ข้ามไปเนื้อหา

สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (อัมพร อมฺพโร)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ
(อัมพร อมฺพโร)
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
ดำรงพระยศ12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560 – ปัจจุบัน (7 ปี 246 วัน)
สถาปนา12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560
วัดพระศรีรัตนศาสดาราม
ก่อนหน้าสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร
พรรษา77
สถิตวัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร
นิกายธรรมยุติกนิกาย
ประสูติ26 มิถุนายน พ.ศ. 2470 (97 ปี)
จังหวัดราชบุรี ประเทศสยาม
อัมพร ประสัตถพงศ์
พระชนกนับ ประสัตถพงศ์
พระชนนีตาล ประสัตถพงศ์
ลายพระนาม

สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ พระนามเดิม อัมพร ประสัตถพงศ์ ฉายา อมฺพโร เป็นสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก พระองค์ที่ 20 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์[1] โดยทรงเริ่มดำรงตำแหน่งในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว และทรงเป็นเจ้าอาวาสวัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร ประธานกรรมการมหาเถรสมาคม[2] เจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุต แม่กองงานพระธรรมทูต และนายกสภามหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย

ทั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2560 และเสด็จพระราชดำเนินไปในการพระราชพิธีสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก พระองค์ที่ 20 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวัง เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2560 และเป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์แรกในรัชกาลที่ 10 โดยในการทรงบำเพ็ญพระราชกุศลฉลองพระชนมายุ 90 พรรษา สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก วันที่ 26 มิถุนายน 2560 พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดพระราชทานถวายพัดแฉกงาพิเศษประดับพลอย และ ในการทรงบำเพ็ญพระราชกุศลฉลองพระชนมายุ 8 รอบ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก วันที่ 26 มิถุนายน 2566 พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดพระราชทานถวายพัดรัตนาภรณ์ ว.ป.ร.ชั้น 1 แด่สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เป็นราชสักการะและพระเกียรติยศพิเศษ นับเป็นสมเด็จพระสังฆราช พระองค์ที่ 7 และสมเด็จพระสังฆราชจากสามัญชน มิใช่พระราชวงศ์ พระองค์ที่ 3 ที่ทรงได้รับเป็นพระเกียรติยศอย่างสูงในประวัติศาสตร์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

พระประวัติ

[แก้]
สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ ขณะยังเป็นพระมหาอัมพร อมฺพโร
สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ ขณะยังเป็นพระมหาอัมพร อมฺพโร ออกบิณฑบาตติดตามพระธรรมวิสุทธิมงคล (บัว ญาณสมฺปนฺโน) ที่บ้านตาด จังหวัดอุดรธานี เมื่อ พ.ศ. 2508

พระชาติกำเนิด

[แก้]

สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ มีพระนามเดิมว่า อัมพร ประสัตถพงค์ ประสูติเมื่อเวลารุ่งเช้าของวันอาทิตย์ที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2470 ตรงกับแรม 12 ค่ำ เดือน 7 ปีเถาะ ณ บ้านเลขที่ 28 หมู่ 1 ตำบลบางป่า อำเภอเมืองราชบุรี จังหวัดราชบุรี พระชนก (บิดา) มีนามว่า นาย นับ ประสัตถพงค์ (แซ่ตั๊ง) พระชนนี (มารดา) มีนามว่า นางตาล ประสัตถพงค์ สกุลเดิม วรกี เป็นบุตรคนที่ 2 จากพี่น้องทั้งหมด 9 คน คือ

  1. นางสุนีย์ บูรพาพร (เสียชีวิต)
  2. สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (อัมพร อมฺพโร)
  3. นางสุมนรัตน์ อ่อนโยน (เสียชีวิต)
  4. พระพรหมมงคลวัชราจารย์ (ไสว วฑฺฒโน) ที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค 14-15 (ธรรมยุต) เจ้าอาวาสวัดศรีสุริยวงศารามวรวิหาร จังหวัดราชบุรี
  5. นางเพ็ญศรี วิเชียรทอง (เสียชีวิต)
  6. นายสวัสดิ์ ประสัตถพงศ์
  7. นพ.สุนันท์ ประสัตถพงศ์ (เสียชีวิต)
  8. นางเตือนจิตต์ มิ่งคำเลิศ
  9. นางพิณรัตน์ เปี่ยมราศีสกุล

