สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (ประเทศไทย)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา
Office of the Vocational Education Commission
ตราสัญลักษณ์สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา
ภาพรวมหน่วยงาน
ก่อตั้ง19 สิงหาคม พ.ศ. 2484 (82 ปี)
หน่วยงานก่อนหน้า
  • กรมอาชีวศึกษา
สำนักงานใหญ่ไทย
319 วังจันทรเกษม ถนนราชดำเนินนอก แขวงดุสิต เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร 10300
งบประมาณประจำปี22,289.8009 ล้านบาท (พ.ศ. 2559)[1]
ฝ่ายบริหารหน่วยงาน
  • ยศพล เวณุโกเศศ [2], เลขาธิการ
  • เรืออากาศโท​ สมพร ปานดำ, รองเลขาธิการ
  • ประพัทธ์ รัตนอรุณ[3], รองเลขาธิการ
  • วิทวัต ปัญจมะวัต [4], รองเลขาธิการ
ต้นสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ
เว็บไซต์https://www.vec.go.th/

สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) หรือ "กรมอาชีวศึกษา" (เดิม) เป็นหนึ่งในสี่หน่วยงานหลักของกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบกำกับดูแลงานการศึกษาในด้านการอาชีวศึกษา เป็นสำนักงานเลขานุการของคณะกรรมการการอาชีวศึกษา

ประวัติการอาชีวศึกษาในประเทศไทย[แก้]

การอาชีวศึกษาในประเทศไทย เกิดขึ้นอย่างเป็นทางการในปี 2441 โดยถูกบรรจุไว้ใน โครงการศึกษา พ.ศ. 2441 โดยถือว่าเป็น โดยจัดการศึกษา 2 ประเภทคือ โรงเรียนสามัญศึกษา สอน วิชาสามัญทั่วไป และ โรงเรียนวิสามัญศึกษา สอนวิชาการเพื่อออกไปประกอบอาชีพ[5]

และในปี 2453 ได้มีการตั้งโรงเรียนอาชีวศึกษาแห่งแรก คือ โรงเรียนพาณิชยการที่ วัดมหาพฤฒาราม และ วัดราชบูรณะ ปี 2456 จัดตั้งโรงเรียนเพาะช่าง เพื่อเป็นสถานศึกษาในการฝึกหัดศิลปะการช่าง และปี 2460 จัดตั้งโรงเรียนฝึกหัดครูประถมกสิกรรม เพื่อฝึกหัดบุคลากรในงานด้านเกษตร[5]

ต่อมา เมื่อมีการประกาศใช้ แผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2475 เพื่อสอดคล้องเจตนารมณ์ในการที่จะให้การศึกษาแก่ราษฎร จึงกำหนดว่า วิสามัญศึกษา ได้แก่ การศึกษาวิชาชีพซึ่งจัดให้เหมาะสมกับภูมิประเทศ เช่น กสิกรรม หัตถกรรม และพาณิชยการ เพื่อเป็นพื้นฐานความรู้สำหรับประกอบการเกษตรกรรมและ อุตสาหกรรม ต่าง ๆ และในแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2479 ได้ ปรากฏคำว่า "อาชีวศึกษา" เป็นครั้งแรกในระบบการศึกษาของประเทศไทย โดยแบ่งออกเป็น 3 ชั้น คือ อาชีวศึกษา ชั้นต้น กลาง และสูง รับนักเรียนจากโรงเรียนสามัญศึกษาของทุกระดับประโยค

ในปี 2481 พระราชกฤษฎีกาจัดวางระเบียบราชการในสังกัดกระทรวงธรรมการ (กระทรวงศึกษาธิการ ในปัจจุบัน) ให้จัดตั้งกรมใหม่ขึ้น 2 กรม คือ กรมสามัญศึกษา มีหน้าที่จัดการศึกษาสายสามัญ และ กรมวิชาการ มีหน้าที่จัดการศึกษาสายอาชีพ

