คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
คณะวิทยาศาสตร์
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
Faculty of Science,
Kasetsart University
ตราประจำคณะวิทยาศาสตร์
ชื่อย่อวท.
คติพจน์เป็นเลิศทางวิทยาศาสตร์และนวัตกรรม เพื่อสร้างสรรค์สังคมที่ยั่งยืน
Excellence in Natural Science in ASEAN BY 2022
สถาปนา9 มีนาคม พ.ศ. 2509
สังกัดการศึกษามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
คณบดีรศ.ดร.อภิสิฏฐ์ ศงสะเสน
ที่อยู่
วารสารวารสารวิทยาศาสตร์ มก.[1] (หยุดพิมพ์)
เพลงวิทยาศาสตร์ปณิธาน[2]
สี███ สีน้ำเงิน[3][4][5]
มาสคอต
อะตอม
เว็บไซต์sci.ku.ac.th

คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้รับการสถาปนาเป็นคณะที่ 7 ของมหาวิทยาลัย โดยเปิดสอนหลักสูตรวิทยาศาสตร์ทั้งในระดับปริญญาตรี โท และเอก มีวัตถุประสงค์ในการจัดการเรียนการสอนในด้านวิทยาศาสตร์ ณ วิทยาเขตบางเขน โดยมีชื่อคณะเดิมว่า คณะวิทยาศาสตร์และอักษรศาสตร์ นอกจากนี้ ยังเปิดสอนหลักสูตรเตรียมแพทย์ ให้กับวิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า อีกด้วย


ในการจัดอันดับตามสาขาจาก QS world university ranking by subject [6] พบว่าสาขาวิชาของ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้รับการจัดอันดับให้ติดอันดับโลก 3 สาขา ได้แก่ Chemistry, Biological Sciences, และ Computer Science & Information Systems

ประวัติ[แก้]

เมื่อแรกสถาปนามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ในปี พ.ศ. 2486 นั้น การเรียนการสอนในสาขาวิทยาศาสตร์ ได้รับการจัดตั้งเป็นแผนกเคมี ในสังกัดคณะเกษตร และแผนกชีววิทยา ในสังกัดคณะประมง รวมทั้ง มีการสอนวิชาคณิตศาสตร์และสถิติในคณะสหกรณ์ ต่อมา สภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์จึงมีมติให้จัดตั้ง "คณะวิทยาศาสตร์และอักษรศาสตร์" [7][8] ขึ้นเมื่อวันที่ วันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2509 โดยให้ถือเป็นวันสถาปนา คณะวิทยาศาสตร์ [9][10][11]

ต่อมา ในปี พ.ศ. 2517 ได้มีการจัดตั้ง คณะสังคมศาสตร์ [12] จึงมีการโอนภาควิชาสังคมศาสตร์ฯ ไปสังกัดคณะสังคมศาสตร์ และในปี พ.ศ. 2524 ภาควิชาภาษา ได้โอนไปสังกัด คณะมนุษยศาสตร์ [13][14] ดังนั้น คณะวิทยาศาสตร์และอักษรศาสตร์ จึงได้เปลี่ยนชื่อเป็น "คณะวิทยาศาสตร์"

การบริหารและจัดการ[แก้]

การบริหารและดำเนินงานของคณะวิทยาศาสตร์ มีคณบดีเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุด คณบดีมีวาระดำรงตำแหน่งคราวละ 4 ปี มีรองคณบดีเป็นผู้ช่วย แบ่งออกเป็น 7 ฝ่าย ได้แก่ ฝ่ายวิชาการ ฝ่ายแผนพัฒนาและกายภาพ ฝ่ายวิจัยและวิเทศสัมพันธ์ ฝ่ายพัฒนาองค์กร ฝ่ายพัฒนานิสิต ฝ่ายบริการวิชาการ ฝ่ายกิจการพิเศษ และยังมีผู้ช่วยคณบดีอีกจำนวนหนึ่ง[15]

คณะแบ่งออกเป็นภาควิชา จำนวน 13 ภาควิชา ได้แก่ภาควิชา คณิตศาสตร์ เคมี จุลชีววิทยา ชีวเคมี พฤกษศาสตร์ พันธุศาสตร์ ฟิสิกส์ รังสีประยุกต์และไอโซโทป วิทยาการคอมพิวเตอร์ วิทยาศาสตร์พื้นพิภพ วัสดุศาสตร์ สถิติ และสัตววิทยา[16] ในระดับภาควิชามีหัวหน้าภาควิชาเป็นผู้บังคับบัญชารับผิดชอบงานของภาควิชา หัวหน้าภาควิชาอยู่ในตำแหน่งคราวละ 2 ปี[17] และมีรองหัวหน้าภาควิชาเป็นผู้ช่วย

ทั้งนี้ ยังมีคณะกรรมการประจำคณะ ซึ่งประกอบด้วยคณบดีเป็นประธานกรรมการ หัวหน้าภาควิชาเป็นกรรมการโดยตำแหน่ง และแต่งตั้งอาจารย์หนึ่งคนเป็นกรรมการและเลขานุการ

นอกจากนี้ยังมีหน่วยงานสนับสนุนกลาง ได้แก่ สำนักงานเลขานุการคณะวิทยาศาสตร์[18] ทำหน้าที่ประสานงาน ดำเนินการ ติดตามประเมิลผล เพื่อให้นโยบายที่ผู้บริหารกำหนดไว้บรรลุตามวัตถุประสงค์ ซึ่งแบ่งออกเป็นหน่วยงานย่อย ได้แก่ หน่วยการเจ้าหน้าที่ หน่วยงานสารบรรณ หน่วยงานการเงินและบัญชี หน่วยงานพัสดุ หน่วยงานบริการการศึกษา[19] หน่วยงานนโยบายและแผนงานประกันคุณภาพ หน่วยงานวิเทศสัมพันธ์ ศูนย์บริการ ศูนย์เครื่องมือวิทยาศาสตร์ และศูนย์วิจัยนิวเคลียร์เทคโนโลยี[20]

การศึกษา[แก้]

ภาควิชาและหลักสูตร[แก้]

คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มีการเรียนการสอนครอบคลุมทั้งกลุ่มวิทยาศาสตร์กายภาพ วิทยาศาสตร์ชีวภาพ และวิทยาการข้อมูล รวมทั้งสิ้น 13 ภาควิชา จำนวนหลักสูตร 47 หลักสูตร แบ่งเป็นระดับปริญญาตรี 18 หลักสูตร, ระดับปริญญาโท 17 หลักสูตร และระดับปริญญาเอก 12 หลักสูตร ในที่นี้เป็นหลักสูตรนานาชาติ 5 หลักสูตร และเป็นหลักสูตรที่เปิดเฉพาะในระดับบัณฑิตศึกษา 4 หลักสูตร

โครงสร้างหลักสูตร[แก้]

ระดับปริญญาตรี ระดับปริญญาโท ระดับปริญญาเอก

หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต (วท.บ.)

  • สาขาวิชาคณิตศาสตร์
  • สาขาวิชาเคมี
  • สาขาวิชาเคมีอุตสาหกรรม
  • สาขาวิชาเคมีบูรณาการ (หลักสูตรนานาชาติ)
  • สาขาวิชาจุลชีววิทยา
  • สาขาวิชาชีวเคมี
  • สาขาวิชาชีววิทยา
    • สาขาชีววิทยา
    • สาขาสัตววิทยา
  • สาขาวิชาพันธุศาสตร์
  • สาขาวิชาพฤกษศาสตร์
  • สาขาวิชาวิทยาศาสตร์ชีวภาพรังสี
  • สาขาวิชาวิทยาศาสตร์นิวเคลียร์
  • สาขาวิชาฟิสิกส์
  • สาขาวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ (ภาคปกติและภาคพิเศษ)
  • สาขาวิชาวิทยาศาสตร์พื้นพิภพ
  • สาขาวิชาสถิติ
  • สาขาวิชาวิทยาศาสตร์ชีวภาพและเทคโนโลยี (หลักสูตรนานาชาติ)
  • สาขาวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีพอลิเมอร์ (หลักสูตรนานาชาติ)
  • หลักสูตรเตรียมแพทย์ศาสตร์ (1 ปี)

หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (วท.ม)

  • สาขาวิชาคณิตศาสตร์
  • สาขาวิชาเคมี
  • สาขาวิชาจุลชีววิทยา
  • สาขาวิชาชีวเคมี
  • สาขาวิชาชีววิทยา
  • สาขาวิชาพฤกษศาสตร์
  • สาขาวิชาพันธุศาสตร์
  • สาขาวิชาฟิสิกส์
  • สาขาวิชามาตรวิทยา
  • สาขาวิชารังสีประยุกต์และไอโซโทป
  • สาขาวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ (ภาคปกติและภาคพิเศษ)
  • สาขาวิชาวิทยาการวัสดุนาโน
  • สาขาวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีพื้นพิภพ
  • สาขาวิชาวิทยาศาสตร์เพื่อชีวิต (หลักสูตรนานาชาติ)
  • สาขาวิชาวิทยาศาสตร์ข้อมูลชีวภาพการแพทย์
  • สาขาวิชาสถิติ
  • สาขาวิชาสัตววิทยา

หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต (ปร.ด)

  • สาขาวิชาเคมี
  • สาขาวิชาจุลชีววิทยา
  • สาขาวิชาชีวเคมี
  • สาขาวิชาพฤกษศาสตร์
  • สาขาวิชาพันธุศาสตร์
  • สาขาวิชาฟิสิกส์
  • สาขาวิชาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ (หลักสูตรนานาชาติ)
  • สาขาวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีพื้นพิภพ
  • สาขาวิชาสถิติ
  • สาขาวิชาสัตววิทยา
  • สาขาวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์
  • สาขาวิชาวิทยาการวัสดุนาโน

รายละเอียดแต่ละภาควิชา[แก้]

ปัจจุบัน คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ประกอบด้วยภาควิชาทั้งสิ้น 13 ภาควิชา ได้แก่

รายละเอียดแต่ละภาควิชา ดังนี้

ภาควิชา รายละเอียด
คณิตศาสตร์
  • จัดการเรียนการสอนทั้งสาขาคณิตศาสตร์บริสุทธิ์ และคณิตศาสตร์ประยุกต์ เพื่อมุ่งผลิตนักคณิตศาสตร์ที่มีความรู้ ความสามารถทางประสิทธิภาพ และเป็นบัณฑิตที่มีคุณธรรมจริยธรรม เป็นคนดีต่อสังคม และประเทศชาติ
  • บัณฑิตที่จบจากภาควิชาคณิตศาสตร์ สามารถนำเอาความรู้ไปประกอบวิชาชีพ อาทิ นักวิชาการ ครูอาจารย์ นักวิเคราะห์และวางแผนระบบงาน นักวิจัย และงานด้านคอมพิวเตอร์ เป็นต้น
เคมี
  • เป็นหน่วยงานชั้นนำในการผลิตบัณฑิตเคมีที่มีคุณภาพในระดับแนวหน้า ตอบสนองความต้องการบุคลากรของประเทศทั้งภาครัฐบาลและเอกชน เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมเคมี ปิโตรเคมี พอลิเมอร์ สิ่งทอ อัญมณี และอุตสาหกรรมอื่น ๆ ภาควิชาเคมีมุ่งเน้นให้นิสิตมีความเข้มแข็งในวิชาเคมี ทั้งในด้านทฤษฎีและปฏิบัติการ คณาจารย์ภาควิชาเคมีได้อุทิศตนทุ่มแทให้กับการสอนและการวิจัย โดยได้รับการสนับสนุนการวิจัยจากแหล่งทุนต่าง ๆ คณาจารย์ภาควิชาเคมีได้สร้างผลงานวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์ ในวารสารวิชาการที่มีการตรวจสอบคุณภาพอย่างเคร่งครัดเป็นที่ยอมรับโดยทั่วไป เป็นผลงานวิจัยที่มีคุณค่าและมีศักยภาพที่จะก่อให้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทางด้านความเป็นเลิศทางวิชาการ ภาควิชาเคมีได้สร้างความร่วมมือทั้งในและต่างประเทศ โดยเป็นสมาชิกเครือข่ายแห่งความเป็นเลิศทางเคมี
  • บัณฑิตที่จบการศึกษาจากภาควิชาเคมี สามารถเข้าทำงานในภาครัฐ รัฐวิสาหกิจหรือองค์กรเอกชนได้หลายแห่ง เช่น กระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย โรงงานอุตสาหกรรมเคมีต่าง ๆ บริษัทเอกชนที่เป็นผู้แทนจำหน่ายเครื่องมือวิทยาศาสตร์และเคมีภัณฑ์ นอกจากนี้ยังสามารถดำเนินธุรกิจเป็นเจ้าของกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการประยุต์ใช้ความรู้ทางเคมีได้อีกด้วย
จุลชีววิทยา
ชีวเคมี
  • ให้การศึกษาเกี่ยวกับชีวเคมีพื้นฐานในสิ่งมีชีวิต ชีววิทยาโมเลกุลของสิ่งมีชีวิตการศึกษาในเชิงลึก เช่น ชีวเคมีโปรตีน-โครงสร้าง และการประยุกต์ใช้อื่น ๆ เช่น ชีวสารสนเทศทางชีวเคมีประยุกต์ในทางการเกษตรอุตสาหกรรม ประมง อุตสาหกรรม และสิ่งแวดล้อม โดยมีเป้าหมายเพื่อผลิตบัณฑิตที่มีความรู้ความสามารถทางชีวเคมีอย่างกว้างขวางและลึกซึ้ง สามารถนำความรู้ไปประกอบอาชีพในสายงานที่เกี่ยวข้อง มีความสามารถประยุกต์คิดค้น หรือแสวงหาความรู้ใหม่อันจะนำไปสู่การพัฒนาวิชาการ รวมทั้งส่งเสริมและพัฒนาการค้นคว้าวิจัยด้านชีวเคมี ให้เกิดการพัฒนาองค์ความรู้ที่เป็นประโยชน์สอดคล้องต่อการพัฒนาประเทศและทันต่อการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
  • บัณฑิตที่จบการศึกษาจากภาควิชาชีวเคมี สามารถประกอบอาชีพเป็น อาจารย์ นักวิทยาศาสตร์ นักวิจัย ในสถาบันอุดมศึกษา สถาบันวิจัยทางวิทยาศาสตร์ และหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน รวมทั้งการประกอบอาชีพในบริษัทเอกชนที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการแปรรูปผลิตภัณฑ์การเกษตร เป็นต้น นอกจากนี้การศึกษาจากภาควิชาชีวเคมียังสามารถศึกษาต่อได้ในหลายสาขา ทั้งสาขาชีวเคมีโดยตรงหรือเลือกศึกษาต่อทางด้านวิทยาศาสตร์ชีวภาพอื่น ๆ เช่น วิทยาศาสตร์การแพทย์สาขาต่าง ๆ วิทยาศาสตร์การเกษตร เทคโนโลยีชีวภาพ อุตสาหกรรมเกษตร ชีวนาโนเทคโนโลยี และวิศวกรรมชีวเคมี เป็นต้น
พฤกษศาสตร์
พันธุศาสตร์
  • ให้การศึกษาพันธุศาสตร์สาขาต่าง ๆ ได้แก่ พันธุศาสตร์พื้นฐาน พันธุศาสตร์ประชากร พันธุศาสตร์โมเลกุล พันธุวิศวกรรม พันธุศาสตร์สภาวะแวดล้อมและพันธุศาสตร์ประยุกต์อีกหลายวิชา โดยให้ความรู้ทั้งทางด้านทฤษฎีและภาคปฏิบัติการ เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ในหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนในฐานะนักวิชาการพันธุศาสตร์ นักวิจัยและนักปรับปรุงพันธุ์พืชสัตว์และจุลินทรีย์สำหรับการศึกษาในระดับปริญญาโทและเอก มุ่งเน้นการเรียนและการค้นคว้าวิจัยทั้งทางด้านพันธุศาสตร์ประยุกต์ และพันธุศาสตร์พื้นฐาน เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ในงานวิจัยทางพันธุศาสตร์ระดับสูง
  • บัณฑิตที่จบการศึกษาจากภาควิชาพันธุศาสตร์ สามารถเข้าทำงานในภาครัฐ รัฐวิสาหกิจหรือองค์กรเอกชนได้หลายแห่ง เช่น วิทยาลัยและมหาวิทยาลัยต่าง ๆ โรงพยาบาล กรมปศุสัตว์ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ บริษัทในเครือเจริญโภคภัณฑ์ บริษัทที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรม อาหารและประกอบธุรกิจส่วนตัว
ฟิสิกส์
รังสีประยุกต์และไอโซโทป
  • ให้การศึกษาเกี่ยวกับความรู้พื้นฐานทางรังสีและนิวเคลียร์ เช่น วิทยาศาสตร์นิวเคลียร์ การป้องกันรังสีเทคนิคการวัดรังสี ชีววิทยารังสีเบื้องต้น รังสีกับชีวิตและสิ่งแวดล้อม เทคนิคการแกะรอยด้วยไอโซโทปทางชีววิทยา เทคนิคการถ่ายภาพด้วยรังสี รังสีและการกลายพันธุ์ การวิเคราะห์โดยวิธีทางนิวเคลียร์ การใช้รังสีและไอโซโทปในการเกษตรและเวชศาสตร์นิวเคลียร์ เป็นต้น
  • บัณฑิตที่จบการศึกษาจากภาควิชาพฤกษศาสตร์ สามารถเข้าทำงานในภาครัฐ รัฐวิสาหกิจหรือองค์กรเอกชนได้หลายแห่ง เช่น งานด้านชีววิทยาการเกษตรและการใช้ประโยชน์จากรังสีและพลังงานนิวเคลียร์ เช่น กรมวิชาการเกษตร สำนักงานปรมาณู สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์กรเอกชน) กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โรงพยาบาลและโรงงานอุตสาหกรรมที่ใช้กัมมันตภาพรังสีควบคุมผลิตภัณฑ์ เป็นต้น และสามารถศึกษาต่อในระดับปริญญาโท และเอก ได้ทั้งภายในและต่างประเทศ
วิทยาการคอมพิวเตอร์
  • ให้การศึกษาวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ เช่น หลักการเขียนโปรแกรมขั้นตอนวิธีและโครงสร้างข้อมูล การวิเคราะห์และออกแบบระบบ การจัดการฐานข้อมูล การออกแบบและพัฒนาซอฟต์แวร์ ระบบปฏิบัติการ สถาปัตยกรรมคอมพิวเตอร์ การสื่อสารข้อมูลและข่ายงานคอมพิวเตอร์ คอมพิวเตอร์กราฟิกและทฤษฎีปัญญาประดิษฐ์ เป็นต้น
วิทยาศาสตร์พื้นพิภพ
  • การศึกษาในสาขาวิชานี้เป็นการศึกษากระบวนการและความสัมพันธ์ขององค์ประกอบโลก ประกอบด้วย บรรยากาศภาค (Atmosphere) อุทกภาค (Hydrosphere) ธรณีภาค (Lithosphere) และชีวภาค (Biosphere) พร้อมทั้งศึกษาวิจัยความสัมพันธ์ของภาคต่าง ๆ เหล่านั้น รวมถึงความเกี่ยวข้องกับมนุษย์ ซึ่งเป็นทั้งผู้ใช้ประโยชน์ และ ผู้ทำให้เกิดและได้รับผลกระทบ นิสิตสามารถประยุกต์ ความรู้ที่เรียนมาในการประเมินสถานภาพทรัพยากรและศักยภาพในพื้นที่รวมถึง แนวทางจัดการ/แก้ไข/ลดผลกระทบจากภัยธรรมชาติต่าง ๆ โดยในหลักสูตรมีภาคปฏิบัติการ การศึกษาภาคสนาม การศึกษาดูงานทั้งหน่วยงานและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างวิสัยทัศน์ และประสบการณ์แก่นิสิต
วัสดุศาสตร์
  • ให้การศึกษาด้านวัสดุนาโนทั้งในระดับปริญญาตรี (วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีพอลิเมอร์ หลักสูตรนานาชาติ), ปริญญาโท (วิทยาการวัสดุนาโน) และปริญญาเอก (วิทยาการวัสดุนาโน) เพื่อให้นิสิตให้มีความรู้ความสามารถทางสาขาวัสดุศาสตร์ทั้งในระดับชาติและนานาชาติ ตลอดจนเพื่อส่งเสริมและพัฒนาการวิจัยด้านวัสดุศาสตร์ให้เกิดองค์ความรู้ใหม่และนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์และตอบสนองความต้องการของประเทศในอนาคต
  • บัณฑิตที่จบการศึกษาจากภาควิชาวัสดุศาสตร์ เข้าทำงานในภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ และภาคเอกชน ตลอดจนองค์กรอิสระ ที่ต้องการผู้มึความรู้และประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องกับวัสดุนาโน
สัตววิทยา
สถิติ
  • ภาควิชาสถิติได้ดำเนินการเปิดสอน หลักสูตรปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอกสาขาวิชาสถิติ อย่างละ 1 หลักสูตร คือ วท.บ.(สถิติ) วท.ม.(สถิติ) ปร.ด.(สถิติ)
  • บัณฑิตที่จบการศึกษาจากภาควิชาสถิติ จะมีความรอบรู้วิชาทางด้านสถิติทั้งในภาควิชาทฤษฎีและประยุกต์ ตลอดจนมีความชำนาญด้านคอมพิวเตอร์และการใช้ซอฟต์แวร์ทางสถิติ จึงสามารถทำงานได้ทั้งทางด้านสถิติและคอมพิวเตอร์ ตัวอย่างของตำแหน่งงานที่ทำ ได้แก่ นักวิเคราะห์ระบบ, โปรแกรมเมอร์, วิศวกรควบคุมคุณภาพในโรงงานอุตสาหกรรมต่าง ๆ นักสถิติ, นักวิเคราะห์การตลาด อาจารย์มหาวิทยาลัย นักวิจัย เป็นต้น

งานวิจัย[แก้]

คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มีงานวิจัยทั้งที่เป็นวิทยาศาสตร์พื้นฐาน (Basic Science) วิทยาศาสตร์ประยุกต์ (Applied Science) และงานวิจัยขั้นแนวหน้า (Frontier Science)[34] โดยครอบคลุมในสาขาต่าง ๆ ทั้งด้านวิทยาศาสตร์กายภาพ วิทยาศาสตร์ชีวภาพ และวิทยาการข้อมูล และจากการที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เป็น 1 ใน 9 มหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติ (Research University)[35][36][37] โดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย ส่งผลให้คณะวิทยาศาสตร์มีนโยบายพัฒนางานวิจัยร่วมกับภาคอุตสาหกรรมและเชื่อมโยงการวิจัยกับสถาบันทั้งในประเทศและต่างประเทศ

งานวิจัยของคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ประกอบด้วย 10 กลุ่มวิจัย (Research Clusters) ได้แก่ 1. การเกษตรและอาหาร (Agriculture and Food) 2. ความหลากหลายทางชีวภาพสำหรับเศรษฐกิจชีวภาพ (Biodiversity for Bioeconomy) 3. เทคโนโลยีชีวภาพและพลังงานชีวภาพ (Biotechnology and Bioenergy) 4. วิทยาศาสตร์การแพทย์และสุขภาพ (Medical Science and Health) 5. โอมิกส์และชีววิทยาระบบ (Omics and Systems Biology) 6. การค้นพบยาและผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ (Drug Discovery and Natural Products) 7. คอมพิวเตอร์และวิทยาศาสตร์ข้อมูล (Computer and Data Science) 8. เซนเซอร์อัจฉริยะ (Smart Sensors) 9. วัสดุศาสตร์และพอลิเมอร์ (Material Science and Polymer) และ 10. วิทยาศาสตร์พื้นพิภพ (Earth Science)

หน่วยปฏิบัติการวิจัย[แก้]

คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มีศูนย์ความเป็นเลิศทางวิชาการ (Center of Excellence) จำนวน 3 ศูนย์ ได้แก่ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านปิโตรเคมีปิโตรเลียมเทคโนโลยีและวัสดุขั้นสูง (Petromat), ศูนย์ความเป็นเลิศด้านนวัตกรรมเคมี (PERCH), ศูนย์ความเป็นเลิศด้านปาล์มน้ำมัน (Center of Excellence - Oil Palm) มีหน่วยปฏิบัติการวิจัยเฉพาะทาง (Special Research Unit) จำนวน 18 หน่วย และห้องปฏิบัติการวิจัยจำนวน 74 ห้องปฏิบัติการ ตลอดจนมีศูนย์เครื่องมือวิทยาศาสตร์ (Scientific Equipment Center) ของคณะวิทยาศาสตร์เพื่อการสนับสนุนการวิจัย และมีศูนย์วิจัยนิวเคลียร์เทคโนโลยีเพื่อการบริการทางเกษตรกรรม (Kasetsart University Nuclear Technology Research Center : KUNTRC) จำนวน 1 ศูนย์

หน่วยปฏิบัติการวิจัย หน่วยปฏิบัติการวิจัย หน่วยปฏิบัติการวิจัย
  • หน่วยปฏิบัติการวิจัยเคมีคอมพิวเตอร์และเคมีประยุกต์ (Laboratory for Computational and Applied Chemistry, LCAC)
  • หน่วยปฏิบัติการวิจัยการพัฒนาวิธีวิเคราะห์สารปริมาณน้อย (Analytical Method Development in Trace Analysis)
  • หน่วยปฏิบัติการวิจัยเคมีสารสนเทศ (Cheminformatics Research Unit)
  • หน่วยปฏิบัติการวิจัยผลิตภัณฑ์ธรรมชาติและเคมีอินทรีย์สังเคราะห์ (Natural Products and Organic Synthesis, NPOS)
  • หน่วยปฏิบัติการวิจัยนวัตกรรมค้นหายาและการออกแบบโมเลกุล (Innovative Research on Drug Discovery and Molecular Design)
  • หน่วยปฏิบัติการวิศวกรรมโปรตีนและโปรตีนชีวสารสนเทศ (วปปส) (Special Research Unit for Protein Engineering and Protein Bioinformatics : UPEB)
  • หน่วยปฏิบัติการวิจัยเชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านการจัดระบบและนิเวศวิทยาของสัตว์ (Animal Systematics and Ecology Speciality Research Unit : ASESRU)
  • หน่วยปฏิบัติการวิจัยเชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านพิษวิทยาสารจำกัดศัตรูชีวภาพ (Biopesticides Toxicology Speciality Research Unit : BTSRU)
  • หน่วยปฏิบัติการวิจัยนิเวศรังสี (Radioecology Research Unit)
  • หน่วยปฏิบัติการวิจัยเฉพาะทางพันธุศาสตร์โมเลกุลและฟังก์ชันนอลจีโนมิกส์ของสาหร่ายเซลล์เดียว (Microalgal Molecular Genetics and Functional Genomics Special Research Unit : MMGFG-SRU)
  • หน่วยปฏิบัติการวิจัยเฉพาะทางแม่เหล็กขั้นสูง (Special Research Unit in Advanced Magnetic Resonance)
  • หน่วยปฏิบัติการวิจัยประเมินประสิทธิภาพอาหารสัตว์ทางชีวเคมี (ปวอส) (Biochemical Research Unit for Utilization Assessment : BCUFUA)
  • หน่วยปฏิบัติการวิจัยสำรวจธรณีประยุกต์ (Applied Geo-Exploration Research Unit : GeoX)
  • หน่วยวิจัยเฉพาะด้านอัญมณีและวิทยาการแร่ (The Gem and Mineral Sciences Special Research Unit)
  • หน่วยปฏิบัติการเทคโนโลยีธรณีสิ่งแวดล้อมและพิบัติภัยธรรมชาติ (Environmental Geotechnology and Natural Disasters Special Research Unit)
  • ห้องปฏิบัติการดินและน้ำ (Soil and Water laboratory)
  • หน่วยวิจัยพันธุศาสตร์วิวัฒนาการและการประมวลผลทางชีววิทยา [Evolutionary Genetics and Computational Biology (EGCB) research unit]
  • หน่วยปฏิบัติการวิจัยเชี่ยวชาญเฉพาะทางทฤษฎีจำนวน การวิเคราะห์เชิงแบบฉบับ และการประยุกต์ (Special Research Unit in Number Theory, Classical Analysis and Applications)

ศูนย์ความเป็นเลิศ[แก้]

ศูนย์ความเป็นเลิศทางวิชาการ
  • ศูนย์ความเป็นเลิศด้านนวัตกรรมเคมี (PERCH)
  • ศูนย์ความเป็นเลิศด้านปิโตรเคมีปิโตรเลียมเทคโนโลยีและวัสดุขั้นสูง (Petromat)[38]
  • ศูนย์ความเป็นเลิศด้านปาล์มน้ำมัน (Center of Excellence - Oil Palm)[39]

ผลงานวิจัยและทรัพย์สินทางปัญญา[แก้]

ประเภท จำนวน
จำนวนบทความวิจัย
International & National
Journal Publications
3,930
Conference 3,034
รวม 6,964
จำนวนทรัพย์สินทางปัญญา
ลิขสิทธิ์ 9
เครื่องหมายการค้า 2
สิทธิบัตร 10
อนุสิทธิบัตร 29
รวม 50

จากสถิติข้อมูลของสถาบันวิจัยและพัฒนาแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (ข้อมูลถึงปี พ.ศ. 2562)[40][41] พบว่าคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มีบทความวิจัยตีพิมพ์ จำนวน 6,964 เรื่อง แบ่งเป็นตีพิมพ์ในวารสารวิชาการทั้งในระดับนานาชาติและระดับชาติ (International & National Journal Publications) จำนวน 3,930 เรื่อง และที่นำเสนอในการประชุมและสัมมนา (Conference) อีกจำนวน 3,034 เรื่อง

นอกจากนี้ยังมีจำนวนทรัพย์สินทางปัญญา (Intellectual Property) จำนวน 50 รายการ ซึ่งแบ่งเป็นประเภทลิขสิทธิ์ (Copyright) จำนวน 9 รายการ, เครื่องหมายการค้า (Trademark) จำนวน 2 รายการ, สิทธิบัตร (Patent) จำนวน 10 รายการ, และอนุสิทธิบัตร (Petty Patent) อีกจำนวน 29 รายการ

ในส่วนของรางวัล (Award) ที่ได้รับ มีจำนวน 493 รางวัล แบ่งเป็นประเภทเกียรติบัตร จำนวน 223 รางวัล, ประเภทงานวิจัยและสิ่งประดิษฐ์ จำนวน 163 รางวัล, และประเภทรางวัลจากงานประชุมวิชาการ อีกจำนวน 107 รางวัล

การจัดการศึกษา[แก้]

คณะวิทยาศาสตร์จัดการศึกษาในระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก ตามระบบหน่วยกิต แบบทวิภาค โดยใน 1 ปีการศึกษาจะแบ่งออกเป็น 2 ภาคการศึกษา คือ ภาคเรียนที่ 1 เริ่มต้นช่วงเดือนสิงหาคมและสิ้นสุดลงช่วงเดือนธันวาคม และภาคเรียนที่ 2 เริ่มต้นช่วงเดือนมกราคมและสิ้นสุดลงในช่วงเดือนพฤษภาคม และอาจมีการศึกษาภาคฤดูร้อนเพิ่มเติม ในหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต จะใช้เวลาศึกษา 4 ปี แบ่งเป็นการศึกษาในหมวดวิชาศึกษาทั่วไปและวิชาแกนในช่วง 1 ปีแรก และการศึกษาในวิชาเฉพาะบังคับตามหลักสูตร วิชาเฉพาะเลือกต่าง ๆ ภายในหลักสูตร และวิชาเลือกเสรีรวมระยะเวลา 3 ปี และอาจมีการฝึกงานภาคฤดูร้อนหรือฝึกงานแบบสหกิจศึกษาเพิ่มเติม ในหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิตและหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต ใช้เวลาศึกษา 2 ปี แบ่งเป็นการศึกษาในวิชาเอกบังคับ วิชาเอกเลือก สัมมนา และวิทยานิพนธ์[42][43]

นอกจากนี้คณะวิทยาศาสตร์ยังจัดการศึกษาในหลักสูตรเตรียมแพทยศาสตร์ ระยะเวลา 1 ปี ให้กับวิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า ตลอดจนจัดการศึกษาในวิชาวิทยาศาสตร์พื้นฐานให้กับวิทยาลัยการชลประทานและวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี นพรัตน์วชิระ ซึ่งเป็นสถาบันสมทบของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ด้วย

การรับสมัคร[แก้]

ปริญญาตรี[แก้]

การเข้าศึกษาต่อระดับปริญญาตรีที่คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จะทำการรับสมัครและคัดเลือกผ่านระบบ TCAS โดยแบ่งการรับเป็น 5 รอบ สำหรับรายละเอียดสาขาวิชา เกณฑ์การรับสมัคร และเกณฑ์การคัดเลือกจะเป็นไปตามประกาศของสำนักทะเบียนและประมวลผล มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์[44][45]

รอบที่ 1 - Portfolio
รอบที่ 2 - โควตา
รอบที่ 3 - รับตรงร่วมกัน

รับสมัครนักเรียนทั่วไป ดำเนินการรับสมัครโดยสมาคมที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ผ่านเว็บไซต์ของ ทปอ. พร้อมกันทั่วประเทศ

รอบที่ 4 - Admission

รับสมัครนักเรียนทั่วไป ดำเนินการรับสมัครโดย ทปอ. ผ่านเว็บไซต์ของ ทปอ. พร้อมกันทั่วประเทศ คะแนนที่ใช้ในการคัดเลือกจะใช้ผลคะแนน GAT PAT1 และ PAT2

รอบที่ 5 - รับตรงอิสระ

จำนวนรับอย่างน้อยหลักสูตรละ 1 คน ขึ้นกับจำนวนผู้ที่ผ่านการคัดเลือกในรอบที่ 1-4

ปริญญาโท[แก้]

การเข้าศึกษาต่อระดับปริญญาโทที่คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ต้องสำเร็จการศึกษาหรือกำลังศึกษาในภาคการเรียนสุดท้าย ระดับปริญญาตรี และต้องมีผลการสอบภาษาอังกฤษตามเกณฑ์ที่มหาวิทยาลัยกำหนด ซึ่งรายละเอียดสาขาวิชา เกณฑ์การรับสมัคร และเกณฑ์การคัดเลือกจะเป็นไปตามประกาศของบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์[46]

ปริญญาเอก[แก้]

การเข้าศึกษาต่อระดับปริญญาเอกที่คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ต้องสำเร็จการศึกษาหรือกำลังศึกษาในภาคการเรียนสุดท้ายระดับปริญญาตรีและปริญญาโท และต้องมีผลการสอบภาษาอังกฤษตามเกณฑ์ที่มหาวิทยาลัยกำหนด ซึ่งรายละเอียดสาขาวิชา เกณฑ์การรับสมัคร และเกณฑ์การคัดเลือกจะเป็นไปตามประกาศของบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์[47]

โปรแกรมนานาชาติและความร่วมมือระดับนานาชาติ[แก้]

คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศโดยเปิดหลักสูตรระดับปริญญาตรีที่เน้นการเรียนการสอนในระดับนานาชาติ (International programs) จำนวน 4 สาขาวิชา ได้แก่ สาขาวิชาวิทยาศาสตร์ชีวภาพและเทคโนโลยี (Bioscience and Technology), สาขาวิชาเคมีบูรณาการ (Integrated Chemistry) เก็บถาวร 2019-11-18 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน และสาขาวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีพอลิเมอร์ (Polymer Science & Technology) ในทำนองเดียวกันได้เปิดหลักสูตรนานาชาติในระดับปริญญาโท จำนวน 1 สาขาวิชา ได้แก่ สาขาวิชาวิทยาศาสตร์เพื่อชีวิต (Science for Life) เก็บถาวร 2021-01-23 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน[48] และเปิดหลักสูตรนานาชาติในระดับปริญญาเอก จำนวน 1 สาขาวิชา ได้แก่ สาขาวิชาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ (Bioscience) ซึ่งเป็นหลักสูตรที่บูรณาการจากสาขาวิชาที่คณะวิทยาศาสตร์มีความเชี่ยวชาญ

ทั้งนี้ ในหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาพฤกษศาสตร์ (Master of Science Program in Botany) ของภาควิชาพฤกษศาสตร์มีข้อตกลงทำการวิจัยและทำโปรแกรมร่วม (Joint Degree Program) รวมทั้งทำข้อตกลงแลกเปลี่ยนนิสิตปริญญาโทกับหลักสูตร Master of Agricultural Science Program ของมหาวิทยาลัยเกียวโต (Kyoto University) ประเทศญี่ปุ่น ในหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาพันธุศาสตร์ (Master of Science Program in Genetics) ของภาควิชาพันธุศาสตร์ได้ลงนามในข้อตกลงกับ University of Putra Malaysia ประเทศมาเลเซีย ในการทำโปรแกรมร่วม (Joint Degree Program) และแลกเปลี่ยนนิสิตระดับปริญญาโทกับหลักสูตร Master of Molecular Biology and Genetics Engineering Program[49][50] นอกเหนือจากหลักสูตรต่าง ๆ ดังกล่าวแล้ว นิสิตของคณะวิทยาศาสตร์ในหลักสูตรต่าง ๆ สามารถทำวิจัยระยะสั้นหรือเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยน ณ มหาวิทยาลัยในต่างประเทศตามที่คณะวิทยาศาสตร์ได้ทำความตกลงร่วมมือวิจัยและแลกเปลี่ยนนักเรียนไว้

โดยมหาวิทยาลัยหรือสถาบันในต่างประเทศที่คณะวิทยาศาสตร์ส่งนิสิตเข้าทำวิจัยระยะสั้น อาทิ Yale University (USA), University of California (USA), University of Florida (USA), University of Houston (USA), Oregon State University (USA), University of Bristol (UK), University of Bath (UK), University of Southampton (UK), Durham University (UK), University of Vienna (Austria), University Innsbruck (Austria), Kyoto University (Japan), Waseda University (Japan), Chimie ParisTech, PSL University (France), University of Bordeaux (France), University of Copenhagen (Denmark), Stockholm University, (Sweden) เป็นต้น[51][52][53][54]

สถาบันร่วมสอน[แก้]

วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า

ในปี พ.ศ. 2518 คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ทำความตกลงร่วมกับ วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ในการสอนหลักสูตรเตรียมแพทยศาสตร์ หลักสูตร 2 ปี (ชั้นเตรียมแพทย์) ให้กับวิทยาลัยแพทยศาสตร์ฯ ตามข้อตกลงกระทรวงกลาโหม เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2518 โดยมีนิสิตเตรียมแพทยศาสตร์ รุ่นที่ 1 ที่ผ่านการสอบคัดเลือกของทบวงมหาวิทยาลัยในขณะนั้น จำนวน 31 คน[55] และเมื่อศึกษาตามหลักสูตรเตรียมแพทยศาสตร์ครบ 2 ปี ก็จะโอนไปศึกษาในชั้นปรีคลินิกและชั้นคลินิกที่วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ต่อไป[56]

