อำเภอแม่สะเรียง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
อำเภอแม่สะเรียง
การถอดเสียงอักษรโรมัน
 • อักษรโรมันAmphoe Mae Sariang
อุทยานแห่งชาติสาละวิน
คำขวัญ: 
เทียนเหงพร่างตา ผ้าทอกะเหรี่ยง
เสนาะเสียงสาละวิน งามถิ่นธรรมชาติ
พระธาตุสี่จอม กล้วยไม้หอมเอื้องแซะ
แผนที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน เน้นอำเภอแม่สะเรียง
แผนที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน เน้นอำเภอแม่สะเรียง
พิกัด: 18°9′34″N 97°56′1″E / 18.15944°N 97.93361°E / 18.15944; 97.93361
ประเทศ ไทย
จังหวัดแม่ฮ่องสอน
พื้นที่
 • ทั้งหมด2,587.4 ตร.กม. (999.0 ตร.ไมล์)
ประชากร
 (2564)
 • ทั้งหมด55,290 คน
 • ความหนาแน่น21.37 คน/ตร.กม. (55.3 คน/ตร.ไมล์)
รหัสไปรษณีย์ 58110
รหัสภูมิศาสตร์5804
ที่ตั้งที่ว่าการที่ว่าการอำเภอแม่สะเรียง หมู่ที่ 2 ถนนเวียงใหม่ ตำบลแม่สะเรียง อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน 58110
สารานุกรมประเทศไทย ส่วนหนึ่งของสารานุกรมประเทศไทย

แม่สะเรียง (คำเมือง: Lanna-Mae Sariang.png) เป็นหนึ่งใน 7 อำเภอของจังหวัดแม่ฮ่องสอน จัดเป็นอำเภอที่มีความสำคัญของจังหวัดแม่ฮ่องสอน เนื่องจากมีที่ตั้งอยู่ห่างจากตัวจังหวัด (อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน) มากถึงประมาณ 164 กิโลเมตร โดยสภาพพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นหุบเขาสลับซับซ้อน ประกอบกับเป็นอำเภอที่ติดกับชายแดนไทยพม่า และเป็นเมืองผ่านไปยังอำเภออื่นๆของจังหวัดแม่ฮ่องสอน

แม่สะเรียงเป็นเมืองเล็ก ๆ ที่กำลังได้รับการพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ ด้วยมีธรรมชาติ ขุนเขา ป่าไม้อันพิสุทธิ์สมบูรณ์ นอกจากนั้นยังมีวัฒนธรรมของชนเผ่าและประเพณีของท้องถิ่นที่เป็นเอกลักษณ์ สำหรับนักท่องเที่ยวที่อยากจะหลีกหนีความวุ่นวายของสังคมเมือง ลองแวะเข้าไปสัมผัสเมืองแม่สะเรียง ที่แวดล้อมด้วยป่าเขาเขียวขจีและย้อนรำลึกถึงอดีตของเมืองหน้าด่านแห่งอาณาจักรล้านนา เมืองแห่งนี้เป็นเสมือนประตูสู่แม่ฮ่องสอน เพราะเมื่อเดินทางมาจากเชียงใหม่ ตามถนนสาย 108 จากอำเภอฮอดก็จะถึงแม่สะเรียงก่อน คนที่เดินทางจะเข้าแม่ฮ่องสอนก็จะได้ผ่าน 1,864 โค้งบนเส้นทางนี้ที่สวยงามด้วยแมกไม้ธรรมชาติสองข้างทาง

ถนน 108 ในช่วงอำเภอแม่สะเรียง สายเชียงใหม่–แม่ฮ่องสอน หรือที่นิยมเรียกว่า ถนนเชียงใหม่-หางดง (ภาพถ่ายปี พ.ศ. 2553)

ที่ตั้งและอาณาเขต[แก้]

