ข้ามไปเนื้อหา

สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร
ชื่อย่อสธ.มธ. / SIIT TU
ประเภทสถาบันกึ่งอิสระ ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
สถาปนาพ.ศ. 2535*
นับตั้งแต่ก่อตั้งเป็นหลักสูตรหนึ่งในคณะวิศวกรรมศาสตร์ มธ.
ที่ตั้ง
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต
99 หมู่ 18 ถนนพหลโยธิน ตำบลคลองหนึ่ง อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี 12120
เว็บไซต์www.siit.tu.ac.th
ภาพตึกสถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธรภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ศูนย์รังสิต

สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร (เอสไอไอที) เป็นสถาบันการศึกษาด้านวิศวกรรมศาสตร์ เทคโนโลยี และการจัดการ สังกัดมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์[1] ซึ่งเปิดสอนในด้านวิศวกรรมศาสตร์หลักสูตรนานาชาติเป็นแห่งแรกของประเทศไทย ปัจจุบันมีทั้งหมด 9 สาขาวิชา การเรียนการสอนทั้งหมดเป็นหลักสูตรนานาชาติใช้ภาษาอังกฤษเป็นสื่อ ผู้จบการศึกษารับปริญญาจากสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เอสไอไอทีมักเป็นที่รู้จักเรียกขานทั่วไปว่า "วิศวะอินเตอร์ ธรรมศาสตร์" เนื่องจากเดิมเป็นโครงการหนึ่งในคณะวิศวกรรมศาสตร์ก่อนจะตั้งเป็นสถาบัน แต่ขณะนี้คำเรียกนี้อาจทำให้สับสนได้ เนื่องจากในปัจจุบันคณะวิศวกรรมศาสตร์ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็มีโครงการภาคภาษาอังกฤษอีกโครงการหนึ่ง (รู้จักกันในชื่อ "วิศวะสองสถาบัน") ชาวธรรมศาสตร์นิยมเรียกเอสไอไอทีสั้น ๆ ว่า "เอสไอ"

เอสไอไอทีเปิดสอนทั้งในระดับอุดมศึกษาและบัณฑิตศึกษาโดยเน้นการศึกษาแบบใช้การวิจัยเป็นตัวนำ[2] อาจารย์ประจำทั้งหมดมีวุฒิอย่างน้อยระดับปริญญาเอก[3][4] ในการประเมินคุณภาพผลงานวิจัยเชิงวิชาการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของสถาบันอุดมศึกษาในประเทศไทยโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เมื่อปี พ.ศ. 2550 เอสไอไอทีเป็นคณะด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพียงแห่งเดียวของประเทศที่ได้รับการจัดระดับสูงสุด "ดีมาก" จากทั้ง 3 ตัวชี้วัด สถาบันฯ เป็น 1 ในสถาบันอุดมศึกษา 4 แห่งของประเทศ ที่ได้รับมอบทุนจากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เพื่อสนับสนุนนักเรียนที่สนใจศึกษาต่อทางด้านวิทยาศาสตร์ในระดับอุดมศึกษา โดยทุนนี้จะมอบให้แก่นักเรียนโรงเรียนวิทยาศาสตร์ (โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ และ โรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย) เพื่อศึกษาต่อและทำงานวิจัยร่วมกับนักวิจัยของสวทช.[5] สถาบันเป็นสมาชิกของเครือข่าย LAOTSE ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยชั้นนำในเอเชียและยุโรป ตามกรอบความร่วมมืออาเซม[6]

ระบบการบริหารและการเงินของเอสไอไอทีเป็นอิสระจากระบบส่วนกลางของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ซึ่งยังอยู่ในระบบราชการ เพื่อประสิทธิภาพและความคล่องตัว โดยมีคณะกรรมการอำนวยการสถาบันซึ่งคัดเลือกโดยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย, และสมาพันธ์องค์กรเศรษฐกิจญี่ปุ่น ให้คำปรึกษาด้านนโยบายและการดำเนินงาน และมีคณะกรรมการที่ปรึกษาทางวิชาการซึ่งประกอบด้วยนักวิชาการที่มีชื่อเสียงในสาขาต่าง ๆ ให้คำปรึกษาด้านวิชาการและการวิจัย การบริหารสถาบันนำโดยผู้อำนวยการ

ประวัติ

[แก้]

เอสไอไอทีก่อตั้งในช่วงที่เศรษฐกิจของประเทศไทยกำลังเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว พร้อม ๆ กับการลงทุนจากต่างประเทศจำนวนมาก ความต้องการวิศวกรที่สามารถสื่อสารกับผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศได้เป็นอย่างดีเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ศ. เกริกเกียรติ พิพัฒนเสรีธรรม อธิการบดีมธ.ในขณะนั้น กับ นายอานันท์ ปันยารชุน นายพารณ อิศรเสนา ณ อยุธยา และท่านผู้หญิงนิรมล สุริยสัตย์ ผู้นำของวงการอุตสาหกรรมในยุคนั้น จึงได้หารือและประสานงานจนได้ก่อตั้ง โครงการวิศวกรรมศาสตร์ภาคภาษาอังกฤษ (Engineering English Program – EEP) ขึ้นในคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อปี พ.ศ. 2535

เนื่องจากติดขัดด้านโครงสร้างซึ่งยังอยู่ในระบบราชการ และงบประมาณที่จำกัด เมื่อโครงการดังกล่าวดำเนินงานไปได้ระยะหนึ่งจึงได้เปลี่ยนสถานะ ก่อตั้งเป็นสถาบันกึ่งอิสระนอกระบบราชการ ไม่พึ่งงบประมาณแผ่นดิน [1] โดยได้รับความร่วมมือจาก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และสมาพันธ์องค์กรเศรษฐกิจญี่ปุ่น (Japan Business Federation ซึ่งมักถูกเรียกตามชื่อย่อในภาษาญี่ปุ่น 経団連 ซึ่งอ่านว่า เคดันเรน ) ใช้ชื่อว่า สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติ แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (International Institute of Technology – IIT) เมื่อวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2537 และต่อมาได้รับพระราชทานชื่อสถาบันจากพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2539 เป็น สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร ตามพระนามของ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

วิทยาเขต

[แก้]

ปัจจุบันเอสไอไอทีขยายการศึกษาเป็นสองวิทยาเขต ได้แก่ วิทยาเขตธรรมศาสตร์รังสิต และวิทยาเขตบางกะดี ทั้งสองวิทยาเขตอยู่ในพื้นที่กลุ่มวิสาหกิจเทคโนโลยีกรุงเทพตอนบนตามแผนยุทธศาสตร์ของสวทช.[7][8] ซึ่งในพื้นที่ประกอบไปด้วยสถาบันด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่สำคัญจำนวนมาก[9] เช่น อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย, สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) (รวมถึงศูนย์วิจัยแห่งชาติในสังกัดอีก 4 แห่ง ได้แก่ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ, ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ, ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ, ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ), สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.), เทคโนธานี, เขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งประเทศไทย (ซอฟต์แวร์พาร์ค), องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.), สถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไทย และสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย รวมถึงเขตอุตสาหกรรมไฮเทค และสถาบันอุดมศึกษาอื่น ๆ อีกจำนวนหนึ่ง. โดยเอสไอไอทีได้ร่วมมือและแลกเปลี่ยน ทั้งด้านการสอน วิจัย และถ่ายทอดเทคโนโลยี กับหน่วยงานเหล่านี้อย่างสม่ำเสมอ

ธรรมศาสตร์รังสิต

[แก้]

ตั้งอยู่ใน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต จังหวัดปทุมธานี ติดกับ อุทยานวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย, สวทช., และ สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย

บางกะดี

[แก้]

ตั้งอยู่ในสวนอุตสาหกรรมบางกะดี จังหวัดปทุมธานี โดยสาขาวิชาด้านการสื่อสาร, เทคโนโลยีสารสนเทศ, คอมพิวเตอร์, อิเล็กทรอนิกส์, และเมคคาทรอนิกส์ จะอยู่ที่วิทยาเขตนี้เป็นหลัก รวมถึงสาขาเทคโนโลยีการจัดการ การจัดการวิศวกรรม และการจัดการการดำเนินงาน

ภาควิชา

[แก้]

ปัจจุบัน มีทั้งหมด 6 ภาควิชา เปิดสอนสาขาวิชาต่าง ๆ (ในวงเล็บคือสาขาย่อย) ดังนี้

ภาควิชาวิศวกรรมและเทคโนโลยีเคมีชีวภาพ
ภาควิชาวิศวกรรมและเทคโนโลยีโยธา
ภาควิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ คอมพิวเตอร์ และการสื่อสาร
  • วิศวกรรมไฟฟ้า
  • วิศวกรรมคอมพิวเตอร์
  • วิศวกรรมดิจิทัล
ภาควิชาเทคโนโลยีการจัดการ
ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกลและระบบการผลิต
ภาควิชาการศึกษาร่วมและบัณฑิตศึกษา

จัดการเรียนการสอนในวิชาพื้นฐานด้าน วิศวกรรม เทคโนโลยี และการจัดการ และรับผิดชอบวิชาภาษาอังกฤษและวิชาพื้นฐานจำนวนหนึ่งของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (รหัสขึ้นต้นด้วย TU)

ผู้อำนวยการสถาบันตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน

[แก้]

บุคคลสำคัญสถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร

[แก้]

บุคคลที่มีชื่อเสียง

[แก้]
  • ดร.กีรติ กิจมานะวัฒน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย(AOT) จำกัด (มหาชน)
  • สายฝน ชีช้าง อดีตผู้ประกาศข่าวบันเทิง ช่อง 3
  • ชนันภรณ์ รสจันทน์ (ศิษย์เก่า) มิสไทยแลนด์ยูนิเวิร์ส 2548, ชุดแต่งกายประจำชาติยอดเยี่ยม มิสยูนิเวิร์ส 2005 ไทยแลนด์ และเป็นนักบินที่หนึ่งของสายการบินไทยแอร์เอเชียเอ็กซ์
  • วริษฐา จตุรภุช (สต๊อป) นักร้องจากการประกวดเดอะสตาร์ ค้นฟ้าคว้าดาว ปี 8
  • สพล อัศวมั่นคง (ศิษย์เก่า) นักแสดงช่อง 7HD
  • รศ ดร วีริศ อมระปาน SIIT #1. ผู้ว่าการการนิคมแห่งประเทศไทย และ ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย
  • ดร.ทิศพล นครศรี ประธานกรรมการบริหารบริษัท บางกอกโซล่าร์ พาวเวอร์ (พี่อ๋อง ผู้สะสมลงทุนสินทรัพย์ประเภทรถสปอร์ตทั้งในไทย และ เยอรมนี)
  • ดร.ดำรงค์ฤทธิ์ เนียมหมวด รองผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ หรือ GISTDA
  • พรยศ กลั่นกรอง อธิบดีกรมโรงงาน กระทรวงอุตสาหกรรม
  • สุรนาม พานิชการ ผู้ก่อตั้งและ CEO Tofusan
  • ดร ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเลคทรอนิคส์ และ คอมพิวเตอร์ แห่งชาติ สวทช
  • กัมปนาท ตันพิทักษ์สิทธิ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท โรบอท ซิสเต็ม จำกัด ผู้ประกอบหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ

งานวิจัย

[แก้]

ปัจจุบัน SIIT มี 3 ศูนย์วิจัยและ 6 กลุ่มวิจัย ดังนี้

  • ศูนย์วิจัยเทคโนโลยีการก่อสร้างและบำรุงรักษา (CONTEC) ดำเนินการวิจัยและพัฒนาโครงการที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีที่จำเป็นสำหรับการแก้ปัญหาและการสร้างนวัตกรรมทางด้านเทคโนโลยีวัสดุก่อสร้างและโครงสร้างพื้นฐาน
  • ศูนย์วิจัยการคมนาคม Transportation Research Center (TREC) จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม ค.ศ. 2007 เพื่อดำเนินการวิจัยร่วมกันระหว่าง SIIT และองค์กรภาครัฐที่เกี่ยวข้องในขอบเขตเรื่องการคมนาคมและเทคโนโลยีที่สนับสนุนทางด้านการคมนาคม
  • หน่วยวิศวกรรมชีวการแพทย์ (BioMed SIIT) เป็นการผสมผสานของพื้นฐานทางด้านวิศวกรรม วิทยาการคอมพิวเตอร์ วิทยาศาสตร์การแพทย์ และคณิตศาสตร์เพื่อแก้ปัญหาที่เกี่ยวข้องทางด้านการแพทย์และชีววิทยา มีความเชี่ยวชาญเกี่ยวข้องกับชีวสารสนเทศและวิศวกรรมชีวการแพทย์ การเพิ่มประสิทธิภาพและการวิเคราะห์เชิงตัวเลขในช่วงจากการวิเคราะห์ภาพทางการแพทย์ที่จะผลิตรากฟันเทียมทางการแพทย์และการเขียนโปรแกรมซีเอ็นซี
  • ศูนย์วิจัยด้านอัจฉริยะสารสนเทศและนวัตกรรมการบริการ (IISI) เก็บถาวร 2020-06-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เป็นการผสมผสานปัจจัยพื้นฐานสำหรับการแก้ปัญหาขั้นสูงในด้านวิศวกรรมวิทยาศาสตร์และประเด็นทางด้านวิทยาศาสตร์และด้านสังคม และจากนั้นจะให้การแก้ปัญหาในรูปแบบการให้บริการ หน่วยวิจัย IISI ก่อให้เกิดความก้าวหน้าของเขตข้อมูลสารสนเทศอัจฉริยะ เช่นปัญญาประดิษฐ์, การทำเหมืองข้อมูลและการประมวลผลอ่อนที่นำไปสู่การพัฒนาโซลูชั่นสำหรับปัญหาที่ปัจจัยมนุษย์มีส่วนร่วมอย่างมีนัยสำคัญ นวัตกรรมเหล่านี้สามารถใช้เป็นบริการเพื่อสังคมและอุตสาหกรรมต่างๆ
  • หน่วยวิจัยด้านการคำนวณทางด้านวิศวกรรมและวิทยาศาสตร์ (CES) ดำเนินการวิจัยด้านทฤษฎีการคำนวณ เพื่อแก้ไขปัญหาสหวิทยาการที่ซับซ้อนที่ไม่สามารถเข้าถึงได้ด้วยวิธีการวิเคราะห์และการทดลอง
  • หน่วยวิจัยด้านโครงสร้างพื้นฐานอัจฉริยะ (INFRA) นำเทคโนโลยีต่างๆ มาใช้ในการวางแผน การออกแบบ การดำเนินงาน และการบริหารจัดการโครงสร้างพื้นฐานในรูปแบบอันชาญฉลาด ด้วยวิธีที่ประหยัด มีประสิทธิภาพ สะดวก สบายและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
  • หน่วยวิจัยด้านระบบโลจิสติกส์และระบบห่วงโซ่อุปทาน (LogEn) การวิจัยขั้นสูงทางด้านระบบโลจิสติกส์และระบบห่วงโซ่อุปทานที่ให้ความสำคัญทางด้านความเหมาะสม การวางแผนการผลิต การตั้งเวลาจำลอง การจัดการรายการสิ่งของ การพยากรณ์ การจัดการที่มีคุณภาพ การจัดการและการดำเนินการตามแนวคิดแบบลีน
  • หน่วยวิจัยด้านวัสดุและเทคโนโลยีพลาสม่า (MaP Tech) มีเป้าหมายที่จะดำเนินการในขอบเขตที่กว้างในเรื่องการทำวิจัยทางด้านวัสดุที่เน้นในการพัฒนา การออกแบบ การวิเคราะห์การคำนวณ การผลิต การทดสอบและการใช้พลาสติกประยุกต์ ยางสังเคราะห์และวัสดุนาโน การใช้งานของพลาสม่า สำหรับการใช้งานในด้านต่างๆโดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้งานในด้านการเกษตรและการแพทย์เป็นหลัก
  • หน่วยวิจัยด้านพลังงานที่ยั่งยืนและคาร์บอนต่ำ (SELC) ความท้าทายของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก ความไม่มั่นคงด้านพลังงานและการเติบโตทางเศรษฐกิจ นั้นสามารถแก้ไขได้ด้วยการพัฒนาอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีคาร์บอนต่ำและการจัดการ มีความหลากหลายของเทคโนโลยีที่มีขั้นตอนต่างๆของการพัฒนาที่จะนำไปสู่การใช้พลังงานและเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อม แต่อย่างไรก็ตาม พวกเขาจะไม่ได้รับการพัฒนาในอัตราที่ต้องการเนื่องจากการรวมกันของเทคโนโลยี ทักษะ การเงิน การค้าและการกำกับดูแลต่างๆ

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 Nishino, Fumio and Taweep Chaisomphob, 1997, A New Challenge for the Establishment of Sirindhorn International Institute of Technology at Thammasat University, Thailand เก็บถาวร 2005-11-03 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, Inauguration of the Institute's New Name 'Sirindhorn International Institute of Technology', Commemorative publication, pp.18-24.
  2. "สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้รับผลการประเมินคุณภาพผลงานวิจัยเชิงวิชาการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ของสถาบันอุดมศึกษาในประเทศไทย ในระดับ "ดีมาก"". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-03-19. สืบค้นเมื่อ 2008-03-11.
  3. 10th Anniversary Sirindhorn International Institute of Technology เก็บถาวร 2006-07-19 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เอกสารเผยแพร่เนื่องในโอกาสเปิดตึกสิรินธราลัย
  4. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-03-19. สืบค้นเมื่อ 2008-03-11.
  5. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-10-04. สืบค้นเมื่อ 2006-12-17.
  6. LAOTSE, LAOTSE Networking Universities เก็บถาวร 2016-07-11 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  7. ทวีศักดิ์ กออนันตกูล. 2546. NECTEC Technology Roadmap in Software Technology 23 ธ.ค. 2546
  8. ตฤณ ตัณฑเศรษฐี. IT Cluster: A Springboard of Thai Software Opportunities
  9. ประเวศ วะสี. 2544. ยุทธศาสตร์ทางปัญญา และการปฏิรูปการศึกษา เก็บถาวร 2004-08-31 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน 26 ก.พ. 2544 - พูดถึงการบริหารจัดการร่วมที่จะทํให้ สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร, อุทยานวิทยาศาสตร์, และ สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย ซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณเดียวกัน เชื่อมโยงกันทำหน้าที่

ดูเพิ่ม

[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]