ต่อมาในปี พ.ศ. 2524 ได้มีการปรับปรุงหลักสูตรเตรียมแพทยศาสตร์ให้เป็นหลักสูตร 1 ปี[57] [58] ก่อนโอนไปศึกษาที่วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า ซึ่งคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ดำเนินการรับนิสิตตามหลักสูตรเตรียมแพทยศาสตร์ดังกล่าวมาจนถึงปัจจุบัน[59]

ทั้งนี้ ขณะทำการศึกษาในชั้นเตรียมแพทยศาสตร์ ชั้นปีที่ 1 ที่คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จะอยู่ภายใต้ความรับผิดชอบตามกฎของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และใช้คำเรียกผู้เรียนว่า "นิสิต" ตามศักดิ์และสิทธิของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ [60][61]

และในปี พ.ศ. 2563 วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้าได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์จัดทำหลักสูตรระดับปริญญาโท "วิทยาศาสตร์ข้อมูลชีวภาพการแพทย์ (Master’s Degree in Biomedical Data Science)" ซึ่งเป็นหลักสูตรพหุวิทยาการระหว่างวิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้าและมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์โดยคณะวิทยาศาสตร์[62]

วิทยาลัยการชลประทาน และ วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี นพรัตน์วชิระ

คณะวิทยาศาสตร์ให้บริการสอนวิชาวิทยาศาสตร์พื้นฐานให้กับสถาบันการศึกษาที่เข้าสมทบในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ตามมติคณะรัฐมนตรีที่ให้มีการยุบสถาบันการศึกษานอกสังกัดกระทรวงศึกษาธิการและให้สถานศึกษาดังกล่าวเข้าสมทบในมหาวิทยาลัย ส่งผลให้มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มีสถาบันสมทบ 2 แห่ง ได้แก่ วิทยาลัยการชลประทาน ซึ่งสังกัดกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีหน้าที่ผลิตบัณฑิตด้านวิศวกรรมโยธา-ชลประทาน[63] และวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี นพรัตน์วชิระ ซึ่งสังกัดสถาบันพระบรมราชชนก มีหน้าที่ผลิตบัณฑิตด้านพยาบาลศาสตร์[64]

ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์

เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2561 ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ กับ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ทำข้อตกลงความร่วมมือ ในการเป็นสถาบันร่วมสอน ทั้งในหมวดวิชาพื้นฐาน วิชาทั่วไป และการสนับสนุนสถานที่ต่าง ๆ เพื่อการศึกษา ให้กับผู้ที่ศึกษาในหลักสูตรปริญญาบันฑิตของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ซึ่งคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มีหน้าที่รับผิดชอบทำการสอนวิชาพื้นฐานวิทยาศาสตร์ให้กับผู้ที่ศึกษาตามข้อตกลงดังกล่าว[65]

Yamaguchi University

เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559 Yamaguchi University ประเทศญี่ปุ่น ได้ทำข้อตกลงความร่วมมือกับ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จัดทำหลักสูตรร่วมระหว่างสองมหาวิทยาลัยในระดับปริญญาโทและปริญญาเอก (Agreement on the Cooperation for Establishment of the Joint Degree Program)[66] ซึ่งในสาขา Life Science ได้จัดทำหลักสูตรร่วมกับกับคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์[67][68] และยังทำข้อตกลง Agreement for Establishment of Yamaguchi University International Collaboration Office, Bangkok ในการจัดตั้งและเปิดทำการสำนักงานระหว่างประเทศ Yamaguchi University International Collaboration Office (YUICO) ณ ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ด้วย[69][70]

ทำเนียบคณบดี[แก้]

คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มีคณบดีมาแล้ว 8 ท่าน ดังรายนามต่อไปนี้[71]

ทำเนียบคณบดีคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ลำดับ รายนามคณบดี วาระการดำรงตำแหน่ง อ้างอิง

1. ศาสตราจารย์ ดร.ทวี ญาณสุคนธ์ พ.ศ. 2509 - พ.ศ. 2521 [72][73][74]
2. ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.กฤษณา ชุติมา พ.ศ. 2521 - พ.ศ. 2523 [75][76][77]
3. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุขประชา วาจานนท์ พ.ศ. 2523 - พ.ศ. 2533 [78][79][80]
4. ศาสตราจารย์ ดร.สุมินทร์ สมุทคุปต์ พ.ศ. 2533 - พ.ศ. 2537 [81][82]
5. รองศาสตราจารย์ ดร.วินิจ เจียมสกุล พ.ศ. 2537 - พ.ศ. 2549 [83]
6. อาจารย์ ดร.สุรพล ภัทราคร พ.ศ. 2549 - พ.ศ. 2557 [84]
7. ศาสตราจารย์ ดร.สุภา หารหนองบัว พ.ศ. 2557 - พ.ศ. 2560 [85][86][87]
8. รองศาสตราจารย์ ดร.อภิสิฏฐ์ ศงสะเสน พ.ศ. 2560 - ปัจจุบัน [88][89]

หมายเหตุ คำนำหน้านามของผู้ดำรงตำแหน่งคณบดี เป็นคำนำหน้านามตามตำแหน่งทางวิชาการในขณะนั้น

อันดับและมาตรฐาน[แก้]

มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้รับการจัดอันดับจากองค์กรและสถาบันต่างประเทศให้ติดอันดับโลกและอันดับเอเชียในสาขาวิชาต่าง ๆ ซึ่งมีรายละเอียดและผลการจัดอันดับ ดังนี้

ผลการจัดอันดับโดย QS[แก้]

QS หรือ แควกเควเรลลี ไซมอนด์ส (Quacquarelli Symonds) จัดอันดับโดยแยกตามกลุ่มและระดับต่าง ๆ อย่างหลากหลาย เช่น ระดับโลก (QS World University Rankings) ระดับเอเชีย (QS University Rankings in Asia) หรือแยกตามกลุ่มและสาขาวิชา (QS World University Rankings by Subject) เป็นต้น ซึ่งสาขาวิชาที่เป็นของ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้รับการจัดอันดับให้ติดอันดับโลกแบบแยกตามสาขาวิชา QS World University Rankings by Subject และติดอันดับสถาบันชั้นนำในทวีปเอเชียด้านวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ (Top Universities in Asia for Natural Sciences) รายละเอียดมีดังนี้

QS world university ranking by subject[แก้]

ผลการจัดอันดับแยกตามสาขา QS world university ranking by subject [90][91] พบว่า สาขาวิชาที่เป็นของ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้รับการจัดอันดับให้ติดอันดับโลก 3 กลุ่มวิชา ใน 3 สาขา ได้แก่ กลุ่ม Natural Sciences (สาขา Chemistry), กลุ่ม Life Sciences & Medicine (สาขา Biological Sciences) และ กลุ่ม Engineering & Technology (สาขา Computer Science & Information Systems)[92][93][94][95][96][97]

QS World University Rankings by Subject
กลุ่ม Life Sciences & Medicine
QS Biological Sciences 451-500 (2021)
451-500 (2020)
401-450 (2018)
401-450 (2017)
301-400 (2015)
กลุ่ม Natural Sciences
QS Chemistry 451-500 (2021)
401-450 (2020)
401-450 (2019)
451-500 (2018)
451-500 (2017)
กลุ่ม Engineering & Technology
QS Computer Science & Info. 401-500 (2016)
สาขา Biological Sciences
  • ในปี ค.ศ. 2021 อันดับที่ 451-500 ของโลก[98], ปี ค.ศ. 2020 อันดับที่ 451-500 ของโลก[99], ปี ค.ศ. 2018 อันดับที่ 401-450 ของโลก[100], ปี ค.ศ. 2017 อันดับที่ 401-450 ของโลก[101], และปี ค.ศ. 2015 อันดับที่ 301-400 ของโลก[102]
สาขา Chemistry
  • ในปี ค.ศ. 2021 อันดับที่ 451-500 ของโลก[103], ปี ค.ศ. 2020 อันดับที่ 401-450 ของโลก[104], ปี ค.ศ. 2019 อันดับที่ 401-450 ของโลก[105], ปี ค.ศ. 2018 อันดับที่ 451-500 ของโลก[106], และปี ค.ศ. 2017 อันดับที่ 451-500 ของโลก[107]
สาขา Computer Science & Information Systems
  • ในปี ค.ศ. 2016 อันดับที่ 401-500 ของโลก[108]
Top Universities in Asia for Natural Sciences
Regional
Natural Sciences[109] 41 (2014)

Top Universities in Asia for Natural Sciences[แก้]

QS ได้เผยแพร่ผลการจัดอันดับสถาบันชั้นนำในทวีปเอเชียที่มีชื่อเสียงระดับนานาชาติด้านวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ (Top Universities in Asia for Natural Sciences) พบว่าในปี 2014 คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้รับการจัดอันดับให้ติดอันดับที่ 41 ของทวีปเอเชีย เป็น 1 ใน 50 อันดับแรกของสถาบันชั้นนำในทวีปเอเชียที่มีชื่อเสียงและมีความโดดเด่นด้านวิทยาศาสตร์ธรรมชาติในระดับนานาชาติ [110]

ผลการจัดอันดับโดย Times Higher Education (THE)[แก้]

Times Higher Education หรือ THE เป็นองค์กรชั้นนำระดับโลกที่ให้บริการข้อมูลเกี่ยวกับการศึกษา รวมไปถึงจัดอันดับมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ทั่วโลก (The THE World University Rankings) และจัดอันดับแยกตามสาขาวิชาต่าง ๆ (The THE World University Ranking by Subject) ด้วย[111] ซึ่งสาขาวิชาที่เป็นของ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้รับการจัดอันดับให้ติดอันดับโลกแบบแยกตามสาขาวิชา The THE World University Ranking by Subject รายละเอียดดังนี้

Times Higher Education World University Rankings by subjects
Global
THE Life Sciences 601-800 (2021)
501-600 (2020)
501-600 (2019)
THE Computer Science 601-800 (2021)
601+ (2020)
601+ (2019)
THE Physical Sciences 1001+ (2021)
801+ (2019)

The THE World University Rankings by Subject[แก้]

ผลการจัดอันดับแยกตามสาขา The THE World University Ranking by Subject พบว่าสาขาในกลุ่มวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่เป็นสาขาของ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้รับการจัดอันดับให้ติดอันดับโลก 3 กลุ่มวิชา ประกอบด้วย 6 สาขา ได้แก่ กลุ่ม Physical Sciences (สาขา Physics & Astronomy, สาขา Chemistry, สาขา Geology, Environmental, Earth & Marine Sciences, และสาขา Mathematics & Statistics), กลุ่ม Life Sciences (สาขา Biological Sciences) และ กลุ่ม Computer Science (สาขา Computer Science)[112]

กลุ่ม Physical sciences
  • ในปี ค.ศ. 2019 อันดับที่ 801+ ของโลก[113][114][115][116] และในปี ค.ศ. 2021 อันดับที่ 1001+ ของโลก[117][118][119][120]
กลุ่ม Life Sciences
  • ในปี ค.ศ. 2019 อันดับที่ 501-600 ของโลก[121], ในปี ค.ศ. 2020 อันดับที่ 501-600 ของโลก[122], และในปี ค.ศ. 2021 อันดับที่ 601-800 ของโลก[123]
กลุ่ม Computer Science
  • ในปี ค.ศ. 2019 อันดับที่ 601+ ของโลก[124], ในปี ค.ศ. 2020 อันดับที่ 601+ ของโลก[125], และในปี ค.ศ. 2021 อันดับที่ 601-800 ของโลก[126]

ผลการจัดอันดับโดย Nature Index[แก้]

Nature Index
Global
Chemical Sciences[127] 1129 (2017)

เป็นการจัดอันดับโดย วารสารในเครือเนเจอร์ (Nature Publishing Group, NPG) วารสารชั้นนำด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่มีชื่อเสียงระดับโลก โดยใช้ดัชนีชี้วัดผลผลิตงานวิจัย (Nature Index) ในการจัดอันดับ ซึ่งจะนับจากจำนวนบทความที่ตีพิมพ์ในวารสารภายในเครือของเนเจอร์ต่อปี ทั้งนี้การจัดอันดับจะนับทั้งสถาบันอุดมศึกษาและสถาบันวิจัยทั่วโลก ซึ่งในปี 2017 สาขา Chemical Sciences ที่เป็นสาขาวิชาของ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้รับการจัดอันดับให้อยู่ในอันดับที่ 1129 ของโลก [128][129]

ผลการจัดอันดับโดย U.S. News & World Report[แก้]

นิตยสาร U.S. News & World Report เป็นนิตยสารชื่อดังของประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งในทุกปีจะทำการจัดอันดับมหาวิทยาลัยทั้งในสหรัฐอเมริกาเอง จัดอันมหาวิทยาลัยอื่น ๆ จากทั่วโลก รวมไปถึงจัดอันดับมหาวิทยาลัยที่มีความเป็นเลิศระดับโลกในสาขาวิชาต่าง ๆ ด้วย โดยอาศัยเกณฑ์ในการจัดอันดับที่มีความหลากหลาย เช่น การถูกนำไปใช้เป็นแหล่งข้อมูลอ้างอิงในวารสารวิชาการและสื่อวิชาการต่าง ๆ ปริมาณหนังสือและสื่อสิ่งพิมพ์ทางวิชาการ ความมีชื่อเสียงด้านวิจัยในระดับภูมิภาค ระดับทวีป และระดับโลก จำนวนบุคลากรที่สำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาเอก และความร่วมมือด้านต่าง ๆ กับมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ เป็นต้น[130]

U.S. News & World Report
Global
USNWR Chemistry 747 (2020)
Global
Chemistry indicator rankings
– Chemistry percentage of total publications that are among the 10 percent most cited 770
– Chemistry international collaboration 222
– Chemistry percentage of total publications with international collaboration 315
– Chemistry global research reputation 591
Regional
Chemistry indicator rankings
– Chemistry regional research reputation 61

Best Global Universities for Chemistry[แก้]

ในปี ค.ศ. 2020 นิตยสาร U.S. News & World Report ได้เผยแพร่ผลการจัดอันดับมหาวิทยาลัยที่มีความเป็นเลิศระดับโลกในสาขาวิชาเคมี หรือ Best Global Universities for Chemistry ซึ่งพบว่าสาขาเคมี ซึ่งเป็นสาขาของคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้รับการจัดอันดับให้ติดอันดับโลกอันดับที่ 747[131] ซึ่งเป็น 1 ใน 3 ของมหาวิทยาลัยในประเทศไทย (Best Global Universities for Chemistry in Thailand) ที่ติดอันดับโลกด้านความเป็นเลิศทางวิชาการเคมีในปีดังกล่าว[132]

โดยมี 3 ตัวชี้วัด (Chemistry indicator rankings) ที่เป็นอันดับ 1 ของไทย[133] ได้แก่ ด้าน Chemistry percentage of total publications that are among the 10 percent most cited (อันดับโลก 770), ด้าน Chemistry international collaboration (อันดับโลก 222), และด้าน Chemistry percentage of total publications with international collaboration (อันดับโลก 315) นอกจากนี้ ในด้านชื่อเสียงการวิจัยทางด้านเคมีในระดับโลก (Chemistry global research reputation) ยังติดอันดับที่ 591 และในด้านชื่อเสียงการวิจัยทางด้านเคมีในระดับภูมิภาคเอเชีย (Chemistry regional research reputation) ยังติดอันดับที่ 61 อีกด้วย[134]

ผลการประเมินคุณภาพผลงานวิจัยเชิงวิชาการโดย สกว.[แก้]

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย หรือ สกว. ได้ทำการประเมินคุณภาพผลงานวิจัยเชิงวิชาการในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสำหรับสถาบันอุดมศึกษาในประเทศไทย โดยแยกตามสาขาวิชาต่าง ๆ ซึ่งในการประเมินครั้งที่ 2 พ.ศ. 2553 ในกลุ่มสาขาวิทยาศาสตร์ พบว่า คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มีหน่วยงานได้รับการประเมินอยู่ในระดับ 4 (ดี) จำนวน 2 หน่วยงาน ใน 2 สาขา[135] คือ สาขาเคมี (Chemistry) โดยภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และสาขาโลกและวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม (Earth System and Environmental Sciences) โดยภาควิชาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (ปัจจุบัน คือ คณะสิ่งแวดล้อม)

ต่อมาในการประเมินครั้งที่ 3 พ.ศ. 2554 ในกลุ่มสาขาวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ พบว่า คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มีหน่วยงานได้รับการประเมินอยู่ในระดับ 4 (ดี) จำนวน 2 หน่วยงาน ใน 2 สาขา[136] เช่นเดียวกับในปีก่อนหน้า คือ สาขาเคมี (Chemistry) โดยภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และสาขาโลกและวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม (Earth System and Environmental Sciences) โดยภาควิชาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ที่ตั้ง[แก้]

พื้นที่และอาณาเขต[แก้]

พื้นที่ของคณะวิทยาศาสตร์มีการเปลี่ยนแปลงอยู่หลายครั้ง เนื่องจากในสมัยแรกนั้นอาคารเรียนและแผนกวิชาต่าง ๆ ยังตั้งอยู่ในพื้นที่ กรม กอง ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์[137][138] ภายในเกษตรกลางบางเขน ต่อมาเมื่อมีการจัดตั้งคณะวิทยาศาสตร์และอักษรศาสตร์ขึ้นในปี พ.ศ. 2509 อาคารเรียนต่าง ๆ จึงเริ่มก่อสร้างขึ้นในพื้นที่ปัจจุบัน ซึ่งพื้นที่ของคณะวิทยาศาสตร์ในปัจจุบันมีอาณาเขตทั้งสิ้นประมาณ 40,000 ตารางเมตร หรือราว 25 ไร่ ล้อมรอบด้วยถนน 4 ด้าน ได้แก่ ถนนระพี สาคริก (ทิศเหนือ) ถนนสุวรรณวาจกกสิกิจ (ทิศตะวันออก) ถนนชูชาติกำภู (ทิศตะวันตก) และถนนที่คั่นระหว่างคณะวิทยาศาสตร์กับโรงเรียนอนุบาลคหกรรมศาสตร์และกองเกษตรเคมี กระทรวงเกษตรฯ (ทิศใต้)[139]

โดยพื้นที่ด้านทิศเหนือ ประกอบด้วย ตึกสัตววิทยา และอาคารศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ 60 พรรษา พื้นที่ส่วนนี้อยู่ตรงข้ามกับสถาบันวิจัยและพัฒนาแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และศูนย์เรียนรวม 1 (ศร.1) พื้นที่ด้านทิศตะวันออก ประกอบด้วย อาคารทวี ญาณสุคนธ์ (SCL) และตึกสุวรรณวาจกกสิกิจ พื้นที่ส่วนนี้อยู่ตรงข้ามกับคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พื้นที่ด้านทิศตะวันตก ประกอบด้วย อาคารวิฑูรย์ หงส์สุมาลย์ (ตึกฟิสิกส์) อาคารกฤษณา ชุติมา (ตึกเคมี) และอาคารยงยุทธ เจียมไชยศรี (ตึกชีวเคมี) พื้นที่ส่วนนี้อยู่ตรงข้ามกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พื้นที่ด้านทิศใต้ ประกอบด้วย อาคารสุขประชา วาจานนท์ (ตึกวิทยาศาสตร์ 25 ปี) และอาคารเรือนเพาะชำ พื้นที่ส่วนนี้อยู่ตรงข้ามกับโรงเรียนอนุบาลคหกรรมศาสตร์และกองเกษตรเคมี และพื้นที่กลางคณะฯ ประกอบด้วย ตึกสถิติ-คณิตศาสตร์-คอมพิวเตอร์ (ตึก SMC) ตึกจุลชีววิทยา-พันธุศาสตร์ อาคารศาลาลอย และอาคารวิทยาศาสตร์กายภาพ 45 ปี

ในส่วนของพื้นที่กลางคณะฯ บริเวณทางเชื่อมระหว่างตึกสถิติ-คณิตศาสตร์-คอมพิวเตอร์ และตึกจุลชีววิทยา-พันธุศาสตร์ มีต้นไม้สำคัญของคณะวิทยาศาสตร์ ได้แก่ 'ต้นสาละลังกา' ซึ่งสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ได้ทรงปลูกไว้เนื่องในโอกาสครบรอบ 27 ปี ของคณะวิทยาศาสตร์[140] โดยแต่เดิมนั้นทรงปลูกไว้บริเวณหน้าอาคารสุขประชา วาจานนท์ ก่อนจะย้ายมายังบริเวณปัจจุบัน

อาคารและสถาปัตยกรรม[แก้]

ในพื้นที่ของคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มีการพัฒนาทางกายภาพมาเป็นเวลากว่า 50 ปี นับตั้งแต่ก่อตั้งเป็นคณะวิทยาศาสตร์และอักษรศาสตร์ จึงทำให้เขตพื้นที่ของคณะวิทยาศาสตร์มีอาคารที่แสดงถึงยุคสมัยต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี มีทั้งอาคารแบบสถาปัตยกรรมในยุคโมเดิร์น อาคารแบบสถาปัตยกรรมไทยร่วมสมัย ไปจนถึงอาคารที่ถอดแบบจากลักษณะ "จั่วสามมุข" อัตลักษณ์ทางปรัชญาของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์[141]

อาคารวิฑูรย์ หงส์สุมาลย์ (ตึกฟิสิกส์) | Physics Building เดิมชื่อว่า "ตึกฟิสิกส์" สร้างเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2512 เป็นอาคารหลังแรกของคณะวิทยาศาสตร์และอักษรศาสตร์ ความสูง 5 ชั้น พื้นที่ประมาณ 3,096 ตารางเมตร[142] ออกแบบโดยองอาจ สาตรพันธุ์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ ด้านสถาปัตยกรรมร่วมสมัย ปี พ.ศ. 2552[143] รูปแบบของอาคารเป็นแบบสถาปัตยกรรมคอนกรีตเปลือย หรือ Brutalism ได้รับอิทธิพลจาก เลอกอร์บูซีเย (Le Corbusier) อย่างชัดเจน[144] แสดงให้เห็นถึงแนวความคิดสัจจะวัสดุ ซึ่งเป็นข้อบ่งบอกถึงความเป็นสถาปัตยกรรมยุคโมเดิร์น[145][146] ทางลาดโค้งทอดยาวด้านหน้าอาคารทำหน้าที่เป็นตัวเชื่อมต่อพื้นที่ภายนอกและภายในอาคาร สภาพของอาคารส่วนมากยังคงเดิมตามแบบฉบับ มีเพียงการปรับเปลี่ยนการใช้พื้นที่บางส่วนให้เหมาะสมกับลักษณะการใช้งานและจำนวนผู้ใช้ที่เปลี่ยนไปตามยุคตามสมัย ถือว่าอาคารเป็นอาคารที่มีรูปแบบสถาปัตยกรรมแบบร่วมสมัยเป็นอย่างมาก [147] โดยอาคารดังกล่าวถูกจัดให้เป็นอาคารที่ควรอนุรักษ์เป็นลำดับที่ 2 โดยคณะกรรมการอนุรักษ์อาคารและสิ่งก่อสร้างมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์[148][149][150]

นอกจากนี้ อาคารเรียนฟิสิกส์หลังนี้ยังเคยใช้เป็นสถานที่ทรงพระอักษรในรายวิชาวิทยาศาสตร์พื้นฐานของสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ขณะที่ทรงศึกษา ณ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ด้วย[151]

ตึกสัตววิทยา | Zoology Building เดิมชื่อว่า "ตึกชีววิทยา" สร้างเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2515 เป็นอาคารหลังที่ 2 ของคณะวิทยาศาสตร์และอักษรศาสตร์ ความสูง 5 ชั้น ซึ่งในสมัยนั้นใช้เป็นทั้งที่ทำการ ห้องทำงาน และห้องปฏิบัติการทางจุลชีววิทยา สัตววิทยา และพฤกษศาสตร์[152] ต่อมาได้มีการแยกสาขาวิชาทางชีววิทยาแขนงต่าง ๆ ออกไปจัดตั้งเป็น 'ภาควิชา' และสังกัดยังตึกใหม่ ได้แก่ ภาควิชาจุลชีววิทยา ภาควิชาพันธุศาสตร์ ภาควิชาพฤกษศาสตร์ ภาควิชารังสีประยุกต์และไอโซโทป และภาควิชาสัตววิทยา (ดูแลสาขาชีววิทยาด้วย) ซึ่งภาควิชาสัตววิทยาได้รับการจัดสรรพื้นที่ให้สังกัดอยู่ที่ตึกชีววิทยาเดิม และต่อมาได้มีการปรับปรุงและก่อสร้างตึกใหม่แทนที่ตึกชีววิทยาเดิม โดยใช้ชื่อตึกใหม่ว่า "ตึกสัตววิทยา" [153][154] ปัจจุบัน ตึกสัตววิทยาใช้เป็นอาคารเรียนและปฏิบัติการของภาควิชาสัตววิทยาและสาขาวิชาชีววิทยา โดยที่บริเวณชั้น 1 เป็นที่ตั้งของ "พิพิธภัณฑ์สัตววิทยา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์" จัดแสดงนิทรรศการและตัวอย่างสัตว์ในรูปแบบต่าง ๆ

ตึกจุลชีววิทยา-พันธุศาสตร์
ตึกวิทยาศาสตร์กายภาพ ๔๕ ปี

อาคารกฤษณา ชุติมา (ตึกเคมี) | Chemistry Building สร้างในปี พ.ศ. 2518 หลังจากที่คณะฯ ย้ายมาอยู่บริเวณพื้นที่ใหม่ทางฝั่งตะวันตกของประตูงามวงศ์วาน 1 ออกแบบและวางโครงสร้างอาคารโดยศาสตราจารย์ ดร.กฤษณา ชุติมา (หัวหน้าแผนกวิชาเคมีในขณะนั้น) ลักษณะเป็นอาคารเรียนและปฏิบัติการสูง 6 ชั้น มีดาดฟ้า พื้นที่ประมาณ 8,851 ตารางเมตร[155] ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของถนนหลวงสุวรรณฯ (ถือเป็นอาคารที่สูงที่สุดในมหาวิทยาลัย ณ ขณะนั้น)[156]

ตึกจุลชีววิทยา-พันธุศาสตร์ | Microbiology-Genetics Building เป็นอาคารเรียนและปฏิบัติการของภาควิชาจุลชีววิทยาและภาควิชาพันธุศาสตร์ ลักษณะเป็นอาคาร 6 ชั้น พื้นที่ประมาณ 6,118 ตารางเมตร[157] โดยชั้นที่ 1-3 เป็นที่ทำการภาควิชาจุลชีววิทยา และชั้นที่ 4-6 เป็นที่ทำการภาควิชาพันธุศาสตร์

ตึกชีวเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มก.

อาคารศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์จุฬาภรณ์ 60 พรรษา | The Princess Chulabhorn Science Research Center (In Celebration of Princess Chulabhorn's 60th Birthday) จัดตั้งขึ้นในปีที่คณะวิทยาศาสตร์ครบรอบ 50 ปีแห่งการสถาปนา เพื่อเป็นสถานที่ส่งเสริมและสนับสนุนแผนงานของคณะวิทยาศาสตร์ภายใต้วิสัยทัศน์ Excellence in Natural Science in ASEAN by 2022 และเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ของประเทศ (National Learning Significance) ลักษณะเป็นอาคารปฏิบัติการวิจัยรวม ความสูง 12 ชั้น และ 6 ชั้น ตัวอาคารถูกออกแบบมาให้ประหยัดพลังงานและมีการจัดการอาคารแบบ Green Energy Building ภายในประกอบด้วย หน่วยปฏิบัติการวิจัยเชี่ยวชาญเฉพาะทาง (Special Research Unit) ศูนย์เทคโนโลยีบ่มเพาะธุรกิจและผู้ประกอบการ (Technological Entrepreneurship) ศูนย์วิจัยร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรม เป็นต้น และได้รับพระกรุณาคุณจากศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี พระราชทานนามอาคารใหม่ของคณะวิทยาศาสตร์นี้ว่า "อาคารศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์จุฬาภรณ์ 60 พรรษา" ตามหนังสือที่ รล 0011.3/10678 ลงวันที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560[158]

อาคารวิทยาศาสตร์กายภาพ ๔๕ ปี | Science 45 Years Building จัดตั้งขึ้นในปีที่คณะวิทยาศาสตร์ครบรอบ 45 ปีแห่งการสถาปนา ลักษณะเป็นอาคารเรียนและปฏิบัติการสูง 12 ชั้น สำหรับภาควิชาคณิตศาสตร์ ภาควิชาฟิสิกส์ ภาควิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ และภาควิชาสถิติ โดยในชั้นที่ 3 ของอาคารเป็นที่ตั้งของห้องประชุมสุมินทร์ สมุทคุปติ์ (Sumin Smutkupt Conference Room) และชั้นที่ 2 เป็นศูนย์อาหารคณะวิทยาศาสตร์ และบริเวณโถงชั้นล่างเป็นลานกิจกรรมรวมสำหรับนิสิตคณะวิทยาศาสตร์[159]

อาคารยงยุทธ เจียมไชยศรี (ตึกชีวเคมี) | Biochemistry Building เป็นอาคารเรียนและปฏิบัติการของภาควิชาชีวเคมี ตั้งอยู่ตรงข้ามกับภาควิชาวิศวกรรมวัสดุ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ลักษณะเป็นอาคาร 4 ชั้น พื้นที่ประมาณ 5,376 ตารางเมตร[160] ในอดีตที่บริเวณชั้น 1 เคยใช้เป็นทั้งห้องปฏิบัติการภาษาของคณะมนุษยศาสตร์ก่อนจะย้ายไปยังที่ทำการใหม่ และเคยใช้เป็นที่ทำการของภาควิชาวิทยาศาสตร์ทั่วไปด้วย

ตึกสถิติ-คณิตศาสตร์-คอมพิวเตอร์ (ตึก SMC) | Statistics - Mathematics - Computer Science Building เดิมชื่อ "ตึกภาษา-สถิติ" ลักษณะเป็นอาคารเรียนและปฏิบัติการ ความสูง 5 ชั้น พื้นที่ประมาณ 4,590 ตารางเมตร[161] ในสมัยที่ยังเป็นคณะวิทยาศาสตร์และอักษรศาสตร์ ซึ่งใช้เป็นทั้งที่ทำการภาควิชาสถิติของคณะวิทยาศาสตร์และยังใช้เป็นที่ทำการของคณะมนุษยศาสตร์ในสมัยแรกตั้งด้วย[162] ต่อมาเมื่อคณะมนุษยศาสตร์มีที่ทำการใหม่ในพื้นที่ใหม่แล้ว ตึกนี้จึงถูกใช้เป็นอาคารเรียนและปฏิบัติการของภาควิชาสถิติ ภาควิชาคณิตศาสตร์ และภาควิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ในเวลาต่อมา

อาคารเรือนเพาะชำ | Nursery เป็นอาคารชั้นเดียว ตั้งอยู่บริเวณด้านหลังอาคารสุขประชา วาจานนท์ เป็นแหล่งรวบรวมตัวอย่างและข้อมูลความรู้ทางด้านพืชและเป็นที่ตั้ง "พิพิธภัณฑ์องค์ความรู้ทางพฤกษศาสตร์" ของภาควิชาพฤกษศาสตร์ด้วย

อาคารสุขประชา วาจานนท์ (ตึกวิทยาศาสตร์ ๒๕ ปี) | Science 25 Years Building เดิมชื่อ "อาคารวิทยาศาสตร์ 25 ปี" ก่อนจะเปลี่ยนชื่ออาคารใหม่เป็น "อาคารสุขประชา วาจานนท์" [163]ก่อสร้างเสร็จในปี พ.ศ. 2536 เป็นอาคารเรียนและสำนักงาน ความสูง 5 ชั้น[164] เป็นทั้งที่ทำการสำนักงานเลขานุการคณะวิทยาศาสตร์ (ชั้นที่ 2) ที่ทำการภาควิชารังสีประยุกต์และไอโซโทป (ชั้นที่ 1) ที่ทำการภาควิชาพฤกษศาสตร์ (ชั้นที่ 3) ที่ทำการภาควิชาวิทยาศาสตร์พื้นพิภพ (ชั้นที่ 4) และที่ทำการภาควิชาวัสดุศาสตร์ (ชั้นที่ 5) นอกจากนี้ยังได้รับพระกรุณาธิคุณจากสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก เสด็จเปิดอาคารเมื่อวันที่ 9 มีนาคม พุทธศักราช 2536[165] ซึ่งตรงกับวันสถาปนาคณะวิทยาศาสตร์ ครบรอบปีที่ 27

อาคารทวี ญาณสุคนธ์ (SCL) | Science Laboratory Building ก่อสร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2538 สร้างเสร็จในปี พ.ศ. 2542 เดิมชื่อว่า "อาคารปฏิบัติการรวมวิทยาศาสตร์พื้นฐาน" ก่อนจะเปลี่ยนชื่ออาคารใหม่เป็น "อาคารทวี ญาณสุคนธ์"[166] และมักเรียกกันโดยทั่วไปว่า “ตึก SCL” รูปแบบเป็นอาคารปฏิบัติการวิทยาศาสตร์พื้นฐาน ความสูง 10 ชั้น พื้นที่ประมาณ 15,000 ตารางเมตร[167] โดยอาคารดังกล่าวถูกออกแบบตามอิทธิพลแบบตะวันตกในสมัยนั้น และถูกออกแบบให้มีลักษณะด้านโพสต์โมเดิร์นแบบไทยร่วมสมัย ส่วนฐานมีลักษณะเป็นเสาหุ้มขนาดใหญ่และตกแต่งด้วยบัวทำให้ดูเสมือนฐานและส่วนของตัวอาคารแยกออกจากกัน นอกจากนี้ยังมีการเจาะหน้าต่างเป็นช่องอย่างเป็นระบบ[168] ทั้งนี้ ยังได้รับพระกรุณาธิคุณจากสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก เสด็จเปิดอาคารเมื่อวันที่ 9 มีนาคม พุทธศักราช 2542[169] ซึ่งตรงกับวันสถาปนาคณะวิทยาศาสตร์ ครบรอบปีที่ 33

ตึกสุวรรณวาจกกสิกิจ | Suwan Vajokkasikij Building เป็นอาคารเก่า ก่อสร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2506 สถาปนิกผู้ออกแบบ คือ ผศ.ทองพันธ์ พูลสุวรรณ์ จุดประสงค์เพื่อใช้เป็นอาคารเรียนรวมของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ในสมัยนั้น ลักษณะเป็นอาคารคอนกรีต 2 ชั้น พื้นและผนังทำจากไม้ มีป้ายชื่ออาคารแกะจากไม้เขียนว่า "สุวรรณวาจกกสิกิจ" บริเวณชั้นบนของอาคารเป็นห้องบรรยายขนาด 300 ที่นั่ง และชั้นล่างเป็นใต้ถุนโล่ง ต่อมามีการปรับปรุงชั้นล่างให้เป็นพื้นที่สำนักงาน ซึ่งอดีตเคยใช้เป็นที่ทำการไปรษณีย์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และที่ทำการธนาคารทหารไทย ทั้งนี้ อาคารดังกล่าวถูกจัดให้เป็นอาคารที่ควรอนุรักษ์เป็นลำดับที่ 3 โดยคณะกรรมการอนุรักษ์อาคารและสิ่งก่อสร้างมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์[170]

การตั้งชื่อและความหมายของชื่อตึกอาคารต่าง ๆ ภายในคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นิยมใช้การตั้งชื่อจากชื่อบุคคลสำคัญผู้มีคุณูปการแก่คณะฯ คณบดี และพระบรมวงศานุวงศ์ เพื่อเป็นการยกย่องและรำลึกถึงบุคคลผู้มีคุณความดีนั้น ๆ เช่น อาคารทวี ญาณสุคนธ์[171][172], อาคารกฤษณา ชุติมา, อาคารสุขประชา วาจานนท์[173], อาคารวิฑูรย์ หงษ์สุมาลย์[174], อาคารยงยุทธ เจียมไชยศรี, อาคารศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ๖๐ พรรษา เป็นต้น และยังนิยมใช้การตั้งชื่อตึกอาคารจากวันและเหตุการณ์สำคัญของคณะฯ เช่น อาคารวิทยาศาสตร์กายภาพ ๔๕ ปี, อาคารวิทยาศาสตร์ ๒๕ ปี (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น อาคารสุขประชา วาจานนท์) เป็นต้น นอกจากนี้ ยังพบการตั้งชื่อตึกอาคารจากภารกิจและพันธกิจของตึกอาคารนั้น ๆ เช่น ตึกสัตววิทยา ตึกจุลชีววิทยา-พันธุศาสตร์ ตึกสถิติ-คณิตศาสตร์-คอมพิวเตอร์ เป็นต้น ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงค่านิยมในการยกย่องผู้ทำคุณประโยชน์และสะท้อนความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ของคณะวิทยาศาสตร์ ตลอดจนสะท้อนให้เห็นความมุ่งหมายในการก่อตั้งคณะฯ และจุดประสงค์ในการก่อสร้างตึกอาคารต่าง ๆ

พิพิธภัณฑ์[แก้]

อาคารพิพิธภัณฑ์สัตววิทยา

คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มีพิพิธภัณฑ์เปิดให้ประชาชนได้เข้าชม พิพิธภัณฑ์ดังกล่าวตั้งอยู่ตามภาควิชาต่าง ๆ ภายในพื้นที่ของคณะวิทยาศาสตร์ ส่วนใหญ่เป็นพิพิธภัณฑ์เชิงธรรมชาติวิทยาจัดแสดงความหลากหลายทางชีวภาพทั้งพืชและสัตว์ โดยตัวอย่างที่จัดแสดงอยู่ภายในพิพิธภัณฑ์เป็นตัวอย่างที่ได้จากการเก็บสะสมจากการสำรวจในภาคสนาม เพื่อนำมาใช้เป็นข้อมูลสำหรับการเรียนการสอนและการวิจัย

พิพิธภัณฑ์สัตววิทยา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (Zoological Museum Kasetsart University) ตั้งอยู่ที่บริเวณชั้น 1 ตึกสัตววิทยา เริ่มก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2509 มีการเก็บรวบรวมตัวอย่างเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน พิพิธภัณฑ์สัตววิทยาเป็น 1 ใน 12 แหล่งเรียนรู้ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ [175]

ภายในจัดแสดงนิทรรศการและตัวอย่างสัตว์ในรูปแบบความหลากหลายและวิวัฒนาการของอาณาจักรสัตว์ที่พบในประเทศไทย ตั้งแต่สัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังขนาดเล็กไปจนถึงสัตว์มีกระดูกสันหลังขนาดใหญ่ เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับ นักเรียน นิสิต นักศึกษาและบุคคลทั่วไป นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งข้อมูลและพัฒนางานวิจัยด้านความหลากหลายของสัตว์โดยบุคลากรของภาควิชาสัตววิทยา ตัวอย่างที่เป็น highlights ของพิพิธภัณฑ์สัตววิทยามีความหลากหลายในแง่ สถานภาพใกล้สูญพันธ์ หายาก

