คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
คณะมนุษยศาสตร์
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
Faculty of Humanities,
Kasetsart University
คติพจน์Wisdom of Life
สถาปนา17 มิถุนายน พ.ศ. 2524
(42 ปี 315 วัน)
คณบดีผศ.ดร.ธงรบ รื่นบันเทิง
ที่อยู่
วารสารวารสารมนุษยศาสตร์วิชาการ
(Journal of Humanities)
เพลงมนุษยศาสตร์
สี███ สีขาว [1]
มาสคอต
ดอกแก้ว
เว็บไซต์www.human.ku.ac.th

คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นคณะลำดับที่ 11 ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ตั้งอยู่ที่เกษตรกลางบางเขน กรุงเทพมหานคร มีประวัติความเป็นมาควบคู่กับการสถาปนามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เมื่อปี พ.ศ. 2486 ในฐานะ แผนกวิชาภาษาอังกฤษ สังกัดคณะกสิกรรมและสัตวบาล มีหน้าที่ดำเนินการสอนภาษาอังกฤษให้กับนิสิตคณะต่าง ๆ จนมาเป็น ภาควิชาภาษา คณะวิทยาศาสตร์และอักษรศาสตร์ และสถาปนาขึ้นเป็น คณะมนุษยศาสตร์ เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2524 ปัจจุบัน คณะมนุษยศาสตร์ประกอบด้วย 9 ภาควิชา เปิดสอนหลักสูตรทั้งในระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก จำนวน 27 หลักสูตร โดยเป็นหลักสูตรนานาชาติ 3 หลักสูตร นอกจากนี้ ยังให้บริการสอนหลักสูตรอบรมต่าง ๆ ทั้งเชิงวิชาการและวิชาชีพ ตลอดจนจัดการทดสอบทางภาษาแก่นิสิต บุคลากร และประชาชนทั่วไป

คณะมนุษยศาสตร์เป็นคณะที่มีชื่อเสียงทางด้านนวัตกรรมมนุษยศาสตร์ในระดับนานาชาติ พัฒนาองค์กรให้เป็นสถาบันการศึกษาที่สร้างสรรค์เพื่อผลิตบัณฑิตที่เชี่ยวชาญและมีความสามารถรอบด้าน พร้อมทั้งสร้างสรรค์ผลงานทางวิชาการโดยใช้นวัตกรรมเป็นฐาน พัฒนาด้านวิชาการให้ทันสมัยและตรงกับความต้องการของตลาด และเสริมสร้างทุนทางวัฒนธรรมของไทยเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์

ประวัติ[แก้]

คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มีประวัติความเป็นมายาวนานพร้อมกับการสถาปนามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เมื่อปี พ.ศ. 2486 โดยแรกเริ่มนั้นมีฐานะเป็น แผนกวิชาภาษาอังกฤษ ในสังกัดคณะกสิกรรมและสัตวบาล ซึ่งมีสำนักงานตั้งอยู่ที่ชั้นสองของตึกชีววิทยา ทำหน้าที่ในการจัดการเรียนการสอนวิชาภาษาอังกฤษให้กับนิสิตคณะกสิกรรมและสัตวบาล คณะวนศาสตร์ คณะการประมง และคณะสหกรณ์

เมื่อมีการสถาปนา คณะวิทยาศาสตร์และอักษรศาสตร์ ในปี พ.ศ. 2509 แผนกวิชาภาษาอังกฤษ ได้โอนมาสังกัดยังคณะแห่งนี้ โดยเป็น แผนกวิชาภาษา ซึ่งมีรองศาสตราจารย์ประชุม ทัพภะสุต เป็นหัวหน้าแผนกวิชา และมีสำนักงานอยู่ที่ตึกธรรมศักดิ์มนตรี ภาควิชาภาษาได้เปิดสอนในรายวิชาภาษาอังกฤษ ภาษาฝรั่งเศส ภาษาเยอรมัน ภาษาญี่ปุ่น ภาษาไทย ภาษาเขมร ภาษาบาลี และภาษาสันสกฤต รวมทั้งรับผิดชอบการผลิตศิลปศาสตรบัณฑิตในสาขาวิชาภาษาต่าง ๆ กับการสอนภาษาในฐานะ "วิชาพื้นฐาน" ให้แก่นิสิตของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

