ข้ามไปเนื้อหา

ธนาคารกรุงไทย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน)
ประเภทบริษัทมหาชน
การซื้อขาย
SET:KTB
ISINTH0150010Z03 Edit this on Wikidata
อุตสาหกรรมธุรกิจการเงิน
ธนาคาร
ก่อนหน้าธนาคารมณฑล
ธนาคารเกษตร
ก่อตั้ง14 มีนาคม พ.ศ. 2509; 58 ปีก่อน (2509-03-14)
ผู้ก่อตั้งกระทรวงการคลัง (ธนาคารมณฑลและกรุงไทย)
วิลาศ โอสถานนท์ และ
ดิเรก ชัยนาม (ธนาคารเกษตร)
สำนักงานใหญ่35 ถนนสุขุมวิท แขวงคลองเตยเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพมหานคร
บุคลากรหลัก
นาย ลวรณ แสงสนิท(ประธานกรรมการ)
นาย ไกรฤทธิ์ อุชุกานนท์ชัย (ประธานกรรมการบริหาร)
นาย ผยง ศรีวณิช(ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร)
รายได้เพิ่มขึ้น 157,678.72 ล้านบาท (2562)[1]
สินทรัพย์เพิ่มขึ้น 3,012,216.12 ล้านบาท (2562)[1]
ส่วนของผู้ถือหุ้นเพิ่มขึ้น 338,287.30 ล้านบาท (2562)[1]
พนักงาน
29,000 (พ.ศ. 2563) Edit this on Wikidata
อันดับความน่าเชื่อถือFitch: AA+(tha)[2]
เว็บไซต์krungthai.com

ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) (อังกฤษ: Krungthai Bank Public Company Limited) (จีนตัวย่อ: 泰京银行) เป็นธนาคารพาณิชย์เพียงหนึ่งเดียวของรัฐ เป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจภายใต้กำกับของกระทรวงการคลัง ธนาคารก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2509 โดยการควบรวมกิจการของธนาคารมณฑลและธนาคารเกษตร นอกจากการให้บริการประชาชนในฐานะธนาคารพาณิชย์แล้ว ธนาคารกรุงไทยยังรับหน้าที่ในการดำเนินกิจการต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์แห่งรัฐ อาทิ การจ่ายเงินเดือนและเงินบำนาญแก่ข้าราชการ การคืนภาษีเงินได้ การให้กู้ยืมและชำระหนี้ กยศ. การขึ้นเงินรางวัลสลากกินแบ่งรัฐบาล รวมไปถึงโครงการต่าง ๆ ของภาครัฐ เช่น โครงการคนละครึ่ง หรือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เป็นต้น

เดิมธนาคารกรุงไทยมีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจตาม พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2502 แต่ต่อมา มีการปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 และกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ซึ่งไม่ใช่รัฐวิสาหกิจ เข้าถือหุ้นของธนาคารกรุงไทยมากกว่าร้อยละ 50 จึงทำให้ธนาคารกรุงไทยไม่เป็นรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายวิธีการงบประมาณ อย่างไรก็ตาม ถ้าพิจารณาจากนิยามคำว่า “รัฐวิสาหกิจ” ตาม พ.ร.บ.การบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ. 2548 ธนาคารกรุงไทยเข้าลักษณะเป็นรัฐวิสาหกิจ ดังนั้น การตีความจึงขึ้นอยู่กับหลักเกณฑ์หรือนิยามของกฎหมายแต่ละฉบับ[3]

ธนาคารกรุงไทยมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่ถนนสุขุมวิท เขตวัฒนา กรุงเทพมหานคร และมีจำนวนสาขามากที่สุดเป็นอันดับที่ 1 ของประเทศไทย ที่ 924 สาขา[4] และมีเครื่องเอทีเอ็มกว่า 7,200 เครื่อง มากเป็นอันดับที่ 4 รองจากธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกสิกรไทย และธนาคารกรุงเทพ

ประวัติ

[แก้]

ธนาคารมณฑล

[แก้]

ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง รัฐบาลไทยในสมัยของจอมพล ป. พิบูลสงครามได้ดำเนินการจัดตั้งธนาคารของรัฐในรูปแบบของรัฐวิสาหกิจขึ้นเพื่อทดแทนธนาคารต่างประเทศที่ยุติการดำเนินกิจการเนื่องจากประกาศสงครามของรัฐบาลไทยต่อฝ่ายสัมพันธมิตรทำให้ส่งผลกระทบต่อการค้าระหว่างประเทศเป็นอย่างมาก โดยทำการจัดตั้งธนาคารเมื่อวันที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2485 โดยใช้ชื่อว่า บริษัท ธนาคารไทย จำกัด (อังกฤษ: Thai Bank Company Ltd.) ธนาคารไทยจึงมีหน้าที่ในการดำเนินธุรกิจทดแทนธนาคารต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือเพื่อเกื้อกูลการค้าข้าวของบริษัท ข้าวไทย จำกัด ต่อมาธนาคารไทยได้เปลี่ยนชื่อเป็น ธนาคารมณฑล จำกัด (อังกฤษ: The Provincial Bank Ltd.) เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2488 เพื่อมิให้ชื่อซํ้าซ้อนกับธนาคารชาติ ซึ่งได้เปลี่ยนชื่อเป็นธนาคารแห่งประเทศไทย รวมถึงสอดคล้องกับบทบาทในการสนับสนุนกิจการของบริษัทพาณิชย์ในจังหวัดต่าง ๆ[5] โดยมีสำนักงานเป็นตึก 4 ชั้นบริเวณแยกนางเลิ้ง ถนนนครสวรรค์ แขวงสี่แยกมหานาค เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร (ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย)

ธนาคารมณฑลได้รับการก่อตั้งโดยมีทุนจดทะเบียน 10 ล้านบาท โดยกระทรวงการคลังถือ 50,650 หุ้น และบริษัท ข้าวไทย จำกัด ซึ่งมีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจถือ 45,172 หุ้น ทำให้ธนาคารมณฑลมีสัดส่วนของการถือหุ้นของรัฐสูงถึงร้อยละ 95.8 และกรรมการธนาคารในระยะแรกมีความสัมพันธ์อันแนบแน่นกับ จอมพล ป. พิบูลสงคราม เช่น วนิช ปานะนนท์ แนบ พหลโยธิน พระยาเฉลิมอากาศ เป็นต้น และพนักงานส่วนใหญ่เป็นพนักงานเดิมจากธนาคารฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้ ธนาคารชาร์เตอร์ด และธนาคารเมอร์แคนไทล์ที่ได้ยุติกิจการไป[5]

ภายหลังการรัฐประหารของพล.ท.ผิน ชุณหะวัณ ที่มีต่อรัฐบาลของ พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ใน พ.ศ. 2490 กลุ่มซอยราชครูที่เป็นกลุ่มการเมืองของพล.ท.ผิน ได้พยายามเข้าครอบงำธนาคารมณฑลเพื่อเป็นฐานเศรษฐกิจและประสบความสำเร็จใน พ.ศ. 2495 โดยแต่งตั้ง พล.ต.ต.ละม้าย อุทยานานนท์ หนึ่งในกลุ่มซอยราชครูขึ้นเป็นประธานคณะกรรมการต่อจากพระยาโกมารกุลมนตรีและพระยาบุรณศิริพงษ์เป็นผู้จัดการ ในภายหลังธนาคารได้กลับสู่กลุ่มอำนาจของจอมพล ป. อีกครั้งหลังจากการรัฐประหารใน พ.ศ. 2494 และอยู่ภายใต้กลุ่มอำนาจของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ หลังจากการรัฐประหารใน พ.ศ. 2500[5]

การถูกใช้แสวงหาผลประโยชน์ของกลุ่มอำนาจทางการเมืองหลายครั้ง ทำให้ฐานะของธนาคารมณฑลอยู่ในสภาวะง่อนแง่น มีผลการดำเนินงานต่ำ หลังจากการประกาศใช้พระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. 2505 ซึ่งให้ความสำคัญกับการมีวินัยทางการเงิน ทำให้ธนาคารมณฑลเริ่มประสบภาวะขาดทุนจนได้รับอัดฉีดเงินการกระทรวงการคลังจาก 10 ล้านบาทเป็น 30 ล้านบาท โดยถือหุ้นร้อยละ 82.3 เพื่อมิให้ธนาคารล้มละลาย แต่ก็แก้ไขสถานการณ์ได้ไม่มากนัก ทำให้รัฐบาลในสมัยจอมพล ถนอม กิตติขจร ตัดสินใจรวมธนาคารมณฑลเข้ากับธนาคารเกษตร[5]

ธนาคารเกษตร

[แก้]

ธนาคารเกษตร (อังกฤษ: Agricultural Bank Ltd.) ได้รับการก่อตั้งโดยกลุ่มข้าราชการและพ่อค้าซึ่งนำโดยวิลาส โอสถานนท์ และดิเรก ชัยนาม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้บริการแก่ลูกค้าที่เป็นเกษตรกรเมื่อวันที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2493 โดยมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ริมถนนเยาวราช แขวงจักรวรรดิ เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร และมีทุนจดทะเบียนในชั้นแรก 10 ล้านบาท แบ่งเป็น 10,000 หุ้น โดยมีการกระจายหุ้นอย่างกว้างกว้างให้กับบุคคลต่าง ๆ โดยมีสุริยน ไรวา เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ และวิลาสดำรงตำแหน่งผู้จัดการคนแรก ต่อมาได้มีข้าราชการหลายคนเข้ารับตำแหน่งผู้จัดการแทน เช่น พระช่วงเกษตรศิลปการ พระยาบูรณสิริพงศ์[5]

ธนาคารเกษตรได้กลายเป็นฐานเศรษฐกิจของกลุ่มซอยราชครูเช่นเดียวกับธนาคารมณฑล โดยมีจอมพลผิน ชุณหะวัณ เข้ารับตำแหน่งประธานคณะกรรมการบริหารสืบต่อจากพระยาศรีวิสารวาจา ทำให้ฐานะของธนาคารอยู่ในสภาวะตกต่ำจากการแสวงหาผลประโยชน์ ภายหลังจากการรัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2500 ธนาคารเกษตรเกิดวิกฤติการณ์ทางการเงิน ทำให้รัฐบาลต้องอัดฉีดเงินเพื่อประคองธนาคารและส่งผลให้ธนาคารแปรสภาพจากวิสาหกิจเอกชนเป็นรัฐวิสาหกิจ กระทรวงการคลังพยายามที่จะอัดฉีดเงินเพื่อพยุงฐานะของธนาคารจนถึง พ.ศ. 2508 รัฐบาลถือหุ้นเป็นสัดส่วนร้อยละ 92.15 และต่อมาได้รวมกิจการเข้ากับธนาคารมณฑล โดยมี หม่อมเจ้าทองประทาศรี ทองใหญ่ เป็นประธานคณะกรรมการบริหาร และจำรัส จตุรภัทร เป็นกรรมการผู้จัดการคนสุดท้ายของธนาคารเกษตร[5]

รวมกิจการ

[แก้]

ด้วยนโยบายของเสริม วินิจฉัยกุล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่เห็นว่าธนาคารพาณิชย์ของรัฐบาลควรมีเพียงแห่งเดียวเท่านั้น ขณะที่ในเวลาดังกล่าว รัฐบาลไทยเข้าถือหุ้นใหญ่ ในธนาคารพาณิชย์ถึงสองแห่ง ประกอบด้วย ธนาคารมณฑล จำกัด ซึ่งก่อตั้งเมื่อวันที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2485 และ ธนาคารเกษตร จำกัด ที่ก่อตั้งโดยสุริยน ไรวา ตั้งแต่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2493 กระทรวงการคลังจึงประกาศ ให้ควบรวมกิจการของธนาคารทั้งสองดังกล่าว โดยก่อตั้งขึ้นในชื่อใหม่ว่า ธนาคารกรุงไทย จำกัด เมื่อวันที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2509 และใช้อาคารสำนักงานใหญ่แห่งเดิมของธนาคารเกษตรเป็นสำนักงานใหญ่ของธนาคารกรุงไทยในยุคแรก ต่อมาอาคารดังกล่าวมีพื้นที่คับแคบ ไม่สามารถรองรับกิจการ ซึ่งขยายตัวขึ้นอย่างมาก ธนาคารจึงทำการย้ายสำนักงานใหญ่ ไปยังอาคารเลขที่ 35 ถนนสุขุมวิท แขวงคลองเตยเหนือ เขตวัฒนา ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2525 จนถึงปัจจุบัน สำหรับอาคารที่เยาวราชในทุกวันนี้ นอกจากคงใช้เป็นสาขาเยาวราชแล้ว ยังปรับปรุงส่วนหนึ่งของอาคารให้เป็นหอศิลป์กรุงไทยด้วย

จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์และแปรสภาพ

[แก้]

เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2532 ก่อนจะเปิดการซื้อขายอย่างเป็นทางการในวันที่ 2 สิงหาคม ปีเดียวกัน และแปรสภาพเป็นบริษัทมหาชน เมื่อวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2537 ตามลำดับ ปัจจุบันกระทรวงการคลังยังคงเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ โดยถือผ่านกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน[6]

ธนาคารกรุงไทยเป็นธนาคารพาณิชย์ที่มีนัยต่อความเสี่ยงเชิงระบบในประเทศประจำปี พ.ศ. 2560[7] ตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ สนส. 17/2560

สถานภาพความเป็นรัฐวิสาหกิจ

[แก้]

วันที่ 3 พฤศจิกายน 2563 กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (ในฐานะผู้ถือหุ้นมากกว่าร้อยละ 50) ได้มีหนังสือแจ้งธนาคาร ในเรื่องที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกามีหนังสือแจ้งผลการพิจารณาเกี่ยวกับสถานภาพของกองทุนฯ และธนาคารว่า ธนาคารไม่มีลักษณะเป็นรัฐวิสาหกิจ ตามพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561[8]

ธนาคารอื่นที่รับโอนกิจการและโอนบริการ

[แก้]
  • รับโอนกิจการ ธนาคารสยาม จำกัด (ที่เปลี่ยนชื่อเมื่อวันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2527 มาจากชื่อเดิมคือ ธนาคารเอเชียทรัสต์ จำกัด ซึ่งก่อตั้งเมื่อวันที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2508) เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2530 โดยแยกส่วนงานกำกับดูแลลูกหนี้เดิม โอนไปให้แก่บริษัท ทิพยสิน จำกัด
  • รับโอนกิจการ ธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ จำกัด (มหาชน) ซึ่งมีสำนักงานใหญ่ ตั้งอยู่ที่ถนนสุรศักดิ์ (ปัจจุบันเป็นที่ทำการของบริษัท บริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ บสก.) ซึ่งยุติการดำเนินกิจการ เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2541 โดยรับโอนเฉพาะทรัพย์สิน หนี้สิน งบประมาณที่มีคุณภาพ และเงินฝากของลูกค้าธนาคารดังกล่าว
  • รับโอนกิจการ ธนาคารมหานคร จำกัด (มหาชน) (ที่เปลี่ยนชื่อเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2520 มาจากชื่อเดิมคือ บริษัท แบงก์ตันเปงชุน จำกัด ซึ่งก่อตั้งเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2477 และเปลี่ยนชื่อครั้งแรกเป็น ธนาคารไทยพัฒนา เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2503 ตามลำดับ) ซึ่งมีสำนักงานใหญ่ ตั้งอยู่ในซอยสวนมะลิ (ปัจจุบันเป็นธนาคารกรุงไทย สาขาสวนมะลิ) เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2541
  • โอนบริการทางการเงิน ตามกฎหมายชะรีอะฮ์ในศาสนาอิสลาม หรือที่นิยมเรียกว่า ธนาคารกรุงไทยชะรีอะฮ์ ให้แก่ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2548

ก้าวสู่ยุคแห่ง Mobile Banking

[แก้]

พ.ศ. 2561 ธนาคารกรุงไทยได้เปิดตัวแอปพลิเคชัน Krungthai NEXT และ เป๋าตัง สำหรับทำธุรกรรมออนไลน์ผ่านโทรศัพท์มือถือแบบสมาร์ทโฟน โดยแอปพลิเคชัน Krungthai NEXT เป็นแอปพลิเคชันปิดที่ให้บริการเฉพาะลูกค้าที่มีบัญชีเงินฝากกับธนาคารกรุงไทยเท่านั้น ส่วน เป๋าตัง เป็นแอปพลิเคชันเปิด ประชาชนคนไทยทุกคนสามารถสมัครแอปพลิเคชันเป๋าตังเพื่อใช้รับสิทธิ์ต่าง ๆ จากทางภาครัฐ เช่น โครงการชิมช้อปใช้ โครงการคนละครึ่ง โดยรับเงินผ่านกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ G-Wallet ซึ่งมี Wallet ID 15 หลัก ขึ้นต้นด้วย 006-xxxxxxxx-xxxx (006 เป็นรหัสของธนาคารกรุงไทย) นอกจากนี้ในแอปพลิเคชันเป๋าตังยังมีการขยายการบริการในปีถัด ๆ มา โดยการเปิดให้ประชาชนซื้อสลากดิจิทัลในราคา 80 บาท, ซื้อพันธบัตรรัฐบาลผ่านวอลเล็ต สบม., ซื้อ-ขายหุ้นกู้ และผูกบัญชีธนาคารกรุงไทยเพื่อทำธุรกรรมผ่านแอปพลิเคชันเป๋าตัง

พ.ศ. 2562 เปิดตัวผลิตภัณฑ์เงินฝาก Krungthai NEXT Savings ซึ่งเป็นบัญชีเงินฝากออมทรัพย์แบบไม่มีสมุดคู่ฝาก รับฝากเฉพาะลูกค้าบุคคลธรรมดาและไม่สามารถเปิดบัญชีร่วมได้ ลูกค้าต้องมีอีเมลแอดเดรสและสมัครใช้บริการ Krungthai NEXT ด้วย ลูกค้าสามารถเปิดบัญชี Krungthai NEXT Savings ผ่านสาขาหรือแอปพลิเคชัน Krungthai NEXT ก็ได้ อัตราดอกเบี้ยปัจจุบัน (พ.ศ. 2567) อยู่ที่ 1.50% สำหรับเงินฝากไม่เกิน 2,000,000 บาท และ 0.65% สำหรับส่วนที่เกิน 2,000,000 บาท แต่หากเปิดบัญชีผ่านสาขาจะได้รับดอกเบี้ย 0.65% ตั้งแต่บาทแรก ส่วนลูกค้าที่เลือกเปิดบัญชีเงินฝากแบบมีสมุดคู่ฝาก จะได้รับอัตราดอกเบี้ย (พ.ศ. 2567) ที่ 0.30% ตั้งแต่บาทแรก และเมื่อทำรายการโดยไม่ใช้สมุดคู่ฝากเกินกว่า 20 รายการ ระบบจะรวมยอดที่เกิดขึ้นเป็นด้านฝากและด้านถอนอย่างละ 1 รายการ

พ.ศ. 2566 ธนาคารกรุงไทยได้ประกาศเก็บค่าธรรมเนียมการถอนเงินไม่ใช้บัตร 10 บาท/ครั้ง โดยให้เหตุผลว่าเพื่อเป็นการส่งเสริมให้ประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมไร้เงินสด[9] อย่างไรก็ดีการเก็บค่าธรรมเนียมดังกล่าวได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์เป็นอย่างมาก ธนาคารจึงต้องเลื่อนการเก็บค่าธรรมเนียมดังกล่าวออกไปอย่างไม่มีกำหนด[10]

บริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงินของธนาคาร

[แก้]

ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการให้สินเชื่อ

[แก้]

ธุรกิจด้านตลาดทุนและที่ปรึกษาทางการเงิน

[แก้]
  • บริษัทหลักทรัพย์ กรุงไทย เอ็กซ์สปริง จำกัด (KTX)
  • บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงไทย จำกัด (มหาชน) (KTAM)
  • บริษัท เคทีบี แอดไวซ์เซอร์รี่ จำกัด (KTBA)

ธุรกิจประกัน

[แก้]
  • บริษัท กรุงไทย-แอกซ่า ประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) (KTAL)
  • บริษัท กรุงไทยพานิชประกันภัย จำกัด (มหาชน) (KPI)

ธุรกิจสนับสนุน

[แก้]

รายนามประธานกรรมการ

[แก้]
  1. หลวงอรรถปรีชาชนูปการ (ฉอรรถ แสนโกศิก) (พ.ศ. 2509-2513)
  2. นายสมภพ โหตระกิตย์ (พ.ศ. 2513-2518)
  3. นายอำนวย วีรวรรณ (พ.ศ. 2518-2520)
  4. นายชาญชัย ลี้ถาวร (พ.ศ. 2520-2525)
  5. นายพนัส สิมะเสถียร (พ.ศ. 2525-2535)
  6. นายบัณฑิต บุณยะปานะ (พ.ศ. 2535-2536)
  7. นายอรัญ ธรรมโน (พ.ศ. 2536-2538)
  8. หม่อมราชวงศ์จัตุมงคล โสณกุล (พ.ศ. 2538-2540)
  9. นายศุภชัย พิศิษฐวานิช (พ.ศ. 2540-2543)
  10. นายสมใจนึก เองตระกูล (พ.ศ. 2543-2545)
  11. พลเอก มงคล อัมพรพิสิฏฐ์ (พ.ศ. 2545-2548)
  12. นายศุภรัตน์ ควัฒน์กุล (พ.ศ. 2548-2552)
  13. นายวินัย วิทวัสการเวช (พ.ศ. 2552-2553)
  14. นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม (พ.ศ. 2553-2556)
  15. นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ (พ.ศ. 2556-2558)
  16. นายสมชัย สัจจพงษ์ (พ.ศ. 2558-2561)
  17. นายประสงค์ พูนธเนศ (พ.ศ. 2561-2563)
  18. นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ (พ.ศ. 2563-2566)
  19. นายลวรณ แสงสนิท (พ.ศ. 2566-ปัจจุบัน)

ผู้ถือหุ้นรายใหญ่

[แก้]
ข้อมูล ณ วันที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564[11]
ลำดับที่ รายชื่อผู้ถือหุ้น จำนวนหุ้นสามัญ สัดส่วนการถือหุ้น
1 กองทุน เพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน 7,696,248,833 55.07%
2 บริษัท ไทยเอ็นวีดีอาร์ จำกัด 834,921,543 5.97%
3 STATE STREET EUROPE LIMITED 362,902,099 2.60%
4 สหกรณ์ออมทรัพย์ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย จำกัด 326,090,300 2.33%
5 กองทุนรวม วายุภักษ์หนึ่ง โดย บลจ.เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน) 305,775,658 2.19%
6 กองทุนรวม วายุภักษ์หนึ่ง โดย บลจ.กรุงไทย จำกัด (มหาชน) 305,775,657 2.19%
7 SOUTH EAST ASIA UK (TYPE C) NOMINEES LIMITED 203,102,782 1.45%
8 ชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์แห่งประเทศไทย จำกัด 197,862,800 1.42%
9 ธนาคารออมสิน 113,264,822 0.81%
10 THE BANK OF NEW YORK MELLON 99,837,181 0.71%

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 1.2 งบการเงิน/ผลประกอบการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
  2. อันดับเครดิต เก็บถาวร 2021-01-28 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
  3. [ https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/39359 ธนาคารกรุงไทยเป็นรัฐวิสาหกิจหรือไม่]
  4. "ธนาคารแห่งประเทศไทย | Bank of Thailand". app.bot.or.th.
  5. 5.0 5.1 5.2 5.3 5.4 5.5 วิกฤติการณ์การเงินและเศรษฐกิจการเงินไทย ภาคที่ 6 สถาบันการเงินของรัฐ
  6. ข้อมูลผู้ถือหุ้นจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
  7. ธนาคารกรุงไทยเป็นธนาคารพาณิชย์ที่มีนัยต่อความเสี่ยงเชิงระบบในประเทศประจำปี พ.ศ. 2560
  8. ‘กรุงไทย’ ประกาศพ้นการเป็น ‘รัฐวิสาหกิจ’ หลังกฤษฎีกาตีความชัดเจน
  9. "เริ่ม 1 พ.ค. ธ.กรุงไทย เก็บค่าธรรมเนียมถอนเงินไม่ใช้บัตรครั้งละ 10 บาท". Thai PBS.
  10. "แจ้ง ยกเว้นการเก็บค่าธรรมเนียมถอนเงินไม่ใช้บัตร". krungthai.com.
  11. ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ เก็บถาวร 2021-06-14 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย