คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
![]() | |
คําขวัญ | วิทยาศาสตร์ก้าวหน้า ด้วยปัญญาและคุณธรรม |
---|---|
ชื่ออังกฤษ | Faculty of Science, Mahasarakham University |
อักษรย่อ | วท. / SC |
สังกัด | มหาวิทยาลัยมหาสารคาม |
ที่อยู่ | เลขที่ 41 หมู่ 20 ต.ขามเรียง อ.กันทรวิชัย จ.มหาสารคาม 44150 โทรศัพท์/โทรสาร 0-4375-4247-8 |
วันก่อตั้ง | 27 มีนาคม พ.ศ. 2511 |
คณบดี | ศ.ดร.ไพโรจน์ ประมวล |
วารสาร | วารสารวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี |
สีประจําคณะ | ███ สีเหลือง |
เว็บไซต์ | https://science.msu.ac.th |
คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม (อังกฤษ : Faculty of Science, Mahasarakham University) เป็นส่วนราชการไทยระดับคณะวิชาสังกัดมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ทำการเปิดในระดับปริญญาตรี ปริญญาโทและปริญญาเอก มีทั้งหมด 25 สาขาวิชา ก่อตั้งในปี 2511 ในชื่อ คณะวิชาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ เป็น 1 ใน 3 คณะเริ่มต้นของมหาวิทยาลัยมหาสารคามตั้งแต่สมัยยังเป็นวิทยาลัยวิชาการศึกษามหาสารคาม[1] ร่วมกับคณะวิชาการศึกษา และคณะวิชามนุษยธรรมศึกษาและสังคมศาสตร์ โดยเป็นคณะวิชาที่เปิดสอนวิชาพื้นฐานให้กับจึงยังไม่ได้เปิดรับนิสิต โดยเปิดสอนวิชาพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ในหลักสูตรการศึกษาบัณฑิต (กศ.บ.) วิชาเอกชีววิทยา วิชาโทเคมี ให้กับคณะวิชาการศึกษา และรับนิสิตในหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิตของตนเองรุ่นแรกในปี 2531
ประวัติ[แก้]
คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้รับการจัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2511 โดยเริ่มก่อกำเนิด มาจาก “คณะวิชาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์”[2] ของวิทยาลัยวิชาการการศึกษามหาสารคาม พร้อมกับคณะวิชาการศึกษาและคณะวิชามนุษยธรรมศึกษาและสังคมศาสตร์ โดยเป็นคณะวิชาที่เปิดสอนวิชาพื้นฐานให้กับจึงยังไม่ได้เปิดรับนิสิต โดยเปิดสอนวิชาพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ในหลักสูตรการศึกษาบัณฑิต (กศ.บ.) วิชาเอกชีววิทยา วิชาโทเคมี ให้กับคณะวิชาการศึกษา เนื่องจากรัฐบาลมีความต้องการใช้การศึกษาพัฒนาชุมชนในชนบท โดยเร่งผลิตครูที่มีคุณภาพและจำนวนมากพอเพียงออกไปเป็นผู้นำ ในส่วนของสถานที่ทำการเรียนการสอนของคณะวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ในระยะแรกนั้น (พ.ศ. 2511-2515 ที่ตั้ง ม.เก่า) นิสิตที่เรียนสาขาด้านวิทยาศาสตร์ต้องเรียนรวมกับนิสิตสาขาอื่นๆ ที่อาคารเรียนหลังที่ 1 ซึ่งการใช้อาคารนั้นแบ่งออกเป็นสองส่วน คือชั้น 3-4 ให้กลุ่มวิชาทางวิทยาศาสตร์ใช้ฝั่งตะวันออก และฝั่งตะวันตกของอาคารให้ทางกลุ่มวิชามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ใช้ส่วนชั้น 1-2 ใช้เป็นสำนักงานรองอธิการ อย่างไรก็ตามการแบ่งการใช้นั้นไม่ได้ยึดเคร่งมาก เพียงแต่แบ่งเพื่อความง่าย สะดวกในการใช้สอย ให้เป็นสัดส่วนเท่านั้น
