ข้ามไปเนื้อหา

บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน)
ประเภทบริษัทมหาชนจำกัด
การซื้อขาย
SET:BTS
อุตสาหกรรมบริการ
รูปแบบขนส่งและโลจิสติกส์
ก่อตั้ง27 มีนาคม พ.ศ. 2511; 56 ปีก่อน (2511-03-27)
สำนักงานใหญ่21 อาคารทีเอสที ทาวเวอร์ ซอยเฉยพ่วง ถนนวิภาวดีรังสิต แขวงจอมพล เขตจตุจักร[1], ,
บุคลากรหลัก
คีรี กาญจนพาสน์ (ประธานกรรมการ)
กวิน กาญจนพาสน์ (กรรมการผู้อำนวยการใหญ่)
ชวดี รุ่งเรือง (ผู้อำนวยการใหญ่สายการเงิน)
เว็บไซต์www.btsgroup.co.th

บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) (อังกฤษ: BTS GROUP HOLDINGS PUBLIC COMPANY LIMITED ชื่อย่อ:BTS ชื่อเดิม: บริษัท ธนายง จำกัด) [2] เป็นบริษัทประกอบธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจสื่อโฆษณา ธุรกิจให้บริการ และธุรกิจระบบขนส่งมวลชน แต่เดิมประกอบธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ก่อนเข้ารับสัมปทานระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานครจากกรุงเทพมหานคร เพื่อดำเนินการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนสายแรกของประเทศไทย โดยเป็นคู่สัญญาสัมปทานกับ กรุงเทพมหานคร การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย กรมทางหลวง และกองทัพเรือไทย รวมถึงยังดำเนินการธุรกิจสื่อโฆษณา และธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ร่วมกับพันธมิตรตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้าในทุกสายทางที่กำหนดไว้ในแผนแม่บท

ประวัติ

[แก้]

ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2511 ในชื่อบริษัท ธนายง จำกัด เพื่อดำเนินธุรกิจด้านการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ และได้เริ่มเปิดโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์โครงการแรก คือ “โครงการธนาซิตี้” ซึ่งตั้งอยู่ริมถนนบางนา-ตราด กม.14 ในปี 2531 ซึ่งเป็นโครงการที่ประกอบไปด้วยบ้านเดี่ยว ทาวน์เฮ้าส์ คอนโดมิเนียม และที่ดินเปล่าจัดสรร

บริษัทฯ ได้ทำการระดมทุนสาธารณะในรูปแบบการเสนอขายหุ้นครั้งแรกให้แก่สาธารณชน เพื่อเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และเริ่มซื้อขายหลักทรัพย์ครั้งแรกในวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2534 และต่อมาเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2536 บริษัทฯ ได้จดทะเบียนแปรสภาพเป็นบริษัทมหาชนจำกัดตามข้อกำหนดในบทเฉพาะกาลของพระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ. 2535 และได้ขยายลักษณะการประกอบธุรกิจออกไปหลายประเภท เช่น โครงการอสังหาริมทรัพย์ อาคารพักอาศัยใจกลางเมือง เซอร์วิสอพาร์ทเม้นท์ อาคารสำนักงาน โรงแรม และโครงการสาธารณูปโภคขนาดใหญ่

บริษัทฯ ได้รับผลกระทบจากวิกฤตการณ์การเงินในเอเชีย พ.ศ. 2540 ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อภาคธุรกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ประกอบการที่กู้ยืมเงินจากต่างประเทศ การลอยตัวค่าเงินบาทส่งผลให้เงินกู้ยืมที่เป็นสกุลเงินตราต่างประเทศมีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นอย่างมากเมื่อเทียบเป็นสกุลเงินบาท ในระหว่างปี พ.ศ. 2545-2549 บริษัทฯ ปรับปรุงโครงสร้างหนี้และเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ ซึ่งบริษัทได้ปฏิบัติตามแผนฟื้นฟูกิจการจนกระทั่งศาลล้มละลายกลางได้มีคำสั่งยกเลิกการฟื้นฟูกิจการในปลายปี พ.ศ. 2549 ระหว่างปี พ.ศ. 2550-2552 บริษัทและบริษัทในกลุ่มได้ลงทุนในอสังหาริมทรัพย์สำหรับการพัฒนาโครงการในอนาคต

