บริการสาธารณะ
ความหมาย
[แก้]ศาสตราจารย์ ฌ็อง ริเวโร่[1] อธิบายว่า นอกจากการใช้อำนาจของรัฐในการควบคุมการใช้สิทธิและเสรีภาพของเอกชนแล้ว องค์กรของรัฐฝ่ายบริหารยังมีอำนาจหน้าที่ในการจัดทำกิจกรรมอีกอย่างหนึ่งที่เรียกว่า "การบริการสาธารณะ" (Public Service) คือ การตอบสนองความต้องการของสังคมและปัจเจกชนที่เป็นสมาชิกของสังคมอันที่จะได้รับบริการจากภาครัฐในเรื่องที่เอกชนหรือวิสาหกิจเอกชนไม่อาจตอบสนองได้ ไม่ว่าจะเป็นการจัดให้มีบริการสาธารณะในด้านให้ความคุ้มครองความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน การจัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภคต่าง ๆ
กิจกรรมต่าง ๆ เหล่านี้จึงเป็นที่รัฐจัดทำหรือจัดให้มี (อาจมอบหมายให้เอกชนเป็นผู้ดำเนินการแทนได้แต่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐ) และบริการที่จัดทำต้องเป็นที่ต้องการของประชาชน และเอกชนต้องไม่อยู่ในฐานะที่จะจัดทำเองได้
เงื่อนไขการบริการสาธารณะ
[แก้]บริการสาธารณะจะต้องประกอบไปด้วย 2 เงื่อนไขคือ
- บริการสาธารณะจะต้องเป็นกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับนิติบุคคลมหาชน ซึ่งหมายถึง นิติบุคคลมหาชนเป็นผู้ประกอบกิจกรรมด้วยตนเอง อันได้แก่ กิจกรรมที่รัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือรัฐวิสาหกิจ เป็นผู้ดำเนินการ และยังหมายถึงกรณีที่รัฐมอบหมายกิจการของรัฐบางประการให้เอกชนเป็นผู้ดำเนินการ
- กิจการในข้อแรก จะต้องเป็นกิจกรรมที่วัตถุประสงค์เพื่อประโยชน์สาธารณะและตอบสนองความต้องการของประชาชน
บริการสาธารณะทางปกครอง
[แก้]บริการสาธารณะทางปกครอง หมายถึง กิจกรรมที่โดยสภาพแล้วเป็นหน้าที่ของรัฐ หรือฝ่ายปกครองที่ต้องจัดทำ โดยส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องของการดูแลด้านความปลอดภัยและความสงบสุขของชุมชน การป้องกันประเทศ และการคลัง เป็นต้น โดยบริการสาธารณะประเภทนี้จะอาศัยอำนาจพิเศษตามกฎหมายในการจัดทำ ตัวอย่างบริการสาธารณะทางปกครอง เช่น การทหาร การบริการด้านความมั่นคง ศาล การจัดการสิ่งแวดล้อม เป็นต้น
บริการสาธารณะทางอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรม
[แก้]บริการสาธารณะทางอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรม หรือ บริการสาธารณะที่คล้ายคลึงกับวิสาหกิจเอกชนทั้งในด้านวัตถุแห่งบริการ แหล่งที่มาของเงินทุน และวิธีปฏิบัติงาน โดยวัถุบริการจะมุ่งเน้นการบริการด้านเศรษฐกิจเหมือนกับรัฐวิสาหกิจเอกชน คือ เน้นการผลิต จำหน่วย การให้บริการ และมีการแบ่งปันผลประโยชน์ที่ได้รับ ด้านแหล่งที่มาของเงินทุน มีทั้งในส่วนที่รัฐจัดสรรเงินทุนให้ และในส่วนใหญ่มาจากที่เก็บจากค่าตอบแทนการใช้บริการจากประชาชน ตัวอย่างบริการสาธารณะทางอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรม เช่น ไฟฟ้า ประปา ไปรษณีย์ ธนาคารรัฐ สถานศึกษาของรัฐ การบริการขนส่งสาธารณะ การโทรคมนาคม เป็นต้น
โดยทั่วไปแล้วองค์การทุกแห่งย่อมมีเป้าหมายหรือวัตถุประสงค์ในการดำเนินงานเสมอ ถ้าเป็นองค์การในภาคธุรกิจเอกชน เช่น ธุรกิจที่มีผู้ประกอบการเพียงรายเดียว ห้างหุ้นส่วน บริษัทจำกัด หรือบริษัทมหาชน มักจะมีเป้าหมายที่
- ผลกำไรในการประกอบการ
- การเจริญเติบโตของกิจการ
- การทำให้องค์การสามารถดำรงอยู่และดำเนินการต่อไปได้ตราบนานเท่านาน
- รับผิดชอบต่อสังคม
องค์การกับการจัดบริการสาธารณะ
[แก้]สำหรับองค์การภาครัฐจะมีเป้าหมายในการให้บริการสาธารณะ เช่น การแก้ไขปัญหาของประชาชนไม่ว่าจะเป็นปัญหาเศรษฐกิจหรือปัญหาสังคม และการตอบสนองข้อเรียกร้องของคนในสังคม ในการจัดทำบริการสาธารณะนั้นภาครัฐได้จัดตั้งองค์การ 3 ประเภทได้แก่
- ส่วนราชการ
- รัฐวิสาหกิจ
- องค์การมหาชน
ส่วนราชการ ในพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2545 ได้จัดระเบียบบริหารราชการเป็น 3 ส่วนได้แก่
- การบริหารราชการส่วนกลาง
- การบริหารราชการส่วนภูมิภาค
- การบริหารราชการส้วนท้องถิ่น
การบริหารราชการส่วนกลางได้แก่ สำนักนายกรัฐมนตรีและกระทรวงต่าง ๆ 19 กระทรวง ในขณะเดียวกันก็มีองค์การภาครัฐที่เป็นอิสระในระดับกรมโดยไม่อยู่ในการกำกับดูแลของสำนักนายกรัฐมนตรี หรือกระทรวงใด ๆ เลยอีก 9 หน่วยงาน ในหน่วยงานทั้ง 9 นี้บางหน่วยอยู่ในการบังคับบัญชาของนายกรัฐมนตรี เช่น ราชบัณทิตยสถาน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ แต่ก็มีบางหน่วยงานที่อยู่ในบังคับบัญชาของ รมว.กระทรวงยุติธรรม เช่น สำนักงานอัยการสูงสุด การบริหารราชการส่วนภูมิภาค ได้แก่จังหวัด และอำเภอ การบริหารราชการส่วนท้องถิ่น ในปัจจุบันองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ประกอบด้วย
- เทศบาล
- องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.)
- องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.)
- กรุงเทพมหานคร
- เมืองพัทยา
รัฐวิสาหกิจ สามารถจำแนกได้หลายประเภทเช่น การรถไฟแห่งประเทศไทย องค์การขนส่งมวลชน ฯลฯ องค์การมหาชนได้จัดตั้งขึ้นเพื่อปฏิบัติภารกิจเฉพาะตามที่กำหนดไว้ในกฎหมาย โดยเฉพาะพระราชบัญญัติองค์การมหาชน พ.ศ. 2542 การดำเนินการของค์การทั้ง 3 ประเภทนี้เป็นการจัดบริการสาธารณะเพื่อประโยชน์ส่วนรวมให้แก่ประชาชนชาวไทย