ในวัยเยาว์ ครอบครัวประกอบอาชีพค้าขาย พระชนกพระชนนี มีบุตรธิดามาก จึงได้ฝากท่านได้เรียนชั้นประถมศึกษาที่โรงเรียนเทวานุเคราะห์ กองบินน้อยที่ 4 ตำบลโคกกะเทียม อำเภอเมืองลพบุรี จังหวัดลพบุรี กับ นาวาอากาศโท ทรัพย์ วรกี ผู้เป็นลุง ซึ่งมารับราชการทหารอากาศ อยู่ที่ลพบุรี จนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 แล้วมาศึกษาต่อที่โรงเรียนประชาบาลวัดพเนินพลูจนจบชั้น ป. 4 ในปี พ.ศ. 2480

การบรรพชาอุปสมบท

[แก้]

เมื่อ พ.ศ. 2483 พระองค์ทรงบรรพชาเป็นสามเณรวัดสัตตนารถปริวัตรวรวิหาร ตำบลหน้าเมือง อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี โดยมีพระธรรมเสนานี (เงิน นนฺโท) เป็นพระอุปัชฌาย์[3] แล้วย้ายไปอยู่วัดตรีญาติเพื่อศึกษาพระปริยัติธรรม โดยมีพระครูศรีธรรมานุศาสน์ (โสตถิ์ สุมิตฺตเถร) เป็นพระอาจารย์คอยอบรมพระธรรมวินัย

ต่อมาได้ทรงเข้าพิธีอุปสมบทเป็นพระภิกษุ เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2491 ณ พระอุโบสถ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร โดยมีสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวราลงกรณ เมื่อครั้งทรงดำรงสมณศักดิ์ที่พระเทพโมลี เป็นพระอุปัชฌาย์ และสมเด็จพระพุทธปาพจนบดี (ทองเจือ จินฺตากโร) เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่พระจินดากรมุนี เป็นพระกรรมวาจาจารย์

การศึกษาพระปริยัติธรรม

[แก้]

ขณะจำพรรษาที่วัดตรีญาติ ตำบลพงสวาย สามเณรอัมพร ประสัตถพงศ์ สามารถสอบได้นักธรรมชั้นตรีในปี พ.ศ. 2483 สอบได้นักธรรมชั้นโทในปีต่อมา ถึงปี พ.ศ. 2486 สามารถสอบได้นักธรรมชั้นเอกและเปรียญธรรม 3 ประโยค และสอบได้เปรียญธรรม 4 ประโยคในปี พ.ศ. 2488

เมื่อ พ.ศ. 2490 ทรงย้ายมาอยู่จำพรรษา ณ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม โดยสมเด็จพระพุทธปาพจนบดี (ทองเจือ จินฺตากโร) เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่พระจินดากรมุนี นำมาฝากกับสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวราลงกรณ เมื่อครั้งทรงดำรงสมณศักดิ์ที่พระเทพโมลี และภายหลังทรงอุปสมบท พระองค์ได้ทรงศึกษาพระปริยัติธรรมต่อในสำนักเรียนวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม จนถึงปี พ.ศ. 2491 สามารถสอบได้เปรียญธรรม 5 ประโยค และ พ.ศ. 2493 สามารถสอบได้เปรียญธรรม 6 ประโยค

หลังเป็นเปรียญ 5 ประโยค พระองค์ได้ศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย เป็นนักศึกษารุ่นที่ 5 จบศาสนศาสตรบัณฑิต เมื่อปี พ.ศ. 2500 และทรงเดินทางไปศึกษาต่อระดับปริญญาโท ณ มหาวิทยาลัยพาราณสี (Banaras Hindu University) ประเทศอินเดีย จบการศึกษาเมื่อปี พ.ศ. 2512 ด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดี

ปี พ.ศ. 2552 สภามหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ถวายศาสนศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาพุทธศาสตร์

ปี พ.ศ. 2553 สภามหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ถวายปริญญาพุทธศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาธรรมนิเทศ[4]