ต่อมาในช่วงปี พ.ศ. 2511-2515 วิทยาลัยได้ขยายพื้นที่มายังฝั่งตรงข้ามซึ่งเดิมเคยเป็นสนามแข่งม้าของจังหวัดมหาสารคาม[3] และได้สร้างอาคารเรียนหลังที่ 2 และหลังที่ 3 ขึ้นมา จากนั้นนิสิตที่เรียนทางด้านวิทยาศาสตร์จึงย้ายมาใช้อาคารเรียนหลังที่ 3 ส่วนอาคารหลังที่ 2 ใช้ เป็นสำนักงานรองอธิการบดี สำหรับอาคารเรียนหลังที่ 1 ใช้เป็นอาคารเรียนของนิสิตที่เรียนวิชาพื้นฐานด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ของคณะวิชามนุษยธรรมศึกษาและสังคมศาสตร์ และคณะวิชาการศึกษา
พ.ศ.2512 ร่วมกับคณะวิชาการศึกษา เปิดสอนในหลักสูตรการศึกษาบัณฑิต (กศ.บ.) วิชาเอกชีววิทยา วิชาโทเคมีและคณิตศาสตร์
พ.ศ.2513 ร่วมกับคณะวิชาการศึกษา เปิดสอนในหลักสูตรการศึกษาบัณฑิต (กศ.บ.) วิชาเอกชีววิทยา คณิตศาสตร์และวิชาโทชีววิทยา,เคมี,คณิตศาสตร์ และฟิสิกส์
พ.ศ.2516 ร่วมกับคณะวิชาการศึกษา เปิดสอนในหลักสูตรการศึกษาบัณฑิต (กศ.บ.) วิชาเอก และโทชีววิทยา เคมีคณิตศาสตร์ และฟิสิกส์
ต่อมาในปี พ.ศ. 2517 วิทยาลัยวิชาการการศึกษามหาสารคามได้ถูกโอนเข้าไปสังกัดในทบวงมหาวิทยาลัย พร้อมยกฐานะวิทยาลัยวิชาการศึกษามหาสารคามและทั่วประเทศขึ้นเป็นมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ[4] ตามด้วยชื่อสถานที่ตั้งของวิทยาลัยเดิมเป็นวิทยาเขต คณะวิชาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ วิทยาลัยวิชาการศึกษามหาสารคาม จึงทอนชื่อคณะจากเดิมชื่อว่า “คณะวิชาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์” มาเป็น “คณะวิทยาศาสตร์” ตั้งแต่วันที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2518 กลายเป็น “คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิทยาเขตมหาสารคาม”[5] การปรับโอนในครั้งนี้ ทำให้มีการปรับเปลี่ยนหลักสูตรจากเดิมที่มุ่งเน้นการผลิตครูเป็นหลัก มาเป็นการมุ่งผลิตนักวิทยาศาสตร์ ทำให้บุคลากรของคณะวิทยาศาสตร์ หันมาให้ความสำคัญในการทำวิจัยเพิ่มขึ้น งานวิจัยในระยะแรกเน้นไปทางด้านเกษตร โดยเฉพาะการวิจัยทางด้านโภชนาการซึ่งมี ผศ.วรากร วราอัศวปติ เป็นกำลังสำคัญ เนื่องจากช่วงเวลานั้นเด็กในภาคอีสานมีปัญหาทางด้านภาวะทุพโภชนาระดับรุนแรง ต่อมางานวิจัยเหล่านี้ ทำให้เกิดการจัดการศึกษาและตั้งคณะเทคโนโลยีขึ้นในภายหลัง โดยคณะวิทยาศาสตร์ได้ร่วมกับคณะศึกษาศาสตร์ ผลิตบัณฑิตทางการศึกษาหลักสูตรการศึกษาบัณฑิต (กศ.บ.) ในสาขาวิชาชีววิทยา เคมี ฟิสิกส์ คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ทั่วไป
พ.ศ.2518 ร่วมกับคณะศึกษาศาสตร์ เปิดสอนหลักสูตรการศึกษาบัณฑิต (กศ.บ.) วิชาเอกคณิตศาสตร์
พ.ศ.2524 ร่วมกับคณะศึกษาศาสตร์ผลิตบัณฑิตทางการศึกษา หลักสูตรการศึกษาบัณฑิต (กศ.บ.) สาขาวิทยาศาสตร์เกษตร ผลิตมหาบัณฑิตหลักสูตรการศึกษามหาบัณฑิต (กศ.ม.) สาขาวิชาชีววิทยา และหลักสูตรการศึกษามหาบัณฑิตการมัธยมศึกษา (กศ.ม.) สาขาวิชาการสอนวิทยาศาสตร์
พ.ศ.2531 ผลิตบัณฑิตหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต (วท.บ.) สาขาวิชาสถิติ เป็นสาขาวิชาแรกที่เปิดรับนิสิตภายใต้ชื่อคณะวิทยาศาสตร์ หลังจากที่ผลิตบัณฑิตร่วมกับคณะศึกษาศาสตร์ยาวนานถึง 20 ปี
พ.ศ.2532 ผลิตบัณฑิตหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต (วท.บ.) สาขาวิชาชีววิทยา และร่วมกับคณะศึกษาศาสตร์ ผลิตมหาบัณฑิตหลักสูตรการศึกษามหาบัณฑิต (กศ.ม.) สาขาวิชาวิทยาศาสตร์การศึกษา