โดยในระยะแรกเริ่ม คณะวิทยาศาสตร์และอักษรศาสตร์มีหลักสูตรที่ได้รับอนุมัติเปิดสอน 2 สาย คือ สายวิทยาศาสตร์ และสายศิลปศาสตร์ โดยสายศิลปศาสตร์ได้เปิดสอนในหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาสังคมศาสตร์ และหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชามนุษยศาสตร์ ซึ่งบัณฑิตสายศิลปศาสตร์รุ่นแรกนั้นได้สำเร็จการศึกษาในปี พ.ศ. 2514 จำนวน 22 ราย เป็นสาขาสังคมศาสตร์ 13 ราย สาขามนุษยศาสตร์ 9 ราย นอกจากนี้ ได้มีการปรับปรุงหลักสูตรครั้งแรกให้เป็นสากลนิยม โดยได้ปรับเปลี่ยนหลักสูตรปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชามนุษยศาสตร์ มาเป็นหลักสูตรปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาภาษา[2]

มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้บรรจุ คณะอักษรศาสตร์ ไว้เป็นคณะวิชาใหม่ในแผนงานผลิตบัณฑิตของแผนพัฒนาการศึกษาระดับอุดมศึกษา ฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2520-2524) ของส่วนราชการในกำกับทบวงมหาวิทยาลัยของรัฐ[3] อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2523 คณะกรรมการสภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้ให้ความเห็นชอบการจัดตั้ง "คณะมนุษยศาสตร์" แทนคณะอักษรศาสตร์ในการประชุมครั้งที่ 4/2523 ภายใต้แนวคิดที่จะปรับการศึกษาวิชาการแนวอักษรศาสตร์มาผสานกับการศึกษาเพื่ออาชีพ ด้วยการสร้างหลักสูตรในสาขาวิชาที่ไม่มีอยู่ในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์แต่เดิมและไม่ใช่สาขาวิชาในคณะอักษรศาสตร์ที่มีในมหาวิทยาลัยอื่นขึ้น อาทิ สาขาวิชาการเดินทางและการท่องเที่ยว การโรงแรม เลขานุการ สื่อสารมวลชน และดนตรี เป็นต้น[4]

ดังนั้น เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2524 จึงได้มีการโอน "ภาควิชาภาษา" ออกมาจากคณะวิทยาศาสตร์และอักษรศาสตร์ และ "ภาควิชาปรัชญาและศาสนา" ออกมาจากคณะสังคมศาสตร์ มาตั้งเป็นคณะวิชาใหม่มีชื่อว่า คณะมนุษยศาสตร์ โดยมีอาจารย์ ดร.กัญจนา สินธวานนท์ ดำรงตำแหน่งคณบดีคนแรกของคณะมนุษยศาสตร์ และมีสำนักงานตั้งอยู่ที่ชั้นสองและสามของตึกภาษา-สถิติ ซึ่งเป็นที่ทำการเดิมของภาควิชาภาษา จนกระทั่งคณะมนุษยศาสตร์มีอาคารเป็นของตนเองในปี พ.ศ. 2530

เมื่อเริ่มแรกคณะมนุษยศาสตร์ ประกอบด้วย 7 ภาควิชา โดยได้รับโอนภาควิชาภาษามาจากคณะวิทยาศาสตร์และอักษรศาสตร์ แล้วมาแยกตามสาขาวิชาการออกเป็น 3 ภาควิชา ได้แก่ ภาควิชาภาษา ภาควิชาภาษาศาสตร์ และภาควิชาวรรณคดี นอกจากนี้ยังได้รับโอนภาควิชาปรัชญาและศาสนามาจากคณะสังคมศาสตร์อีก 1 ภาควิชา และจัดตั้งภาควิชาใหม่ 3 ภาควิชา ได้แก่ ภาควิชาบรรณารักษศาสตร์ ภาควิชาศิลปาชีพ และภาควิชาศิลปนิเทศ