พิพิธภัณฑ์สัตววิทยายังเป็นแหล่งข้อมูลด้านการวิจัยเกี่ยวกับความหลากหลายของสัตว์ให้กับนักวิจัยไทยและต่างประเทศโดยมีส่วนที่เป็นตัวอย่างอ้างอิงมาจากงานวิจัยของคณาจารย์ซึ่งมีการค้นพบชนิดพันธ์ใหม่ของโลกอย่างต่อเนื่อง เช่น แมลงชีปะขาว พยาธิตัวตืด ปาดเรียวมลายู เป็นต้น

พิพิธภัณฑ์องค์ความรู้ทางพฤกษศาสตร์ (Botanical Museum) ตั้งอยู่บริเวณเรือนเพาะชำของภาควิชาพฤกษศาสตร์ พิพิธภัณฑ์ได้มีการเก็บรวบรวมตัวอย่างพืชมาตั้งแต่ในช่วงเริ่มก่อตั้งภาควิชาฯ กระทั่งในปี พ.ศ. 2536[176] จึงได้จัดตั้งพิพิธภัณฑ์พืชอย่างเป็นทางการ ต่อมาในปี พ.ศ. 2549 ได้ปรับปรุงเพิ่มเติมดังเช่นในปัจจุบัน ซึ่งภายในจัดแสดงตัวอย่างพืช ส่วนประกอบและโครงสร้างพืช วิวัฒนาการและความหลากหลายของพืช การใช้ประโยชน์ ตลอดจนพืชเศรษฐกิจ และบริเวณโดยรอบยังจัดแสดงพรรณไม้ซึ่งหาดูยากชนิดต่าง ๆ ไว้ด้วย[177][178][179]

ห้องสมุด[แก้]

คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มีห้องสมุดกลางชื่อว่า ห้องสมุดคณะวิทยาศาสตร์ (อังกฤษ: Library, Faculty of Science; ชื่อย่อ: วิทยาศาสตร์ , Science)[180] และมีห้องสมุดเฉพาะด้านตามภาควิชา เช่น ห้องสมุดภาควิชาเคมี เป็นต้น ห้องสมุดของคณะวิทยาศาสตร์เป็นห้องสมุดระดับคณะ ตั้งอยู่ที่ ชั้น 2 อาคารทวี ญาณสุคนธ์ มีตำรากว่า 10,000 เล่ม และมีวารสาร 160 รายชื่อ[181] ตำราทุกเล่มถูกจัดจำแนกเป็นหมวดหมู่ด้วยระบบเดียวกับสำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คือใช้ระบบการจัดหมู่หนังสือแบบรัฐสภาอเมริกัน (Library of Congress)[182] ห้องสมุดคณะวิทยาศาสตร์เปิดให้บริการทั้งนิสิต คณาจารย์ บุคลากร ตลอดจนประชาชนทั่วไปในเวลาราชการ

ห้องสมุดภาควิชาเคมี (อังกฤษ: Library, Department of Chemistry, Faculty of Science; ชื่อย่อ: ภ.เคมี , Chem Dept)[183] เป็นห้องสมุดเฉพาะด้านในระดับภาควิชา ตำราส่วนใหญ่เป็นตำราวิชาการด้านเคมี ห้องสมุดภาควิชาเคมีเริ่มก่อตั้งขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2512[184] โดยในช่วงแรกนั้นนิสิตเป็นผู้ดูแลกันเองก่อนที่จะพัฒนาจนกระทั่งมีเจ้าหน้าที่ประจำห้องสมุดมาดูแลอย่างเป็นทางการ ในส่วนของสถานที่ตั้งเดิมนั้นอยู่ที่ชั้น 6 ห้อง 602 ภาควิชาเคมี อาคารกฤษณา ชุติมา และต่อมาในปี พ.ศ. 2545 ได้มีการย้ายที่ตั้งมายังชั้น 1 ห้อง 101-105 ของอาคารกฤษณา ชุติมา ซึ่งเป็นสถานที่ตั้งในปัจจุบัน และภายในปีเดียวกันห้องสมุดภาควิชาเคมีได้ทำการปรับปรุงระบบการจัดหมู่ตำราและระบบการสืบค้นโดยใช้ระบบเดียวกันกับสำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

วารสาร[แก้]

วารสารวิทยาศาสตร์ มก. (อังกฤษ: Kasetsart University Science Journal; ชื่อย่อ: KU Science Journal) (ISSN : 0125-7730) เป็นวารสารวิชาการของคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มีวัตถุประสงค์เพื่อตีพิมพ์และเผยแพร่ผลงานวิจัยในทุกสาขาของวิทยาศาสตร์ ตลอดจนนำเสนอข้อมูลข่าวสารวงการวิทยาศาสตร์ที่สำคัญและมีผลกระทบต่อนักวิทยาศาสตร์และสาธารณชน โดยมีกำหนดออกปีละ 3 ฉบับ เริ่มตีพิมพ์ครั้งแรก ปีที่ 1 ฉบับที่ 1 ในเดือนกุมภาพันธ์ ปี พ.ศ. 2525 เป็นฉบับปฐมฤกษ์ เฉลิมฉลองในวาระครบรอบ 200 ปี กรุงรัตนโกสินทร์[185] และใช้ชื่อวารสารในครั้งแรกว่า "วารสารคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (Journal of the Faculty of Science Kasetsart University)" ต่อมาในปี พ.ศ. 2527 ซึ่งเป็นปีที่ 3 ในฉบับที่ 1 ได้มีการเปลี่ยนชื่อเป็น "วารสารวิทยาศาสตร์ ม.ก. (Science Journal, Faculty of Science K.U.)" และต่อมาในปี พ.ศ. 2531 ซึ่งเป็นปีที่ 7 ในฉบับที่ 1 ได้ทำการเปลี่ยนชื่อวารสารในส่วนของภาษาอังกฤษเป็น "Kasetsart University Science Journal" และได้มีการเปลี่ยนชื่อวารสารอีกครั้งในปีที่ 15 พ.ศ. 2539 โดยใช้ชื่อใหม่ว่า "วารสารวิทยาศาสตร์ มก. (Kasetsart University Science Journal" หรือ "KU Science Journal)"[186] และได้หยุดพิมพ์ฉบับสุดท้าย ในปี พ.ศ. 2552 รวมระยะเวลา 27 ปี ทั้งนี้ มีให้บริการฉบับเย็บเล่มที่ "ห้องสมุดคณะวิทยาศาสตร์" กรุงเทพมหานคร และฉบับออนไลน์ที่ "คลังความรู้ดิจิทัล มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (KU Knowledge Repository)"[187][188]

คอร์สออนไลน์[แก้]

รหัสรายวิชา ชื่อรายวิชา
คอร์สออนไลน์ Thai-MOOC
ku001 คณิตศาสตร์วิศวกรรม II
ku002 ฟิสิกส์ทั่วไป I
ku003 เคมีทั่วไป

มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดย คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ และสำนักงานปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ในการผลิตและเผยแพร่กระบวนวิชาเพื่อเป็นสื่อการเรียนการสอนออนไลน์แบบสาธาณะในโครงการ "มหาวิทยาลัยไซเบอร์ไทย (Thai-MOOC)" ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนและรองรับ "การศึกษาระบบเปิดเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning Space)"[189][190]

คอร์สออนไลน์ที่ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เปิดให้ผู้สนใจลงทะเบียนได้ มีจำนวน 3 รายวิชา ได้แก่

  • คณิตศาสตร์วิศวกรรม II
  • ฟิสิกส์ทั่วไป I
  • เคมีทั่วไป

(ข้อมูล ณ วันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2562) [191]

สมาคมนิสิตเก่าวิทยาศาสตร์/สโมสรนิสิต[แก้]

สมาคมนิสิตเก่าวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (อังกฤษ: Science Alumni Association of Kasetsart University; ชื่อย่อ: สวมก., SAAKU) เป็นองค์กรที่ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการประสานสัมพันธ์ของบรรดานิสิตเก่ารุ่นต่าง ๆ ของคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยสมาคมฯ มีวัตถุประสงค์หลักในการส่งเสริม สนับสนุน ประสานกิจกรรม และเผยแพร่ชื่อเสียงของคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ให้เป็นที่ยอมรับนับถือของสังคมภายนอก

ประวัติ

สมาคมนิสิตเก่าวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มีต้นกำเนิดมาจาก "ชมรมนิสิตเก่าคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์" [192] มีประวัติความเป็นมาและมีพัฒนาการมาโดยลำดับ กล่าวคือ ในปี พ.ศ. 2549 รองศาสตราจารย์ ดร. วินิจ เจียมสกุล (คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ มก. ในขณะนั้น) ได้ให้ข้อแนะนำและให้การสนับสนุน ตลอดจนผลักดันกลุ่มนิสิตเก่าฯ ในการดำเนินการจัดตั้ง "ชมรมนิสิตเก่าคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์" เพื่อเป็นศูนย์กลางประสานงานระหว่างนิสิตเก่าฯ กับคณะวิทยาศาสตร์ ซึ่งในเวลาต่อมาได้มีการจัดตั้ง "ชมรมนิสิตเก่าคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์" ขึ้นอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2549 โดยมี คุณปรีชา ธรรมนิยม นิสิตเก่าวิทยาศาสตร์และอักษรศาสตร์ มก. รุ่น 1 (วอ.1) เป็นประธานคณะกรรมการบริหารชมรมนิสิตเก่าคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ท่านแรก[193]

ต่อมาในปี พ.ศ. 2550 คณะกรรมการบริหารชมรมฯ มีความเห็นสมควรให้ดำเนินการเปลี่ยนสถานภาพจาก ชมรม ไปเป็น สมาคม จึงได้มีประกาศชมรมฯ ลงวันที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2550 แต่งตั้งคณะอนุกรรมการร่างระเบียบสมาคมนิสิตเก่าวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ขึ้น[194] ซึ่งประกอบไปด้วยคณะทำงานจำนวน 8 ท่าน ทำหน้าที่ร่างกฎ ระเบียบ ข้อบังคับ และข้อปฏิบัติ แล้วเสนอต่อคณะกรรมการบริหารชมรมฯ เพื่อใช้ในการดำเนินการจัดตั้งเป็น สมาคมนิสิตเก่าวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ต่อไป

ซึ่งในปี พ.ศ. 2554 สมาคมฯ ได้รับการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล จัดตั้งเป็น "สมาคมนิสิตเก่าวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์" ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ลงวันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 [195][196] ซึ่งถือเป็นวันก่อตั้งสมาคมฯ โดยมีคณะกรรมการสมาคมชุดแรก จำนวน 16 ท่าน และมีรองศาสตราจารย์ นิดา ชาญบรรยง เป็นนายกสมาคมนิสิตเก่าวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ท่านแรก และมีสำนักงานใหญ่สมาคมฯ ตั้งอยู่ที่ สำนักงานเลขานุการ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กรุงเทพมหานคร[197]

หลังจากจัดตั้งขึ้นเป็นสมาคมฯ แล้ว สมาคมนิสิตเก่าวิทยาศาสตร์ มก. มีคณะกรรมการบริหารสมาคมฯ สับเปลี่ยนหมุนเวียนมาอีกหลายสมัย ซึ่งคณะกรรมการแต่ละชุดบริหารงานอย่างสอดคล้องและเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของสมาคมฯ ทั้งนี้เพื่อความมั่นคงของสมาคมฯ และเพื่อเป็นศูนย์กลางประสานสัมพันธ์ระหว่างนิสิตเก่าฯ กับคณะฯ ตลอดจนส่งเสริม สนับสนุน ช่วยเหลือ และให้ความร่วมมือในด้านต่าง ๆ ของคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

โครงการและกิจกรรม

สมาคมนิสิตเก่าวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มีโครงการและกิจกรรมที่ส่งเสริมและสนับสนุนคณะวิทยาศาสตร์และนิสิตคณะวิทยาศาสตร์ในด้านต่าง ๆ ซึ่งสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของสมาคมฯ[198] อาทิ ร่วมจัดงานวันสถาปนาคณะวิทยาศาสตร์ ในวันที่ 9 มีนาคม ของทุกปี, ร่วมเป็นกรรมการในการพิจารณาคัดเลือกนิสิตเก่าฯ ที่มีความเหมาะสมเพื่อเข้ารับ "รางวัลคณะวิทยาศาสตร์"[199] สาขา "ศิษย์เก่าผู้ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานระดับสูง" ซึ่งจะมีการมอบรางวัลเป็นประจำทุกปีในงานวันสถาปนาคณะวิทยาศาสตร์ฯ, ร่วมจัดงานประชุมใหญ่ของสมาคมฯ, จัดงานสังสรรค์ระหว่างคณาจารย์ นิสิตเก่า และนิสิตปัจจุบัน[200], จัดงานมุฑิตาจิตคณาจารย์อาวุโส, ร่วมจัดงานวิ่งการกุศล Run for Fund : Sci KU Run 2019 และ Sci KU Run Fun and Explore : Sci KU Run 2020 เพื่อระดมทุนในการปรับปรุงอาคารและสถานที่ภายในคณะ[201][202], ร่วมจัดกิจกรรม "การแข่งขันโบว์ลิงการกุศล โอกาสครบรอบ 50 ปี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ชิงถ้วยเกียรติยศ ฯพณฯ นายอำพล เสนาณรงค์ องคมนตรี" เพื่อระดมเงินทุนสนับสนุนกองทุน คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์[203][204], จัดงานเสวนาทางวิชาชีพ เพื่อส่งเสริมวิชาชีพวิทยาศาสตร์, มอบเงินทุนสนับสนุนกิจกรรมอาสาเพื่อสังคมของสโมสรนิสิตคณะวิทยาศาสตร์ มก., เข้าร่วมกิจกรรมกับสมาคมนิสิตเก่ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ (ส.มก.) ร่วมกับสมาคมฯ คณะอื่น ๆ ตลอดจนเข้าร่วมกิจกรรมสำคัญของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

สโมสรนิสิตคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

สโมสรนิสิตคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (Science Student Club) เป็นการรวมกลุ่มของนิสิตในรูปแบบองค์กร โดยมีคณะทำงานซึ่งเป็นนิสิตในคณะวิทยาศาสตร์ทำหน้าที่บริหารสโมสร ทำหน้าที่เป็นสื่อกลางระหว่างนิสิตในการติดต่อประสานงานระหว่างนิสิตกับองค์กรต่างๆ ภายในมหาวิทยาลัย และยังเป็นศูนย์กลางในการจัดกิจกรรมและประชาสัมพันธ์ข่าวสารต่าง ๆ ให้กับนิสิตคณะวิทยาศาสตร์ รวมถึงเป็นองค์กรที่มีส่วนช่วยในการพัฒนาศักยภาพด้านความเป็นผู้นำ ทำงานเป็นทีม มีจริยธรรม ฝึกการบำเพ็ญประโยชน์ ให้กับคณะฯ มหาวิทยาลัย และสังคมภายนอก

เพลงคณะวิทยาศาสตร์[แก้]

ในระยะเริ่มแรกสมัยที่ยังเป็น คณะวิทยาศาสตร์และอักษรศาสตร์ (อังกฤษ: Faculty of Science and Arts) มีบทเพลงแรกที่ถูกแต่งขึ้นและใช้เป็นเพลงประจำคณะ ซึ่งก็คือ เพลง "วิทยาศาสตร์-อักษรศาสตร์" เพลงนี้เป็นเพลงสุนทราภรณ์แต่งเนื้อร้องโดย ศยาม (จักรพงษ์ เจิมศิริ, KU 21) และทำนองโดยครูเอื้อ สุนทรสนาน[205] ภายหลังได้มีการแยกส่วนอักษรศาสตร์ไปจัดตั้งเป็นคณะใหม่ คือ คณะมนุษยศาสตร์[206]

ต่อมาในปี พ.ศ. 2546 มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้มีการรวบรวมบทเพลงประจำมหาวิทยาลัยทั้งหมด รวมทั้งเพลงประจำคณะด้วย[207][208] เพื่อนำมาเรียบเรียงเสียงประสานและบันทึกเสียงใหม่ ซึ่งคณะทำงานของคณะวิทยาศาสตร์ในขณะนั้นเห็นสมควรให้ประพันธ์เพลงประจำคณะขึ้นใหม่อีกบทเพลงหนึ่ง เพื่อให้เหมาะกับอัตลักษณ์และความเป็นเอกภาพของคณะวิทยาศาสตร์ จึงได้กราบเรียนท่าน ศาสตราจารย์ ดร. ประเสริฐ ณ นคร กรุณาประพันธ์เพลงทั้งเนื้อร้องและทำนองเพื่อใช้เป็นบทเพลงใหม่ประจำคณะวิทยาศาสตร์ และท่านอาจารย์ได้ตั้งชื่อบทเพลงใหม่นี้ไว้ว่า "วิทยาศาสตร์ปณิธาน" คณะวิทยาศาสตร์จึงมีบทเพลงใหม่ประจำคณะตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา[209][210]

บทบาทและการส่งเสริมพัฒนางานด้านวิทยาศาสตร์[แก้]

คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มีส่วนในการส่งเสริม พัฒนา และผลักดันงานด้านวิทยาศาสตร์ของประเทศให้ทัดเทียมและเป็นที่ยอมรับ โดยผ่านโครงการในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งในระดับชาติและระดับนานาชาติ เช่น

ประชุมวิชาการนานาชาติ I-KUSTARS เก็บถาวร 2019-07-03 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน [211]

งานประชุมวิชาการนานาชาติ I-KUSTARS (อังกฤษ: International Kasetsart University Science and Technology Annual Research Symposium; ชื่อย่อ: I-KUSTARS) เป็นงานประชุมวิชาการประจำปีของคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่จัดขึ้นปีละครั้ง ช่วงเดือนพฤษภาคม โดยเริ่มจัดครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2552 เพื่อเป็นเวทีในการนำเสนอผลงานวิจัยเผยแพร่ผลงานวิชาการ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ ตลอดจนองค์ความรู้ในสาขาต่าง ๆ ของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ทั้งยังเป็นการสร้างบรรยากาศทางวิชาการ และเป็นการสร้างความร่วมมือทางการศึกษา วิจัย ระหว่างมหาวิทยาลัยไทยกับสถาบันการศึกษาต่างประเทศ[212][213]

โดยผู้เข้าร่วมประชุมมีทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ซึ่งในการประชุมจะมีการเชิญนักวิทยาศาสตร์ที่มีบทบาทสำคัญ ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติมาเป็นผู้บรรยายหลัก (Plenary Speaker) หมุนเวียนกันไปในแต่ละปี[214] รวมทั้งเปิดโอกาสให้นิสิต-นักศึกษาระดับปริญญาตรีและบัณฑิตศึกษาทั่วโลกได้ร่วมนำเสนอผลงานทั้งแบบบรรยาย (Oral presentation) และแบบโปสเตอร์ (Poster presentation) อีกด้วย

ปัจจุบัน ได้ขยายหัวข้อวิจัย (Research Topics) ครอบคลุมทั้งสาขาวิทยาศาสตร์กาย (Physical Sciences) สาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ (Biological Sciences) และสาขาวิทยาการข้อมูล (Data Science) ได้แก่[215]

  • Biology
  • Biochemistry
  • Bioinformatics
  • Biotechnology
  • Botany
  • Genetics
  • Microbiology
  • Zoology
  • Applied Radiation and Isotopes
  • Physics
  • Chemistry
  • Nanotechnology
  • Material Science
  • Earth Sciences
  • Data Science
  • Computer Science
  • Mathematics
  • Statistics
ปาฐกถาเกียรติยศโดยนักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบล

ในโอกาสพิเศษหรือวาระสำคัญต่าง ๆ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้จัดให้มีการปาฐกถาเกียรติยศจากนักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบล โดยรูปแบบงานจะเป็นการบรรยาย ถ่ายทอดองค์ความรู้และประสบการณ์ จากนักวิทยาศาสตร์ผู้ซึ่งได้รับรางวัลโนเบลในสาขาต่าง ๆ มาบรรยายให้กับนิสิต คณาจารย์ บุคลากร ตลอดจนนักวิจัยของมหาวิทยาลัยฯ

โดยปาฐกถาเกียรติยศถูกจัดขึ้นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2555 ซึ่งได้เชิญ Professor Dr. Aaron CIECHANOVER นักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบล สาขาเคมี ปี 2004 มาเป็นผู้แสดงปาฐกถาเกียรติยศในปีดังกล่าว[216] ณ ห้องประชุมสุธรรม อารีกุล อาคารสารนิเทศ 50 ปี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน กรุงเทพมหานคร

ในปี พ.ศ. 2558 ซึ่งเป็นวาระครบรอบ 72 ปี ของการก่อตั้งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ทางคณะวิทยาศาสตร์ฯ จึงได้ร่วมกับ The International Peace Foundation in association จัดปาฐกถาเกียรติยศจากนักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบลขึ้น[217] โดยในปีดังกล่าวได้เชิญนักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบล จำนวน 2 ท่าน คือ Professor Brian Paul Schmidt นักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบล สาขาฟิสิกส์ ปี ค.ศ. 2011 และ Professor Ei-ichi Negishi นักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบล สาขาเคมี ปี ค.ศ. 2010 มาแสดงปาฐกถาเกียรติยศ[218] ณ ห้องประชุมสุธรรม อารีกุล อาคารสารนิเทศ 50 ปี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน กรุงเทพมหานคร

ต่อมาในปี พ.ศ. 2559 คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 42 (วทท.42) ร่วมกับสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยฯ[219] กอปรกับเป็นโอกาสฉลองครบรอบ 50 ปี ของการสถาปนาคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์[220] จึงได้จัดปาฐกถาเกียรติยศโดยนักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบล ซึ่งในปีดังกล่าวได้เชิญ Professor Dr. Dan Schectman นักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบล สาขาเคมี ปี ค.ศ. 2011[221] มาเป็นผู้แสดงปาฐกถาเกียรติยศ รวมทั้งสิ้น 2 ครั้ง ในปีเดียวกัน ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา และ ห้องประชุมสุธรรม อารีกุล อาคารสารนิเทศ 50 ปี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน กรุงเทพมหานคร ตามลำดับ[222][223][224][225][226][227]

และในปี พ.ศ. 2561 คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมกับ ภาควิชาเคมี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จัดงานเสวนา Chem-KU Colloquium 2018 และได้เชิญ Professor Robert H. Grubbs นักวิทยาศาสตร์ผู้ได้รับรางวัลโนเบล สาขาเคมี ปี ค.ศ. 2005 มาเป็นผู้เสวนาหลัก ณ ห้อง 341 อาคารวิทยาศาสตร์กายภาพ 45 ปี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กรุงเทพมหานคร[228][229][230]

รายชื่อนักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบลและหัวข้อปาฐกถา

No. Image Keynote speaker Topic Date
     1.  Professor Dr. Aaron CIECHANOVER
The Nobel Prize in Chemistry (2004)
The Revolution of Personalized Medicine – Are we going to cure all diseases and at what price??? October 19, 2012
     2.  Professor Brian Paul Schmidt
The Nobel Prize in Physics (2011)
Science: Humanity’s universal bridge January 19, 2015
     3.  Professor Ei-ichi Negishi
The Nobel Prize in Chemistry (2010)
The power of metal catalysis transition for a prosperous and sustainable 21st century January 26, 2015
     4.  Professor Dr. Dan Schectman
The Nobel Prize in Chemistry (2011)
Quasi – Periodic Crystals : A Paradigm Shift in Crystallography

Technological Entrepreneurship - Key to World Peace and Prosperity
November 30, 2016


December 2, 2016
     5.  Professor Robert H. Grubbs
A co-recipient of the Nobel Prize in Chemistry (2005)
Translation From Lab to Startup Company Dialogue with Nobel Laureate September 14, 2018
โครงการ พสวท.

โครงการพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี หรือ โครงการ พสวท. เป็นโครงการภายใต้ความร่วมมือระหว่าง 3 หน่วยงาน ได้แก่ รัฐบาลไทย กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อยกระดับการศึกษาและพัฒนาวงการวิทยาศาสตร์ของประเทศ โครงการดังกล่าวจัดขึ้นเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2527 ลักษณะเป็นการให้ทุนการศึกษาทั้งในระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอกกับเยาวชนที่มีความเป็นเลิศด้านวิทยาศาสตร์และมีเงื่อนไขในการชดใช้ทุน

ในปี พ.ศ. 2528 คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้เข้าร่วมโครงการ พสวท. เป็นปีแรก[231][232]และได้รับอนุมัติให้เป็นศูนย์ระดับมหาวิทยาลัยของโครงการ พสวท.[233] โดยได้เริ่มรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายจากโรงเรียนในโครงการดังกล่าว ใน 27 จังหวัด ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันตก[234] เข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาตรีที่คณะวิทยาศาสตร์และได้รับทุนสนับสนุนตลอด 4 ปีที่ศึกษาอยู่ รวมทั้งได้รับการสนับสนุนให้ศึกษาต่อในระดับปริญญาโทและปริญญาเอกอีกด้วย[235]

โดยในระดับปริญญาตรีจะต้องศึกษาในสาขาวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์[236] ได้แก่ คณิตศาสตร์ เคมี ชีววิทยา พฤกษศาสตร์ ฟิสิกส์ วิทยาศาสตร์พื้นพิภพ และสัตววิทยา และในระดับปริญญาโทและปริญญาเอกสามารถเลือกศึกษาได้ทั้งสาขาวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์และสาขาวิทยาศาสตร์ประยุกต์[237] โดยสาขาในระดับปริญญาโท ได้แก่ คณิตศาสตร์ เคมี จุลชีววิทยา ชีวเคมี ชีววิทยา ชีววิทยาของเซลล์และโมเลกุล พฤกษศาสตร์ พันธุศาสตร์ ฟิสิกส์ วิทยาการวัสดุนาโน วิทยาการคอมพิวเตอร์ วิทยาศาสตร์พื้นพิภพ และสัตววิทยา และสาขาในระดับปริญญาเอก ได้แก่ เคมี ชีววิทยา พฤกษศาสตร์ ฟิสิกส์ วิทยาการคอมพิวเตอร์ วิทยาการวัสดุนาโน วิทยาศาสตร์พื้นพิภพ และสัตววิทยา[238]

ปัจจุบันโครงการดังกล่าวได้ขยายโอกาสให้กับผู้ที่ศึกษาอยู่ในระดับปริญญาตรีสามารถสมัครเข้าเป็นนิสิตในโครงการเพิ่มเติมได้[239] และในส่วนเงื่อนไขการชดใช้ทุนจะคล้ายกับทุนรัฐบาลไทย แต่ระยะเวลาในการชดใช้ทุนจะไม่เกิน 10 ปี

โอลิมปิกวิชาการ

โอลิมปิกวิชาการ (International Science Olympiads) เป็นการแข่งขันทักษะวิชาการในสาขาวิชาต่าง ๆ ระดับนานาชาติ ซึ่งแต่ละประเทศจะคัดเลือกตัวแทนเพื่อเข้าร่วมแข่งขันจากนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายและมัธยมศึกษาตอนต้น โดยจะต้องผ่านการอบรมและผ่านการสอบแข่งขันโอลิมปิกวิชาการในระดับชาติก่อน ปัจจุบันมีทั้งสิ้น 14 สาขา ได้แก่ คณิตศาสตร์โอลิมปิก (IMO), ฟิสิกส์โอลิมปิก (IPhO), เคมีโอลิมปิก (IChO), คอมพิวเตอร์โอลิมปิก (IOI), ชีววิทยาโอลิมปิก (IBO), ปรัชญาโอลิมปิก (IPO), ดาราศาสตร์โอลิมปิก (IAO), ภูมิศาสตร์โอลิมปิก (iGeo), ภาษาศาสตร์โอลิมปิก (IOL), วิทยาศาสตร์โอลิมปิก ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น (IJSO), โลกและอวกาศโอลิมปิก (IESO), และ ดาราศาสตร์และฟิสิกส์ดาราศาสตร์โอลิมปิก (IOAA) สำหรับประเทศไทยมีสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี หรือ สสวท. และมูลนิธิส่งเสริมโอลิมปิกวิชาการและพัฒนามาตรฐานวิทยาศาสตร์คณิตศาสตร์ศึกษา ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ หรือ มูลนิธิ สอวน. เป็นหน่วยงานรับผิดชอบทำหน้าที่กำกับดูแลการอบรมและสอบคัดเลือก ตลอดจนส่งตัวแทนประเทศเข้าร่วมการแข่งขัน

ซึ่ง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดย คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มีโอกาสได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันโอลิมปิกวิชาการทั้งในระดับนานาชาติและระดับชาติหลายครั้ง ได้แก่ การแข่งขันเคมีโอลิมปิกระดับนานาชาติ ครั้งที่ 31 พ.ศ. 2542 ณ กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย (เจ้าภาพสาขาเคมีระดับนานาชาติครั้งแรกของประเทศไทย),[240][241][242] การแข่งขันคอมพิวเตอร์โอลิมปิกระดับนานาชาติ ครั้งที่ 23 พ.ศ. 2554 ณ เมืองพัทยา ประเทศไทย (เจ้าภาพสาขาคอมพิวเตอร์ระดับนานาชาติครั้งแรกของประเทศไทย),[243][244][245] การแข่งขันฟิสิกส์โอลิมปิกระดับเอเชีย ครั้งที่ 10 พ.ศ. 2552 ณ กรุงเทพมหานคร,[246][247][248] การแข่งขันฟิสิกส์โอลิมปิกระดับชาติ ครั้งที่ 3 พ.ศ. 2547 ณ กรุงเทพมหานคร, การแข่งขันคอมพิวเตอร์โอลิมปิกระดับชาติ ครั้งที่ 1 พ.ศ. 2548 ณ กรุงเทพมหานคร (เจ้าภาพสาขาคอมพิวเตอร์ระดับชาติครั้งแรก), การแข่งขันชีววิทยาโอลิมปิกระดับชาติ ครั้งที่ 4 พ.ศ. 2550 ณ กรุงเทพมหานคร, การแข่งขันเคมีโอลิมปิกระดับชาติ ครั้งที่ 11 พ.ศ. 2558 ณ กรุงเทพมหานคร, การแข่งขันฟิสิกส์โอลิมปิกระดับชาติ ครั้งที่ 16 พ.ศ. 2560 ณ กรุงเทพมหานคร, การแข่งขันคณิตศาสตร์โอลิมปิกระดับชาติ ครั้งที่ 17 พ.ศ. 2563 ณ กรุงเทพมหานคร, และการแข่งขันชีววิทยาโอลิมปิกระดับชาติ ครั้งที่ 19 พ.ศ. 2565 ณ กรุงเทพมหานคร

ในการแข่งขันเคมีโอลิมปิกระดับนานาชาติ ครั้งที่ 31 (The 31th International Chemistry Olympiad) ระหว่างวันที่ 4-11 กรกฎาคม พ.ศ. 2542 ณ กรุงเทพมหานคร ประเทศไทยได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันในระดับนานาชาติเป็นครั้งแรก ซึ่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง โดยภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ ทั้งสองสถาบันได้ดำเนินการเป็นเจ้าภาพร่วมกัน[249] และยังเป็นการร่วมเฉลิมฉลองเนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2542 ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ซึ่งในครั้งนั้นได้รับพระมหากรุณาธิคุณจาก ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเป็นประธานในพิธีเปิดการแข่งขัน ณ อาคารจักรพันธ์เพ็ญศิริ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน กรุงเทพมหานคร ในวันที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2542[250] โดยมี ฯพณฯ นายอำพล เสนาณรงค์ องคมนตรีและนายกสภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นายชวน หลีกภัย นายกรัฐมนตรี Dr. Manfred Kerschbaumer ประธานคณะกรรมการดำเนินงาน International Chemistry Olympiad ศาสตราจารย์ ดร. ธีระ สูตะบุตร อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ รองศาสตราจารย์ ดร. วินิจ เจียมสกุล คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ รองศาสตราจารย์ ดร. ภิญโญ พานิชพันธ์ ประธานคณะกรรมการอำนวยการจัดงาน International Chemistry Olympiad ครั้งที่ 31[251] คณาจารย์ นิสิต และบุคลากร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เฝ้าทูลละอองพระบาทรับเสด็จ ซึ่งผลการแข่งขันเคมีโอลิมปิกของประเทศไทยในปีดังกล่าวมีนักเรียนไทยได้รับ 3 เหรียญเงิน และ 1 เหรียญทองแดง[252]

นอกจากนี้ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้รับมอบหมายจากมูลนิธิ สอวน. ให้เป็นศูนย์ในระดับภูมิภาค (ศูนย์ สอวน. มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์) ทำหน้าที่รับผิดชอบในการรับสมัครและสอบคัดเลือกตัวแทนในเขตจังหวัดลพบุรี ชัยนาท อุทัยธานี พระนครศรีอยุธยา สระบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง นนทบุรี และ ปทุมธานี เพื่อเข้าค่ายอบรมในสาขาวิชาต่าง ๆ[253][254]

สถิติการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันโอลิมปิกวิชาการระดับนานาชาติ
สถิติการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันเคมีโอลิมปิกระดับนานาชาติ (International Chemistry Olympiad : IChO)
ครั้งที่
ปี
เมือง
ประเทศ
วันที่
เว็บไซต์
จำนวน
หน่วยงานเจ้าภาพ
ข้อสอบตัวอย่าง
หมายเหตุ
31st IChO พ.ศ. 2542 กรุงเทพมหานคร  ไทย 4-11 กรกฎาคม [255] 52 มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
สสวท. และมูลนิธิ สอวน.
*เจ้าภาพสาขาเคมีระดับนานาชาติครั้งแรกของไทย
สถิติการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันคอมพิวเตอร์โอลิมปิกระดับนานาชาติ (International Olympiad in Informatics : IOI)
ครั้งที่
ปี
เมือง
ประเทศ
วันที่
เว็บไซต์
จำนวน
หน่วยงานเจ้าภาพ
ข้อสอบตัวอย่าง
หมายเหตุ
23rd IOI พ.ศ. 2554 พัทยา  ไทย 22-29 กรกฎาคม n/a n/a มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
มหาวิทยาลัยบูรพา
มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ
เมืองพัทยา
สสวท. และมูลนิธิ สอวน.
*เจ้าภาพสาขาคอมพิวเตอร์ระดับนานาชาติครั้งแรกของไทย
สถิติการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันฟิสิกส์โอลิมปิกระดับเอเชีย (Asian Physics Olympiad : APhO)
ครั้งที่
ปี
เมือง
ประเทศ
วันที่
เว็บไซต์
จำนวน
หน่วยงานเจ้าภาพ
ข้อสอบตัวอย่าง
หมายเหตุ
10th APhO พ.ศ. 2552 กรุงเทพมหานคร  ไทย 24 เมษายน-2 พฤษภาคม [256] n/a มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
สสวท. และมูลนิธิ สอวน.
สถิติการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันโอลิมปิกวิชาการระดับชาติ
สถิติการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันคอมพิวเตอร์โอลิมปิกระดับชาติ (Thailand Olympiad in Informatics: TOI)
ครั้งที่
ปี
เมือง
ประเทศ
วันที่
เว็บไซต์
จำนวน
หน่วยงานเจ้าภาพ
ข้อสอบตัวอย่าง
หมายเหตุ
1st TOI พ.ศ. 2548 กรุงเทพมหานคร  ไทย 20-23 เมษายน n/a n/a มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
สสวท. และมูลนิธิ สอวน.
*เจ้าภาพสาขาคอมพิวเตอร์ระดับชาติครั้งแรกของประเทศไทย
*การแข่งขันครั้งแรกใช้ชื่อว่า การแข่งขันคอมพิวเตอร์โอลิมปิก
สอวน. ครั้งที่ 1 (The First POSN Olympiad in Informatics
2005: 1st POSN – OI 2005)
สถิติการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันฟิสิกส์โอลิมปิกระดับชาติ (Thailand Physics Olympiad: TPhO)
ครั้งที่
ปี
เมือง
ประเทศ
วันที่
เว็บไซต์
จำนวน
หน่วยงานเจ้าภาพ
ข้อสอบตัวอย่าง
หมายเหตุ
3rd TPhO
16th TPhO
พ.ศ. 2547
2560
กรุงเทพมหานคร  ไทย 8 พฤษภาคม-12 มิถุนายน n/a
n/a
n/a
n/a
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
สสวท. และมูลนิธิ สอวน.
สถิติการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันชีววิทยาโอลิมปิกระดับชาติ (Thailand Biology Olympiad: TBO)
ครั้งที่
ปี
เมือง
ประเทศ
วันที่
เว็บไซต์
จำนวน
หน่วยงานเจ้าภาพ
ข้อสอบตัวอย่าง
หมายเหตุ
4th TBO พ.ศ. 2550 กรุงเทพมหานคร  ไทย 29 เมษายน-3 พฤษภาคม n/a n/a มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
สสวท. และมูลนิธิ สอวน.
19th TBO พ.ศ. 2565 กรุงเทพมหานคร  ไทย 10-13 พฤษภาคม [257] n/a มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
สสวท. และมูลนิธิ สอวน.
สถิติการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันเคมีโอลิมปิกระดับชาติ (Thailand Chemistry Olympiad: TChO)
ครั้งที่
ปี
เมือง
ประเทศ
วันที่
เว็บไซต์
จำนวน
หน่วยงานเจ้าภาพ
ข้อสอบตัวอย่าง
หมายเหตุ
11th TChO พ.ศ. 2558 กรุงเทพมหานคร  ไทย 1-5 มิถุนายน [258][259] 102 มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
สสวท. และมูลนิธิ สอวน.
สถิติการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันคณิตศาสตร์โอลิมปิกระดับชาติ (Thailand Mathematical Olympiad: TMO)
ครั้งที่
ปี
เมือง
ประเทศ
วันที่
เว็บไซต์
จำนวน
หน่วยงานเจ้าภาพ
ข้อสอบตัวอย่าง
หมายเหตุ
17th TMO พ.ศ. 2563 กรุงเทพมหานคร  ไทย 5-9 ธันวาคม [260] 102 มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
โรงเรียนโยธินบูรณะ
สสวท. และมูลนิธิ สอวน.