อำเภอแม่สะเรียงมีอาณาเขตติดต่อกับเขตการปกครองข้างเคียงดังต่อไปนี้

ธารน้ำพุร้อนแม่อุมลองหรือบ่อน้ำพุร้อนแม่อุมลอง มีบ่อน้ำพุร้อนที่มีอุณหภูมิ 75-80 องศาเซลเซียส สามารถต้มไข่ให้สุกได้ มีห้องแช่น้ำแร่ทั้งแบบปิดและแบบกลางแจ้ง เป็นบ่อน้ำพุร้อนที่มีจุดเด่นตรงที่ไม่มีกลิ่นของกำมะถันเหมือนแหล่งอื่นๆ
แม่น้ำยวม
ทัศนียภาพของอำเภอแม่สะเรียง

ประวัติ[แก้]

เมืองแม่สะเรียงมีชื่อในประวัติศาสตร์ว่า เมืองยวมใต้ หรือ เมืองยวม เคยเป็นที่ตั้งชุมชนมาไม่น้อยกว่า 600 ปี ชาวพม่าเรียกชื่อเมืองแห่งนี้ว่า “เมงลองยี” แปลว่าเมืองแห่งแร่หินใหญ่ จากพงศาวดารโยนก (พ.ศ. 1900) และเป็นเมืองหน้าด่านที่มีความสำคัญต่อประวัติศาสตร์ของอาณาจักรล้านนา คอยต้านทัพของพม่าที่จะยกทัพมาตีหัวเมืองฝ่ายเหนือ ในสมัยของพระเจ้าสามฝั่งแกน กษัตริย์ลำดับที่ 10 แห่งราชวงศ์มังราย (พ.ศ. 1944 – 1985) พระองค์ทรงมีราชบุตรหลายองค์ด้วยกัน ต่อมาเจ้าท้าวลก ราชบุตรลำดับที่ 6 ถูกเนรเทศให้ไปอยู่ที่เมืองยวม ซึ่งเป็นเมืองเล็ก ๆ ทุรกันดารด้วยเหตุที่คิดจะแย่งชิงราชสมบัติ ระหว่างที่ครองเมืองยวมอยู่นั้นเจ้าท้าวลกได้ทำการติดต่อกับพระเจ้าสามเด็กย้อย ซึ่งเป็นอำมายต์ชั้นผู้ใหญ่ในล้านนา ซึ่งพระเจ้าสามเด็กย้อยมีความจงรักภักดีต่อเจ้าท้าวลกและคิดที่จะร่วมมือกันแย่งชิงราชสมบัติคืนจากพระเจ้าสามฝั่งแกน ขณะนั้นพระเจ้าสามฝั่งแกนได้แปรพระราชฐานประทับอยู่ที่เวียงเจ็ดริน บริเวณเชิงดอยสุเทพ เจ้าท้าวลกและพระยาสามเด็กย้อย จึงสั่งให้ทหารเข้าไปเผาเมืองในตอนกลางคืน พระเจ้าสามฝั่งแกนเข้าใจผิดคิดว่าศัตรูยกทัพเข้ามาตีเมืองจึงได้ทรงม้ากลับเข้าเมืองเชียงใหม่เพื่อจะไปรวบรวมไพร่พลทหาร ครั้นพอเข้าไปในเขตพระราชฐานจึงถูกเจ้าท้าวลกและพระยาสามเด็กย้อยจับตัวไปและแย่งชิงราชสมบัติได้สำเร็จ