พ.ศ. 2536 จัดตั้งศูนย์ภาษาเป็นหน่วยงานภายใน เพื่อให้บริการอบรมภาษาต่างประเทศแก่บุคคลทั่วไป

พ.ศ. 2537 แยกภาควิชาภาษาออกเป็น 2 ภาควิชา คือ "ภาควิชาภาษาต่างประเทศ" และ "ภาควิชาภาษาไทย" ทำให้มีภาควิชาเพิ่มขึ้นเป็น 8 ภาควิชา

สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ องค์บรรยายพิเศษระหว่างปี พ.ศ. 2518-2522

พ.ศ. 2543 จัดตั้งสถาบันภาษาศาสตร์และวัฒนธรรมศึกษาราชนครินทร์ เพื่อเฉลิมพระเกียรติแด่สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ในฐานะที่พระองค์ได้ทรงทำคุณประโยชน์แก่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และประเทศชาติในด้านต่าง ๆ เป็นอันมาก โดยเฉพาะในด้านภาษาและวัฒนธรรม โดยเป็นหน่วยงานในสังกัดคณะมนุษยศาสตร์ มีเป้าหมายหลักในการส่งเสริมงานวิจัยและพัฒนาคุณภาพทางวิชาการด้านภาษาศาสตร์และวัฒนธรรมศึกษา

พ.ศ. 2549 จัดตั้งสถาบันขงจื๊อ ตามข้อตกลงความร่วมมือระหว่าง 4 หน่วยงาน ได้แก่ กระทรวงศึกษาธิการแห่งประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน มหาวิทยาลัยหัวเฉียวแห่งประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และคณะมนุษยศาสตร์ มีวัตถุประสงค์เพื่อมุ่งเน้นการดำเนินกิจกรรมด้านการสอนและงานวิจัยที่ เกี่ยวข้องกับภาษาและวัฒนธรรมจีน รวมทั้งเป็นศูนย์ทดสอบภาษาจีนมาตรฐานที่เรียกว่า "HSK"

พ.ศ. 2549 สภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ อนุมัติจัดตั้งศูนย์จัดการศึกษาโครงการพิเศษ คณะมนุษยศาสตร์ เพื่อทำหน้าที่ประสานการบริการโครงการจัดการศึกษาภาคพิเศษของคณะมนุษยศาสตร์ ทั้งในส่วนงานด้านธุรการและประสานด้านการบริการวิชาการของหลักสูตรระดับ ปริญญาตรีและระดับบัณฑิตศึกษาภาคพิเศษในทุกสาขาของคณะ

พ.ศ. 2552 รวมภาควิชาบรรณารักษศาสตร์กับสาขาวิชาสื่อสารมวลชน ภาควิชาศิลปนิเทศแล้วจัดตั้งเป็นภาควิชาใหม่คือ "ภาควิชานิเทศศาสตร์และสารสนเทศศาสตร์" และปรับเปลี่ยนโครงสร้างของสาขาดนตรี ภาควิชาศิลปนิเทศ จัดตั้งเป็น "ภาควิชาดนตรี" จำนวนรวมภาควิชาของคณะยังคงเป็น 8 ภาควิชาเช่นเดิม