พ.ศ.2534 ผลิตบัณฑิตหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต (วท.บ.) สาขาวิชาเคมี
พ.ศ.2536 ผลิตบัณฑิตหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต (วท.บ.) สาขาวิชาฟิสิกส์ประยุกต์
ในปี พ.ศ. 2537 ได้มีการปรับโครงสร้างของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ โดยมีการแยกวิทยาเขตมหาสารคามออกมาบริหารงานเองอย่างเป็นเอกเทศและยกระดับขึ้นเป็น มหาวิทยาลัยมหาสารคาม[6] นับเป็นมหาวิทยาลัยของรัฐแห่งที่ 19 ของประเทศไทย ส่งผลให้เป็นที่มาของชื่อดังปรากฏในปัจจุบันคือ “คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม” ใช้ชื่อภาษาอังกฤษว่า “Faculty of Science, Mahasarakham University”[7] ซึ่งมีการบริหารจัดการและแบ่งส่วนราชการแยกเป็นภาควิชาและสำนักงานเลขานุการ ในส่วนภาควิชาแบ่งเป็น 5 ภาควิชา คือ ภาควิชาคณิตศาสตร์ ภาควิชาชีววิทยา ภาควิชาเคมี ภาควิชาฟิสิกส์ และภาควิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์[8]
หลังจากยกฐานะเป็นมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ในปี พ.ศ. 2537 มหาวิทยาลัยได้มีการก่อสร้างอาคารและหน่วยงานต่างๆในเขตพื้นที่ขามเรียงขึ้น รวมถึงอาคารคณะวิทยาศาสตร์ด้วย เมื่ออาคารเรียนสร้างแล้วเสร็จ จึงได้ย้ายที่ทำการจากที่ตั้งตำบลตลาด อำเภอเมือง จังหวัดมหาสารคาม มายังที่ตั้งตำบลขามเรียง อำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม ใน พ.ศ. 2542 คืออาคารวิทยาศาสตร์ SC1 หรือเป็นที่รู้จักกันของบุคลากรและนิสิตมหาวิทยาลัยมหาสารคาม “ตึก SC1 คณะวิทยาศาสตร์”
พ.ศ.2538 ผลิตบัณฑิตหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต (วท.บ.) สาขาวิชาระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการ
พ.ศ.2539 ตั้งภาควิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ และผลิตบัณฑิตหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต (วท.บ.) สาขาวิชาวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์
ต่อมาในปี 2542 ภาควิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ ได้แยกออกจากคณะวิทยาศาสตร์เพื่อไปจัดตั้งเป็น คณะวิศวกรรมศาสตร์และวิทยาการคอมพิวเตอร์ (ในปัจจุบันได้แยกออกจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ฯ และดำเนินงานอยู่ในคณะวิทยาการสารสนเทศ) ทำให้คณะวิทยาศาสตร์เหลือภาควิชาเพียง 4 ภาควิชาคือ ภาควิชาคณิตศาสตร์ ภาควิชาชีววิทยา ภาควิชาเคมีและภาควิชาฟิสิกส์ พร้อมทั้งเปิดหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต เพิ่มอีก 2 หลักสูตรได้แก่ สาขาวิชาคณิตศาสตร์ และสาขาวิชาฟิสิกส์ และย้ายที่ทำการของคณะวิทยาศาสตร์จากบ้านโนนศรีสวัสดิ์ ตำบลตลาด อำเภอเมือง จังหวัดมหาสารคาม มาที่ตำบลขามเรียง อำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม (ที่ตั้งปัจจุบัน)
พ.ศ.2543 เปิดหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (วท.ม.) สาขาวิชาเคมีศึกษา และชีววิทยาศึกษา
พ.ศ.2545 เปิดหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (วท.ม.) สาขาวิชาชีววิทยา