ชีวิตนิสิตและกิจกรรม[แก้]

การเรียนระดับปริญญาตรีในคณะวิทยาศาสตร์นั้นโดยทั่วไปจะใช้ระยะเวลา 4 ปีในการเรียน มีทั้งวิชาที่เรียนในคณะฯ และวิชาที่เรียนนอกคณะฯ นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมทั้งของมหาวิทยาลัยและของคณะฯ ให้นิสิตได้เข้าร่วมเพื่อพัฒนาศักยภาพในด้านต่าง ๆ หรือตามที่ตนเองถนัดและสนใจ ซึ่งเป็นการเสริมสร้างทักษะ เรียนรู้ความแตกต่าง และเรียนรู้การอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคม โดยนิสิตในระดับปริญญาตรีจะต้องร่วมกิจกรรมด้านต่าง ๆ ให้ครบหน่วยชั่วโมงตามระเบียบฯ และข้อบังคับของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ที่กำหนดไว้

ในด้านสภาพแวดล้อมและสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ภายในคณะที่มีไว้ให้บริการกับนิสิต เช่น ห้องสมุดคณะวิทยาศาสตร์ ห้องบริการคอมพิวเตอร์ โรงอาหารคณะวิทยาศาสตร์ ห้องทำกิจกรรมชมรม สวนหย่อมและสถานที่พักผ่อนตามมุมต่าง ๆ ร้านสะดวกซื้อ ร้านกาแฟ

ประเพณีต้อนรับน้องใหม่

ประเพณีต้อนรับน้องใหม่ของคณะวิทยาศาสตร์ในสมัยเดิมนั้นเป็นไปตามแนวปฏิบัติการต้อนรับน้องใหม่ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวคือไม่ได้มีการจัดเป็นพิธีการหลายขั้นตอนแต่อย่างใด เพียงแต่ให้น้องใหม่ขึ้นรถไฟจากสถานีหัวลำโพงมาลงที่สถานีบางเขน ซึ่งจะมีรุ่นพี่คอยรับแล้วนำขบวนเข้าสู่มหาวิทยาลัย จากนั้นจะมีการกินเลี้ยงสังสรรค์รื่นเริงต่อในช่วงค่ำ[261] ทั้งนี้กิจกรรมดังกล่าวได้มีการปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงตามความเหมาะสมเรื่อยมาจนปรากฏเป็นกิจกรรมเชิงสันทนาการและแนะแนวการใช้ชีวิตในระดับอุดมศึกษาดังเช่นในปัจจุบัน

  • ก้าวแรกสู่บัณฑิตยุคใหม่ : เป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นเพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจตลอดจนกระบวนการเรียนรู้ในการดำเนินชีวิตและวิถีชีวิตของนิสิตใหม่ในระดับมหาวิทยาลัย และยังเป็นการส่งเสริมให้เกิดการปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และสามารถศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยได้อย่างมีความสุข
  • แรกพบคณะวิทยาศาสตร์ (Science @ First Sight) : เป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นเพื่อให้นิสิตรุ่นน้องที่เพิ่งสอบเข้ามาใหม่ได้มาพบปะกับเพื่อนใหม่และรุ่นพี่ในคณะฯ ทั้งจากภาควิชาเดียวกันและต่างภาควิชา เพื่อเรียนรู้และสัมผัสกับวัฒนธรรมและสังคมภายในคณะฯ ตลอดจนสร้างความรัก ความผู้พัน และความประทับใจระหว่างรุ่นพี่กับรุ่นน้อง
  • สอนน้องร้องเพลง : เป็นกิจกรรมที่จัดโดยสโมสรนิสิตคณะวิทยาศาสตร์ เป็นการเตรียมความพร้อมและเป็นการสอนนิสิตน้องใหม่ให้ได้รู้จักและทราบถึงบทเพลงสำคัญของคณะวิทยาศาสตร์และของมหาวิทยาลัยฯ รวมทั้งยังเป็นการสร้างสำนึกรักและความภาคภูมิในการเป็นส่วนหนึ่งขององค์กร ตลอดจนสร้างความสัมพันธ์อันดีและความสามัคคีให้เกิดขึ้นในหมู่คณะ
กิจกรรมค่าย

เป็นกิจกรรมค่ายส่วนกลางของคณะวิทยาศาสตร์ ซึ่งมีการร่วมมือกับองค์ภายนอกในการจัดกิจกรรมด้วย อาทิ

  • ค่ายสนุกคิดกับวิทยาศาสตร์ (Zygote Camp)[262] : กิจกรรมแนะนำคณะวิทยาศาสตร์ให้แก่นักเรียนมัธยมฯ เยี่ยมชมห้องปฏิบัติการ ทัศนศึกษา และทำกิจกรรมอนุรักษ์ [263]
  • เปิดบ้านมหาวิทยาลัยเด็ก (Thailand Children’s University) เก็บถาวร 2018-12-27 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน [264] : กิจกรรมแนะนำและทดลองทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาตอนปลายและมัธยมศึกษาตอนต้น ให้ได้สัมผัสการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัย ได้ใกล้ชิดกับผู้เชี่ยวชาญ คณาจารย์ และนักวิจัย

นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมค่ายจากภาควิชาต่าง ๆ ของคณะวิทยาศาสตร์ เน้นในด้านการแนะนำภาควิชา ซึ่งดำเนินการโดยนิสิตของภาควิชานั้น ๆ

กิจกรรมวิชาการ
  • วิทยาติวเตอร์ (VIDYA TUTOR) : โครงการวิทยาติวเตอร์ จัดโดยสโมสรนิสิตคณะวิทยาศาสตร์ เป็นโครงการติวทบทวนบทเรียนรายวิชาพื้นฐานให้กับนิสิตรุ่นน้องโดยนิสิตรุ่นพี่
  • การแข่งขันตอบปัญหาทางวิทยาศาสตร์ : เป็นกิจกรรมแข่งขันตอบปัญหาทางวิทยาศาสตร์เฉพาะด้านสำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ชิงโล่รางวัลเกียรติยศพระราชทานจากสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ซึ่งดำเนินงานโดยนิสิตในแต่ละภาควิชาที่จัดการแข่งขัน การแข่งขันฯ ดังกล่าวจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี อาทิ การแข่งขันตอบปัญหาเคมี (Chemtest) การแข่งขันตอบปัญหาทางพฤกษศาสตร์ (Bot test) การแข่งขันตอบปัญหาชีววิทยา (Biocontest) การแข่งขันตอบปัญหาทางชีวเคมี (Biochem Challenge) การแข่งขันตอบปัญหาฟิสิกส์ และการแข่งขันตอบปัญหาทางวิทยาศาสตร์พื้นพิภพ (Earth Sciences Test; ES Test)[265] [266][267]
งานประจำปี
  • กิจกรรมออกร้านงานเกษตรแฟร์ : เป็นกิจกรรมประจำปีซึ่งจะจัดในช่วงปลายเดือนมกราคมถึงต้นเดือนกุมภาพันธ์ โดยทางคณะวิทยาศาสตร์จะมีการออกร้านอาหารและบริหารงานโดยสโมสรนิสิตคณะวิทยาศาสตร์ฯ ร่วมกับนิสิตคณะวิทยาศาสตร์ชั้นปีต่าง ๆ
  • งานระลึกวันคล้ายวันสถาปนาคณะวิทยาศาสตร์ : ทุกวันที่ 9 มีนาคม ของทุกปี คณะวิทยาศาสตร์ได้จัดให้มีงานระลึกวันคล้ายวันสถาปนาคณะวิทยาศาสตร์ขึ้น โดยกิจกรรมหลักในงานประกอบไปด้วย พิธีทำบุญตักบาตรพระสงฆ์ การปาฐกถาและบรรยายพิเศษจากคณาจารย์และผู้ทรงคุณวุฒิ มีพิธีมอบ ‘รางวัลคณะวิทยาศาสตร์’[268] ในสาขาต่าง ๆ ให้แก่คณาจารย์ บุคลากร นิสิตเก่า นิสิตปัจจุบัน และผู้ทำคุณประโยชน์ ที่สร้างชื่อเสียงและประสบความสำเร็จ และในช่วงท้ายจะเป็นการประชุมประจำปีของสมาคมนิสิตเก่าวิทยาศาสตร์ มก.[269]
อาสาและบำเพ็ญประโยชน์
  • อะตอมอาสา (ATOM SHARE) : ค่ายอาสาคณะวิทยาศาสตร์ มักรู้จักกันในชื่อ "ATOM SHARE" จัดขึ้นโดยสโมสรนิสิตคณะวิทยาศาสตร์ เพื่อมอบความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ให้แก่ชุมชน จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีและในแต่ละปีสถานที่จัดกิจกรรมจะหมุนเวียนไม่ซ้ำกัน
  • ค่ายเกียร์ - อะตอม (Gear - Atom Camp) : ค่ายกิจกรรมอาสาระหว่างนิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์และคณะวิทยาศาสตร์ จัดขึ้นเพื่อพัฒนานิสิตในด้านการช่วยเหลือสังคมและบำเพ็ญประโยชน์ ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี อาทิ ทาสีสร้างฝัน
กีฬาและนันทนาการ
  • SC Games (Science Sports Game) : การแข่งขันกีฬาภายในของนิสิตภาควิชาต่าง ๆ ในคณะวิทยาศาสตร์ เพื่อเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างนิสิตชั้นปีเดียวกัน ต่างชั้นปี และต่างภาควิชาฯ
  • ผู้นำเชียร์คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (Atom Cheer KU) : เป็นกลุ่มตัวแทนนิสิตของคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สำหรับทำหน้าที่นำเชียร์หรือทำการแสดงประกอบกิจกรรมสำคัญต่าง ๆ
  • กีฬาวิทยาศาสตร์สัมพันธ์แห่งประเทศไทย (Atom Games)
กีฬาวิทยาศาสตร์สัมพันธ์
แห่งประเทศไทย

Atom Games
ข้อมูลทั่วไป
จัดการแข่งขันครั้งแรก พ.ศ. 2534 (ครั้งที่ 1)
เจ้าภาพครั้งแรก คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
เจ้าภาพครั้งล่าสุด คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

กีฬาวิทยาศาสตร์สัมพันธ์แห่งประเทศไทย หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า "อะตอมเกมส์" ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2533 โดยกลุ่มนิสิต นักศึกษา จากคณะวิทยาศาสตร์ เป็นการแข่งขันกีฬาระหว่างคณะวิทยาศาสตร์ของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ทั่วประเทศ[270] และเริ่มเปิดการแข่งขันอย่างเป็นทางการครั้งแรกในปี พ.ศ. 2534 ซึ่ง คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันในครั้งแรกและอีกหลายครั้งด้วยกัน ดังนี้ กีฬาวิทยาศาสตร์สัมพันธ์แห่งประเทศไทย ครั้งที่ 1 พ.ศ. 2534, กีฬาวิทยาศาสตร์สัมพันธ์แห่งประเทศไทย ครั้งที่ 7 พ.ศ. 2540 และกีฬาวิทยาศาสตร์สัมพันธ์แห่งประเทศไทย ครั้งที่ 18 พ.ศ. 2551

สถิติการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน

การแข่งขันนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2534 จนถึงปัจจุบัน คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาวิทยาศาสตร์สัมพันธ์แห่งประเทศไทย มาแล้วรวมทั้งสิ้น 3 ครั้ง

มหาวิทยาลัยเจ้าภาพ จำนวนครั้งรวม ครั้งที่เป็นเจ้าภาพ อ้างอิง
ครั้งที่ ประจำปี พ.ศ.
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 3 ครั้งที่ 1
ครั้งที่ 7
ครั้งที่ 18
พ.ศ. 2534
พ.ศ. 2540
พ.ศ. 2551
[271]
  • กีฬาประเพณีวิทยาศาสตร์ เกษตรฯ-ลาดกระบัง (KU-KMITL Science Traditional Sport)
กีฬาประเพณีวิทยาศาสตร์
เกษตรฯ-ลาดกระบัง

KU-KMITL Science Traditional Sport
คณะวิทยาศาสตร์
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
คณะวิทยาศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
ข้อมูลทั่วไป
จัดการแข่งขันครั้งแรก 3 ตุลาคม พ.ศ. 2558
(ครั้งที่ 1)
สถานที่แข่งขันครั้งแรก สำนักการกีฬา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
เจ้าภาพครั้งแรก คณะวิทยาศาสตร์ มก.
เจ้าภาพครั้งล่าสุด คณะวิทยาศาสตร์ สจล.

กีฬาประเพณีวิทยาศาสตร์ เกษตรฯ-ลาดกระบัง เป็นการแข่งขันกีฬาประเพณีระหว่างคณะวิทยาศาสตร์จาก 2 สถาบัน คือ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กับ คณะวิทยาศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เริ่มจัดการแข่งขันครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ. 2558 โดยแต่ละสถาบันจะสลับกันเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน สถานที่จัดการแข่งขันจะสลับตามเจ้าภาพในปีนั้นๆ[272]

กิจกรรมภายในงานประกอบไปด้วย การแข่งขันบาส แชร์บอล ฟุตบอล กิจกรรมสันทนาการและกองเชียร์ การแสดงและคอนเสิร์ตเชื่อมสัมพันธ์ระหว่างนิสิตวิทยาศาสตร์ มก. กับนักศึกษาวิทยาศาสตร์ สจล.

นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมในระดับภาควิชาซึ่งเป็นกิจกรรมที่แต่ละภาควิชาใน คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้เข้าร่วมหรือเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกับภาควิชาเดียวที่สังกัดกันในมหาวิทยาลัยอื่นๆ เช่น กีฬาเคมีสัมพันธ์, กีฬาสัมพันธภาพฟิสิกส์, กีฬาคณิตศาสตร์สัมพันธ์, งานกีฬา-วิชาการจุลชีววิทยาสัมพันธ์แห่งประเทศไทย, กีฬาสถิติสัมพันธ์, งานธรณีสัมพันธ์ เป็นต้น

พิธีพระราชทานปริญญาบัตรและครุยวิทยฐานะของคณะวิทยาศาสตร์[แก้]

ปูมการเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรของคณะวิทยาศาสตร์

คณะวิทยาศาสตร์และอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มีผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีและเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรเป็นครั้งแรกของคณะฯ เมื่อปี พ.ศ. 2512 ซึ่งผู้สำเร็จการศึกษาดังกล่าวได้รับการโอนย้ายมาจากคณะอื่นภายในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์[273][274]

ทั้งนี้ นิสิตรุ่นแรกของคณะวิทยาศาสตร์และอักษรศาสตร์ (วอ.1) สำเร็จการศึกษาและเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรเป็นรุ่นแรก เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2513 และต่อมาในปี พ.ศ. 2514 มีผู้สำเร็จการศึกษาในรุ่นที่ 2 ได้รับเกียรตินิยมเป็นคนแรกของคณะฯ[275][276]

ซึ่งก่อนหน้านั้นในปี พ.ศ. 2510 คณะวิทยาศาสตร์และอักษรศาสตร์ได้เปิดสอนหลักสูตรปริญญาโทขึ้น โดยได้โอนการเรียนการสอนหลักสูตรปริญญาโท ในสาขาสัตววิทยา พฤกษศาสตร์ จุลชีววิทยา และชีววิทยา ซึ่งเปิดสอนอยู่ที่คณะกสิกรรมและสัตวบาล (ปัจจุบันคือ คณะเกษตร) มาจัดการเรียนการสอนที่คณะวิทยาศาสตร์และอักษรศาสตร์ และต่อมาในปี พ.ศ. 2512 มีผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทจากคณะวิทยาศาสตร์และอักษรศาสตร์และเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรเป็นรุ่นแรก ในสาขาสัตววิทยา[277][278][279]

พิธีพระราชทานปริญญาบัตรกับคณะวิทยาศาสตร์

ภายหลังจากที่หอประชุมมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ก่อสร้างจนแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2500 มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้ใช้สถานที่ดังกล่าวเป็นสถานที่ประกอบพิธีพระราชทานปริญญาบัตรไปจนถึงปี พ.ศ. 2519[280] ส่งผลให้นิสิตที่สำเร็จการศึกษาจากคณะวิทยาศาสตร์และอักษรศาสตร์ ตั้งแต่รุ่นที่ 1-รุ่นที่ 7 ซึ่งมีกำหนดเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรในช่วงปี พ.ศ. 2513-2519 ได้ประกอบพิธี ณ หอประชุมดังกล่าว

ต่อมาในปี พ.ศ. 2520 มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้มีการเปลี่ยนสถานที่ประกอบพิธีพระราชทานปริญญาบัตรเป็นอาคารใหม่ สวนอัมพร จนถึงปี พ.ศ. 2528[281] ส่งผลให้นิสิตที่สำเร็จการศึกษาจากคณะวิทยาศาสตร์ฯ ในรุ่นที่ 8-รุ่นที่ 16 ซึ่งมีกำหนดเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรช่วงปี พ.ศ. 2520-2528 ได้ประกอบพิธี ณ อาคารดังกล่าว

ในปี พ.ศ. 2529 มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้เปลี่ยนกลับมาใช้อาคารจักรพันธ์เพ็ญศิริ ณ เกษตรกลางบางเขน และใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีพระราชทานปริญญาบัตรกระทั่งถึงปัจจุบัน[282] ส่งผลให้นิสิตที่สำเร็จการศึกษาจากคณะวิทยาศาสตร์ตั้งแต่รุ่นที่ 17 ถึงรุ่นปัจจุบัน ซึ่งมีกำหนดเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรตั้งแต่ปี พ.ศ. 2529 เป็นต้นไป ได้ประกอบพิธี ณ อาคารดังกล่าวเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

โดยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2513-2541 นิสิตที่สำเร็จการศึกษาจากคณะวิทยาศาสตร์ รุ่นที่ 1-รุ่นที่ 29 จำนวน 29 รุ่น ได้เข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรจากพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ซึ่งเสด็จฯ พระราชทานปริญญาบัตรมาโดยตลอด[283]

กระทั่งช่วงปี พ.ศ. 2542-2543 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์พระราชทานปริญญาบัตร[284] ส่งผลให้นิสิตที่สำเร็จการศึกษาจากคณะวิทยาศาสตร์ในรุ่นที่ 30 และรุ่นที่ 31 จำนวน 2 รุ่น ได้เข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้าฯ เนื่องจากมีกำหนดเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรในปีดังกล่าว

และต่อมาในปี พ.ศ. 2544 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ในการพระราชทานปริญญาบัตร[285] จึงส่งผลให้นิสิตที่สำเร็จการศึกษาจากคณะวิทยาศาสตร์ตั้งแต่รุ่นที่ 32 เป็นต้นไป ได้เข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรจากสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี กระทั่งถึงปัจจุบัน

สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารีทรงได้รับพระราชทานปริญญาวิทยาศาสตรบัณฑิต

สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ทรงได้รับปริญญาวิทยาศาสตรบัณฑิต (เคมี) เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง เหรียญทอง หลังพระองค์ทรงสำเร็จการศึกษาจากภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตรและอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์[286][287][288][289][290] ซึ่งทรงได้รับพระราชทานปริญญาบัตรจากพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2522 ณ อาคารใหม่ สวนอัมพร กรุงเทพมหานคร ในการนี้สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชดำเนินมาในพิธีพร้อมด้วยพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ

ครุยวิทยฐานะ

ครุยวิทยฐานะของคณะวิทยาศาสตร์ฯ แบ่งเป็นสามชั้น ตามพระราชกฤษฎีกาครุยวิทยฐานะของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์[291][292][293] ครุยวิทยฐานะดังกล่าวมีลักษณะเป็นชุดครุยแบบมีหมวก ซึ่งเป็นรูปแบบที่นิยมใช้ในประเทศแถบตะวันตก[294][295]

ครุยวิทยฐานะ
ครุยดุษฎีบัณฑิต
(คณะวิทยาศาสตร์)
ครุยมหาบัณฑิต
(คณะวิทยาศาสตร์)
ครุยบัณฑิต
(คณะวิทยาศาสตร์)
  • ครุยดุษฎีบัณฑิต (ระดับปริญญาเอก)
    • พู่หมวกและกระดุมบนหมวกสีทอง
    • ครุยสีดำ สาบด้านหน้ามีแถบกำมะหยี่สีน้ำเงินเข้มยาวตลอดชายครุย ที่แขนครุยมีแถบกำมะหยี่สีน้ำเงินเข้มข้างละสามแถบ
    • ผ้าคล้องคอด้านในสีเขียว ด้านนอกสีดำ ขลิบขอบผ้าคล้องคอด้านนอกสุดด้วยแถบสีเขียว ทาบรอบคอด้วยแถบกำมะหยี่สีน้ำเงินคณะวิทยาศาสตร์
  • ครุยมหาบัณฑิต (ระดับปริญญาโท)
    • พู่หมวกและกระดุมบนหมวกสีดำ
    • ครุยสีดำ ไม่มีแถบกำมะหยี่ที่สาบด้านหน้าและแขนครุย ปลายแขนครุยมีลักษณะแบบถุง มีช่องสอดแขนออกที่บริเวณเหนือข้อศอก
    • ผ้าคล้องคอด้านในสีเขียว ด้านนอกสีดำ ขลิบขอบผ้าคล้องคอด้านนอกสุดด้วยแถบสีเขียว ทาบรอบคอด้วยแถบกำมะหยี่สีน้ำเงินคณะวิทยาศาสตร์
  • ครุยบัณฑิต (ระดับปริญญาตรี)
    • พู่หมวกและพู่ประดับครุยสีน้ำเงินคณะวิทยาศาสตร์ กระดุมบนหมวกสีดำ
    • ครุยสีดำ ไม่มีแถบกำมะหยี่ที่สาบด้านหน้าและแขนครุย ไม่มีผ้าคล้องคอ ความยาวแขนครุยอยู่บริเวณข้อมือ
    • ประดับเข็มเกียรตินิยมบริเวณหน้าอกด้านซ้าย (เกียรตินิยมอันดับหนึ่งเข็มสีทอง อันดับสองเข็มสีเงิน)
เข็มเกียรตินิยมอันดับสอง
สีประจำคณะ ชื่อปริญญา และอักษรย่อ

สีประจำคณะวิทยาศาสตร์ คือ “สีน้ำเงิน” ซึ่งเป็นไปตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยปริญญาในสาขาวิชา อักษรย่อสำหรับสาขาวิชา และครุยวิทยฐานะ ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พ.ศ. 2550 ลงวันที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2550

คณะ สีประจำคณะ ชั้นปริญญา ชื่อปริญญา อักษรย่อ อ้างอิง
คณะวิทยาศาสตร์   สีน้ำเงิน • เอก
• โท
• ตรี
• วิทยาศาสตรดุษฎีบัณฑิต และ ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต
• วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต
• วิทยาศาสตรบัณฑิต
• วท.ด. และ ปร.ด.
• วท.ม.
• วท.บ.
[296] [297]

การเดินทาง[แก้]

การเดินทางมายังคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สามารถมาได้หลายเส้นทาง ทั้งทางรถไฟฟ้าบีทีเอส รถโดยสารประจำทาง รถสวัสดิการภายในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และรถยนต์ส่วนตัว

รถไฟฟ้า[แก้]

สถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

การเดินทางด้วยรถไฟฟ้าสามารถเดินทางได้สองเส้นทาง คือ

จากนั้นสามารถใช้บริการรถสวัสดิการภายในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์หรือรถจักรยานยนต์บริการ เพื่อเดินทางเข้ามาที่คณะวิทยาศาสตร์ได้

รถโดยสารประจำทาง[แก้]

ป้ายรถโดยสารประจำทางหน้ามหาวิทยาลัย

สายรถโดยสารประจำทางที่ผ่านมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มีอยู่หลายสาย โดยแบ่งตามถนนสายหลักทั้ง 3 สาย รอบมหาวิทยาลัย ดังนี้

จากนั้นสามารถใช้บริการรถสวัสดิการภายในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์หรือรถจักรยานยนต์บริการ เพื่อเดินทางเข้ามาที่คณะวิทยาศาสตร์ได้

รถยนต์ส่วนตัว[แก้]

หากเดินทางมายังคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ด้วยรถยนต์ส่วนตัวสามารถใช้เส้นทางหลัก 3 เส้นทาง ได้แก่ ถนนพหลโยธิน ถนนวิภาวดีรังสิต และถนนงามวงศ์วาน โดยถนนพหลโยธินจะเข้าทางประตูพหลโยธินบริเวณสระน้ำหน้าหอประชุมใหญ่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หากใช้ถนนวิภาวดีรังสิตจะเข้าทางประตูวิภาวดีบริเวณสำนักการกีฬา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และถ้ามาทางถนนงามวงศ์วานจะสามารถเข้าได้ 3 ประตู คือ ประตูงามวงศ์วาน 1 ซึ่งสังเกตจากอาคารวิทยบริการและอาคารวิทยพัฒนา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, ประตูงามวงศ์วาน 2 สังเกตจากตึกคณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, และประตูงามวงศ์วาน 3 สังเกตจากหอประวัติมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ทั้งนี้ สามารถจอดรถได้ที่จุดบริการจอดรถของมหาวิทยาลัย[302] ได้แก่

  • อาคารจอดรถงามวงศ์วาน 1 : บริเวณทางเข้าประตูงามวงศ์วาน 1 ถนนจันทรสถิตย์
  • อาคารจอดรถงามวงศ์วาน 2 : บริเวณทางเข้าประตูงามวงศ์วาน 2 ถนนจันทรสถิตย์
  • อาคารจอดรถบางเขน : บริเวณด้านหลังอาคารสารนิเทศ 50 ปี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน
  • อาคารจอดรถวิภาวดีรังสิต : บริเวณด้านหลังสำนักการกีฬา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

รถสวัสดิการภายในมหาวิทยาลัย[แก้]

รถโดยสารภายในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (รถตะลัย)

การเดินทางภายในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จะมีรถสวัสดิการภายในฯ หรือที่มักเรียกกันอีกชื่อหนึ่งว่า 'รถตะลัย' คอยให้บริการแก่นิสิตและบุคลากร ตลอดจนผู้มาติดต่อ โดยไม่เสียค่าบริการ ประกอบไปด้วย 4 สายหลัก และ 2 สายเสริมพิเศษ ซึ่งการเดินทางมายัง คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สามารถใช้บริการรถสวัสดิการได้ทั้งสิ้น 4 สาย ซึ่งจะจอดเทียบที่ป้ายหยุดรถหน้าคณะวิทยาศาสตร์[303][304]ได้แก่ สาย 1, สาย 2, สาย 4 และสายเสริมพิเศษอาคารสวัสดิการ

จักรยานสาธารณะ[แก้]

มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มีจักรยานสาธารณะ " Mobike " ไว้ให้บริการ[305][306] จุดให้บริการจักรยานมีอยู่หลายจุด อาทิ ฝั่งประตูพหลโยธิน ฝั่งประตูวิภาวดี ฝั่งประตูงามวงศ์วาน 3 อาคารเรียน สำนักหอสมุด โรงอาหาร เป็นต้น สามารถใช้งานจักรยานได้โดยลงทะเบียนและชำระเงินผ่านแอปพลิเคชัน Mobike[307] และในส่วนของการยืม-คืนจักรยาน เพียงจอดจักรยานในจุดจอดที่ใกล้ที่สุด และใช้ QR Code บนตัวจักรยานปลดล็อกในการยืมและคืน

ต้นไม้ทรงปลูก[แก้]

ภายในบริเวณพื้นที่ของคณะวิทยาศาสตร์มีต้นไม้สำคัญและต้นไม้มงคล ที่ถูกปลูกไว้โดยบุคคลสำคัญเพื่อเป็นอนุสรณ์และเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่คณะในวาระพิเศษ ได้แก่

  • ต้นไม้ที่สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ทรงปลูก

โดยได้ทรงปลูกต้นไม้ไว้เพื่อเป็นอนุสรณ์แก่คณะวิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นคณะที่ทรงศึกษา จำนวน 2 ต้น ตามข้อมูลการบันทึกและรวบรวมของ รศ.เทียมใจ คมกฤส[308] ดังนี้

Song of India (ชื่อวิทยาศาสตร์: Pleomele reflexa) ทรงปลูกต้นไม้ดังกล่าวตามคำกราบทูลเชิญของคณาจารย์ภาควิชาชีววิทยา โดยทรงปลูกไว้บริเวณหน้าตึกชีววิทยา (ปัจจุบัน คือ ตึกสัตววิทยา) เมื่อวันพุธ ที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2518[309]

ชมพูพันธุ์ทิพย์ (ชื่อวิทยาศาสตร์: Tabebuia roseus) ทรงปลูกต้นไม้ดังกล่าวร่วมกับสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จำนวน 2 ต้น โดยทรงปลูกไว้บริเวณพื้นที่ระหว่างตึกชีววิทยากับตึกเคมี ในกิจกรรมพัฒนาคณะวิทยาศาสตร์และอักษรศาสตร์ เมื่อวันเสาร์ ที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2519

  • ต้นไม้ที่สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ทรงปลูก

โดยได้ทรงปลูกต้นไม้ไว้เพื่อความเป็นมงคลของคณะวิทยาศาสตร์ ดังนี้

สาละลังกา (ชื่อวิทยาศาสตร์: Couroupita guianensis Aubl.) ทรงปลูกไม้มงคลดังกล่าวเป็นปฐมฤกษ์และเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่คณะ ในพิธีเปิด "อาคารวิทยาศาสตร์ 25 ปี" (ปัจจุบัน คือ อาคารสุขประชา วาจานนท์) เมื่อวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2536 ซึ่งตรงกับวันสถาปนาคณะวิทยาศาสตร์ ครบรอบปีที่ 27[310] โดยทรงปลูกไว้บริเวณหน้าอาคารดังกล่าว ต่อมาได้ย้ายมาปลูกยังพื้นที่ปัจจุบัน คือบริเวณระหว่างตึกจุลชีววิทยา-พันธุศาสตร์ และตึกสถิติ-คณิตศาสตร์-คอมพิวเตอร์

บุคคลสำคัญ[แก้]

สมเด็จเจ้าฟ้าอาจารย์

คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบรมวงศานุวงศ์ 2 พระองค์ ในการเสด็จพระราชดำเนินมาพระราชทานการสอน ได้แก่

  • สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี - เสด็จมาทรงบรรยายพิเศษ หัวข้อเรื่อง "ปัจจัยต่าง ๆ ที่มีอิทธิพลต่อความเป็นพิษของสารเคมี" แก่นิสิตชั้นปีที่ 4 ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เมื่อวันศุกร์ ที่ 26 กุมภาพันธ์ พุทธศักราช 2553[313] ณ ห้องบรรยาย ชั้น 6 อาคารกฤษณา ชุติมา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และยังทรงเป็นนิสิตเก่าคณะวิทยาศาสตร์และอักษรศาสตร์ ซึ่งทรงพระอักษรในหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาเคมี ช่วงปีพุทธศักราช 2518-2522 อีกด้วย[314][315][316][317][318]
สมเด็จพระสังฆราชฯ

คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้รับพระกรุณาธิคุณจากสมเด็จพระสังฆราชฯ 2 พระองค์ ในการดำเนินกิจกรรมของคณะ ได้แก่

  • สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก - ทรงพระกรุณาฯ เสด็จเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดอาคารเรียน จำนวน 2 อาคาร คือ อาคารวิทยาศาสตร์ 25 ปี (อาคารสุขประชา วาจานนท์) เมื่อวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2536 ซึ่งตรงกับวันสถาปนาคณะวิทยาศาสตร์ ครบรอบปีที่ 27 และทรงปลูกต้น สาละลังกา ไว้บริเวณหน้าอาคารดังกล่าว และอาคารที่สอง คือ อาคารปฏิบัติการวิทยาศาสตร์พื้นฐาน (อาคารทวี ญาณสุคนธ์) เมื่อวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2542 ซึ่งตรงกับวันสถาปนาคณะวิทยาศาสตร์ ครบรอบปีที่ 33[319]
ศิษย์เก่าที่มีชื่อเสียง

ตลอดช่วงระยะเวลาตั้งแต่ก่อตั้งคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มีนิสิตเก่าตลอดจนบุคลากรได้กลายเป็นที่รู้จักในหลาย ๆ ด้าน ทั้งในด้านวิชาการ การเมืองและอื่น ๆ รวมถึงพระบรมวงศานุวงศ์ เช่น

หอเกียรติยศ[แก้]

คณะวิทยาศาสตร์มีคณาจารย์ที่ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติ โดยได้รับรางวัลดีเด่นในด้านการสอนและการวิจัยทั้งในระดับชาติและนานาชาติ อาทิ รางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น จำนวน 1 ท่าน (ประจำปี พ.ศ. 2546 สาขาเคมี)[346] รางวัลนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ จำนวน 2 ท่าน (ประจำปี พ.ศ. 2540 สาขาเคมี, ประจำปี พ.ศ. 2562 สาขาพฤกษศาสตร์)[347] รางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ จำนวน 1 ท่าน (พ.ศ. 2541 สาขาวิทยาศาสตร์เคมีและเภสัช)[348] รางวัลนักวิจัยรุ่นใหม่ดีเด่น สกว.-สกอ. จำนวน 1 ท่าน (ประจำประจำปี พ.ศ. 2547 สาขาเคมี) รางวัลเมธีวิจัยอาวุโส สกว. จำนวน 4 ท่าน (ประจำปี พ.ศ. 2545 และประจำปี พ.ศ. 2548 สาขาเคมี, ประจำปี พ.ศ. 2550 และประจำปี พ.ศ. 2553 สาขาเคมีคอมพิวเตอร์, ประจำปี พ.ศ. 2551 สาขาคณิตศาสตร์, ประจำปี พ.ศ. 2554 และประจำปี พ.ศ. 2560 สาขาจุลชีววิทยา)[349] รางวัลนักวิทยาศาสตร์อาวุโส 1 ท่าน (ประจำปี พ.ศ. 2563)[350][351] รางวัลบุคคลดีเด่นของชาติ 1 ท่าน (ประจำปี พ.ศ. 2553 สาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี)[352][353] รางวัลอาจารย์ดีเด่นแห่งชาติ จากที่ประชุมประธานสภาอาจารย์ มหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย (ปอมท.) จำนวน 1 ท่าน (ประจำปี พ.ศ. 2554 สาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี) รางวัลครูวิทยาศาสตร์ดีเด่น ระดับอุดมศึกษา จากสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ จำนวน 3 ท่าน (ประจำปี พ.ศ. 2531[354], พ.ศ. 2538[355], พ.ศ. 2562[356]) รางวัลผู้สร้างความเจริญก้าวหน้าให้แก่วิชาพันธุศาสตร์และสมาคมพันธุศาสตร์แห่งประเทศไทย จำนวน 1 ท่าน (ประจำปี 2536)[357][358][359] รางวัลนักนิวเคลียร์เกียรติคุณ จากสำนักงานพลังงานปรมาณูเพื่อสันติ จำนวน 1 ท่าน (ประจำปี พ.ศ. 2539)[360] รางวัลนักวิทยาศาสตร์นิวเคลียร์ดีเด่น จากสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์กรมหาชน) จำนวน 3 ท่าน (ประจำปี พ.ศ. 2546[361], พ.ศ. 2552[362][363][364][365][366][367][368], และ พ.ศ. 2559[369][370]) รางวัลนักเทคโนโลยีรุ่นใหม่ จำนวน 1 ท่าน (ประจำปี พ.ศ. 2554) รางวัล TWAS Prize for Young Scientists in Thailand จำนวน 2 ท่าน (ประจำปี พ.ศ. 2545 สาขาเคมี, ประจำปี พ.ศ. 2561 สาขาชีววิทยา)[371][372] รางวัลทะกุจิ ประเภทนักวิจัยดีเด่น จำนวน 1 ท่าน (ประจำปี พ.ศ. 2563)[373][374] เป็นต้น

นอกจากนี้ยังมีคณาจารย์ได้รับเกียรติให้ดำรงตำแหน่งประธานสภาคณบดีวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย (สควทท.) จำนวน 2 ท่าน ช่วงปี พ.ศ. 2558-2560 ระยะเวลา 1 วาระ และช่วงปี พ.ศ. 2564-ปัจจุบัน ระยะเวลา 1 วาระ[375] ดำรงตำแหน่งนายกสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ จำนวน 1 ท่าน ระยะเวลา 2 วาระ ช่วงปี พ.ศ. 2559-2560 และ พ.ศ. 2561-2562[376][377][378] ดำรงตำแหน่งนายกสมาคมพันธุศาสตร์แห่งประเทศไทย จำนวน 2 ท่าน ช่วงปี พ.ศ. 2528-2529 ระยะเวลา 1 วาระ (นายกสมาคมพันธุศาสตร์ฯ ท่านแรก)[379][380] และ พ.ศ. 2551-2554 ระยะเวลา 2 วาระ (นายกสมาคมพันธุศาสตร์ฯ ท่านที่ 9)[381] ดำรงตำแหน่งนายกสมาคมเคมีแห่งประเทศไทยฯ จำนวน 2 ท่าน ช่วงปี พ.ศ. 2542-2543 และ พ.ศ. 2560-2562[382] คณาจารย์ได้รับแต่งตั้งให้เป็นคณะกรรมการใน Division และ Committee ขององค์การสหภาพเคมีบริสุทธิ์และเคมีประยุกต์ระหว่างประเทศ (International Union of Pure and Applied Chemistry, IUPAC) ในช่วงปี ค.ศ. 2020-2021 จำนวน 2 ท่าน ใน 2 สาขา ได้แก่ ตำแหน่ง IUPAC Standing Committee of the Committee on Publications and Cheminformatics Data standards (CPCDS) 1 ท่าน และตำแหน่ง IUPAC National Representative of the Division (VIII) Chemical Nomenclature and Structure Representation 1 ท่าน[383][384] และช่วงปี ค.ศ. 2018-2019 จำนวน 1 ท่าน ใน 2 สาขา ได้แก่ ตำแหน่ง IUPAC Associate Member of the Division II: Inorganic Chemistry และตำแหน่ง IUPAC National Representative of the Division (VIII) Chemical Nomenclature and Structure Representation[385][386] และยังมีนิสิตได้รับพระราชทานทุนมูลนิธิอานันทมหิดล แผนกเกษตรศาสตร์ จำนวน 2 คน ได้แก่ ประจำปี พ.ศ. 2558 จำนวน 1 คน[387] และประจำปี พ.ศ. 2564 จำนวน 1 คน ด้วย[388]

การค้นพบและนวัตกรรม[แก้]

คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มีผลงานในหลากหลายด้านจากคณาจารย์ นิสิต และนักวิจัยของคณะวิทยาศาสตร์ ทั้งผลงานด้านการวิจัย การค้นพบ และการเข้าร่วมสำรวจทางวิทยาศาสตร์ในระดับโลก นอกจากนี้ยังมีผลงานการคิดค้นและพัฒนาเพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ ผลงานที่ได้รับการจดสิทธิบัตรและอนุสิทธิบัตร ตลอดจนมีผลงานวิจัยที่สามารถพัฒนาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์โดยร่วมมือกับภาคเอกชนและผู้ประกอบการ

วิทยาศาสตร์ธรรมชาติ[แก้]

คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มีผลงานการค้นพบและผลงานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ธรรมชาติทั้งในระดับประเทศและระดับโลก โดยผลงานเด่นระดับโลก ได้แก่

