สถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพ (หมอชิต)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพ (หมอชิต)
สภาพปัจจุบัน เป็นศูนย์ซ่อมบำรุงรถไฟฟ้าบีทีเอส
และลานจอดแล้วจร
ข้อมูลทั่วไป
ชื่ออื่นหมอชิตเก่า
ที่ตั้งถนนพหลโยธิน, แขวงจตุจักร, เขตจตุจักร, กรุงเทพมหานคร ไทย
พิกัด13°48′09″N 100°33′17″E / 13.802458291068087°N 100.55477073702262°E / 13.802458291068087; 100.55477073702262
เจ้าของบริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.)
รัฐวิสาหกิจในกำกับของ
กรมการขนส่งทางบก
กระทรวงคมนาคม
เช่าพื้นที่จาก
กรมธนารักษ์
สายรถโดยสารประจำทางสายเหนือ สายตะวันออกเฉียงเหนือ และสายตะวันออก
ผู้ให้บริการรถโดยสารประจำทางบริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.)
ประวัติ
เริ่มเปิดให้บริการ1 มกราคม พ.ศ. 2503
ปิดให้บริการ8 เมษายน พ.ศ. 2541
ที่ตั้ง
แผนที่

สถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพ (หมอชิต) หรือ สถานีขนส่งหมอชิตเก่า ในอดีตเป็นสถานีขนส่งที่ใช้รับส่งผู้โดยสารจากภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคกลาง และสำนักงานใหญ่ของบริษัท ขนส่ง จำกัด บนเนื้อที่ของกรมธนารักษ์จำนวน 63 ไร่ เปิดทำการเมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2503[1] แต่ปัจจุบันได้ปิดทำการและมีการก่อสร้างใหม่เป็นศูนย์ซ่อมบำรุงและศูนย์ควบคุมระบบรถไฟฟ้าของโครงการรถไฟฟ้าบีทีเอส และเป็นที่ตั้งของสำนักงานใหญ่ของบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)

ประวัติ[แก้]

เดิมพื้นที่สถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพ (หมอชิต) เป็นพื้นที่ของนายชิต นภาศัพท์[2] ชาวบางพระ จังหวัดชลบุรี โดยอดีตพื้นที่ดังกล่าวเป็นตลาดนัดที่ชาวสวนนำผลไม้มาขาย จนมักเรียกว่า "ตลาดนัดหมอชิต" รวมถึงยังมีความเกี่ยวข้องกับซอยนภาศัพท์ ถนนสุขุมวิท ที่เป็นพักนิสิตจุฬาฯ และหาดวอนนภา จ.ชลบุรี จากชื่อของภรรยาหมอชิต คือ นางวอน นภาศัพท์ เนติโพธิ์ โดยนายชิด นภาศัพท์ หรือหมอชิตเคยทำงานเป็นเสมืยนที่ห้างเต็กเฮงหยู (ปัจจุบันคือ โอสถสภา) ก่อนที่จะไปทำงานที่ห้างเพ็ญภาค (ตราพญานาค ในปัจจุบัน) เมื่อแต่งงาน ได้คิดมาเปิดร้านขายยาเองที่หน้าวัดมหรรพาราม โดยเป็นเครื่องหมายตรามังกร ต่อมาย้ายไปอยู่ที่หน้าเสาชิงช้า และปากคลองตลาด เป็นที่รู้จักของชาวบ้านในนามห้างขายยาตรามังกร หลังจากนั้นหมอชิตได้คิดปรุงยานัตถุ์เป็นผลสำเร็จ โดยอาศัยตำราโบราณจากบรรพบุรุษจนเป็นที่นิยม มีตัวแทนที่ต่างจังหวัดหลายแห่ง กิจการได้ขยับขยายไปตั้งโรงงานปรุงยาที่บ้านถนนเพชรบุรี และปัจจุบันได้เปลี่ยนมาดำเนินการในรูปบริษัท ยานัตถุ์หมอชิต [3]

สถานีขนส่งหมอชิตเปิดให้บริการเมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2503 พร้อมกันกับอีก 2 สถานี โดยสถานีขนส่งหมอชิตให้บริการในสามเส้นทางคือ สายเหนือ สายตะวันออกเฉียงเหนือ และสายตะวันออก ส่วนสถานีขนส่งเอกมัยให้บริการสายตะวันออกเลียบชายฝั่งทะเล และสถานีขนส่งสายใต้ให้บริการสำหรับสายใต้[4]

ลักษณะของสถานีตามปีที่เปิดใช้[แก้]

ในปี พ.ศ. 2503 เปิดสถานีเดินรถสายเหนือเป็นอาคารไม้ชั้นเดียว[5]