พ.ศ.2546 เปิดหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (วท.ม.) สาขาวิชาเคมี
พ.ศ.2547 เปิดหลักสูตรปริญญาตรีรวม 6 หลักสูตร ปริญญาโท 4 หลักสูตร และปรับปรุงหลักสูตรปริญญาตรี 3 หลักสูตร ได้แก่ สาขาเคมี สาขาชีววิทยา และสาขาสถิติ
พ.ศ.2548 คณะวิทยาศาสตร์มีโครงการเปิดหลักสูตรวิทยาศาสตร์มหาบัณฑิตจำนวน 3 หลักสูตร ได้แก่ สาขาฟิสิกส์ศึกษา สาขาคณิตศาสตร์ศึกษา สาขาบรรพชีวินวิทยา และเปิดหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต จำนวน 3 หลักสูตร ได้แก่ สาขาวิชาเคมี สาขาวิชาชีววิทยา และสาขาบรรพชีวินวิทยา (หลักสูตรนานาชาติ)
ปัจจุบัน คณะวิทยาศาสตร์ เป็นหน่วยงานในระบบราชการสังกัดมหาวิทยาลัยมหาสารคาม แบ่งการบริหารงานเป็นระดับภาควิชาซึ่งมีจำนวน 4 ภาควิชา คือ ภาควิชาเคมี ภาควิชาชีววิทยา ภาควิชาฟิสิกส์ ภาควิชาคณิตศาสตร์ และสำนักงานเลขานุการคณะวิทยาศาสตร์ มีบุคลากรทั้งหมด 206 คน โดยมีอาจารย์ประจำทั้งหมด 150 คน และบุคลากรสายสนับสนุนทั้งหมด 56 คน มีนิสิตจำนวน 2,033 คน ประกอบด้วยปริญญาตรีจำนวน 1,893 คน และนิสิตระดับบัณฑิตศึกษา จำนวน 140 คน[9]
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา คณะวิทยาศาสตร์ได้ให้ความสำคัญกับการผลิตบัณฑิตและงานวิจัยที่มีคุณภาพอย่างต่อเนื่อง ดังเช่นการสร้างหลักสูตรบรรพชีวินวิทยา(นานาชาติ)แห่งแรกในประเทศไทย และจัดตั้งพิพิธภัณฑ์เห็ดที่มีฤทธิ์ทางยา แห่งแรกในภูมิภาคเอเชีย เพื่อผสมผสานภูมิปัญญาท้องถิ่นให้ลงตัวและเกิดประโยชน์อย่างสูงสุดต่อชุมชน
หน่วยงานภายในคณะ[แก้]
- สำนักงานเลขานุการคณะวิทยาศาสตร์
- กลุ่มงานบริหาร
- กลุ่มงานนโยบาย แผนและคลัง
- กลุ่มงานวิชาการและพัฒนานิสิต
- ภาควิชาคณิตศาสตร์
- ภาควิชาฟิสิกส์
- ภาควิชาเคมี
- ภาควิชาชีววิทยา
- พิพิธภัณฑ์เห็ดที่มีฤทธิ์ทางยา
- หน่วยบริการวิชาการด้านเครื่องมือวิทยาศาสตร์
- ศูนย์วิจัยและพัฒนาตักสิลาเพื่อการจัดการพลังงานและสิ่งแวดล้อม
- ศูนย์บริการวิชาการ
- โครงการห้องเรียนวิทยาศาสตร์ในโรงเรียน โดยกำกับดูแลของมหาวิทยาลัย (วมว.) ร่วมกับโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยมหาสารคาม (ฝ่ายมัธยม)
หลักสูตร[แก้]
คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เปิดทำการเรียนการสอนในระดับปริญญาตรี ปริญญาโทและปริญญาเอก มีหลักสูตรทั้งหมด 4 หลักสูตร 25 สาขาวิชา แบ่งเป็นหลักสูตรปกติ 24 สาขาวิชาและหลักสูตรนานาชาติ 1 สาขาวิชา ได้แก่
หลักสูตรที่เปิดสอนในคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม | |||
---|---|---|---|
กลุ่มวิชา/ภาควิชา/สาขาวิชา | ระดับปริญญาบัณฑิต | ระดับปริญญามหาบัณฑิต | ระดับปริญญาดุษฎีบัณฑิต |
รวมทุกภาควิชา |
หลักสูตรการศึกษามหาบัณฑิต (กศ.ม.)
|
หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต (ปร.ด.)
| |
ภาควิชาคณิตศาสตร์ |
หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต (วท.บ.)
|
หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (วท.ม.)
|
หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต (ปร.ด.)
|
ภาควิชาฟิสิกส์ |
หลักสูตรการศึกษาบัณฑิต (กศ.บ.)
หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต (วท.บ.)
|
หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (วท.ม.)
|
หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต (ปร.ด.)
|
ภาควิชาชีววิทยา |
หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต (วท.บ.)
|
หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (วท.ม.)
|
หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต (ปร.ด.)
|
ภาควิชาเคมี |
หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต (วท.บ.)
|
หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (วท.ม.)
|
หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต (ปร.ด.)
|
สถานที่ตั้งและพื้นที่[แก้]
คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ตั้งอยู่เลขที่ 41 หมู่ 20 ตำบลขามเรียง อำเภอกันทรวิชัย ประกอบด้วยอาคารเรียนหลัก 3 หลังได้แก่ อาคารวิทยาศาสตร์กายภาพ (SC1) อาคารวิทยาศาสตร์ชีวภาพ (SC2) และอาการปฏิบัติการกลางทางวิทยาศาสตร์ (SC3) ตั้งอยู่ระหว่างคณะเทคโนโลยี คณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะวิทยาการสารสนเทศ และสำนักวิทยบริการ
เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2539 มหาวิทยาลัยมหาสารคามได้มีการก่อสร้างอาคารคณะวิทยาศาสตร์ SC1 ขึ้น แล้วเสร็จเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2541 ผู้ออกแบบโดยบริษัท CAPE มี หจก. กำจรกิจก่อสร้าง เป็นผู้รับจ้าง เพื่อใช้เป็นอาคารเรียนของคณะวิทยาศาสตร์ ลักษณะอาคารเป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก สูง 4 ชั้น พื้นที่ใช้สอย 13,500 ตาราง วงเงินก่อสร้าง 162,000,000 บาท อาคารคณะวิทยาศาสตร์ SC1 เป็นอีกอาคารที่มีความสำคัญมาก มีห้องปฏิบัติการทางด้านวิทยาศาสตร์ที่ทันสมัย มีห้องประชุมขนาดใหญ่ เป็นสถานที่ที่จัดกิจกรรมสำคัญๆ เช่น การประชุมสัมมนาระดับนานาชาติ ตลอดจนงานสัปดาห์วันวิทยาศาสตร์ ที่ทางคณะได้จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี มีนักเรียนจากโรงเรียนต่างๆในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเข้าร่วมกิจกรรมเกิดแรงบันดาลใจเป็นนักวิทยาศาสตร์ เป็นนักวิจัย มีห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ให้นักเรียนได้ทดลอง โดยคณะวิทยาศาสตร์ได้ใช้อาคารคณะวิทยาศาสตร์ SC1 เป็นอาคารเรียนของคณะ ผลิตบัณฑิตไปรับใช้ประเทศชาติจำนวนมาก
ปัจจุบันอาคารวิทยาศาสตร์ SC1 เป็นที่ทำการของภาควิชาสังกัดคณะวิทยาศาสตร์ประกอบด้วย
- ชั้น 1 ภาควิชาคณิตศาสตร์
- ชั้น 2 ภาควิชาฟิสิกส์
- ชั้น 3 ภาควิชาชีววิทยา
- ชั้น 4 ภาควิชาเคมี
มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้ก่อสร้างอาคารวิทยาศาสตร์ชีวภาพพร้อมครุภัณฑ์ขึ้น โดยใช้งบประมาณปี 2541-2543 วงเงินก่อสร้าง 122,000,000 บาท เลขที่สัญญาจ้าง จ.12/2541 สัญญาจ้างลงวันที่ 24 กรกฎาคม 2541 จำนวนงวดงาน 15 งวดงาน กำหนดวันแล้วเสร็จ 8 กันยายน 2543 ผู้ออกแบบ CAPE ข้อมูลแบบ พิมพ์เขียว บริษัทผู้รับจ้าง หจก.กำจรกิจก่อสร้าง เพื่อใช้เป็นอาคารเรียนและห้องปฏิบัติการคณะวิทยาศาสตร์ ชื่อ อาคารวิทยาศาสตร์ชีวภาพ หรือ อาคาร SC2 ลักษณะอาคาร เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก สูง 4 ชั้น พื้นที่ใช้สอย 11,000 ตารางเมตร
ปัจจุบันอาคารวิทยาศาสตร์ชีวภาพ หรืออาคาร SC2 ประกอบด้วย 4 ชั้น ได้แก่
- ชั้น 1 ห้องบรรยาย
- ชั้น 2 ห้องบรรยาย ห้องปฏิบัติการทางเคมี ห้องพักอาจารย์ ห้องสำนักงานและห้องเรียนโครงการ วมว.