สมเด็จพระสังฆราช

[แก้]

ทั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2560 และเสด็จพระราชดำเนินไปในการพระราชพิธีสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก พระองค์ที่ 20 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ณ พระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวัง เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2560 และเป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์แรกในรัชกาลที่ 10 ด้วยพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชศรัทธาเลื่อมใส โดยสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ทรงปฏิบัติพระกรณียกิจเผยแผ่ และจรรโลงพระพุทธศาสนาให้กว้างขวางแพร่หลายและมั่นคง พุทธศาสนิกชนจึงมีความเลื่อมใสศรัทธา ทั้งมีพระจริยวัตรที่ทรงมีความสมถะ เรียบง่าย เคร่งครัดในพระธรรมวินัย และมีพระเมตตาสูง

สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณฯ เสด็จลงพระอุโบสถ วัดราชบพิธสถิตฯ ประทานพระวโรกาสให้ นางกมลา แฮร์ริส รองประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา เฝ้าถวายสักการะ ในโอกาสเดินทางเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการเพื่อเข้าร่วมการประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก เอเปค 2022 เมื่อวันเสาร์ ที่ 19 พฤศจิกายน 2565

โดยในการทรงบำเพ็ญพระราชกุศลฉลองพระชนมายุ 90 พรรษา สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก วันที่ 26 มิถุนายน 2560 พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดพระราชทานถวายพัดแฉกงาพิเศษประดับพลอย เป็นราชสักการะและพระเกียรติยศพิเศษ นับเป็นสมเด็จพระสังฆราช พระองค์ที่ 7 และสมเด็จพระสังฆราชจากสามัญชน มิใช่พระราชวงศ์ พระองค์ที่ 3 ที่ทรงได้รับเป็นพระเกียรติยศอย่างสูงในประวัติศาสตร์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ต่อมา พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดาฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่ง ไปในการทรงบำเพ็ญพระราชกุศลฉลองพระชนมายุ 8 รอบ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก วันที่ 26 มิถุนายน 2566 ณ พระอุโบสถ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2566 ในการนี้ พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินไปถวายดอกไม้ ธูปเทียนแพ ถวายน้ำสรงที่พระหัตถ์ พัดรัตนาภรณ์ ว.ป.ร.ชั้น 1 พุ่มดอกบัว และผ้าไตรแด่สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วันพฤหัสบดี ที่ 21 พฤศจิกายน 2562 เจ้าพระคุณ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณฯ เสด็จลงพระอุโบสถ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ทรงรับสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส ประมุขแห่งคริสต์ศาสนานิกายโรมันคาทอลิก และนครรัฐวาติกัน ซึ่งเสด็จเยือนราชอาณาจักรไทยอย่างเป็นทางการ

วันเสาร์ ที่ 19 พฤศจิกายน 2565 เจ้าพระคุณ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณฯ เสด็จลงพระอุโบสถ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ประทานพระวโรกาสให้ นางกมลา ดี. แฮร์ริส รองประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา เฝ้าถวายสักการะและประทานพระอนุญาตให้เข้าชมศิลปกรรมวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ในโอกาสเดินทางเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการเพื่อเข้าร่วมการประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก เอเปค 2022

งานฉลองพระชนมายุ 8 รอบ 26 มิถุนายน 2566

[แก้]

ตราสัญลักษณ์

[แก้]

เนื่องในโอกาสสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ทรงเจริญพระชนมายุครบ 8 รอบ 96 พรรษา ในวันที่ 26 มิถุนายน พุทธศักราช 2566 นับเป็นมหามงคลสมัยยิ่ง รัฐบาลเห็นสมควรจัดงานฉลองพระชนมายุ 8 รอบ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ทั้งนี้ เพื่อการจัดงานเป็นไปด้วยความเรียบร้อยและสมพระเกียรติยศทุกประการ จึงได้มีการตั้งคณะกรรมการฝ่ายโครงการและกิจกรรม งานฉลองพระชนมายุ 8 รอบ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก จำนวน 4 คณะ ประกอบด้วย คณะกรรมการฝ่ายพิธีการฯ คณะกรรมการฝ่ายโครงการและกิจกรรมฯ คณะกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์ฯ และคณะกรรมการฝ่ายจัดทำหนังสือจดหมายเหตุและหนังสือที่ระลึกฯ

ทั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดรับงานบำเพ็ญพระราชกุศล ฉลองพระชนมายุ 8 รอบ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ โดยพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่ง ไปในการทรงบำเพ็ญพระราชกุศลฉลองพระชนมายุ 8 รอบ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก วันที่ 26 มิถุนายน 2566 ณ พระอุโบสถ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2566 เวลา 17.00 น.