ในปี พ.ศ. 2510 ก่อสร้างอาคารสำนักงานใหญ่ พร้อมชานชาลาสถานีรถธรรมดาสายตะวันออกเฉียงเหนือ[6]

ในปี พ.ศ. 2524 เปิดใช้อาคารสถานีรถปรับอากาศ สถานีรถธรรมดาสายเหนือ[7]

ในปี พ.ศ. 2541 ย้ายสถานีรถโดยสารทั้งหมดจากตลาดหมอชิตสู่สถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพ (จตุจักร)ในปัจจุบัน เนื่องจากกรมธนารักษ์ ได้อนุมัติการใช้พื้นที่สำหรับการก่อสร้างศูนย์ซ่อมบำรุงรถไฟฟ้าบีทีเอส

สภาพในปัจจุบัน[แก้]

ในปัจจุบัน สถานีขนส่งแห่งนี้ไม่เหลือร่องรอยอาคารและตัวสถานีให้เห็นแล้ว แต่ยังมีกำแพงของสถานีขนส่งที่คงอยู่ พื้นที่ส่วนหนึ่งใช้เป็นที่จอดรถสำหรับผู้ที่มาใช้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอสสถานีหมอชิต และรถไฟฟ้ามหานครสถานีสวนจตุจักร และอีกส่วนหนึ่งเป็นศูนย์ซ่อมบำรุงใหญ่หมอชิต ของรถไฟฟ้าบีทีเอสด้วย

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2560 ที่ประชุมโครงการก่อสร้างสถานีกลางบางซื่อได้มีมติให้ บริษัท ขนส่ง จำกัด ย้าย สถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพ (จตุจักร) กลับสู่ที่ตั้งเดิม [8] โดยให้สร้างต่อไปจากชั้นดาดฟ้าของศูนย์ซ่อมบำรุงใหญ่หมอชิต และให้สร้างสะพานลอยเข้าสู่สถานีกลางบางซื่อเพื่อให้รถสามารถเข้ามารับผู้โดยสารที่สถานีกลางได้ ทั้งนี้สาเหตุมาจากที่การรถไฟแห่งประเทศไทยมีความจำเป็นต้องใช้พื้นที่ในการก่อสร้างสถานีกลางบางซื่อเพิ่มเติม ซึ่งแต่เดิม บริษัท ขนส่ง จำกัด มีแผนย้ายสถานีขนส่งไปยังที่ตั้งใหม่ในพื้นที่ของ บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) แต่เนื่องมาจากปัญหาที่บริเวณดังกล่าวยังไม่มีการปรับสีผังเมืองที่อนุญาตให้ก่อสร้างพื้นที่ค้าปลีกได้ ที่ประชุมจึงมีมติหาทางออกร่วมกันก่อนได้ข้อสรุปว่าให้ย้ายกลับไปยังที่ตั้งเดิม

อ้างอิง[แก้]

  1. "ประวัติ บริษัท ขนส่ง จำกัด". mot.go.th. กระทรวงคมนาคม. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-10-17. สืบค้นเมื่อ 2019-10-28.
  2. สุดารา สุจฉายา (8 มิถุนายน 2559). "หมอชิต หมอมี หมอเหล็ง". lek-prapai.org. มูลนิธิ เล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-07-11. สืบค้นเมื่อ 28 ตุลาคม 2562. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |access-date= (help)
  3. "โฆษณาโบราณ ตอน ยานัตถุ์หมอชิต พ.ศ. 2470". โลกหุ่น. 6 กรกฎาคม 2557.
  4. "จุดกำเนิดเครือข่ายการเดินทางด้วยรถโดยสารประจำทาง และสถานีขนส่งในกรุงเทพฯ". www.silpa-mag.com.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  5. ครบรอบวันสถาปนา บขส.30 ปี (บริษัท ขนส่ง จำกัด), ฝ่ายประชาสัมพันธ์ บริษัท ขนส่ง จำกัด, บริษัท ขนส่ง จำกัด, 2502, หน้า 81
  6. ครบรอบวันสถาปนา บขส.59 ปี (บริษัท ขนส่ง จำกัด), ฝ่ายประชาสัมพันธ์ บริษัท ขนส่ง จำกัด, บริษัท ขนส่ง จำกัด, 2532
  7. ครบรอบวันสถาปนา บขส.51 ปี (บริษัท ขนส่ง จำกัด), ฝ่ายประชาสัมพันธ์ บริษัท ขนส่ง จำกัด, บริษัท ขนส่ง จำกัด, 2524
  8. "สรุปแล้ว ย้าย บขส.หมอชิตกลับที่เดิม "คมนาคม"พร้อมติดตั้งบริการไฮเทค เลียนแบบสถานีโตเกียวญี่ปุ่น". เศรษฐกิจ. มติชนออนไลน์. 3 มิถุนายน 2560.