถานีโทรทัศน์ โดยให้ชื่อใหม่ว่า สถานีโทรทัศน์ทีไอทีวี ซึ่งออกอากาศในวันถัดไป และยังได้จัดตั้งสำนักงานบริหารกิจการสถานีวิทยุโทรทัศน์ระบบยูเอชเอฟเฉพาะกิจ (หน่วยบริการรูปแบบพิเศษ) ขึ้น เพื่อเป็นหน่วยงานรับผิดชอบไปจนกว่าจะมีความแน่นอนในการดำเนินกิจการ ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2550[19]
ต่อมาเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2550 มีการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เพื่อลงมติแปรสภาพ 1 ใน 2 กิจการสถานีโทรทัศน์ที่กรมประชาสัมพันธ์กำกับดูแล คือ สทท. และทีไอทีวี เป็นสถานีวิทยุโทรทัศน์สาธารณะตามข้อเสนอของทางภาครัฐ ผลปรากฏว่ามติเสียงข้างมาก 106 ต่อ 44 เสียง ให้แปรสภาพทีไอทีวีเป็นสถานีวิทยุโทรทัศน์สาธารณะ ดังนั้น หลังจากพระราชบัญญัติองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2551 ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา และมีผลบังคับใช้ในวันที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2551 แล้ว[20] สปน. จึงทำหนังสือถึงกรมประชาสัมพันธ์ให้ดำเนินการตาม พ.ร.บ. ส.ส.ท. กรมประชาสัมพันธ์จึงออกหนังสือคำสั่งที่ 25/2551 ให้ทีไอทีวียุติการออกอากาศตั้งแต่เวลา 00.08 น. ของวันที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2551[21] และเพื่อให้ ส.ส.ท. ดำเนินการออกอากาศอย่างต่อเนื่อง จึงโอนกิจการทีไอทีวีไปสังกัด ส.ส.ท. ตามมาตรา 57 ของ พ.ร.บ. ส.ส.ท. ในวันเดียวกันที่มีการเปลี่ยนผ่านการออกอากาศ พร้อมกับเชื่อมต่อรับสัญญาณการออกอากาศชั่วคราวจากอาคาร สทท. ถนนเพชรบุรีตัดใหม่จนถึงวันที่ 31 มกราคม โดยใช้เวลาเพียง 16 วัน[22] ในชื่อสถานีโทรทัศน์ทีพีบีเอส ซึ่งต่อมาได้เริ่มดำเนินงานอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ และในปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส
เปลี่ยนผ่านสู่ระบบโทรทัศน์ดิจิทัล (2556-ปัจจุบัน)
[แก้]ตามแผนแม่บทการบริหารคลื่นความถี่ พ.ศ. 2555 กำหนดให้เริ่มต้นรับส่งสัญญาณวิทยุโทรทัศน์ภาคพื้นดินด้วยระบบดิจิทัล ภายในเวลา 4 ปี นับแต่วันที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2555 ซึ่งประกาศแผนแม่บทฉบับดังกล่าว และสืบเนื่องด้วยแผนแม่บทกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ฉบับที่ 1 (กรอบการดำเนินงานอยู่ในช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2555 - 2559) มีการกำหนดยุทธศาสตร์ และระยะเวลาในการเปลี่ยนผ่านการออกอากาศโทรทัศน์ภาคพื้นดินจากระบบแอนะล็อกไปสู่ระบบดิจิทัล ซึ่งสามารถออกอากาศโทรทัศน์ความละเอียดสูงได้ โดยให้เริ่มรับส่งสัญญาณด้วยระบบดิจิทัลภายใน 4 ปี, ให้มีมาตรการสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาการผลิตอุปกรณ์รับสัญญาณภายใน 3 ปี, ให้มีมาตรการสนับสนุนอุปกรณ์รับสัญญาณสำหรับผู้มีรายได้น้อยภายใน 3 ปี และให้มีจำนวนครัวเรือนในเมืองใหญ่ที่สามารถรับสัญญาณดิจิทัลได้ไม่น้อยกว่า 80% ภายใน 5 ปี[23]
คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) จึงได้ประชุมภายในหลายครั้งจนได้หลักเกณฑ์ที่ชัดเจนในการจัดการบริหารช่องและคลื่นความถี่อย่างชัดเจน แต่ภายหลังได้มีการปรับลดจำนวนช่องลงเพื่อความเหมาะสม และมีการปรับเปลี่ยนเงื่อนไขอยู่ตลอด จนในที่สุดข้อกำหนดทั้งหมดได้ถูกบันทึกเอาไว้ในประกาศของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการประมูลคลื่นความถี่ เพื่อให้บริการโทรทัศน์ในระบบดิจิทัลประเภทบริการทางธุรกิจระดับชาติ พ.ศ. 2556 โดยอนุมัติช่องรายการดิจิทัลทีวีทั้งหมด 48 ช่อง เริ่มจำหน่ายซองเอกสารเงื่อนไขการประมูลช่องในวันที่ 10 - 12 กันยายน พ.ศ. 2556 และประมูลขึ้นในวันที่ 26 และ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2556 ทำให้เกิดรายได้เข้าประเทศกว่า 50,862 ล้านบาท