สำหรับการกำหนดชื่อการจัดงานฉลองพระชนมายุ 8 รอบ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก 26 มิถุนายน 2566 ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ดังนี้

- ชื่อการจัดงานเป็นภาษาไทยว่า “การจัดงานฉลองพระชนมายุ 8 รอบ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก 26 มิถุนายน 2566”

- ชื่อการจัดงานภาษาอังกฤษว่า “Celebrations on the Occasion of His Holiness Somdet Phra Ariyavongsagatayana the Supreme Patriarch of Thailand ‘s 96th Birthday Anniversary 26th June 2023”

โดยมีขอบเขตการจัดงานตลอดปี 2566 ส่วนการจัดทำตราสัญลักษณ์งานฉลองพระชนมายุ 8 รอบ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามได้ดำเนินการออกแบบตราสัญลักษณ์ฯ พร้อมความหมายภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ทั้งนี้ หากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนทั่วไป มีความประสงค์ขอใช้ตราสัญลักษณ์ฯ เพื่อประดับหรือประดิษฐานบนสิ่งของใด ๆ ก็ตาม ให้แจ้งความประสงค์ไปยังสำนักงานเลขานุการสมเด็จพระสังฆราช วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม และการจัดทำเข็มที่ระลึก งานฉลองพระชนมายุ 8 รอบ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามได้ดำเนินการออกแบบเข็มที่ระลึกฯ โดยสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นหน่วยงานแห่งเดียวที่ดำเนินการจัดทำเข็มที่ระลึก ซึ่งจะดำเนินการเพื่อจำหน่ายราคาเข็มละไม่เกิน 300 บาท เพื่อนำเงินรายได้หลังหักค่าใช้จ่าย ถวายสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก โดยเสด็จพระกุศลตามพระอัธยาศัย

โครงการและกิจกรรมร่วมเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในโอกาสฉลองพระชนมายุ 8 รอบ

[แก้]

การจัดทำโครงการและกิจกรรม จัดงานฉลองพระชนมายุ 8 รอบ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ได้แก่

(1) การจัดทำโครงการบรรพชาอุปสมบท 97 รูป ถวายพระกุศล สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ระหว่างวันที่ 15 มิถุนายน - 2 กรกฎาคม 2566 ณ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม โดยผู้ร่วมบรรพชาอุปสมบท เป็นข้าราชการ เจ้าหน้าที่ของหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน นักศึกษา และประชาชน จำนวน 97 คน และ

(2) การจัดทำโครงการและกิจกรรม งานฉลองพระชนมายุ 8 รอบ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ของวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม โดยจะจัดให้มีการลงนามถวายสักการะ ณ พระวิหาร วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ระหว่างวันที่ 19 - 25 มิถุนายน 2566 และมีการจัดสร้างพระกริ่ง เพื่อให้ประชาชนได้สักการะบูชา เป็นปูชนียวัตถุอนุสรณ์ในโอกาสฉลองพระชนมายุ 8 รอบ รวมทั้งจัดพิมพ์หนังสือบรรณานุสรณ์ในโอกาสฉลองพระชนมายุ 8 รอบ เพื่อมอบเป็นธรรมทาน

นอกจากนี้ ที่ประชุมได้พิจารณาการจัดทำโครงการและกิจกรรมร่วมเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในโอกาสฉลองพระชนมายุ 8 รอบ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบ 9 โครงการสำคัญ ดังนี้

(1) โครงการกำหนดประโยชน์ใช้สอยพื้นที่ภายในกระทรวงมหาดไทย ภายหลังจากกระทรวงมหาดไทยย้ายที่ทำการแล้ว เพื่อฉลองพระชนมายุ 8 รอบ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