ปี 2484 ได้มีพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2484 ซึ่งตราขึ้นเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2484 และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา คือ วันที่ 19 สิงหาคม 2484 กระทรวงธรรมการได้เปลี่ยนชื่อเป็น กระทรวงศึกษาธิการ และเปลี่ยนชื่อจาก กรมวิชาการ เป็น กรมอาชีวศึกษาขึ้นตามพระราชบัญญัติ เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2484[6]

ในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2559 ราชกิจจานุเบกษา ได้ทำการเผยแพร่คำสั่งหัวหน้า คณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 8/2559 ซึ่งมีสาระสำคัญคือให้โอนอำนาจหน้าที่ของ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน หรือ สช. ในส่วนที่ดูแลการอาชีวศึกษาให้มาสังกัด สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา มีผลทำให้การอาชีวศึกษาของรัฐและเอกชนถูกควบรวมเข้าด้วยกันโดยมีผลตั้งแต่วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2559

การจัดตั้งวิทยาลัยเทคนิค[แก้]

ปี พ.ศ. 2495 ได้เริ่มจัดตั้งวิทยาลัยเทคนิค ในสังกัด กองวิทยาลัยเทคนิค กรมอาชีวศึกษา ทั้งหมด 5 แห่ง โดยเป็นวิทยาลัยเทคนิคหลักทั่วประเทศ 4 แห่ง คือ วิทยาลัยเทคนิคกรุงเทพ-กรุงเทพ (พ.ศ. 2495), วิทยาลัยเทคนิคภาคใต้-สงขลา (พ.ศ. 2497), วิทยาลัยเทคนิคภาคตะวันออกเฉียงเหนือ-นครราชสีมา (พ.ศ. 2499) และ วิทยาลัยเทคนิคภาคพายัพ-เชียงใหม่ (พ.ศ. 2500) รวมทั้ง วิทยาลัยเทคนิคธนบุรี - ธนบุรี (พ.ศ. 2503)

ปี พ.ศ. 2502 ได้รับความช่วยเหลือจาก ประเทศเยอรมนี ในการจัดตั้ง โรงเรียนเทคนิคพระนครเหนือ จังหวัดกรุงเทพมหานคร ในสังกัด กองโรงเรียนพาณิชย์ กรมอาชีวศึกษา และได้ยกฐานะในปี พ.ศ. 2507 เป็น วิทยาลัยเทคนิคพระนครเหนือ โดยได้รับการพัฒนาและเปิดสอนจนถึงระดับ ปวส.

ปี พ.ศ. 2503 ได้รับความช่วยเหลือจาก ประเทศญี่ปุ่น ในการจัดตั้ง ศูนย์ฝึกโทรคมนาคมนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี ในสังกัด กองโรงเรียนพาณิชย์ กรมอาชีวศึกษา และได้ยกฐานะในปี พ.ศ. 2507 เป็น วิทยาลัยโทรคมนาคมนนทบุรี โดยได้รับการพัฒนาและเปิดสอนจนถึงระดับ ปวส.

ปี พ.ศ. 2505 ได้รับความช่วยเหลือจาก ยูเนสโก (UNESCO) และ กองทุนพิเศษ สหประชาชาติ ในการจัดหาผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ ให้มาช่วยดำเนินการสอน รวมทั้งให้ทุนการศึกษา อบรมเพิ่มเติมแก่อาจารย์ และจัดซื้ออุปกรณ์การศึกษาให้แก่ วิทยาลัยเทคนิคธนบุรี รวมทั้ง วิทยาลัย จะรับนักศึกษาโดยได้เข้าร่วมกับ สภาการศึกษาแห่งชาติ ในการใช้ วิธีสอบคัดเลือกรวมเพื่อรับนักศึกษาร่วมกับมหาวิทยาลัยอื่น ๆ (การสอบเอนทรานซ์) (โดยมี สถาบันการศึกษา จำนวน 6 แห่ง คือ มหาวิทยาลัย 5 แห่ง ที่มีอยู่ในขณะนั้น ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และ วิทยาลัย 1 แห่ง ได้แก่ วิทยาลัยเทคนิคธนบุรี ได้จัดสอบร่วมกัน)

ปี พ.ศ. 2506 ได้รับความช่วยเหลือจาก ประเทศเยอรมนี ในการจัดตั้ง วิทยาลัยเทคนิคขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น ในสังกัด กองโรงเรียนพาณิชย์ กรมอาชีวศึกษา โดยได้รับการพัฒนาและเปิดสอนจนถึงระดับ ปวส.

ปี พ.ศ. 2512 ได้รับความช่วยเหลือจาก ประเทศออสเตรีย ในการจัดตั้ง โรงเรียนเทคนิคสัตหีบ จังหวัดชลบุรี สถานศึกษาหลายแห่งได้รับการพัฒนาและเปิดสอนจนถึงระดับ ปวส. โดยในปี พ.ศ. 2512 ได้รับการยกฐานะจาก โรงเรียนเป็น วิทยาลัย ซึ่งแห่งแรกคือ วิทยาลัยพณิชยการพระนคร จนถึงปี พ.ศ. 2522 กรมอาชีวศึกษามีวิทยาลัยอยู่ในสังกัด จำนวน 90 แห่ง ในจำนวนสถานศึกษาทั้งสิ้น 159 แห่ง

ปี พ.ศ. 2513 รวมโรงเรียนการช่างสตรีและโรงเรียนการช่าง 4 จังหวัด คือ อ่างทอง ราชบุรี บุรีรัมย์ และพัทลุง

การยุบรวม โอน วิทยาลัย[แก้]

ปี พ.ศ. 2514 ได้มีพระราชบัญญัติจัดตั้ง สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า โดยรวม วิทยาลัยเทคนิคธนบุรี, วิทยาลัยเทคนิคพระนครเหนือ และ วิทยาลัยโทรคมนาคมนนทบุรี ในสังกัดกรมอาชีวศึกษาไปรวมเป็นสถาบัน และเปิดสอน ถึงระดับ ปริญญาตรี

ปี พ.ศ. 2515 ให้ วิทยาลัยวิชาการก่อสร้างบางพลัด เข้ารวมกับ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า และ ประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 217 พ.ศ. 2515 ให้โอนโรงเรียนฝึกฝนอาชีพเคลื่อนที่ 36 แห่ง ของกรมอาชีวศึกษาไป กรมสามัญ

ปี พ.ศ. 2518 ได้มีพระราชบัญญัติจัดตั้ง วิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา ขึ้นโดยแยกวิทยาลัย 28 แห่งออกจาก กรมอาชีวศึกษา เปิดสอนถึงระดับปริญญาตรี และได้โอนศูนย์ฝึกต่อเรือหนองคายของสำนักงานพลังงานแห่งชาติมาอยู่ในสังกัด กรมอาชีวศึกษา โดยเปลี่ยนชื่อเป็นโรงเรียนอุตสาหกรรมต่อเรือหนองคาย

ปี พ.ศ. 2519 รวมโรงเรียนเทคนิค โรงเรียนอาชีวศึกษา โรงเรียนการช่างใน 65 วิทยาเขต และยกฐานะโรงเรียนเกษตรกรรม 12 แห่งเป็นวิทยาลัย

ปี พ.ศ. 2522 ได้มีการโอน วิทยาลัยเกษตรกรรมเจ้าคุณทหาร ไปสังกัด สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ประกาศใช้หลักสูตร ประกาศนียบัตรวิชาชีพเทคนิค (ปวท.) และจัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมและพัฒนาอาชีวศึกษา ต่อมากระทรวงศึกษาธิการได้ประกาศใช้หลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพเทคนิค (ปวท.) รับนักเรียนผู้จบมัธยมศึกษา ตอนปลาย โปรแกรมวิชาสามัญเข้าเรียนวิชาชีพ เป็นเวลา 2 ปี

วิทยาลัยการอาชีพ[แก้]

