ข้ามไปเนื้อหา

กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา
Student Loan Fund
ตราสัญลักษณ์ของกองทุน
ภาพรวมกองทุน
ก่อตั้ง15 มีนาคม พ.ศ. 2541; 26 ปีก่อน (2541-03-15)
ประเภทหน่วยงานของรัฐที่เป็นนิติบุคคล
สำนักงานใหญ่89 อาคารเอไอเอ แคปปิตอล เซ็นเตอร์ ชั้น 5-6 ถนนรัชดาภิเษก แขวงดินแดง เขตดินแดง กรุงเทพมหานคร 10400
งบประมาณต่อปี4,572,982,900 บาท
(พ.ศ. 2568)[1]
ฝ่ายบริหารกองทุน
  • ชัยณรงค์ กัจฉปานันท์, ผู้จัดการ
  • นันทวัน วงศ์ขจรกิตติ, รองผู้จัดการ
  • อัญชลี ภูริวิทย์วัฒนา, รองผู้จัดการ
  • อภินันช์ ศุนทรนันท์, รองผู้จัดการ
  • จิรารัตน์ สุขเกื้อ, รองผู้จัดการ
ต้นสังกัดกองทุนกระทรวงการคลัง
เว็บไซต์เว็บไซต์ของกองทุน

กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (ตัวย่อ: กยศ.) เป็นหน่วยงานของรัฐอยู่ในกำกับดูแลของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มีฐานะเป็นนิติบุคคล โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมการศึกษาด้วยการให้เงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา ในลักษณะต่าง ๆ ตามพระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ. 2560

ประวัติ

[แก้]

กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) จัดตั้งขึ้นตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2538 และมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2539 ให้เริ่มดำเนินการกองทุนในลักษณะเงินทุนหมุนเวียน ตามนัยมาตรา 12 แห่งพระราชบัญญัติเงินคงคลัง พ.ศ. 2491 ต่อมารัฐบาลได้พิจารณาเห็นความสำคัญของกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษามากขึ้น จึงได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ. 2541 มีผลให้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษามีฐานะเป็นนิติบุคคล โดยอยู่ในการกำกับดูแลของกระทรวงการคลัง มีวัตถุประสงค์ให้กู้ยืมเงินแก่นักเรียนหรือนักศึกษาที่ขาดแคลนทุนทรัพย์เพื่อเป็นค่าเล่าเรียน ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวเนื่องกับการศึกษา และค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในการครองชีพระหว่างศึกษา

พระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ. 2560

[แก้]

ปัจจุบัน พระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ. 2560 ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2560 และมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2560 มีผลให้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาอยู่ในการกำกับดูแลของรัฐมนตรี และมีฐานะเป็นนิติบุคคลที่ไม่เป็นส่วนราชการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดินหรือรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณและกฎหมายอื่น เนื่องจากกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาตามพระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ. 2541 และกองทุนเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาที่ผูกกับรายได้ในอนาคตตามระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยการบริหารกองทุนเพื่อการศึกษา พ.ศ. 2549 ที่ออกตามพระราชบัญญัติเงินคงคลัง พ.ศ. 2491 มีการบริหารจัดการและการดำเนินการที่มีข้อจำกัด และไม่สอดคล้องกับนโยบายการผลิตกำลังคนและการพัฒนาประเทศสมควรบูรณาการการบริหารจัดการและการดำเนินการของกองทุน กยศ. และกองทุน กรอ. ให้เป็นเอกภาพอยู่ภายใต้กฎหมายเดียวกัน และเพิ่มมาตรการในการบริหารจัดการกองทุนให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

ลูกหนี้

[แก้]

ณ เดือนมิถุนายน 2564 กยศ. มีลูกหนี้ที่อยู่ระหว่างชำระหนี้ 3.5 ล้านคน ในปีงบประมาณ 2564 ได้ปล่อยกู้ไปแล้ว 38,000 ล้านบาท ได้รับชำระคืน 19,500 ล้านบาท[2]

จากการเปรียบเทียบระบบการใช้หนี้ กยศ. ของไทยกับออสเตรเลียพบว่าระบบการชำระหนี้ของไทยถูกจำกัดด้วยเวลา ส่วนระบบของออสเตรเลียถูกจำกัดด้วยสัดส่วนรายได้ ผลทำให้ลูกหนี้ กยศ. ไทยผิดนัดชำระหนี้ต่างจากลูกหนี้ออสเตรเลีย[3]

การรณรงค์ยกหนี้

[แก้]

ในปี 2565 เกิดกระแส #ล้างหนี้ กยศ. ในสื่อสังคมหลังมีความพยายามรวบรวมรายชื่อเพื่อแก้ไขกฎหมาย กยศ. เพื่อยกเลิกหนี้คงค้างให้กับคนที่เรียนจบแล้ว 2 ปีและให้เรียกเก็บเงินจากรัฐบาลแทน ซึ่งผู้สนับสนุนมองว่าการศึกษาแบบให้เปล่าควรเป็นสวัสดิการของรัฐ ดังนั้นการยกเลิกหนี้การศึกษาจึงเป็นประโยชน์ต่อทุกคน ทว่าฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยมองว่าจะทำให้ผู้ที่ไม่ชดใช้เงินขาดวินัยทางการเงิน ความรับผิดชอบตลอดจนไม่ซื่อสัตย์สุจริต[4]

ในปี 2565 กยศ. ชี้แจงว่ายังเหลือหนี้คงค้างอีกกว่า 330,000 ล้านบาท หากไม่ใช้หนี้จะทำให้คนรุ่นต่อไปไม่มีโอกาสทางการศึกษา[5] อย่างไรก็ตาม มีข่าวว่า กยศ. ยึดบ้านจากลูกหนี้[6]

รองศาสตราจารย์ ดร. ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี ที่ปรึกษาประจำคณะกรรมาธิการกิจการศาล องค์กรอิสระ องค์กรอัยการ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน และกองทุน ของสภาผู้แทนราษฎร อาจารย์ประจำวิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มองว่าการสร้างสวัสดิการด้านการศึกษาสามารถทำได้ในประเทศไทย รวมทั้งการยกเลิกหนี้ กยศ. และการจัดการหนี้ กยศ. ก็สามารถจัดการได้ เพราะทุกวันนี้ก็มีหนี้เสียแล้วร้อยละ 60 เขามองว่าเหตุผลที่คนไทยไม่น้อยคัดค้านข้อเสนอดังกล่าวเป็นเพราะมองว่าการศึกษาเป็นการลงทุนหรือความรับผิดชอบส่วนบุคคล ไม่ใช่รัฐลงทุนให้ "ในประเทศที่ไม่ได้มองการศึกษาเป็นสิทธิ ถ้าพูดเรื่องนี้ (ล้างหนี้) ก็จะถูกมองว่าเป็นคนเลว เป็นคนไม่รับผิดชอบ เพราะนั้น คนก็อาจจะเงียบ ๆ ภายใต้เงื่อนไขแบบนี้"[7]

อ้างอิง

[แก้]
  1. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๘, เล่ม ๑๔๑ ตอนที่ ๕๙ ก หน้า ๕๗๒, ๓๐ กันยายน ๒๕๖๗
  2. "กยศ.พร้อมดูแลลูกหนี้ 3.5 ล้านคน เล็งปรับโครงสร้างหนี้-ลดเงินงวด". ประชาชาติธุรกิจ. 17 June 2021. สืบค้นเมื่อ 5 November 2021.
  3. "'ล้างหนี้กยศ' ชวนส่องกยศ.ไทย VS นอก ทำไมบางที่คืนได้ไว ไม่ต้องขอยกหนี้". อมรินทร์ทีวี เอชดี ช่อง 34 - AMARIN TV HD. 19 August 2022. สืบค้นเมื่อ 28 August 2022.
  4. ""ล้างหนี้ กยศ." มองสองมุม นำไปสู่ "ความเท่าเทียม" หรือ "ปัญหา" ?". กรุงเทพธุรกิจ. 19 August 2022. สืบค้นเมื่อ 28 August 2022.
  5. "ยกเลิกหนี้ กยศ. ไม่ใช่การแก้ปัญหา กฤษฎีกาย้ำเป็นหนี้ต้องใช้หนี้ ". workpointTODAY. สืบค้นเมื่อ 28 August 2022.
  6. "ลูกหนี้ กยศ. ร้องศาลแพ่ง เป็นหนี้ 1.6 แสน ถูกยึดบ้านหลักล้าน". TNNThailand. 22 January 2021. สืบค้นเมื่อ 28 August 2022.
  7. ""วังวนชีวิต 20 ปีที่ติดหนี้ กยศ." เรียนฟรีควรเป็นสิทธิ หรือภาระส่วนบุคคล". BBC News ไทย. 27 August 2022. สืบค้นเมื่อ 28 August 2022.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]