ต่อมาพระเจ้าติโลกราช (ท้าวลก) ได้เป็นมหาราชที่ยิ่งใหญ่ของอาณาจักรล้านนา ขยายอาณาเขตกว้างใหญ่ไพศาล ทิศเหนือตีได้เมืองเชียงรุ่ง (มณฑลยูนนาน ประเทศจีน) เมืองเชียงตุง (รัฐฉาน ประเทศพม่า) ทิศตะวันตกได้รัฐฉานทั้งหมด ทิศตะวันออกได้ล้านช้าง ทิศใต้จรดชายแดนกับอยุธยา โดยในปี พ.ศ. 2023 กองทัพหน้าของพระองค์จำนวน 40,000 นายอาจหาญสู้ศึกชนะกองทัพไดเวียต (เวียดนาม) ซึ่งยกพลมหึมาร่วม 200,000 นาย ยึดได้ล้านช้าง แล้วตรงเข้ามาเชียงใหม่ ครั้งนั้น กองทัพหน้าแสดงปรีชาสามารถในการรบจนทัพไดเวียตแตกพ่าย แม่ทัพนายกองถูกฆ่าตายเป็นจำนวนมาก บ้างก็ถูกจับเป็นเชลย กิตติศัพท์เลื่องลือทราบถึงจักรพรรดิจีนพระนามเซี่ยนซงหรือเฉิงฮั่วแห่งราชวงศ์หมิง (พ.ศ. 2007-2030) ยอมรับในพระเดชานุภาพ จึงมีพระราชโองการแต่งตั้งให้พระเจ้าติโลกราช เป็นเสมือนรองจักรพรรดิ (ลำดับที่ 2) โดยจารึกในพระสุพรรณบัฏ (แผ่นทองคำ) ความว่า "...ที่ใดก็ตามที่ปรากฏศัตรูขึ้นในแปดทิศของจักรวรรดิ์แห่งจักรพรรดิ์อุทิปวา ผู้ครองทุกสิ่งภายใต้สวรรค์ ท้าวล้านนา เจ้าฟ้าแห่งนครเชียงใหม่ มีอำนาจจะปราบปรามและลงโทษศัตรูนั้นได้"[1] ในปี พ.ศ. 2522 ให้มีพระราชอำนาจจัดการปราบปรามกษัตริย์ต่าง ๆ ในด้านทิศตะวันตก พร้อมกับให้เสนาบดีผู้ใหญ่ 2 คน เดินทางมานครเชียงใหม่เพื่อมอบตราตั้งของจักรพรรดิจีนพร้อมเครื่องประกอบเกียรติยศจำนวนมาก อาทิ เครื่องราชอิสริยาภรณ์ เครื่องประดับเศียร ทับทรวง คาดหน้าผาก กรรเจียกจรจำหลักลาย ศิราภรณ์ สร้อยคอ เพชร ฯลฯ

นอกจากนั้นยังมีตำนานบันทึกเกี่ยวกับเมืองยวมในฐานะของเมืองหน้าด่านของอาณาจักรล้านนาว่า ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดเจ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ได้ทรงแต่งตั้งพระเจ้ากาวิละขึ้นเป็นพระยาวชิรปราการ พระองค์ได้ทรงเสด็จไปเจริญสัมพันธไมตรีกับเมืองยวมเลยไปจนถึงเมืองยางแดง (กะเหรี่ยง) ซึ่งตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำคง (สาละวิน) โดยให้พระยาสามล้านนำเครื่องราชบรรณาการไปมอบให้กับ ยางก๊างหัวตาด นายด่านของชาวกะเหรี่ยงแดงซึ่งมีกำลังพลหลายร้อยคน เพื่อที่จะไปช่วยรบกับทัพพม่า ครั้นเมืองพม่ายกทัพจะเข้ามาตีเมืองเชียงใหม่ พระเจ้ากาวิละร่วมกับยางก๊างหัวตาด นำทัพกะเหรี่ยงออกสู่รบกับพม่าจนแตกกระเจิง

กระทั่งปี พ.ศ. 2352 พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 จึงได้ทรงแต่งตั้งพระยาวชิรปราการขึ้นเป็นพระเจ้าเมืองเชียงใหม่ พระองค์ได้ทรงมีรับสั่งให้เจ้าอุปราชธรรมลังกาไปตรวจเยี่ยมเมืองยวมและเลยไปจนถึงริมฝั่งแม่น้ำคง ทรงเห็นว่าเมืองยางแดงนั้นไม่ได้ขึ้นต่อกับพม่า จึงได้ทำการผูกไมตรีเพื่อให้คอยสอดส่องดูแลทัพของพม่าที่จะเข้ามาตีเมืองเชียงใหม่ โดยได้ทำพิธีดื่มน้ำพิพัฒนสัตยากันที่บริเวณริมฝั่งแม่น้ำคง แล้วฆ่าควายนำเลือดมาผสมกับเหล้าเป็นน้ำพิพัฒน์สัตยา ผ่าเขาควายออกเป็น 2 ซีกแล้วให้สัตยาบรรณต่อกันว่า “ตราบใดที่น้ำคงบ่แห้ง เขาควายบ่ซื่อ ถ้ำช้างเผือกบ่ยุบ เมืองเชียงใหม่กับเมืองยางแดงยังเป็นไมตรีกันตราบนั้น”

เมืองยวมเคยเป็นถิ่นฐานอาศัยของชนเผ่าดั้งเดิม คือ คนพื้นเมือง ละว้า และกะเหรี่ยง ต่อมาในปี พ.ศ. 2443 ทางราชการได้ยกฐานะขึ้นเป็นอำเภอเรียกชื่อว่า อำเภอเมืองยวม จนกระทั่งปี พ.ศ. 2467 ทางราชการได้พิจารณาเห็นว่าชื่ออำเภอเมืองยวมนั้นไปพ้องกับอำเภอขุนยวมซึ่งอยู่ในจังหวัดเดียวกัน จึงได้เปลี่ยนชื่อเป็น อำเภอแม่สะเรียง ตามชื่อของลำน้ำแม่สะเรียงที่ไหลผ่านอำเภออีกสายหนึ่งแทน อำเภอแม่สะเรียงในอดีตยังเคยเป็นอำเภอที่มีพื้นที่มากที่สุดในประเทศไทย (ปัจจุบันคืออำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก)

  • วันที่ 1 มิถุนายน 2456 แยกพื้นที่ตำบลท่าสองยาง และตำบลแม่ต้าน อำเภอแม่สะเรียง มาตั้งเป็น กิ่งอำเภอท่าสองยาง[2] ขึ้นกับอำเภอแม่สะเรียง
  • วันที่ 17 มกราคม 2480 ยกฐานะศาลแขวงแม่สะเรียง ขึ้นเป็น ศาลจังหวัดแม่สะเรียง[3]
  • วันที่ 10 มิถุนายน 2490 ตั้งตำบลบ้านกาศ แยกออกจากตำบลแม่สะเรียง ตั้งตำบลแม่คง แยกออกจากตำบลแม่ยวม[4]
  • วันที่ 27 กรกฎาคม 2491 เปลี่ยนแปลงเขตจังหวัดแม่ฮ่องสอน และจังหวัดตาก โดยโอนพื้นที่กิ่งอำเภอท่าสองยาง อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ไปขึ้นกับ อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก[5]
  • วันที่ 17 กันยายน 2498 จัดตั้งสุขาภิบาลแม่สะเรียง ในท้องที่บางส่วนของตำบลแม่สะเรียง และตำบลบ้านกาศ[6]
  • วันที 1 กุมภาพันธ์ 2510 แยกพื้นที่ตำบลแม่ลาน้อย และตำบลแม่ลาหลวง อำเภอแม่สะเรียง มาตั้งเป็น กิ่งอำเภอแม่ลาน้อย ขึ้นกับอำเภอแม่สะเรียง[7]
  • วันที่ 23 พฤศจิกายน 2510 โอนพื้นที่ตำบลแม่ลาหลวง อำเภอขุนยวม ไปขึ้นกับ กิ่งอำเภอแม่ลาน้อย อำเภอแม่สะเรียง[8]
  • วันที่ 7 กันยายน 2514 ตั้งตำบลท่าผาปุ้ม แยกออกจากตำบลแม่ลาน้อย ตั้งตำบลแม่โถ แยกออกจากตำบลแม่ลาหลวง[9]
  • วันที่ 30 มกราคม 2516 โอนพื้นที่หมู่ 6 บ้านท่าผาปุ้ม และพื้นที่หมู่ 7 บ้านแม่เตี๋ย (ในขณะนั้น) ของตำบลบ้านกาศ อำเภอแม่สะเรียง ไปขึ้นกับตำบลท่าผาปุ้ม กิ่งอำเภอแม่ลาน้อย อำเภอแม่สะเรียง[10]
  • วันที่ 3 มิถุนายน 2518 ตั้งตำบลแม่เหาะ แยกออกจากตำบลแม่สะเรียง[11]
  • วันที่ 21 สิงหาคม 2518 ยกฐานะจากกิ่งอำเภอแม่ลาน้อย อำเภอแม่สะเรียง เป็น อำเภอแม่ลาน้อย[12]
  • วันที่ 5 กรกฎาคม 2520 ตั้งตำบลสบเมย แยกออกจากตำบลแม่ยวม [13]
  • วันที่ 26 สิงหาคม 2523 ตั้งตำบลเสาหิน แยกออกจากตำบลแม่คง[14]
  • วันที่ 16 มิถุนายน 2524 โอนพื้นที่หมู่ 15 บ้านแพะ, บ้านแม่ต้อบ, บ้านสล่าเชียงตอง (ในขณะนั้น) ของตำบลแม่คง อำเภอแม่สะเรียง ไปขึ้นกับตำบลเสาหิน[15]
  • วันที่ 1 พฤษภาคม 2527 แยกพื้นที่ตำบลสบเมย ตำบลแม่คะตวน และตำบลกองก๋อย อำเภอแม่สะเรียง ไปตั้งเป็นกิ่งอำเภอสบเมย ขึ้นกับอำเภอแม่สะเรียง[16]
  • วันที่ 25 กันยายน 2527 ตั้งตำบลแม่สวด แยกออกจากตำบลแม่คะตวน[17]
  • วันที่ 21 ตุลาคม 2531 ตั้งตำบลป่าแป๋ แยกออกจากตำบลแม่สะเรียง ตั้งตำบลแม่สามแลบ แยกออกจากตำบลสบเมย ตั้งตำบลป่าโปง แยกออกจากตำบลกองก๋อย[18]
  • วันที่ 3 พฤศจิกายน 2536 ยกฐานะจากกิ่งอำเภอสบเมย อำเภอแม่สะเรียง เป็น อำเภอสบเมย[19]
  • วันที่ 25 พฤษภาคม 2542 ยกฐานะจากสุขาภิบาลแม่สะเรียง เป็นเทศบาลตำบลแม่สะเรียง

การแบ่งเขตการปกครอง[แก้]

การปกครองส่วนภูมิภาค[แก้]

อำเภอแม่สะเรียงแบ่งพื้นที่การปกครองออกเป็น 7 ตำบล 77 หมู่บ้าน ได้แก่

1. บ้านกาศ (Ban Kat) 13 หมู่บ้าน 6. เสาหิน (Sao Hin) 06 หมู่บ้าน
2. แม่สะเรียง (Mae Sariang) 09 หมู่บ้าน 7. ป่าแป๋ (Pa Pae) 12 หมู่บ้าน
3. แม่คง (Mae Khong) 11 หมู่บ้าน
4. แม่เหาะ (Mae Ho) 13 หมู่บ้าน
5. แม่ยวม (Mae Yuam) 13 หมู่บ้าน

การปกครองส่วนท้องถิ่น[แก้]

ท้องที่อำเภอแม่สะเรียงประกอบด้วยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 8 แห่ง ได้แก่

  • เทศบาลตำบลแม่สะเรียง ครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของตำบลบ้านกาศและบางส่วนของตำบลแม่สะเรียง
  • เทศบาลตำบลแม่ยวม ครอบคลุมพื้นที่ตำบลแม่ยวมทั้งตำบล
  • เทศบาลตำบลเมืองยวมใต้ ครอบคลุมพื้นที่ตำบลแม่สะเรียง (เฉพาะนอกเขตเทศบาลตำบลแม่สะเรียง)
  • องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านกาศ ครอบคลุมพื้นที่ตำบลบ้านกาศ (เฉพาะนอกเขตเทศบาลตำบลแม่สะเรียง)
  • องค์การบริหารส่วนตำบลแม่คง ครอบคลุมพื้นที่ตำบลแม่คงทั้งตำบล
  • องค์การบริหารส่วนตำบลแม่เหาะ ครอบคลุมพื้นที่ตำบลแม่เหาะทั้งตำบล
  • องค์การบริหารส่วนตำบลเสาหิน ครอบคลุมพื้นที่ตำบลเสาหินทั้งตำบล
  • องค์การบริหารส่วนตำบลป่าแป๋ ครอบคลุมพื้นที่ตำบลป่าแป๋ทั้งตำบล

อ้างอิง[แก้]

  1. เอกสารชุด ความรู้เรื่องพระญาติโลกราชะ โดย ศาสตราจาย์ ดร.อุดม รุ่งเรืองศรี และคณะ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เอกสารประกอบการประชุมคณะทำงานเพื่อจัดเตรียมกิจกรรมในวาระครบรอบประสูติกาล 600 ปี ของพระญาติโลกราชะ
  2. [1]แจ้งความกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ตั้งและยุบกิ่งอำเภอต่าง ๆ ในมณฑลพายัพ
  3. [2]พระราชกฤษฎีกากำหนดวันเปิดศาลจังหวัดแม่สะเรียง พุทธศักราช ๒๔๘๐
  4. [3]ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ตั้งตำบลในจังหวัดต่าง ๆ
  5. [4]พระราชบัญญัติเปลี่ยนแปลงเขตจังหวัดแม่ฮ่องสอนและจังหวัดตาก พ.ศ. ๒๔๙๑
  6. [5]ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง จัดตั้งสุขาภิบาลแม่สะเรียง อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน
  7. [6]ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง แบ่งท้องที่ตั้งเป็นกิ่งอำเภอ [แบ่งท้องที่อำเภอแม่สะเรียง ตั้งเป็น กิ่งอำเภอแม่ลาน้อย]
  8. [7]พระราชกฤษฎีกาเปลี่ยนแปลงเขตอำเภอขุนยวมและกิ่งอำเภอแม่ลาน้อย อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน พ.ศ. ๒๕๑๐
  9. [8]ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ตั้งและเปลี่ยนแปลงเขตตำบลในท้องที่กิ่งอำเภอแม่ลาน้อย อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน
  10. [9]ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง เปลี่ยนแปลงเขตกิ่งอำเภอแม่ลาน้อย อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน
  11. [10]ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ตั้งและเปลี่ยนแปลงเขตตำบลในท้องที่อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน
  12. [11]พระราชกฤษฎีกาตั้งอำเภอแวงน้อย อำเภอป่าแดด อำเภอเรณูนคร อำเภอคูเมือง อำเภอคุระบุรี อำเภอแม่ลาน้อย อำเภอเสริมงาม อำเภอไพรบึง และอำเภหนองโดน พ.ศ. ๒๕๑๘
  13. [12]ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ตั้งและเปลี่ยนแปลงเขตตำบลในท้องที่อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน
  14. [13]ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ตั้งและเปลี่ยนแปลงเขตตำบลในท้องที่อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน
  15. [14]ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง เปลี่ยนแปลงเขตตำบลในท้องที่อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน
  16. [15]ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง แบ่งท้องที่อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ตั้งเป็นกิ่งอำเภอสบเมย
  17. [16]ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ตั้งและเปลี่ยนแปลงเขตตำบลในท้องที่กิ่งอำเภอสบเมย อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน
  18. [17]ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ตั้งและเปลี่ยนแปลงเขตตำบลในท้องที่อำเภอแม่สะเรียง กิ่งอำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน
  19. [18]พระราชกฤษฎีกาตั้งอำเภอลำทับ อำเภอร่องคำ อำเภอเวียงแหง อำเภอนาโยง อำเภอแก้งสนามนาง อำเภอโนนแดง อำเภอบ้านหลวง อำเภอกะพ้อ อำเภอศรีบรรพต อำเภอแก่งกระจาน อำเภอหนองสูง อำเภอสบเมย อำเภอเมยวดี อำเภอโคกเจริญ อำเภอทุ่งหัวช้าง อำเภอผาขาว อำเภอวังหิน อำเภอดอนพุด อำเภอบึงโขงหลง และอำเภอห้วยคต พ.ศ. ๒๕๓๖

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]