  • ได้เข้าร่วมสำรวจทวีปแอนตาร์กติก (ขั้วโลกใต้) กับทีม JARE 58 ประเทศญี่ปุ่น หรือ Japanese Antarctic Research Expedition 58 เพื่อร่วมสำรวจธรณีวิทยาขั้วโลกใต้ [389][390][391][392][393][394]
  • บุกเบิกงานวิจัยเรื่อง ผลึกเหลวอวกาศ (Liquid crystals) ในประเทศไทยและลงนามความตกลงร่วมมือวิจัยด้านผลึกเหลวอวกาศร่วมกับองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ หรือ องค์การนาซา (NASA) โดยร่วมมือวิจัยทั้งในภาคพื้นดินและในสภาวะไร้แรงโน้มถ่วงบนอวกาศ ณ สถานีอวกาศนานาชาติ (International Space Station)[395][396][397]
  • ค้นพบและยืนยัน "ระบบกำหนดเพศอิกัวน่า" เป็นระบบ XX/XY ครั้งแรกของโลก โดยพบว่าอิกัวน่ามีระบบกำหนดเพศคล้ายคลึงกับระบบกำหนดเพศของมนุษย์ซึ่งก็คือ 'ระบบ XX/XY' แต่จะมีองค์ประกอบทางพันธุกรรมและยีนที่แตกต่างออกไป ทั้งนี้โครโมโซมเพศของอิกัวน่ายังมีความเกี่ยวข้องกับโครโมโซมเพศของสัตว์ในกลุ่มมีกระดูกสันหลังซึ่งสอดคล้องกับสมมติฐาน super-sex chromosome นอกจากนี้ ข้อมูลดังกล่าวยังใช้อธิบายการวิวัฒนาการของโครโมโซมในกลุ่มสัตว์เลื้อยคลานได้ด้วย รวมถึงสามารถใช้วางแผนการผสมพันธุ์ของอิกัวน่า ตลอดจนใช้ในการพัฒนาวิธีการตรวจสอบเพศของอิกัวน่าด้วยเครื่องหมาย DNA และใช้สนับสนุนวงการสัตว์เลี้ยงประเภทสัตว์เลี้ยงแปลก (exotic pets) ทั้งในระดับประเทศไทยและระดับโลก[398][399]
  • ค้นพบ "วาสุกรีอุ้มผาง" พืชชนิดใหม่ของโลก พืชชนิดใหม่นี้ถูกตั้งชื่อว่า 'Viola umphangensis S. Nansai, Srisanga & Suwanph.' เป็นพืชล้มลุก จัดอยู่ในวงศ์ Violaceae ตัวดอกจะมีสีขาวตรงกลางดอกจะมีสีม่วง เหมาะสำหรับพัฒนาเป็นไม้กระถาง หรือปรับปรุงพันธุ์ให้มีสีสันใหม่ ๆ นอกจากนี้แล้วยังมีศักยภาพในด้านสารสกัดสำหรับทดสอบฤทธิ์ เนื่องจากพืชในสกุลเดียวกันหลายชนิดมีฤทธิ์ทางยา พืชชนิดนี้ถูกค้นพบครั้งแรกบริเวณป่าไผ่บนภูเขาหินปูน แถบดอยหัวหมด อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก [400][401][402]
  • ค้นพบ "จิ้งจกนิ้วยาวลานสกา" จิ้งจกนิ้วยาวชนิดใหม่ของโลก จิ้งจกชนิดใหม่นี้มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า 'Cnemaspis lineatubercularis Ampai, Wood, Stuart & Aowphol' จัดอยู่ในวงศ์ Gekkonidae ซึ่งมักมีพฤติกรรมซ่อนตัวตามซอกหินหรือเพิงหิน ค้นพบครั้งแรกที่บริเวณภูเขาหินแกรนิตใกล้กับลำธาร อำเภอลานสกา จังหวัดนครศรีธรรมราช จิ้งจกชนิดใหม่นี้มีบทบาทในการควบคุมแมลงที่เป็นเหยื่ออาหารในระบบนิเวศ[403][404][405][406][407][408][409][410][411]
  • ค้นพบ "พยาธิตัวแบนกลุ่มโมโนจีน" ชนิดใหม่ของโลก พยาธิตัวแบนชนิดใหม่นี้ถูกตั้งชื่อว่า 'Pseudorhabdosynochus kasetsartensis Saengpheng & Purivirojkul' ค้นพบครั้งแรกจากเหงือกของปลากะรังลายเมฆ (Cloudy grouper) บริเวณอ่าวไทยตอนล่าง แถบจังหวัดสุราษฎร์ธานี พยาธิชนิดนี้สามารถใช้เป็นดัชนีชีวภาพบ่งชี้การเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศและบ่งชี้มลพิษทางเคมีในแหล่งน้ำได้[412][413][414]
  • ค้นพบ "แมลงปอเสือปลายงอนทองผาภูมิ" แมลงปอชนิดใหม่ของโลก แมลงปอชนิดนี้ถูกตั้งชื่อว่า 'แมลงปอเสือปลายงอนทองผาภูมิ' (Stylogomphus thongphaphumensis Chainthong, Sartori & Boonsoong) จัดอยู่ในสกุล Stylogomphus และอยู่ในวงศ์ Gomphidae ค้นพบครั้งแรกที่บริเวณลำธารห้วยเขย่ง อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี[415][416][417][418][419][420][421]
  • ค้นพบ "ชมพูไพร" พืชชนิดใหม่ของโลก พืชชนิดนี้ถูกตั้งชื่อว่า 'ชมพูไพร' (Thunbergia impatienoides Suwanph. & S. Vajrodaya) เป็นไม้ประดับ จัดอยู่ในวงศ์เหงือกปลาหมอและอยู่ในสกุลเดียวกันกับรางจืด ลักษณะเป็นไม้เลื้อย ดอกสีชมพูอมม่วง ตรงกลางดอกจะมีสีขาวอมเหลือง ดอกตูมลักษณะจะคล้ายกับดอกกุหลาบแรกแย้ม สามารถพัฒนาเป็นไม้ประดับทางเศรษฐกิจได้ [422][423][424]
  • ค้นพบ "ช้างงาเอก" พืชชนิดใหม่ของโลก พืชชนิดนี้มักพบตามป่าดิบแล้งและชายป่าดิบแล้ง สูงจากระดับทะเล 150-220 เมตร กระจายพันธุ์ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย แถบบึงกาฬและนครพนม ในต่างประเทศคาดว่าพบที่ลาว[425][426][427]
  • ค้นพบ "เอื้องเทียนปากสีน้ำตาล" กล้วยไม้ชนิดใหม่ของโลก กล้วยไม้ชนิดใหม่นี้ถูกตั้งชื่อว่า 'Coelogyne phuhinrongklaensis Ngerns. & P. Tippayasri' จัดอยู่ในวงศ์ Orchidaceae มักจะอิงอาศัยหรือขึ้นอยู่บนหิน พบการกระจายพันธุ์ในเขตอุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้าและอุทยานแห่งชาติภูสอยดาว จังหวัดพิษณุโลก [428][429][430][431][432]
  • ค้นพบ "แมลงชีปะขาวเข็ม Procerobaetis totuspinosus" ชนิดใหม่ของโลก แมลงชีปะขาวเข็มชนิดใหม่นี้มีชื่อสามัญว่า 'แมลงชีปะขาวเข็ม' อยู่ในสกุล 'Procerobaetis Kaltenbach & Gattolliat, 2020' จัดอยู่ในวงศ์ 'Baetidae' และมีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า 'Procerobaetis totuspinosus Suttinun, Kaltenbach & Boonsoong, 2021' ซึ่งตั้งชื่อตามลักษณะที่พบคือมีหนามรูปร่างสามเหลี่ยมที่บริเวณด้านบนของช่วงปล้องท้องที่ 6-9 ถูกค้นพบในพื้นที่ประเทศไทยบริเวณลำธารแม่สาและแม่น้ำแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ และถูกค้นพบเป็นชนิดที่ 4 ในสกุล Procerobaetis รวมทั้งเป็นชนิดแรกที่พบในแผ่นดินใหญ่ (mainland) ที่ไม่ใช่เกาะ[433][434][435][436][437]
  • ค้นพบ "แมลงชีปะขาวเข็ม Cymbalcloeon" สกุลใหม่ของโลก แมลงชีปะขาวสกุลใหม่นี้ มีชื่อสกุลว่า 'Cymbalcloeon' จัดอยู่ในวงศ์ 'Baetidae' ชื่อเรียกสามัญทั่วไปของวงศ์นี้ คือ 'แมลงชีปะขาวเข็ม Cymbalcloeon sartorii' และมีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า 'Cymbalcloeon sartorii Suttinun, Gattolliat & Boonsoong, 2020' ถูกค้นพบเป็นครั้งแรกของโลกและพบเฉพาะในพื้นที่ประเทศไทยเท่านั้น ได้แก่ บริเวณลำธารห้วยเขย่ง อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี และบริเวณลำธารต้นน้ำเลย อำเภอภูหลวง จังหวัดเลย[438][439][440][441]
  • ค้นพบ "แมลงชีปะขาว Sangpradubina" สกุลใหม่ของโลก ตั้งชื่อสกุลว่า Sangpradubina พบบริเวณหน้าดินในลำธารต้นน้ำภาคตะวันออกและภาคตะวันตกของประเทศไทย [442][443][444]
  • ค้นพบ "ดีปลีดิน" ชนิดใหม่ของโลก พืชชนิดใหม่นี้เป็นพืชลมลุก จัดอยู่ในวงศ์พริกไทย (Piperaceae) ถูกตั้งชื่อว่า "Piper viridescens Suwanph. & Chantar." พบการกระจายพันธุ์อยู่บริเวณริมลำธารแคบๆ ในเขตป่าจังหวัดน่าน[445][446][447][448][449]
  • ค้นพบ "รักตะนิล" พรรณไม้ชนิดใหม่ของโลก รักตะนิล เป็นพรรณไม้ชนิดใหม่ของโลกในสกุลผักกะสัง (Peperomia) ค้นพบพืชชนิดนี้บริเวณภูเขาหินปูนในแถบจังหวัดเลย โดยชื่อ รัก-ตะ-นิล เป็นชื่อพระราชทานจากสมเด็จพระเทพฯ รัตนราชสุดาฯ มีความหมายว่า เขียว-แดง เนื่องจากพืชชนิดนี้มีลำต้นและก้านใบสีแดง มีใบสีเขียวเข้มหรือสีมรกต [450][451][452][453][454][455]
  • ค้นพบ "ปลิงตรีศูล" ปลิงชนิดใหม่ของโลก ปลิงชนิดใหม่นี้มีชื่อสกุลว่า "Placobdelloides tridens" และมีชื่อสามัญคือ "Trisun leech" โดยมีลักษณะภายในของแขนงกระเพาะ (crop ceca) บริเวณช่วงปล้องที่ 23-66 ที่มีส่วนปลายแตกแขนงเป็นสามแฉกคล้ายกับตรีศูล จึงเป็นที่มาของการตั้งชื่อ ปลิงตรีศูลนี้ถูกค้นพบครั้งแรกโดยเกาะติดอยู่กับเต่าน้ำบอร์เนียวซึ่งเป็นเต่าน้ำจืด ในบริเวณพื้นที่เลี้ยงของสวนสัตว์นครราชสีมา ตำบลชัยมงคล อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา ประเทศไทย[456][457][458][459][460][461]
  • ค้นพบ "ปลิงอาจารย์ประไพสิริ" ปลิงชนิดใหม่ของโลก ปลิงชนิดใหม่นี้มีชื่อสกุลว่า "Placobdelloides sirikanchanae" มีชื่อสามัญคือ "Sirikanchana’s leech" ปลิงดังกล่าวดำรงชีพโดยการดูดเลือดจากสัตว์ที่เป็นผู้ถูกอาศัย และสามารถกัดกินทั้งส่วนที่เป็นส่วนอ่อน (soft tissues) เช่น เนื้อเยื่ออ่อน และส่วนที่เป็นส่วนแข็ง เช่น กระดอง ได้ โดยจะใช้งวงที่มีลักษณะเหมือนเข็มสำหรับเจาะกิน ปลิงชนิดนี้พบเกาะอยู่กับเต่าน้ำจืด ในกลุ่มเต่าใบไม้ เช่น เต่าใบไม้ท้องดำมลายู และเต่าใบไม้เอเชีย เป็นต้น ถูกค้นพบครั้งแรกบริเวณร่องสวนยาง ตำบลสะเดา อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา ประเทศไทย[462][463][464]
  • ค้นพบ "ปลิงกินหอยบางเขน" ปลิงสกุลใหม่ของไทย ปลิงสกุลใหม่นี้มีชื่อสกุลว่า "Batracobdelloides bangkhenensis" และมีชื่อสามัญคือ "Bangkhen snail-eating leech" ปลิงดังกล่าวพบเกาะติดอยู่กับหอยฝาเดียวน้ำจืดภายในสระน้ำบริเวณสวน 100 ปี หลวงสุวรรณวาจกกสิกิจ ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย[465][466][467][468][469][470][471]
  • ค้นพบ "พยาธิตัวตืด" ชนิดใหม่ของโลก พยาธิตัวตืดชนิดใหม่นี้พบในปลาฉลามกบ เขตจังหวัดชลบุรี [472][473]

คิดค้นและพัฒนา[แก้]

ผลงานการคิดค้นและพัฒนาของคณาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มีอยู่หลายด้านด้วยกัน โดยผลงานการคิดค้นและพัฒนาที่โดดเด่นส่วนใหญ่จะเป็นการพัฒนาพันธุ์พืชเพื่อเกษตรกรสำหรับใช้ในการเพิ่มรายได้และผลผลิต ตลอดจนเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันให้กับประเทศ ผลงานการคิดค้นและพัฒนาที่โดดเด่น อาทิ

  • คิดค้นและพัฒนาพันธุ์ "สยามบลูฮาร์ดดี้" บัวฝรั่งดอกสีน้ำเงินลูกผสมต้นแรกของโลก บัวดังกล่าวเป็น​บัว​ลูกผสม​ระหว่าง​สกุล​ย่อย Nymphaea (บัว​ฝรั่ง) กับ​สกุล​ย่อย Brachyceras (บัว​ผัน) ต้นแรกของโลก ลักษณะ​เด่นคือส่วนด​อก​จะมีเฉด​สีน้ำเงิน (ม่วง-น้ำเงิน) ซึ่งคล้ายกับสีของ​บัว​ผัน [474][475][476][477][478][479]
  • คิดค้นและพัฒนาพันธุ์ "เบญจมาศพันธุ์เกษตรศาสตร์ 60" โดยดอกเบญจมาศพันธุ์ดังกล่าวได้จากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อจากสายพันธุ์ Teihei และทำการฉายรังสีแกมมาแบบเฉียบพลัน โดยใช้ต้นกำเนิดรังสีและปริมาณที่แตกต่างกันออกไป ทำให้ได้เบญจมาศพันธุ์กลายที่มีศักยภาพในทางการค้า จำนวน 6 พันธุ์ ได้แก่ พันธุ์เกษตรศาสตร์ 60-1, 60-2, 60-3, 60-4, 60-5 และ 60-6 ซึ่งสายพันธุ์กลายดังกล่าวมีข้อดีในด้านความหลากหลายของสี ช่อดอกสวยงามและบานทน ลำต้นมีขนาดใหญ่และแข็งแรง เหมาะสำหรับใช้เป็นไม้ประดับ ทั้งนี้ เบญจมาศพันธุ์เกษตรศาสตร์ 60 ทั้ง 6 พันธุ์ เป็นผลงานการพัฒนาพันธุ์ของศาสตราจารย์ภาควิชารังสีประยุกต์และไอโซโทปซึ่งเป็นหัวหน้าคณะวิจัยและได้ขึ้นทะเบียนพันธุ์พืชของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ตลอดจนในราวเดือนมีนาคม พ.ศ. 2546 ทางมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้มอบให้กรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้นำไปขยายพันธุ์และถ่ายทอดสู่เกษตรกรเพื่อปลูกเป็นการค้าต่อไป[480][481][482][483][484]
  • คิดค้นและพัฒนาพันธุ์ "แพรเซี่ยงไฮ้" โดยแพรเซี่ยงไฮ้พันธุ์ดังกล่าวได้จากการฉายรังสีแกมมาแบบเฉียบพลันผ่านกิ่งแพรเซี่ยงไฮ้ จำนวน 3 สายพันธุ์ โดยใช้ต้นกำเนิดรังสีซีเซียมในปริมาณที่แตกต่างกัน ทำการปลูกและตัดยอดซ้ำ ทำให้ได้แพรเซี่ยงไฮ้พันธุ์กลาย จำนวน 10 พันธุ์ ได้แก่ ชมพูประภารัจ, แพททิก, พิมชนก, อรุณี, ภัทรียา, เกษตรศาสตร์ 60, มก.1, มก.2, มก.3 และ ประทีป ซึ่งสายพันธุ์กลายดังกล่าวมีข้อดีในด้านรูปทรงของดอกและความหลากหลายของสี ทั้งนี้ แพรเซี่ยงไฮ้พันธุ์กลาย ทั้ง 10 พันธุ์ เป็นผลงานการพัฒนาพันธุ์ของศาสตราจารย์ภาควิชารังสีประยุกต์และไอโซโทปซึ่งเป็นหัวหน้าคณะวิจัยและได้ขึ้นทะเบียนพันธุ์พืชของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ตลอดจนได้ทำการเผยแพร่โดยการอบรมผ่านเจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมทั้งการอบรมเกษตรกรผู้ปลูกไม้ดอกและไม้ประดับเป็นอาชีพและบุคคลทั่วไปที่สนใจ[485][486][487][488][489]
  • คิดค้นและพัฒนาพันธุ์ "พุทธรักษา" โดยพุทธรักษาพันธุ์ดังกล่าวได้จากการฉายรังสีแกมมา ทั้งแบบฉายเฉียบพลัน โดยมีต้นกำเนิดรังสีเป็นซีเซียม-137 ในปริมาณต่าง ๆ และการฉายรังสีแกมมาแบบโครนิก โดยมีต้นกำเนิดรังสีเป็นโคบอลต์-60 ในปริมาณที่แตกต่างกัน ผ่านเมล็ด หน่อ เหง้า และต้นที่กำลังเจริญเติบโต ทำการปลูกและคัดเลือกพันธุ์ที่เหมาะสม ทำให้ได้พุทธรักษาพันธุ์กลาย จำนวน 37 พันธุ์ ได้แก่ ชมพูนีรนุช, นฤปวัจก์, ภัทรียา, วราภรณ์, ภัทรียา, แดงฤทธี, ไพโรจน์, สุมินทร์, นงพร, ปราโมทย์, วารุณี, ครีมประพันธ์พงษ์, นวลฉวี, นภาวรรณ, แดงวิโรจ, ชมพูพรรณี, พิมพ์เงิน, ส้มรังสี, อัญชุลี, เหลืองอรุณี, สุทธีรา, พิมพ์รังสี, นฤทุม, รังสิต, ส้มสิรนุช, วันวิสา, เพ็ญพิตร, อรวรรณ, จำลอง, แสงเทียน, รัชนีกร, อรจิต, เพ็ญศรี และ พิบูลศิลป์ ซึ่งสายพันธุ์กลายดังกล่าวมีข้อดีในด้านรูปทรงของดอก รูปร่างของใบ มีความหลากหลายของสีดอกและสีใบ รวมทั้งมีความหลากหลายของลักษณะทรงต้น ทั้งนี้ พุทธรักษาพันธุ์กลายทั้ง 37 พันธุ์ เป็นผลงานการพัฒนาพันธุ์ของศาสตราจารย์ภาควิชารังสีประยุกต์และไอโซโทปซึ่งเป็นหัวหน้าคณะวิจัยและได้ขึ้นทะเบียนพันธุ์พืชของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ตลอดจนได้ทำการเผยแพร่ผ่านการอบรมเกษตรกรผู้ปลูกไม้ดอกและไม้ประดับเป็นอาชีพและบุคคลทั่วไปที่สนใจ[490][491]
  • คิดค้นและพัฒนาพันธุ์ "ชวนชม" โดยชวนชมพันธุ์ดังกล่าวได้จากการฉายรังสีแกมมาแบบเฉียบพลันผ่านเมล็ดชวนชมสายพันธ์เดิม คือ สายพันธุ์ยักษ์ใบเรียว (Adenium somalense ver. somalense) โดยใช้ต้นกำเนิดรังสีซีเซียม-137 ในปริมาณ 200 เกรย์ ทำการปลูกและคัดเลือกพันธุ์ที่เหมาะสม ทำให้ได้ชวนชมพันธุ์กลายที่แปลกใหม่ จำนวน 2 พันธุ์ ได้แก่ พันธุ์ซุปเปอร์เรด (Super Red)[492] และ พันธุ์ซุปเปอร์ไวท์ (Super White)[493] ซึ่งสายพันธุ์กลายดังกล่าวมีข้อดีในด้านความหลากหลายของสีดอก ทั้งนี้ ชวนชมพันธุ์กลายทั้ง 2 พันธุ์ เป็นผลงานการพัฒนาพันธุ์ของศาสตราจารย์ภาควิชารังสีประยุกต์และไอโซโทปซึ่งเป็นหัวหน้าคณะวิจัยและในปี พ.ศ. 2548 ได้ขึ้นทะเบียนพันธุ์พืชรวมทั้งขึ้นทะเบียนรับรองพันธุ์พืชไว้กับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และกรมวิชาการเกษตรตามลำดับ นอกจากนี้ได้ทำการเผยแพร่สายพันธุ์กลายผ่านการอบรมเกษตรกรและโครงการอบรมบุคคลทั่วไปที่สนใจ[494]
  • คิดค้นและพัฒนาพันธุ์ "ถั่วเหลืองพันธุ์ดอยคำ" โดยถั่วเหลืองพันธุ์ดังกล่าวได้จากการฉายรังสีแกมมาผ่านเมล็ดถั่วเหลืองสายพันธุ์ สจ. 4 (SJ 4) โดยใช้ต้นกำเนิดรังสีซีเซียม-137 ในปริมาณ 150 เกรย์ ทำการปลูกและคัดเลือกพันธุ์ที่เหมาะสม ทำให้ได้ถั่วเหลืองพันธุ์กลาย คือ พันธุ์ 81-1-038 ที่มีคุณสมบัติทนทานต่อโรคราสนิมถั่วเหลือง ซึ่งมีสาเหตุมาจากเชื้อรา Pakopsora pachyrhizi Syd. พร้อมทั้งมีขนาดเมล็ดใหญ่กว่าและให้ผลผลิตที่มากกว่าสายพันธุ์เดิม ถั่วเหลืองพันธุ์กลายดังกล่าวได้มีการตั้งชื่อพันธุ์ใหม่ว่า "ดอยคำ" เพื่อเป็นเกียรติแก่โครงการหลวงที่ให้การสนับสนุนงานวิจัยมาโดยตลอด ทั้งนี้ ถั่วเหลืองพันธุ์ดอยคำเป็นผลงานการพัฒนาพันธุ์ของศาสตราจารย์ภาควิชารังสีประยุกต์และไอโซโทปซึ่งเป็นหัวหน้าคณะวิจัย มีการขึ้นทะเบียนพันธุ์พืชของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และมีการขยายพันธุ์แก่เกษตรกรที่ประสบปัญหาในเขตพื้นที่ภาคเหนือ รวมทั้งมอบเมล็ดพันธุ์ให้กับ กรมส่งเสริมการเกษตร, กรมวิชาการเกษตร, ภาควิชาพืชไร่นา คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และสถาบันวิจัยพืชไร่แม่โจ้ เพื่อขยายพันธุ์ต่อไป[495][496][497]
  • ประสบความสำเร็จในการ "ถอดรหัสพันธุกรรมปลากัดป่ามหาชัย" ครั้งแรกของโลก เป็นการถอดรหัสพันธุกรรมปลากัดป่ามหาชัยซึ่งเป็นปลาที่มีถิ่นกำเนิดเฉพาะในประเทศไทยเท่านั้นและเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ตามโครงการทรัพยากรชีวภาพปลากัดแห่งชาติ (National Betta Bioresource Project) ได้อย่างสำเร็จสมบูรณ์ โดยถอดรหัสฯ จากไมโตคอนเดรียและจีโนมของปลาฯ จีโนมไมโตคอนเดรียจากงานวิจัยจะถูกใช้เป็นข้อมูลสำหรับการพัฒนาวิธีการพิสูจน์เอกลักษณ์และการทำความเข้าใจกลไก วิวัฒนาการ ตลอดจนกำเนิดของปลากัดป่ามหาชัย ซึ่งเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนงานด้านการอนุรักษ์ฯ และเพื่อการพัฒนาเป็นสัตว์เศรษฐกิจในอนาคต นอกจากนี้ยังได้รับความร่วมมือจาก สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และ สมาคมปลากัดแห่งประเทศไทย เก็บถาวร 2020-07-16 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน ในการผลักดันในเชิงพาณิชย์ด้วย[498][499][500]
  • ประสบความสำเร็จในการ "ถอดรหัสพันธุกรรมปลาบึก" เป็นการถอดรหัสพันธุกรรมปลาบึกซึ่งเป็นปลาที่มีถิ่นกำเนิดเฉพาะแห่งและใกล้สูญพันธุ์ตามประกาศอนุสัญญา CITES ได้อย่างสำเร็จสมบูรณ์ โดยถอดรหัสฯ จากไมโตคอนเดรีย ดีเอ็นเอ และจีโนมของปลาบึก ลำดับนิวคลิโอไทด์จากงานวิจัยถูกเก็บไว้ในฐานข้อมูลสากลของธนาคารพันธุกรรม หรือ GenBank ประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อประโยชน์ในการนำไปใช้ต่อของนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลก [501][502][503]
  • รางวัล "The King of Thailand Vetiver Awards" และ "TVNI Awards" ผลงานวิจัยเรื่อง "The Salt Tolerant Vetiver" : หญ้าแฝกทนเค็ม ในงาน The Sixth International Conference on Vetiver ณ ประเทศเวียดนาม [504][505][506]

ธุรกิจและผู้ประกอบการ[แก้]

คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นหนึ่งในหน่วยงานที่มีผลงานวิจัยถูกนำไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์จากผู้ประกอบการและภาคเอกชน นอกจากนี้ยังมีผลงานวิจัยที่ได้รับการจดสิทธิบัตรและอนุสิทธิบัตรด้วย[507] โดยผลงานวิจัยที่ถูกนำไปใช้พัฒนาต่อเชิงพาณิชย์ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเทคโนโลยีชีวภาพ เคมี และการเกษตร ซึ่งมีสำนักงานบริการวิชาการ ส่วนงานทรัพยสินทางปัญญา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นหน่วยงานช่วยอำนวยการในด้านสิทธิบัตร อนุสิทธิบัตร และการผลักดันเชิงพาณิชย์[508] ทั้งนี้ งานวิจัยที่ถูกพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ร่วมกับภาคเอกชนที่โดดเด่น อาทิ

  • ผลิตภัณฑ์ถั่งเช่าทิเบต ผลิตภัณฑ์ประเภทอาหารเสริม ในด้านการกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันและการปรับสมดุลของร่างกาย[509] เป็นผลงานวิจัยของศาสตราจารย์ภาควิชาสัตววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มก. ร่วมกับภาคเอกชน[510] ในการศึกษาและพัฒนาวิธีการให้ถั่งเช่ามีการออกฤทธิ์ของสารสำคัญในปริมาณที่เหมาะสมและเหมาะกับร่างกาย[511][512]
  • แคปซูลเลือดจระเข้ ผลิตภัณฑ์ประเภทอาหารเสริมเพื่อการบำรุงเลือด[513] เป็นผลงานวิจัยของรองศาสตราจารย์ภาควิชาสัตววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มก.[514]ร่วมกับภาคเอกชนในการศึกษาประสิทธิภาพเลือดจระเข้ที่ช่วยในด้านการเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกัน ซึ่งได้มีการศึกษามาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2540[515][516][517]
  • การกระตุ้นสารหอมในไม้กฤษณา เป็นงานวิจัยของคณาจารย์จากภาควิชาเคมีและภาควิชาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มก. ซึ่งได้รับการจดสิทธิบัตร[518]ในการค้นพบวิธีการใหม่ที่สามารถกระตุ้นให้เกิดการผลิตสารหอมในเนื้อไม้กฤษณาได้อย่างมีประสิทธิภาพสูง โดยอาศัยเชื้อราและสารอินทรีย์ที่มีความปลอดภัย และมีการใช้ต้นทุนการผลิตที่ต่ำ[519][520][521]
  • ข้าวยีสต์แดง เป็นผลิตภัณฑ์ประเภทอาหารเสริมช่วยในการลดคอเลสเตอรัล ซึ่งเป็นผลงานวิจัยของศาสตราจารย์ภาควิชาจุลวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มก. โดยการนำจุลินทรีย์โมแนสคัสสายพันธุ์เฉพาะไปเพาะในข้าวหอมมะลิอินทรีย์ในสภาวะเหมาะสม เพื่อให้เกิดการผลิตสารที่เป็นประโยชน์กับร่างกาย อาทิ Monacolins ซึ่งช่วยในการลดคอเลสเตอรัล เป็นต้น[522][523][524][525]

สุขภาพ สังคม สิ่งแวดล้อม และความยั่งยืน[แก้]

นโยบายของคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นอกจากจะมุ่งเน้นในด้านการเรียนการสอนและการวิจัยแล้ว ยังมีนโยบายและเป้าหมายในด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยมุ่งสร้างสังคมสุขภาพและสิ่งแวดล้อมสีเขียวให้กับนิสิตและบุคลากร ตลอดจนประชาชนทั่วไป โดยผ่านกิจกรรมและโครงการต่าง ๆ อาทิ

โครงการออกกำลังกายแบบจินกังกง เป็นโครงการส่งเสริมสุขภาพด้านการบริหารร่างกาย กล้ามเนื้อ และเส้นเอ็น ตลอดจนอวัยวะภายใน โดยจินกังกงเป็นการรำมวยจีนและเป็นการออกกำลังกายรูปแบบหนึ่งที่ไม่ต้องใช้อุปกรณ์ในการออกกำลังกาย[526] แต่เน้นที่การยืดกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นด้วยท่าทางต่าง ๆ ส่งผลดีทั้งในด้านร่างกายและจิตใจของผู้ฝึก ซึ่งทางคณะวิทยาศาสตร์ได้เริ่มดำเนินกิจกรรมดังกล่าวมาตั้งแต่ราวปี พ.ศ. 2556[527] โดยมีวุฒิอาสาฯ มาเป็นวิทยากรในการนำออกกำลังกาย[528] ทั้งนี้ บุคคลทั่วไปสามารถเข้าร่วมฝึกจินกังกงโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายได้ที่บริเวณโถงชั้น 1 อาคารสุขประชา วาจานนท์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์[529][530]

โครงการออกกำลังกายแบบโยคะ เป็นอีกหนึ่งโครงการด้านการส่งเสริมสุขภาพของคณะวิทยาศาสตร์ เพื่อพัฒนาความแข็งแรงและเพิ่มความยืดหยุ่นของร่ายกาย โดยเป็นการฝึกฝนด้วยชุดท่าทางต่าง ๆ ประกอบกับการหายใจ ทำให้เกิดความสมดุลระหว่างร่ายกายกับจิตใจของผู้ฝึก[531] โดยมีบุคลากรของคณะวิทยาศาสตร์เป็นวิทยากรนำออกกำลังกาย ทั้งนี้ บุคคลทั่วไปสามารถเข้าร่วมกิจกรรมโยคะได้ที่ห้องกระจก ชั้น 2 ห้องประชุมทวี ญาณสุคนธ์ อาคารทวี ญาณสุคนธ์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์[532]

โครงการเลิกใช้บรรจุภัณฑ์จากโฟมและพลาสติก 100% ณ ศูนย์อาหารคณะวิทยาศาสตร์[533][534] โดยได้ลงนามข้อตกลงกับภาคเอกชนในการร่วมมือผลิตบรรจุภัณฑ์จากกระดาษที่ย่อยสลายด้วยตัวเองทั้ง 100% ใน 180 วัน[535][536][537] นอกจากนี้ยังมีการจัดระบบขยะพิษและมีการคัดแยกขยะด้วย

นอกจากนี้ในด้านความรับผิดชอบต่อสังคม (Corporate Social Responsibility: CSR) ทางคณะวิทยาศาสตร์ได้มีการดำเนินกิจกรรมเพื่อสังคม ให้บริการความรู้แก่ชุมชนและสังคม รวมทั้งมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาและวิกฤตประเทศโดยใช้องค์ความรู้ของคณะวิทยาศาสตร์ อาทิ

โครงการช่วยภัยแล้ง เป็นโครงการสำรวจแหล่งน้ำใต้ดินเพื่อช่วยเหลือชุมชนที่ประสบภัย นำโดยคณาจารย์และนิสิตคณะวิทยาศาสตร์ซึ่งใช้เครื่องมือทางธรณีฟิสิกส์ในการสำรวจหาแหล่งน้ำใต้ดิน พร้อมทั้งแปลผลประกอบข้อมูลชั้นน้ำบาดาล ส่งผลให้สามารถเจาะและพัฒนาบ่อบาดาลและนำน้ำขึ้นมาใช้ประโยชน์ในพื้นที่ได้ พื้นที่ที่เข้าช่วยเหลือ อาทิ พื้นที่ตำบลหนองปรือ อำเภอหนองปรือ จังหวัดกาญจนบุรี และพื้นที่ตำบลช่องสาริกา อำเภอพัฒนานิคม จังหวัดลพบุรี เป็นต้น[538][539][540][541]

กิจกรรมสอนผลิตเจลล้างมือแอลกอฮอล์ความเข้มข้น 70% ผสมสารสกัดเปลือกมังคุด ต้านเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ในชื่อผลิตภัณฑ์ "SciKU hand sanitizer" ให้แก่ นิสิต คณาจารย์ บุคลากร ตลอดจนบุคคลทั่วไปที่สนใจ โดยผลิตภัณฑ์ดังกล่าวใช้ในการทำความสะอาดมือโดยไม่ต้องล้างน้ำและช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ นำโดยคณาจารย์และนิสิตภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ นอกเหนือจากการสอนและผลิตใช้เองแล้วยังมีการแจกจ่ายโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายให้กับหน่วยงานต่าง ๆ ภายในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน รวมทั้งแจกจ่ายให้กับประชาชนทั่วไปที่มาติดต่อราชการ เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 ด้วย[542][543] นอกจากนี้กิจกรรมดังกล่าวยังได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนในการทำข่าวและประชาสัมพันธ์ อาทิ สื่อ PPTV[544][545][546] เป็นต้น เนื่องจากเป็นมหาวิทยาลัยกลุ่มแรกในขณะนั้นที่นำเอาองค์ความรู้ที่มีออกมาช่วยเหลือสังคมในช่วงภาวะวิกฤติเชื้อไวรัสโคโรนาระบาดในประเทศไทย และได้ขยายวงกว้างไปสู่วิทยาเขตต่าง ๆ ตลอดจนสถาบันการศึกษาและหน่วยงานภายนอกอื่น ๆ[547][548][549]

ทั้งนี้ โครงการต่าง ๆ ด้านสุขภาพ สังคม และสิ่งแวดล้อมของคณะวิทยาศาสตร์ยังสอดคล้องกับผังแม่บทมหาวิทยาลัยสีเขียว[550]และนโยบาย 6U ด้าน Green University และ Happiness University ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์[551][552][553] รวมทั้งสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ (United Nations: UN)[554][555][556] ที่มุ่งสร้างความยั่งยืนทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม อีกด้วย