- ชั้น 3 ห้องพิพิธภัณฑ์เห็ดที่มีฤทธิ์ทางยา ห้องปฏิบัติการทางจุลชีววิทยา ห้องพักอาจารย์
- ชั้น 4 ห้องนิทรรศการอัญมณีใต้ท้องทะเล ห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์หน่วยวิจัย
ทำเนียบคณบดี[แก้]
รายนามผู้บริหารและคณบดีคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ตั้งแต่ก่อตั้งจนถึงปัจจุบันมีดังนี้ (เท่าที่มีการบันทึก)
ทำเนียบผู้บริหารคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม | ||
---|---|---|
หัวหน้าคณะวิชาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ วิทยาลัยวิชาการศึกษามหาสารคาม | ||
รายนามหัวหน้าคณะ | วาระการดำรงตำแหน่ง | |
1. ศาสตราจารย์ ดร.พิทักษ์ รักษพลเดช | พ.ศ. 2511 - 2514 | |
2. รองศาสตราจารย์ ดร.ประยงค์ พงษ์ทองเจริญ | พ.ศ. 2514 - 2517 | |
รองคณบดีคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิทยาเขตมหาสารคาม | ||
รายนามรองคณบดี | วาระการดำรงตำแหน่ง | |
1. รองศาสตราจารย์ ดร.ไพฑรูย์ สุขศรีงาม (รักษาราชการแทน) | พ.ศ. 2517 - 2523 | |
2. รองศาสตราจารย์ ดร.ไพฑรูย์ สุขศรีงาม | พ.ศ. 2523 - 2527 | |
3. รองศาสตราจารย์มยุรี ภารการ | พ.ศ. 2527 - 2530 | |
4. ดร.อุษา กลิ่นหอม | พ.ศ. 2530 - 2534 | |
5. ผู้ช่วยศาสตราจารย์สกล คงบุญ | พ.ศ. 2534 - 2538 | |
คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม | ||
รายนามคณบดี | วาระการดำรงตำแหน่ง | |
1. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุเทพ อุสาหะ | พ.ศ. 2538 - 2540 | |
2. รองศาสตราจารย์ ดร.วันชัย ดีเอกนามกูล | พ.ศ. 2540 - 2544 | |
3. ศาสตราจารย์ ดร.เรือน สมณะ | พ.ศ. 2544 - 2549 | |
4. รองศาสตราจารย์จีระพรรณ สุขศรีงาม | พ.ศ. 2549 - 2553 | |
5. ศาสตราจารย์ ดร.ละออศรี เสนาะเมือง | พ.ศ. 2553 - 2556 | |
6. ศาสตราจารย์ ดร.วิเชียร มากตุ่น | พ.ศ. 2557 - 2560 | |
7. ศาสตราจารย์ ดร.ไพโรจน์ ประมวล | พ.ศ. 2561 - ปัจจุบัน |
หมายเหตุ คำนำหน้านามของผู้ดำรงตำแหน่งคณบดี เป็นคำนำหน้านามตามตำแหน่งทางวิชาการในขณะนั้น
พิพิธภัณฑ์เห็ดที่มีฤทธิ์ทางยา[แก้]
พิพิธภัณฑ์เห็ดที่มีฤทธิ์ทางยา (อังกฤษ: Natural Medicinal Mushroom Museum) เป็นพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาด้านพฤกษศาสตร์ในมหาวิทยาลัยมหาสารคาม เป็นสถานจัดแสดงพันธุ์เห็ดต่างๆ ที่มีฤทธิ์ทางยา และเป็นหน่วยงานในกำกับดูแลโดยคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ตั้งอยู่ภายในมหาวิทยาลัยมหาสารคามเขตพื้นที่ขามเรียง
พิพิธภัณฑ์เห็ดที่มีฤทธิ์ทางยา ก่อตั้งในปี 2550 โดยคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคามและได้รับความร่วมมือจากศูนย์วิจัยเห็ดฟิลินัสธรรมชาติ ไทย-เกาหลี (Thai – Korea Natural Phellinus Mushroom Research Center) มีวัตถุประสงค์หลักที่สำคัญคือ การรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับเห็ดที่มีฤทธิ์ทางยา ทั้งเห็ดในภาคอีสานและเห็ดที่มีการวิจัยหรือได้รับความสนใจในต่างประเทศ เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ อันจะนำไปสู่การพัฒนาตัวยาใหม่ๆ เพื่อช่วยชีวิตมนุษย์โดยเฉพาะโรคที่ยาแผนปัจจุบันยังรักษาไม่ได้ ซึ่งโครงการพิพิธภัณฑ์ได้เริ่มดำเนินการเมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2550 และตัวโครงการได้แล้วเสร็จเดือนสิงหาคม ปี 2550 และได้รับพระกรุณาจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จมาเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2550 ถือเป็นพิพิธภัณฑ์เห็ดที่มีฤทธิ์ทางยาแห่งแรกในประเทศไทยและเอเชีย[10]