ปี พ.ศ. 2530 ได้มีการจัดตั้ง "วิทยาลัยการอาชีพ" ในพื้นที่จังหวัดมุกดาหาร และแม่ฮ่องสอน โดยมีเป้าหมายที่จะจัดการศึกษาทุกประเภทวิชาชีพและทุกหลักสูตร ทั้งในและนอกระบบการศึกษา

ปี พ.ศ. 2533 โรงเรียนสารพัดช่างวังไกลกังวล ได้ยกวิทยฐานะเป็นวิทยาลัยการอาชีพวังไกลกังวล สืบเนื่องจาก ในปี พ.ศ.  ๒๕๓๒ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จพระราชดำเนิน ทอดพระเนตร การฝึกอบรมวิชาชีพระยะสั้นของโรงเรียนสารพัดช่างวังไกลกังวลและ ทรงมีพระราชดำรัส ให้  เปิดสอนในระดับประกาศนียบัตร(ปวช.) และระดับที่สูงขึ้น เพื่อรองรับนักเรียนจากโรงเรียนวังไกลกังวล และโรงเรียนมัธยมในพื้นที่และพื้นที่ใกล้เคียง

ปี พ.ศ. 2535-2539 ได้มีการจัดตั้งวิทยาลัยเพิ่มขึ้นอีกจำนวน 93 แห่ง เฉพาะโครงการจัดตั้งวิทยาลัยการอาชีพ ระดับอำเภอ 60 แห่ง วิทยาลัยสารพัดช่าง 25 แห่ง และอีก 8 แห่ง มีวัตถุประสงค์เพื่อขยายโอกาสทางการศึกษาวิชาชีพไปสู่ท้องถิ่น สนับสนุน การพัฒนาชนบท เพื่อผลิตกำลังคนด้านวิชาชีพในระดับช่างกี่งฝีมือ และช่างเทคนิค ให้ตรงกับความต้องการ ของตลาด แรงงาน และสอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ

ปี พ.ศ. 2540 การอาชีวศึกษาโดยนายสุขวิช รังสิตพลรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการในขณะนั้น ได้จัดตั้งวิทยาลัยการอาชีพ 70 แห่ง วิทยาลัยเทคนิค 19 แห่ง และวิทยาลัยบริหารธุรกิจและการท่องเที่ยว 2 แห่ง

วิทยาลัยเทคโนโลยีฐานวิทยาศาสตร์[แก้]

ปี พ.ศ. 2550 กระทรวงศึกษาธิการโดยสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา และกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ ได้ร่วมกันจัดทำ "โครงการจัดตั้งโรงเรียนเทคโนโลยีฐานวิทยาศาสตร์นำร่อง" โดยมีวิทยาลัยการอาชีพพานทอง เป็นสถานศึกษานำร่องแห่งแรก และได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2550 เพื่อผลิตคนที่มีความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและมีทักษะด้านช่างออกไปสร้างสรรค์นวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆเพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขันให้กับภาคการผลิตและบริการของประเทศ

ปี พ.ศ. 2552 กระทรวงศึกษาธิการได้ประกาศเปลี่ยนชื่อวิทยาลัยการอาชีพพานทองเป็น วิทยาลัยอาชีวศึกษาเทคโนโลยีฐานวิทยาศาสตร์ (ชลบุรี) เมื่อวันที่ 21พฤษภาคม 2552 เพื่อรองรับการขยายผลของนักเรียนโรงเรียนเทคโนโลยีฐานวิทยาศาสตร์ โดยใช้รูปแบบของห้องเรียนพิเศษในสถานศึกษาที่มีอยู่เดิม (school in school)

การจัดตั้งสถาบันการอาชีวศึกษา[แก้]

ในช่วงปี พ.ศ. 2555 - 2556 กระทรวงศึกษาธิการ ประกาศกฎกระทรวงให้สถาบันการศึกษาในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษารวมกัน [7] [8] เพื่อจัดตั้งเป็นสถาบันการศึกษาขั้นสูง ผลิตบุคลากรสายอาชีพที่เชียวชาญ ชำนาญงาน เข้าสู่ตลาดแรงงาน โดยรองรับการศึกษาขั้นสูงระดับปริญญาตรี สถาบันการอาชีวศึกษาในนโยบายใหม่นี้แบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่

ในปัจจุบันสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาจึงมีสถาบันการศึกษาในสังกัด 2 กลุ่ม

  1. สถาบันการอาชีวศึกษา และสถาบันการอาชีวศึกษาเกษตร ซึ่งเปิดสอนถึงระดับปริญญาตรี
  2. วิทยาลัยเทคนิค วิทยาลัยอาชีวศึกษา วิทยาลัยการอาชีพ และวิทยาลัยอื่นๆ ซึ่งเปิดสอนระดับชั้น ปวช. และ ปวส. เท่านั้น

ทั้งนี้ ทุกหลักสูตรที่เปิดสอนใช้กรอบมาครฐานการศึกษา ดังนี้

สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา[แก้]

ในปี พ.ศ. 2546 กระทรวงศึกษาธิการ ได้มีการปรับปรุงโครงสร้างทำให้ กรมอาชีวศึกษา เปลี่ยนสถานะเป็น "สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา"[9]

วิทยาลัยอาชีวศึกษาสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น[แก้]

องค์การที่เกี่ยวข้อง[แก้]

องค์การวิชาชีพในอนาคตแห่งประเทศไทย ระดับชาติ[แก้]

องค์การวิชาชีพในอนาคตแห่งประเทศไทย (อวท.) (Future Vocational Organization of Thailand)


องค์การเกษตรกรในอนาคตแห่งประเทศไทย ระดับชาติ[แก้]

องค์การเกษตรกรในอนาคตแห่งประเทศไทย (อกท.) (Future Farmers Organization of Thailand)

อ้างอิง[แก้]

  1. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 เล่ม 132 ตอนที่ 91ก วันที่ 25 กันยายน 2558
  2. ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 140 ตอน 318 ง หน้า 19 วันที่ 19 ธันวาคม 2566
  3. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญเล่ม 140 ตอนที่พิเศษ 278 ง วันที่ 2 พฤศจิกายน 2566
  4. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญเล่ม 140 ตอนที่พิเศษ 278 ง วันที่ 2 พฤศจิกายน 2566
  5. 5.0 5.1 http://www.vec.go.th/th-th/%E0%B9%80%E0%B8%81%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%A2%E0%B8%A7%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B8%AA%E0%B8%AD%E0%B8%A8/%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%95%E0%B8%B4%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B9%80%E0%B8%9B%E0%B9%87%E0%B8%99%E0%B8%A1%E0%B8%B2.aspx เก็บถาวร 2020-05-08 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน ประวัติความเป็นมาสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา - เว็บไซต์สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา
  6. https://web.archive.org/web/20000116235504/http://www.dovenet.moe.go.th/assoc/acoss1.htm ประวัติกรมอาชีวศึกษา - เว็บไซต์เก่ากรมอาชีวศึกษา
  7. 7.0 7.1 ราชกิจจานุเบกษา การรวมสถานศึกษาอาชีวศึกษาเพื่อจัดตั้งสถาบันการอาชีวศึกษา พ.ศ. ๒๕๕๕, กฎกระทรวง มาตรา เล่ม ๑๒๙ ตอนที่ ๕๖ ก ประกาศใช้เมื่อ 27 มิถุนายน 2555. สืบค้นเมื่อ 28 มิถุนายน 2561.
  8. 8.0 8.1 ราชกิจจานุเบกษา การรวมสถานศึกษาอาชีวศึกษาเพื่อจัดตั้งสถาบันการอาชีวศึกษาเกษตร พ.ศ. ๒๕๕๖, กฎกระทรวง มาตรา เล่ม ๑๓๐ ตอนที่ ๔๐ ก ประกาศใช้เมื่อ 9 พฤษภาคม 2556. สืบค้นเมื่อ 28 มิถุนายน 2561.
  9. "พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. 2546" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2011-11-20. สืบค้นเมื่อ 2010-06-01.