ดูเพิ่ม[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. คลังความรู้ดิจิทัล มก. ชั้นวารสารอิเล็กทรอนิกส์-วารสารวิทยาศาสตร์ มก. เรียกดูวันที่ 2019-11-08
  2. ประเสริฐ ณ นคร. (2552). เพลงวิทยาศาสตร์ปณิธาน: เพลงประจำสถาบันฯ โดย ศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เรียกดูวันที่ 2019-06-14
  3. "สีประจำคณะในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-05-17. สืบค้นเมื่อ 2010-08-29.
  4. ราชกิจจานุเบกษา พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยปริญญาในสาขาวิชา อักษรย่อสำหรับสาขาวิชา และครุยวิทยฐานะ ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๒๖ เรียกดูวันที่ 2019-05-31
  5. ราชกิจจานุเบกษา พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยปริญญาในสาขาวิชา อักษรย่อสำหรับสาขาวิชาและครุยวิทยฐานะ ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พ.ศ. ๒๕๑๒ เรียกดูวันที่ 2019-05-31
  6. https://www.topuniversities.com/. "QS World University Rankings by Subject"
  7. https://www.sci.ku.ac.th/news/aboutsci#profile เก็บถาวร 2018-10-23 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. "ประวัติคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์"
  8. http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2509/A/022/228.PDF เก็บถาวร 2016-03-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๘๓ ตอนที่ ๒๒ หน้าที่ ๒๒๘ พระราชกฤษฎีกาจัดแบ่งคณะในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พุทธศักราช ๒๕๐๙
  9. https://www.sci.ku.ac.th/news/aboutsci#profile เก็บถาวร 2018-10-23 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. "ประวัติคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์"
  10. อรุณ จันทนโอ. (2556). เกษตรกลาง-เกษตรศาสตร์. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คณะเกษตร ภาควิชาโรคพืช.
  11. ที่ระลึกพิธีเปิด อาคารทวี ญาณสุคนธ์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วันจันทร์ที่ 9 มีนาคม 2552. (2552). ม.ป.ท: . เก็บถาวร 2019-03-08 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เรียกดูวันที่ 2020-03-19
  12. คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ประวัติความเป็นมา เก็บถาวร 2018-10-10 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เรียกดูวันที่ 2018-06-18
  13. คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ประวัติความเป็นมา เก็บถาวร 2019-06-18 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เรียกดูวันที่ 2018-06-18
  14. วรรณา นาวิกมูล. มนุษยศาสตร์สมโภช: 36 ปีคณะ, 24 ปีวารสาร เก็บถาวร 2019-12-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (PDF). วารสารมนุษยศาสตร์ ปีที่ 24 ฉบับที่ 1 (มกราคม-มิถุนายน 2560). สืบค้นเมื่อ 2019-12-04.
  15. คณะวิทยาศาสตร์ มก. คณะผู้บริหารคณะวิทยาศาสตร์ เรียกดูวันที่ 2019-11-11
  16. คณะวิทยาศาสตร์ มก. การศึกษา-ภาควิชา เรียกดูวันที่ 2019-11-11
  17. คณะวิทยาศาสตร์ มก. หัวหน้าภาควิชา เรียกดูวันที่ 2019-11-11
  18. คณะวิทยาศาสตร์ มก. หน่วยงานสนับสนุนคณะวิทยาศาสตร์ มก. เก็บถาวร 2019-10-27 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เรียกดูวันที่ 2019-11-11
  19. คณะวิทยาศาสตร์ มก. ศูนย์สารสนเทศและบริการนิสิตคณะวิทยาศาสตร์ เก็บถาวร 2019-07-02 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เรียกดูวันที่ 2019-11-11
  20. คณะวิทยาศาสตร์ มก. หน่วยงานของคณะฯ-สำนักงานเลขานุการคณะวิทยาศาสตร์ เรียกดูวันที่ 2019-11-11
  21. ภาควิชาคณิตศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มก. "หน้าแรก". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-11-25. สืบค้นเมื่อ 2019-12-09.
  22. ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มก. "หน้าแรก". สืบค้นเมื่อ 2019-12-09.
  23. ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มก. "หน้าแรก". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-12-18. สืบค้นเมื่อ 2019-12-09.
  24. ภาควิชาชีวเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มก. "หน้าแรก". สืบค้นเมื่อ 2019-12-09.
  25. ภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มก. "หน้าแรก". สืบค้นเมื่อ 2019-12-09.
  26. ภาควิชาพันธุศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มก. "หน้าแรก". สืบค้นเมื่อ 2019-12-09.
  27. ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มก. "หน้าแรก". สืบค้นเมื่อ 2019-12-09.
  28. ภาควิชารังสีประยุกต์และไอโซโทป คณะวิทยาศาสตร์ มก. "หน้าแรก". สืบค้นเมื่อ 2019-12-09.
  29. ภาควิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ คณะวิทยาศาสตร์ มก. "หน้าแรก". สืบค้นเมื่อ 2019-12-09.
  30. ภาควิชาวิทยาศาสตร์พื้นพิภพ คณะวิทยาศาสตร์ มก. "หน้าแรก". สืบค้นเมื่อ 2019-12-09.
  31. ภาควิชาวัสดุศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มก. "หน้าแรก". สืบค้นเมื่อ 2019-12-09.
  32. ภาควิชาสถิติ คณะวิทยาศาสตร์ มก. "หน้าแรก". สืบค้นเมื่อ 2019-12-09.
  33. ภาควิชาสัตววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มก. "หน้าแรก". สืบค้นเมื่อ 2019-12-09.
  34. คณะวิทยาศาสตร์ มก. "งานวิจัยและนวัตกรรม". สืบค้นเมื่อ 2019-12-09.
  35. บรรณาธิการ. "กระทรวงการอุดมศึกษา-มหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติ". สำนักข่าวแนวหน้า. สืบค้นเมื่อ 2019-12-09.
  36. ดร.กฤษมันต์ วัฒนาณรงค์. "มหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติ พ.ศ. 2552". ไทยรัฐออนไลน์. สืบค้นเมื่อ 2019-12-09.
  37. British council. The Quality Assurance Agency for Higher Education 2019. COUNTRY REPORT: Thailand. เรียกดูวันที่ 2020-01-15
  38. "Center of Excellence on Petrochemical and Materials Technology Report 2020: Partner Institutions - Kasetsart University - Program of Physical Chemistry". PETROMat. สืบค้นเมื่อ 15 January 2021.
  39. ศูนย์ประสานเพื่อการพัฒนาสู่ความเป็นเลิศ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ศูนย์ความเป็นเลิศทางวิชาการด้านปาล์มน้ำมัน เรียกดูวันที่ 2019-07-03
  40. สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. ผลงานคณะวิทยาศาสตร์ บางเขน เรียกดูวันที่ 2020-03-07
  41. คณะวิทยาศาสตร์ มก. "หน้าแรก-สถิติผลงานตีพิมพ์ระดับนานาชาติ ข้อมูลปี 2561". สืบค้นเมื่อ 2019-12-09.
  42. ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๒ ตอนพิเศษ ๒๙๕ ง ประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง เกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรระดับปริญญาตรี พ.ศ. ๒๕๕๘] ลว. ๑๓ พฤศจิกายน ๒๕๕๘ เรียกดูวันที่ 2019-11-07
  43. ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๒ ตอนพิเศษ ๒๙๕ ง ประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง เกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรระดับบัณฑิตศึกษา พ.ศ. ๒๕๕๘] ลว. ๑๓ พฤศจิกายน ๒๕๕๘ เรียกดูวันที่ 2019-11-07
  44. สำนักทะเบียนและประมวลผล มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ KU-TCAS. เรียกดูวันที่ 2019-10-14
  45. คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ SciKU-TCAS. เรียกดูวันที่ 2019-10-14
  46. บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ระเบียบการการรับสมัครนิสิตระดับบัณฑิตศึกษา. เรียกดูวันที่ 2019-10-14
  47. บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ระเบียบการการรับสมัครนิสิตระดับบัณฑิตศึกษา. เรียกดูวันที่ 2019-10-14
  48. "แผน วท.ม. วิทยาศาสตร์เพื่อชีวิต (หลักสูตรนานาชาติ)" (PDF). สำนักทะเบียนและประมวลผล มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. สืบค้นเมื่อ 2020-12-12.[ลิงก์เสีย]
  49. บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. Dual/Double/Joint Degree Programs เรียกดูวันที่ 2020-03-21
  50. บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. GRADUATE SCHOOL KU DATA & FIGURES เรียกดูวันที่ 2020-03-21
  51. ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มก. การทำวิจัยระยะสั้น ณ ต่างประเทศ ของนิสิตภาควิชาเคมี พ.ศ. 2560[ลิงก์เสีย] เรียกดูวันที่ 2020-03-11
  52. ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มก. การทำวิจัยระยะสั้น ณ ต่างประเทศ ของนิสิตภาควิชาเคมี พ.ศ. 2561[ลิงก์เสีย] เรียกดูวันที่ 2020-03-11
  53. ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มก. การทำวิจัยระยะสั้น ณ ต่างประเทศ ของนิสิตภาควิชาเคมี พ.ศ. 2562 เก็บถาวร 2019-11-11 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เรียกดูวันที่ 2019-11-11
  54. ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มก. การทำวิจัยระยะสั้น ณ ต่างประเทศ ของนิสิตภาควิชาเคมี พ.ศ. 2563 เก็บถาวร 2020-02-26 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เรียกดูวันที่ 2020-03-05
  55. หนังสือที่ระลึก “ครบรอบ 25 ปี คณะวิทยาศาสตร์ มก.”
  56. หนังสือที่ระลึก “30 ปี คณะวิทยาศาสตร์ มก.”
  57. วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า การเข้ารับการศึกษา หลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า เก็บถาวร 2019-07-11 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เรียกดูวันที่ 2019-10-27
  58. วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า หลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า หลักสูตรปรับปรุง พ.ศ. 2551 เก็บถาวร 2020-03-31 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เรียกดูวันที่ 2019-10-27
  59. วิทยาลัยแพทย์ศาสตร์พระมงกุฎเกล้า หลักสูตรที่เปิดสอน เรียกดูวันที่ 2019-10-27
  60. คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ปฐมนิเทศนิสิตเตรียมแพทยศาสตร์ วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฏเกล้า เก็บถาวร 2019-10-27 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เรียกดูวันที่ 2019-10-27
  61. การเดินทาง … แพทย์พระมงกุฎ การเรียนการสอนวิชาแพทย์ เรียกดูวันที่ 2019-10-27
  62. Suchira.r. "หลักสูตรปริญญาโท สาขาวิทยาศาสตร์ข้อมูลชีวภาพการแพทย์ (Master's Degree in Biomedical Data Science)". fscilli. สืบค้นเมื่อ 2020-12-12.
  63. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชกฤษฎีการับวิทยาลัยการชลประทาน กรมชลประทาน เข้าสมทบในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พ.ศ. ๒๕๕๐, เล่ม ๑๒๔, ตอน ๓๘ ก, ๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๐, หน้า ๒๗
  64. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชกฤษฎีการับวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี นพรัตน์วชิระ เข้าสมทบในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พ.ศ. ๒๕๔๖ เก็บถาวร 2020-10-21 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๒๐, ตอน ๓๕ ก, ๒๙ เมษายน พ.ศ. ๒๕๔๖, หน้า ๑
  65. ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เสด็จไปในพิธีลงพระนามและลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่าง ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ กับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เรียกดูวันที่ 2019-10-27
  66. กองวิเทศสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ การทำ Joint Degree Program และจัดตั้งศูนย์ความร่วมมือของ Yamaguchi University เก็บถาวร 2019-10-27 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เรียกดูวันที่ 2019-10-27
  67. The International Affairs Division, Kasetsart University Joint Degree Program และการจัดตั้งศูนย์ความร่วมมือ Yamaguchi University เรียกดูวันที่ 2019-10-27
  68. คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พิธีลงนามความร่วมมือทางวิชาการและการจัดตั้งสำนักงาน Yamaguchi University International Collaboration Office, YUICO เก็บถาวร 2019-10-27 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เรียกดูวันที่ 2019-10-27
  69. Yamaguchi_University สำนักงานประสานงานระหว่างประเทศของมหาวิทยาลัยยามากุจิ ณ กรุงเทพฯ เรียกดูวันที่ 2019-10-27
  70. Yamaguchi University International Collaboration Office YUICO Bangkok officer เรียกดูวันที่ 2019-10-27
  71. คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ทำเนียบคณบดี เก็บถาวร 2019-07-02 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เรียกดูวันที่ 2019-05-31
  72. หอประวัติ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. ศาสตราจารย์ ดร. ทวี ญาณสุคนธ์. บูรพาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิ. เรียกดูวันที่ 2019-07-30
  73. หอจดหมายเหตุ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. ผู้ทำประโยชน์ฯ. ศาสตราจารย์ ดร. ทวี ญาณสุคนธ์ เก็บถาวร 2019-08-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. ฐานข้อมูลบูรพาจารย์แห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. เรียกดูวันที่ 2019-07-30
  74. ที่ระลึกพิธีเปิด อาคารทวี ญาณสุคนธ์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วันจันทร์ที่ 9 มีนาคม 2552. (2552). ม.ป.ท: . เก็บถาวร 2019-03-08 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เรียกดูวันที่ 2020-03-19
  75. หอประวัติ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. ศาสตราจารย์ ดร. กฤษณา ชุติมา. บูรพาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิ. เรียกดูวันที่ 2019-07-30
  76. หอจดหมายเหตุ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. ผู้ทำประโยชน์ฯ. ศาสตราจารย์ ดร. กฤษณา ชุติมา เก็บถาวร 2018-05-28 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. ฐานข้อมูลบูรพาจารย์แห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. เรียกดูวันที่ 2019-07-30
  77. ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. กฤษณา ชุติมา เรียกดูวันที่ 2019-11-28
  78. หอประวัติ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุขประชา วาจานนท์. บูรพาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิ. เรียกดูวันที่ 2019-07-30
  79. หอจดหมายเหตุ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. ผู้ทำประโยชน์ฯ. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุขประชา วาจานนท์ เก็บถาวร 2018-05-28 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. ฐานข้อมูลบูรพาจารย์แห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. เรียกดูวันที่ 2019-07-30
  80. หนังสือที่ระลึกพิธีเปิดป้าย อาคารสุขประชา วาจานนท์ 5 กรกฎาคม 2554. (2554). ม.ป.ท: . เรียกดูวันที่ 2020-03-10
  81. หอประวัติ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. ศาสตราจารย์ ดร.สุมินทร์ สมุทคุปติ์. บูรพาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิ. เรียกดูวันที่ 2019-07-30
  82. หอจดหมายเหตุ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. ผู้ทำประโยชน์ฯ. ศาสตราจารย์ ดร.สุมินทร์ สมุทคุปติ์ เก็บถาวร 2019-07-31 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. ฐานข้อมูลบูรพาจารย์แห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. เรียกดูวันที่ 2019-07-30
  83. KU forest. Administrative Profile. รองศาสตราจารย์ ดร.วินิจ เจียมสกุล. เรียกดูวันที่ 2019-07-30
  84. KU forest. Administrative Profile. อาจารย์ ดร.สุรพล ภัทราคร. เรียกดูวันที่ 2019-07-30
  85. มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. การสรรหาอธิการบดี. ศาสตราจารย์ ดร.สุภา หารหนองบัว เรียกดูวันที่ 2020-03-09
  86. กรรมการสภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. ประเภทผู้บริหาร. ศาสตราจารย์ ดร.สุภา หารหนองบัว. เรียกดูวันที่ 2019-11-09
  87. KU forest. Administrative Profile. ศาสตราจารย์ ดร.สุภา หารหนองบัว. เรียกดูวันที่ 2019-07-30
  88. KU forest. Administrative Profile. รองศาสตราจารย์ ดร.อภิสิฏฐ์ ศงสะเสน. เรียกดูวันที่ 2019-07-30
  89. คำสั่งสภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่ ๓/๒๕๖๑ ลว. ๒๗ มีนาคม ๒๕๖๑ เรื่อง แต่งตั้งคณบดีคณะวิทยาศาสตร์. เรียกดูวันที่ 2010-04-24
  90. https://www.topuniversities.com/. "QS World University Rankings by Subject"
  91. Nonsee Newsletter, The International Newsletter of Kasetsart University, Volume 20 Issue 04 April 2014 KU : Thailand’s Top Best University 2 Years in a Row (QS World University Rankings by Subject 2014, 2013) เก็บถาวร 2019-07-14 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เรียกดูวันที่ 2019-07-14
  92. Quacquarelli Symonds. "QS World University Rankings by Subject 2020". 2020-03-05
  93. https://www.topuniversities.com/university-rankings/university-subject-rankings/2019/chemistry "QS World University Rankings by Subject 2019"
  94. https://www.topuniversities.com/subject-rankings/2018 "QS World University Rankings by Subject 2018"
  95. https://www.topuniversities.com/subject-rankings/2017 "QS World University Rankings by Subject 2017"
  96. https://www.topuniversities.com/university-rankings/university-subject-rankings/2016/computer-science-information-systems "QS World University Rankings by Subject 2016"
  97. https://www.topuniversities.com/subject-rankings/2015 "QS World University Rankings by Subject 2015"
  98. "QS World University Rankings by Subject 2021 - Biological Sciences - Kasetsart University". QS Quacquarelli Symonds. สืบค้นเมื่อ 5 March 2021.
  99. "QS World University Rankings by Subject 2020 - Biological Sciences - Kasetsart University". QS Quacquarelli Symonds. สืบค้นเมื่อ 2020-03-05.
  100. "QS World University Rankings by Subject 2018 - Biological Sciences - Kasetsart University". QS Quacquarelli Symonds. สืบค้นเมื่อ 2020-03-05.
  101. "QS World University Rankings by Subject 2017 - Biological Sciences - Kasetsart University". QS Quacquarelli Symonds. สืบค้นเมื่อ 2020-03-05.
  102. "QS World University Rankings by Subject 2015 - Biological Sciences - Kasetsart University". QS Quacquarelli Symonds. สืบค้นเมื่อ 2020-03-05.
  103. "QS World University Rankings by Subject 2021 - Chemistry - Kasetsart University". QS Quacquarelli Symonds. สืบค้นเมื่อ 5 March 2021.
  104. "QS World University Rankings by Subject 2020 - Chemistry - Kasetsart University". QS Quacquarelli Symonds. สืบค้นเมื่อ 2020-03-05.
  105. "QS World University Rankings by Subject 2019 - Chemistry - Kasetsart University". QS Quacquarelli Symonds. สืบค้นเมื่อ 2020-03-05.
  106. "QS World University Rankings by Subject 2018 - Chemistry - Kasetsart University". QS Quacquarelli Symonds. สืบค้นเมื่อ 2020-03-05.
  107. "QS World University Rankings by Subject 2017 - Chemistry - Kasetsart University". QS Quacquarelli Symonds. สืบค้นเมื่อ 2020-03-05.
  108. "QS World University Rankings by Subject 2016 - Computer Science and Information Systems - Kasetsart University". QS Quacquarelli Symonds. สืบค้นเมื่อ 2020-03-05.
  109. "Top Universities in Asia for Natural Sciences 2014". QS Top Universities. สืบค้นเมื่อ 2020-11-22.
  110. "Top Universities in Asia for Natural Sciences 2014". QS Top Universities. สืบค้นเมื่อ 2020-11-22.
  111. "Times Higher Education (THE)". Times Higher Education. สืบค้นเมื่อ 2020-11-22.
  112. "The THE World University Rankings by Subject". Times Higher Education. สืบค้นเมื่อ 2020-11-22.
  113. Times Higher Education. 2019. "The THE World University Rankings by Subject 2019 : Physical Sciences - Physics & Astronomy"
  114. Times Higher Education. 2019. "The THE World University Rankings by Subject 2019 : Physical Sciences - Chemistry"
  115. Times Higher Education. 2019. "The THE World University Rankings by Subject 2019 : Physical Sciences - Geology, Environmental, Earth & Marine Science"
  116. Times Higher Education. 2019. "The THE World University Rankings by Subject 2019 : Physical Sciences - Mathematics & Statistics"
  117. Times Higher Education. 2021. "The THE World University Rankings by Subject 2021 : Physical Sciences - Physics & Astronomy" เรียกดูวันที่ 2020-11-03
  118. Times Higher Education. 2021. "The THE World University Rankings by Subject 2021 : Physical Sciences - Chemistry" เรียกดูวันที่ 2020-11-03
  119. Times Higher Education. 2021. "The THE World University Rankings by Subject 2021 : Physical Sciences - Geology, Environmental, Earth & Marine Science" เรียกดูวันที่ 2020-11-03
  120. Times Higher Education. 2021. "The THE World University Rankings by Subject 2021 : Physical Sciences - Mathematics & Statistics" เรียกดูวันที่ 2020-11-03
  121. Times Higher Education. 2019. "The THE World University Rankings by Subject 2019 : Life Sciences - Biological Sciences"
  122. Times Higher Education. 2020. "The THE World University Rankings by Subject 2020 : Life Sciences - Biological Sciences" เรียกดูวันที่ 2019-12-19
  123. Times Higher Education. 2021. "The THE World University Rankings by Subject 2021 : Life Sciences - Biological Sciences" เรียกดูวันที่ 2019-12-19
  124. Times Higher Education. 2019. "The THE World University Rankings by Subject 2019 : Computer Science - Computer Science"
  125. Times Higher Education. 2020. "The THE World University Rankings by Subject 2020 : Computer Science - Computer Science" เรียกดูวันที่ 2019-12-19
  126. Times Higher Education. 2021. "The THE World University Rankings by Subject 2021 : Computer Science - Computer Science" เรียกดูวันที่ 2020-11-03
  127. "The nature index 2017 in chemical science". Nature Index. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-03-21. สืบค้นเมื่อ 2019-12-19.
  128. "The nature index 2017 in chemical science". Nature Index. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-03-21. สืบค้นเมื่อ 2019-12-19.
  129. "The 2016 tables are based on Nature Index data from 1 January 2015 to 31 December 2015". Nature Index. สืบค้นเมื่อ 2019-12-19.
  130. U.S. News & World Report U.S. News & World Report เรียกดูวันที่ 2019-10-25
  131. U.S. News & World Report Best Global Universities for Chemistry เรียกดูวันที่ 2019-10-25
  132. U.S. News & World Report Best Global Universities for Chemistry in Thailand เรียกดูวันที่ 2019-10-25
  133. U.S. News & World Report Kasetsart University-Chemistry indicator rankings เรียกดูวันที่ 2019-10-25
  134. U.S. News & World Report Kasetsart University-Chemistry indicator rankings เรียกดูวันที่ 2019-10-25
  135. สกว. การประเมินครั้งที่ 2 พ.ศ. 2553 เก็บถาวร 2020-08-14 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เรียกดูวันที่ 2019-11-04
  136. สกว. การประเมินครั้งที่ 3 พ.ศ. 2554 เก็บถาวร 2020-09-28 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เรียกดูวันที่ 2019-11-04
  137. ที่ระลึกพิธีเปิด อาคารทวี ญาณสุคนธ์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วันจันทร์ที่ 9 มีนาคม 2552. (2552). ม.ป.ท: . เก็บถาวร 2019-03-08 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เรียกดูวันที่ 2020-03-19
  138. หนังสือ ‘‘5 ทศวรรษ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์” ยุคที่ 2 คณะวิทยาศาสตร์และอักษรศาสตร์ (พ.ศ. 2509–พ.ศ. 2523) เรียกดูวันที่ 2019-11-05
  139. มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เบอร์โทรศัพท์และแผนที่ เรียกดูวันที่ 2019-11-05
  140. หนังสือ “5 ทศวรรษ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์” พระกรุณาธิคุณของสมเด็จพระสังฆราชฯ ที่มีต่อคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เรียกดูวันที่ 2019-10-12
  141. พาสินี สุนากร, พัฑรา สืบศิริ, ขวัญชัย กาแก้ว และ สุปรียา หวังพัชรพล. (2546). เรื่องเต็มการประชุมทางวิชาการของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ครั้งที่ 41: สาขาวิศวกรรมศาสตร์และสาขาสถาปัตยกรรมศาสตร์. พัฒนาการรูปแบบงานสถาปัตยกรรมในช่วง 60 ปี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตบางเขน. (น. 639 หน้า). กรุงเทพฯ: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย.
  142. รายงานประจำปี 2536 คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. (2536). ม.ป.ท: . เรียกดูวันที่ 2020-03-07
  143. Manoo Satee. ตามรอยถ่ายภาพตึกเก่ายุคโมเดิร์น กับ ‘เบียร์ สิงห์น้อย’. Cultured Creatures. เรียกดูวันที่ 2020-11-24
  144. พาสินี สุนากร, พัฑรา สืบศิริ, ขวัญชัย กาแก้ว และ สุปรียา หวังพัชรพล. (2546). เรื่องเต็มการประชุมทางวิชาการของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ครั้งที่ 41: สาขาวิศวกรรมศาสตร์และสาขาสถาปัตยกรรมศาสตร์. พัฒนาการรูปแบบงานสถาปัตยกรรมในช่วง 60 ปี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตบางเขน. (น. 639 หน้า). กรุงเทพฯ: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย.
  145. วีระพล สิงห์น้อย. OPTIMISE. Modernism’s Last Stand : มรดกทางสถาปัตยกรรมของไทยจากยุค 60s และ 70s ที่ค่อยๆ อันตรธานไป ถือเป็นอีกหนึ่งบทสำคัญในหน้าประวัติศาสตร์ของประเทศ เก็บถาวร 2019-08-07 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. living space. เรียกดูวันที่ 2019-08-07
  146. วีระพล สิงห์น้อย. Kooper. รวมตึกโมเดิร์นนิสต์จากยุค’60s ในมหาลัยทั่วประเทศ โดย วีระพล สิงห์น้อย ช่างภาพมือทองแห่งวงการสถาปัตย์ เรียกดูวันที่ 2019-08-07
  147. pareparaepare. ชีวประวัติ นายองอาจ สาตรพันธุ์ - อาคารเรียนฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. เรียกดูวันที่ 2020-11-24
  148. Docomomo Thailand Modern building: อาคารวิฑูรย์ หงส์สุมาลย์ (อาคารฟิสิกส์) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เรียกดูวันที่ 2019-09-08
  149. ประชาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พิธีเปิดป้าย "อาคารวิฑูรย์ หงษ์สุมาลย์" (ตึกฟิสิกส์เดิม) คณะวิทยาศาสตร์ เรียกดูวันที่ 2019-11-05
  150. ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ งานเปิดป้ายอาคารวิฑูรย์ หงษ์สุมาลย์ เรียกดูวันที่ 2019-11-05
  151. พาสินี สุนากร, วันดี พินิจวรสิน, และ จรูญพันธ์ บรรจงภาค. (2549). โครงการอนุรักษ์อาคารและสภาพแวดล้อม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ครั้งที่ 1. อนุรักษ์อาคารเกษตรกลางบางเขน พ.ศ. 2549 เก็บถาวร 2022-10-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. (น. 80 หน้า). กรุงเทพฯ
  152. หนังสือที่ระลึก “ครบรอบ 25 ปี คณะวิทยาศาสตร์ มก.”
  153. หนังสือที่ระลึก “30 ปี คณะวิทยาศาสตร์ มก.”
  154. หนังสือ ‘‘5 ทศวรรษ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์” ยุคที่ 2 คณะวิทยาศาสตร์และอักษรศาสตร์ (พ.ศ. 2509–พ.ศ. 2523) เรียกดูวันที่ 2019-11-05
  155. รายงานประจำปี 2536 คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. (2536). ม.ป.ท: . เรียกดูวันที่ 2020-03-07
  156. https://www.sci.ku.ac.th/news/wp-content/uploads/2016/09/50year2.pdf. หนังสือ "5 ทศวรรษ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์" : มุมมองของอดีตคณบดีคณะวิทยาศาสตร์/ ศาสตราจารย์ ดร.กฤษณา ชุติมา/ คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ (พ.ศ. 2521–พ.ศ. 2523)
  157. รายงานประจำปี 2536 คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. (2536). ม.ป.ท: . เรียกดูวันที่ 2020-03-07
  158. หนังสือ “52 ปี คณะวิทยาศาสตร์ มก.” พระกรุณาธิคุณของเจ้าฟ้านักวิทยาศาสตร์ ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ที่มีต่อคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เรียกดูวันที่ 2020-01-13
  159. วุฒิชัย กปิลกาญจน์ และคณะ. การบริหารจัดการ-ด้านเสริมสร้างสวัสดิการ พัฒนาคุณภาพชีวิต สิ่งแวดล้อมและการจัดการ. หนังสือนโยบายและผลงานการบริหารมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ในรอบปีที่ 3 ของวาระที่ 2 (16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556-15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557). น.116 สืบค้นเมื่อ 2019-12-17
  160. รายงานประจำปี 2536 คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. (2536). ม.ป.ท: . เรียกดูวันที่ 2020-03-07
  161. รายงานประจำปี 2536 คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. (2536). ม.ป.ท: . เรียกดูวันที่ 2020-03-07
  162. วรรณา นาวิกมูล. มนุษยศาสตร์สมโภช: 36 ปีคณะ, 24 ปีวารสาร เก็บถาวร 2019-12-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (PDF). วารสารมนุษยศาสตร์ ปีที่ 24 ฉบับที่ 1 (มกราคม-มิถุนายน 2560). สืบค้นเมื่อ 2019-12-04.
  163. หนังสือที่ระลึกพิธีเปิดป้าย อาคารสุขประชา วาจานนท์ 5 กรกฎาคม 2554. (2554). ม.ป.ท: . เรียกดูวันที่ 2020-03-10
  164. รายงานประจำปี 2536 คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. (2536). ม.ป.ท: . เรียกดูวันที่ 2020-03-07
  165. หนังสือ “5 ทศวรรษ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์” พระกรุณาธิคุณของสมเด็จพระสังฆราชฯ ที่มีต่อคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เรียกดูวันที่ 2020-03-07
  166. คำสั่งคณะวิทยาศาสตร์ ที่ 98/2551 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการจัดงานเปิดป้ายชื่อ อาคารทวี ญาณสุคนธ์. (2551). ม.ป.ท: . เรียกดูวันที่ 2020-01-02
  167. ที่ระลึกพิธีเปิด อาคารทวี ญาณสุคนธ์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วันจันทร์ที่ 9 มีนาคม 2552. (2552). ม.ป.ท: . เก็บถาวร 2019-03-08 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เรียกดูวันที่ 2020-03-19
  168. พาสินี สุนากร, พัฑรา สืบศิริ, ขวัญชัย กาแก้ว และ สุปรียา หวังพัชรพล. (2546). เรื่องเต็มการประชุมทางวิชาการของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ครั้งที่ 41: สาขาวิศวกรรมศาสตร์และสาขาสถาปัตยกรรมศาสตร์. พัฒนาการรูปแบบงานสถาปัตยกรรมในช่วง 60 ปี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตบางเขน. (น. 639 หน้า). กรุงเทพฯ: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย.
  169. หนังสือ “5 ทศวรรษ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์” พระกรุณาธิคุณของสมเด็จพระสังฆราชฯ ที่มีต่อคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เรียกดูวันที่ 2019-10-12
  170. พาสินี สุนากร, วันดี พินิจวรสิน, และ จรูญพันธ์ บรรจงภาค. (2549). โครงการอนุรักษ์อาคารและสภาพแวดล้อม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ครั้งที่ 1. อนุรักษ์อาคารเกษตรกลางบางเขน พ.ศ. 2549 เก็บถาวร 2022-10-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. (น. 80 หน้า). กรุงเทพฯ
  171. คำสั่งคณะวิทยาศาสตร์ ที่ 98/2551 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการจัดงานเปิดป้ายชื่อ อาคารทวี ญาณสุคนธ์. (2551). ม.ป.ท: . เรียกดูวันที่ 2020-01-02
  172. ที่ระลึกพิธีเปิด อาคารทวี ญาณสุคนธ์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วันจันทร์ที่ 9 มีนาคม 2552. (2552). ม.ป.ท: . เก็บถาวร 2019-03-08 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เรียกดูวันที่ 2020-03-19
  173. หนังสือที่ระลึกพิธีเปิดป้าย อาคารสุขประชา วาจานนท์ 5 กรกฎาคม 2554. (2554). ม.ป.ท: . เรียกดูวันที่ 2020-03-10
  174. ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ งานเปิดป้ายอาคารวิฑูรย์ หงษ์สุมาลย์ เรียกดูวันที่ 2019-11-05
  175. พิพิธภัณฑ์สัตววิทยา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์"Zoological Museum Kasetsart University เก็บถาวร 2019-04-06 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เรียกดูวันที่ 2019-10-31
  176. Botanical Museum History เรียกดูวันที่ 2019-10-31
  177. พิพิธภัณฑ์องค์ความรู้ทางพฤกษศาสตร์ Batanical Museum งานวิจัยด้านพืช เรียกดูวันที่ 2019-10-31
  178. สำนักความหลากหลายทางชีวภาพ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สถานที่รวบรวมข้อมูลด้านอนุกรมวิธาน : พิพิธภัณฑ์องค์ความรู้ทางพฤกษศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เรียกดูวันที่ 2019-10-31
  179. ภาควิชาพฤกษศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ประวัติภาควิชา เรียกดูวันที่ 2019-10-31
  180. ห้องสมุดคณะวิทยาศาสตร์ ระบบการให้บริการ เรียกดูวันที่ 2019-11-25
  181. วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า ห้องสมุด-ห้องสมุดคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เก็บถาวร 2020-03-31 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เรียกดูวันที่ 2019-11-25
  182. สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ประวัติความเป็นมา-พ.ศ. 2494 เรียกดูวันที่ 2019-11-25
  183. ห้องสมุดภาควิชาเคมี ระบบการให้บริการ เรียกดูวันที่ 2019-11-26
  184. ห้องสมุดภาควิชาเคมี ประวัติห้องสมุดภาควิชาเคมี เก็บถาวร 2020-08-07 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เรียกดูวันที่ 2019-11-25
  185. คลังความรู้ดิจิทัล มก. วารสารวิทยาศาสตร์ มก. เรียกดูวันที่ 2019-11-08
  186. คลังความรู้ดิจิทัล มก. วารสารวิทยาศาสตร์ มก.-เกี่ยวกับเรา เรียกดูวันที่ 2019-11-08
  187. คลังความรู้ดิจิทัล มก. ชั้นวารสารอิเล็กทรอนิกส์-วารสารวิทยาศาสตร์ มก. เรียกดูวันที่ 2019-11-08
  188. คลังความรู้ดิจิทัล มก. วารสารอิเล็กทรอนิกส์ เรียกดูวันที่ 2019-11-08
  189. Thai MOOC. ความเป็นมา Thai MOOC เรียกดูวันที่ 2020-04-14
  190. Thai MOOC. Thai MOOC: การศึกษาแบบเปิดเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต เก็บถาวร 2020-10-31 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เรียกดูวันที่ 2020-04-14
  191. Thai MOOC. คอร์สทั้งหมด เก็บถาวร 2020-04-21 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เรียกดูวันที่ 2020-04-14
  192. สมาคมนิสิตเก่าวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ชมรมนิสิตเก่าคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เก็บถาวร 2019-07-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เรียกดูวันที่ 2019-07-05
  193. คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หนังสือ "ครึ่งศตวรรษ คณะวิทยาศาสตร์ เพื่อความเป็นเลิศ" เรียกดูวันที่ 2019-07-05
  194. ชมรมนิสิตเก่าคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ประกาศชมรมนิสิตเก่าคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เรียกดูวันที่ 2019-07-05
  195. ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 128 ตอนที่ 140 ง ประกาศนายทะเบียนสมาคม ประจำกรุงเทพมหานคร เรื่อง จดทะเบียนจัดตั้งสมาคม “สมาคมนิสิตเก่าวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์” เรียกดูวันที่ 2019-07-05
  196. ประกาศนายทะเบียนสมาคม ประกาศจัดตั้งสมาคม เรียกดูวันที่ 2019-07-05
  197. จดหมายข่าว สมาคมนิสิตเก่าวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จดหมายข่าว ฉบับที่ ๑ เดือนเมษายน ๒๕๕๔ เรียกดูวันที่ 2019-07-09
  198. จดหมายข่าว สมาคมนิสิตเก่าวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จดหมายข่าว เรียกดูวันที่ 2019-07-09
  199. คณะวิทยาศาสตร์ มก. รางวัลคณะวิทยาศาสตร์ กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เรียกดูวันที่ 2019-07-26