จากนั้นเมื่อวันที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2557 กสทช. เชิญบริษัทซึ่งผ่านการประมูลทั้งหมดมาประชุมเพื่อตกลงร่วมกันในการเลือกหมายเลขช่องที่ใช้ออกอากาศ โดยให้ผู้ที่ประมูลชนะด้วยมูลค่าเงินสูงสุดได้เลือกหมายเลขก่อนตามลำดับ และวันที่ 27 มกราคม ปีเดียวกัน กสทช. จึงประกาศหมายเลขช่องของแต่ละบริษัท และช่องทีวีดิจิทัลส่วนมากได้เริ่มทดลองออกอากาศในระบบดิจิทัลเมื่อวันที่ 1 เมษายนปีเดียวกัน ระหว่างนี้ กสทช. ได้เตรียมการเปลี่ยนผ่านโดยการแจกคูปองทีวีดิจิทัลทั่วประเทศ สำหรับนำไปใช้แลกซื้อหรือเป็นส่วนลดสำหรับอุปกรณ์รับชมทีวีดิจิทัล 3 อย่าง คือ กล่องรับสัญญาณรุ่น DVB-T2, โทรทัศน์ที่สามารถรับสัญญาณดิจิทัลได้ในตัว หรือสายอากาศ[24] ก่อนจะเริ่มขั้นตอนการเปลี่ยนผ่านระบบการออกอากาศขั้นสุดท้าย คือการยุติการออกอากาศโทรทัศน์ระบบแอนะล็อก โดยเริ่มจากไทยพีบีเอสในปี พ.ศ. 2558 ต่อมาในปี พ.ศ. 2561 สถานีโทรทัศน์ฟรีทีวีเดิมส่วนใหญ่ได้ยุติการออกอากาศทีวีแอนะล็อก กสทช. จึงกำหนดให้วันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2561 เป็นวันยุติออกอากาศทีวีแอนะล็อก ยกเว้นไทยทีวีสีช่อง 3 ที่ทำสัมปทานไว้กับ บมจ.อสมท ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจ ทำให้ไม่สามารถแก้ไขสัมปทานและยุติการออกอากาศทีวีแอนะล็อกก่อนเวลาได้ และสาเหตุดังกล่าวทำให้ไทยทีวีสีช่อง 3 ยุติการออกอากาศโทรทัศน์ระบบแอนะล็อกเป็นช่องสุดท้าย เมื่อเวลา 00:01 น. ของวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2563 ซึ่งครบ 50 ปีตามสัญญาสัมปทาน[25] และถือเป็นการเปลี่ยนผ่านสู่ทีวีดิจิทัลโดยสมบูรณ์แบบของประเทศไทย รวมระยะเวลาในการออกอากาศโทรทัศน์ระบบแอนะล็อกในประเทศไทยทั้งสิ้น 64 ปี 9 เดือน 1 วัน
อ้างอิง
[แก้]- ↑ ประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง แผนความถี่สำหรับวิทยุโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล และหนังสือแผนความถี่วิทยุ(กสทช.ผว.102-2562)กิจการโทรทัศน์ระบบดิจิตอล[ลิงก์เสีย] สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เผยแพร่เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2562
- ↑ เมื่อเริ่มกิจการโทรทัศน์ในประเทศไทย[ลิงก์เสีย] จากบล็อก โอเคเนชั่น
- ↑ หนังสือประวัติศาสตร์ อสมท 59 ปี สื่อไทย หน้า 34
- ↑ ชัยวัฒน์ ปะสุนะ. "กิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์: การศึกษาพัฒนาการกฎหมายการสื่อสารไทย คริสต์ศตวรรษที่ 20" วารสารวิชาการ กสทช. 5(5), หน้า 297. [1]
- ↑ "ขุดกรุ : จากสถานี HS 1 PJ ถึงโทรทัศน์สีสเตอริโอ". รถไฟไทยดอตคอม. 26 ตุลาคม 2549. สืบค้นเมื่อ 18 ธันวาคม 2563.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|access-date=
(help)CS1 maint: url-status (ลิงก์) - ↑ "ประวัติโทรทัศน์ในประเทศไทย". โอเคเนชั่น. 5 กรกฎาคม 2552. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-08-04. สืบค้นเมื่อ 18 ธันวาคม 2563.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|access-date=
(help) - ↑ ประวัติ อ.ส.ม.ท. องค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย เก็บถาวร 2016-03-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน จากหน้าเว็บ ประวัติและเทคโนโลยีโทรทัศน์ของ บมจ.อสมท เก็บถาวร 2020-12-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน ในเว็บไซต์ บมจ.อสมท
- ↑ "สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5". สนุก.คอม. 26 พฤศจิกายน 2556. สืบค้นเมื่อ 18 ธันวาคม 2563.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|access-date=