พิพิธภัณฑ์เห็ดที่มีฤทธิ์ทางยาได้ดำเนินการจัดเก็บข้อมูลในรูปแบบฐานข้อมูล โดยกำหนดหมายเลขเป็นInternational Index Herbarium Code คือ MSUT ปัจจุบันมีมากกว่า 4000 ตัวอย่าง นอกจากนี้ยังมีบริการรับฝากตัวอย่างเห็ดโดยให้หมายเลข MSUT พร้อมกับมีหมายเลขผู้เก็บตัวอย่าง (Collector Number) ทั้งนี้สามารถรับแบบฟอร์มการรับฝากตัวอย่างได้ทีพิพิธภัณฑ์เห็ดที่มีฤทธิ์ทางยา[11]
พิพิธภัณฑ์เห็ดที่มีฤทธิ์ทางยา ยังคงเปิดให้ประชาชนที่สนใจได้ศึกษาข้อมูล ที่จะเรียนรู้ นับเป็นสถานที่ที่น่าสนใจและมีความหลากหลายทางชีววิทยาและเห็ดธรรมชาติซางฮวงเป็นอย่างมาก นอกจากนี้ พิพิธภัณฑ์เห็ดที่มีฤทธิ์ทางยายังได้มีการให้บริการทางด้านวิชาการแก่นิสิต นักศึกษา และผู้ที่สนใจ ทั้งในเรื่องของการให้ยืมตัวอย่างเพื่อการศึกษาวิจัย หรือให้คำแนะนำต่างๆ ที่เป็นประโยชน์แก่ผู้ที่มีข้อสงสัยในเรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวกับเห็ด รวมถึงเป็นแหล่งเรียนรู้ของเยาวชนในพื้นที่และบริเวณใกล้เคียง
ปัจจุบันพิพิธภัณฑ์เห็ดฯ ได้รับการจดทะเบียนเป็น International Herbarium Index โดยมีรหัส คือ MSUT ซึ่งสามารถขอยืมตัวอย่างและขอความร่วมมือจากพิพิธภัณฑ์อื่นทั่วโลกที่อยู่ในฐานข้อมูล และพิพิธภัณฑ์เห็ดฯ ยังมีความร่วมมือกับสถาบันวิจัยทั้งในประเทศและต่างประเทศเป็นอย่างดี เช่น The Field Museum, Chicago ประเทศสหรัฐอเมริกา[12]
ทุกปีคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม จะจัดงานสัปดาห์วันวิทยาศาสตร์ และจะเปิดพิพิธภัณฑ์เห็ดที่มีฤทธิ์ทางยานี้ให้นักเรียนนักศึกษาได้เข้าชมฟรี โดยตัวอย่างเห็ดจะอยู่ในรูปของ เห็ดแห้ง และเห็ดที่อยู่ในโถดอง อีกทั้งยังมีผลิตภัณฑ์ตัวอย่างที่ทำมาจากเห็ดอีกด้วย ซึ่งจะมีการแสดงแผนภาพเพื่อให้ความรู้แก่ผู้เยี่ยมชม[13]
หน่วยวิจัย[แก้]
หน่วยปฏิบัติการวิจัย และผลงานวิจัยของหน่วยวิจัย คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม จำนวนทั้งสิ้น 20 หน่วยวิจัย ดังนี้[14][15]
|
|
อันดับและการรับรองมาตรฐาน[แก้]
คณะวิทยาศาสตร์ ได้รับการจัดอันดับ SCD Faculty Rankings 2021 ระดับคณะเป็นอันดับที่ 2 ของประเทศ ซึ่งเป็นการจัดอันดับการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน จากมูลนิธิส่งเสริมทบวงมหาวิทยาลัย ประจำปี 2021 ใน ด้าน “POLICY & RESEARCH” รองจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม[16]
ศิษย์เก่าที่มีชื่อเสียง[แก้]
- ชลิตา ส่วนเสน่ห์ เป็นผู้ชนะเลิศและดำรงตำแหน่ง มิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ 2559 ศิษย์เก่าคณะวิทยาศาสตร์[17]
อ้างอิง[แก้]
- ↑ คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม. ประวัติคณะศึกษาศาสตร์. สืบค้นเมื่อ 18 เมษายน 2564.