  200. สมาคมนิสิตเก่าวิทยาศาสตร์ มก. งานคืนสู่เหย้า 52 ปี คณะวิทยาศาสตร์ มก. เก็บถาวร 2019-07-26 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เรียกดูวันที่ 2019-07-26
  201. Race Thai Run โครงการวิ่งการกุศล “RUN for FUND : Sci KU RUN 2019” เรียกดูวันที่ 2019-07-09
  202. Race Thai Run โครงการวิ่งการกุศล “Sci KU Run Fun and Explore : Sci KU Run 2020” เรียกดูวันที่ 2020-03-22
  203. สมาคมนิสิตเก่าวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โครงการ “การแข่งขันโบว์ลิงการกุศล โอกาสครบรอบ 50 ปี คณะวิทยาศาสตร์ มก. ชิงถ้วยเกียรติยศ ฯพณฯ นายอำพล เสนาณรงค์ องคมนตรี” เก็บถาวร 2019-07-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เรียกดูวันที่ 2019-07-05
  204. คณะวิทยาศาสตร์ มก. ร่วมกับ สมาคมนิสิตเก่าวิทยาศาสตร์ มก. โปสเตอร์ประชาสัมพันธ์: การแข่งขันโบว์ลิงการกุศล ชิงถ้วยรางวัลเกียรติยศ ฯพณฯ นายอำพล เสนาณรงค์ องคมนตรี เรียกดูวันที่ 2019-07-26
  205. เทพกร บวรศิลป์. บ้านคนรักสุนทราภรณ์ เพลง วิทยาศาสตร์-อักษรศาสตร์ เรียกดูวันที่ 2019-06-28
  206. สมศักดิ์ วิราพร และ ชวรีย์ ยาวุฒิ. (2558). 96 ปี ศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร เก็บถาวร 2019-12-22 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. กรุงเทพฯ: สมาคมนิสิตเก่ามหาวิทยาเกษตรศาสตร์ ในพระบรมราชูปถัมภ์.
  207. มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์" เพลงมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ - เพลง “วิทยาศาสตร์-อักษรศาสตร์” เก็บถาวร 2021-05-16 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เรียกดูวันที่ 2019-07-09
  208. มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์" รวมเพลงมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (VCD KARAOKE) เพลง “วิทยาศาสตร์-อักษรศาสตร์” และ “วิทยาศาสตร์ปณิธาน” เรียกดูวันที่ 2019-07-09
  209. ชวรีย์ ยาวุฒิ. (2552). 90 ปี ศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร. บอกเล่าไว้กันลืม พระคุณของ ศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร ที่มีต่อมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ด้านเพลง. (น. 135 หน้า). กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. เรียกดูวันที่ 2020-01-12
  210. หนังสือ "5 ทศวรรษ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์" เพลงประจำคณะ “วิทยาศาสตร์ปณิธาน” เรียกดูวันที่ 2019-06-28
  211. https://www.sci.ku.ac.th/i-kustars/2019/04/03/callforpaper.html เก็บถาวร 2019-07-03 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน "โครงการประชุมวิชาการนานาชาติ I-KUSTARS"
  212. คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หนังสือ "ครึ่งศตวรรษ คณะวิทยาศาสตร์ เพื่อความเป็นเลิศ" เรียกดูวันที่ 2019-08-22
  213. Nature event directory The 8th International Kasetsart University Science and Technology Annual Research Symposium (I-KUSTARS) เรียกดูวันที่ 2019-08-23
  214. I-KUSTARS Past Plenary Speaker เก็บถาวร 2019-08-23 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เรียกดูวันที่ 2019-08-23
  215. สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (NRCT) I-KUSTARS 2016. ข่าว. เรียกดูวันที่ 2019-08-23
  216. หนังสือ “52 ปี คณะวิทยาศาสตร์ มก.” โครงการสร้างแรงบันดาลใจโดยนักวิทยาศาสตร์ผู้ได้รับรางวัลโนเบล ณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เรียกดูวันที่ 2019-10-12
  217. มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โครงการสร้างแรงบันดาลใจจากนักวิทยาศาสตร์ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์และเคมี Professor Brian Paul Schmidt และ Professor Ei-ichi Negishi เรียกดูวันที่ 2019-10-29
  218. Kasetsart University Invitation to participate in events with the Nobel Laureates เรียกดูวันที่ 2019-10-29
  219. คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ขออนุมัติจัดโครงการประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 42 (วทท.42) เรียกดูวันที่ 2019-10-29
  220. คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ขอเชิญร่วมแสดงนิทรรศการในการประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 42 เก็บถาวร 2019-10-29 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เรียกดูวันที่ 2019-10-29
  221. มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ปาฐกถาเกียรติยศโดยนักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบล สาขาเคมี เรียกดูวันที่ 2019-10-29
  222. คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ การสร้างแรงบันดาลใจจากนักวิทยาศาสตร์ผู้ได้รับรางวัลโนเบล เพื่อการเป็นผู้ประกอบการ Professor Dr. Dan Schectman เก็บถาวร 2019-10-29 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เรียกดูวันที่ 2019-10-29
  223. Dan Shechtman [https://www.sci.ku.ac.th/web2018/wp-content/uploads/2016/11/cv.pdf CV Professor Dr. Dan Shechtman, Nobel Laureate in Chemistry 2011] เรียกดูวันที่ 2019-10-29
  224. Dan Shechtman Abstract : Technological Entrepreneurship - Key to World Peace and Prosperity เรียกดูวันที่ 2019-10-29
  225. Dan Shechtman Why Should We Teach Technological Entrepreneurship in Universities เรียกดูวันที่ 2019-10-29
  226. คณะวิทยาศาสตร์ มก. การประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 42 เก็บถาวร 2019-10-29 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เรียกดูวันที่ 2019-10-29
  227. The Science Society of Thailand under the Patronage of His Majesty the King The 42nd Congress on Science and Technology of Thailand (STT 42) เรียกดูวันที่ 2019-10-29
  228. Faculty of Science, Kasetsart University. Poster : Chem-KU Colloquium 2018 เรียกดูวันที่ 2019-11-14
  229. Faculty of Science, Kasetsart University. Chem-KU Colloquium 2018: Translation From Lab to Startup Company Dialogue with Nobel Laureate เก็บถาวร 2020-03-26 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เรียกดูวันที่ 2020-03-26
  230. Dept. of Chemistry, Faculty of Science, Kasetsart University. Chem-KU Colloquium 2018 เรียกดูวันที่ 2020-06-06
  231. หนังสือที่ระลึก “ครบรอบ 25 ปี คณะวิทยาศาสตร์ มก.”
  232. หนังสือที่ระลึก “30 ปี คณะวิทยาศาสตร์ มก.”
  233. สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.). สาขา พสวท. โครงการ พสวท.-ศูนย์โครงการ พสวท. ปัจจุบัน เก็บถาวร 2019-11-14 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เรียกดูวันที่ 2019-11-14
  234. คณะวิทยาศาสตร์ มก. การรับสมัครคัดเลือกนักเรียนเข้าศึกษาต่อระดับปริญญาตรีในโครงการ พสวท. คณะวิทยาศาสตร์ มก. ประจำปี 2561 เก็บถาวร 2020-10-23 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เรียกดูวันที่ 2019-11-14
  235. คณะวิทยาศาสตร์ มก. โครงการ พสวท. เก็บถาวร 2020-08-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เรียกดูวันที่ 2019-11-14
  236. สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.). สาขา พสวท. สาขาวิชาระดับปริญญาตรีที่อนุญาตให้ผู้รับทุน พสวท. ศึกษาภายในประเทศ เก็บถาวร 2023-06-20 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เรียกดูวันที่ 2019-11-14
  237. สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.). สาขา พสวท. หลักสูตรระดับบัณฑิตศึกษาที่อนุญาตให้ผู้รับทุน พสวท. ศึกษาภายในประเทศ เก็บถาวร 2023-06-20 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เรียกดูวันที่ 2019-11-14
  238. สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.). สาขา พสวท. แผนการศึกษาและสาขาวิชาที่อนุญาต เก็บถาวร 2019-12-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เรียกดูวันที่ 2019-11-14
  239. คณะวิทยาศาสตร์ มก. การคัดเลือกนิสิตเข้ารับทุนในโครงการ พสวท. (ทดแทน) ระดับปริญญาตรี ประจำปีการศึกษา 2561 เรียกดูวันที่ 2019-11-14
  240. สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ การแข่งขันเคมีโอลิมปิกระหว่างประเทศ ครั้งที่ 31 พ.ศ. 2542 เรียกดูวันที่ 2019-07-08
  241. สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (ONEC). "ภาพรวมการแข่งขันโอลิมปิกวิชาการ หัวข้อที่ 2 วิชาเคมี" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2019-07-08. สืบค้นเมื่อ 2019-07-08.
  242. มติชนออนไลน์ Back to the IChO : เจาะเวลาหา ‘เคมีโอลิมปิก’ เรียกดูวะนที่ 2019-10-22
  243. ข่าวออนไลน์ RYT9.COM กว่าจะมาเป็นข้อสอบคอมพิวเตอร์โอลิมปิกระดับโลก เรียกดูวันที่ 2019-07-09
  244. สสวท., ส่วนประชาสัมพันธ์ สสวท. กว่าจะมาเป็นข้อสอบคอมพิวเตอร์โอลิมปิกระดับโลก เรียกดูวันที่ 2019-07-09
  245. กระทรวงศึกษาธิการ ไทยพร้อมเป็นเจ้าภาพจัดแข่งขันคอมพิวเตอร์โอลิมปิก ครั้งที่ 23 เรียกดูวันที่ 2019-07-09
  246. Mahidol Physics Educations Centre Forum (mPEC Forum) การแข่งขันฟิสิกส์โอลิมปิกระดับเอเชีย ครั้งที่ 10 ที่กรุงเทพมหานคร - 10th APho : รอยยิ้มสำหรับ 1 ปี แห่งความพยายาม เก็บถาวร 2020-08-13 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เรียกดูวันที่ 2019-07-09
  247. Sanook News ไทยเตรียมเป็นเจ้าภาพจัดแข่งขันฟิสิกส์โอลิมปิกระดับทวีปเอเชียครั้งที่ 10 เรียกดูวันที่ 2019-07-09
  248. Manager Online (MGR online) กระตุ้นเด็กสนใจวิทย์ ไทยเตรียมเป็นเจ้าภาพ “ฟิสิกส์โอลิมปิก ครั้งที่ 10” ดึง 15 ชาติเอเชียร่วม เรียกดูวันที่ 2019-07-09
  249. "THAILAND AND IChO - HISTORY". The International Chemistry Olympiad 2017 (IChO 2017). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-12-05. สืบค้นเมื่อ 27 November 2020.
  250. Kanda Nivesanond. "Opening Ceremony Program-International Chemistry Olympiad 31st". Web.archive.org. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2000-09-16. สืบค้นเมื่อ 2019-11-27.{{cite web}}: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์)
  251. สถาบันนวัตกรรมการเรียนรู้ ม.มหิดล. "ดร. ภิญโญ พานิชพันธ์-ประวัติการทำงานด้านอื่น ๆ ทางสังคมและระดับประเทศ". ม.มหิดล. สืบค้นเมื่อ 2019-11-27.
  252. สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (ONEC). "ภาพรวมการแข่งขันโอลิมปิกวิชาการ หัวข้อที่ 2 วิชาเคมี" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2019-07-08. สืบค้นเมื่อ 2019-11-27.
  253. คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ศูนย์ สอวน. มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (ศูนย์ สอวน. วท.มก.) เก็บถาวร 2019-07-09 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เรียกดูวันที่ 2019-07-09
  254. มูลนิธิส่งเสริมโอลิมปิกวิชาการ และพัฒนามาตรฐานวิทยาศาสตร์ศึกษา ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ (สอวน.) ค่าย สอวน. เก็บถาวร 2020-01-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เรียกดูวันที่ 2019-07-09
  255. Kanda Nivesanond. "International Chemistry Olympiad 31st". Web.archive.org. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2000-08-20. สืบค้นเมื่อ 2018-04-28.{{cite web}}: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์)
  256. Kasetsart University. "Asian Physics Olympiad 10th". Kasetsart University. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-06-18. สืบค้นเมื่อ 2019-06-19.
  257. "TBO19 : การแข่งขันชีววิทยาโอลิมปิคระดับชาติ ครั้งที่ 19 : มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์". Kasetsart University. สืบค้นเมื่อ 2022-05-29.
  258. "Thailand Chemistry Olympiad 11th". Kasetsart University. สืบค้นเมื่อ 2019-06-19.
  259. "KU Picture : Thailand Chemistry Olympiad 11th". Kasetsart University. สืบค้นเมื่อ 2019-06-19.
  260. "The 17 th Thailand Mathematical Olympiad". มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ - โรงเรียนโยธินบูรณะ. สืบค้นเมื่อ 2019-06-19.
  261. Puum Kamkling. (1964). ประเพณีต้อนรับน้องใหม่. , (), 154-157.
  262. https://www.camphub.in.th/zygotecamp-9/. "ค่ายสนุกคิดกับวิทยาศาสตร์ ครั้งที่ 9 (Zygote Camp Part IX)”
  263. http://www.thailandexhibition.com/PR-News/3787. "ค่ายสนุกคิดกับวิทยาศาสตร์ คณะวิทย์ฯ ม.เกษตร”
  264. คณะวิทยาศาสตร์ มก. โครงการมหาวิทยาลัยเด็ก @SCIKU เรียกดูวันที่ 2020-02-17
  265. "การแข่งขันตอบปัญหาเคมีระดับ มัธยมศึกษาตอนปลาย Chemtest Kasetsart University 40TH". CAMPHUB. สืบค้นเมื่อ 13 February 2021.
  266. "Earth Sciences Test การแข่งขันตอบปัญหาวิทยาศาสตร์พื้นพิภพ". CAMPHUB. สืบค้นเมื่อ 13 February 2021.
  267. หนังสือ “52 ปี คณะวิทยาศาสตร์ มก.” โล่พระราชทานการแข่งขันตอบปัญหาทางวิทยาศาสตร์ เรียกดูวันที่ 2019-10-12
  268. คณะวิทยาศาสตร์ มก. รางวัลคณะวิทยาศาสตร์ กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เรียกดูวันที่ 2020-01-05
  269. คณะวิทยาศาสตร์ มก. ขอเชิญร่วมงานวันสถาปนาคณะวิทยาศาสตร์ มก. ครบรอบ 53 ปี[ลิงก์เสีย] กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เรียกดูวันที่ 2020-01-05
  270. Atom Games 28th หลักการและเหตุผล เก็บถาวร 2022-01-16 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เรียกดูวันที่ 2019-06-05
  271. อะตอมเกมส์ ครั้งที่ 21 (ศรีนครินทร์เกมส์). ประวัติความเป็นมา. เรียกดูวันที่ 2019-07-30
  272. GLUNIS กีฬาประเพณีคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เก็บถาวร 2020-10-20 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เรียกดูวันที่ 2015-09-16
  273. หนังสือที่ระลึก “ครบรอบ 25 ปี คณะวิทยาศาสตร์ มก.”
  274. มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. (2512). มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พิธีพระราชทานปริญญาบัตร: วันพฤหัสบดีที่ 10 กรกฎาคม 2512 เก็บถาวร 2021-06-13 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.
  275. หนังสือ "5 ทศวรรษ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์" ศิษย์เก่าคณะวิทยาศาสตร์และอักษรศาสตร์ (วอ.) รุ่นที่ 1 เรียกดูวันที่ 2019-10-15
  276. มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. (2513). มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พิธีพระราชทานปริญญาบัตร: วันพฤหัสบดีที่ 16 กรกฎาคม 2513 เก็บถาวร 2019-12-29 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.
  277. หนังสือที่ระลึก “ครบรอบ 25 ปี คณะวิทยาศาสตร์ มก.”
  278. หนังสือที่ระลึก “30 ปี คณะวิทยาศาสตร์ มก.”
  279. มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. (2512). มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พิธีพระราชทานปริญญาบัตร: วันพฤหัสบดีที่ 10 กรกฎาคม 2512 เก็บถาวร 2021-06-13 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.
  280. อรุณ จันทนโอ. (2556). เกษตรกลาง-เกษตรศาสตร์. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คณะเกษตร ภาควิชาโรคพืช.
  281. มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พิธีพระราชทานปริญญาบัตร ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ณ อาคารใหม่ สวนอัมพร เก็บถาวร 2017-07-23 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เรียกดูวันที่ 2013-02-21
  282. มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พิธีพระราชทานปริญญาบัตร แก่บัณฑิตมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เก็บถาวร 2017-07-22 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เรียกดูวันที่ 2013-02-21
  283. อรุณ จันทนโอ. (2556). เกษตรกลาง-เกษตรศาสตร์. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คณะเกษตร ภาควิชาโรคพืช.
  284. มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พิธีพระราชทานปริญญาบัตร แก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เรียกดูวันที่ 2013-02-21
  285. มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ประจำปีการศึกษา ๒๕๔๔ เรียกดูวันที่ 2013-02-21
  286. กาลานุกรม. บางเขน. สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ทรงเข้าศึกษาสาขาวิชาเอกเคมี ในคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. เรียกดูวันที่ 2019-08-08
  287. หนังสือ "5 ทศวรรษ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์" ยุคที่ 2 คณะวิทยาศาสตร์และอักษรศาสตร์ (พ.ศ. 2509 – พ.ศ. 2523) เรียกดูวันที่ 2019-06-28
  288. เกษตรศาสตร์ปราดเปรื่อง สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี เรียกดูวันที่ 2019-08-06
  289. ราชกิจจานุเบกษา ประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง ออกใช้เหรียญกษาปณ์ที่ระลึกในโอกาสที่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ ทรงสำเร็จการศึกษา ได้รับปริญญาวิทยาศาสตรบัณฑิต จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เรียกดูวันที่ 2019-05-31
  290. มูลนิธิจุฬาภรณ์. ทั้งชีวิต อุทิศเพื่อราษฎร์ เก็บถาวร 2019-08-09 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. พระประวัติ. เรียกดูวันที่ 2019-08-09
  291. ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 124 ตอนที่ 16 ก ลว. 19 มีนาคม 2550 พระราชกฤษฎีกา ว่าด้วยปริญญาในสาขาวิชา อักษรย่อสำหรับสาขาวิชา และครุยวิทยฐานะ ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พ.ศ. 2550 เก็บถาวร 2019-10-16 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เรียกดูวันที่ 2019-10-16
  292. ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 117 ตอนที่ 36 ก ลว. 26 เมษายน 2543 พระราชกฤษฎีกา ว่าด้วยปริญญาในสาขาวิชา อักษรย่อสำหรับสาขาวิชา และครุยวิทยฐานะของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พ.ศ. 2543 เก็บถาวร 2019-10-23 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เรียกดูวันที่ 2019-10-16
  293. หอประวัติ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ “พิธีพระราชทานปริญญาบัตร” เรียกดูวันที่ 2019-10-15
  294. ประกาศมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เรื่อง คุณสมบัติผู้มีสิทธิ์เข้ารับพระราชทานปริญญาบัตร และข้อปฏิบัติของผู้ที่จะเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตร เรียกดูวันที่ 2019-10-17
  295. คณะอนุกรรมการฝ่ายฝึกซ้อมและจัดขบวน พิธีพระราชทานปริญญาบัตร ประจำปี พ.ศ. 2556 คู่มือปฏิบัติงานพิธีพระราชทานปริญญาบัตร ประจำปี พ.ศ. 2556 เรียกดูวันที่ 2019-10-17
  296. ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 124 ตอนที่ 16 ก ลว. 19 มีนาคม 2550 พระราชกฤษฎีกา ว่าด้วยปริญญาในสาขาวิชา อักษรย่อสำหรับสาขาวิชา และครุยวิทยฐานะ ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พ.ศ. 2550 เก็บถาวร 2019-10-16 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เรียกดูวันที่ 2019-10-16
  297. ประกาศมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เรื่อง ชื่อปริญญาในสาขาวิชา อักษรย่อสำหรับสาขาวิชา ครุยวิทยฐานะ และเข็มวิทยฐานะของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พ.ศ. ๒๕๕๙ ประกาศเมื่อวันที่ ๑๐ พฤษภาคม ๒๕๖๖ ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ๑๓ มิ.ย. ๒๕๕๙ เล่ม ๑๓๓ ตอนพิเศษ ๑๓๔ ง หน้า ๖ สืบค้นเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2566
  298. "แผนที่บริเวณสถานีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์". บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน). สืบค้นเมื่อ 2020-08-27.
  299. https://travel.mthai.com/blog/201241.html เก็บถาวร 2020-10-21 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน สายรถโดยสารประจำทาง ที่ผ่านมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ถนนพหลโยธิน
  300. https://travel.mthai.com/blog/201241.html เก็บถาวร 2020-10-21 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน สายรถโดยสารประจำทาง ที่ผ่านมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ถนนวิภาวดีรังสิต
  301. https://travel.mthai.com/blog/201241.html เก็บถาวร 2020-10-21 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน สายรถโดยสารประจำทาง ที่ผ่านมหาวิทยาลัยเกษตรศาสร์ ถนนงามวงศ์วาน
  302. มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ อาคารที่จอดรถ เรียกดูวันที่ 2019-12-12
  303. https://www.ku.ac.th/kunews/news52/7/bus_16jul09.pdf. ผังเส้นทางเดินทางเดินรถสวัสดิการภายใน มก. กองยานพาหนะอาคารและสถานที่. 16 กรกฎาคม 2552
  304. https://ku.ac.th/web2012/index.php?c=adms&m=selcon_th&time=20120718002827. เส้นทางบริการรถในมหาวิทยาลัย .กองยานพาหนะอาคารและสถานที่. 1 ธันวาคม 2557
  305. Grandprix Online โมไบค์นำร่อง ม.เกษตร ก่อนให้บริการในกรุงเทพฯ เรียกดูวันที่ 2019-11-13
  306. Kasetkaoklai เปิดตัว “โมไบค์” จักรยานสาธารณะอัจฉริยะ ครั้งแรกของไทย นำร่อง “ม.เกษตร” เรียกดูวันที่ 2019-11-13
  307. Blognone บริการแชร์จักรยาน Mobike ในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เรียกดูวันที่ 2017-11-06
  308. สมศักดิ์ วิราพร, บรรณาธิการ. (2537). 50 ปี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์: เหลียวดูหลัง แลไปข้างหน้า. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.
  309. สุชาดา ศรีเพ็ญ. (2536). ความทรงจำที่ยากจักเลือนลืม. วารสารไทย, 13(51), 18-20.
  310. หนังสือ ”5 ทศวรรษ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์” พระกรุณาธิคุณของสมเด็จพระสังฆราชฯ ที่มีต่อคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เรียกดูวันที่ 2019-10-12
  311. สำนักบริการคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. พระอัจฉริยภาพด้านภาษาฝรั่งเศส. เรียกดูวันที่ 2019-08-05
  312. หนังสือ "5 ทศวรรษ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์" ความเป็นมาฯ ยุคที่ 2 คณะวิทยาศาสตร์และอักษรศาสตร์ (พ.ศ. 2509 – พ.ศ. 2523) เรียกดูวันที่ 2019-06-28
  313. ประชาสัมพันธ์ มก. สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี เสด็จมาบรรยายพิเศษ เรียกดูวันที่ 2019-08-05
  314. กาลานุกรม. บางเขน. สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ทรงเข้าศึกษาสาขาวิชาเอกเคมี ในคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. เรียกดูวันที่ 2019-08-08
  315. หนังสือ "5 ทศวรรษ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์" ยุคที่ 2 คณะวิทยาศาสตร์และอักษรศาสตร์ (พ.ศ. 2509 – พ.ศ. 2523) เรียกดูวันที่ 2019-06-28
  316. เกษตรศาสตร์ปราดเปรื่อง สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี เรียกดูวันที่ 2019-08-06
  317. ราชกิจจานุเบกษา ประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง ออกใช้เหรียญกษาปณ์ที่ระลึกในโอกาสที่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ ทรงสำเร็จการศึกษา ได้รับปริญญาวิทยาศาสตรบัณฑิต จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เรียกดูวันที่ 2019-05-31
  318. มูลนิธิจุฬาภรณ์. ทั้งชีวิต อุทิศเพื่อราษฎร์ เก็บถาวร 2019-08-09 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. พระประวัติ. เรียกดูวันที่ 2019-08-09
  319. หนังสือ "5 ทศวรรษ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์" พระกรุณาธิคุณของสมเด็จพระสังฆราชฯ ที่มีต่อคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เรียกดูวันที่ 2019-10-12
  320. คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พิธีทำบุญทอดผ้าป่าเพื่อการศึกษา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เก็บถาวร 2019-10-12 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เรียกดูวันที่ 2019-10-12
  321. หนังสือ “52 ปี คณะวิทยาศาสตร์ มก.” พระกรุณาธิคุณของ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (อัมฺพร อมฺพโร) ที่มีต่อคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เรียกดูวันที่ 2019-10-12
  322. Chulabhorn Research Institute. 1986: Einstein Gold Medal of UNESCO เก็บถาวร 2020-01-30 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เรียกดูวันที่ 2014-10-27 ทูลกระหม่อมในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (น. 198 หน้า) กรุงเทพฯ: สมาคมนิสิตเก่ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในพระบรมราชูปถัมภ์
  323. เกษตรศาสตร์ปราดเปรื่อง. เกษตรศาสตร์ปราดเปรื่อง รุ่นที่ 6 เรียกดูวันที่ 2020-01-14
  324. รางวัลคณะวิทยาศาสตร์ 2553 “ศิษย์เก่าผู้ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานระดับสูง”
  325. ประวัติผู้ทรงคุณวุฒิ ดร.จีราวรรณ บุญเพิ่ม เก็บถาวร 2018-12-22 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เรียกดูวันที่ 2019-09-05
  326. กรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จีราวรรณ บุญเพิ่ม เก็บถาวร 2020-02-20 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เรียกดูวันที่ 2019-09-11
  327. กรรมการสภาสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ จีราวรรณ บุญเพิ่ม เก็บถาวร 2019-12-19 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เรียกดูวันที่ 2019-12-19
  328. สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน). นายสมชาย เทียมบุญประเสริฐ เก็บถาวร 2020-01-14 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เรียกดูวันที่ 2020-01-14
  329. องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ. คณะกรรมการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ. สมชาย เทียมบุญประเสริฐ เก็บถาวร 2020-01-14 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เรียกดูวันที่ 2020-01-14
  330. Somchai Tiamboonprasert. Biomass Resource Assessment for ASEAN+6 Countries เรียกดูวันที่ 2020-02-20
  331. MOST. Executive Directory เก็บถาวร 2020-10-27 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เรียกดูวันที่ 2020-02-20
  332. สมาคมส่งเสริมความปลอดภัยและอนามัยในการทำงาน (ประเทศไทย). เข้าร่วมแสดงความยินดีผู้บริหารกระทรวงแรงงาน เก็บถาวร 2020-10-20 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. เรียกดูวันที่ 2019-12-16
  333. รางวัลคณะวิทยาศาสตร์ 2559 “ศิษย์เก่าผู้ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานระดับสูง”
  334. สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร - นางผุสดี ตามไท เรียกดูวันที่ 2020-03-02
  335. สถาบันพระปกเกล้า. สตรีกับการเมือง ความเป็นจริง พื้นที่ทางการเมือง และการขับเคลื่อน เรียกดูวันที่ 2020-03-02
  336. "อว.แต่งตั้งรองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ - นางสาวนีระนารถ แจ้งทอง". มติชน - เทคโนโลยีชาวบ้าน. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-05-13. สืบค้นเมื่อ 9 March 2021.
  337. "แต่งตั้งรองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ". THIN SIAM. สืบค้นเมื่อ 9 March 2021.
  338. "คณะผู้บริหารกรมวิทยาศาสตร์บริการ". กรมวิทยาศาสตร์บริการ. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-05-13. สืบค้นเมื่อ 9 March 2021.
  339. "รางวัลคณะวิทยาศาสตร์ ประจำปี 2564 - รางวัลนิสิตเก่าดีเด่น" (PDF). คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2021-06-20. สืบค้นเมื่อ 9 March 2021.
  340. รางวัลคณะวิทยาศาสตร์ 2553 “ศิษย์เก่าผู้ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานระดับสูง”
  341. http://thaibizrussia.com/th/situation/13641/130/ เก็บถาวร 2019-09-06 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. โลกกว้างไกล สไตล์ยูนนาน : "เก็บตกงานเกษตรแฟร์คุนหมิง ครั้งที่ 6"
  342. องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ. คณะกรรมการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ. รองศาสตราจารย์ ดร. นภาวรรณ นพรัตนราภรณ เก็บถาวร 2020-01-14 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เรียกดูวันที่ 2020-01-14
  343. รางวัลคณะวิทยาศาสตร์ 2560 “ศิษย์เก่าผู้ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานระดับสูง”
  344. สำนักข่าว ThaiPR.net. (2552). ดร.ก่องกานดา ชยามฤต: ผู้อำนวยการองค์การสวนพฤกษศาสตร์ คนใหม่ เรียกดูวันที่ 2020-01-05
  345. [https://docs.google.com/document/d/1xZf5ssD1AABpy0SCGQMLElBuyTEPvK4eB26nn3T-mr0/edit รางวัลคณะวิทยาศาสตร์ 2563 “ศิษย์เก่าผู้ประสบความสำเร็จ”]
  346. มูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์. โครงการรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น. รายชื่อและผลงานย่อของนักวิทยาศาสตร์ดีเด่นทั้งหมด (พ.ศ. 2525-2562) เก็บถาวร 2020-01-11 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เรียกดูวันที่ 2020-01-10
  347. มูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์. โครงการรางวัลนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่. รายช่อนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ทั้งหมด (พ.ศ. 2534-2562) เก็บถาวร 2020-01-11 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เรียกดูวันที่ 2020-01-10
  348. มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. ข่าวเกษตรศาสตร์. รางวัลบุคลากรดีเด่นด้านการวิจัย เรียกดูวันที่ 2019-01-10
  349. คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. รางวัลและความภูมิใจ. ขอแสดงความยินดีกับ ศ.ดร.สาวิตรี ลิ่มทอง ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มก. ที่ได้รับรางวัลทุนเมธีวิจัยอาวุโส สกว. ประจำปี พ.ศ. 2560 เรียกดูวันที่ 2019-01-10
  350. คณะวิทยาศาสตร์ มก. ขอแสดงความยินดีกับ รองศาสตราจารย์ ดร.นภาวรรณ นพรัตนราภรณ์ ได้รับพระราชทานโล่รางวัล “นักวิทยาศาสตร์อาวุโส ประจำปี 2563”. เรียกดูวันที่ 2020-10-05
  351. สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. ขอแสดงความยินดีกับ รศ.ดร.นภาวรรณ นพรัตนราภรณ์ ได้รับพระราชทานโล่ รางวัล “นักวิทยาศาสตร์อาวุโส ประจำปี 2563”. เรียกดูวันที่ 2020-10-05
  352. [ม.ป.ท.]. (2554). นิทรรศการงานวิจัย บนเส้นทางงานวิจัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ปี 2554 งานเกษตรแฟร์ ประจำปี 2554. ศาสตราจารย์ ดร.จำรัส ลิ้มตระกูล ได้รับการเชิดชูเกียรติให้เป็นบุคคลดีเด่นของชาติ สาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำปี พ.ศ. 2553 จาก คณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี โดยเป็นผู้บุกเบิกการวิจัยด้านการออกแบบวัสดุที่มีโครงสร้างระดับนาโนเมตร เพื่อประยุกต์ใช้ในภาคอุตสาหกรรม และมีผลงานวิจัยที่เป็นประโยชน์ในเชิงอุตสาหกรรมและพาณิชย์. (น. ). [ม.ป.ท.]. เรียกดูวันที่ 2020-01-12
  353. มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. ศาสตราจารย์ ดร. จำรัส ลิ้มตระกูล เรียกดูวันที่ 2020-01-11
  354. หอจดหมายเหตุ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. ผู้ทำประโยชน์ฯ. ศาสตราจารย์อักษร ศรีเปล่ง เก็บถาวร 2021-11-26 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. ฐานข้อมูลบูรพาจารย์แห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. เรียกดูวันที่ 2020-03-20
  355. หอจดหมายเหตุ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. ผู้ทำประโยชน์ฯ. ศาสตราจารย์ นภา โล่ห์ทอง เก็บถาวร 2021-11-26 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. ฐานข้อมูลบูรพาจารย์แห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. เรียกดูวันที่ 2020-03-20
  356. คณะวิทยาศาสตร์ มก. รศ.ดร.ฉัตรชัย เงินแสงสรวย อาจารย์ประจำภาควิชาพฤกษศาสตร์ ได้รับรางวัลครูวิทยาศาสตร์ดีเด่น ประจำปี 2562 เรียกดูวันที่ 2020-03-20
  357. หนังสือ “5 ทศวรรษ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์” รางวัลเกียรติยศของบุคลากรและนิสิต เรียกดูวันที่ 2020-03-20
  358. หอประวัติ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. ศาสตราจารย์ ดร.สุมินทร์ สมุทคุปติ์. บูรพาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิ. เรียกดูวันที่ 2019-07-30
  359. หอจดหมายเหตุ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. ผู้ทำประโยชน์ฯ. ศาสตราจารย์ ดร.สุมินทร์ สมุทคุปติ์ เก็บถาวร 2019-07-31 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. ฐานข้อมูลบูรพาจารย์แห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. เรียกดูวันที่ 2019-07-30
  360. หนังสือ “5 ทศวรรษ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์” รางวัลเกียรติยศของบุคลากรและนิสิต เรียกดูวันที่ 2020-03-20
  361. KMUTT Digital Library. ข่าววิจัย/พัฒนา. ดอกเบญจมาศ พานักวิทย์คว้ารางวัลนักนิวเคลียร์ดีเด่น ประจำปี 2546 เรียกดูวันที่ 2020-03-20
  362. สมาคมนิวเคลียร์แห่งประเทศไทย. จดหมายข่าว. นักนิวเคลียร์ดีเด่น ปี 2552 เรียกดูวันที่ 2020-03-20
  363. สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. รางวัลนักวิทยาศาสตร์นิวเคลียร์ดีเด่น ประจำปี 2552 เรียกดูวันที่ 2020-03-20
  364. มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. สรุปผลงาน รางวัลเด่น มก. ประจำปี 2552 เรียกดูวันที่ 2020-03-20
  365. มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. ข่าวเกษตรศาสตร์. รางวัลบุคลากรดีเด่นด้านการวิจัย เรียกดูวันที่ 2020-03-20
  366. ชีววิทยาราชมงคล. "อรุณี วงศ์ปิยะสถิตย์" ปรับปรุงพันธุ์ด้วยรังสี รับรางวัล "นักนิวเคลียร์ดีเด่น" เก็บถาวร 2020-10-22 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เรียกดูวันที่ 2020-03-20
  367. MGR Online. "อรุณี วงศ์ปิยะสถิตย์" ปรับปรุงพันธุ์ด้วยรังสี รับรางวัล "นักนิวเคลียร์ดีเด่น" เรียกดูวันที่ 2020-03-20
  368. แผ่นดินทอง. ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร. นักวิจัย มก.คว้ารางวัลนักนิวเคลียร์ดีเด่น เก็บถาวร 2020-10-28 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เรียกดูวันที่ 2020-03-20
  369. คณะวิทยาศาสตร์ มก. คณะวิทยาศาสตร์ ขอแสดงความยินดีกับรางวัลนักวิจัยด้านวิทยาศาสตร์นิวเคลียร์ดีเด่น หรือ Young Nuclear Scientist Award เก็บถาวร 2020-03-20 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เรียกดูวันที่ 2020-03-20
  370. กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี. สทน. จัดประชุมนานาชาติด้านนิวเคลียร์ ชูผลงานเด่นด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม เก็บถาวร 2020-03-20 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เรียกดูวันที่ 2020-03-20
  371. สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ. รางวัล TWAS Prize for Young Scientists in Thailand. เรียกดูวันที่ 2020-01-24
  372. สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ. รายงานประจำปี 2561. เรียกดูวันที่ 2020-01-24
  373. สมาคมเทคโนโลยีชีวภาพแห่งประเทศไทย (Thai Society for Biotechnology; TSB). ผลการพิจารณารางวัลทะกุจิและผู้สมควรให้ปาฐกถาอายิโนะโมะโต๊ะ ประจำปี พ.ศ. 2563. เรียกดูวันที่ 2020-11-13
  374. คณะวิทยาศาสตร์ มก. ขอแสดงความยินดีกับ รศ.ดร. วรรณวิภา วงศ์แสงนาค ในโอกาสที่ได้รับรางวัลทะกุจิ ประเภทนักวิจัยดีเด่น ประจำปี พ.ศ. 2563. เรียกดูวันที่ 2020-11-13
  375. สภาคณบดีวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย. รายนามประธานสภาฯ เก็บถาวร 2020-02-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เรียกดูวันที่ 2020-02-04
  376. คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. ขอแสดงความยินดีกับ รศ. ดร. นภาวรรณ นพรัตนราภรณ์ ได้รับการสรรหาให้ดำรงตำแหน่งนายกสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เก็บถาวร 2020-02-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เรียกดูวันที่ 2020-02-04
  377. องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ. คณะกรรมการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ. รองศาสตราจารย์ ดร. นภาวรรณ นพรัตนราภรณ เก็บถาวร 2020-01-14 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เรียกดูวันที่ 2020-01-14
  378. สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์. คณะกรรมการบริหารสมาคม ปี 2561-2562 เรียกดูวันที่ 2020-02-04
  379. สมาคมพันธุศาสตร์แห่งประเทศไทย. อดีตนายกสมาคมพันธุศาสตร์แห่งประเทศไทย - ศาสตราจารย์ ดร. สุมินทร์ สมุทคุปติ์ เรียกดูวันที่ 2020-03-20
  380. สมาคมพันธุศาสตร์แห่งประเทศไทย. แนวทางการบริหารจัดการสมาคมฯ ปี พ.ศ. 2560 - 2562 เรียกดูวันที่ 2020-03-20
  381. สมาคมพันธุศาสตร์แห่งประเทศไทย. อดีตนายกสมาคมพันธุศาสตร์แห่งประเทศไทย - ศาสตราจารย์ ประดิษฐ์ พงศ์ทองคำ เก็บถาวร 2020-03-20 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เรียกดูวันที่ 2020-03-20
  382. สมาคมเคมีแห่งประเทศไทยในพระอุปถัมภ์ ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี. ทำเนียบนายกสมาคมเคมี เรียกดูวันที่ 2020-02-04
  383. สมาคมเคมีแห่งประเทศไทยในพระอุปถัมภ์ ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี. สมาคมเคมีแห่งประเทศไทยฯ ขอแสดงความยินดีกับบุคลากรที่ได้รับการคัดเลือกจาก IUPAC (International Union of Pure and Applied Chemistry) เป็นคณะกรรมการใน Division ต่าง ๆ ของ IUPAC เรียกดูวันที่ 2020-02-05
  384. ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. รายชื่อผู้ที่ได้รับเลือกให้เป็นกรรมการของ IUPAC สำหรับปี 2563 - 2564 เก็บถาวร 2020-02-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เรียกดูวันที่ 2020-02-05
  385. คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. ขอแสดงความยินดีกับ รศ. ดร.ลัดดา มีศุข เป็น Associate Member (AM) จาก IUPAC เก็บถาวร 2020-02-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เรียกดูวันที่ 2020-02-05
  386. สมาคมเคมีแห่งประเทศไทยในพระอุปถัมภ์ ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี. สมาคมเคมีแห่งประเทศไทยฯ ขอแสดงความยินดีกับบุคลากรที่ได้รับการคัดเลือกจาก IUPAC: International Union of Pure and Applied Chemistry เป็นคณะกรรมการใน Division ต่าง ๆ และ Committee ของ IUPAC เรียกดูวันที่ 2020-02-05
  387. ราชกิจจานุเบกษา, “ข่าวในพระราชสำนัก”[ลิงก์เสีย], เล่ม 133, ตอนที่ 39 ข, 30 ตุลาคม 2559, หน้า 44
  388. "ผู้ได้รับพระราชทานทุนมูลนิธิอานันทมหิดล แผนกเกษตรศาสตร์ ประจำปี 2564". sci.ku.ac.th. สืบค้นเมื่อ 24 Aug 2021.
  389. เกษตรก้าวไกล นักธรณีฯ มก. ร่วมสำรวจขั้วโลกใต้ พบหินแร่กว่า 200 ตัวอย่าง บงชี้สิ่งแวดล้อมโลก. เรียกดูวันที่ 2019-07-26
  390. กรุงเทพธุรกิจ. นักวิจัยไทยเก็บหินขั้วโลกใต้ 200 ก้อนบ่งชี้อนาคตโลก. เรียกดูวันที่ 2019-07-26
  391. ไทยรัฐออนไลน์ นักธรณีร่วมสำรวจขั้วโลกใต้เตรียมกลับไทย แนะทุกคนควรตระหนักภาวะโลกร้อน. เรียกดูวันที่ 2019-07-26
  392. ไทยรัฐออนไลน์ ‘ดร.ประหยัด’ เก็บหินแปรขั้วโลกใต้ ศึกษาเหตุการณ์ธรณีวิทยาในอดีต. เรียกดูวันที่ 2019-07-26
  393. บ้านเมือง. การศึกษา นักธรณีวิทยามก.สำรวจขั้วโลกใต้ -โลกร้อนกระทบ หมีขาว เพนกวิน. เรียกดูวันที่ 2019-07-26
  394. ไทยรัฐออนไลน์ คนดัง-บุคคลคุณภาพ ศิษย์เก่าไทยรัฐวิทยาดีเด่น 100 ปีชาตกาล "กำพล วัชรพล"-ดร.ประหยัด นันทศีล. เรียกดูวันที่ 2020-01-14
  395. กรุงเทพธุรกิจ ‘ผลึกเหลวอวกาศ’ วิจัยไทยร่วมนาซ่า. เรียกดูวันที่ 2019-11-04
  396. เดลินิวส์. ไอที-วิทยาการ. ไทยร่วมวิจัย ‘ลิคควิดคริสตัล’ ในอวกาศ. ฉบับวันพฤหัสบดี ที่ 19 กันยายน 2562
  397. ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มก. อาจารย์ภาควิชาฟิสิกส์ ม.เกษตรศาสตร์ ร่วมวิจัย Liquid crystal ในอวกาศ กับ NASA. เรียกดูวันที่ 2019-11-04
  398. ข่าวไทยพีบีเอส. นักวิจัย ม.เกษตรค้นพบระบบกำหนดเพศอิกัวน่า ครั้งแรกของโลก เรียกดูวันที่ 2020-10-01
  399. ห้องสมุดเพื่อเกษตรกรไทย (Thai Farmers’ Library). ทีมวิจัย ม.ก.โชว์ผลงานค้นพบครั้งแรกของโลก ระบบกำหนดเพศอิกัวน่า XX/XY คล้ายของมนุษย์ เรียกดูวันที่ 2020-10-01
  400. Species New to Science |Botany • 2020| Viola umphangensis (Violaceae) • A New Species from Thailand เรียกดูวันที่ 2020-05-29
  401. ห้องสมุดเพื่อเกษตรกรไทย (Thai Farmers’ Library). วาสุกรีอุ้มผาง พืชชนิดใหม่ของโลกโดยนักพฤกษศาสตร์ เกษตร[ลิงก์เสีย] เรียกดูวันที่ 2020-05-29
  402. Sulisa Nansai Prachaya Srisanga Trevor R. Hodkinson Chalermpol Suwanphakdee. 2020. Viola umphangensis (Violaceae), a new species from Thailand. NORDIC JOURNAL OF BOTANY. เรียกดูวันที่ 2020-05-29
  403. มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. ทีมนักวิจัยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ค้นพบจิ้งจกนิ้วยาวชนิดใหม่ของโลก เรียกดูวันที่ 2020-05-25
  404. Ampai N., Wood Jr. P.L., Stuart B.L., and Aowphol A. 2020. Integrative taxonomy of the rock-dwelling gecko Cnemaspis siamensis complex (Squamata, Gekkonidae) reveals a new species from Nakhon Si Thammarat Province, southern Thailand เรียกดูวันที่ 2020-05-25
  405. newtv. ทีมนักวิจัย ม.เกษตรฯ ค้นพบจิ้งจกนิ้วยาวชนิดใหม่ของโลก. เรียกดูวันที่ 2020-05-25
  406. Species New to Science. Blogspot. 22 April 2020. |Herpetology • 2020| Cnemaspis lineatubercularis • Integrative Taxonomy of the Rock-dwelling Gecko Cnemaspis siamensis complex (Squamata, Gekkonidae) reveals A New Species from Nakhon Si Thammarat Province, southern Thailand. เรียกดูวันที่ 2020-05-25
  407. NATIONAL GEOGRAPHIC ASIA. Thailand. นักวิจัยไทยค้นพบ จิ้งจกนิ้วยาว ชนิดใหม่ของโลก. เรียกดูวันที่ 2020-05-25
  408. Spring News. จิ้งจกนิ้วยาว ลานสกา ถูกค้นพบเป็น จิ้งจกนิ้วยาวชนิดใหม่ของโลก. เรียกดูวันที่ 2020-05-25
  409. มติชน. เทคโนโลยีชาวบ้าน. ทีมนักวิจัยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ค้นพบจิ้งจกนิ้วยาวชนิดใหม่ของโลก อยู่ที่ อำเภอลานสกา จังหวัดนครศรีธรรมราช. เรียกดูวันที่ 2020-05-25
  410. mokkalana. ทีมนักวิจัยไทย ค้นพบ “จิ้งจกนิ้วยาว” ชนิดใหม่ของโลก อยู่ที่ อ.ลานสกา จ.นครศรีธรรมราช. เรียกดูวันที่ 2020-05-25
  411. กรมป่าไม้. ทีมนักวิจัยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ค้นพบจิ้งจกนิ้วยาวชนิดใหม่ของโลก เก็บถาวร 2020-11-01 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. ส่วนวิจัยความหลากหลายทางชีวภาพด้านป่าไม้. เรียกดูวันที่ 2020-10-30
  412. มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. นิสิต ป.เอก ม.เกษตรศาสตร์ ค้นพบพยาธิตัวแบนกลุ่มโมโนจีนชนิดใหม่ของโลก ชื่อ kasetsartensis เรียกดูวันที่ 2020-05-25
  413. Saengpheng, C. and W. Purivirojkul. 2020. Pseudorhabdosynochus kasetsartensis n. sp. (Monogenea: Diplectanidae) from the cloudy grouper Epinephelus erythrurus (Valenciennes) (Perciformes: Serranidae) in the lower Gulf of Thailand เรียกดูวันที่ 2020-05-25
  414. Species New to Science. Blogspot. 22 April 2020. |Invertebrate • 2020| Pseudorhabdosynochus kasetsartensis (Monogenea: Diplectanidae) from the Cloudy Grouper Epinephelus erythrurus (Valenciennes) (Perciformes: Serranidae) in the lower Gulf of Thailand. เรียกดูวันที่ 2020-05-25
  415. มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. นิสิตปริญญาเอก มก. ค้นพบแมลงปอเสือปลายงอนทองผาภูมิ ชนิดใหม่ของโลก เรียกดูวันที่ 2020-04-15
  416. ไทยรัฐฉบับพิมพ์. แมลงปอเสือปลายงอนชนิดใหม่โลก เรียกดูวันที่ 2020-04-15
  417. Shambhala TS. แมลงปอหายากอันดับโลก เก็บถาวร 2020-10-20 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เรียกดูวันที่ 2020-04-15
  418. World News LLC. แมลงปอเสือปลายงอนชนิดใหม่โลก เรียกดูวันที่ 2020-04-15
  419. Dailynews Online. นิสิตป.เอก ม.เกษตรฯ เก่ง ค้นพบแมลงปอชนิดใหม่ของโลก เรียกดูวันที่ 2020-04-15
  420. Species New to Science. Blogspot. 9 April 2020. |Entomology • 2020| Stylogomphus thongphaphumensis • A New Gomphid Dragonfly (Odonata: Anisoptera: Gomphidae) and the First Record of S. malayanus from Thailand. เรียกดูวันที่ 2020-04-15
  421. กรมป่าไม้. แมลงปอเสือของไทย กับการค้นพบชนิดใหม่ของโลก เก็บถาวร 2020-11-01 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. ส่วนวิจัยความหลากหลายทางชีวภาพด้านป่าไม้. เรียกดูวันที่ 2020-10-30
  422. ห้องสมุดเพื่อเกษตรกรไทย (Thai Farmers’ Library) อาจารย์พฤกษศาสตร์ มก. ค้นพบพืชชนิดใหม่ของโลก "ชมพูไพร" เก็บถาวร 2019-06-06 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เรียกดูวันที่ 2019-06-06
  423. มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ ค้นพบพืชชนิดใหม่ของโลก เรียกดูวันที่ 2019-06-10
  424. ไทยรัฐฉบับพิมพ์. พืชชนิดใหม่: “ดอกชมพูไพร” เรียกดูวันที่ 2019-07-26
  425. Sci@KU for Life การค้นพบ “ช้างงาเอก” พืชชนิดใหม่ของโลก” เก็บถาวร 2019-08-21 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน ฉบับที่ 6. ปี 2560. เรียกดูวันที่ 2019-08-21
  426. http://www.bangkokbiznews.com/news/detail/786163. นักวิจัยม.เกษตร พบ 'ช้างงาเอก' พืชชนิดใหม่ของโลก. กรุงเทพธุรกิจ. 23 ธันวาคม 2560
  427. https://www3.rdi.ku.ac.th/?p=41103. นักวิจัยม.เกษตร พบ 'ช้างงาเอก' พืชชนิดใหม่ของโลก. สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่งหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ Kasetsart University Research and Development Institute (KURDI). 25 ธันวาคม 2560
  428. Species New to Science Orchidology - 2012 | เอื้องเทียนปากสีน้ำตาล | Coelogyne phuhinrongklaensis | a new species (Orchidaceae) from northern Thailand เรียกดูวันที่ 2019-08-20
  429. กรุงเทพธุรกิจ เอื้องเทียนปากสีน้ำตาล เรียกดูวันที่ 2019-08-20
  430. SEA SKY EARTH มก. พบกล้วยไม้ชนิดใหม่ของโลก เรียกดูวันที่ 2019-08-20
  431. ไทยรัฐออนไลน์ เอื้องเทียนปากสีน้ำตาล: มก.พบกล้วยไม้ชนิดใหม่ของโลก เรียกดูวันที่ 2019-08-20
  432. เดลินิวส์ มก.พบ “เอื้องเทียนปากสีน้ำตาล” กล้วยไม้ชนิดใหม่ของโลก เรียกดูวันที่ 2019-08-20
  433. "Suttinun C, Kaltenbach T, Gattolliat J-L, Boonsoong B (2021) A new species and first record of the genus Procerobaetis Kaltenbach & Gattolliat, 2020 (Ephemeroptera, Baetidae) from Thailand. ZooKeys 1023: 13-28". ZooKeys. สืบค้นเมื่อ 19 March 2021.
  434. "พบตัวอ่อนแมลงชีปะขาวเข็มชนิดใหม่ของโลก ที่ลำธารแม่สาและแม่น้ำแม่แจ่ม". ไทยรัฐออนไลน์. สืบค้นเมื่อ 19 March 2021.
  435. "พบแมลงชีปะขาว "เข็ม" ชนิดใหม่ของโลก ในลำธารแม่สา-แม่น้ำแม่แจ่ม เชียงใหม่". สยามรัฐออนไลน์. สืบค้นเมื่อ 19 March 2021.
  436. "ม.เกษตร ฯ พบแมลงชีปะขาว "เข็ม" Procerobaetis totuspinosus ชนิดใหม่ของโลก ที่ลำธารแม่สา - แม่น้ำแม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ และเป็นชนิดแรกที่พบในแผ่นดินใหญ่ที่ไม่ใช่เกาะ". คมชัดลึก. สืบค้นเมื่อ 19 March 2021.
  437. "นักวิจัย มก.พบแมลงชีปะขาวเข็มชนิดใหม่ของโลกที่ลำธารแม่สา-แม่น้ำแม่แจ่ม จ.เชียงใหม่". เกษตรทำกิน. สืบค้นเมื่อ 19 March 2021.
  438. Suttinun, C., Gattolliat, J-L& Boonsoong, B. 2020. Cymbalcloeon gen. nov., an incredible new mayfly genus (Ephemeroptera: Baetidae) from Thailand. PLoS ONE 15(10): e0240635.
  439. เกษตรก้าวไกล. ม.เกษตรฯ ค้นพบ “แมลงชีปะขาวสกุลใหม่ของโลก” ที่กาญจนบุรีและเลย. เรียกดูวันที่ 2020-10-22
  440. บ้านเมือง. นิสิต ป.เอก ม.เกษตร ค้นพบแมลงชีปะขาวสกุลใหม่ของโลก. เรียกดูวันที่ 2020-10-22
  441. สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. แมลงชีปะขาวสกุลใหม่ พบเฉพาะประเทศไทย. กลุ่มงานติดตามประเมินสถานการณ์ กตป. เรียกดูวันที่ 2020-10-30
  442. ประชาสัมพันธ์ มก. นักวิจัย มก. พบแมลงชีปะขาวสกุลใหม่ของโลก ลักษณะเด่นกว่าสกุลอื่น เป็นตัวบ่งชี้คุณภาพน้ำ. เรียกดูวันที่ 2016-10-10
  443. สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่งหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ Kasetsart University Research and Development Institute (KURDI). 28 ธันวาคม 2560 นักวิจัย มก. ค้นพบแมลงชีปะขาวสกุลใหม่ของโลก เรียกดูวันที่ 2019-07-26
  444. สยามรัฐ. รอบรั้วการศึกษา. นักวิจัย มก.ค้นพบแมลงชีปะขาว สกุลใหม่ของโลก เรียกดูวันที่ 2019-07-26
  445. สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.). ห้องสมุดงานวิจัยสำหรับสาธารณะ. ค้นพบ ดีปลีดิน (Piper viridescens Suwanph. & Chantar.) พืชวงศ์พริกไทย (Piperaceae) ชนิดใหม่ของโลก. วิทยาศาสตร์การแพทย์. เรียกดูวันที่ 2019-07-30
  446. C. Suwanphakdee and P. Chantaranothai. Piper viridescens sp. nov. (Piperaceae) from Thailand. Nordic Journal of Botany. 17 March 2014. Southeast Asian Vascular Plant Taxonomy. เรียกดูวันที่ 2019-07-30
  447. มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. ประชาสัมพันธ์ มก. คณะวิทย์ มก. - มข. พบดีปลีดิน พืชชนิดใหม่ของโลก. เรียกดูวันที่ 2019-07-30
  448. ไทยรัฐฉบับพิมพ์. 31 มีนาคม 2558. มก.+มข.พบดีปลีดิน พืชชนิดใหม่ของโลก. เรียกดูวันที่ 2019-07-30
  449. มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย). ดีปลีดิน พืชชนิดใหม่ของโลก[ลิงก์เสีย]. เรียกดูวันที่ 2019-08-01
  450. Chalermpol Suwanphakdee, Trevor R. Hodkinson and Pranom Chantaranothai. New species and a reinstatement in Peperomia (Piperaceae) from Thailand. Springer Nature. 16 September 2016. เรียกดูวันที่ 2019-07-30
  451. เดลินิวส์. 25 พฤษภาคม 2560. ตามรอยนักอนุกรมวิธานพืช ไม้งามชื่อพระราชทาน “รักตะนิล”. เรียกดูวันที่ 2019-11-13
  452. คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. รางวัลและความภูมิใจ. ตามรอยนักอนุกรมวิธานพืช ไม้งามชื่อพระราชทาน “รักตะนิล”. เรียกดูวันที่ 2019-07-30
  453. โพสต์ทูเดย์. 20 เมษายน 2560. “รักตะนิล” ชื่อพระราชทานพรรณไม้ชนิดใหม่ของโลก. เรียกดูวันที่ 2017-04-20
  454. สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.). พรรณไม้เฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. หน้า 24. รักตะนิล: Peperomia sirindhorniana. เรียกดูวันที่ 2019-07-30
  455. Species New to Science. Blogspot. 25 March 2017. New Species; Peperomia sirindhorniana รักตะนิล, P. heptaphylla, P. masuthoniana & P. multisurcula and A Reinstatement in Peperomia (Piperaceae) from Thailand. เรียกดูวันที่ 2019-07-30
  456. "Chiangkul K., P. Trivalairat, K. Kunya and W. Purivirojkul. 2021. Placobdelloides tridens sp. n., a new species of glossiphoniid leech (Hirudinea: Rhynchobdellida) found feeding on captive Orlitia borneensis in Thailand, and an update to the host distribution of P. siamensis. Systematic Parasitology". Springer Nature. สืบค้นเมื่อ 19 March 2021.
  457. "ทีมนักวิจัยม.เกษตรฯ ค้นพบ "ปลิงตรีศูล" ในเต่าน้ำบอร์เนียว ชนิดใหม่ของโลก". สยามรัฐออนไลน์. สืบค้นเมื่อ 19 March 2021.
  458. "ทีมนักวิจัยม.เกษตรฯ ค้นพบ "ปลิงตรีศูล" ในเต่าน้ำบอร์เนียว ชนิดใหม่ของโลก". LINE TODAY. สืบค้นเมื่อ 19 March 2021.
  459. "ม.เกษตรศาสตร์ พบปลิงชนิดใหม่ของโลก ในเต่าน้ำบอร์เนียว". ประชาชาติธุรกิจ. สืบค้นเมื่อ 19 March 2021.
  460. "ม.เกษตร ค้นพบ "ปลิงชนิดใหม่ของโลก" แฝงมากับเต่าน้ำบอร์เนียว". THAINEWSONLINE. สืบค้นเมื่อ 19 March 2021.
  461. "ม.เกษตรศาสตร์ พบปลิงชนิดใหม่ของโลก ทีมนักวิจัยนิสิตป.เอกและอาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ มก.ร่วมกับสวนสัตว์นครราชสีมา ค้นพบปลิงตรีศูล ในเต่าน้ำบอร์เนียว". เกษตรโฟกัสนิวส์. สืบค้นเมื่อ 19 March 2021.
  462. มติชน. นักวิจัย ม.เกษตรฯ ค้นพบปลิงชนิดใหม่ของโลก ในร่องสวนยาง จ.สงขลา. เรียกดูวันที่ 2020-12-21
  463. มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. คณะผู้วิจัย ม.เกษตรศาสตร์ ค้นพบ ปลิงชนิดใหม่ของโลก. เรียกดูวันที่ 2020-12-21
  464. Trivalairat, P., K. Chiangkul and W. Purivirojkul. 2019. Placobdelloides sirikanchanae sp. nov., a new species of glossiphoniid leech and a parasite of turtles from lower southern Thailand (Hirudinea, Rhynchobdellida) Zookeys 882: 1-24. DOI: 10.3897/zookeys.882.35229. เรียกดูวันที่ 2020-12-21
  465. Chiangkul, K., P. Trivalairat and W. Purivirojkul. 2020. Batracobdelloides bangkhenensis sp. n. (Hirudinea: Rhynchobdellida), a new leech species parasite on freshwater snails from Thailand เรียกดูวันที่ 2020-11-16
  466. สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. พบปลิงสกุลใหม่ครั้งแรกในประเทศไทย. กลุ่มงานติดตามประเมินสถานการณ์ กตป. เรียกดูวันที่ 2020-11-16
  467. บ้านเมือง. นักกินหอยน้ำจืดฝาเดียวระวัง! พบปลิงสกุลใหม่ครั้งแรกในไทยเกาะกินเลือด. เรียกดูวันที่ 2020-11-16
  468. คมชัดลึก. สุดเจ๋ง ทีมวิจัย ม.เกษตรฯ ค้นพบปลิงสกุลใหม่ครั้งแรกในประเทศไทย. เรียกดูวันที่ 2020-11-16
  469. แนวหน้า. พบปลิงสกุลใหม่ครั้งแรกในไทย ในบ่อน้ำภายใน ม.เกษตรศาสตร์ บางเขน. เรียกดูวันที่ 2020-11-16
  470. HEAD TOPICS. สุดเจ๋ง ทีมวิจัย ม.เกษตรฯ ค้นพบปลิงสกุลใหม่ครั้งแรกในประเทศไทย. เรียกดูวันที่ 2020-11-16
  471. เกษตรทำกิน. ทีมนักวิจัย มก.ค้นพบปลิงสกุลใหม่ “ปลิงกินหอยบางเขน” เป็นครั้งแรกในไทย เกาะหอยฝาเดียวน้ำจืด. เรียกดูวันที่ 2020-11-16
  472. คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. รางวัลและความภูมิใจ. นักวิจัย มก. ค้นพบพยาธิตัวตืดชนิดใหม่ของโลก[ลิงก์เสีย]. เรียกดูวันที่ 2018-01-09
  473. สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. 5 มกราคม 2561. นักวิจัย มก. ค้นพบพยาธิตัวตืดชนิดใหม่ของโลก. เรียกดูวันที่ 2018-01-09
  474. Pairat Songpanicha and Vipa Hongtraku. Science Direct. Scientia Horticulturae Journal. 2010. 475–481. INTERSUBGENERIC CROSS IN NYMPHAEA SPP. L. TO DEVELOP A BLUE HARDY WATERLILY. เรียกดูวันที่ 2019-07-28
  475. ไทยรัฐออนไลน์. 24 เมษายน 2554. สยาม​บลู​ฮา​ร์ดดี้..​บัว​พันธุ์​ผสม ต้น​แรก​ของ​โลก..ดอก​สีน้ำเงิน. เรียกดูวันที่ 2019-07-27
  476. มติชนกรุ๊ป. เทคโนโลยีชาวบ้าน. 15 กุมภาพันธ์ 2554. ปีที่ 16. ฉบับที่ 497. “สยามบลูฮาร์ดดี้” บัวฝรั่งดอกสีน้ำเงินลูกผสม ต้นแรกของโลก จากฝีมือนักวิจัยไทย เก็บถาวร 2020-08-07 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. เรียกดูวันที่ 2019-07-27
  477. ศาสตร์เกษตรดินปุ๋ย. Blog. ไม้ดอกไม้ประดับ. “สยามบลูฮาร์ดดี้” บัวฝรั่งดอกสีน้ำเงินลูกผสม ต้นแรกของโลก จากฝีมือนักวิจัยไทย. เรียกดูวันที่ 2019-07-27
  478. WGI Online Journal. Volume 3. Number 2. May, 2008. ‘สยามบลูฮาร์ดดี้’ : Nymphaea ‘Siam Blue Hardy’ บัวฝรั่งสีน้ำเงินต้นแรกของโลก. เรียกดูวันที่ 2019-07-27
  479. นิตยสารสารคดี. 28 เมษายน 2556. บัวฝรั่งดอกสีน้ำเงินและความฝันของนักผสมพันธุ์บัว. เรียกดูวันที่ 2019-07-27
  480. อภิพรรณ พุกภักดี, ภาณี ทองพำนัก, โชคชัย เอกทัศนาวรรณ, ธำรงศิลป โพธิสูง, ภัทรา ชูวาธิวัฒน์ และ วิวัฒน์ น้าวานิช. (2552). พันธุ์พืชที่พัฒนาโดยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์-ไม้ดอกไม้ประดับ-เบญจมาศเกษตรศาสตร์ 60 เก็บถาวร 2022-10-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. ISBN-978-616-7262-10-9. เรียกดูวันที่ 2019-12-25
  481. บทความสมาคมนิวเคลียร์แห่งประเทศไทย. เบญจมาศพันธุ์เกษตรศาสตร์ 60 จากการฉายรังสีแกมมา บานรับลมหนาวที่ลำพูนและอุดรธานี. เรียกดูวันที่ 2019-12-25
  482. สิรนุช ลามศรีจันทร์ และคนอื่นๆ. (2558). เบญจมาศพันธุ์เกษตรศาสตร์ 60-1, 60-2, 60-3, 60-4, 60-5, 60-6. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. เรียกดูวันที่ 2019-12-25
  483. ศูนย์บริการฉายรังสีแกมมาและวิจัยนิวเคลียร์เทคโนโลยี สถาบันวิจัยและพัฒนามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. ผลงานทางวิชาการ-ศ.ดร.สิรนุช ลามศรีจันทร. เรียกดูวันที่ 2019-12-25
  484. ศูนย์บริการฉายรังสีแกมมาและวิจัยนิวเคลียร์เทคโนโลยี. พันธุ์พืชกลายในประเทศไทย “เบญจมาศ”. 60 ปี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. เรียกดูวันที่ 2019-12-26
  485. อภิพรรณ พุกภักดี, ภาณี ทองพำนัก, โชคชัย เอกทัศนาวรรณ, ธำรงศิลป โพธิสูง, ภัทรา ชูวาธิวัฒน์ และ วิวัฒน์ น้าวานิช. (2552). พันธุ์พืชที่พัฒนาโดยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์-ไม้ดอกไม้ประดับ-แพรเซี่ยงไฮ้ เก็บถาวร 2022-10-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. ISBN-978-616-7262-10-9. เรียกดูวันที่ 2019-12-25
  486. Manager Online (MGR online). 6 สิงหาคม 2552.“อรุณี วงศ์ปิยะสถิตย์” ปรับปรุงพันธุ์ด้วยรังสี รับรางวัล “นักนิวเคลียร์ดีเด่น”. เรียกดูวันที่ 2019-12-25
  487. ฟิสิกส์ราชมงคล. บทความวิทยาศาสตร์-“อรุณี วงศ์ปิยะสถิตย์” ปรับปรุงพันธุ์ด้วยรังสี รับรางวัล “นักนิวเคลียร์ดีเด่น” เก็บถาวร 2020-10-22 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. เรียกดูวันที่ 2019-12-25
  488. ศูนย์บริการฉายรังสีแกมมาและวิจัยนิวเคลียร์เทคโนโลยี สถาบันวิจัยและพัฒนามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. ศ.อรุณี วงศ์ปิยะสถิตย์. เรียกดูวันที่ 2019-12-25
  489. ศูนย์บริการฉายรังสีแกมมาและวิจัยนิวเคลียร์เทคโนโลยี. พันธุ์พืชกลายในประเทศไทย “แพรเซี่ยงไฮ้”. 60 ปี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. เรียกดูวันที่ 2019-12-26
  490. อภิพรรณ พุกภักดี, ภาณี ทองพำนัก, โชคชัย เอกทัศนาวรรณ, ธำรงศิลป โพธิสูง, ภัทรา ชูวาธิวัฒน์ และ วิวัฒน์ น้าวานิช. (2552). พันธุ์พืชที่พัฒนาโดยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์-ไม้ดอกไม้ประดับ-พุทธรักษา เก็บถาวร 2022-10-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. ISBN-978-616-7262-10-9. เรียกดูวันที่ 2019-12-26
  491. ศูนย์บริการฉายรังสีแกมมาและวิจัยนิวเคลียร์เทคโนโลยี. พันธุ์พืชกลายในประเทศไทย “พุทธรักษา”. 60 ปี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. เรียกดูวันที่ 2019-12-26
  492. สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. ชวนชมพันธุ์ซุปเปอร์เรด. เรียกดูวันที่ 2019-12-27
  493. สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. ชวนชมพันธุ์ซุปเปอร์ไวท์. เรียกดูวันที่ 2019-12-27
  494. อภิพรรณ พุกภักดี, ภาณี ทองพำนัก, โชคชัย เอกทัศนาวรรณ, ธำรงศิลป โพธิสูง, ภัทรา ชูวาธิวัฒน์ และ วิวัฒน์ น้าวานิช. (2552). พันธุ์พืชที่พัฒนาโดยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์-ไม้ดอกไม้ประดับ-ชวนชม เก็บถาวร 2022-10-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. ISBN-978-616-7262-10-9. เรียกดูวันที่ 2019-12-27
  495. อภิพรรณ พุกภักดี, ภาณี ทองพำนัก, โชคชัย เอกทัศนาวรรณ, ธำรงศิลป โพธิสูง, ภัทรา ชูวาธิวัฒน์ และ วิวัฒน์ น้าวานิช. (2552). พันธุ์พืชที่พัฒนาโดยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์-ธัญพืช-พืชวงศ์ถั่ว-ถั่วเหลือง-ถั่วเหลืองพันธุ์ ดอยคำ เก็บถาวร 2022-10-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. ISBN-978-616-7262-10-9. เรียกดูวันที่ 2019-12-26
  496. ศูนย์บริการฉายรังสีแกมมาและวิจัยนิวเคลียร์เทคโนโลยี. พันธุ์พืชกลายในประเทศไทย “ถั่วเหลืองพันธุ์ ดอยคำ”. 60 ปี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. เรียกดูวันที่ 2019-12-26
  497. สุมินทร์ สมุทคุปติ์, อรุณี วงศ์ปิยะสถิตย์, สิรนุช ลามศรีจันทร์ และ กรึก นฤทุม. (2558). เกษตรนวัตกรรม รวบรวมผลงานนวัตกรรมทางการค้นคว้าวิจัยในวาระครบรอบ 72 ปี แห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. ถั่วเหลืองพันธุ์ ดอยคำ. (น. 353-354). กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.
  498. เกษตรก้าวไกล. โครงการทรัพยากรชีวภาพปลากัดแห่งชาติเจ๋ง! ถอดรหัสพันธุกรรมจีโนมฯของปลากัดป่ามหาชัยได้เป็นครั้งแรกของโลก. เรียกดูวันที่ 2020-07-16
  499. 7HD ร้อนออนไลน์. 14 กรกฎาคม 2563. มก.ถอดรหัสพันธุกรรมของจีโนมฯ ปลากัดป่ามหาชัยได้เป็นครั้งแรกของโลก. เรียกดูวันที่ 2020-07-16
  500. Manager Online (MGR online). 29 มิถุนายน 2563. วช.ร่วมกับ ม.เกษตรฯ และสมาคมปลากัด เปิดตัวโครงการทรัพยากรชีวภาพปลากัดแห่งชาติ. เรียกดูวันที่ 2020-07-16
  501. มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. ผลงานวิจัย มก. นักวิจัย มก. เจ๋ง ถอดรหัสพันธุกรรมปลาบึกได้สำเร็จ. เรียกดูวันที่ 2019-08-02
  502. นิตยสารเกษตรศาสตร์ (KU-eMagazine). ISSN-1513-7341. นักวิจัย มก. ถอดรหัสพันธุกรรมปลาบึกได้สำเร็จ. ปีที่ 11. ฉบับที่ 136. 15 พฤศจิกายน 2547. เรียกดูวันที่ 2019-08-02
  503. Manager Online (MGR online). 28 ตุลาคม 2547. นักวิจัย ม.เกษตรฯ ถอดรหัสพันธุกรรมปลาบึกสำเร็จ. เรียกดูวันที่ 2019-08-02
  504. https://www.sci.ku.ac.th/news/science-student-and-personnels-get-hrh-princess-sirindhorn-award[ลิงก์เสีย]. บุคลากรและนิสิตคณะวิทยาศาสตร์ได้รับรางวัลพระราชทานฯ จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. 8 พฤษภาคม 2558.
  505. http://iad.intaff.ku.ac.th/wordpress/wp-content/uploads/2015/07/Non-See-May-2015.pdf[ลิงก์เสีย]. “The King of Thailand Vetiver Awards” and “TVNI Awards”. Newsletter NONSEE. May 2015
  506. https://www.ku.ac.th/web2012/resources/upload/content/files/TheSaltTolerantVetiver.pdf. ผลงานวิจัย. หญ้าแฝกทนเค็ม.
  507. สำนักงานบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผลงานวิจัยที่ยื่นขอรับความคุ้มครอง-ข้อมูล ณ วันที่ 31 ตุลาคม 2557 เก็บถาวร 2021-06-25 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เรียกดูวันที่ 2019-12-02
  508. สำนักงานบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ งานทรัพยสินทางปัญญา เก็บถาวร 2020-09-25 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เรียกดูวันที่ 2019-12-02
  509. บริษัท คอร์ดี้ไบโอเทค จำกัด ผลิตภัณฑ์ถั่งเช่า เก็บถาวร 2019-12-01 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เรียกดูวันที่ 2019-12-02
  510. ถั่งเช่าคอร์ดี้ไทย ถั่งเช่าคอร์ดี้ไทย (CordyThai) เรียกดูวันที่ 2019-12-02
  511. มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. เกษตรนวัตกรรม รวบรวมผลงานนวัตกรรมทางการค้นคว้าวิจัยในวาระครบรอบ 72 ปี แห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์-ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารถั่งเช่าทิเบต เก็บถาวร 2023-06-20 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. น.110. เรียกดูวันที่ 2019-12-16
  512. Manager Online (MGR online). 25 กันยายน 2560 นักวิจัยตัวจริง ร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์คิดค้นสูตรผลิตถั่งเช่า “คอร์ดี้ไทย” เพื่อโรคมะเร็งและโรคไต เรียกดูวันที่ 2019-12-02
  513. ข่าวสด. 27 ตุลาคม 2560 “วานิไทย” ต้นตำรับ “เลือดจระเข้” จากงานวิจัยสู่ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเพื่อสุขภาพ เรียกดูวันที่ 2019-12-02
  514. ชี้ช่องรวย. 29 ธันวาคม 2557 “วานิไทย” แคปซูลเลือดจระเข้ นวัตกรรมอาหารเสริม บำรุงเลือด เรียกดูวันที่ 2019-12-02
  515. มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. เกษตรนวัตกรรม รวบรวมผลงานนวัตกรรมทางการค้นคว้าวิจัยในวาระครบรอบ 72 ปี แห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์-เลือดจระเข้แคปซูล เก็บถาวร 2023-06-20 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. น.118. เรียกดูวันที่ 2019-12-16
  516. Manager Online (MGR online). 19 มกราคม 2561. “สารสกัดเลือดจระเข้” ผลงานวิจัยคนไทย เสริมอาหารเบอร์ต้น ๆ ตอบโจทย์ทัวร์จีน เรียกดูวันที่ 2019-12-02
  517. Goodlifeupdate. 4 มกราคม 2562 แคปซูลบำรุงสุขภาพเลือดจระเข้ “วานิไทย” ความภูมิใจของคนไทยสู่เวทีระดับโลก เรียกดูวันที่ 2019-12-02
  518. มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ “วิธีการกระตุ้นให้เกิดสารหอมในไม้กฤษณาโดยเชื้อราและสารอินทรีย์ที่ปลอดภัย” เรียกดูวันที่ 2019-12-02
  519. มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. เกษตรนวัตกรรม รวบรวมผลงานนวัตกรรมทางการค้นคว้าวิจัยในวาระครบรอบ 72 ปี แห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์-เทคโนโลยีใหม่ในการทำให้เกิดสารหอมในไม้กฤษณาที่ปลอดภัยและมีความคุ้มทุนสูงในอุตสาหกรรม เก็บถาวร 2023-06-20 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. น.112. เรียกดูวันที่ 2019-12-16
  520. thaigreenagro. 28 ตุลาคม 2552 เกษตรกรยิ้มได้กับงานวิจัยวช. “กระตุ้นสารหอมในไม้กฤษณา” สร้างมูลค่าเพิ่มภาคการเกษตรไทย เก็บถาวร 2020-09-24 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เรียกดูวันที่ 2019-12-02
  521. oknation. 25 มิถุนายน 2557 กฤษณา ราชาเครื่องหอม สมุนไพร (4). blog. เรียกดูวันที่ 2019-12-02
  522. มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. เกษตรนวัตกรรม รวบรวมผลงานนวัตกรรมทางการค้นคว้าวิจัยในวาระครบรอบ 72 ปี แห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์-ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมเพื่อสุขภาพข้าวยีสต์แดงจากจุลินทรีย์โมแนสคัส (Red Yeast Rice) เก็บถาวร 2023-06-20 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. น.114. เรียกดูวันที่ 2019-12-16
  523. บุษบา ยงสมิทธ์. (2559). ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารข้าวยีสต์แดง. มก. อาวุโสสัมพันธ์, 16(69), 3-5.
  524. ku red yeast rice. ยกระดับ “ข้าวยีสต์แดง” กับรางวัลผลิตภัณฑ์ระดับชาติ ในงานสมุนไพรแห่งชาติ เรียกดูวันที่ 2020-10-14
  525. ภาควิชาจุลวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. ขอแสดงความยินดีกับศาสตราจารย์ ดร.บุษบา ยงสมิทธ์ และบริษัท เบเน ลิฟวิ่ง จำกัด ได้รับรางวัลผลิตภัณฑ์อาหารเสริมสมุนไพรดีเด่นระดับชาติ ประจำปี 2563 “ข้าวยีสต์แดง”[ลิงก์เสีย] เรียกดูวันที่ 2020-10-14
  526. พรชัย วีรพงษ์ไพบูลย์. บทความพิเศษ. โครงการวิทยานิพนธ์ ผลของการฝึกออกกำลังกายแบบจินกังกง. มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. เรียกดูวันที่ 2019-12-15
  527. วีระพันธ์ โตมีบุญ. 21 เมษายน 2556. จิน กัง กง - ฟ้ากว้าง. เดลินิวส์. เรียกดูวันที่ 2019-12-15
  528. Somchai Visasmongkolchai. หนังสือ 15 ปี ธนาคารสมอง-การสาธารณสุขและสังคมสงเคราะห์[ลิงก์เสีย]. LinkedIn Slideshare. น.19. เรียกดูวันที่ 2019-12-15
  529. Phototech. 16 สิงหาคม 2562. สภาสมาคมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย จัดเสวนา คุยกันฉันท์วิทย์. เรียกดูวันที่ 2019-12-15
  530. หนังสือ “52 ปี คณะวิทยาศาสตร์ มก.” โครงการออกกำลังกาย คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ - จินกังกง น.214. เรียกดูวันที่ 2019-12-16
  531. คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล. 4 กันยายน 2554. โยคะ สำหรับชาวออฟฟิศ. เรียกดูวันที่ 2019-12-16
  532. หนังสือ “52 ปี คณะวิทยาศาสตร์ มก.” โครงการออกกำลังกาย คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ - โยคะ น.214. เรียกดูวันที่ 2019-12-16
  533. มติชนออนไลน์. 23 มกราคม 2562 ม.เกษตรฯจับมือ”เค.เอ็ม.แพ็กเกจจิ้ง” นำร่องเลิกใช้โฟมและพลาสติก 100% เรียกดูวันที่ 2019-12-14
  534. สำนักข่าวไทย. 22 มกราคม 2562 คณะวิทย์ฯ ม.เกษตร นำร่องโครงการเลิกใช้โฟม100%[ลิงก์เสีย] เรียกดูวันที่ 2019-12-14
  535. ทีมข่าวสิ่งแวดล้อม. 24 มกราคม 2562 KU เอาด้วย! เตรียมเลิกใช้โฟม-พลาสติก 100% ใช้ภาชนะย่อยสลายได้-ประเดิม ‘เกษตรแฟร์ 62’. Green News. เรียกดูวันที่ 2019-12-14
  536. กรุงเทพธุรกิจ. 23 มกราคม 2562 คณะวิทย์มก. นำร่องโครงการเลิกใช้โฟมและพลาสติก100% เรียกดูวันที่ 2019-12-14
  537. กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. KU เอาด้วย! เตรียมเลิกใช้โฟม-พลาสติก 100% ใช้ภาชนะย่อยสลายได้-ประเดิม ‘เกษตรแฟร์ 62’ เก็บถาวร 2020-10-27 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. ระบบฐานข้อมูลการผลิต การบริการและการบริโภคที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม. เรียกดูวันที่ 2019-12-14
  538. นพพล ศรีสมุทร. "คณะวิทยาศาสตร์ - การดำเนินกิจกรรมเพื่อสังคม : การพัฒนาคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม" (PDF). รายงานการดำเนินกิจกรรมความรับผิดชอบต่อสังคม(CSR) ปี พ.ศ. 2561, กองแผนงาน สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. สืบค้นเมื่อ 2019-12-18.
  539. ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร. "ธ.ก.ส. ร่วมกับ ม.เกษตรฯ ร่วมใจสู้ภัยแล้ง จ.กาญจนบุรี". กิจกรรมเพื่อสังคม ธ.ก.ส. สืบค้นเมื่อ 2019-12-18.
  540. ดีเซลล์ สวนบุรี. (2558). เกษตรศาสตร์ช่วยภัยแล้ง: พัฒนาแหล่งน้ำใต้ดินให้กับชุมชน. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ ภาควิชาวิทยาศาสตร์พื้นพิภพ ศูนย์วิจัยสำรวจธรณีประยุกต์.
  541. ดีเซลล์ สวนบุรี. (2558). มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พัฒนาเทคโนโลยีสู้ภัยแล้ง ร่วมจัดการน้ำใต้ดินแบบบูรณาการ ฟื้นคุณภาพชีวิตชุมชนอย่างยั่งยืน. กรุงเทพฯ: [ม.ป.ท.].
  542. ประชาสัมพันธ์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. รับมอบเจลล้างมือสูตรใหม่ยับยั้งแบคทีเรีย เรียกดูวันที่ 2020-03-23
  543. kengnews. จิตอาสา ม.เกษตร ลุยแจก แอลกอฮอล์เจลกว่า3,000ขวด สู้ โควิด-19 เก็บถาวร 2020-03-23 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เรียกดูวันที่ 2020-03-23
  544. PPTV. สกู๊ปสัมภาษณ์อารย์พงษ์ศักดิ์ โล้วมั่นคง ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เรียกดูวันที่ 2020-03-23
  545. PPTV. อาจารย์ ม.เกษตร แนะใช้สบู่ล้างมือแทนแอลกอฮอลล์ได้ ป้องกันโควิด-19 เรียกดูวันที่ 2020-03-23
  546. Line Today. อาจารย์ ม.เกษตร แนะใช้สบู่ล้างมือแทนแอลกอฮอลล์ได้ ป้องกันโควิด-19 เรียกดูวันที่ 2020-03-23
  547. มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กำแพงแสน. รับมอบเจลล้างมือสูตรใหม่ยับยั้งแบคทีเรีย เรียกดูวันที่ 2020-03-23
  548. คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. กิจกรรมสอนผลิตแอลกอฮอล์เจลล้างมือ DIY ต้าน COVID-19 เรียกดูวันที่ 2020-03-23
  549. ryt9. ม.ทักษิณ ผลิตเจลล้างมือสูตรแอลกอฮอล์ 70% เพื่อแจกจ่ายให้กับประชาชนทั่วไป เตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ไวรัสโคโรน่า (Covid-19) ในพื้นที่ภาคใต้ เรียกดูวันที่ 2020-03-23
  550. มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. ผังแม่บทมหาวิทยาลัยสีเขียว เกษตรกลาง บางเขน (พ.ศ. 2560-2565) เก็บถาวร 2019-12-16 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. เรียกดูวันที่ 2019-12-16
  551. คำสั่งคณะวิทยาศาสตร์ ที่ 113/2557 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนากายภาพอาคารทวี ญาณสุคนธ์ (2557). ม.ป.ท: . เรียกดูวันที่ 2020-08-13
  552. คำสั่งคณะวิทยาศาสตร์ที่ 124/2557 แต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนาทางกายภาพอาคารต่าง ๆ ภายในคณะวิทยาศาสตร์ (2557). ม.ป.ท: . เรียกดูวันที่ 2020-08-13
  553. รัชต ชมภูนิช และคณะ. หนังสือ Kreative University. คำนำจากอธิการบดี เก็บถาวร 2023-06-21 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. สำนักงานทรัพย์สินมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. น.6. เรียกดูวันที่ 2019-12-16
  554. คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. SciKU Sustainable Development Goals (SDGs) เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. เรียกดูวันที่ 2020-07-26
  555. United Nations Thailand. เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน เก็บถาวร 2019-12-09 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. เรียกดูวันที่ 2019-12-16
  556. United Nations. About the Sustainable Development Goals. เรียกดูวันที่ 2019-12-16

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

พิกัดภูมิศาสตร์: 13°50′44″N 100°34′17″E / 13.8454802°N 100.5714646°E / 13.8454802; 100.5714646