(2) โครงการจัดสร้างสถาบันกรรมฐานศึกษาสมเด็จพระสังฆราช (อมฺพรมหาเถร) อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี

(3) โครงการทุนการศึกษาสมเด็จพระสังฆราช (อมฺพรมหาเถร) ในพระสังฆราชูปถัมภ์

(4) กิจกรรมการฉลองพระชนมายุ 8 รอบ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (ด้านการศึกษาเรียนรู้)

(5) โครงการ “ธรรมะ สานใจ สูงวัยพลังบวก” เนื่องในโอกาสฉลองพระชนมายุ 8 รอบ (96 พรรษา) สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

(6) โครงการอบรม “พระบริบาลภิกษุไข้” ประจำวัด 1 วัด 1 รูปทั่วไทย เฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (อมฺพรมหาเถร) สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ฉลองพระชนมายุ 8 รอบ

(7) โครงการพัฒนาวัดต้นแบบ

(8) โครงการจัดสร้างสิ่งสะสมพิเศษเพื่อเป็นที่ระลึกงานฉลองพระชนมายุ 8 รอบ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก และ

(9) โครงการจัดทำเหรียญที่ระลึก งานฉลองพระชนมายุ 8 รอบ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก โดยกรมธนารักษ์จะเป็นผู้จัดทำเหรียญที่ระลึก

ตำแหน่งปัจจุบัน

[แก้]

สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (อัมพร อมฺพโร) ทรงเป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 20 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

พระกรณียกิจด้านการปกครอง

[แก้]

พระกรณียกิจด้านการศึกษา

[แก้]
  • พ.ศ. 2554 - ปัจจุบัน เป็น นายกสภามหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย และนายกกรรมการบริหารมูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์
  • เป็น เจ้าสํานักเรียนวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม
  • เป็น ประธานศูนย์ธรรมศึกษา ในสํานักเรียนวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม
  • เป็น องค์อุปถัมภ์โรงเรียนวัดราชบพิธ

พระกรณียกิจด้านการเผยแพร่

[แก้]
  • พ.ศ. 2551 - พ.ศ. 2556 เป็น รองแม่กองงานพระธรรมทูต รูปที่ 2
  • พ.ศ. 2556 - พ.ศ. 2558 เป็น รองแม่กองงานพระธรรมทูต รูปที่ 1
  • พ.ศ. 2558 - ปัจจุบัน เป็น แม่กองงานพระธรรมทูต

พระเกียรติยศและพระเกียรติคุณ

[แก้]
ธรรมเนียมพระยศของ
สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (อมฺพรมหาเถร)
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
ตราประจำพระองค์
การทูลฝ่าพระบาท
การแทนตนเกล้ากระหม่อม/เกล้ากระหม่อมฉัน
การขานรับเกล้ากระหม่อม
พะย่ะค่ะ/เพคะ