(help)CS1 maint: url-status (ลิงก์) - ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักงานสถิติแห่งชาติ การสำรวจเกี่ยวกับการรับวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ พ.ศ. 2511, เล่ม 86 ตอน 10 ง หน้า 241, 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2512. (ในหน้า 25 ของเอกสารตามลิงก์ ระบุตารางรายชื่อสถานีโทรทัศน์ในประเทศไทย พร้อมช่องสัญญาณที่ใช้ในขณะนั้น)
- ↑ 10.0 10.1 10.2 ประวัติสถานีฯ เก็บถาวร 2011-10-23 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน จากเว็บไซต์ไทยทีวีสีช่อง 3
- ↑ 11.0 11.1 34 ปี ช่อง 3 เก็บถาวร 2012-02-03 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน จากเว็บไซต์นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา
- ↑ ภาพหน้าอาคารสถานีฯ แสดงชื่อรหัสสากลของช่อง 3 เก็บถาวร 2011-02-19 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน จากเว็บไซต์สถานีฯ
- ↑ 13.0 13.1 ข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับสถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7 จากเว็บไซต์ช่อง 7 HD
- ↑ หนังสือประวัติศาสตร์ อสมท 59 ปี สื่อไทย (หน้า 24)
- ↑ หนังสือประวัติศาสตร์ อสมท 59 ปี สื่อไทย (หน้า 24)
- ↑ ข่าวพระราชกรณียกิจ ระหว่างเดือนตุลาคม พ.ศ. 2523-กันยายน พ.ศ. 2524 บทที่ 10 หน้า 10[ลิงก์เสีย] จากเว็บไซต์สำนักราชเลขาธิการ
- ↑ ขุดกรุ:จากสถานี HS1PJ ถึงโทรทัศน์สีสเตอริโอ* (บางส่วน) จากเว็บไซต์รถไฟไทยดอตคอม
- ↑ ข่าวพระราชกรณียกิจ ระหว่างเดือนตุลาคม พ.ศ. 2530-กันยายน พ.ศ. 2531 บทที่ 11 หน้า 6[ลิงก์เสีย] จากเว็บไซต์สำนักราชเลขาธิการ
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ให้แปลงสภาพภารกิจการดำเนินกิจการสถานีวิทยุกระจายเสียงและสถานีวิทยุโทรทัศน์ ให้แก่ส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐ ของกรมประชาสัมพันธ์ เป็นสำนักงานบริหารกิจการสถานีวิทยุโทรทัศน์ระบบ ยู เอช เอฟ เฉพาะกิจ(หน่วยบริการรูปแบบพิเศษ) พ.ศ. 2550 สืบค้นเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2560
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัติ องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย พ.ศ. ๒๕๕๑, เล่ม ๑๒๕, ตอน ๘ก, ๑๔ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๑, หน้า ๑
- ↑ คำสั่งกรมประชาสัมพันธ์ ที่ 25/2551 เรื่อง ให้สถานีวิทยุโทรทัศน์ ระบบ ยู เอช เอฟ ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2551 เดลินิวส์ออนไลน์ 14 มกราคม 2551 21:01 น.
- ↑ ปิดฉากทีไอทีวีคืนนี้ เชื่อมสัญญาณช่อง 11 ไทยรัฐออนไลน์ 14 มกราคม 2551 21:41 น.
- ↑ กสทช. "การเปลี่ยนผ่านสู่โทรทัศน์ระบบดิจิทัล." [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: http://digital.nbtc.go.th/index.php/articles-en/18-future-digital เก็บถาวร 2016-03-06 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน 2556. สืบค้น 27 ธันวาคม 2556.
- ↑ สนุก.คอม (20 ตุลาคม 2557). "เริ่มแจกคูปองทีวีดิจิตอลแล้ว!! ล็อตแรก 21 จังหวัด". www.sanook.com. สืบค้นเมื่อ 26 กรกฎาคม 2563.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ ผู้จัดการออนไลน์ (24 มีนาคม 2563). "ช่อง 3 ยุติแอนะล็อก ยกสินทรัพย์คืน อสมท". mgronline.com.com. สืบค้นเมื่อ 7 กรกฎาคม 2563.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help)
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- เว็บไซต์อย่างเป็นทางการของ กสทช. เก็บถาวร 2021-02-18 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน