ดอยตุง
ดอยตุง | |
---|---|
จุดสูงสุด | |
ความสูง เหนือระดับน้ำทะเล | 1,389 เมตร (4,557 ฟุต) |
พิกัด | 20°20′45″N 99°50′04″E / 20.34583°N 99.83444°E |
ข้อมูลทางภูมิศาสตร์ | |
ที่ตั้ง | อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย |
เทือกเขา | ดอยนางนอน ทิวเขาแดนลาว |
ข้อมูลทางธรณีวิทยา | |
ประเภทภูเขา | แกรนิต |
การพิชิต | |
เส้นทางง่ายสุด | รถยนต์ |
ดอยตุง เป็นภูเขาในเขตอำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย เป็นส่วนหนึ่งของทิวเขาแดนลาว มีผืนป่าธรรมชาติประมาณ 93,515 ไร่ มีความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางประมาณ 1,630 เมตร ทางด้านธรณีวิทยา ชั้นหินที่สำคัญในแนวนี้ประกอบด้วยหินยุคไซลูเรียน-ดีโวเนียน-คาร์บอนิเฟอรัส
ดอยตุงเป็นที่ตั้งของพระธาตุดอยตุง ตามตำนานมีชื่อว่า ดอยดินแดง ตามตำนานสิงหนติโยนกและตำนานพระธาตุดอยทุงเมืองเชียงแสนกล่าวว่า พระพุทธเจ้าได้เสด็จมายังดอยดินแดง ประทับบนหินก้อนหนึ่งมีรูปทรงเหมือนมะนาวผ่าซีก และทำนายว่าที่นี่จะเป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุส่วนพระรากขวัญเบื้องซ้าย (กระดูกไหปลาร้า) เมื่อ พ.ศ. 1452 สมัยพระเจ้าอุชุตะราช รัชกาลที่ 3 แห่งราชวงศ์สิงหนวัต ผู้ครองนครโยนกนาคนคร ได้นำพระบรมสารีริกธาตุในส่วนของพระรากขวัญเบื้องซ้าย (ไหปลาร้า) แล้วทรงสร้างพระสถูปขึ้น โดยนำธงตะขาบยาว 3,000 วา ไปปักไว้บนดอย เมื่อหางธงปลิวไปไกลเพียงใด ให้กำหนดเป็นฐานพระสถูปเพียงนั้น ดอยดินแดงจึงได้ชื่อใหม่ว่า "ดอยตุง" (ตุงมีความหมายว่าธง)[1] ขณะที่ใน ตำนานขุนเจือง พงศาวดารล้านนาหลายฉบับบอกเล่าถึงความเป็นมาของบรรพบุรุษของขุนเจือง คือ ปู่เจ้าลาวจก ที่เป็นหัวหน้าของผู้คนที่อาศัยอยู่บนดอยตุง ต่อมาได้ลงจากดอยสูงลงมาพื้นที่ราบ สร้างหิรัญนครเงินยาง (เชียงแสน)[2]
ดอยตุงยังเป็นที่ตั้งของพระตำหนักดอยตุง อาคารมีสถาปัตยกรรมล้านนากับลักษณะบ้านพื้นเมืองของสวิตเซอร์แลนด์[3]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ "ดอยตุง". ระบบฐานข้อมูลสิ่งแวดล้อมธรรมชาติ.
- ↑ ตรีโรจน์ ไพบูลย์พงษ์. "ชาวไทอู-ไทของ :การเคลื่อนย้ายของคนไทในตำนานขุนบรม-ขุนเจือง". มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์.
- ↑ "ดอยตุง...ชมพระตำหนักงามท่ามกลางไม้ดอกนานาพันธุ์". สนุก.คอม.