ข้ามไปเนื้อหา

เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก เพลงกราวกีฬา)
เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี
(สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา)
ประธานรัฐสภาไทย และ
ประธานสภาผู้แทนราษฎร
ดำรงตำแหน่ง
28 มิถุนายน พ.ศ. 2475 – 1 กันยายน พ.ศ. 2475
กษัตริย์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
ก่อนหน้าสถาปนาตำแหน่ง
ถัดไปเจ้าพระยาพิชัยญาติ
ดำรงตำแหน่ง
15 ธันวาคม พ.ศ. 2476 – 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2477
กษัตริย์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
ก่อนหน้าเจ้าพระยาพิชัยญาติ
ถัดไปพระยาศรยุทธเสนี
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงธรรมการ
ดำรงตำแหน่ง
10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 – 16 ธันวาคม พ.ศ. 2476
นายกรัฐมนตรีพระยามโนปกรณนิติธาดา
พระยาพหลพลพยุหเสนา
ก่อนหน้าตนเอง
(ในฐานะเสนาบดี)
ถัดไปพระยาพหลพลพยุหเสนา
เสนาบดีกระทรวงธรรมการ
ดำรงตำแหน่ง
19 เมษายน พ.ศ. 2459 – 3 สิงหาคม พ.ศ. 2469
กษัตริย์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
ก่อนหน้าเจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี (หม่อมราชวงศ์เปีย มาลากุล)
ถัดไปพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าธานีนิวัต
ดำรงตำแหน่ง
1 กันยายน พ.ศ. 2475 – 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475
กษัตริย์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
ก่อนหน้าพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าธานีนิวัต
ถัดไปตนเอง
(ในฐานะรัฐมนตรี)
สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
แบบประเภทที่ 2 [a]
ดำรงตำแหน่ง
9 ธันวาคม พ.ศ. 2476 [1] – 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2477
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด
สนั่น

1 มกราคม พ.ศ. 2419
จังหวัดพระนคร ประเทศสยาม
เสียชีวิต1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2486 (67 ปี)
จังหวัดพระนคร ประเทศไทย
ศาสนาพุทธ
คู่สมรสถวิล สาลักษณ
บุตร18 คน รวมถึงปรียา ฉิมโฉม
บุพการี
  • พระยาไชยสุรินทร์ (หม่อมหลวงเจียม เทพหัสดิน) (บิดา)
  • คุณหญิงอยู่ เทพหัสดิน ณ อยุธยา (มารดา)

มหาอำมาตย์เอก เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี ร.ว. ป.จ. ป.ช. ป.ม. ว.ม.ล. นามเดิม สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา (1 มกราคม พ.ศ. 2419 – 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2486) นามปากกา ครูเทพ เป็นขุนนางชาวไทย เคยเป็นเสนาบดีกระทรวงธรรมการ และเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎรคนแรก ผู้วางรากฐานการศึกษาขั้นพื้นฐานและอาชีวศึกษา ทั้งได้ร่วมดำริให้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยแห่งแรกของประเทศ คือ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และโรงเรียนช่างก่อสร้างแห่งแรกของประเทศไทย คือ โรงเรียนช่างก่อสร้างอุเทนถวาย และยังเป็นผู้แปลกติกาฟุตบอลมาเผยแพร่ในประเทศไทย นอกจากนี้ ยังเป็นนักประพันธ์ งานประพันธ์เลื่องชื่อ คือ เพลงกราวกีฬา และเพลงชาติไทยฉบับก่อนปัจจุบัน

ปฐมวัยและการศึกษา

[แก้]

เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี เกิดที่บ้านหลังศาลเจ้าหัวเม็ด ตำบลสะพานหัน จังหวัดพระนคร เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2419 (นับแบบปัจจุบันคือปี 2420)[ต้องการอ้างอิง] ตรงกับวันจันทร์ เดือนยี่ แรม 2 ค่ำ ปีชวดเป็นบุตรคนที่ 18 จากบุตร-ธิดา 32 คนของพระยาไชยสุรินทร์ (หม่อมหลวงเจียม เทพหัสดิน) กับคุณหญิงอยู่ เทพหัสดิน ณ อยุธยา โดยพระยาไชยสุรินทร์ (หม่อมหลวงเจียม เทพหัสดิน) สืบสายตระกูลจากพระยาราชภักดี (หม่อมราชวงศ์ช้าง เทพหัสดิน) โอรสหม่อมเจ้าฉิม ในสมเด็จพระสัมพันธวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์

เมื่ออายุได้ 8 ขวบ ท่านบิดาก็ถึงแก่อนิจกรรม ชีวิตของท่านจึงผกผันจากการเป็นครอบครัวคนชั้นสูง จากการเป็นบุตรขุนนางชั้นผู้ใหญ่ (พระยาไชยสุรินทร์ดำรงตำแหน่งเจ้ากรมพระคลังข้างที่ในต้นรัชกาลที่ 5) ต้องมาช่วยมารดาทำสวน ค้าขายและรับจ้างเย็บรังดุมตั้งแต่ยังเด็ก ความยากลำบากทำให้ท่านมีความอดทนไม่ท้อถอยและมีอุปนิสัยอ่อนโยน มัธยัสถ์ ซึ่งเป็นสิ่งเกื้อหนุนให้ท่านมีความเจริญรุ่งเรืองในการศึกษาและการทำงาน

การศึกษา

[แก้]

เริ่มการศึกษาที่โรงเรียนวัดบพิตรพิมุข พระตำหนักสวนกุหลาบ และโรงเรียนสุนันทาลัย แล้วเข้าศึกษาต่อ ณ โรงเรียนฝึกหัดอาจารย์ระหว่างปี พ.ศ. 2435 - 2437 ได้รับประกาศนียบัตรครู และสอบไล่ได้เป็นที่ 1 ของผู้สำเร็จวิชาครูชุดแรกและทำหน้าที่สอนประมาณ 2 ปี

  • พ.ศ. 2431 เมื่ออายุ 12 ปี เข้าเรียนประโยคหนึ่งที่โรงเรียนบพิตรพิมุข มีพระมหาหนอหรือขุนอนุกิจวิธูร (น้อย จุลลิธูร) เป็นครูคนแรก
  • พ.ศ. 2432 จบประโยคสอง โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบเมื่ออายุ 12 ปี
  • พ.ศ. 2435 จบประโยคมัธยมศึกษาชั้น 5 ภาษาอังกฤษหลักสูตรหลวงโรงเรียนตัวอย่างสุนันทาลัยเข้าแล้วศึกษาในโรงเรียนฝึกหัดอาจารย์ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าให้ตั้ง โดยเป็นนักเรียนรุ่นแรกเพียง 3 คน สอบประกาศนียบัตรครูรุ่นแรกของกรมศึกษาธิการได้อันดับที่ 1 เมื่ออายุ 16 ปี แล้วทำหน้าที่เป็นนักเรียนสอนในกรมศึกษาธิการ
  • พ.ศ. 2437 เป็นผู้ช่วยอาจารย์ใหญ่โรงเรียนฝึกหัดอาจารย์
  • พ.ศ. 2439 เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม จึงได้เป็นนักเรียนทุนหลวงกระทรวงธรรมการไปศึกษาวิชาครูต่อที่ประเทศอังกฤษ ณ วิทยาลัยฝึกหัดครูเบอโรโรด (Borough Road College) ณ เมืองไอส์ลเวิซท์ (Isleworth) ทางใต้ของกรุงลอนดอน ภายใต้การดูแลของเซอร์ โรเบิร์ต มอแรน จบแล้วได้เดินทางไปดูงานด้านการศึกษาที่ประเทศอินเดียและพม่าเป็นเวลา 3 เดือน

ชีวิตการทำงานและผลงาน

[แก้]
เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรีในวัยทำงาน
  • พ.ศ. 2441 จบการศึกษาและการดูงานกลับมาอุปสมบทในพระพุทธศาสนา 1 พรรษา โดยมีโดย พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าให้เป็นนาคหลวง อุปสมบท ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม จำพรรษา ณ วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร มีสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงเป็นอุปัชฌาย์
  • พ.ศ. 2442 กลับเข้ารับราชการกระทรวงธรรมการเมื่อวันที่ 9 มกราคม โดยเป็นครูสอนวิชาครูและคำนวณวิธีในโรงเรียนฝึกหัดอาจารย์ ก่อนเป็นพนักงานแต่งแบบเรียนประจำศาลาว่าการกรมศึกษาธิการ
  • 9 กันยายน พ.ศ. 2442 (พ.ศ. 2443 ในปัจจุบัน) ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น "หลวงไพศาลศิลปศาสตร์" ถือศักดินา 800 [2] รับหน้าที่เป็นเป็นผู้ช่วยหัวหน้ากองตรวจกรมศึกษาธิการและทำหน้าที่สอนในขณะเดียวกัน
  • พ.ศ. 2444 จัดให้มีการแข่งขันฟุตบอลระหว่างโรงเรียนประเภทอายุไม่เกิน 20 ปีเป็นครั้งแรกที่สนามหลวง โรงเรียนชนะเลิศจะได้รับโล่ไว้ครอบครองเป็นเวลาหนึ่งปี และการจารึกชื่อบนโล่เป็นเกียรติประวัติ เรียกว่า "การแข่งขันฟุตบอลชิงโล่ของกระทรวงธรรมการ"
  • พ.ศ. 2445 เดินทางไปดูงานการศึกษา ณ ประเทศญี่ปุ่น โดยมีผู้ร่วมเดินทางในครั้งนั้นคือ ขุนอนุกิจวิทูร (สันทัด เทพหัสดิน ณ อยุธยา) และพระชำนิบรรณาคม (อ่อน สาริบุตร) โดยใช้เวลาดูงาน 72 วัน และในโอกาสนี้ ได้คอยเฝ้ารับเสด็จนิวัติประเทศสยามของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร (พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว) ซึ่งสำเร็จการศึกษาจากประเทศอังกฤษแล้ว
  • พ.ศ. 2453 ร. 6 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม (ร.ศ. 129) เพื่อรับกระแสพระราชดำริเรื่องการวางแนวทางการจัดการศึกษาของชาติโดยมีพระราชดำริว่า
“ความเจริญแห่งประเทศบ้านเมืองในสมัยต่อไปนี้ที่จะเป็น ปึกแผ่นแน่นหนาได้แท้จริง ก็ด้วยอาศรัยศิลปวิทยาเป็นที่ตั้งหรือเปนรากเหง้าเค้ามูลจึงมีพระราชประสงค์จะทรงทำนุบำรุงการศึกษาของชาติบ้านเมืองให้รุ่งเรืองทันเขาอื่น”
การจัดตั้งโรงเรียนมหาดเล็กหลวงแล้วเสร็จเปิดสอนเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม
  • 4 มิถุนายน พ.ศ. 2454 รั้งตำแหน่งปลัดทูลฉลอง กระทรวงธรรมการ[3]และเป็น “พระยาธรรมศักดิ์มนตรี”
  • พ.ศ. 2457 รั้งตำแหน่งผู้บัญชาการโรงเรียนข้าราชการพลเรือนเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม อีกตำแหน่งหนึ่ง
    • เขียนบทความแสดงความคิดเห็นใน "หนังสือพิมพ์ล้อมรั้ว พ.ศ. 2457" เสนอให้จัดตั้งมหาวิทยาลัยโดยใช้ที่ดินระหว่างสนามม้ากับถนนพญาไทและถนนพญาไทถึงคลองสวนหลวง ส่วนหนึ่งของบทความ
"มหาวิทยาลัยเป็นอาภรณ์สำหรับมหานครที่รุ่งเรืองแล้ว มหานครใดมีมหาวิทยาลัยที่ขึ้นชื่อเสียงสมจะอวดได้ ก็ย่อมเป็นเครื่องเชิดชูเกียรติคุณของมหานครนั้น ก็ย่อมได้ชื่อเสียงปรากฏความรุ่งเรืองแผ่ไพศาลไปในทิศทั้งปวงด้วย"
  • พ.ศ. 2459 ได้เป็นเสนาบดีกระทรวงธรรมการ ได้รับพระราชทานยศเป็น “จางวางโท” และ “จางวางเอก” ในปีเดียวกัน
ในปีเดียวกันนี้ ได้มีพระราชหัตถ์เลขาพระราชทานเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรีว่า
"ถึงพระยาธรรมศักดิ์มนตรี ได้รับหนังสือลงวันที่ 21 เดือนนี้ หาฤๅเรื่องจะรวมโรงเรียนข้าราชการพลเรือนกับโรงเรียนแพทยาลัย ขึ้นเปนมหาวิทยาลัย และบรรจุตำแหน่งน่าที่ทางกระทรวงธรรมการนั้นทราบแล้ว ตามความเห็นที่ชี้แจงมานั้น เห็นชอบด้วยแล้วให้จัดการไปตามนี้”


ในปีเดียวกันนี้ ได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติประถมศึกษาฉบับแรกของประเทศ
  • พ.ศ. 2468 แต่งเพลงกราวกีฬา
  • พ.ศ. 2469 ลาออกจากราชการเพื่อรับบำเหน็จบำนาญมาช่วยสอนในโรงเรียนสตรีจุลนาคซึ่งคุณไฉไล เทพหัสดิน ณ อยุธยา บุตรีลาออกจากครูโรงเรียนราชินีและโรงเรียนวชิราวุธมาจัดตั้งขึ้นที่บ้านหลานหลวง
  • พ.ศ. 2475 เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎรคนแรกในระบอบประชาธิปไตยระหว่างวันที่ 28 มิถุนายน – 1 กันยายน และต่อมาได้รับการแต่งตั้งให้ไปเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการระหว่างวันที่ 1 กันยายน - 27 ธันวาคม
  • พ.ศ. 2476 รัฐสภามีมติเลือกกลับไปเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎรอีกครั้งหนึ่งเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม และขอลาออกเมื่อวันที่ 6 เดือนกุมภาพันธ์ เนื่องจากเห็นว่าเหตุการณ์ในระยะนั้นไม่อาจรักษาความเป็นประชาธิปไตยตามครรลองที่ท่านคิดว่าควรเป็นไว้ได้ จึงลาออกมาพักผ่อนอยู่กับบ้านจนกระทั่งวาระสุดท้ายของชีวิต
  • พ.ศ. 2477 ก่อตั้งโรงเรียนช่างก่อสร้างอุเทนถวาย และโรงเรียนฝึกหัดครูประถมกสิกรรมแม่โจ้ เชียงใหม่ (ดำเนินการในระหว่างเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. 2476)

งานด้านการศึกษา

[แก้]

เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรีได้ประกอบกิจการทางการศึกษาอันเป็นคุณูปการไว้แก่ประเทศไว้มากมาย โดยเฉพาะในการวางรากฐานอย่างสมัยใหม่ เริ่มตั้งแต่การเป็นครู ผู้ตรวจการศึกษา เป็นเจ้ากรมราชบัณฑิต เจ้ากรมตรวจ ปลัดทูลฉลองจนถึงเสนาบดี โดยเริ่มนำเอาความรู้แผนใหม่เข้ามาในวงการครู เริ่มพัฒนาด้านพุทธิศึกษาอย่างจริงจัง เขียนตำรา เริ่มตั้งแต่ด้านสุขาภิบาลและสุขศึกษาสำหรับครอบครัว รวมทั้งเน้นด้านปลูกฝังธรรมจรรยาอย่างแท้จริง อบรมสั่งสอนให้คนมีคุณธรรมและจรรยามรรยาท จัดทำแบบสอน-อ่าน-เขียนด้านธรรมจริยาขึ้นใช้ในโรงเรียนทั่วประเทศ นำพลศึกษาและการกีฬาเข้ามาในโรงเรียนเพื่อสร้างลักษณะนิสัยให้เยาวชนรู้จักรู้แพ้ รู้ชนะ รู้จักอภัยซึ่งกันและกัน

เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรีได้จัดให้มีการศึกษาภาคบังคับ เพื่อให้ประชาชนได้รับการศึกษาทั่วถึงกันโดยท่านเชื่อว่า เมื่อให้มวลชนได้รับการศึกษาอย่างกว้างขวางแล้ว บุคคลที่มีความสามารถก็จะปรากฏขึ้นมาให้เห็นเอง ได้จัดตั้งโรงเรียนขึ้นทั่วประเทศรวมทั้งโรงเรียนประชาบาลเพื่อรองรับการจัดการศึกษาภาคบังคับ มีการเริ่มงานด้านหัตถศึกษา คือ นำเอาวิชาอาชีพต่าง ๆ เข้ามาสอนในโรงเรียน เพื่อให้ประชาชนทั่วไปได้รับทั้งด้านวิชาความรู้เพื่อไปรับราชการ และทางด้านวิชาชีพสำหรับผู้ที่ต้องการนำไปประกอบอาชีพทั่วไป ผลงานของเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี อาจสรุปเป็นข้อ ๆ ได้ดังนี้

  1. นำวิธีการจัดการศึกษาของต่างประเทศ ทั้งในยุโรปและเอเชียบางประเทศมาใช้เป็นแนวทางในการจัดการศึกษาของประเทศไทย
  2. เป็นกรรมการโรงเรียนข้าราชการพลเรือน เป็นผู้บัญชาการโรงเรียนจนกระทั่งได้รับการสถาปนาเป็นจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  3. เป็นกรรมการจัดการโรงเรียนมหาดเล็กหลวง
  4. เป็นผู้ตรวจการลูกเสือมณฑลกรุงเทพฯ คนแรก
  5. เป็นผู้ดำเนินการเพื่อให้ได้มีการประกาศใช้ พ.ร.บ. โรงเรียนราษฎร์ พ.ศ. 2461
  6. เป็นผู้ดำเนินการเพื่อห้ได้มีการประกาศใช้ พ.ร.บ. ประถมศึกษา พ.ศ. 2464
  7. ริเริ่มให้มีการฝึกหัดเล่นฟุตบอลในโรงเรียนและให้มีการแข่งขันฟุตบอลระหว่างโรงเรียน
  8. ตั้งสามัคยาจารย์สมาคม เป็นผู้บรรยายวิชาครูและวิธีสอนที่สมาคมและที่โรงเรียนฝึกหัดอาจารย์และเริ่มออกหนังสือ “วิทยาจารย์”
  9. ริเริ่มส่งเสริมวิชาช่างและหัตถกรรมเพื่อส่งเสริมให้เห็นความสำคัญของการช่างสาขาต่าง ๆ และจัดตั้งโรงเรียนเพาะช่างขึ้นเพื่อรองรับและเพาะขยายศิลปะและการช่าง ซึ่งต่อมาได้แตกออกไปเป็นโรงเรียนช่างก่อสร้างอุเทนถวายและคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในภายหลัง
  10. ริเริ่มการศึกษาด้านเกษตรกรรมโดยการจัดตั้งโรงเรียนฝึกหัดครูประถมกสิกรรมแห่งแรก ขึ้นที่บริเวณหอวังหรือบ้านสวนหลวง สระปทุมเมื่อ พ.ศ. 2460 ได้จัดส่งนักเรียนทุนไปศึกษาเกษตรกรรมต่างประเทศและได้กลับมาเป็น “สามเสือเกษตร" เป็นฉายาที่เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี ใช้เรียกแทน บุคคลทั้ง 3 คือหลวงสุวรรณวาจกกสิกิจ หลวงอิงคศรีกสิการ และพระช่วงเกษตรศิลปการ ภายหลังท่านเหล่านี้ล้วนมีคุณูปการต่อวงการเกษตร
  11. ด้านการค้าได้ริเริ่มจัดตั้งโรงเรียนพาณิชยการขึ้นที่วัดมหาพฤฒารามวรวิหาร

ด้านการประพันธ์

[แก้]

นอกจากปราชญ์ด้านการศึกษาแล้ว เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรีได้รับการยกย่องเป็นนักประพันธ์คนสำคัญท่านหนึ่งของประเทศไทย ท่านได้แต่งตำราและหนังสือเป็นจำนวนมากซึ่งมีทั้งความเรียงร้อยแก้ว และบทร้อยกรอง ซึ่งอาจแบ่งเป็นกลุ่มได้ดังนี้

  • 1. แบบเรียน มีตั้งแต่แบบเรียนอนุบาล แบบเรียนวิชาครู ตรรกวิทยา เรขาคณิต พีชคณิต แบบสอนอ่านธรรมจริยา สุขาภิบาลสำหรับครอบครัว สมบัติผู้ดี และอื่น ๆ อีกมาก
  • 2. โคลงกลอน แต่งไว้เป็นจำนวนมาก และไดรับการรวบรวมตีพิมพ์เป็นหนังสือชื่อ “โคลงกลอนของครูเทพ”
  • 3. บทความ ว่าด้วยการศึกษา จรรยา การสมาคม เศรษฐกิจและการเมือง และปรัชญา โดยใช้นามปากกาว่า “ครูเทพ” บ้าง “เขียวหวาน” บ้าง
  • 4. ละครพูด แต่งขึ้นรวม 4 เรื่อง ได้แก่ บ๋อยใหม่ แม่ศรีครัว หมั้นไว้ และตาเงาะ

ด้านดนตรี

[แก้]

ได้เป็นผู้ประพันธ์ “เพลงกราวกีฬา” ในนาม “ครูเทพ” เพื่อจูงใจให้นักกีฬารู้จักการแพ้ชนะและรู้จักการให้อภัย ทั้งนี้สืบเนื่องจากการการรณรงค์ให้มีการออกกำลังกายและการแข่งขันกีฬาในโรงเรียนทั่วประเทศ รวมทั้งการริเริ่มให้มีการแข่งขันฟุตบอลซึ่งเป็นกีฬาที่รุนแรง ซึ่งในเวลาต่อมาที่มักเกิดการวิวาทกันอยู่เนือง ๆ

หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ พ.ศ. 2475 เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรีได้เป็นผู้แต่งเนื้อร้องเพลงชาติโดยใช้ทำนองเพลงมหาฤกษ์มหาชัยเพื่อใช้เป็นเพลงประจำชาติชื่อ “เพลงชาติมหาชัย” อยู่ระยะหนึ่งก่อนที่จะเปลี่ยนใหม่โดยมีเนื้อร้องดังนี้

สยามอยู่คู่ฟ้าอย่าสงสัย เพราะชาติไทยเป็นไทยไปทุกเมื่อ

ชาวสยามนำสยามเหมือนนำเรือ ผ่านแก่งเกาะเพราะเพื่อชาติพ้นภัย

เราร่วมใจร่วมรักสมัครหนุน วางธรรมนูญสถาปนาพาราใหม่

ยกสยามยิ่งยงธำรงชัย ให้คงไทยตราบสิ้นดินฟ้า”

นอกจากนี้เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรียังได้แต่งเพลงชื่อ “คิดถึง” เมื่อ พ.ศ. 2477 (บันทึกเสียงครั้งแรก พ.ศ. 2494 โดยเฉลา ประสบศาสตร์)

ชีวิตครอบครัวและชีวิตในบั้นปลาย

[แก้]

เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรีมีพี่น้องร่วมและต่างมารดาที่ได้ทำคุณประโยชน์แก่บ้านเมืองหลายท่านและหลายด้าน มีที่ทำคุณประโยชน์ด้านการศึกษาสองท่านคือ มหาอำมาตย์ตรี พระยาอนุกิจวิธูร (สันทัด เทพหัสดิน ณ อยุธยา) และพระยาวิทยาปรีชามาตย์ (ศิริ เทพหัสดิน ณ อยุธยา) รวมทั้งผู้มีศักดิ์เป็นหลานแต่อ่อนอายุกว่าเพียงปีเดียว ที่ทำคุณประโยชน์ด้านการทหารคือ พลเอก พระยาเทพหัสดิน (ผาด เทพหัสดิน ณ อยุธยา) หัวหน้าคณะทูตทหารไทยที่เข้าร่วมรบในสงครามโลกครั้งที่ 1

ท่านได้สมรสกับท่านผู้หญิงถวิล ธิดาของมหาเสวกโท พระยาศรีภูริปรีชา (กมล สาลักษณ) กับคุณหญิงพึ่ง ศรีภูริปรีชา และมีภริยาอีก 4 คน มีบุตร-ธิดารวม 20 คน ได้อบรมสั่งสอนให้บุตร-ธิดาทุกคนให้มีความอดทนและมัธยัสถ์ สนับสนุนให้ทุกคนเรียนถึงชั้นสูงสุดเท่าที่มีความสามารถ และด้วยการมีส่วนผลักดันการศึกษาด้านการช่างและได้สนับสนุนให้มีการเปิดสอนวิชาสถาปัตยกรรมขึ้นที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ท่านจึงแนะนำให้บุตรี 2 คน สอบเข้าเรียนเป็นนิสิตรุ่นแรกในคณะนี้เป็นรุ่นแรกเพื่อแสดงให้เห็นว่าสตรีก็สามารถเป็นช่างได้

โรงเรียนสตรีจุลนาค(ขวามือในรูป) และบ้านเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี(ซ้าย)

หลังจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรีได้ถวายบังคมลาออกจากราชการเมื่อ พ.ศ. 2469 มาอยู่ที่บ้านพักตำบลนางเลิ้ง หลานหลวง ถนนนครสวรรค์ กรุงเทพมหานคร และช่วยบุตรีคือ คุณไฉไลเปิดโรงเรียนสตรีจุลนาค และได้ช่วยสอนโดยวิธีใหม่ที่ท่านพยายามเผยแพร่ด้วย ใช้เวลาส่วนใหญ่ในการเขียนบทความ หนังสือและบทประพันธ์ต่าง ๆ รวมทั้งบทเพลงดังที่กล่าวมาแล้ว บ้านพักของท่านที่ถนนนครสวรรค์สร้างขึ้นในเวลาไล่เลี่ยกับพระที่นั่งอนันตสมาคม แม้จะมีขนาดเล็กและเรียบง่ายแต่ก็มีรูปแบบทางสถาปัตยกรรมแบบยุโรปที่เป็นที่นิยมในสมัยนั้น

บุตร-ธิดา

[แก้]
  • ไฉไล เทพหัสดิน ณ อยุธยา อดีตครูใหญ่โรงเรียนสตรีจุลนาคและผู้อุปถัมภ์มูลนิธิเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2538
  • ธารี เทพหัสดิน ณ อยุธยา
  • ยาหยี สาวนายน สมรสกับ เล็ก สาวนายน โดยมีบุตรคือ นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
  • กำธร เทพหัสดิน ณ อยุธยา สมรสกับ สายสวาสดิ์ ธรรมสโรช มีบุตรีคือ ผกาวดี เทพหัสดิน ณ อยุธยา (ภายหลังเปลี่ยนเป็นอุตตโมทย์) เป็นผู้ประพันธ์ “ครูไหวใจร้าย” และผู้ก่อตั้งสำนักพิมพ์ผีเสื้อ

แม้น เทพหัสดิน ณ อยุธยา

[แก้]

อสัญกรรม

[แก้]
โกศเจ้าพระยาธรรมศักดิ์ ตั้ง ณ บ้านพักที่ถนนนครสวรรค์

เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรีถึงแก่อสัญกรรมด้วยโรคหัวใจวายเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2486 ที่บ้านพัก ณ ถนนนครสวรรค์​ จังหวัดพระนคร[ต้องการอ้างอิง]

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเขียนไว้ใน สาส์นสมเด็จ ว่า สาเหตุที่เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรีหัวใจวาย คือ กิน "ยาฝรั่ง" มากเกินไป[4]

บรรดาศักดิ์

[แก้]
  • 21 กันยายน พ.ศ. 2446 ได้รับบรรดาศักดิ์เป็น พระไพศาลศิลปศาสตร์ ถือศักดินา 800[5]
  • 6 มกราคม พ.ศ. 2452 ได้รับบรรดาศักดิ์เป็น พระยาไพศาลศิลปศาสตร ถือศักดินา 1000[6]
  • 4 มิถุนายน พ.ศ. 2454 ได้รับบรรดาศักดิ์เป็น พระยาธรรมศักดิ์มนตรี สรรพศึกษาวิธียุโรปการ
  • 31 ธันวาคม พ.ศ. 2460 ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ ตามที่จารึกในหิรัญบัตร ว่า เจ้าพระยาธรรมศักดิมนตรี ศรีสาสนวโรปกร สุนทรธรรมจริยานุวาท พิศาสศิลปศาสตร์ศึกษาธิการโกศล พิมลพงศ์เทพหัสดิน บรมนรินทรรามาธิราชสวามิภักดิ์ เสมาธรรมจักรมุรธาธร ราชกิจจานุสรสุทธสมาจาร ไตรรัตนสรณาลังการเมตตาชวาธยศรัย อภัยพิริยบรากรมพาหุ ศักดินา 10000 [7] เมื่ออายุได้เพียง 41 ปี

ยศ

[แก้]

ยศกรมมหาดเล็ก

[แก้]
  • จางวางเอก[8]

ยศกองเสือป่า

[แก้]
  • – นายหมู่โท
  • 3 มกราคม 2456 – นายหมู่ใหญ่[9]
  • นายกองตรี
  • นายกองโท[10]

เครื่องราชอิสริยาภรณ์

[แก้]
ธรรมเนียมยศของ
เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี
การเรียนใต้เท้ากรุณา
การแทนตนเกล้ากระหม่อม/ดิฉัน
การขานรับขอรับกระผม/เจ้าค่ะ

ลำดับสาแหรก

[แก้]

เชิงอรรถ

[แก้]
  1. สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรชุดชั่วคราว ตั้งแต่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2475 – 9 ธันวาคม พ.ศ. 2476

อ้างอิง

[แก้]
  1. ประกาศการแต่งตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2
  2. พระราชทานสัญญาบัตรขุนนาง (หน้า 352)
  3. พระบรมราชโองการ ประกาศ ตั้งตำแหน่งรองเสนาบดีและผู้รั้งปลัดทูลฉลองกระทรวงธรรมการ (หน้า 102)
  4. กรมศิลปากร (ผู้รวบรวม). (2503). สาสน์สมเด็จ ลายพระหัตถ์สมเด็จเจ้าฟ้า กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ และสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ (ภาคที่ 55). พระนคร: โรงพิมพ์รุ่งเรืองธรรม. (พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานฌาปนกิจศพคุณแม่เต็ม ชวลิตธำรง ณ ฌาปนสถานวัดหัวลำโพง 28 เมษายน 2503). หน้า 29.
  5. พระราชทานสัญญาบัตรขุนนาง
  6. พระราชทานสัญญาบัตรขุนนาง (หน้า 2312)
  7. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศตั้งเจ้าพระยา, 3 มกราคม 2460, หน้า 511-7
  8. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานยศ, เล่ม ๓๓ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๑๙๓๔, ๒๙ ตุลาคม ๒๔๕๙
  9. เลื่อนและตั้งยศนายกองนายหมู่เสือป่า
  10. พระราชทานยศเสือป่า (หน้า 3328)
  11. "พระราชทานตรารัตนวราภรณ์" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 33: 1929. 29 ตุลาคม 2459. สืบค้นเมื่อ 24 มกราคม 2564. {{cite journal}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  12. "พระราชทานตราจุลจอมเกล้า" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 34: 3173. 27 มกราคม 2460. สืบค้นเมื่อ 24 มกราคม 2564. {{cite journal}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  13. "พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 33: 1837. 22 ตุลาคม 2459. สืบค้นเมื่อ 24 มกราคม 2564. {{cite journal}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  14. พระราชทานตราวชิรมาลา
  15. "พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 25: 3015. 2 กุมภาพันธ์ 2461. สืบค้นเมื่อ 24 มกราคม 2564. {{cite journal}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)