พ.ศ. 2555 แยกสาขาวิชาภาษาจีน และสาขาวิชาภาษาญี่ปุ่น ออกจากภาควิชาภาษาต่างประเทศ และจัดตั้งเป็น "ภาควิชาภาษาตะวันออก" ซึ่งนอกจากจะมีการเรียนการสอนวิชาเอกภาษาจีนและภาษาญี่ปุ่นแล้ว ยังเปิดหลักสูตรในระดับปริญญาตรีเพิ่มอีก 2 หลักสูตร คือ หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาภาษาตะวันออก วิชาเอกภาษาจีนธุรกิจ (ภาคพิเศษ) และหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาภาษาตะวันออก วิชาเอกภาษาญี่ปุ่นธุรกิจ (ภาคพิเศษ) นอกจากนี้ภาควิชาภาษาตะวันออกยังมีวิชาเลือกภาษาเกาหลีและภาษาอาเซียน ได้แก่ ภาษาเวียดนาม ภาษามลายู และภาษาพม่า เพื่อการเตรียมพร้อมการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน จำนวนรวมภาควิชาของคณะเพิ่มขึ้นเป็น 9 ภาควิชา

พ.ศ. 2557 คณะมนุษยศาสตร์ได้รับโอนสำนักพิพิธภัณฑ์และวัฒนธรรมการเกษตรจากมหาวิทยาลัยเข้ามาเป็นหน่วยงานสนับสนุนของคณะ และจะยกฐานะของศูนย์ทดสอบภาษาอังกฤษซึ่งเดิมดำเนินการโดยภาควิชาภาษาต่างประเทศ ให้เป็นศูนย์ทดสอบทางภาษาเพื่อรองรับการทดสอบสมรรถภาพทางภาษาที่มีความต้องการเพิ่มมากขึ้นไม่ว่าจะเป็นภาษาไทย ภาษาอังกฤษ ภาษาเกาหลี ฯลฯ

คณะมนุษยศาสตร์ได้ปรับแนวคิดจากการศึกษาที่เสร็จสมบูรณ์ในตัวเองมาเป็นการศึกษาที่เป็นเครื่องมือที่เอื้อต่อการนำไปประกอบอาชีพ แต่ยังคงธำรงเนื้อหาวิชาการสาขามนุษยศาสตร์ไว้ด้วย ภายใต้แนวคิดของอาจารย์ ดร.กัญจนา สินธวานนท์ คณบดีคนแรกและผู้ร่วมงานก่อตั้งคณะมนุษยศาสตร์ ดังที่กล่าวไว้ในบทสรุปวิสัยทัศน์ว่า

ในความหมายเดิม มนุษยศาสตร์ เป็นการศึกษาที่เน้นหนักด้านจิตใจ ถือการพัฒนาสติปัญญา คุณธรรม และรสนิยมของบุคคลเป็นคุณค่าสูงสุด แต่ปัจจุบัน มนุษยศาสตร์ ขยายขอบเขตออกไปครอบคลุมถึงการศึกษาที่นำไปเป็นประโยชน์ใช้สอยได้โดยตรงอีกด้วย การจัดการศึกษาของคณะมนุษยศาสตร์จึงเป็นไปตามหลักปรัชญาการศึกษาเพื่ออาชีพ (Career Education) คือเป็นการผสมผสานกันระหว่างวิชาการกับอาชีพ ด้วยตระหนักดีว่าความรู้ทางอาชีพจำเป็นต้องควบคู่ไปกับวิชาการและการพัฒนาจิตใจของผู้ศึกษา จึงจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมอย่างแท้จริง[5]

ดังนั้น รูปแบบของการจัดการศึกษาของคณะมนุษยศาสตร์ในปัจจุบันจึงมี 2 รูปแบบ คือ แบบเน้นความลึกซึ้งทางวิชาการด้านมนุษยศาสตร์และแบบเน้นวิชาชีพโดยผสมผสานกับวิชาการ ซึ่งสามารถตอบสนองความต้องการของสังคม ทำให้คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มีความโดดเด่น แตกต่าง และยังคงความทันสมัยอยู่จวบจนปัจจุบัน

อาคารเรียน[แก้]

  • อาคารวชิรญาณสังวร

อาคารวชิรญาณสังวร หรืออาคารมนุษยศาสตร์ 1 สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร เสด็จมาทรงเป็นประธานในพิธีวางศิลาฤกษ์ เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2531 และทรงเป็นประธานในพิธีเปิดอาคารพร้อมทั้งทรงปลูกต้นพระศรีมหาโพธิ์เพื่อ เป็นสิริมงคลแก่คณะมนุษยศาสตร์ เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2534 โดยในปี พ.ศ. 2564 เนื่องในวาระครบรอบ 40 ปีแห่งการสถาปนาคณะมนุษยศาสตร์ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ประทานพระวโรกาสให้คณะผู้บริหารคณะมนุษยศาสตร์เข้าเฝ้า ณ พระวิหาร วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร เพื่อกราบทูลอาราธนาให้ทรงเจิมป้าย "อาคารวชิรญาณสังวร" โดยจะเชิญป้ายอาคารเรียนดังกล่าวไปประดับไว้ที่ส่วนบนของอาคาร เพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งพระเมตตาของสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร ที่พระองค์ได้เสด็จมาเป็นองค์ประธานในการประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์และเสด็จมาเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดอาคารเรียนดังกล่าว ปัจจุบัน อาคารวชิรญาณสังวร เป็นที่ทำการของภาควิชาปรัชญาและศาสนา ภาควิชาภาษาต่างประเทศ ภาควิชาภาษาศาสตร์ และภาควิชาวรรณคดี

  • อาคารประเสริฐศตวรรษา

อาคารประเสริฐศตวรรษา หรืออาคารมนุษยศาสตร์ 2 แต่เดิมคือ ตึกชีววิทยาประมง โดยคณะมนุษยศาสตร์ได้รับโอนอาคารเรียนมาจากคณะประมง แล้วได้ปรับปรุงภูมิทัศน์ซ่อมแซมและตกแต่ง เริ่มใช้อาคารเมื่อปี พ.ศ. 2551 โดยในปี พ.ศ. 2564 เนื่องในวาระครบรอบ 40 ปีแห่งการสถาปนาคณะมนุษยศาสตร์ อาคารมนุษยศาสตร์ 2 จึงได้รับการตั้งชื่อใหม่ว่า "อาคารประเสริฐศตวรรษา" อันมีความหมายว่า อาคารอันเป็นอนุสรณ์แด่ศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร บูรพาจารย์ด้านไทยศึกษา จารึก ประวัติศาสตร์ และโบราณคดี และอดีตนายกสภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และรองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ปัจจุบัน อาคารประเสริฐศตวรรษา เป็นที่ทำการของภาควิชาภาษาไทย ห้องสมุดคณะมนุษยศาสตร์ และสถาบันขงจื๊อ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

  • อาคารกัญจนานิทัศน์

อาคารกัญจนานิทัศน์ หรืออาคารมนุษยศาสตร์ 3 แต่เดิมคือ ตึกผลิตภัณฑ์ประมง โดยคณะมนุษยศาสตร์ได้รับโอนอาคารเรียนมาจากคณะประมง แล้วได้ปรับปรุงภูมิทัศน์ซ่อมแซมและตกแต่ง เริ่มใช้อาคารเมื่อปี พ.ศ. 2552 โดยในปี พ.ศ. 2564 เนื่องในวาระครบรอบ 40 ปีแห่งการสถาปนาคณะมนุษยศาสตร์ อาคารมนุษยศาสตร์ 3 จึงได้รับการตั้งชื่อใหม่ว่า "อาคารกัญจนานิทัศน์" เพื่อเป็นอนุสรณ์ถึงอาจารย์ ดร.กัญจนา สินธวานนท์ ผู้ก่อตั้งและคณบดีคนแรกของคณะมนุษยศาสตร์ ปัจจุบัน อาคารกัญจนานิทัศน์ เป็นที่ทำการของภาควิชานิเทศศาสตร์และสารสนเทศศาสตร์

  • อาคารจุฬาภรณ์พิศาลศิลป์

อาคารจุฬาภรณ์พิศาลศิลป์ หรืออาคารมนุษยศาสตร์ 4 สมเด็จพระมหาธีราจารย์ เป็นประธานในพิธีวางศิลาฤกษ์ และพระมหาราชครูพิธีศรีวิสุทธิคุณ เป็นประธานในพิธีพราหมณ์ เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2553 ทั้งยังได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางวัฒน วรขัตติยราชนารี พระราชทานนามอาคารว่า "จุฬาภรณ์พิศาลศิลป์" และพระราชทานพระอนุญาตอันเชิญอักษรพระนามย่อ "จ.ภ." มาประดิษฐานคู่กับนามอาคาร ทั้งยังเสด็จมาทรงเปิดอาคาร เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2554 และเริ่มใช้อาคารในปี พ.ศ. 2555 ปัจจุบัน เป็นที่ทำการของสำนักงานเลขานุการคณะมนุษยศาสตร์ ภาควิชาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและบริการ (ภาควิชาศิลปาชีพเดิม) ภาควิชาดนตรี ภาควิชาภาษาตะวันออก และศูนย์ภาษา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

สัญลักษณ์ประจำคณะ[แก้]

ดอกแก้ว ดอกไม้ประจำคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
  • ดอกไม้ที่เป็นสัญลักษณ์ประจำคณะมนุษยศาสตร์ คือ ดอกแก้ว เป็นดอกไม้ที่มีสีขาว มีทั้งความงดงาม ความบริสุทธิ์ และกลิ่นหอม
  • สีประจำคณะมนุษยศาสตร์ คือ สีขาว เป็นสีที่แสดงถึงความบริสุทธิ์ดั่งปรัชญาและปณิธานของคณะมนุษยศาสตร์ที่มุ่งมั่น สร้างสรรค์ให้บัณฑิตเป็นคนดี มีคุณธรรม ยึดถือความดีเป็นที่ตั้ง
  • เพลงประจำคณะ คือ เพลงมนุษยศาสตร์ ประพันธ์ทำนองและเนื้อร้องโดย ว่าที่ร้อยตรี อวบ เหมะรัชตะ และเพลงผองเราชาวมนุษยศาสตร์ ประพันธ์ทำนองและเนื้อร้องโดย จริยา เจรีรัตนะ

หน่วยงาน[แก้]

ภาควิชา สำนัก สถาบัน และศูนย์ ภายในคณะมนุษยศาสตร์

หลักสูตร[แก้]

ระดับปริญญาตรี ระดับปริญญาโท ระดับปริญญาเอก

หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต (ศศ.บ.)

  • สาขาวิชาการจัดการการท่องเที่ยวเชิงบูรณาการ (หลักสูตรนานาชาติ)
  • สาขาวิชาการสร้างสรรค์การบริการเพื่อธุรกิจการท่องเที่ยว
  • สาขาวิชาดนตรีตะวันตก
  • สาขาวิชาดนตรีไทย
  • สาขาวิชานิเทศศาสตร์
  • สาขาวิชาปรัชญาและศาสนา
  • สาขาวิชาภาษาจีน
  • สาขาวิชาภาษาจีนธุรกิจ (ภาคพิเศษ)
  • สาขาวิชาภาษาญี่ปุ่นธุรกิจ (ภาคปกติและภาคพิเศษ)
  • สาขาวิชาภาษาไทย
  • สาขาวิชาภาษาไทยเพื่อการสื่อสารสำหรับชาวต่างประเทศ (หลักสูตรนานาชาติ)
  • สาขาวิชาภาษาฝรั่งเศส
  • สาขาวิชาภาษาเยอรมัน
  • สาขาวิชาภาษาอังกฤษ (ภาคปกติและภาคพิเศษ)
  • สาขาวิชาวรรณคดี
    • วิชาเอกวรรณคดีไทย
    • วิชาเอกวรรณคดีอังกฤษ

หลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (ศศ.ม.)

  • สาขาวิชาดนตรี
  • สาขาวิชานิเทศศาสตร์และสารสนเทศ
  • สาขาวิชาปรัชญาและศาสนา
  • สาขาวิชาภาษาตะวันออก
    • วิชาเอกภาษาจีน
    • วิชาเอกภาษาญี่ปุ่น
  • สาขาวิชาภาษาไทย
  • สาขาวิชาภาษาศาสตร์ประยุกต์
  • สาขาวิชาภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารระหว่างประเทศ

หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต (ปร.ด.)

  • สาขาวิชาปรัชญาและศาสนา
  • สาขาวิชาภาษาตะวันออก
    • วิชาเอกภาษาจีน
    • วิชาเอกภาษาญี่ปุ่น
  • สาขาวิชาภาษาไทย
  • สาขาวิชาภาษาศาสตร์ประยุกต์
  • สาขาวิชาภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารระหว่างประเทศ (หลักสูตรนานาชาติ)

ทำเนียบคณบดี[แก้]

  • นับแต่คณะมนุษยศาสตร์ก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2524 จนถึงปัจจุบัน มีผู้ดำรงตำแหน่งคณบดี ดังนี้
ทำเนียบคณบดีคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
รายนามคณบดี ระยะเวลาในการดำรงตำแหน่ง

1. อาจารย์ ดร.กัญจนา สินธวานนท์ พ.ศ. 2524 - พ.ศ. 2527
2. อาจารย์ สิงห์ทอง พรนิคม พ.ศ. 2527 - พ.ศ. 2535
3. รองศาสตราจารย์ ศิริลักษณ์ ลิ้มภักดี พ.ศ. 2535 - พ.ศ. 2539
4. รองศาสตราจารย์ กมลา นาคะศิริ พ.ศ. 2539 - พ.ศ. 2543
5. รองศาสตราจารย์ ปรียา อุนรัตน์ พ.ศ. 2543 - พ.ศ. 2548
6. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นงนุช ศรีอัษฎาพร พ.ศ. 2548 - พ.ศ. 2552
7. รองศาสตราจารย์ ดร.วิไลศักดิ์ กิ่งคำ พ.ศ. 2552 - พ.ศ. 2556
8. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พุทธชาติ โปธิบาล พ.ศ. 2556 - พ.ศ. 2560
9. รองศาสตราจารย์ ดร.กิติมา อินทรัมพรรย์ พ.ศ. 2560 - พ.ศ. 2564
10. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธงรบ รื่นบันเทิง พ.ศ. 2564 - ปัจจุบัน

หมายเหตุ คำนำหน้านามของผู้ดำรงตำแหน่งคณบดี เป็นคำนำหน้านามตามตำแหน่งทางวิชาการในขณะนั้น

การจัดอันดับ[แก้]

QS World University Rankings
by Subject

Global
QS Modern Languages 301-340 (2024)[6]
QS Linguistics 201-250 (2023)[7]
QS World University Rankings

คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เปิดตัวในการจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลกโดย QS หรือ QS World University Rankings by Subject ครั้งแรกในปี 2023 โดยได้รับการจัดอันดับให้อยู่ในกลุ่ม 201-250 ของโลก ในสาขาวิชา Linguistics [8] และกลุ่มที่ 301-340 ของโลก ในสาขาวิชา Modern Languages ในปี 2024[9]

ข้อมูลปี 2023[10] คณะมนุษยศาสตร์ มก. ได้รับคะแนนด้านความพึงพอใจของนายจ้าง ( EMPLOYER REPUTATION ) = 75.5 คะแนน, ด้านการยอมรับทางวิชาการ ( ACADEMIC REPUTATION ) = 57.2 คะแนน, ด้านจำนวนบทความวิชาการที่ถูกอ้างอิงถึง ( CITATIONS PER PAPER ) = 45.5 คะแนน, และด้านจำนวนบทความวิชาการที่ถูกอ้างอิงในวารสารวิชาการที่มีผลกระทบระดับสูง ( H-INDEX CITATIONS ) = 25 คะแนน