วันที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2553 บริษัทฯ ได้ขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่อง โดยการได้มาซึ่งหุ้นสามัญของบีทีเอสซี ร้อยละ 94.60 ของหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของบีทีเอสซี และได้เปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) ทำให้ธุรกิจหลักของกลุ่มเปลี่ยนไปเป็นธุรกิจระบบขนส่งมวลชน

ในวันที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2553 บริษัทได้เปลี่ยนหมวดเป็น “ขนส่งและโลจิสติกส์” ภายใต้อุตสาหกรรม “บริการ” และได้เปลี่ยนชื่อย่อในการซื้อขายหลักทรัพย์เป็น “BTS” [3]

ในวันที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2555 ที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) มีมติอนุมัติให้ทำการระดมทุนสาธารณะ โดยการร่วมจัดตั้งกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานระบบขนส่งมวลชนทางราง บีทีเอส โกรท (BTS Rail Mass Transit Growth Infrastructure Fund – BTSGIF) จนเป็นหนึ่งในกองทุนที่ทำการระดมทุนสาธารณะในรูปแบบการเสนอขายหุ้นครั้งแรกให้แก่สาธารณชนได้มูลค่าสูงสุดในประวัติศาสตร์ไทย โดยขนาดของกองทุนมีมูลค่ากว่า 61,399 ล้านบาท[4] [5]

วันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2560 การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย และกระทรวงคมนาคม ได้ลงนามในสัญญาสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูกับ บริษัท นอร์ทเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด และรถไฟฟ้าสายสีเหลือง กับ บริษัท อีสเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่จัดตั้งขึ้นโดยกิจการร่วมค้าบีเอสอาร์ อันประกอบด้วย บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิงส์ จำกัด (มหาชน) บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิงส์ จำกัด (มหาชน) ระยะเวลาสัมปทาน 33 ปี 3 เดือน แบ่งเป็นระยะเวลาก่อสร้าง 3 ปี 3 เดือน (39 เดือน) และดำเนินการงานเดินรถไฟฟ้าและซ่อมบำรุง 30 ปี

วันที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2567 ราคาหุ้น บีทีเอส แย่ที่สุดในรอบ12ปีสามเดือนสองสัปดาห์ ปินที่ 4.40 บาท โดยก่อนหน้านี้วันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2567 โดนเทขายราคาหุ้นลดลง -17.95%[6] ภายในวันเดียว[7]

ผู้ถือหุ้นรายใหญ่

[แก้]
  • ข้อมูล ณ วันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2567 [8]
ลำดับที่ รายชื่อผู้ถือหุ้น จำนวนหุ้นสามัญ สัดส่วนการถือหุ้น
1 นาย คีรี กาญจนพาสน์ 4,160,394,752 31.60%
2 บริษัท ไทยเอ็นวีดีอาร์ จำกัด 1,333,719,226 10.13 %
3 นาย กวิน กาญจนพาสน์ 745,664,295 5.66%
4 สำนักงานประกันสังคม 421,746,300 3.20%
5 บริษัท เค ทู เจ โฮลดิ้ง จำกัด 400,818,000 3.04%

หน่วยธุรกิจ

[แก้]

ปัจจุบัน บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ ประกอบธุรกิจทั้งหมดสี่ด้าน โดยธุรกิจด้านโครงสร้างพื้นฐานและระบบขนส่งมวลชน และธุรกิจสื่อโฆษณาเป็นธุรกิจหลักของบริษัท โดยหน่วยธุรกิจต่าง ๆ มีดังต่อไปนี้

กลุ่มธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานและระบบขนส่งมวลชน

[แก้]
รถไฟฟ้าบีทีเอส
รถไฟฟ้าสายสีทอง
รถโดยสารด่วนพิเศษ BRT

บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ มีบริษัทย่อยและบริษัทร่วมทุนภายในกลุ่มธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานและระบบขนส่งมวลชน ดังนี้

กลุ่มธุรกิจสื่อโฆษณา

[แก้]

บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ ได้ให้บริการสื่อโฆษณาผ่านบริษัท วีจีไอ จำกัด (มหาชน) ที่ได้รับสิทธิ์ในการบริหารโฆษณาบนสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส และตามอาคารต่าง ๆ และบริษัทได้เข้าลงทุนในบริษัท มาสเตอร์แอด จำกัด (มหาชน) (MACO) และบริษัท แพลน บี มีเดีย จำกัด (มหาชน) (PLANB) ในสื่อโฆษณาบริเวณตอม่อโครงการรถไฟฟ้า อาคารพาณิชย์ และท่าอากาศยาน[14]

กลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์

[แก้]

บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ ได้ดำเนินการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ผ่านบริษัท แรบบิท โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งลงทุนร่วมกับแสนสิริ, อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์, โนเบิล ดีเวลลอปเม้นท์ เพื่อพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้า[15]

วันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2564 บริษัทได้จัดตั้งบริษัทย่อยได้แก่ บริษัท แคพริคอร์น ฮิลล์ จำกัด เพื่อประกอบธุรกิจถือครองที่ดิน

กลุ่มธุรกิจบริการ

[แก้]

บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ ได้ลงทุนในหน่วยธุรกิจอื่น ๆ เช่น การบริหารโรงแรม ธุรกิจห้องอาหารจีน ธุรกิจโปรแกรมสะสมคะแนน แครอท รีวอร์ดส และธุรกิจพัฒนาซอฟแวร์[16]

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 รายละเอียดบริษัท/หลักทรัพย์ เซ็ทเทรดดอตคอม
  2. สรุปข้อสนเทศบริษัทจดทะเบียนตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
  3. ลักษณะการประกอบธุรกิจแบบรายงาน56-1 บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) ประจำปี :2555
  4. ผู้ถือหุ้นBTSอนุมัติตั้งอินฟราสตรัคเจอร์ฟันด์ เก็บถาวร 2013-03-13 ที่ เวย์แบ็กแมชชีนกรุงเทพธุรกิจ การเงิน - การลงทุน วันที่ 19 ธันวาคม 2555
  5. ข่าวประชาสัมพันธ์บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม บัวหลวง จำกัด
  6. ย้อนตำนาน bts และ kex จากวันนั้นถึงวันนี้
  7. [https://www.prachachat.net/finance/news-1576682BTS ราคาหุ้นดิ่งหนัก 13% งบฯปี’66/67 ขาดทุนสุทธิ 5.2 พันล้าน
  8. ผู้ถือหุ้นรายใหญ่เซ็ทเทรดดอตคอม
  9. 9.0 9.1 9.2 "ธุรกิจขนส่งมวลชน". บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-11-29. สืบค้นเมื่อ 19 February 2021.
  10. 10.0 10.1 10.2 "ผ่าอาณาจักร "BTS-BEM" 2 บิ๊กรถไฟฟ้าชิง "สายสีส้ม"". ประชาชาติธุรกิจ. สืบค้นเมื่อ 19 February 2021.
  11. "ย้อนดูสัมปทานบีทีเอส เป็นมาอย่างไรแล้วจะอยู่ด้วยกันไปอีกกี่ปี". THE MOMENTUM. สืบค้นเมื่อ 19 February 2021.
  12. "กรมทางหลวงเตรียมลงนาม 'บีจีเอสอาร์' พ.ค.นี้ บริหารโอแอนด์เอ็มมอเตอร์เวย์ 2 โครงการ". กรุงเทพธุรกิจ. สืบค้นเมื่อ 19 February 2021.
  13. "รัฐบาลลงนามกลุ่มกิจการร่วมค้าบีบีเอสลุยพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก". ไทยโพสต์. สืบค้นเมื่อ 19 February 2021.
  14. "ธุรกิจสื่อโฆษณา". บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-11-29. สืบค้นเมื่อ 19 February 2021.
  15. "ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์". บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-11-29. สืบค้นเมื่อ 19 February 2021.
  16. "ธุรกิจบริการ". บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-11-29. สืบค้นเมื่อ 19 February 2021.