- ↑ สาร MSU Online. อาคารคณะวิทยาศาสตร์ SC1. 10 พฤษภาคม 2565.
- ↑ สาร MSU Online. วิทยาลัยวิชาการฯ ขยายพื้นที่มาสนามม้า. 10 พฤษภาคม 2565.
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา. พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ พ.ศ. ๒๕๑๗. สืบค้นเมื่อ 19 กันยายน 2564.
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา. ประกาศทบวงมหาวิทยาลัย. การแบ่งส่วนราชการภายในมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ พ.ศ. ๒๕๒๙. สืบค้นเมื่อ 19 กันยายน 2564.
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา พระราชบัญญัติ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม พ.ศ. ๒๕๓๗, มาตรา เล่ม ๑๑๑ ตอนที่ ๕๔ ก หน้า ๑ ประกาศใช้เมื่อ ๘ ธันวาคม ๒๕๓๗. สืบค้นเมื่อ 19 กันยายน 2564.
- ↑ กองแผนงาน สำนักงานอธิการบดี. พระราชกฤษฎีกา ว่าด้วยการจัดตั้งส่วนราชการในมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ทบวงมหาวิทยาลัย พ.ศ. ๒๕๓๘. สืบค้นเมื่อ 19 กันยายน 2564.
- ↑ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม. รายงานข้อมูลพื้นฐานปี 2563 ส่วนราชการมหาวิทยาลัยมหาสารคาม หน้า 12. Archived 2021-04-18 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน สืบค้นเมื่อวันที่ 18 เมษายน 2564
- ↑ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม. ข้อมูลพื้นฐาน. สืบค้นเมื่อวันที่ 18 เมษายน 2564.
- ↑ เกี่ยวกับพิพิธภัณฑ์. สืบค้นเมื่อ 29 เมษายน 2564.
- ↑ แนะนำพิพิธภัณฑ์. สืบค้นเมื่อ 29 เมษายน 2564.
- ↑ ข้อมูลพิพิธภัณฑ์. สืบค้นเมื่อ 29 เมษายน 2564.
- ↑ แหล่งเรียนรู้ พิพิธภัณฑ์เห็ดที่มีฤทธิ์ทางยา. สืบค้นเมื่อ 29 เมษายน 2564.
- ↑ RESEARCH UNITS. หน่วยวิจัยในคณะวิทยาศาสตร์. สืบค้นเมื่อ 10 เมษายน 2565
- ↑ RESEARCH UNITS. หน่วยวิจัยในคณะวิทยาศาสตร์ (ต่อ). สืบค้นเมื่อ 10 เมษายน 2565
- ↑ คณะวิทยาศาสตร์. คณะวิทยาศาสตร์ ได้รับการจัดอันดับ SCD Faculty Rankings 2021 ระดับคณะเป็นอันดับที่ 2 ของประเทศ. สืบค้นเมื่อ 10 เมษายน 2565.
- ↑ "ประวัติชลิตา ส่วนเสน่ห์". คลังข้อมูลเก่า เก็บจาก แหล่งเดิม เมื่อ 2020-06-05. สืบค้นเมื่อ 2020-06-26.