สมณศักดิ์

[แก้]
  • 5 ธันวาคม พ.ศ. 2514 เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญเปรียญ ที่ พระปริยัติกวี,(สป.)[5]
  • 5 ธันวาคม พ.ศ. 2524 เป็นพระราชาคณะชั้นราช ในราชทินนามที่ พระราชสารสุธี ศรีปริยัติวราทร ยติคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี[6]
  • 5 ธันวาคม พ.ศ. 2533 เป็นพระราชาคณะชั้นเทพ ในราชทินนามที่ พระเทพเมธาภรณ์ สุนทรธรรมานุนายก วิสุทธิสาธกสาธุกิจ ยติคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี[7]
  • 5 ธันวาคม พ.ศ. 2538 เป็นพระราชาคณะชั้นธรรม ในราชทินนามที่ พระธรรมเมธาภรณ์ สุนทรวาสนวงศวิวัฒ ศรีปริยัติกิจจานุกิจ ปาพจนวิภูษิตคุณาลงกรณ์ ยติคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี[8]
  • 5 ธันวาคม พ.ศ. 2543 เป็นพระราชาคณะเจ้าคณะรอง ชั้นหิรัญบัฏ ในราชทินนามที่ พระสาสนโสภณ วิมลญาณอดุลสุนทรนายก ตรีปิฎกธรรมาลังการภูษิต ธรรมนิตยสาทร ศาสนกิจจานุกร ธรรมยุติกคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี[9]
  • 5 ธันวาคม พ.ศ. 2552 เป็นสมเด็จพระราชาคณะ ชั้นสุพรรณบัฏ ในราชทินนามที่ สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ พิพัฒนพงศ์วิสุต พุทธปาพจนานุศาสน์ วาสนวรางกูร วิบูลศีลสมาจารวัตรสุนทร ตรีปิฎกธรรมวราลงกรณวิภูษิต ธรรมยุตติกคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี อรัณยวาสี[10]
  • 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560 ทรงได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก มีพระนามตามที่จารึกในพระสุพรรณบัฏว่า สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สุขุมธรรมวิธานธำรง สกลมหาสงฆปริณายก ตรีปิฎกธราจารย อัมพราภิธานสังฆวิสุต ปาพจนุตตมสาสนโสภณ กิตตินิรมลคุรุฐานียบัณฑิต วชิราลงกรณนริศรปสันนาภิสิตประกาศ วิสารทนาถธรรมทูตาภิวุฒ ทศมินทรสมมุติปฐมสกลคณาธิเบศร ปวิธเนตโยภาสวาสนวงศวิวัฒ พุทธบริษัทคารวสถาน วิบูลสีลสมาจารวัตรวิปัสสนสุนทร ชินวรมหามุนีวงศานุศิษฏ บวรธรรมบพิตร สมเด็จพระสังฆราช[11]

คำอ่านพระนามสมเด็จพระสังฆราช

[แก้]

การออกพระนาม คือ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (อัมพร อมฺพโร)

คำอ่านพระนามสมเด็จพระสังฆราช อ่านว่า สม-เด็ด-พระ-อะ-ริ-ยะ-วง-สา-คะ-ตะ-ยาน-สม-เด็ด-พระ-สัง-คะ-ราด-สะ-กน-มะ-หา-สัง-คะ-ปะ-ริ-นา-ยก

คำอ่านพระนามเดิมและพระสมณฉายา คือ อัมพร อ่านว่า อำ-พอน / อมฺพโร อ่านว่า อัม-พะ-โร

คำแปลความหมายพระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัฏ

[แก้]

๑. “สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ” – สมเด็จพระผู้มีญาณสืบมาแต่วงศ์พระอริยเจ้า

(อ่านว่า : สม-เด็ด-พระ-อะ-ริ-ยะ-วง-สา-คะ-ตะ-ยาน)

๒. “สุขุมธรรมวิธานธำรง” – ทรงเป็นผู้มีธรรมวิธีอันละเอียดอ่อน

(อ่านว่า : สุ-ขุม-ทำ-มะ-วิ-ทาน-ทำ-รง)

๓. “สกลมหาสงฆปริณายก” – ทรงเป็นผู้นำพระสงฆ์หมู่ใหญ่ทั้งปวง

(อ่านว่า : สะ-กน-ละ-มะ-หา-สง-คะ-ปะ-ริ-นา-ยก)

๔. “ตรีปิฎกธราจารย” – ทรงเป็นอาจารย์ผู้ทรงไว้ซึ่งพระปริยัติธรรม คือ พระไตรปิฎก

(อ่านว่า : ตรี-ปิ-ดก-ทะ-รา-จาน)

๕. “อัมพราภิธานสังฆวิสุต” – ปรากฏพระนามฉายาในทางสงฆ์ว่า “อมฺพโร”

(อ่านว่า : อำ-พะ-รา-พิ-ทาน-สัง-คะ-วิ-สุด)

๖. “ปาพจนุตตมสาสนโสภณ” – ทรงงดงามในพระศาสนาด้วยทรงพระปรีชากว้างขวาง ในพระอุดมปาพจน์คือพระธรรมวินัย

(อ่านว่า : ปา-พด-จะ-นุด-ตะ-มะ-สาด-สะ-นะ-โส-พน)