ละคอนมะนุด[แก้]

ละคอนมะนุด คือละครเวทีประจำคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จัดทำโดย ภาควิชานิเทศศาสตร์และสารสนเทศศาสตร์ และมีชื่อเรียกในภาษาอังกฤษว่า HUMDRAMA มาจาก Humanities Drama ละคอนมะนุดมีแนวคิดหลักว่าเป็นละครเวทีที่เข้าใจความเป็นมนุษย์ โดยการสร้างสรรค์ละครเวที นิสิตจะสามารถนำความรู้จากแขนงต่าง ๆ ที่ได้ศึกษามาปฏิบัติใช้จริงภายใต้การดูแลของคณาจารย์และศิษย์เก่าผู้เชี่ยวชาญ อีกทั้ง ต้องใช้ความร่วมมือจากหลายฝ่าย ซึ่งจะก่อให้เกิดการเรียนรู้กระบวนการทำงานร่วมกับผู้อื่น เกิดความสามัคคี และเป็นพื้นฐานที่ดีให้กับนิสิตในการประยุกต์ใช้สู่สังคมส่วนรวมต่อไป ปัจจุบัน ละคอนมะนุดได้จัดขึ้นมาแล้ว 28 ครั้ง นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2533 โดยในแต่ละครั้งมีรายชื่อละครเวที ดังนี้

หมายเหตุ ละคอนมะนุดครั้งที่ 28 (Powerful You Are ประลองป่วนรัก พลังป่วนโลก) ยกเลิกการแสดงสดเนื่องจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธ์ใหม่ 2019 (COVID-19) โดยเปลี่ยนการเป็นบันทึกภาพการแสดงและเผยแพร่ลงในสื่อสังคมออนไลน์ของละคอนมะนุดแทน

นิสิตเก่าและนิสิตปัจจุบันที่มีชื่อเสียง[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. ประกาศมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เรื่อง ชื่อปริญญาในสาขาวิชา อักษรย่อสำหรับสาขาวิชา ครุยวิทยฐานะ และเข็มวิทยฐานะของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พ.ศ. ๒๕๕๙ ประกาศเมื่อวันที่ ๑๐ พฤษภาคม ๒๕๖๖ ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ๑๓ มิ.ย. ๒๕๕๙ เล่ม ๑๓๓ ตอนพิเศษ ๑๓๔ ง หน้า ๖ สืบค้นเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2566
  2. คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ประวัติคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เรียกดูวันที่ 2020-07-11
  3. สำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา แผนพัฒนาการศึกษาระดับอุดมศึกษา ฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2520-2524) เก็บถาวร 2020-07-15 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เรียกดูวันที่ 2020-07-12
  4. วรรณา นาวิกมูล มนุษยศาสตร์สมโภช: 36 ปีคณะ, 24 ปีวารสาร เรียกดูวันที่ 2020-07-12
  5. ฐานข้อมูลบูรพาจารย์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ อาจารย์ ดร.กัญจนา สินธวานนท์ เก็บถาวร 2020-08-09 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เรียกดูวันที่ 2020-07-12
  6. "QS World University Rankings by Subject 2024 - Modern Languages - Kasetsart University". QS Quacquarelli Symonds. สืบค้นเมื่อ 24 April 2024.
  7. "QS World University Rankings by Subject 2023 - Linguisticss - Kasetsart University". QS Quacquarelli Symonds. สืบค้นเมื่อ 26 March 2023.
  8. "QS World University Rankings by Subject 2023 - Linguisticss - Kasetsart University". QS Quacquarelli Symonds. สืบค้นเมื่อ 26 March 2023.
  9. "QS World University Rankings by Subject 2024 - Modern Languages - Kasetsart University". QS Quacquarelli Symonds. สืบค้นเมื่อ 24 April 2024.
  10. "QS World University Rankings by Subject 2023 - Linguisticss - Kasetsart University". QS Quacquarelli Symonds. สืบค้นเมื่อ 26 March 2023.