พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 5 ธันวาคม 2542

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 5 ธันวาคม 2542
ตราสัญลักษณ์
วันที่4–6 ธันวาคม พ.ศ. 2542
ประเทศประเทศไทย
เหตุการณ์ก่อนหน้าพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 5 รอบ 5 ธันวาคม 2530
เหตุการณ์ถัดไปพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550
จัดโดยรัฐบาลไทย

พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 5 ธันวาคม พุทธศักราช 2542 (อังกฤษ: Celebration onthes of the Auspicious Occasion the His Majesty king's 6 th Cycle Buddhism Anniversary 5th December 1999) เป็นพระราชพิธีที่จัดขึ้นเนื่องในโอกาสที่ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงเจริญพระชนมพรรษา 72 พรรษา หรือ 6 รอบ จัดขึ้นในสมัยรัฐบาล นายชวน หลีกภัย เป็น นายกรัฐมนตรี ได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตจัดงานพระราชพิธีเพื่อเฉลิมพระเกียรติ ซึ่งประกอบด้วยพระราชพิธีและรัฐพิธีต่าง ๆ ดังนี้

พระราชพิธี[แก้]

วันศุกร์ที่ 22 ตุลาคม พุทธศักราช 2542[แก้]

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนิน ไปในการพระราชพิธีหล่อพระพุทธรูปปางห้ามสมุทรมหามงคลเฉลิมพระเกียรติ พระชนมพรรษา 6 รอบ เป็นพระพุทธรูปทรงเครื่อง แต่งเครื่องประดับและทรงพระมหามงกุฎ ณ พระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม วันนั้นเป็นวันทรงผนวชของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2499

วันพฤหัสบดีที่ 4 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2542[แก้]

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรเสด็จพระราชดำเนิน ไปในการพระราชพิธีเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน โดยกระบวนพยุหยาตราทางชลมารควัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร

วันเสาร์ที่ 20 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2542[แก้]

เสกน้ำพระพุทธมนต์ศักดิ์สิทธิ์เพื่อทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายแด่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ณ วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามราชวรวิหาร

วันเสาร์ที่ 4 ธันวาคม พุทธศักราช 2542[แก้]

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชดำเนิน ไปในการพระราชกุศลทักษิณานุปทาน ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยในพระบรมมหาราชวัง

วันอาทิตย์ที่ 5 ธันวาคม พุทธศักราช 2542[แก้]

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จออกมหาสมาคมรับการถวายพระพรชัยมงคล ณ สีหบัญชร พระที่นั่งอนันตสมาคม พระราชวังดุสิต โดยมีพระบรมวงศานุวงศ์ องคมนตรี คณะรัฐมนตรี ข้าราชการ ทหาร ตำรวจ พลเรือน เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ถวายพระพรชัยมงคล

พระราชดำรัส มีความว่า

ความพร้อมเพรียงเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันที่ทุกคนทุกฝ่ายแสดงให้เห็น ทำให้ข้าพเจ้าระลึกถึงคุณธรรมข้อหนึ่ง ที่อุปถัมภ์และผูกพันคนไทยให้รวมกันเป็นเอกภาพสามารถธำรงชาติบ้านเมืองให้มั่นคงเป็นอิสระยั่งยืนมาช้านาน.คุณธรรมข้อนั้นก็คือไมตรี ความมีเมตตาหวังดีในกันและกัน.คนที่มีไมตรีต่อกัน จะคิดอะไรก็คิดแต่ในทางสร้างสรรค์ที่เป็นประโยชน์เกื้อกูลกัน.จะพูดอะไรก็ใช้เหตุผลเจรจากันด้วยความเข้าอกเข้าใจกัน.จะทำอะไรก็ช่วยเหลือกัน ด้วยความมุ่งดีมุ่งเจริญต่อกัน.

— พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

จากนั้นช่วงบ่าย พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชดำเนิน ไปยังวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ทรงรับการถวายพระพรจากบรรพชิตญวนและจีน และพระราชทานสัญญาบัตรพัดยศแก่บรรพชิตญวนและจีน ที่มุขหน้า พระอุโบสถ จากนั้น พระสงฆ์ 5 รูป สวด "นวัคคหายุสมธัมม์" ทรงบูชาเทวดานพเคราะห์ และพระราชทานสังคหวัตถุ แก่ข้าทูลละอองทุลีพระบาทสูงอายุ จากนั้นพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชดำเนินไปยัง พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ทรงสถาปนาสมณศักดิ์ พระสงฆ์และฐานันดรศักดิ์แก่พราหมณ์ประจำราชสำนัก

วันจันทร์ที่ 6 ธันวาคม พุทธศักราช 2542[แก้]

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชดำเนินไปยัง พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ไปในการพระราชพิธีพระราชกุศลเลี้ยงพระเทศน์มงคลวิเศษ

วันพุธที่ 8 ธันวาคม พุทธศักราช 2542[แก้]

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จออก ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้ คณะทูตานุทูตต่างประเทศ และ ผู้แทนกงสุล เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ถวายพระพรชัยมงคล ในการนี้ นายจาร์ค ดุฟ (Mr. Jacques Diouf) ผู้อำนวยการองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ได้ทูลเกล้าฯถวาย เหรียญเทเลฟูด (Telefood medal) เหรียญแรกของโลก ในฐานะที่ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจทางการพัฒนาการเกษตรของประเทศไทย เพื่อยกระกับความเป็นอยู่ของเกษตรกร และสร้างความมั่นคงด้านอาหาร

รัฐพิธี[แก้]

รัฐบาลไทยได้เตรียมการจัดรัฐพิธี เนื่องในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 5 ธันวาคม 2542 โดยมีรายละเอียด ดังต่อไปนี้

  • วันพฤหัสบดีที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2542 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชดำเนินไปในงานพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณตนและสวนสนามของทหารรักษาพระองค์พระลานพระราชวังดุสิต
  • วันอาทิตย์ที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2542 พิธีถวายเครื่องราชสักการะ และ จุดเทียนถวายพระพรชัยมงคล และพิธีถวายพระพรชัยมงคล ของเหล่าข้าราชการ และพสกนิกรชาวไทย ซึ่งกำหนดจัดที่ มณฑลพิธี ท้องสนามหลวง และ ศาลากลางจังหวัดทุกจังหวัด ดังเช่นที่ได้จัดมาเป็นประจำทุกปี โดย มูลนิธิ 5 ธันวามหาราช และ กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย
  • วันพฤหัสบดีที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2542 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชดำเนินไปในงานสโมสรสันนิบาตและถวายพระกระยาหารค่ำเฉลิมพระเกียรติ ณ ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล ในโอกาสนี้รัฐบาลได้ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย พระที่นั่งสันติชัยปราการจำลอง ซึ่งรัฐบาลได้จัดสร้างองค์จริงไว้ ณ สวนสันติชัยปราการตามโครงการบูรณะป้อมพระสุเมรุ เพื่อเฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสมหามงคลนี้ในนามรัฐบาลและประชาชนชาวไทย ทั้งปวง

การประชาสัมพันธ์[แก้]

โดยสถานีวิทยุกระจายเสียง สถานีโทรทัศน์ และสื่อมวลชนทุกสำนัก จะถ่ายทอดสดงานพระราชพิธีและกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติ โดยให้ทุกสถานีเชื่อมโยงสัญญาณจากโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย

ตราสัญลักษณ์[แก้]

ตราสัญลักษณ์ พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 5 ธันวาคม พุทธศักราช 2542 ออกแบบโดย นายนิรันดร์ ไกรสรรัตน์ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานตราสัญลักษณ์ดังกล่าว (ซึ่งเป็นแบบที่ได้รับรางวัลที่ 1 ในการประกวดตราสัญลักษณ์ฯ โดยกรมศิลปากร) สำหรับใช้ในพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ จากการทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายแบบโดยรัฐบาล เพื่อทรงเลือกแบบที่เหมาะสม

ดูเพิ่ม[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]