๗. “กิตตินิรมลคุรุฐานียบัณฑิต” – ทรงดำรงพระเกียรติโดยปราศจากมลทิน และทรงเป็นครู

(อ่านว่า : กิด-ติ-นิ-ระ-มน-คุ-รุ-ถา-นี-ยะ-บัน-ดิด)

๘. “วชิราลงกรณนริศรปสันนาภิสิตประกาศ” – พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสถาปนา ด้วยเหตุที่ทรงพระราชศรัทธาเลื่อมใส

(อ่านว่า : วะ-ชิ-รา-ลง-กอน-นะ-ริด-ปะ-สัน-นา-พิ-สิด-ตะ-ประ-กาด)

๙. “วิสารทนาถธรรมทูตาภิวุฒ” – ทรงเป็นที่พึ่งผู้แกล้วกล้าและมีพระปรีชาฉลาดเฉลียว ทรงเป็นผู้ยังความเจริญแก่กิจการพระธรรมทูต

(อ่านว่า : วิ-สา-ระ-ทะ-นาด-ทำ-มะ-ทู-ตา-พิ-วุด)

๑๐. “ทศมินทรสมมุติปฐมสกลคณาธิเบศร” – ทรงเป็นใหญ่ในสงฆ์ทั้งปวง (คือทรงเป็นสมเด็จพระสังฆราช) พระองค์แรกที่ได้รับพระราชทานสถาปนาในรัชกาลที่ ๑๐

(อ่านว่า : ทด-สะ-มิน-สม-มุด-ปะ-ถม-สะ-กน-ละ-คะ-นา-ทิ-เบด)

๑๑. “ปวิธเนตโยภาสวาสนวงศวิวัฒ” – ทรงยังแสงสว่างแห่งแบบอย่างอันดีงามให้บังเกิด โดยเจริญรอยตามสมเด็จพระอุปัชฌายะ คือสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวราลงกรณ (วาสน์ วาสนมหาเถร)

(อ่านว่า : ปะ-วิด-ทะ-เนด-ตะ-โย-พาด-วาด-สะ-นะ-วง-สะ-วิ-วัด)

๑๒. “พุทธบริษัทคารวสถาน” – ทรงเป็นที่ตั้งแห่งความเคารพของพุทธบริษัท

(อ่านว่า : พุด-ทะ-บอ-ริ-สัด-คา-ระ-วะ-สะ-ถาน)

๑๓. “วิบูลสีลสมาจารวัตรวิปัสสนสุนทร” – ทรงงดงามในพระวิปัสสานาธุระ และทรงพระศีลาจารวัตรอันไพบูลย์

(อ่านว่า : วิ-บูน-สี-ละ-สะ-มา-จาน-ระ-วัด-วิ-ปัด-สะ-นะ-สุน-ทอน)

๑๔. “ชินวรมหามุนีวงศานุศิษฏ” – ทรงเป็นอนุศิษย์ผู้สืบวงศ์สมณะมาแต่พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า (หม่อมเจ้าภุชงค์ สิริวฑฺฒโน)

(อ่านว่า : ชิน-นะ-วอน-มะ-หา-มุ-นี-วง-สา-นุ-สิด)

๑๕. “บวรธรรมบพิตร” – ทรงเป็นเจ้าผู้ประเสริฐในทางธรรม

(อ่านว่า : บอ-วอน-ทำ-มะ-บอ-พิด)

๑๖. “สมเด็จพระสังฆราช” – ทรงเป็นราชาแห่งหมู่สงฆ์

(อ่านว่า : สม-เด็ด-พระ-สัง-คะ-ราด)

ตราประจำพระองค์สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (อัมพร อมฺพโร)

[แก้]

สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (อัมพร อมฺพโร) ทรงเป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 20 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

ตราประจำพระองค์สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (อัมพร อมฺพโร) เป็นตราพระนามย่อ อ.อ.ป. ภายใต้เศวตฉัตร 3 ชั้น

  • อักษร "อ" ตัวแรก เป็นสีแดง (หมายถึง พระนามของพระองค์ "อัมพร" และเป็นสีประจำวันคล้ายวันประสูติ; วันอาทิตย์)
  • อักษร "อ" ตัวที่สอง เป็นสีเหลือง (หมายถึง พระฉายานามของพระองค์ "มฺพโร" และเป็นสีอาสนะประจำตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช และสีของกาสาวพัสตร์ เป็นสมณคุณ)
  • อักษร "ป" เป็นสีฟ้าเทา (หมายถึง นามสกุลของพระองค์ "ระสัตถพงศ์" และเป็นสีประจำจังหวัดราชบุรี ซึ่งเป็นชาติภูมิ)

ปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์

[แก้]

ปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ที่มหาวิทยาลัยทูลถวาย เจ้าพระคุณ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก มีดังต่อไปนี้

  • พ.ศ. 2561 : ศึกษาศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาการบริหารการศึกษา มหาวิทยาลัยพะเยา

พัดอิสริยาภรณ์

[แก้]
  • พ.ศ. 2566 ได้รับพระราชทานพัดรัตนาภรณ์ ว.ป.ร.ชั้นที่ 1[12] (26 มิถุนายน พ.ศ. 2566)

เครื่องอิสริยาภรณ์ต่างประเทศ

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. โปรดเกล้าฯ “สมเด็จพระมหามุนีวงศ์” เป็นสังฆราช องค์ที่ 20
  2. "กรรมการมหาเถรสมาคม". มหาเถรสมาคม. 25 สิงหาคม 2553. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-01-27. สืบค้นเมื่อ 17 พฤษภาคม 2558. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  3. กรมศิลปากร. เรื่องตั้งพระราชาคณะผู้ใหญ่ในกรุงรัตนโกสินทร์ เล่ม ๒. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2545. 450 หน้า. หน้า 248-9. ISBN 974-417-530-3
  4. "พิธีบำเพ็ญกุศลสมโภชสุพรรณบัฏและถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ แด่ สมเด็จพระมหามุนีวงศ์". มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. 25 สิงหาคม 2553. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-05. สืบค้นเมื่อ 17 พฤษภาคม 2558. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  5. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์, เล่ม 88, ตอนที่ 151, วันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2514, หน้า 7
  6. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์, เล่ม 98, ตอนที่ 206, วันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2524, หน้า 3
  7. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์, เล่ม 107, ตอนที่ 242, วันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2533, หน้า 2-3
  8. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์, เล่ม 112, ตอนพิเศษ 47ง, 13 ธันวาคม 2538, หน้า 3
  9. ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการ ประกาศสถาปนาสมณศักดิ์, เล่ม 117, ตอนที่ 28 ข, 28 ธันวาคม 2543, หน้า 7-9
  10. ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการ ประกาศสถาปนาสมณศักดิ์, เล่ม 127, ตอนที่ 7 ข, 9 กรกฎาคม 2553, หน้า 1-3
  11. "พระราชโองการ ประกาศสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช [สมเด็จพระมหามุนีวงศ์]" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 12 กุมภาพันธ์ 2560. สืบค้นเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2560. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  12. admin (2023-06-27). "พัดรัตนาภรณ์ ว.ป.ร.ชั้น 1". มติรัฐออนไลน์ (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
  13. Full list of Padma awardees 2018
  14. Padma awards 2018: Ilayaraja, Ghulam Mustafa Khan get Padma Vibhushan
  15. เอกอัครราชทูตอินเดียประจำประเทศไทย ถวายอิสริยาภรณ์ ปัทมศรี แด่เจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราช
  16. เครื่องอิสริยาภรณ์ปัทมศรี อินเดียถวาย ‘พระสังฆราช’

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]
ก่อนหน้า สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (อัมพร อมฺพโร) ถัดไป
สมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน)
สมเด็จพระสังฆราชแห่งกรุงรัตนโกสินทร์
(พ.ศ. 2560–ปัจจุบัน)
อยู่ในตำแหน่ง
สมเด็จพระวันรัต (จุนท์ พฺรหฺมคุตฺโต) ไฟล์:ธรรมยุตินิกาย.gif
เจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุต
(2560–ปัจจุบัน)
ยังอยู่ในตำแหน่ง
สมเด็จพระพุทธปาพจนบดี (ทองเจือ จินฺตากโร)
เจ้าอาวาสวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม
(พ.ศ. 2551–ปัจจุบัน)
ยังอยู่ในตำแหน่ง